สานสายใยรัก...จากพี่ สู่ น้อง


รู้รัก สมัครสมานสามัคคี เสริมสร้างมิตรภาพไมตรีมิเสื่อมคลาย

พลังแห่งความรักความผูกพัน
         จากบทกลอนอันประทับใจความว่า...
                    รักกันสุดขอบฟ้าเขาเขียว
          เสมออยู่หอแห่งเดียวร่วมห้อง
          ชังกันบ่อแลเหลียวตาต่อกันนา
          เหมือนขอบฟ้ามาป้องป่าไม้มาบัง...

          ท่านที่เคยได้ยินได้ฟังบทกลอนนี้คงมีจินตนาการได้อย่างหลากหลายและลุ่มลึก  สิ่งหนึ่งที่ท่านนึกคิดคงไม่ผิดแผกแตกต่างกันนักก็คือ "การปลูกฝังความรักความผูกพันอันดีต่อกัน (belonging) เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องปลูกฝังให้มีอยู่ทุกระดับ นับตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา ชุมชน สังคม ตลอดจนประเทศชาติ"

สร้างสรรค์กิจกรรมนำไมตรี
          สำหรับหน่วยงานสถานศึกษาต่างๆ คงจะมีวิธีการที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ๑ ไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓  จำนวน ๔,๖๓๕ คน ผู้บริหาร ครู อาจารย์ ๒๕๐ คน, และพนักงานชาย-หญิง ๖๐ คน  โรงเรียนพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างความตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคน เปรียบโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาเสมือนครอบครัวใหญ่    มีนักเรียนเป็นลูกๆ  (นักเรียนม.๑-๓ เป็นพี่คนโต, นักเรียน ป.๔-๖ เป็นพี่คนรอง นักเรียน ป.๑-๓ เป็นพี่คนกลาง และนักเรียนอนุบาล ๑-๓ เป็นน้องคนเล็ก) มีคุณครูชาย-หญิง เป็นคุณพ่อคุณแม่ (คนที่สอง) และมีพนักงานชาย-หญิง เป็นลุง ป้า น้า อา
           การจัดกิจกรรมร่วมกันในแต่ละวัน เดือน ปี ทำให้ทุกคนมีความรักความผูกพันเกิดความรู้สึกเอื้ออาทรต่อกัน  ยกตัวอย่างกิจกรรมที่จัดขึ้น เช่น
          กิจกรรมยามเช้า (เริ่มตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๐๘.๓๐ น.)   นักเรียนประมาณ ร้อยละ ๘๐ มากับรถรับ-ส่งของโรงเรียน  เมื่อมาถึงโรงเรียนนักเรียนแต่ละคนจะเข้าร่วมกิจกรรมยามเช้าตามความถนัด ความสนใจของแต่ละคน ซึ่งจะมีสภานักเรียนและสโมสรอินเตอร์แรคท์โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาร่วมกันรจัดกิจกรรมต่างๆอย่างหลากหลาย โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา อาทิ
         ๑. กิจกรรมจิตรกรน้อย  ลักษณะกิจกรรมเป็นการส่งเสริมความสามารถพิเศษของนักเรียนด้านการวาดภาพ ระบายสี โดยมีขาหยั่งติดกระดาษ ตั้งไว้เรียงรายตามแนวถนนภายในโรงเรียนและเตรียมสีไว้ให้ทั้งสีน้ำ สีเทียน สีชอล์ค ฯลฯ ให้นักเรียนเลือกตามความถนัด
         ๒. กิจกรรมยอดนักอ่าน/ห้องสมุดเคลื่อนที่ ลักษณะกิจกรรมเป็นการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโดยสภานักเรียนจัดเตรียมหนังสือ วารสาร จุลสาร ใส่ตะกร้า กระจาดและภาชนะอื่นๆ นำไปบริการตามม้าหินอ่อน บริเวณระเบียง และรถพ่วง ซึ่งนักเรียนที่มาอ่านจะได้รับแบบบันทึกการอ่าน และในแต่ละเดือนจะมีการสรุปสถิติพร้อมทั้งประกาศรายชื่อผู้ที่สามารถบันทึกการอ่านได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดของแต่ละระดับจะได้เป็นยอดนักอ่าน
         ๓. กิจกรรมเวทีศักยภาพ ลักษณะกิจกรรมเป็นการส่งเสริมความสามารถพิเศษให้นักเรียนได้แสดงความสามารถบนเวที เช่น ดนตรีไทย-สากล (การบรรเลงดนตรี-ดุริยางค์) การขับร้อง-ฟ้อนรำ การแสดงละคร เป็นต้น
         ๔. กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน-พี่ช่วยน้อง ลักษณะกิจกรรมเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น พี่มัธยมช่วยสอนน้องๆอ่านหนังสือ/ เล่านิท่าน/เชิดหุ่นให้น้องๆอนุบาล ตลอดจนช่วยดูแลน้องๆเล่นเครื่องเล่น ประเภทที่ต้องปีนป่าย เป็นต้น
         ๕. กิจกรรมเกม กีฬาและนันทนาการ ลักษณะกิจกรรมเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการเล่นเกมกีฬาแบบไทยๆ เช่น เล่นหมากรุก หมากล้อม หมากเก็บ กาฟักไข่ ตาเขย่ง ฯลฯ  ให้รู้จักออกกำลังกาย เช่น การเล่นบาสเก็ตบอล วอลเลย์บอล แบดมินตัน ตะกร้อ เปตอง ฯลฯ และให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์โดยการชมวีดีโอสารคดีต่างๆ เช่น รายการสำรวจโลก, My Science, Discovery เป็นต้น
         ๖. กิจกรรมรักษ์วัฒนธรรมไทย ลักษณะกิจกรรมเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย (ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอยุธยา) เช่น การประดิษฐ์งานใบตอง การจักสาน (สานพัด, สานปลาตะเพียนใบลาน) การประดิษฐ์ดอกไม้จากโสน  ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ได้รับความอนุเคราะห์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นวิทยากรสาธิต

         กิจกรรมสัมพันธ์ในโรงเรียน
         นอกจากโรงเรียนจะได้จัดกิจกรรมให้กับนักเรียน ดังได้ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น โรงเรียนยังได้ตระหนักถึง "ศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์" ดังนั้นจึงได้จัดกิจกรรมเพื่อหลอมรวมความรู้สึกมีส่วนร่วม มีความรักความผูกพันระหว่างครู และพนักงานในโรงเรียน  จึงได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ เช่น
         ๑. กิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์เอื้ออาทร  ลักษณะกิจกรรมเป็นการนำระบบหมู่ของลูกเสือมาใช้ในการจัดกลุ่มรูปแบบ "ครอบครัว" เพื่อให้ครู คนงานและคนรถ ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบถามสารทุกข์สุกดิบและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กลุ่มหนึ่งๆมีสมาชิกประมาณ ๑๕-๒๐ คนและให้มีการเลือกหัวหน้าครอบครัว (ส่วนใหญ่จะได้คนขับรถ) เป็นหัวหน้า ส่วนครูทำหน้าที่เป็นเลขานุการครอบครัว  สำหรับสมาชิกคนอื่นๆจะแบ่งงานตามความถนัดความสนใจ  ภารกิจส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือดูแลความเรียบร้อย ความปลอดภัยของนักเรียนภายในเขตรับผิดชอบของครอบครัว
         ๒. กิจกรรมมิตรภาพและอวยพรวันเกิด ลักษณะกิจกรรมเป็นการส่งเสริมไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียน ทุกๆเดือนจะมีการประชุมร่วมกันเดือนละ ๑ ครั้ง (จัดในวันหยุด) ระหว่างพักกลางวันจะมีการอวยพรวันเกิดให้กับบุคลากรที่เกิดในเดือนนั้นๆ (บางเดือนเกิดเกือบครบทุกวัน) ทั้งนี้จะมีการร้องเพลงอวยพรวันเกิด Happy Birthdayและมอบดอกไม้พร้อมซอง (๒๐๐ บาท) ให้กับทุกคน (เงิน ๒๐๐ บาทไม่มากนัก แต่ให้เป็นขวัญถุงหรือนำไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วหรือมอบให้บิดามารดาผู้ให้กำเนิด) เมื่อเสร็จจากการอวยพรวันเกิดแล้วจะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน (อาหารโรงเรียนทำเอง)
         ๓. กิจกรรมค่ายคุณธรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต  ลักษณะกิจกรรมเป็นการจัดให้บุคลากรทุกคนในโรงเรียนทั้งครู คนงาน คนขับรถ ได้เข้ารับการอบรมพัฒนากาย-พัฒนาจิต ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เป็นเวลา ๑ คืน ๒ วัน  กิจกรรมที่จัดมีทั้งการเชิญวิทยากรมาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพร่างกาย  การนิมนต์พระคุณเจ้ามาเทศน์และนำฝึกสมาธิพัฒนาจิต และได้ไปร่วมกันพัฒนาสาธารณะประโยชน์ เช่น กวาดลานวัด  ปลูกต้นไม้  ปล่อยปลา ฯลฯ
         ๔. กิจกรรมกีฬาบุคลากร  ลักษณะกิจกรรมเป็นการจัดแข่งขันกีฬาบุคลากรในโรงเรียน ในช่วงเดือนตุลาคม (ระหว่างปิดภาคเรียนภาคต้น) โดยแบ่งบุคลากรออกเป็น ๔ สีๆละประมาณ ๗๕-๘๐ คน  ประเภทเกมกีฬาที่จัดประกวดแข่งขัน เช่น ชักเย่อ  วิ่งกระสอบ วิ่งเปรี้ยว ห่วงยาง เปตอง ปิงปอง แบดมินตัน แชร์บอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล ตะกร้อ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการประกวดกองเชียร์ แอโรบิคด๊านซ์ เชียร์ลีดเดอร์ และประกวดขบวนพาเหรด  สำหรับกิจกรรมการเล่นเกม กีฬา ไม่เน้นแพ้-ชนะ แต่เน้นการมีส่วนร่วม ความสมัครสมานสามัคคีเป็นสำคัญ
         ๕. กิจกรรมสังสรรค์วันปีใหม่  ลักษณะกิจกรรมเป็นการสังสรรค์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เน้นให้บุคลากรทุกฝ่ายได้พบปะ สังสรรค์ รับประทานอาหาร จับสลากของขวัญรางวัลร่วมกัน บุคลากรแต่ละคนจะได้ของขวัญคนละ ๓ ชี้น (ได้มาจากโรงเรียน จากผู้มีอุปการคุณ/ห้างร้านต่างๆที่ติดต่อค้าขายกับโรงเรียน และของขวัญที่ตนเองออกเงินสมทบจัดซื้อ) โดยคณะกรรมการสภาครูและฝ่ายบุคลากรเป็นผู้ดำเนินการ
         จากการสังเกตและสอบถามนักเรียนและบุคลากรพบว่า นักเรียนและบุคลากรมีความรู้สึกและแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เช่น
         เด็กชายสุรศักดิ์  ศุภกิจมงคล ชั้น ม.๓ กล่าวว่า รู้สึกชอบใจที่โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมคิดกิจกรรมและคุณครูได้ให้คำแนะนำช่วยเหลือในการจัดกิจกรรมต่างๆ แม้ว่าบางครั้งอาจจะมีปัญหา อุปสรรคบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็สามารถแก้ไขปรับปรุงงานจนสำเร็จได้ด้วยดี สำหรับความรู้สึกที่มีต่อน้องๆ อยากฝากให้น้องๆสภานักเรียนร่วมกับสมโสรอินเตอร์แรคท์จัดกิจกรรมลักษณะนี้ อาจาจคิดแปลกใหม่กว่านี้ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมมากยิ่งขึ้น
         เด็กหญิงพรพิมล  หลาวเพชร ชั้น ม.๓ กล่าวว่าการที่โรงเรียนจัดให้มีกิจกรรมต่างๆอย่างหลากหลาย เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้นักเรียนได้มีโอกาสเลือกกิจกรรมตามความถนัด ความสนใจ ได้ค้นพบความสามารถของตนเอง และได้เรียนรู้แนวทางในการทำงานร่วมกัน ได้เสริมสร้างความรักความผูกพันระหว่างเพื่อนๆและน้องๆในโรงเรียน  อยากให้ทำต่อไปค่ะ พรพิมล กล่าวในที่สุด
         เด็กหญิงธวัลพร ศุภเลิศ ชั้น ป.๖ กล่าวว่าเมื่อก่อนคิดว่ากิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นไม่น่าสนใจและไม่มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมมากนัก เพราะต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือทบทวนความรู้ แต่เมื่อเข้าไปสัมผัสกิจกรรมและลงมือทำด้วยตนเองพบว่ากิจกรรมหลายอย่างทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการต่างๆที่เราไม่เคยรู้หรือไม่เคยสนใจมาก่อน ทำให้เกิดความรู้ ได้เรียนรู้แนวทางการทำงาน ได้รู้จักแก้ปัญหา ต้องยอมรับว่าเป็นความโชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมและจำนำเอาประสบการณ์ความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป  สำหรับความคิดเห็นที่มีต่อกิจกรรมคิดว่าโรงเรียนได้ทำถูกต้องแล้ว อยากให้พี่ๆน้องๆทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ตามความถนัด ความสนใจ รับรองได้ว่าไม่ผิดหวังค่ะ
         เด็กชายณัฐพล  ปิ่นวิเศษ ชั้น ป.๓ กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมยามเช้า... "ผมชอบวาดภาพระบายสีมากที่สุดครับ"
         คุณโกมล  ศรีไสย  (พนักงานขับรถ) กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ได้มาอยู่ในครอบครัวจิระศาสตร์ ครูอาจารย์ทุกท่านและพนักงานทุกคนให้เกียรติซึ่งกันและกัน และครูอาจารย์ให้ความเป็นกันเองกับคนขับรถ รู้สึกว่าอบอุ่น และจะทำงานที่นี่ตลอดไป
         คุณพวง  หวังเอื้อกลาง (พนักงานหญิง) กล่าวว่ามาอยู่จิระศาสตร์ เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี รู้สึกมีความรัก ความผูกพันกับที่นี่ และจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

         จากนานาทัศนะของนักเรียนและบุคลากร ทำให้ได้แง่คิดว่า... การจัดกิจกรรมเสริมสร้างไมตรีจิตมิตรภาพในหน่วยงาน สถานศึกษาเป็นกุศโลบายที่จะนำไปสู่ ความรัก ความสมัครสมานสามัคคี ซึ่งต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน สังคม ขยายไปสู่ประเทศชาติและโลกของเรา ก็จะประสบความสันติสุข ร่มเย็นต่อไป ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องใช้เงิน สิ่งสำคัญอยู่ที่"ใจ"ที่มีให้ต่อกัน
       

หมายเลขบันทึก: 18447เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2006 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท