เงื่อนปมทางการศึกษา


อะไรคือเงื่อน อะไรคือปม...ใครเป็นคนผูก ใครจะเป็นคนแก้....อย่าแค่แก้ผ้าเอาหน้ารอด

แม้แต่เด็กอนุบาลก็ยังต้องเข้าสู่การแข่งขันในระบบการศึกษามีปัญหา การแก้ไขปัญหาในยุคปฏิรูปนั้นดำเนินไปตามลักษณะของคำกล่าวอ้างคือการปฏิรูป นั่นหมายถึงว่าค่อยเป็นค่อยไป จะให้รวดเร็วเหมือนปฏิวัตินั้นคงยากเพราะคนที่จะปฏิวัติระบบการศึกษาได้คงต้องเจอกับแรงเสียดทานมากมายมหาศาล เมื่อมีแรงเสียดทานมหาศาล ก็ต้องอาศัยคนจำนวนมหาศาล นั่นคือ ประชาชนผู้เป็นเหยื่อของระบบการศึกษาหากต้องการจะนำพานาวาลำนี้แล่นผ่านคลื่น ลม และมรสุม เพื่อไปสู่เป้าหมายตามกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ซึ่งมีฐานมาจากศาสนาพุทธโดยเฉพาะอริยสัจ 4 นั่นคือ ต้องทราบปัญหา(ทุกข์)ก่อนที่จะวิเคราะห์และทราบสาเหตุของปัญหา(สมุทัย) เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดหรือการหมดสิ้นปัญหา(นิโรธ) แต่การจะทำให้หมดสิ้นปัญหานั้นต้องอาศัยกระบวนการและวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย(มรรคหรือวิธีการดับทุกข์) หลายคนทราบเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา ทราบวิธีการไปสู่เป้าหมาย ทั้งจากตำรา จากการอบรม จากการประเมิน ฯลฯ บางแห่งจับทางไม่ถูก บางแห่งยังหันซ้ายหันขวา บางแห่งกว่าจะถึงเป้าหมายก็เล่นเอาหอบกันทั้ง ผู้บริหาร ครู นักเรียนและผู้ปกครอง ทั้งนี้เพราะว่ามุ่งเน้นที่เป้าหมายและวิธีการไปสู่เป้าหมายจนละเลยที่จะทบทวนถึงที่มาที่ไป สภาพปัญหา(ทุกข์) และสาเหตุของปัญหา(สมุทัย)อย่างจริงจัง กล่าวคือ

ระบบการศึกษาไทยมีปัญหาซับซ้อนหลายมิติมีปัญหาหลายองค์ประกอบ แม้แต่รัฐบาลชุดใหม่เองก็มีนโยบายด้านการศึกษาไม่ชัดเจน คงเป็นเพียงลมปากที่พ่นออกมาเพื่อการต่ออายุทางการเมืองวันนี้จึงปรากฏภาพของการเร่งแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหนีการยุบพรรค แต่ด้านการศึกษาแทบไม่ตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาสังคมแม้ว่าจะมีลมปากที่พ่นออกมาทางจมูกโต ๆของผู้นำประเทศว่าจะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ด้วยการเรียนฟรี 12 ปี แต่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะที่เรียกว่า สังคมพหุลักษณ์ หรือมีความหลากหลาย ซึ่งความเสมอภาคทางการศึกษานี้จะเอื้อประโยชน์แก่ทุกกลุ่มได้จริงหรือไม่ คงอาจจะต้องรอผลการแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา237 และ309 ก่อนจึงจะพอเห็นคำตอบได้ประชาชนทำได้อย่างเดียวคือ...ฝัน  เพราะแน่นอนว่า นโยบายจะอ้างส่วนใหญ่เหมือนเหวี่ยงแห แต่ไม่เคยลงถึงจุดเล็ก ๆ โดยเฉพาะกลุ่มชายขอบทางการศึกษา สื่อสาธารณะเองก็ยังไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกระตุกและกระตุ้นได้อย่างหลากหลาย ทั้งนี้ควรต้องเข้าใจร่วมกันว่านโยบายสาธารณะทางการศึกษาเท่ากับเป็นการสร้างโอกาสให้กับคน สังคมต้องมองให้เห็นจุดนี้ก่อนจึงจะขยับอย่างอื่น

ทั้งนี้เข้าใจว่าการจัดการทางการศึกษาเป็นเรื่องจำเป็นและระบบการจัดการมักจะตายตัวเกินไปทำให้ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ และต้องไม่ลืม Concept ของการจัดการศึกษาเพื่อการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งเน้นให้ผู้เรียน ดี เก่ง และมีความสุข อย่ายึดติดเฉพาะให้นักเรียนสอบได้คะแนนดีๆ เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะประวัติศาสตร์ทางการศึกษาตอกย้ำให้เห็นว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือรับใช้ราชการและกระแสหลัก โรงเรียนถูกกระแสหลัก (ทุนนิยม) กลืน ทำให้คนไม่รู้จักตนเอง ไม่ใส่ใจสังคม ไม่มองอนาคต มือใครยาวสาวได้สาวเอา  ทั้งนี้ฐานคิดทางการศึกษาสมัยใหม่ เดิมเรารับมาจากกระแสตะวันตก ที่จับคนใส่ห้องมานั่งเรียน มีครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ มีตารางสอนเป็นกรอบเวลา โรงเรียนเป็นเหมือนโรงงานการผลิตอะไรก็ไม่รู้ มีระบบทั้งหลายเป็นเสมือนสายพานการผลิตให้คนจบ ๆ ไปไม่ใส่ใจต่อผลผลิต(Output) และผลลัพธ์ (Outcome) เท่าที่ควร บุคลากรทางการศึกษาขากการมองหลายมิติตามสภาพจริงที่เกิดขึ้น เคยชินกันการมองภาพแบบรวมศูนย์อำนาจตามระบบราชการ

หลักสูตรส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นหลักสูตรแห้งๆ ขาดชีวิตชีวา ตัดตอนกระบวนการให้เด็กได้เรียนรู้เอง เด็กขาดทักษะการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติมีการสอนทำนาบนกระดานและเป็นตัวหนังสือความรู้สึกนึกคิดที่เกิดจากการได้เรียนรู้จากของจริงจึงไม่เกิด พอออกนอนกโรงเรียนก็ถูกสังคมใหญ่กลืนกินวิธีคิด การเรียนรู้ในระดับจิตใต้สำนึกถูกกดทับและแทนที่ด้วยการเรียนพิเศษ ก่อให้เกิดเด็กด้อยโอกาสเต็มบ้านเต็มเมือง หากมองเชิงบวกเด็กมีโอกาสมาตั้งแต่ได้ลืมดูโลกแต่ระบบที่เรามีอยู่ไปปิดกั้นโอกาสให้เขาเข้าถึง หรือที่เรียกว่า ตัดตีนใส่เกือก เช่นในนโยบายเรียนฟรี(ที่ไม่มีจริง) เป็นนโยบายที่ออกเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่คำนึงถึงกลุ่มคนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะกลุ่มอพยพหรือกลุ่มแรงงานที่ขนาดแรงงานไทยยังเจอปัญหา แรงงานข้ามชาติยิ่งลืมไปได้เลยว่าจะมีโอกาสเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือแม้แต่คนชายขอบ เช่น บนภูเขาสูง ชายแดน โรงเรียนเองก็ยังยึดนโยบายจากส่วนกลางเป็นตัวตั้งมากกว่าคำนึงถึงความหลากหลาย หรือแม้แต่การปิดโรงเรียนเล็ก ๆ เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนไม่ถึงเกณฑ์ ก็ยังเป็นการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษา นักเรียนหลายคนเดินทางไปเรียนที่อื่นไม่ได้ ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาที่เข้าไม่ถึงเด็กแต่รอให้เด็กเข้าถึงการศึกษา เป็นการตอกย้ำกระบวนการ ตัดตีนใส่เกือก

บุคลากรทางการศึกษาเป็นผลพวงจากการยุบรวมองค์กรหน่วยงานตามหลักการบูรณาการที่ไม่ใส่ใจต่อโครงสร้างหน้าที่ของหน่วยงานที่ถูกแบ่งตามภารกิจและความถนัดเฉพาะด้านทั้งกรมวิชาการ กรมสามัญศึกษา สำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ กรมการศึกษานอกโรงเรียน ให้มาใส่ตะกร้าเดียวกันหรือที่เรียกว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาข้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใหญ่ ยิ่งเหมือนเป็นการรวมศูนย์อำนาจ ผู้บริหารส่วนบนเหมือนกับยอดสามเหลี่ยมที่ผ่านทั้งการคัดเลือกคัดสรรจากผู้มีประสบการณ์และผู้มีบารมีเหนือผู้อื่นที่ถูกเหยียบขึ้นเป็นขั้นบันได แต่ในระดับล่างหรือระดับปฏิบัติการ ขาดการเตรียมพร้อมบุคลากร ใช้วิธีโละของเก่าทิ้ง ปูชนียบุคคล แห่กันลาออก เพราะกลัวถูกประเมินและถูกใช้เศษเงินเป็นตัวล่อตาล่อใจ ส่งผลให้ทั้ง ปู ทั้ง ชะนี และ บุคคล แห่เข้ารับการบรรจุเป็นข้าราชการใหม่ในขณะที่หลายคนยังไม่ได้เตรียมความพร้อมด้านจิตวิญญาณความเป็นครู ประกอบกับการมารวมกันของกรมสามัญซึ่งสอนมัธยมและสำนักงานประถมฯซึ่งเตรียมความพร้อมให้เด็กอ่านออกเขียนได้ กลายเป็นวิวาทะและการเหยียดหยามของ ข้า(คือ)ราชการด้วยกันว่า ฉันเก่งกว่าเธอ ทั้งที่ก็เรียนจบมาจากสถาบันสอนครูที่เดียวกัน พาลทำให้หลายฝ่ายเกิดชนวน แยกย่อย ระดับประถมศึกษาออกจากระดับมัธยมศึกษา สพฐ.เลยแก้เกมโดยใช้การโอนย้ายผู้บริหารโรงเรียนไปสู่โรงเรียนที่อยู่ในระดับเดียวกัน แต่ผู้บริหารหลายคนก็ยังวิ่งเต้นจากโรงเรียนเล็กอยากไปบริหารโรงเรียนใหญ่

ถึงแม้ว่าจะมีการกระจายอำนาจลงสู่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก็ใช่ว่าจะไร้ปัญหา เพราะความเชี่ยวชาญและจำนวนของเจ้าหน้าที่ทั้งด้านการส่งเสริม สนับสนุน การศึกษา การวิจัยประเมินผล ยังไม่เพียงพอในการทำงานในระดับพื้นที่ โรงเรียนจึงต้องเป็นฝ่ายเข้าหาเขตพื้นที่มากกว่าที่จะรอเขตพื้นที่มาสนับสนุนการศึกษา ซึ่งก็เหมือนข้าวคอยฝนนั่นเอง แทบทุกจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 (สพท.1) เป็นพื้นที่หมายปองในการย้ายตำแหน่งไปสังกัดเพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทั้งงบประมาณ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอ ส่วนเขตพื้นที่ที่อยู่ไกลออกไปก็ขึ้นอยู่กับบุญบารมีที่สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อนเพราหากเขตพื้นที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอ โรงเรียนในเขตก็เจอมรสุมทางการศึกษาตามไปด้วย สพท.ควรเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนอำนวยความสะดวก หรือเป็นผู้เลี้ยงให้กับโรงเรียนได้ทำงานอย่างคล่องตัว หรือให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าที่โรงเรียนต้องสาละวนกับเรื่องต้องรายงานเรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน หรือจัดกิจกรรมสนองนโยบายแบบเร่งด่วนเหมือนมิได้เตรียมวางแผนล่วงหน้า

หลักสูตรท้องถิ่นถูกสถาปนาขึ้นจาก พรบ.การศึกษาปี 2542 ซึ่งมีฐานจากรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับกลายเป็นหลักสูตรที่ทุกโรงเรียนต้องมีตามกฎหมายแต่ไม่รู้ว่าเด็กจะเอามาใช้ในชีวิตได้มากน้อยแค่ไหน เพราะระบบใหญ่ยังต้องอิงการวัดผลตามกระทรวง ตาม 8 กลุ่มสาระ(สอบ NT) ซึ่งแท้ที่จริงเด็กแต่ละท้องถิ่นควรต้องได้รับกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเองอย่างเป็นองค์รวมซึ่งเป็นวิถีชีวิต มากกว่าเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามที่โรงเรียนเป็นผู้จัดให้เพราะอยากสอนหรือสอนง่าย ความรู้ข้างนอก (ภูมิปัญญา)ไม่เชื่อมโยงกับความรู้ในระบบ(หนังสือ) เมื่อความรู้ไปคนละทิศทาง การบูรณาการก็ไม่เกิด ไม่ผสานเป็นเนื้อเดียวกันวิธีคิดไม่ถูกแปลงเป็นวิธีทำ โรงเรียนจึงเป็นเหมือนองค์กรการจัดการมากกว่าองค์กรแห่งการเรียนรู้ แม้แต่การเรียนรู้นอกระบบยังไม่ถูกส่งเสริมและรับรองเสียด้วยซ้ำไป หากเอ่ยถึงคำว่า ภูมิปัญญา แม้จะถูกสถาปนาเป็นคำหรู ๆ ไว้ใน พรบ.การศึกษา แต่กลับกลายเป็นแค่ความรู้ชายขอบของระบบการศึกษาในโรงเรียน เพราะแต่ละโรงเรียนมีการดึงปราชญ์ท้องถิ่นมาสอนเฉพาะส่วน ถูกจัดฉากให้เป็นนิทรรสการชั่วครั้งชั่วคราวของระบบใหญ่ไปด้วยความเต็มใจและภูมิอกภูมิใจของท้องถิ่นเป็นหนักหนาที่ได้มีบุญถูกเรียกว่า ครูภูมิปัญญาส่วนตัวหลักสูตร ครูซึ่งวัน ๆ ก้เอาแต่สอนหนังสือมากกว่าสอนคนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็ต้องถูกมนต์สะกดจากเบื้องบนเข้าทำนอง ปั้นผีลุก ปลุกผีนั่ง ให้มาเขียนหลักสูตรสถานศึกษาเอง โดยปรับปรุงจากหลักสูตรแกน ครูเองก็ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางหลักสูตรและการสอนโดยตรงเพราะลำพังแค่วิชาเอกก็จะจบไม่จบแหล่ พอเร่งให้ครูต้องเขียนหลักสูตรออกมาเป็นเล่ม ๆ ก็เข้าทางครูไทย ไม่มีอะไรที่ครูไทยทำไม่ได้(ยกเว้นการสอนคน) ซึ่งก็ได้หลักสูตรออกมาจริง ๆ โดยวิธีการไหนก็ไม่ทราบได้ แต่ไม่แน่ใจว่าหลักสูตรที่ได้นำมาใช้ได้ตามเจตนารมณ์หรือไม่

ถึงแม้ว่าโรงเรียนแต่ละแห่งมีหลักสูตรสถานศึกษาของตัวเอง ทำเป็นระบบครบวงจรเป็นอย่างดีหาที่ติไม่ได้ก็ใช่ว่าจะพ้นการเป็นเหยื่อของระบบ เพราะระบบการสอบเข้าและการเรียนในระดับ มหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้ยึดเอาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนวัดดอนมะเกลือ หรือโรงเรียนบ้านห้วยมะหาดมาเป็นแนวทางในการสอบและการเรียน ซึ่งคัดเอาแต่คนเก่งและมีคะแนนสูงอยู่ดี หนีไม่พ้นที่ต้องมีการอัดบรรจุวามรู้สำเร็จรูปลงไปในเครื่องจักรน้อยๆ ทั้งหลาย เพื่อชื่อเสียงของโรงเรียนและครูผู้สอน หรือแม้แต่ผู้ปกครองก็ยังผลักเด็กออกจากครอบครัวโดยการสนับสนุนให้ไปเรียนพิเศษเพื่อที่จะได้เหยียบคนที่ไม่เก่งและสอบไม่ได้ไปสู่จุดที่สูงกว่า

ครูต้องทำตามระบบ หากว่าฝืนก็ต้องเจอแรงเสียดทานที่อาจจะทำให้วิชาชีพไปไม่ถึง ฝั่งฝันแต่ต้องไป ฝั่งฝังแทน ครูเลยต้องทำตัวเป็นหนูถีบจักร วิ่งไม่หยุด ทั้งระบบไม่ให้หยุดวิ่งและตัวครูไม่หยุดวิ่งเองเนื่องจากเคยชินอยู่กับระบบที่ต้องทำนั่นทำนี่ ครูยังไม่เข้าสู่ระบบการเรียนรู้ หลายคนทำตัวเหมือนน้ำเต็มแก้วไม่ยอมรับการเรียนรู้อื่นใดนอกจากความรู้ที่ตนเองมีอยู่ โลกทัศน์และวิธีคิดแคบทำตัวเหมือน เขียดในขวดยาคูลย์  ครู ติดหนึบอยู่กับงานเอกสารเพื่อการตอบสนองนโยบาย แม้แต่ตอบสนองต่อการประเมิน ครูทำงานกระดาษซึ่งดูไร้ชีวิตจิตใจเพื่อตอบสนอง สมศ. ความเป็นครูถูกกำหนดด้วยระดับ ด้วยขั้น การส่งเสริมการเรียนรู้ไม่ได้รับการส่งเสริมให้ได้ขั้น ได้ตำแหน่ง จึงไม่ค่อยมีใครอยากทำให้เกิดผลอย่างจริงจัง พอเห็นครูมีการแบ่งชั้นวรรณะจากเดิม เรียกครูระดับประถมว่า ครู เรียกครูในระดับมัธยมว่า อาจารย์ พอมารวมกันในหน่วยงานเดียวกันก็เลยปรับคำเรียกขานให้เหมือนกันว่า ครู เหมือนกัน แต่มีการกำหนดขั้นที่เรียกว่า ค.ศ.1,ค.ศ.2......เลยยิ่งงงกันไปใหญ่ แต่การต้องการขึ้นไปบนจุดที่สูงขึ้นหรือความทะเยอทะยานก็ยังไม่มีที่สิ้นสุดให้เสียชื่อครูไทย เมื่อได้ครูเชี่ยวชาญแล้วก็อยากได้เป็นระดับเชี่ยวชาญพิเศษ (3,500 กลายเป็นแรงจูงใจในการทำผลงานมากกว่าทำเพื่อให้เด็กชายแดงฉลาดขึ้นกว่าเดิม) ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรียกผู้สอนว่าครู แต่ในระดับหมาวิทยาลัยเรียกผู้สอนว่าอาจารย์ มีวิทยฐานะที่ดูสูงกว่าเพราะเปรียบเสมือนเป็น ครูของครู  เป็นการแบ่งชนชั้นทางวิชาชีพอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่แน่ใจว่า หากให้อาจารย์ผู้สอนครูมาสอนแทนครูในระดับปฐมวัย ระดับประถมฯ และมัธยมศึกษา จริง ๆนั้น ความรู้ที่มีอยู่ท่วมหัวจะพาตัวให้ไปรอดหรือไม่ นอกจากชื่อเรียกที่พาสับสนแล้วบทบาทที่มียังพาให้ครูสับสนในตนเองไม่แน่ใจว่าวันนี้ต้องแสดงบทไหน เป็นพ่อแม่ที่คอยดูแล เป็นหมอคอยตรวจสุขภาพแล้วกรอกเอกสารส่งตามที่เขาขอมา เป็นเจ้าหน้าที่ธุรการคอยกรอกเอกสารที่ไม่ได้เตรียมล่วงหน้าแต่ผู้บังคบบัญชาร้องขอแกมบังคับให้กรอกส่งทำนองว่า ไม่ต้องเร่งรีบก็ได้ แต่ต้องส่งด่วนที่สุด  บางวันก็เป็นตำรวจตรวจยาเสพติด ตรวจค้นของหาย เป็นนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาชีวิตทั้งที่คนให้คำปรึกษายังจะเอาตัวเองไม่รอด เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารส่งเสริมให้เด็กออมเงินและรับฝากเงิน เป็นตู้เอทีเอ็มให้เด็กมาฝากถอนเงิน เป็นเจ้าหน้าที่อย.ตรวจอาหารหาสารปนเปื้อน เป็นเจ้าของฟาร์มคอยให้อาหารเสริมนม (ไม่ต้องเสริมนมเด็กสมัยนี้ก็โตเองได้ตามธรรมชาติ) พอกลับจากโรงเรียนถึงบ้านก็สลบ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เด็กไทยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คิดไม่เป็น เพราะครูไม่ได้เตรียมการสอน หากแต่ใช้บุญเก่าจากการสอนมานานจนจำหน้าหนังสือได้ในการสอนในวันถัดไป ด้วยการท่องบทเรียนโดยไม่ต้องเปิดหนังสือให้นักเรียนฟัง ซึ่งนักเรียนก็หลงคิดว่า ทำไมครูเก่งปานนั้น....แต่หารู้ไม่ ครูไม่ได้เตรียมการสอน

ถ้าปัญหาอยู่ที่ตัวครู ผู้หลักผู้ใหญ่ก็เห็นพ้องกันว่าหากจะปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปครูด้วย แต่ปัญหาก็ยังติดอยู่ที่ครูที่นอกจากติดเรื่อง หน้า แล้วยังติด หนี้ทั้งสหกรณ์ครูและหนี้นอกระบบกันอีกแทบชนิดว่าตายจากกันไปข้างหนึ่งยังใช้ไม่หมดทำให้ครูสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก จึงต้องมุ่งส่งเสริมให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้อันเหมาะสม มีวิทยฐานะแม้ว่าครูจะมีวิทยฐานะแล้วก็ตาม แต่ต้องผ่านขั้นตอนการประเมินที่ยุ่งยากซับซ้อน กว่าจะได้ โดยเฉพาะวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ทั้งยากและใช้เวลานาน บางที 2 ปี 3 ปี ยังไม่รู้ผล คิดดูแล้วกันว่าได้ยากและประเมินแบบละเอียดลออขนาดไหนหากประเมินแล้วไม่ผ่าน ก็ยังมีรุ่นเยียวยา ที่ต้องอบรมแล้วเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก นอกจากนี้การจะเข้าสู่การประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษในรุ่นใหม่ ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการอบรม หากเป็นไปตามสมควรก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าต้องจ่ายค่าอบรมครั้งละหลายพันบาท ครูก็ต้องเจียดค่าเทอมลูกมาจ่ายหลายรายเลยต้องหาลำไพ่พิเศษด้วยการทำงานอื่น เช่น ขายประกัน ขายเครื่องสำอางทั้งที่ครูไม่เคยใช้แม้แต่แป้งฝุ่น ฯลฯ ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องยืนยันได้เลยว่าการปฏิรูปการศึกษาจะทำให้ครูมีขวัญและกำลังใจดีขึ้นอันจะทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนการสอนดีขึ้นตามไปด้วย

ย้อนกลับมาถึงเรื่องวาทกรรม เรียนฟรีที่ไม่มีจริงในลมปากของนักการเมือง แต่ในความเป็นจริงในระดับมัธยมศึกษามีการเรียนฟรี(จริงหรือเปล่าไม่แน่ใจ) โรงเรียนไม่เก็บเงินบำรุงการศึกษา แต่ละโรงเรียนเก็บเงินค่าระดมทรัพยากร มากน้อยตามชื่อเสียงของโรงเรียน (แต่มากกว่าตอนเก็บเงินบำรุงการศึกษา) แม้ว่าจะเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้ปกครองในรูปแบบของเงินบริจาค ถามว่ามีผู้ปกครองสักกี่คนมีสิทธิไม่สมัครใจจะจ่ายเงินค่าระดมทรัพยากร โดยเฉพาะในช่วงของการเข้าเรียนต่อในแต่ละช่วงชั้นหากลองไม่บริจาคก็ไม่มีหลักประกันใดที่ทำให้มั่นใจว่าลูกของตนจะได้เรียนต่อ หรือไม่ต้องถึงขั้นได้รับการดูแลอย่างดีจากโรงเรียนแค่ทำให้ลูกตนเองไม่ขายหน้าก็ไม่มีพ่อแม่คนไหนกล้าเสี่ยงไม่ยอมให้เงินบริจาค ซึ่งหากการเรียนฟรีคือการไม่เสียค่าบำรุงการศึกษาก็ถือว่าเป็นความคิดที่สะท้อนว่าผู้ที่ออกนโยบายและพ่นลมปากที่ร่ำเรียนมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ดีกรีด๊อก(Dog)เตอร์จากต่างประเทศไม่ได้ทำให้ระบบสมองได้ซึมซับและคิดถึงค่าใช้จ่ายแฝงที่มีอยู่นอกเหนือจากค่าบำรุงการศึกษาซึ่งมีทั้ง ค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าแบบเรียน ค่าวัสดุอุปกรณ์ทั้งหลายอีกจิปาถะ

หรือแม้แต่ในระดับท้องถิ่นเองก็ยังเลือกปฏิบัติต่อโรงเรียนอันเนื่องมาจากเงื่อนปมด้านการถ่ายโอนไม่ถ่ายโอน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถูกปฏิบัติคนละมาตรฐาน คนในสังคมก็คือว่าไม่ใช่ธุระของตน การศึกษาในภาพรวมหรือภาพใหญ่ของสังคมจึงยังไม่ถูกวัดผล ประเมินผล และขยายผลให้สังคมได้มีส่วนรับรู้ในวงกว้างอย่างตรงไปตรงมา เพราะผู้มีอำนาจยังทำตัวเหมือนกระสือที่กลัวแสงสว่าง โรงเรียนกลัวถูกลดทอนความเชื่อมั่น กลัวเสียชื่อเสียงและกลัวเสียเกียรติ หากถูกชุมชนซึ่งไม่มีการศึกษามาตรวจสอบและรับรู้สภาพจริง

หมายเลขบันทึก: 180891เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2008 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมอ่านบันทึกนี้ยังไม่ทันจบ  นายเปิดบันทึกใหม่อีกแล้ว ไวจริงๆๆ

เห็นด้วย  น้ำชาเต็มถ้วย  ป่วยไม่รักษา  การศึกษา  เลยเป็นแบบนี้

นายเขียนดีมากน่าอ่าน  นี่อ่านทุกบันทึกเลยนะนี่  ไม่รู้บันทึกนี้ข้ามไปได้ไง

ขอบคุณครับท่านผอ.ที่กรุณาติดตามทและจะเป็นการขอบพระคุณยิ่งขึ้นหากข้อคิดข้อเขียนต่าง ๆ จะกลายเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป ผมใช้การเขียนบันทึก หนักสลับกับเบา สลับกันไป ๆมา ๆครับ ส่วนมากบันทึกที่เขียนหนัก ๆ จะกลั่นกรองจากประสบการณ์ตรงที่พบเจอมาครับ

เขียนได้โดนจริงๆ อยากให้คนอื่นๆ ได้มาอ่านบ้างจัง โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แต่ก็มีครูบางคนที่ยังทำหน้าที่ครูไม่สมบูรณ์ มาสาย ไม่ชอบสอน ไม่ทำงานอะไรเลย ชอบสบาย กินแรงคนอื่น ไม่รู้ว่าเขาท้อกับระบบการศึกษาไทยหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะครับ แต่ถ้าได้เลือกอาชีพนี้แล้วก็ต้องสู้ละครับ

เอาไว้ถ้ากลับจากบนดอย + ชายแดนแล้วจะอัพเดท บันทึกนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท