ไอน์สไตน์ : การนำวิทยาศาสตร์ไปเทียบเคียงกับศาสนา (1)


 


บทสัมภาษณ์ ชวนคิดเรื่องไอน์สไตน์ ต่อไปนี้

เกิดจากการที่ในปัจจุบันมีการนำวิทยาศาสตร์ไปเทียบเคียงกับศาสนา

โดยมักจะมี ไอน์สไตน์ (Einstein) เป็นสัญลักษณ์แทนวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเด็น วิทยาศาสตร์ vs ศาสนา นี้มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก

จึงทำให้บ่อยครั้งที่เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

โดยเฉพาะแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนไป

ซึ่งบางครั้งก็เห็นความผิดเพี้ยนได้ชัดเจน

แต่บ่อยครั้งก็แนบเนียน จนอาจทำให้เข้าใจวิทยาศาสตร์และศาสนาไขว้เขวไปได้

 

ผมจึงได้แสดงความคิดเห็นผ่าน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2551 ในเซ็คชั่น กายใจ

ดังที่ปรากฏในบันทึกชุดนี้

 

สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ที่อ้างถึง และที่หลายท่านอาจจะยังสงสัยนั้น

ผมจะหาโอกาสนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้ง GotoKnow ในโอกาสต่อไปครับ


 

ที่มา : นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2551 เซ็คชั่น กายใจ

URL : http://www.bangkokbiznews.com/bodyheart

URL : http://bangkokbiznews.com/bodyheart/20080404/news.php?news=column_26260947.php



บัญชา ธนบุญสมบัติ ชวนคิดเรื่อง ไอน์สไตน์

เรื่อง : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
ภาพ : ธัชดล ปัญญาพานิชกุล

การนำทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาเทียบเคียงกับศาสนา บางเรื่องราวมีการนำมาใช้ถูกต้องหรือไม่ เรื่องนี้น่าไตร่ตรอง
นี่เป็นอีกมุมมองความคิดของนักวิทยาศาสตร์ที่เขียนเรื่องแนววิทยาศาสตร์และอารยธรรม



ถ้าจะคุยเรื่องวิทยาศาสตร์หลากมุมมองเพื่อเชื่อมโยงในหลายๆ เรื่องทั้งเรื่องศาสนา หรือเรื่องใดก็ตาม
ก็ต้องเข้าใจหลักการให้ถูกต้อง และมีคำถามมากมายชวนให้เราคิดอย่างมีเหตุและผล
ไม่เช่นนั้นแนวทางวิทยาศาสตร์อาจเป็นได้แค่การรับใช้การตลาด หรือนำไปใช้สู่ความเชื่อบางอย่าง โดยมิได้ไตร่ตรอง

แม้นักเขียนบางคนจะบอกว่า ธรรมะพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่นักวิชาการบางคนกลับบอกว่า ให้ยั้งคิดสักนิด
ถ้าจะสื่อสารเรื่องแบบนี้ต้องเข้าใจวิทยาศาสตร์ให้แตกฉานและรู้จริง ไม่เช่นนั้นอาจไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาเชิงปัญญาอย่างแท้จริง


เรื่องนี้จึงต้องไปถามผู้รู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้วิเคราะห์วิจารณ์...

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เป็นคนหนึ่งที่สนใจศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และพยายามโยงกับศาสตร์หลายๆ เรื่อง
เขามีผลงานหนังสือแนววิทยาศาสตร์ ทั้งแนวลึกและแนวเข้าใจง่ายๆ ไม่ซับซ้อนจนเกินไป
และพยายามทำความเข้าใจกับสังคมในมิติอื่นๆ ด้วย
และต่อไปนี้คือ แง่คิดเพื่อสร้างความเข้าใจในบางเรื่องระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสนา
เพื่อให้เกิดวิวาทะทางปัญญา และนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น



+การนำแนวคิดวิทยาศาสตร์มาอธิบายศาสนา หรือเรื่องทางจิตวิญญาณ อาจารย์มีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไรคะ

ทั้งสองเรื่องคือ วิทยาศาสตร์และศาสนา ต่างก็มีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้งทั้งคู่
ถ้าจะนำมาเปรียบเทียบกัน ก็ต้องเข้าใจทั้งสองเรื่องนี้อย่างถูกต้อง

อย่างหนังสือเรื่อง ‘พุทธศาสนา ในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์’ ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ซึ่งสมณศักดิ์ในขณะเขียนหนังสือคือ พระเทพเวที ก็เป็นหนังสือที่เขียนได้อย่างมีเหตุมีผล มีข้อมูลถูกต้อง นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลางและรอบด้าน เพราะท่านมีความเป็นปราชญ์ เป็นนักวิชาการ และยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่น่านำไปคิดต่ออีก


  

หนังสือลักษณะนี้ผมอ่านแล้ว ก็เกิดศรัทธาครับ


อย่างไรก็ดี ถ้าเข้าใจวิทยาศาสตร์หรือศาสนาด้านใดด้านหนึ่งคลาดเคลื่อนไปมาก ก็ย่อมจะทำให้การเปรียบเทียบเกิดปัญหาความผิดเพี้ยนได้ ซึ่งหากผู้รู้มาพบเข้า ก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือในการนำเสนอลดลงไป ถ้าผิดมาก ความน่าเชื่อถือก็ลดลงไปมากด้วย

ตัวอย่างที่เห็นกันในขณะนี้ก็คือ "ข้าพเจ้า (หมายถึง ผู้ที่นำวิทยาศาสตร์มาเทียบกับศาสนา โดยที่พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อาจจะยังไม่แข็งแรงพอ) เป็นคนที่ใฝ่รู้ จึงได้พยายามศึกษาวิทยาศาสตร์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ พออ่านไปถึงระดับหนึ่ง ก็เกิดความเข้าใจ สามารถเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาและจิตวิญาณได้อย่างมีเหตุมีผล"

ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม โดยการอ่านอย่างนี้ครับ

คือหนังสือหรือแหล่งข้อมูลมีหลายระดับ ถ้าเป็นพวกมืออาชีพ คือ คนที่ร่ำเรียนมาทางนี้โดยตรง ก็จะอ่านจากตำราหรือบทความวิชาการลึกๆ ซึ่งเข้าใจได้ยาก เพราะเอกสารพวกนี้จะเขียนอย่างแม่นยำและรัดกุม เช่น มีสูตร มีสมการ มีผลการทดลองยุบยั่บ



        

ตัวอย่างหนังสือแนว Popular Science ชั้นดี (อ่านสนุก & ข้อมูลถูกต้อง) ในความคิดเห็นของผม


 
แต่สำหรับคนทั่วไป ก็จะอ่านจากหนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Popular Science ซึ่งผู้เขียนจะพยายามสื่อสารเรื่องออกไปในวงกว้าง โดยนำเสนอและใช้ศัพท์แสงต่างๆ ให้ง่ายขึ้น ไม่ค่อยมีสูตรสมการที่แม่นยำ เรียกว่าการทำให้เรื่องง่าย (simplification) หนังสือแนวนี้หากเขียนได้ดี ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่สนใจอย่างยิ่ง

แต่ในข้อดีของหนังสือที่อ่านได้ง่ายนี้ก็มีจุดเสี่ยงแฝงอยู่ นั่นก็คือ บางครั้งผู้เขียนทำให้เรื่องง่ายเกินไป (oversimplification) ทำให้ผู้รับสารคิดว่าเข้าใจ แต่จริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจอย่างหยาบมากๆ เท่านั้น หรือถ้าลงลึกไปในรายละเอียดแล้ว ข้อสรุปที่คิดว่าใช้ได้ อาจจะใช้ไม่ได้ เนื่องจากอยู่นอกเงื่อนไขที่กำหนด

ผลก็คือ มีการนำข้อมูลหรือข้อสรุปบางอย่างไปสนับสนุนความเชื่อโดยละเลยเงื่อนไขที่ใช้ได้ ส่วนข้อมูลที่ขัดแย้งอาจจะละเลยไม่กล่าวถึง

อย่างนี้ถ้าเรารู้เท่าทัน ก็จะทำให้เสียศรัทธาได้ แต่ถ้าไม่รู้เท่าทัน ก็อาจจะเชื่อ ไม่เชื่อ หรือเฉยๆ

พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องสัมมาทิฐิไว้อย่างสูงนะครับ

 

อ่านตอนที่ 2


หมายเลขบันทึก: 186478เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2008 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีคับพี่ชิววันนี้ว่างมาลุยอ่านบทความนี้ครับ

เอาเลยครับ น้องกวิน เจอที่ผิดๆ เพี้ยนๆ หรือไม่เข้าใจตรงไหน ก็บอกมาได้เลย ^__^

พี่มีความเป็นห่วงสังคมไทยเราอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ความเชื่อบางอย่าง ถ้าไปแตะเข้า (ขนาดยังไม่ถึงขั้นตรวจสอบ) ก็จะมีคนที่เชื่อเอามากๆ หรือ "สาวก" เข้ามาปกป้อง

โดยการปกป้องนี่ มักจะเล่นงานที่ตัวบุคคลครับ ไม่ได้เล่นที่ประเด็นที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกัน...

เอ้า! เลิกบ่นแล้วไปดูเมฆต่อดีกว่า....555 

ใคร จะคิด จะทำ จะรู้อะไร ก็ตาม ก็เป็นภูมิรู้ของบุคคล นั้น ๆ แต่ เป็นการเรียนรู้จากการ คิด การเรียน (จดจำมา) ไม่ใช่เป็นการเรียนรู้ตามแนวทาง "พระพุทธศาสนา" มีพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านพูดถึง ไอน์สไตน์ ว่า ไอน์สไตน์ มีความรู้มาก มีความสามารถมาก แยกปรมาณูที่เล็กที่สุด จนเข้าถึงมิติที่ 4 แล้ว แต่ไอน์สไตน์ไม่รู้จัก "พระนิพพาน" จึงเข้าพระนิพพานไม่ได้ คุณหมอซึ่งก็เป็นผู้มีภูมิรู้และศึกษาเกี่ยวกับ "ศาสนาพุทธ" มามากแล้ว ไม่ลองพิสูจน์โดยการเรียนรู้โดยการ "ปฏิบัติตามแนวทางพุทธศาสนา" ดูละครับ หากมีผลอย่างไร จะได้นำมาเขียนเปรียบเทียบ ให้ผู้ยังไม่รู้อีกมาก ได้มองเห็นทางสว่าง บ้าง การเรียนรู้โดยการจดจำนั้นไม่สามารถเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้นะครับ ต้อง "รู้" โดยการ "ปฏิบัติ" เท่านั้น จึงเป็นการ "รู้" โดยชอบ หรือ "สัมมาทิฐิ"

สวัสดีครับ คุณคนข้างวัด

        ขอบคุณมากครับสำหรับคำแนะนำที่หวังดี

        ประเด็นที่ให้สัมภาษณ์นี้ไม่ได้เน้นไปที่พุทธศาสนาครับ แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า มีคนที่ปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่ตนเชื่อบางคน อ้างว่าเข้าใจวิทยาศาสตร์ แล้วนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง แต่เอาเข้าจริงแล้ว ความเข้าใจนั้นผิวเผินมาก และในหลายกรณีสามารถเรียกได้ว่า ผิด และนำไปตีความตามอำเภอใจท

        ในกรณีที่พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบกล่าวไว้เช่นนั้น ก็ขอรับฟังเอาไว้ครับ แต่ขอทักท้วงว่า มีข้อความที่คลาดเคลื่อน เพราะไอน์สไตน์ไม่ได้แยกปรมาณูที่เล็กที่สุด ส่วนเรื่องมิติที่ 4 นี่ จริงๆ แล้วเป็นวิธีการทางคณิตศาสตร์ที่คิดโดย Hermann Minkowski ครับ (ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมท่านจึงเข้าใจไปเช่นนั้น)

สวัสดีค่ะดร.พี่ชิว

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมากค่ะ คิดเหมือนกันค่ะว่าถ้าคนๆนั้น ...ไม่ได้แตกฉานในทั้งสองแขนง..ก็ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน.. เพราะจะทำให้คนอื่นสับสนและเข้าใจผิดกันใหญ่..หรือไม่ก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด..

สวัสดีครับ อุ๊

     ตอนนี้มีกรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเรา และกำลังจะขยายผลไปในทิศทางที่เกิดเป็นลัทธิใหม่ครับ เอาไว้จะหาโอกาสเล่าเรื่องนี้ให้พวกเราใน G2K ฟังอีกที (ในกรณีพี่นี่ เกิดกับคนใกล้ตัวไปแล้ว)

ต้องดูที่เจตนาค่ะ มีการพยายามจับผิดศาสนามาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เห็นว่าเกิดประโยชน์แต่อย่างใด ศาสนามีไว้เพื่ออะไร และวิทยาศาสตร์มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ใด การจับศาสตร์สองแขนงมาประกบเทียบกันเพื่อจับผิดมีประโยชน์แค่ไหน คนที่ชอบนำมาเปรียบเทียบมักจะเชี่ยวชาญศาสตร์เพียงแขนงเดียว แต่คิดว่าตัวเองชำนาญทั้งหมด และภาพที่เห็นมักจะเกิดการเลือกนำข้อมูลเฉพาะบางส่วนที่อยากจะโยงให้เข้าประเด็นที่ตัวเองต้องการมาใช้ บางครั้งไม่ได้ดูบริบทโดยรวม มันส่อให้เห็นถึงเจตนาล้างผลาญมากกว่าส่งเสริมให้เกิดการศึกษาหาความรู้

ศาสนาไม่ล่มสลายเพราะทฤษฎีของคนสั่วๆ บางคนหรอกค่ะ คนเหล่านี้เกิดมาแล้วอยู่ไม่ถึงร้อยปีก็ตายจากไป แต่ศาสนาอยู่มาก่อน และจะอยู่ต่อไป แล้วก็จะมีคนประเภทนี้เกิดมาอีกเรื่อยๆ แต่สงสัยอยู่อย่างเดียวว่าคนพวกนี้เคยคิดทฤษฎีอะไร หรือสร้างอะไรที่ดีต่อโลกทิ้งไว้บ้าง นอกจากคอยเที่ยวจับผิดสิ่งต่างๆ ???

สวัสดีครับ ซูซาน

       ใช่แล้วครับ ต้องดูที่เจตนาก่อน และดูวิธีการด้วยว่า ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมด้วยหรือไม่

       เรื่องการเลือกข้อมูลมาบางส่วนนี่ใช่เลยครับ คือ มีทั้งเลือกมาเพื่อเสริม (สนับสนุน) ให้สิ่งที่อยากชี้นำมีน้ำหนักขึ้น และเลือกมาหักล้างกับสิ่งที่อยากกำจัด หรือลดความน่าเชื่อถือครับ  

สวัสดีครับ

พอดีเมื่อวันก่อนมีมีผู้ใหญ่นำหนังสือ ไอน์สไตน์พบฯ มาให้ผม โดยความเห็นของผมแล้วไม่ยินดีกับความพยายามเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา ด้วยเห็นว่ามีความเหลื่อมกันอยู่จนไม่น่านำมาเทียบกัน เลยไม่คิดว่าจะหามาอ่าน แต่เนื่องจากว่าผู้ใหญ่ท่านนั้นเห็นว่าผมทำงานด้านเทคโนโลยีและสนใจพุทธศาสนา ก็คงเห็นว่าผมคงจะสนใจ ผมเลยฉลองศรัทธา

เมื่อได้อ่านเนื้อหาแล้วพบความคลาดเคลื่อนทั้งด้านความเข้าใจวิทยาศาสตร์ทั้งด้านของพุทธศาสนา ก็รู้สึกไม่สบายใจเพราะผู้เขียนก็เขียนด้วยเจตนาดี ตั้งใจดี ประกอบกับหนังสือมีคำนิยมที่น่าเชื่อถือ จำนวนพิมพ์น่าจะมากเพราะอย่างน้อยเล่มที่ผมได้มาก็เป็นเล่มที่พิมพ์ครั้งที่ 25 เกรงว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนกว้างขวางออกไป จากนั้นในวันเดียวกันก็ทราบจากเพื่อนๆใน Internet ว่าหนังสือเล่มนี้หยุดพิมพ์แล้ว ผมจึงค้นต่อไปถึงคำวิพากษ์วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ จึงได้พบแหล่งสำคัญๆรวมทั้งของ อ.บัญชา ที่นี่ด้วย พอดีว่าผมก็เป็นสมาชิกของ G2K ก็เลยคิดว่าจะขอเขียนวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ื่ๆอีกเล็กน้อยไว้ที่ G2K ครับ โดยการวิจารณ์นี้นอกจากจะอยู่บนพื้นฐานของการเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงแล้ว ก็ยังอยู่บนพื้นฐานของความเคารพในเจตนาดีของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยครับ

สวัสดีครับ

          ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในบล็อกของอาจารย์แล้วครับ

..พื้นผิวทะเล ยามสงบ ก็ดูสดใสน่าลงไปเล่น..เมื่อได้สำลักน้ำเค็ม ก็อาจฉุนเฉียวบ้าง..มองลงไปในน้ำใส เห็นปลาน้อยน่ารัก..แต่เมื่อสัมผัส แมงกะพรุน โอ้ช่างปวดแสบร้อน..เมื่อดำดิ่งลงสู่พื้นทราย เห็นหมู่ปะการังและสัตว์เล็กๆ สีสดสวย..แต่หากเจอเอาปลาฉลามเข้าเราจะทำงัยดี..นี่ มิพักต้องพูดถึงยามทะเลมีคลื่นใหญ่เยี่ยงสึมามิ..โอ้ย..คิดแล้วไม่อยากไปเที่ยวทะเล เลย..แต่ การเรียนรู้..คืออะไร?..ความเป็นจริง และเหตุผล เป็นเช่นไร?..ชีวิตเล่า คืออะไร?..วิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์เล่า มีประโยชน์ หรือโทษอย่างไรแน่?..ว้า...........คิดแล้วปวดหัว มี...ดีกว่า!!....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท