กรรมการหมู่บ้านฉบับสภาผู้นำ/องค์กรชุมชน


"คนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด ความสุขและผลจักมีแก่ชนเหล่านั้น"

ผมกำลังสืบค้นลงลึกในแนวคิด รูปแบบและวิธีจัดการงบประมาณของภาครัฐโดยใช้ประเด็นสวัสดิการสังคมเป็นตัวเดินเรื่อง ซึ่งครอบคลุมเรื่องราวเกือบทุกเรื่องที่รัฐดำเนินการอยู่ เพราะเป้าหมายของสวัสดิการสังคมคือ ตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความมั่นคงทางสังคม
เราพบว่ารัฐใช้จ่ายเงินเพื่อการนี้ผ่านกลไกต่างๆมากมายซึ่งซ้อนทับกันอย่างอีรุงตุงนัง
เราพบว่าสังคมไทยขาดความเชื่อมั่นในสถาบันหลักเกือบทั้งหมด เริ่มจากสถาบันครอบครัวที่กำลังอ่อนแอลง สถาบันหมู่บ้าน ท้องถิ่น การศึกษา  การเมือง ตำรวจ ทหาร ราชการ หรือแม้แต่ศาสนา
ล้วนไม่น่าเชื่อถือ
คำถามคือ แล้วเราจะใช้กลไกอะไรขับเคลื่อนงบประมาณ1,660,000ล้านบาทในปี2551ให้เกิดผลตามที่ระบุไว้ในแผน10คือสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

กลไกและแผนพัฒนาได้รับการเรียนรู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งเริ่มเชื่อมโยงกันเป็นระบบมากขึ้นจากชุมชนต้นแบบซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเป็นกฏหมาย ที่พอจะจัดระบบได้ในตอนนี้คือ
1)ในระดับชาติมีกระทรวง ทบวง กรมเป็นหน่วยจัดการ โดยมีแขนขาในระดับจังหวัด/ภาคเป็นหน่วยปฏิบัติการ
2)ในระดับจังหวัด มีจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเป็นหน่วยปฏิบัติการ และมีอบจ.เป็นหน่วยปฏิบัติการร่วม  (ยกเว้นกรุงเทพมหานครที่หน่วยท้องถิ่นกับจังหวัดเป็นหน่วยเดียวกัน)
3)ในระดับตำบล/เทศบาล มีอบต.และเทศบาลเป็นหน่วยจัดการ
4)ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน มีกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นหน่วยจัดการ

โดยที่ทุกๆหน่วยจัดการมีแผนเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาโดยอิงกับแผน10และนโยบายของรัฐบาล

เริ่มจากหน่วยจัดการเล็กสุดระดับหมู่บ้าน/ชุมชน จะมีคณะทำงานด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน ในคณะกรรมการหมู่บ้านที่มาจากการผสมผสานกันของแนวคิดสภาผู้นำชุมชนและสภาองค์กรชุมชนตามตัวแบบที่อ.วิจารณ์ พานิชเขียนถึงผญ.โชคชัยที่บ้านหนองกลางดง จ.ประจวบคีรีขันธ์
องค์ประกอบของคณะกรรมการหมู่บ้านมาจาก

 

ผู้ใหญ่บ้าน    ประธาน
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  กรรมการ
สอปท.ในหมู่บ้าน  
ผู้นำหรือผู้แทนกลุ่มหรือองค์กรในหมู่บ้าน  
 -กลุ่มบ้าน  
 -กลุ่มอาชีพหรือกลุ่มกิจกรรมตามกฏหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งราชการ
 -องค์กรจดแจ้งตามกฏหมายสภาองค์กรชุมชน  
 -กลุ่มอาชีพจากการรวมตัวของสมาชิก  
ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย๒คนไม่เกิน๑๐คน(ประชาคมหมู่บ้านเลือก)  
ปลัดอำเภอประจำตำบล   ที่ปรึกษา
นายกอบต./นายกเทศมนตรี ที่ปรึกษา
นายอำเภออาจตั้งเพิ่มได้   ที่ปรึกษา

คณะทำงานด้านต่างๆ
 -ด้านอำนวยการ  
 -ด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน
 -ด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย
 -ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ
 -ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข
(อาจตั้งเพิ่มตามความเหมาะสม)

ความเห็นต่อองค์กร(กม.)และบทบาทหน้าที่(เมื่อนำเรื่องนี้เผยแพร่)คือ คุณสมบัติของคนที่เป็นวิกฤตศรัทธาต่อผู้นำในทุกระดับซึ่งผมเห็นว่า เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข
สิ่งสำคัญคือ เราควรมีองค์คณะที่สะท้อนการปกครองตนเองในระดับพื้นฐานคือหมู่บ้านและการเชื่อมโยงกับภาครัฐอย่างเป็นระบบเพราะเป็นกลไกนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะทุกระบบย่อมมีคนไม่ได้เรื่องอยู่ในนั้น ผู้ใหญ่ชลอบอกว่า ที่ผู้ใหญ่บ้านไม่ได้เรื่อง ไม่ใช่เพราะเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่เป็นมาก่อนแล้ว ผู้ใหญ่โชคชัยก็เป็นผู้ใหญ่บ้านตัวอย่างที่มีให้เห็น การทำโครงการกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรงด้วยระบบการเงินที่คล่องตัวถือเป็นเงื่อนไขพิเศษของหน่วยงานพิเศษทั้งหลาย

ถ้าเป็นระบบทั่วไป ภาพฝันในจินตนาการคือ รัฐบาลหมู่บ้านที่มาจากสภาผู้นำและสภาองค์กรชุมชนที่มีงบประมาณดูแลตนเอง(พัฒนา)ทุกปี  SMLคือตัวอย่าง ถ้าให้ครอบคลุมคือข้อเสนอให้ผันงบSMLเข้ากองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมในกฏหมายส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม2550 โดยตั้งอนุกรรมการบริหารกองทุนระดับหมู่บ้านล้อตามคณะทำงานด้านอำนวยการซึ่งมาจากคณะทำงานด้านต่างๆที่ดูแลสวัสดิการในหมู่บ้านเพื่อพัฒนาหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ตั้งไว้ปีละ20,000ล้านบาท(น้อยกว่ากองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา)ก็จะช่วยให้หมู่บ้านลืมตาอ้าปาก ปลดแอกตนเองเป็นไท ไม่ต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝนงบนโยบายรายปีที่ฉุกระหุกเป็นอาจินอีกต่อไป สมตามคำโบราญ
"คนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด ความสุขและผลจักมีแก่ชนเหล่านั้น"

หมายเลขบันทึก: 180894เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2008 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • มาให้กำลังใจพี่ภีม
  • เห็นด้วยกับความคิดเห็นนี้ครับ
  • "คนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด ความสุขและผลจักมีแก่ชนเหล่านั้น"
  • สู้ๆๆครับ
ทิพวัลย์ สีจันทร์

เห็นด้วยกับการสร้างความเข้มแข็งระดับฐานล่างคือ การสร้างรัฐบาลหมู่บ้าน โดยเสริมหนุนด้วยกลไกการจัดการด้านงบประมาณ ซึ่งทำให้การบริหารจัดการจะคล่องตัว มีแผนชุมชนระดับหมู่บ้าน จัดสวัสดิการที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การสร้างพลังชุมชนที่ยั่งยืน คงต้องหารูปแบบและวิธีการเชื่อมร้อยเครือข่ายหลายหมู่บ้าน เพื่อผนึกกำลังเรียนรู้ร่วมกัน

อาจารย์ประเวศกล่าวไว้ตั้งแต่สมัยวิกฤติปี 40 ถึงการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ที่มีหน่วยจัดการในระดับตำบล ซึ่งเป็นแนวคิดการเสริมพลังระหว่างชุมชนและรัฐท้องถิ่นคือ อปท.ขณะนี้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มีกรณีตัวอย่างของความสำเร็จ(ในระดับหนึ่ง) เช่นที่ตำบลหนองสาหร่าย กาญจนบุรีที่ได้ประกาศตัวเองว่าขอเป็นประเทศหนองสาหร่าย ขอบริหารจัดการดูแลทุกข์สุขของผู้คนในตำบลตัวเอง เพราะภาครัฐใหญ่จนมองไม่เห็นคนเล็กคนน้อยที่ยากไร้ (แต่รัฐก็เล็กเกินกว่าจะดูแลผู้คนในประเทศไทยได้ทั่วถึง)พี่ศิวโรจน์และแกนนำหนองสาหร่ายประกาศเจตนารมณ์การคิดพึ่งตนเองด้วยทุนชุมชนที่มี และการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน (หากแต่ในความเป็นจริง ชุมชนยังคงต้องพึ่งพิงการเสริมหนุนจากภาครัฐ หนองสาหร่ายมีภาวะหนี้สิน 80 ล้านบาทที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกวัน)

แต่ไม่ว่าจะเป็นรัฐระดับหมู่บ้านหรือรัฐระดับตำบล (และรัฐในทุกระดับ)โจทย์สำคัญคือ จะสร้างให้ผู้นำมีสำนึกของ "คนดี" ได้อย่างไร หรือจะทำให้ "คนดี" มาเป็นผู้นำได้อย่างไร ขบวนการสร้างและพัฒนาคนดีให้เกิดขึ้นในชุมชน มีรูปแบบ วิธีการ และกลไกอย่างไร

ทั้งในกรณีของพี่ผู้ใหญ่โชคชัยแห่งบ้านหนองกลางดงที่คุณภีมกล่าวถึง หรือกรณีพี่ศิวโรจน์ของตำบลหนองสาหร่าย (และอีกหลาย ๆ พื้นที่)ซึ่งเป็นตัวแบบของการบริหารจัดการชุมชนผ่าน "สภา" ผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง เรื่องราวเหล่านี้ต่างล้วนมี "ที่มา-ที่ไป"ของการก่อเกิดและพัฒนาการที่ยาวนาน ซึ่งคงต้องถอดบทเรียนชีวิต ถอดบทเรียนการทำงานของ "คนดี" เหล่านี้...แล้วคงต้องตั้งคำถามว่าเราจะต้องสร้าง "คนดี" อีกเท่าใดจึงจะสามารถพลิกฟื้นวิกฤติศรัทธาผู้นำเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้

หากจัดสรรงบประมาณลงสู่หมู่บ้าน โดยมิได้คำนึงถึงการพัฒนาคนและการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณที่มีพลัง แม้เงินและงบจะลงมาเท่าไหร่ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างที่ควรจะเป็น....

คำโบราณก็จะเป็นเพียงแค่วาทกรรมที่มีไว้ปลอบใจให้คลายความขมขื่นจากยุคสมัยของสังคมวิกฤติศีลธรรม

"คนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด ความสุขและผลจักมีแก่ชนเหล่านั้น"

ไม่เจออ.ขจิตนานแล้ว ยังขยันส่งข่าวถึงเพื่อนฝูงเหมือนเดิมนะ ขอบคุณที่ให้กำลังใจครับ

อ.ทิพวัลย์ครับ รัฐทำหน้าที่ดูแลสุขภาพอนามัยและการศึกษาให้มีชีวิตรอดและมีความรู้ ควบคู่กับสถาบันครอบครัว ความรู้จากการศึกษาในโรงเรียนและที่บ้านมีเนื้อหาอย่างไร?ความรู้จากตลาดที่ครอบงำผ่านสื่อต่างๆให้เนื้อหาอะไร?ย่อมกำหนดวิถีชีวิตคนในสังคมเป็นส่วนมาก ชุมชนและศาสนาเป็นกลไกจรรโลงและชี้นำชีวิตน้อยลงเต็มที เราได้ผู้ปกครองจากระบอบเสียงส่วนใหญ่เกือบทุกระดับ ในหมู่บ้าน ตำบล/เทศบาล อบจ.และรัฐบาล เป็นวิถีทางของโลก ถ้าเชื่อว่าคนส่วนใหญ่มีสำนึกดี การกระจายงบประมาณผ่านกลไกสภาผู้นำที่หลากหลายในชุมชนก็น่าจะเกิดผลดีมากกว่าผ่านกลไกรวมศูนย์ที่ไม่อาจมั่นใจได้ว่าดีแน่ อย่างน้อยถ้าล้มเหลวหรือไม่เกิดผลเท่าที่ควรในหมู่บ้านใด บ้านอื่นที่ดีดีก็ไม่เดือดร้อนไปด้วย
"คนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด ความสุขและผลจักมีแก่ชนเหล่านั้น" เช่นเดียวกัน
"คนไม่ดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด ความซวยและผลจักมีแก่ชนเหล่านั้น"เช่นเดียวกัน
เชื่อว่าคนเรียนรู้ได้ ย่อมเลือกทางเดินได้ครับ

สิ่งสำคัญคือ เราควรมีองค์คณะที่สะท้อนการปกครองตนเองในระดับพื้นฐานคือหมู่บ้านและการเชื่อมโยงกับภาครัฐอย่างเป็นระบบ

...........................................

อันนี้เห็นด้วยนะคะ  เพราะแต่ละชุมชน ก็จะถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทุกหมู่บ้าน

โครงการใดก็ดี ที่ได้รับการเห็นชอบ ก็เพราะ กลุ่มทุนภายนอกเห็นชอบด้วย

แต่รูปแบบ องค์คณะ ที่จะสะท้อน นี่ซิ  อาจจะอยู่ยาก นะ ถ้าสะท้อนมากไป พี่ว่ามะ 

ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ (ขออนุญาตเรียกว่าพี่ละกัน)

ตอนนี้อยากจะพัฒนาหมู่บ้านตตนเองเป็นอย่างมากแต่ก็จนด้วยปัญญา ถ้ามีแบบอย่างหรือผู้ใหคำแนะนำและเสนอแนวทางแก้ปัญหาก็คงจะดี

"คนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด ความสุขและผลจักมีแก่ชนเหล่านั้น"

เห็นด้วยกับคำนี้มากเลยครับอาจารย์  สวัสดีปีใหม่ 2552 ด้วยครับ

นกน้อยทำรังแต่พอตัว

องค์ประกอบของคณะกรรมการหมู่บ้าน พึ่งจะเข้ามามีบทบาทกับคณะกรรมการหมู่บ้านรู้สึกว่าการบริหารจัดการกับงบประมาณที่มีอยู่เป็นไปอย่างอยากลำบาก จากคณะกรรมการชุดเดิมที่ได้จัดการไว้แล้ว แต่เมื่อมีผู้ใหญ่บ้านคนใหม่เข้ามารู้สึกว่าความเกรงใจกับชุดเก่ายังมีอยู่เลยทำให้ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ทำงานไม่สะดวกเท่าที่ควร แต่เลขาจำเป็นก็คิดว่าการทำงานให้ถูกใจ กับถูกต้องนั้นชาวบ้านควรจะเลือกวิธีไหน เป็นเรื่องที่เจอแต่ความท้าทายความสามารถของคณะกรรมการชุดใหม่ว่าจะฝ่าด่านตรงนี้ได้หรือไม่

* เรื่องนี้ต้องหาแนวร่วมที่ต้องการให้ชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้างก็ต้องทำถึงที่สุด เพื่อที่จะให้ชุมชนเป็นชุมชนที่มีความคิดเป็น ทำเป็น แก้ไขเป็นอย่ารอแต่ ให้หน่วยงานมาอบอุ้ม จนเป็นหมู่บ้านที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

* จากที่เลขาจำเป็นเคยทำงานด้านสังคม ที่เจอแต่การแก้ไขปัญหามาตลอด แล้วแต่สถานการณ์จึงคิดว่าคงต้องใช้เวลาบ้าง และให่โอกาสกับคนที่มีความคิดที่แตกด่างกัน

* มีข้อเสนอแนะช่วยแนะนำด้วยนะคะ

  • ค่ะมีครัยพอจะทราบบ้างไหมค่ะว่าถ้าเป็นกรรมการหมู่บ้านมีเงินเดือนให้หรือเปล่าค่ะ พอดีมีเรื่องสงสัยน่ะค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท