นักรังสีเทคนิคมืออาชีพกับองค์กรที่มีชีวิต


“บ้านที่ไม่มีชีวิต เป็นบ้านที่ทรุดโทรมเร็วเพราะเกิดจากการทิ้งร้างไม่มีผู้คนอยู่อาศัย บ้านที่มีชีวิต เป็นบ้านที่มีผู้คนที่มีชีวิตอาศัยอยู่”

     ได้กล่าวถึง "นักรังสีเทคนิคมืออาชีพ" ไปแล้วในบันทึกจาประกายรังสี ใน RT News ฉบับที่ 26 คราวนี้จะขอต่อเรื่องไปถึงว่า นักรังสีเทคนิคกับองค์กรที่มีชีวิต (living organization) จะเป็นอย่างไร ประเด็นที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ได้เก็บรายละเอียดจากการเสวนา เมื่อคราวที่ผมได้มีโอกาสไปเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายเรื่อง "นักรังสีเทคนิคมืออาชีพ" ในการประชุม 9th HA National Forum "องค์กรที่มีชีวิต-Living Organization" เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

องค์กรกับองค์การ
     บางคนถามแบบตั้งข้อสังเกตว่า องค์กรและองค์การเหมือนกันหรือไม่ คำตอบคือไม่เหมือนกันทีเดียวนัก คำว่าองค์การ (มาจากคำว่า Organization) ฟังดูน่าจะมีองค์ประกอบที่ใหญ่โตมโหราฬกว่าองค์กร เป็นศูนย์รวมของกิจการ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยงานเดียวกัน เช่น องค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจากประเทศต่างๆจำนวนมาก คำว่าองค์กร (หรือ Organ) เป็นส่วนประกอบย่อยของหน่วยงานใหญ่ที่ทำหน้าที่สัมพันธ์กัน หรือขึ้นต่อกันและกัน เอาเถอะ เรียกอย่างไรก็ตาม ก็ใช้คำว่าองค์กรที่มีชีวิต-Living Organization แล้วกัน

องค์กรที่มีชีวิตเป็นอย่างไร
    
คำว่า "มีชีวิต" ฟังดูไม่น่าจะมีปัญหาที่เข้าใจยาก ถ้าพูดถึงสิ่งมีชีวิต ชาวเราคงทราบได้ทันที่ว่า สิ่งนั้นจะต้องมีสมบัติของสิ่งมีชีวิต เช่น กิน ขับถ่าย เจริญเติบโต สืบพันธุ์ เป็นต้น แต่เมื่อเป็นองค์กรที่มีชีวิต มันจะเหมือนกับสิ่งมีชีวิตหรือไม่ วันนั้นเราได้ข้อสรุปว่า องค์กรที่มีชีวิตควรมีหลักพื้นฐานในเชิงความคิดที่สำคัญดังนี้

  • องค์กรมีชีวิตหรือไม่ อยู่ที่เรานักรังสีเทคนิคมืออาชีพนี่แหละ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชาวเราก็เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์กร ชาวเราสามารถทำให้องค์กรเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและถูกต้อง หรือเสื่อมถอย หมดความขลังลงไป คือเป็นไปได้ทั้งนั้นจากการกระทำของชาวเรา
  • องค์กรที่มีชีวิตควรมีการปรับตัวอยู่เสมอ เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตในทุกระดับ คือ มีการปรับตัวอยู่เสมอ หากสิ่งมีชีวิตหยุดการปรับตัว มันจะตายหรือสลายตัวไป ความมีชีวิตก็จะหมดไป ชาวเราซึ่งเป็นส่วนขององค์กร ไม่ร่วมคุณสมบัติเช่นนี้ ชาวเราก็จะช่วยทำให้องค์กรเสื่อมลงและตายในที่สุด
  • การสื่อสารแบบมีชีวิต คือการสื่อสารที่เข้าใจง่ายและเป็นมิตร หากการสื่อสารที่ใช้ในองค์กรเต็มไปด้วยความมุ่งร้ายต่อกัน แฝงไว้ด้วยกระแสแห่งการฟาดฟันกัน รับรองได้ว่าพังครับ องค์กรตายแน่
  • มนุษย์มีธรรมชาติที่สำคัญคือไม่ชอบการบังคับ อาจกล่าวได้ว่า ที่ใดก็ตามที่มีการบังคับที่นั้นจะมีการต่อต้าน เพราะการทำงานตามที่ถูกบังคับให้ทำนั้น จะเป็นการทำงานไปอย่างนั้นเอง ทำไปเพียงเพื่อปกป้องตนเองไม่ให้ถูกว่าได้ โดยไม่คิดว่าได้ทำจนดีจนสุดความสามารถของตัวเอง สักแต่ทำ ไม่ได้ทำด้วยใจ หากเป็นเช่นนี้ คงไม่มีชีวิตสำหรับองค์กรนั้นแน่ๆ

     คงไม่มีใครอยากเห็น ชาวรังสีเทคนิคหรือรังสีการแพทย์ ที่เหลืออยู่ในองค์กรกลายเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มีเพียงสมบัติของสิ่งมีชีวิตตามหลักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่มีสภาพที่หมดไฟและขาดขวัญกำลังใจ และเป็นตัวถ่วงองค์กรให้เสื่อมถอยลงไป อยากแสดงความเห็นฝากไปถึงผู้นำองค์กรทั้งหลายด้วยความเคารพครับ ผู้นำองค์กรต้องนำความมีชีวิตเข้ามาสู่องค์กรอย่างเลี่ยงไม่ได้ งานของผู้นำองค์กร คงไม่น่าจะเรียบง่ายเพียงแค่การกำหนดตัวชี้วัดอย่างเมามัน และใช้สิ่งเหล่านั้นเพื่อการควบคุมกำกับให้เป็นไปตามตัวชี้วัด แต่ควรเป็นการนำความมีชีวิตมาสู่องค์กร หากจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ผู้นำองค์กรต้องทำให้คนในองค์กรเห็นคุณค่าของการเปลี่ยนแปลง (มองแบบ living organism) โดยไม่ใช้วิธีสั่งการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (มองแบบ mechanical view) ไม่มีชาวรังสีคนใดหรือใครชอบการสั่งให้เปลี่ยน จริงไหมครับ

ดรรชนีความมีชีวิตขององค์กร
     เครื่องบ่งชี้ที่เป็นตัวบอกว่า องค์กรนั้นมีชีวิตชีวาคืออะไรบ้าง หลายคนจะมีวิธีมองในส่วนนี้แตกต่างกันไปบ้าง แต่เมื่อพิจารณาในมุมมองของชาวเรา ชาวรังสีทั้งหลาย วันนั้นพอสรุปได้ว่า

  • ดูที่หน้าตาและแววตาของชาวเรานักรังสีเทคนิคมืออาชีพทั้งหลาย หากชาวเรารู้สึกว่าภูมิใจในงานที่ได้ทำ มีความปิติที่ได้ทำให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานจากโรคภัย โดยไม่คำนึงถึงอามิสสินจ้าง เช่นนี้ จะปรากฏออกทางใบหน้าและแววตา ใบหน้าจะอิ่มเอิบ แววตาจะดูใส อบอุ่นมีเมตตา กรณีนี้ ดรรชนีความมีชีวิตชีวาขององค์กรจะพุ่งปรี๊ดทีเดียว
  • หากชาวเราเห็นคุณค่าในตัวเราเอง ขณะเดียวกันก็มีผู้อื่นเห็นคุณค่าในตัวเรา ชาวเราเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงาน ทั้งวิชาชีพเดียวกันและวิชาชีพอื่น ชาวเรารู้สึกรักองค์กรมากอย่างมีสติ อย่างนี้ ดรรชนีความมีชีวิตชีวาขององค์กรจะพุ่งปรี๊ด
  • หากชาวเราเลิกคิดแบบทำงานให้เพียงแค่ตัวเองอยู่รอดได้ ขณะเดียวกัน ก็ทุ่มเทความคิด ค้นหาวืธีว่า ทำงานอย่างไรให้องค์กรอยู่รอด เท่านี้ ดรรชนีความมีชีวิตชีวาขององค์กรจะพุ่งปรี๊ด

     กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่นักรังสีเทคนิคหรือนักรังสีการแพทย์ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมสุขภาพนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชาวเราเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์กร ซึ่งเปลี่ยนไปในทิศทางที่ทำให้องค์กรมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ได้ หากประสงค์ให้องค์กรมีชีวิต ชาวเราโดยเฉพาะชาวเราที่เป็นมืออาชีพควร ทำตัวเองให้มีชีวิตชีวา คำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่นเป็นหลัก (customer/patient focus) สื่อสารการทำงานระหว่างกันและกันให้รู้เรื่องเข้าใจ ปรับตัวอยู่เสมอ เห็นคุณค่าในตัวเองและองค์กร เลิกคิดแบบทำงานเพียงเพื่อตัวเองรอดไปวันๆ ควรคิดว่า ทำอย่างไรองค์กรจึงจะรอดอย่างถูกต้อง


“บ้านที่ไม่มีชีวิต เป็นบ้านที่ทรุดโทรมเร็วเพราะเกิดจากการทิ้งร้างไม่มีผู้คนอยู่อาศัย บ้านที่มีชีวิต เป็นบ้านที่มีผู้คนที่มีชีวิตอาศัยอยู่”

อ่าน "นักรังสีเทคนิคมืออาชีพ"

หมายเลขบันทึก: 181802เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2008 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อ.มานัส ที่เคารพ

ผมขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ นักรังสีฯ มืออาชีพ และ นักรังสีฯ กับองค์มีชีวิต บทความใน RT News ฉบับที่ 26 และ 27 มาทาง e-mail เนื่องจากผม click แสดงความคิดเห็นใน web สมาคมรังสีฯ แล้วไม่สามารถเข้าไปได้

ด้วยความเคารพ

ธนากร อภิวัฒนเดช รังสีรุ่น 17

อดีตผู้จัดการฝ่ายรังสีฯ รพ บำรุงราษฎร์

“องค์กรมีชีวิต” จะเกิดขึ้นได้คงต้องมีหลายปัจจัยด้วยกัน

ส่วนหนึ่ง ตัวนักรังสีฯ เองต้องเห็นประโยชน์และคุณค่าของการสร้างให้องค์กรมีชีวิตด้วยตนเอง

ส่วนหนึ่ง ผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรต้อง “ได้ใจ ” จากนักรังสีฯ หรือ “ลูกน้อง” เสียก่อน

คำว่า “ลูกน้อง” ก็บอกอยู่แล้วว่าผู้นำองค์กรควรดูแลเค้าให้เหมือน “ลูก” เหมือน “น้อง”

สนใจว่า เค้าทำงานมีความสุขมั๊ย ปรารถนาดีอย่างจริงใจที่จะส่งเสริมและพัฒนาเค้าให้เป็นนักรังสีฯที่ดี ดูว่าเค้ามีปัญหาจากการทำงานหรือไม่ ร่วมรับผิดชอบงาน ไม่โยนความผิดให้เค้า ปกป้องเค้า รักษาสิทธิที่พึงได้ให้เค้า

มองเค้าในด้านดี ไม่คอยจ้องจับผิด มองเห็นคุณค่าของเค้า แต่ก็ไม่ใช่ให้ท้ายซะเค้าหลงตนเอง จนเสียผู้เสียคนไปนะ

หากผู้นำองค์กร สามารถ “ ให้ใจ” ลูกน้องได้ เค้าก็ยินดีที่จะทำงานและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับองค์กร “ด้วยใจ” เช่นกัน

ผู้นำองค์กร ไม่ควรดูแลเค้าเพียงคิดว่าเป็น “ลูกจ้าง” คิดแค่ว่า จ้างมาแล้ว จ่ายค่าตอบแทนให้แล้วก็ทำงานให้ดีสิ เอาแต่สั่งงาน ไม่สนใจว่าเค้าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ลาออกไป จ้างใหม่ก็ได้ อย่างนี้เค้าก็ “ไม่มีใจ ” ให้กับองค์กร เค้าก็จะทำงานให้ตามค่าจ้าง หรือทำตามที่สั่งเท่านั้น คอยแต่รอเวลาเลิกงานกลับบ้าน จะไม่มีการคิดสร้างสรรค์อะไรให้กับองค์กร

อีกส่วนหนึ่ง เป็นส่วนที่สำคัญมาก ผู้นำองค์กรและผู้ร่วมทีมสุขภาพจากวิชาชีพอื่น ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อนักรังสีฯ ให้เกียรติในศักดิ์ศรีของวิชาชีพรังสีฯ อย่างเท่าเทียมกับวิชาชีพอื่น เพราะสิ่งนี้จะเป็นยาชูกำลังอย่างดี เป็นขวัญและกำลังใจให้นักรังสีฯ ทำงานด้วยความมั่นใจและภาคภูมิใจ

(ซึ่งถ้าเราจะมาวิเคราะห์กันเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาคุยกันอีกนาน เพราะต้องรื้อฟื้นไปถึงระบบการศึกษา ค่านิยม อัตตา ทัศนคติ วิธีคิด ที่มันฝังลึกอยู่ในยีนส์ จนมันหล่อหลอมออกมาเป็นวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆ อย่างทุกวันนี้ )

ผมเคยบอกน้องๆ อยู่เสมอว่า เราต้องตั้งใจทำงานของเราให้ดีที่สุด มีความรอบคอบ ผิดพลาดให้น้อยที่สุด เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากวิชาชีพอื่น โดยเฉพาะวิชาชีพที่ใกล้ชิดเราที่สุด แต่ยอมรับเลยว่าเหนื่อยมากๆ เหนื่อยที่สุด ยิ่งปัจจุบันนี้มีการฟ้องร้องกันมากขึ้น ก็ยิ่งจะมีการป้องกันตนเอง ต่างฝ่ายก็คงคอยมองหาแพะ แบ๊ะๆ ก็คิดว่าคงทำให้ต้องเหนื่อยขึ! ้นอีกหลายเท่าเป็นแน่แท้

ถ้าบ้านไหนบรรยากาศการทำงานดี ผู้คนในบ้านไม่ว่าจะเป็นผู้นำองค์กร เพื่อนร่วมงานทั้งวิชาชีพเดียวกันและต่างวิชาชีพ ต่างให้เกียรติกัน มองเห็นคุณค่าของกันและกัน มีความเอื้อเฟื้อกัน และมีความปรารถนาดีต่อกันอย่างจริงใจ เชื่อว่าทุกคนก็คงรักบ้านหลังนี้และช่วยกันทำบ้านหลังนี้ให้น่าอยู่ มีชีวิตชีวา โดยไม่ต้องมีการบังคับ อะไร อะไร ที่เป็นดรรชนีชี้วัดก็คงจะพุ่งปรู๊ดปร๊าดเลยทีเดียว

ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ทั้งสามารถส่งเสริมหรือบั่นทอนกำลังใจของนักรังสีฯ ในการที่จะสร้างองค์กรให้มีชีวิตได้

แต่เชื่อว่า นอกจากตัวนักรังสีฯ เองแล้ว ก็คงไม่มีอะไรที่จะสามารถมาบั่นทอนความเป็น “นักรังสีฯ มืออาชีพ” ของเราได้ ตราบใดที่นักรังสีฯ ยังมีจิตใจที่มุ่งมั่น ตั้งใจ และ รอบคอบในการทำงาน “ด้วยใจรัก” ในวิชาชีพรังสีฯ มองเห็นคุณค่าของวิชาชีพ และ! ตนเอง เพราะผู้ที่ทำอะไร “ด้วยใจรัก” และมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองทำ ย่อมสร้างผลงานออกมาได้ดี มีความภาคภูมิใจและมีความสุข บางทีอาจจะดีเกินกว่ามาตรฐานหรือความคาดหมายด้วยซ้ำไป นี่แหละ “มืออาชีพ”

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท