โยนิโสมนสิการ*


วิธีคิดแบบพุทธที่มีมากกว่า2000 ปี .....เริ่มรู้จักโยนิโสมนสิการ เริ่มเรียนรู้วิธีคิด

โยนิโสมนสิการ (โย-นิ-โส-มะ-นะ-สิ-กา-ระ) แปลว่าอุบาย พิจารณาเหตุแห่งความจริง โดยใช้ปัญญา พิจารณาอย่างถูกวิธีเข้าถึงความจริง มีระเบียบขั้นตอนการคิด ใช้เหตุผล หาต้นเหตุที่ต่อเนื่องมา คิดอย่างมีเป้าหมาย และเร้าใจให้ทำความดี โดยปกติแล้วโยนิโสมนสิการใช้คิดเพื่อกำจัดกิเลสตัณหา ลดความไม่รู้แต่หากเรานำมาใช้ในการบริหารงาน ก็จะใช้เป็นเครื่องมือ (Tool) ในการแก้ปัญหาและปรับปรุงงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้เขียนจะได้ประยุกต์การใช้งานให้ท่านพิจารณาไตร่ตรองดู โยนิโสมนสิการ 10 วิธี มีดังนี้

1.  คิดแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัย

คือ พิจารณาผลลัพธ์ที่ปรากฏ แล้วคิดค้นหาเหตุที่ส่งผลสืบทอดกันมา (ดูเรื่อง อิทัปปัจจยตา และปฏิจจสมุปบาท ประกอบ) วิธีคิดแบบนี้เหมาะสำหรับปัญหางานที่มีข้อมูลในอดีตแล้วมีผลลัพธ์ให้วิเคราะห์ย้อนกลับไปหาสาเหตุได้ คล้ายๆ วิธีการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ ไล่ถามทำไมไปเรื่อยๆ แล้วหาคำตอบ

2. คิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ

คือ พิจารณาผลลัพธ์สิ่งนั้น แล้วคิดแยกแยะเป็นส่วนย่อยๆ คิดกระจายเนื้อหา โดยมีหลักธรรมที่ว่า สิ่งทั้งหลายย่อมเกิดจากองค์ประกอบย่อยๆ หลายอย่างมาประชุมกัน เช่น น้ำประกอบด้วย H2+O จุดวัดหลัก (Control Point) หรือดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จ (Key Success Index) ย่อมเกิดจาก จุดวัดย่อยๆ (Control Items) มารวมกัน วิธีการคิดแบบนี้เหมาะสำหรับงานโยบาย งานประจำวัน และงานวิจัยพัฒนา (R&D)

3. คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา

คือ พิจารณาผลลัพธ์สิ่งนั้น แบบรู้เท่าทันตามกฎไตรลักษณ์ มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่าเป็นของธรรมดาตามจริง ตามธรรมชาติ ที่มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ต้องปรุงแต่งใจให้ทุกข์ไปด้วย และคิดแก้ปัญหาตามเหตุปัจจัย วิธีการคิดแบบนี้เหมาะสำหรับปัญหางานที่เกี่ยวกับความเสื่อมไปของวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักร ความไม่แน่นอนของข้อมูลของเครื่องมือวัด แล้วค้นหาเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมไปหรือไม่แน่นอนนั้นๆ

4.  คิดแบบแก้ปัญหาเชิงอริยสัจ

คือ พิจารณาผลที่เป็นปัญหาตรงจุด ตามเหตุ ตามผล หรือคิดแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ หรือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ค้นหาปัญหา พิจารณาหาสาเหตุ กำหนดเป้าหมายการแก้ปัญหา และแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย

5. คิดแบบหลักการและจุดมุ่งหมาย

คือ พิจารณาผลลัพธ์ในเชิงหลักธรรมหรือหลักการ กับความมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ ให้มีความสอดคล้องกัน ซึ่งอาจต้องมีเป้าหมายรวมหรือเป้าหมายสุดท้าย และเป้าหมายท่ามกลางเป็นระยะๆ หรือหลักกิโลเมตร (Mile Stone) ที่บอกความสำเร็จเป็นระยะๆ ก่อนจะได้เป้าหมายสุดท้าย ตัวอย่างเช่น การวางวิสัยทัศน์ (Vision) ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าทำไปเพื่ออะไร แล้วแตกออกเป็นงานที่จะต้องทำมีอะไรบ้าง หรือ การบริหารนโยบาย (Policy) ที่จะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ และเป้าหมายย่อยๆ ในแต่ละปี หรือแต่ละเดือน แล้วหากกลยุทธ์หรือสิ่งที่จะทำที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ ในการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ (Task Achieving) ก็มีการกำหนดงานย่อยๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ วิธีคิดแบบนี้เหมาะสำหรับ งานโครงการ (Project) และมักเป็นภารกิจของนักบริหาร

6.  คิดแบบเห็นข้อดีข้อเสียและทางออก

คือ การพิจารณาผลลัพธ์หรือปัญหา หรือจุดหมายนั้นมีจริงหรือไม่ ตลอดจนเป็นไปได้อย่างไร จากการคิดถึงข้อดี ข้อเสีย และทางออก โดยที่ยอมรับความจริงที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งข้อดี ข้อเสีย หรือทั้งคุณและโทษ อยู่ในตัวเอง ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ (รู้เขารู้เรา ย่อมมองเห็นทางชนะ) หลังจากมองตามความเป็นจริงแล้ว ก็หาทางออกทางเลือกที่จะหลุดพ้นจากทั้งข้อดี ข้อเสีย สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ข้อดีที่เราละไปจะทำอย่างไร และข้อเสียบางอย่างที่เราเลือกเข้ามา จะนำมาพัฒนาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไร

7.   คิดแบบรู้คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม

คือ การพิจารณาผลลัพธ์ว่าเป็นคุณค่าแท้ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการอุปโภค บริโภค ขาดเสียมิได้ (Necessary) เนื่องจากเป็นเครื่องยังชีพ หรือเครื่องค้ำจุนการตั้งอยู่ หรือคุณค่าเทียม ซึ่งเป็นการตอบสนองความอยาก ฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น (Luxury) ที่มักจำเป็นไปตามศักดิ์ศรีโก้เก๋ หรือต้องการความเพลิดเพลินทางรูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส ธัมมารมณ์ ตัวอย่างเช่น

-          กินเพื่อยังชีพ (คุณค่าแท้) กินเพื่อความอร่อย (คุณค่าเทียม)

-     ใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งาน (คุณค่าแท้) ใช้คอมพิวเตอร์ไว้เล่น หรือใช้ซอร์ฟแวร์เร็วๆ ดี ที่ไม่จำเป็น (คุณค่าเทียม)

8.  คิดแบบเป็นบวกกุศล

คือ พิจารณาผลลัพธ์ แล้วคิดในเชิงบวกเชิงกุศล ที่มุ่งบรรเทาปัญหาที่เกิดจากความอยากทะยานตัวอย่างการคิดแบบนี้ เช่น การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส มองบทเรียนรู้ ผิดเป็นครู ถูกก็เป็นครู (Worse and Best Practice) เพื่อนำบทเรียนมาพัฒนาปรับปรุงสำหรับการดำเนินการครั้งต่อไป การเรียนรู้จากปัญหา (ทุกข์) เพื่อนำไปสู่มรรคที่จะมุ่งไปสู่การพ้นทุกข์ดับปัญหาได้สนิท การมองการชำรุด แล้ววิเคราะห์เหตุแห่งการชำรุด (Failure Analysis) เพื่อหาทางป้องกัน ก็เป็นแนวทางในเชิงบวก ไม่ควรเอาแต่เสียใจทุกข์ใจกับการชำรุดเฉยๆวิธีการคิดแบบนี้เหมาะสำหรับปัญหาที่เกิดความเสื่อม การชำรุด การดับไป และการพ่ายแพ้จากการแข่งขัน

9.  คิดแบบสติตามทันธรรม

คือ พิจารณาปัญหาด้วยสติปัฎฐาน 4 ขณะทำงานนั้นๆ ซึ่งอาจเป็นเรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคตก็ได้ แต่ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานตอนขณะนั้น ทำให้เกิดความไม่ประมาท ไม่พลั้งเผลอผิดพลาด ตัวอย่างลักษณะงาน เช่นการสังเกตปัญหา (Observation) ที่ต้องเฝ้าดูและพิจารณาหาเหตุและผลจากเหตุที่เป็นปัญหา วิธีคิดแบบนี้เหมาะสำหรับงานประจำวันที่ต้องปรับปรุงแก้ไขงานอยู่ตลอดเวลา

10.  คิดแบบแยกแยะทุกด้าน

คือพิจารณาปัญหา โดยการมองให้เห็นความจริงโดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละแง่แต่ละด้าน ครบทุกแง่ ทุกด้าน ไม่ใช่จับเอาแง่หนึ่ง แง่เดียว หยิบขึ้นมาวินิจฉัย ตีคลุมลงไปอย่างนั้นทั้งหมด
การจำแนกปัญหาโดย

1.   จำแนกในแง่ความจริง ทุกด้าน ทุกแง่ ทั้งหมด เช่นการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการต้องดูทั้งด้านเทคนิค การเงิน เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สังคม ตลาดด้วย

2.   จำแนกในแง่โดยส่วนประกอบ องค์ประกอบย่อยๆ ต่างๆ ที่มารวมกัน ประชุมกัน ไม่ถูกลวงโดยมองจากภาพรวมๆ เช่น ยอดขายดีขึ้นก็ดีใจ อาจมีบางภาคขายดีมาก แต่บางภาคอาจถูกโจมตีจากคู่แข่งขันจนแทบล้มพัง

3.   จำแนกในแง่ลำดับขณะ หรือตามเหตุปัจจัยที่สืบทอดต่อๆมา เช่น ชาวบ้านร้องเรียนโรงงาน เรื่องฝุ่น โรงงานพยายามแก้ไขปัญหาทางเทคนิคต่างๆ ก็ไร้ผล ตอนหลังจึงสืบทราบมาว่า ชาวบ้านคนหนึ่งโกรธที่โรงงานไปวางยาเบื่อหมาของเขาตาย เขาจึงโกรธ นำพวกชาวบ้านมาร้องเรียน โดยอ้างว่าเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม

4.   จำแนกในแง่ความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เช่นผลที่เกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัย การดับก็ต้องดับที่เหตุปัจจัย ต้องรู้เหตุใดให้ผล เหตุใดไม่ให้ผล ไม่เข้าใจผิดว่าคนทำดีแล้วไม่ได้ดี นอกจากนี้ผลที่ออกมาเหมือนกันอาจมีเหตุปัจจัยต่างกันก็ได้ และเหตุปัจจัยอย่างเดียวกันอาจส่งผลให้ไม่เหมือนกันได้ และอาจมีเหตุปัจจัยนอกเหนือสิ่งที่เราคิด เช่น สวยสองคนแต่ก็จำเป็นต้องเลือกนางสาวไทยเพียงคนเดียวเท่านั้น

5.   จำแนกในแง่โดยเงื่อนไข เช่น ถ้าเหตุการณ์อย่างหนึ่งเป็นจริง เราก็คงทำอย่างนี้ด้วย เช่น ถ้าลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อ เราก็คงหยุดการผลิต

6.     จำแนกในแง่ทางเลือกหรือความเป็นไปได้ทางอื่น เช่น

o   มีหลายวิธีการที่จะให้ได้ผลลัพธ์เหมือนกัน เช่นไปเชียงใหม่ได้ทั้งทางรถ เครื่องบิน จักรยาน มอเตอร์ไซด์ ก็ถึงเชียงใหม่เหมือนกัน

o   บางวิธีการอาจดีกว่า ได้ผลกว่า วิธีการอื่น เช่น ในสมัยก่อนกรุงเทพเดินทางด้วยเรือสะดวกกว่ารถ แต่ปัจจุบันตรงกันข้าม

o   บางวิธีการก็เหมาะกับเรามากกว่าวิธีอื่น เช่นคนญี่ปุ่นอาจถนัดใช้ระบบอัตโนมัติมากกว่าคนไทยที่ชอบระบบ Manual

7.        จำแนกในแง่การตอบปัญหา มี 4 อย่าง

ก)                มีคำตอบเดียว แง่เดียว เช่น ใช่หรือไม่ จริงหรือเท็จ

ข)                มีคำตอบแบบแยกแยะ เช่น ไม่เพียงแต่สิ่งนี้เป็นจริง สิ่งนั้นก็เป็นจริงด้วย

ค)                มีคำตอบแบบย้อนถาม

ง)               ไม่มีคำตอบ พับปัญหาไม่ตอบเสีย มักเป็นปัญหาหรือคำถามที่ไร้สาระ คำตอบไม่เกิดประโยชน์อันใด

 

*ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลดี ๆ จากคุณสมหวัง  วิทยาปัญญานนท์ ที่ได้เสนอข้อคิดข้อเขียนเรื่อง "พุทธวิธีคิดฯ"

หมายเลขบันทึก: 180262เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2008 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แวะมาอ่านค่ะ ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ

แวะมาอ่านครับ เยี่ยมอีกเช่นเคยครับผม ชมจากใจจริง

ขอบคุณมากครับ หากในสังคมมีนักจัดการความรู้อย่างหลาย ๆ ท่านที่แวะเวียนหาความรู้จากแหล่งต่างๆ แล้วนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท