ดนตรีกับความฉลาด


ดนตรีอาจช่วยเพิ่มความฉลาดของเด็กได้

 

 

                                                            ดนตรีกับความฉลาด

                                                        .. กมล แสงทองศรีกมล

                                                    กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

เป็นที่ทราบกันดีนะครับว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรามีความสุข คลายเครียด นอกจากนี้ระยะหลังยังมีการศึกษาวิจัยว่าดนตรียังอาจช่วยเพิ่มความฉลาดของเด็กได้ด้วยครับ เราคงเคยได้ยิน ได้ฟังงานดนตรีของคีตกวีชื่อเสียงก้องโลก นามว่าโมสาร์ท (Mozart) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.. 1756-1791 โดยมีผู้ศึกษาวิจัยพบว่าขณะที่ฟังดนตรีของโมสาร์ทอาจมีผลดีต่อสมอง ซึ่งเรียกกันว่าโมสาร์ทเอฟเฟค (Mozart effect) เพลงของโมสาร์ทเป็นดนตรีซึ่งมีความซับซ้อนของระดับเสียง จะทำให้เกิดกระแสประสาทกระตุ้นวงจรใน สมองซ้ำๆ ช่วยการทำงานของสมองดีขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับมิติสัมพันธ์ ( spatial-temporal reasoning ) การสร้างสรรค์ภาพจากจินตนาการ การจัดส่วนต่างๆของภาพ ซึ่งก็คล้ายกับการต่อภาพจิ๊กซอว์ที่เรารู้จักกันดีนั่นเองครับ อย่างไรก็ตามผลดีบางอย่างของดนตรีอาจมีเรื่องของระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นต้องมีการใช้เวลากับดนตรีที่นานพอ ( เช่น 3 ปี ) จึงจะเห็นผลครับ นอกจากนี้ยังมีการทดลองในนักศึกษา36 คน โดยให้ฟังเพลง Mozart K448 ขณะทำแบบทดสอบทางสติปัญญาหรือ I.Q. test ( stanford - Binet ) พบว่านักศึกษากลุ่มนี้สามารถทำคะแนนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งผลนี้เกิดขึ้นขณะที่กำลังฟังเพลงเท่านั้นนะครับ นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาวิจัยสนับสนุนว่าการที่ได้ฝึกฝนทักษะทางดนตรีอาจช่วยเพิ่มความสามารถทางคณิตศาสตร์ ส่วนผลดีต่อการอ่านนั้น ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอครับ

คุณพ่อคุณแม่บางคนได้ยินว่าดนตรีอาจมีผลดี ก็เลยเปิดเพลงให้ฟังตลอดวัน ตั้งแต่วัยทารก ว่างก็เปิดวีซีดีเพลงให้ลูกดู จนขาดการเล่นและมีปฏิสัมพันธ์กับลูก อย่างนี้ก็อาจเกิดปัญหาได้ครับ เพราะการศึกษาผลของดนตรีนั้นส่วนใหญ่ทำในเด็กโต ที่อายุน้อยสุดก็ประมาณ 3 ขวบครับ และเนื่องจากมันเป็นการสื่อสารทางเดียว ถ้ามากจนเกินไปก็อาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านภาษาและสังคมได้ ดังเช่นที่สมาคมกุมารแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาออกกฏและคำเตือนให้ยึดถือและปฏิบัติในเรื่องการให้เด็กดูโทรทัศน์คือเด็กอายุต่ำกว่า2 ปี ไม่ควรให้ดูโทรทัศน์ และเด็กที่อายุเกิน2 ปีก็ควรดูไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวันครับ อย่างไรเสียการเล่นอย่างมีปฏิสัมพันธ์กับลูกก็ยังเป็นส่วนสำคัญสำหรับพัฒนาการและความฉลาดของลูกรักอยู่ดีครับ

ปัจจุบันนี้เรามักจะไม่มองความฉลาดเพียง1-2ด้านแล้วครับ ตามที่โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ( Dr. Howard Gardner ) จึงเสนอว่าจริงๆแล้วมนุษย์เรามีความฉลาดถึง 8 อย่าง 8 ด้าน หรือพหุปัญญาสมอง ( Multiple intelligences ) ดังที่เราได้เคยคุยกันไปแล้วคือ

1 ความสามารถในการใช้คำและภาษา ( Word smart )

2 ความสามารถในการแก้ปัญหา สำรวจ คำนวณ การใช้เหตุผล (Logical / Mathematical )

3 ความสามารถด้านการมองภาพรวม หรือมิติสัมพันธ์ (Spatial ) ศิลปะ

4 ความสามารถด้านดนตรี ( Music )

5 ความสามารถในการเคลื่อนไหว กีฬา ( Kinesthetic)

6 ความสามารถด้านสังคม มนุษยสัมพันธ์และการสอน ( interpersonal )

7 ความสามารถในการรู้จักตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเอง ( intrapersonal )

8 ความสามารถเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คน และธรรมชาติ ( naturalist )

ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้ลูกหลานของเรามีความฉลาดรอบด้าน

เนื่องด้วยปีนี้เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทุกท่านคงเห็นด้วยนะครับว่าในหลวงของเรานั้น ท่านทรงเป็นตัวอย่างของผู้มีความรู้ความสามารถรอบด้าน ทรงมีพระปรีชาสามารถทั้งด้านวิชาการ ดนตรี กีฬา และศิลปะ ครบถ้วนจริงๆ

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 184204เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2008 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 11:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
นายมโนชา จงหมื่นไวย

เห็นด้วยครับกับดนตรีที่ว่าสามารถพัฒนาการเรียนรู้และเพิ่มความฉลาดให้กับเด็กได้ เพราะดนตรีเป็นสิ่งที่มีความละเอียดอ่อน มีการผสมผสานของเสียงดนตรีประเภทต่างๆ ที่กลมกลืนลงตัวกันได้อย่างดี ซึ่งอาจจะส่งผลให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี มีความอ่อนโยน อารมณ์ดี และก็นำไปใช้ในการดำรงชีวิตในอนาคตได้เป็นอย่างมีความสุข

เห็นด้วยค่ะที่ว่าดนตรีช่วยพัฒนาสมองของมนุษย์เพราะตอนนี้ดิฉันก็กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ด้วยเช่นกันจึงอยากจะขอบคุณมากที่คุณกรุณาโพสต์ข้อมูลเรื่องนี้ไว้เป็นพระคุณอย่างสูง

จะให้เด็กเริ่มเรียนดนตรีได้อายุประมาณกี่ขวบค่ะ   แล้วควรเรียนดนตรีชนิดไหน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท