ภาวะแวดล้อมอันเกษม (safe environment): ฐานคิดติดตัวที่ครูปิยะสอนไว้


ไม่เช่นนั้นโครงสร้างอำนาจจะกดทับกระบวนการเรียนรู้ให้เหลือเพียงเปลือกนอก นักเรียนมีหน้าที่เก็งว่าครูต้องการอะไรมากกว่าเสาะหาว่าตนอยากรู้อะไร

หลักข้อที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งที่ อ.ปิยะ เน้นย้ำในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาคือ

เรากำลังสร้างสิ่งแวดล้อมอันปลอดภัย และเอื้อต่อการเรียนรู้ (safe envrionment) หรือไม่

ปลอดภัยในที่นี้หมายรวมถึงความปลอดภัยทางด้านกายภาพ ซึ่งรวมถึงการหาพื้นที่ในการฝึกภาคสนามของนักศึกษา การเดินทาง ที่พัก ฯลฯ บวกกับความปลอดภัยในบรรยากาศการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายแบบกลุ่ม หรือการบรรยายหน้าชั้นก็ตาม

เพราะเราเชื่อว่า เมื่อนักศึกษารู้สึกว่าปลอดภัยทั้งในแง่กายภาพ และในการแสดงความคิดเห็น...เขาจะเรียนรู้ได้มากกว่าบรรยากาศที่ปกคลุมไปด้วยความคุกคามของอำนาจ

ด้วยฐานคิดดังกล่าว มันแสดงออกมาในกิจกรรมการเรียนการสอนของพวกเรา

ผ่านบทบาทของอาจารย์ประจำกลุ่ม, ผ่านการจัดตารางกิจกรรมการฝึกงานภาคสนาม, ผ่านการประเมินทั้งประเมินนักศึกษา และประเมินอาจารย์ ในรูปแบบต่างๆ

ทีมอาจารย์ที่ได้มาทำงานกับคุณครูปิยะนั้นได้ซึมซับเอาแนวคิดนี้ติดตัวไป ไม่มากก็น้อยล่ะครับ ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญมากจริงๆ สำหรับคนที่มีหน้าที่เป็นครู; เราต้องพยายามสร้าง safe environment ให้กับศิษย์ครับ ไม่เช่นนั้นโครงสร้างอำนาจจะกดทับกระบวนการเรียนรู้ให้เหลือเพียงเปลือกนอก นักเรียนมีหน้าที่เก็งว่าครูต้องการอะไร....มากกว่าเสาะหาว่าตนอยากรู้อะไร

มองเรื่อง "ความปลอดภัย" ลึกลงอีกสักหน่อยครับ

สถาบันมายา ได้มาอบรมนักศึกษาของเราหลายรุ่น ซึ่งเกิดประโยชน์กับเรามาก จากการได้ไปสังเกตการณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมได้ข้อสรุปที่ชัดเจนอีกอย่างว่า คนจะเรียนรู้ได้ดี ถ้าเรื่องมันสนุก

เอามาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความปลอดภัย จะผสานเข้ากับ ความสนุกได้อย่างไร เพราะบางครั้งแล้ว "ความสนุก" มันดูสวนทางกับ "ความปลอดภัย" อยู่บ้างนะครับ ความสนุกในแง่หนึ่งนั้น เกิดจากการ"ผจญ"ภัย.....แต่หาก"ปลอด" จากภัย แล้วมันจะเหลืออะไรให้เข้าไปผจญเล่าครับ มองในแง่นี้ safe environment ยังใช้ได้อยู่หรือ

อย่างที่เห็นในโฆษณานมผงไงครับ คุณลูกอยากไปวิ่งเล่นในสนามขี้โคลน ใจหนึ่งคุณแม่ก็อยากให้ลูกไปเรียนรู้ แต่อีกใจก็กลัวลูกติดเชื้อโรคยี้แหยะกลับมาบ้าน ทางออกก็คือ ให้ลูกกินนมที่มีจุลลินทรีย์ชนิดมีประโยชน์ คุณแม่ก็จะสบายใจอนุญาตให้ลูกไปคลุกปลักโคลนได้

ไอเดียมันปิ๊งแวบออกมาเมื่อครั้งได้ฟังเทปธรรมบรรยายของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ครับผม เรื่องที่ท่านเทศน์เป็นเรื่องของคุณสมบัติของสงฆ์ข้อหนึ่งคือ การเป็นสงฆ์ที่ดีนั้นทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ สัมผัสได้ถึงความปลอดภัย ความไม่มีพิษมีภัย นอกจากนั้นยังเกิดความแช่มชื่น เบิกบานใจ ภาษาอังกฤษเรียก secure แต่โบราณท่านว่า "เกษม"

ในที่สุดทางออกของ ความสนุก และความปลอดภัยนั้นอยู่ที่คำว่า "เกษม" นี่เองครับ

คำ safe นั้น ในแง่หนึ่งมีความหมายของ secure อยู่ครับ

มองในแง่นี้ หน้าที่ของครูในการจัดให้เกิด safe environment ในการเรียนรู้จึงขยายจากคำว่า "ปลอดภัย" ไปสู่ "เกษม"

การเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมอันเกษม...ครูและศิษย์ร่วมผจญภัย สนุกและเรียนรู้ไปด้วยกัน แต่ครูก็ยังต้องมีหน้าที่คำนึงถึงความปลอดภัย และสวัสดิภาพของศิษย์ในขณะผจญภัยด้วย 

 

หมายเลขบันทึก: 180490เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2008 06:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ดีมากครับ  ได้แง่คิดดี ตอนผมสอนจะระวังเรื่อง "เกษม" มากขึ้น
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.สุพักตร์, อ.มัทนา

ขอบพระคุณที่กรุณาเข้ามาให้ความเห็นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท