ความคิดที่แตกต่าง


คนมีวิธีการคิดวิเคราะห์ต่างกันอย่างไร ?

.....พระเจ้าสร้างเรามาในแบบที่ไม่มีใครเหมือนกันเลย แม้แต่ฝาแฝดที่เกิดจากไข่ฟองเดียวกัน ความหลากหลายของมนุษย์นั้นไม่เพียงแต่ในเรื่องรูปร่างหน้าตา สติปัญญา บุคลิกภาพ ความชอบส่วนตัว แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือวิธีคิดที่แตกต่างกัน ถึงแม้วิธีคิดจะมีหลากหลายมากมาย แทบจะเรียกว่าจำนวนวิธีคิดนั้นพอๆกับจำนวนคนที่มีความคิดทีเดียว! อย่างไรก็ตามเราอาจจะจำแนกคนตามความซับซ้อนของวิธีคิดของเขาได้ดังนี้


* คิดแบบเชิงเส้น (linear reasoning) คนกลุ่มนี้มองโลกจากมุมๆเดียว (อาจจะมองหลายด้าน แต่มองจากมุมเดียว) คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะสรุปว่าทุกเรื่องจะมีคำตอบที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งคำตอบเท่านั้น ผู้ที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนกับตนเป็นผู้หลงทางีนิสัยชอบฟันธงในการวินิจฉัยปัญหาต่างๆ มีแนวโน้มที่จะเชื่อสิ่งงมงายสูง คนกลุ่มนี้มองการดำเนินชีวิตเหมือนคนที่เดินไปตามถนนเพื่อสู่จุดหมายที่ตัวเิองต้องการ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างและความหลากหลาย คนกลุ่มนี้ชอบอยู่ร่วมกับผู้คนในกลุ่มตัวเองที่มีวิธีคิดคล้ายคลึงกัน พวกสุดโต่งทั้งหลาย (extremists) มักจะมีวิธีคิดแบบเชิงเส้น คนกลุ่มนี้มีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้

ชอบสรุปว่า

o ไม่ต้องการเรียนรู้ความคิดอื่นที่แตกต่างจากที่ตัวเองยึดมั่น

o ดื้อรั้น เหมือนไม่มีเหตุผล (แต่ความจริงมีเหตุผล แต่เป็นเหตุผลที่อยู่ในกรอบที่จำกัด)

o ทำอะไรจะให้ได้ผลเลยทันที มองเห็นแต่ผลระยะสั้น

o ชอบทำแต่ไม่ชอบคิด

o ตอบคำถามที่ว่า "ทำอย่างไร ?"ได้ แต่ตอบคำถามว่า "ทำไม ?" ไม่ค่อยได้

o มีแนวโน้มที่จะยึดเอาความคิดสุดโต่งในศาสนาที่ตนเองนับถือ

* คิดแบบระนาบ (planar reasoning) หรือที่เรียกว่าคิดแบบสองมิติ (two-dimensional reasoning) เป็นพวกที่เน้นเหตุผลและหลักฐานเชิงประจักษ์ (measurable evidences) เป็นวิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์ที่ไม่ยอมรับการมีพระเจ้าและสิ่งเร้นลับ อะไรก็ตามที่วัดไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ ก็แสดงว่ามันไม่มี หรือไม่มีประเด็นที่เราจะต้องสนใจกับมัน อย่างไรก็ตามคนที่มีวิธีคิดแบบนี้ สามารถมองเห็นอะไรได้จากหลายๆมุม มีแนวโน้มยอมรับความหลากหลายในเชิงความคิด ตราบใดที่มีเหตุมีผล สามารถยอมรับได้ว่า ปัญหาทุกปัญหาอาจจะมีคำตอบที่ดีที่สุดมากกว่า 1 คำตอบ คนกลุ่มนี้มักจะมีลักษณะที่สังเกตได้ดังนี้

o เจ้าเหตุผล ทุกอย่างต้องมีเหตุผล ถ้าจะยอมรับอะไร จะต้องหาเหตุผลมารองรับให้ได้

o เน้นรูปธรรม ทำอะไรก็ต้องเป็นรูปธรรม ถ้ามีแต่ความคิดแต่ไม่ลงมือปฏิบัติ หรือปฏิบัติแต่ไม่สามารถวัดผลได้ในเชิงวัตถุ ก็ถือว่างานนั้นไม่ค่อยมีคุณค่า

o เป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ดี แต่ไม่เหมาะที่จะเป็นนักสังคมสงเคราะห์

o เลือกที่จะยึดมั่นในศาสนา เฉพาะส่วนที่อธิบายได้ด้วยเหตุผล ส่วนที่เหลือเขาจะไม่ยอมรับ หรือไม่ก็ไม่สนใจศาสนาจริงๆจังๆเลย แต่อาจจะสนในปรัชญา

* คิดแบบสามมิติ (three-dimensional reasoning) คนกลุ่มนี้มีวิธีคิดเหมือนกลุ่มที่สอง แต่มีความเชื่อมั่นในศาสนา และเชื่อในสิ่งเร้นลับ (unseen) เช่น พระเจ้า ญิน นรก สวรรค์ คนกลุ่มนี้เข้าใจข้อจำกัดของสมองมนุษย์ และข้อจำกัดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ เขาจะจำกัดการใช้เหตุผลกับสิ่งที่อยู่ในความสามารถของสมองมนุษย์เท่านั้น ส่วนที่เหตุผลไม่สามารถเอื้อมถึง เขาใช้ความศรัทธาเป็นหลักในการตัดสิน ตัวอย่างของนักวิทยาศาสตร์ที่มีลักษณะเช่นนี้ เช่น อัลเบิร์ต ไอสไนต์, นิวตัน, สตีเวน ฮอคกิน เป็นต้น กล่าวโดยสรุปแล้ว เราจะสังเกตได้จากลักษณะของเขาดังนี้

o เป็นคนมีเหตุผลสูง แต่อยู่เหนือเหตุผล

o เข้าใจความหลากหลายในวิธีคิดของมนุษย์เป็นอย่างดี พร้อมที่จะยอมรับความแตกต่างทางด้านความคิด ความศรัทธา แต่ต่อต้านความงมงาย

o แยกวิทยาศาสตร์ออกจากศาสนาตามความจำเป็น ยอมรับข้อจำกัดของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ถือว่าวิทยาศาสตร์เอื้อมไม่ถึงในสิ่งลี้ลับ

o เป็นคนที่มีความเคร่งครัดในศาสนาที่ตนเองนับถือ แต่ใจกว้างพร้อมที่จะพูดคุยเรื่องศาสนาในประเด็นต่างๆ กับศาสนิกอื่น

* คิดแบบเชิงซ้อนหลายมิติ (multi-dimensional or complex reasoning)

เป็นวิธีคิดของอัจฉริยบุคคลทั้งหลาย นอกจากจะสามารถคิดได้ทั้งสามมิติ ท่านเหล่านี้สามารถสร้างมิติใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งคนธรรมดาไม่สามารถเข้าใจได้ การถ่ายถอดวิธีคิดที่ซับซ้อนนี้ ต้องใช้ภาษาเชิงเปรียบเทียบเท่านั้น ผู้ที่มีวิธีคิดเหล่านี้คือบรรดาศาสดาทั้งหลาย บรรดานักปราชญ์ (ที่แท้จริง) ต้องขอโทษที่ดิฉันไม่สามารถอธิบายวิธีคิดแบบนี้ให้มากไปกว่านี้ เพราะมีผู้ที่อยู่ในระดับนี้เท่านั้นที่พอจะอธิบายได้ แต่เราจะสามารถเข้าใจได้แค่ใหนนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


ความหลากหลายในวิธีคิดของมนุษย์นั้น เหมือนกับต้นไม้ที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความหลากหลายทางธรรมชาติสูง ที่มันสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติได้ ไม่ใช่เพราะว่ามันเหมือนกัน แต่เป็นเพราะมันยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และพยายามอยู่ร่วมกันตามบทบาทที่เหมาะสมของพืชแต่ละชนิด ป่าไม่สามารถเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ได้หรอก ถ้ามีแตไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ โลกนี้ก็คงอยู่ได้ลำบากถ้าทุกคนมีความคิดเชิงซ้อนทั้งหมด ทำไม ? ช่วยตอบหน่อยค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #มุสลิม#วิธีคิด
หมายเลขบันทึก: 184196เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2008 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2015 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท