องุ่นแดงกับแอปเปิล ถนอมสุขภาพหัวใจ+หลอดเลือด


เป็นที่ทราบกันดีว่า ผักผลไม้มีส่วนช่วยถนอมสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจ วันนี้มีผลการศึกษาที่พบว่า องุ่นม่วงส่งผลดีกับสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจมากกว่ามาฝากครับ

...

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผักผลไม้มีส่วนช่วยถนอมสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจ วันนี้มีผลการศึกษาที่พบว่า องุ่นม่วงส่งผลดีกับสุขภาพหลอดเลือดและหัวใจมากกว่ามาฝากครับ

ท่านอาจารย์แกลลี เดอโกด (Kelly Decorde) และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยร์ (Montpellier) ฝรั่งเศสทำการศึกษาวิจัย เพื่อทดสอบสมมติฐานว่า ผลไม้ดีกับสุขภาพ ทีนี้ถ้าให้สัตว์ทดลองดื่มน้ำผลไม้ ไม่ให้กินผลไม้ทั้งผลจะดีกับสุขภาพหรือไม่

...

การทดลองนี้ทำในกลุ่มทดลองที่เป็นน้องหนู (hamsters) โดยการเลี้ยงหนูด้วยอาหารไขมันสูง ซึ่งถ้าเทียบเป็นคนเราคือ อาหารประเภท "ผัดๆ ทอดๆ" หรืออาหารจานด่วน (ฟาสต์ฟูด)

สัตว์ทดลองแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้ดื่มน้ำเปล่า กลุ่มที่ 2 ให้ดื่มน้ำองุ่นแดง กลุ่มที่ 3 ให้กินองุ่นทั้งผล กลุ่มที่ 4 ให้ดื่มน้ำแอปเปิล กลุ่มที่ 5 ให้กินแอปเปิลทั้งผล

...

ปริมาณน้ำผลไม้ที่สัตว์ทดลองได้รับมีขนาดเทียบเท่าน้ำผลไม้คั้นสดๆ ดื่มทันที 4 แก้วในผู้ใหญ่มาตรฐาน (ตำราฝรั่งท่านถือผู้ชายอายุ 35 ปี หนัก 70 กิโลกรัมเป็น "ผู้ใหญ่มาตรฐาน")

เมื่อขุนน้องหนูได้ระยะหนึ่งก็จับหนูมาฆ่า กรีดหน้าท้องออก และผ่าตัดนำเส้นเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ทา / aorta) มาตรวจดูว่า กลุ่มไหนมีคราบไขมัน (plaque) จับผนังเส้นเลือดแดงมากกว่ากัน

...

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่มีคราบไขมันน้อยที่สุดคือ กลุ่มที่ได้รับน้ำองุ่นแดง ตามด้วยองุ่นแดงทั้งผล น้ำแอปเปิล แอปเปิลทั้งผล และน้ำเปล่าตามลำดับ

การศึกษานี้บ่งชี้ว่า การดื่มน้ำผลไม้ที่คั้นสดๆ น่าจะให้ผลดีคล้ายการกินผลไม้ทั้งผล

...

อาจารย์เดอโกดกล่าวว่า ทั้งองุ่นและแอปเปิลมีสารพฤกษเคมี หรือสารคุณค่าพืชผัก (phytochemicals) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ คือ ฟีนอลส์ (phonols) วิตามิน C และสารกลุ่มแคโรทีนอยส์ (ซึ่งพบมากในผักผลไม้สีเหลือง ส้ม หรือเขียวเข้ม)

ปริมาณที่น้องหนูได้รับมีค่าเทียบเท่าแอปเปิล 3 ผลต่อวัน หรือองุ่นม่วง 3 พวง (bunches) ต่อวัน

...

ความต่างกันอยู่ที่ว่า องุ่นม่วงมีสารดีๆ ทีชื่อ "ฟีนอลส์" มากประมาณ 2.5 เท่าของแอปเปิล

ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ (อาหาร) ส่วนใหญ่แนะนำว่า ถ้าเราจะดื่มน้ำผลไม้คั้นสดๆ ดื่มทันทีบ้างก็ได้ ทว่า... ไม่ควรเกินวันละ 120 มิลลิลิตร หรือมีค่าประมาณ 3 ใน 4 ของถ้วยตวงข้าวสาร (ถ้วยตวงข้าวสารมีขีดบนอยู่ที่ 160 มิลลิลิตร)

...

สาเหตุสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่แนะนำให้ดื่มน้ำผลไม้คั้นสดๆ วันละมากๆ คือ ปัญหาเรื่องน้ำตาลในผลไม้ ซึ่งอาจทำให้อ้วนได้ง่าย

ผลงานวิจัยวิทยานิพนธ์ปริญญาโททางด้านโภชนาการ (อาหาร) ของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า น้ำผลไม้สำเร็จรูปที่บรรจุขวดหรือกล่องมีคุณค่าทางอาหารต่ำลงมาก สารต้านอนุมูลอิสระลดลงไปครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่านั้น

...

เรื่องที่น่าสนใจของการศึกษานี้คือ ผักผลไม้ที่มี "สีเข้ม" มีแนวโน้มจะมีสารคุณค่าพืชผัก หรือพฤกษเคมี (phytochemicals) และสารต้านอนุมูลอิสระ (แอนตี้ออกซิแดนท์) สูงกว่าผักผลไม้ที่มี "สีอ่อน"

ยกเว้นพืชตระกูลกะหล่ำที่มีสารคุณค่าพืชผักสูงมาก และผัก "สีขาว" บางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม ฯลฯ

...

อย่าลืมว่า น้ำผลไม้ทำให้อิ่มได้น้อยมากๆ ไม่เหมือนผลไม้ทั้งผลที่ทำให้อิ่มได้มาก และอิ่มได้นาน

นอกจากนั้นผลไม้ทั้งผลยังให้เส้นใย (ไฟเบอร์) ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ใครเป็นแล้ว อาจจะพบการรักษาผ่าตัดแบบ "ขนพองสยองเกล้า" นิดหน่อย คือ ปิดทวาร(หนัก) เปิดช่องถ่ายอุจจาระทางหน้าท้องแทน

...

อาหารที่ช่วยให้อิ่มนาน และช่วยต้านโรคอ้วนได้แก่

  • อาหารที่มีเส้นใย (ไฟเบอร์) เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท (เติมรำ) ฯลฯ
  • อาหารที่มีโปรตีน เช่น ถั่ว เนื้อ ปลา โปรตีนเกษตร เต้าหู้ ฯลฯ
  • อาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น นมไขมันต่ำ ฯลฯ

...

เรียนเสนอให้พวกเราหันมากินผัก เช่น มะเขือเทศ ฯลฯ ผลไม้ที่ไม่หวานจัดทั้งผล เช่น ฝรั่ง ชมพู่ ส้มโอ มะละกอ มะม่วงดิบ ฯลฯ หรือส้มตำ เพื่อป้องกันโรคอ้วน และโรคอ้วนลงพุง

ส้มตำนี่... ถ้าต้องการเพิ่มคุณค่าทางอาหาร เรียนเสนอให้เพิ่มแครอทเข้าไป เนื่องจากมะละกอดิบมีสารเบต้าแคโรทีนที่ร่างกายเปลี่ยนเป็นวิตามิน A ได้น้อยมาก ส่วนแครอทมีสารนี้สูงมาก

...

นอกจากนั้นเบต้าแคโรทีนยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ หรือชะลอความเสื่อมของร่างกายด้วย

ถ้าไม่ชอบแครอท จะกินส้มตำก่อน ตามด้วยมะละกอสุกก็จะได้เบต้าแคโรทีนเช่นกัน

...

ส้มตำเป็นอาหารที่มีแคลอรี หรือให้กำลังงานต่ำ เหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้เสริมในการลดความอ้วน

ถ้าต้องการลดความอ้วน... ควรกินส้มตำเปล่าๆ หรือลดข้าวเหนียว ลดขนมจีน ลดไก่ย่าง หรือนำหนังไก่ที่กินกับส้มตำออก

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ที่มา                                                  

  • Thank BBC > Juice 'prevents clogged arteries' > [ Click ] > May 16, 2008. // source > J Molecular Nutrition and Food Research.
  • Thank Reuters > Juice may beat fruit for preventing heart disease > [ Click ] > May 16, 2008 // source > J Molecular Nutrition and Food Research. April 2008.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบคุณอาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 17 พฤษภาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 183077เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2008 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

อาจารย์หมอวัลลภค่ะ แต่ทั้งองุ่นแดงและแอ๊ปเปิ้ลในเมืองไทยมีสารเคมีเคลือบผิวอยู่เยอะมากค่ะ คงต้องระวังกันมากๆ ด้วยค่ะ

ขอขอบคุณอาจารย์ ดร.จันทวรรณ...

  • จริงครับ... ทุกวันนี้ "ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง" แทบจะทุกเรื่องเลยก็ว่าได้

เรียนเสนอให้แช่ผัก ผลไม้ในน้ำส้มสายชู และหยดน้ำยาล้างจานไป 2-3 หยด ครบ 10 นาทีแล้วล้างผ่านน้ำหลายๆ รอบ

  • การปอกเปลือกบางส่วน เช่น ปอก 60% ของพื้นที่ผิว ฯลฯ อาจช่วยได้เช่นกัน
  • ถ้าปอกเปลือก 100% สงสัยคุณค่าทางอาหารคงจะลดไปเพียบเลย...

ปลูกผักสวนครัว เช่น ถั่วฝักยาว พริก มะเขือเทศ ฯลฯ ปลอดภัยดีครับ

ขอบคุณมากคะอาจารย์ เทคนิคนี้ไม่เคยทำค่ะ แต่ อ.วิบุล เคยบอกไว้เหมือนกันค่ะว่าให้ใช้น้ำยาล้างจาน

ขอขอบพระคุณอาจารย์ ดร.จันทวรรณ...

  • พวกผลไม้นี่... ผมใช้ทั้งน้ำผสมน้ำส้มสายชู + เติมน้ำยาล้างจาน 2-3 หยด + ฟอกผิวผลไม้ (ที่ฟอกได้) ด้วยฟองน้ำล้างจานด้วย

การใช้ฟองน้ำ + น้ำยาล้างจาน > ช่วยลดเชื้อท้องเสียออกไป ช่วยขัดสารเคลือบผลไม้ เช่น ขี้ผึ้ง ฯลฯ ออกไป

  • การใช้น้ำส้มสายชู ซึ่งเป็นกรดอ่อน > ช่วยลดยาฆ่าแมลง
  • ผมคงจะได้ย้ายไปโรงพยาบาลห้างฉัตร ไปอยู่ศูนย์แพทย์ชุมชนเร็ว ๆนี้ (CMU = community medical unit)

ที่นั่นมีที่พอจะปลูกพืชสวนครัวได้ด้วย...

  • ชำต้นหม่อนไว้แล้ว คงจะได้กินผลหม่อน (mulberry) ปั่นแบบเกษตรอินทรีย์ทีเดียว...
  • ต่อไปอาจจะได้ปลูกพืชผักอีกหลายอย่าง

อาจารย์เหมาะเป็นแพทย์ชุมชนที่สุดเลยค่ะ อาจารย์ได้ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อการป้องกันโรคไว้เยอะมากๆ ค่ะ

Cheers :)

ขอขอบพระคุณอาจารย์ ดร.จันทวรรณ...

  • ขอขอบพระคุณครับ...

เรื่องนี้...

  • ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุรชัย สาธารณสุขจังหวัดลำปาง และชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนลำปางที่กรุณาให้โอกาสผมไปทำงานที่นั่น และมีโอกาสทำงานรังสีวินิจฉัยที่โรงพยาบาลห้างฉัตรอีก 2 บ่ายด้วย
  • ตอนแรกก็กล้าๆ กลัวๆ มากที่จะต้องเปลี่ยนงาน ทว่า... พอนึกขึ้นมาได้ว่า ความรู้จากการเรียนการสอน + การทำบล็อกมา 3 ปีคงจะช่วยเราได้ เลยมั่นใจ...

สวัสดีคะ อาจารย์หมอวัลลภ

แวะมาเรียนรู้ และจะนำไปปฎิบัติคะ

ขอบคุณคะ

ขอขอบคุณอาจารย์มะปรางเปรี้ยว...

  • ขอแสดงความชื่นชมที่อาจารย์เป็นแบบอย่างในการใส่ใจสุขภาพครับ... สาธุ สาธุ สาธุ

ขอบคุณมากคะ อาจารย์หมอวัลลภ

ขอขอบคุณอาจารย์มะปรางเปรี้ยวเช่นกันครับ...

ชอบทานทั้งสองอย่างเลย แต่ต้องระวังล้างให้ดีอย่างที่คุณหมอบอก ชอบซื้อผลไม้ตามซุปเปอร์หรือตลาด เป็นพวกที่ไม่ยอมกินผลไม้จากรถเข็นเด็ดขาดเพราะเคยเห็นกรรมวิธีการทำก่อนมาเข็นขายค่ะ

ขอขอบคุณอาจารย์ LittleJazz

  • ผักผลไม้นี่... ล้างเอง + ล้างให้ถูกวิธีแล้ว
  • ปลอดภัยกว่าไม่กินผักผลไม้แยะเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท