ไปดู Home School ที่เชียงใหม่ : บ้านเรียนก้านตอง (4)


" ใจ..ต้องเจียรไน ครับ "

  

 

 

บ้านเรียนก้านตอง... 

" ใจ..ต้องเจียรไน  ครับ " 

      จุดอ่อนๆๆๆ...ของครอบครัวไทยในปัจจุบัน..ผู้เขียนได้พบบทความนี้ในหนังสือคู่สร้างคู่สม..ฉบับต้นเดือนเมษายน ..พอได้อ่านแล้วรับรู้ได้ถึงความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับ "ครอบครัวก้านตอง" ..จึงอดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าใน.."บ้านเรียนก้านตอง" ภาคสี่นี้..เป็นความรู้สึกที่น่าใจหาย, เจ็บลึก ๆ ในอกอย่างยิ่งกับเบ้าหลอมชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเช่นนี้ในโลกปัจจุบัน

       ๑.ครอบครัวไม่สามารถแสดงบทบาทหน้าที่ในการหล่อหลอม ปลูกฝังค่านิยม คุณธรรมแก่บุตรหลาน เพราะการมุ่งหารายได้เป็นหลัก จนไม่ให้เวลา ไม่เข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ ขาดความเชื่อมั่นต่อบทบาทของตน จึงผลักภาระให้แก่สถาบันอื่น เช่น สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ฯลฯ ซึ่งก็ไม่สามารถรับบทบาทแทนได้ ..(จริงหรือ ? )

       ๒.ครอบครัวขาดสัมพันธภาพที่เกื้อหนุน เอาใจใส่ต่อกัน ความเป็นครอบครัวเดี่ยวที่ขาดญาติพี่น้องช่วยประคับประคอง ค่านิยมชีวิตแบบตัวใครตัวมัน, การหย่าร้างแตกแยก, ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ฯลฯ ..(ใช่อีกหรือเปล่า)

       ๓.ครอบครัวขาดความสามารถในการปกป้องสมาชิกครอบครัวจากภัยภายนอกต่าง ๆ ที่มาจากความรู้ไม่เท่าทันสื่อและกระแสโลก..โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน เช่น การ ติดยาเสพติดง่าย การยั่วยุและสำส่อนทางเพศที่สูงขึ้น การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การติดโรคเอดส์ในเด็กสูงขึ้น การบริโภคเกินตัว วัตถุนิยม ความรุนแรงในเด็กสูงขึ้น ฯลฯ ..

       ๔.ครอบครัวขาดหลักยึดในการดำเนินชีวิตและไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ผชิญได้อย่างเหมาะสม เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การแตกแยกหย่าร้างโดยง่าย ปัญหาหนี้สิน การทอดทิ้งบุตร ฯลฯ

       ๕.ครอบครัวขาดโอกาสเรียนรู้ต่อการเข้าใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับครอบครัวตนเองในช่วงเวลาต่าง ๆ (มีลูกอ่อน, ลูกวัยรุ่น ,พ่อแม่แก่เฒ่า ฯลฯ) และขาดโอกาสเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

       ๖.ขาดกลไก..สนับสนุนให้ครอบครัวสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจากภาครัฐ ภาคเอกชนหรือในชุมชนมีค่านิยม ในปัจจุบันว่า เรื่องของครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ..(ข้อมูลของกระทรวงวัฒนธรรม)

  

 

       ..อนึ่ง ผู้เขียนมีโอกาสได้ฟังและรับรู้ถึงภาพของเด็กปัจจุบันที่ปรากฎจากการฟังการสัมมนาเกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษาปัจจุบัน..(ท่านผู้พูดเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง) ช่างเป็นความจริงที่น่าเสียใจกับการลงทุนลงแรงของทุกฝ่าย..และผลการจัดการศึกษาที่ปรากฎ..

      "เด็กไทย..วันนี้ ส่วนใหญ่ (๑)สุขภาพไม่แข็งแรง (๒)เครียด ไม่มีความสุข (๓)หน่อมแน๊ม..ไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไรค่ะ.. (๔)ฉาบฉวย  (๕) ก้าวร้าว  (๖) คิดไม่เป็น ทำก็ไม่เป็น  (๗)หนักไม่เอา เบาไม่สู้

      "เด็กไทย..วันนี้อยู่ท่ามกลางกระแส...(๑)เอาเงินเป็นตัวตั้ง ..สตางค์ สรณัง คัจฉามิ..(๒)บริโภคนิยม/สำเร็จรูป ...เทผงใส่ซองก็กินได้..(๓)มือใครยาว  สาวได้สาวเอา (๔)เอาอย่างตะวันตก (๕)เลียนแบบคนอื่น..หน้าต้องขาว,จั๊กกะแร้ต้องขาว whitening ไม่ว่ายี่ห้อใด จึงขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ..อายุ ๓๐ ต้น ๆ ได้เป็นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายกันแล้ว เป็นอย่างไรบ้างคะ..ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะว่า..ไม่จริ๊ง..ไม่จริง

 

      ดังนั้นเมื่อครอบครัวก้านตองได้แสดงความกล้าที่จะเริ่มหาคำตอบด้วยตัวเอง นำเอาวิกฤตของชาติบ้านเมืองพลิกเป็นโอกาสสำหรับลูกสาว จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดียิ่ง เหตุผลของคุณพ่อวิคมดังได้กล่าวไว้ในภาคหนึ่ง คุณพ่อต้องการช่วยเหลือลูกในเรื่องของสุขภาพกาย สุขภาพจิต ต้องการฝึกหัดให้ลูกคิดเป็นทำเป็น เป็นคนหนักเอาเบาสู้ ไม่หน่อมแน้ม ไม่ฉาบฉวย ซึ่งหนึ่งปีที่ผ่านมาคุณพ่อวิคมและคุณแม่กรรณิการ์ทำได้ดีอย่างน่าชื่นชม

      ในภาคสาม นักการทูต บล็อกเกอร์ท่านผู้ใหญ่ที่พวกเราเคารพนับถือ อาจารย์พลเดช วรฉัตร ท่านได้กรุณาเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงความคิดเห็นได้น่าฟังมาก...สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงวัฒนธรรมเป๊ะเลยค่ะ..

     "ผมจึงเห็นว่าพ่อแม่นั้นเป็นครูของลูกอยู่แล้วตามธรรมชาติ และครอบครัวก็เป็นโรงเรียนของลูกอยู่แล้วเช่นกัน ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้โรงเรียนข้างนอก      ดังนั้นแม้ครอบครัวทั่วไป ลูกไปเรียนข้างนอกแล้วก็ตาม พ่อแม่ก็ยังควรที่จะเป็นครูและสอนลูกที่บ้านด้วย

       ปัญหาที่เป็นอยู่ อาจารย์คงทราบดีว่า ผู้ใหญ่มักจะอ้างว่าไม่มีเวลาสอนลูก ซึ่งผิด บางครั้งคนเราก็ไม่เห็นความสำคัญของสิ่งใกล้ตัว ที่ควรจะรับผิดชอบเป็นประการแรก  แทนที่จะปล่อยให้เป็นภาระของโรงเรียนข้างนอก และบางครั้งสิ่งที่สำคัญที่สุดของตัวเอง คนเราก็ลืม   "จัดการ" ก็คือ   ใจของตัวเอง  ..ใจต้องเจียรไนครับ.. เรามัวแต่ห่วงภายนอก   เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภ ยศ สรรเสริญและสุข แต่ลืมจัดการกับสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในใจตนเอง คือ ใจ ที่มีค่าดั่งเพชร.. ต้องเจียรไนเพชรเม็ดนี้ก่อนเพื่อนเลยครับ..

      ตัวอย่างที่อาจารย์นำเสนอ คุณพ่อคุณแม่ของน้องก้านตองกำลังเจียรไน "น้องก้านตอง" ให้เป็นเพชร ก็แสดงว่า "ใจของทั้งสองท่านเป็นดั่งเพชรแล้ว"

     

           ดังนั้น ในภาคสี่นี้เราจะมาติดตามดูว่า คุณพ่อวิคมและคุณแม่กรรณิการ์ที่มีใจเป็นดั่งเพชร  " กำลังเจียรไนเพชรเม็ดน้อย "   เม็ดนี้ อย่างไร...

           จากคำถามที่ทิ้งท้ายไว้ในภาคสาม..ถึงวิธีการจัดการศึกษาของบ้านเรียนก้านตองว่า คุณพ่อและคุณแม่ทำอย่างไร  สอนอะไรบ้าง..สอนอย่างไร..สอนที่ไหน..ใช้สื่อการสอนหรือไม่  อย่างไร  ก็ขอนำเสนอจากการมีโอกาสไปประเมินและรวบรวมข้อมูลจากการสังเกต  สอบถาม  พูดคุย  ดูผลงานที่ปรากฏของน้องก้านตอง    พบว่า....

          ๑. การจัดกระบวนการเรียนรู้  : คุณพ่อวิคม,คุณแม่กรรณิการ์และน้องก้านตอง เรียนรู้ร่วมกัน จากแหล่งเรียนรู้ทุกประเภท  จากการทดลอง  จากประสบการณ์ตรงตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ   ที่คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้จัดหาและพาไป อาทิ  สมาคมวายเอมซีเอ  บ้านอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา  ร้านหนังสือ  ห้องสมุดประชาชน   สนามเทนนิส   สระว่ายน้ำ   ล้านนาการดนตรี  และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ อีกมากมาย    ซึ่งทำให้ "น้องก้านตอง" เกิดแรงจูงใจ อยากเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  และเรียนรู้ด้วยความสุข

          ๒. คุณพ่อและคุณแม่..จะเน้นความต้องการและความสนใจของน้องก้านตองเป็นหลัก  ในการเรียนรู้จะไม่มีการกำหนดเวลาและวิธีการที่ตายตัว  แต่จะปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นตามความพร้อมของน้องก้านตองและตามสถานการณ์  เช่น การเรียนวิชาภาษาไทยที่คุณแม่จะเป็นผู้ดูแล  ก็จะบูรณาการไปกับวิทยาศาสตร์  สถานที่เรียน ได้แก่ ห้องรับแขก  ห้องทำงาน  บริเวณลานหน้าบ้าน  ห้องนอน  และแหล่งเรียนรู้นอกบ้าน  ฯลฯ และก็จะสอดแทรกวิชาการงานอาชีพ  งานบ้าน งานครัว  วิชาคุณงามความดี  ไปด้วยทุกครั้ง   น้องก้านตองจะได้เรียนพิมพ์ดีด  คอมพิวเตอร์  พื้นฐานง่าย ๆ เช่น Microsoft Word  Photoshop  โปรแกรม Paint  เป็นต้น  โดยคุณพ่อจะเป็นผู้สอน  

          ๓.  ในการจัดตารางเรียนในรอบสัปดาห์  คุณพ่อวิคมกับคุณแม่กรรณิการ์ ได้กำหนดไว้ตามแผนจัดการเรียนรู้ที่กำหนด  ได้แก่ วันจันทร์ ช่วงเช้า จะเรียนภาษาไทย และ วิทยาศาสตร์   พิมพ์ดีด และคอมพิวเตอร์   วันอังคาร  เรียนคณิตศาสตร์  เทนนิส  ว่ายน้ำ    วันพุธ  ภาษาอังกฤษ  วิทยาศาสตร์  สังคมฯ   วันพฤหัสบดี-วันศุกร์ก็จะสลับเปลี่ยนกันไป  วันเสาร์ก็จะเรียนตีขิม  ร่วมกิจกรรมที่บ้านครูเด็บบี้  วันอาทิตย์ ก็ร่วมกิจกรรมที่วายเอ็มซีเอ  ตีขิมที่ล้านนาการดนตรี  และทีบริทิช เคาน์ซิล ฯลฯ

          ๔. คุณพ่อวิคมและคุณแม่กรรณิการ์จะให้น้องก้านตองได้เรียนรู้เชิงวิเคราะห์  ได้คิดค้นหาต้นเหตุของปัญหา  และวิธีการแก้ปัญหานั้น ๆ ได้ด้วยตนเอง  เช่นการเรียนรู้ด้วยโครงงาน ที่น้องก้านตองจะมีความสุข และสนุกมากกับการเรียนรู้ด้วยวิธีนี้   ในแฟ้มพัฒนางานของน้องก้านตอง จะเห็นผลงานที่เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์หลายโครงงานเชียวค่ะ..   รวมทั้งงานเขียนเชิงสร้างสรรค์..นิทานเรื่องต่าง ๆ

.....สำหรับรายละเอียด ในเรื่องนี้  ผู้เขียน อยากให้คุณพ่อวิคมและคุณแม่กรรณิการ์ได้ขยายความเพิ่ม  เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพชัดเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวที่สนใจ...นะคะ...การสัมผัสผู้ปฏิบัติโดยตรงน่าจะเป็นสิ่งวิเศษสุด..

        ๑. การจัดการเรียนรู้..ตลอด ๑ ปีที่ผ่านมา

        ๒. อุปสรรคปัญหาที่พบ

        ๓. สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ได้แก้ปัญหาไป..ในระหว่างการจัดการเรียนรู้ที่ผ่านมา

        ๔. ความภาคภูมิใจที่พบค่ะ..

  

..รอคุณพ่อและคุณแม่น้องก้านตองแป๊บหนึ่งนะคะ..

..คุณพ่อวิคม..คุณแม่กรรณิการ์ช่วย ศน.อ้วนด้วยนะเจ้าคะ..

หมายเลขบันทึก: 178527เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2008 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (42)

P

    สวัสดีค่ะ..ท่าน ผอ.ประจักษ์

  • กราบขอบพระคุณท่าน ผอ.มากค่ะ..ที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมเป็นท่านแรก..แถมชมด้วย..ชอบจังค่ะ
  • พยายามตั้งใจแบบสุด ๆ ค่ะ..ท่าน ผอ.
  • อยากให้เกิดประโยชน์กับผู้อ่านค่ะ..
  • การจัดการศึกษาแบบนี้..หนูคิดว่าหากครอบครัวมีความพร้อมเพิ่มมากขึ้น..น่าจะช่วยลดวิกฤตต่าง ๆ ของบ้านเมืองเราได้นะคะ..
  • เพราะ  "ครอบครัว"..เป็นจุดเริ่มของเรื่องราวทั้งมวล ทั้งบวกและลบ
  • ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น..อาจจะไม่ใช่รุ่นของเรา..แต่หากมีการริเริ่มแล้ว..หนูคิดว่าน่าจะดีนะคะ..
  • หนูก็จะพยายามทำ..ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ค่ะ..ถึงแม้อาจจะเป็นเพียงแรงเล็กๆ ..แต่หนูก็มีความสุขค่ะ
  • ขอบพระคุณท่านผอ.อีกครั้งหนึ่งค่ะ...
  • วัชราภรณ์

 

ตามท่าน ผอ.มาค่ะ

เป็นข้อมูลที่ดีมากค่ะ 

คิดถึงค่ะ

สวัสดีครับ

ตัวหนังสือยิบๆ อ่านไม่ไหว

วันนี้ไม่สบายครับ

ไม่ทราบว่าจะหายเมื่อไหร่ วันนี้นอนทั้งวัน

คงจะพรุ่งนี้ด้วย

แล้วจะมาแวะอีกครั้งนะครับ ;)

  • น้องนักเขียน  เป็นไข้หรือคะ  เหมือนพ่อบ้านเลยค่ะ
  • ต้องพักผ่อนมากๆ  กินยาเป็นเวลา  เช็ดตัวบ่อยๆนะคะ

หายเร็วๆนะคะ

ชอบการจัดการศึกษาแบบนี้ ถ้าท่าน ศน แวะมาเมืองกาญจน์ จะพาไปดู หมู่บ้านเด็กนะครับ ขอบคุณครับ

อ่านข้อ 1 - 6 แล้วอึดอัดจริงๆ นักเรียนของหนูส่วนใหญ่พบกับสภาพครอบครัวแบบนี้เยอะค่ะ หาทางออกยากนะคะ

  เฮ่อ..ไปก่อนดีกว่า แล้วจะแวะมาใหม่

  คิดถึง..ง...ง..นะคะ

อรุณสวัสดิ์ค่ะ..คุณครูพี่อ้อย

ดีใจที่สุดค่ะ..ที่พี่อ้อยคนน่ารักกรุณาแวะมาเยี่ยมบ้านภาษาไทย

เป็นข้อมูลที่ทำให้เรา..ที่เป็นครูบาอาจารย์หนักใจมากอยู่นะคะ..เป็นปัญหาของชาติบ้านเมือง..ที่ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน..

แต่ที่สำคัญที่สุด..การแก้ไขปัญหาต้องเริ่มที่ "ครอบครัว" ก่อนเป็นประการแรก..นะคะ

โรงเรียนก็เป็นแหล่งสำคัญถัดมา..ครูเป็นเบ้าหลอมต่อจากพ่อแม่..ในการที่จะหล่อหลอมเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดีของสังคม มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข และโดยเฉพาะในสังคมไทยปัจจุบันที่ต้อง คิดถึง "ความพอเพียง" ตามแนวพระราชดำริเป็นสำคัญเลยนะคะ..หากไม่เช่นนั้นแล้วอยู่อย่างมีความสุขค่อนข้างลำบาก

อย่างไรภาระหน้าที่ก็ไม่พ้น..พ่อแม่..ครูอาจารย์..เป็นผู้รับผิดชอบในอันดับต้น ๆ นะคะ

ครูพี่อ้อย..และคุณครูทุกคนจึงต้องเหนื่อยกันอีกต่อไป

หากพี่อ้อยเห็น "ข้อมูล" ใหม่ ๆ จะตกใจอีกมากค่ะ..ข้อมูลคุณครูยื่นเกษียณก่อนกำหนด..ที่เชียงใหม่เขต ๑ ช่วงนี้ หัวกะไดไม่แห้งเลยค่ะ..

ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด คือ.."เหนื่อย" คำเดียวสั้น ๆ แต่มีความหมาย..(วนเข้าหาเพลงอีกแล้ว..อิๆ)

ยิ่งใจหายมากขึ้นอีกนะคะ..

หากชาติจะช่วยแก้ปัญหา คำว่า "เหนื่อย" ของคุณครูอีก..

เริ่มไปไกลแล้ว..หากจะพูดเรื่องนี้ก็คงอีกยาวๆๆๆๆๆมาก..นะคะ

พี่อ้อยยังยุ่งอยู่กับงานทำดุษฎีนิพนธ์อยู่ใช่ไหมคะ..รวมทั้งเตรียมงานด้านที่ ๑ และ ๒ เพื่อรับการประเมินอีก..

ขอกอดแน่น ๆ พี่สาวคนใจดีด้วยค่ะ..พร้อมกำลังใจเกินร้อยนะคะ

ด้วยรักและคิดถึงเสมอค่ะ..

อรุณสวัสดิ์ค่ะ..คุณครู

คุณครูพูดในหนังสือว่า " ๓ สภาพที่พึงระวัง" หนึ่งในสาม คือเรื่องของอากาศ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนตก ต้องพึงระวังสุขภาพ

ตอนนี้คนพูดเอง..ล้มป่วยเสียแล้ว..(อิๆ)

ฝากคุณครู..เหมือนครูพี่อ้อยข้างบนค่ะ..ต้องพักผ่อนมาก ๆ กินยาเป็นเวลา เช็ดตัวบ่อยๆ..

หายไข้แล้ว..ค่อยมาเยี่ยมบ้านภาษาไทยอีกนะคะ..

เรื่อง "ตัวหนังสือยิบๆ" คงจะจริงนะคะ มองเห็นภาพเชียวค่ะ..เหมือนดาวดวงเล็ก ๆ ที่ยิบ ๆ อยู่บนท้องฟ้า ..เห็นอยู่ว่านั่นคือดาว..แต่..............................................................................................................

(สบายตาไหมคะ..ไม่ต้องอ่าน..มีแต่จุด..คิๆ) เพราะคุณครูอยู่กับตัวหนังสือตลอดเวลา

จึงเหมาะแล้วค่ะ..กับการได้พักสายตาของคุณครูในช่วงนี้

หายไข้ไว ๆ นะคะ..

อาจารย์ขจิตคะ..สวัสดียามเช้าที่แสนสดใสค่ะ (ยืนยันได้ค่ะ..ว่าสดใสจริง)

ขอบคุณมากค่ะ..ที่กรุณาแวะมาเยี่ยม

เดือนที่แล้วเกือบจะได้ไปแล้วค่ะ..เมืองกาญจน์..เรื่อง Home School ของ สกศ.นี่แหละค่ะ..ไปนำเสนอผลการจัดของเชี่ยงใหม่เขต ๑ ...ที่โรงแรม..ชื่อญี่ปุ่นค่ะ ..จำไม่ได้แล้วค่ะ แต่เผอิญมีงานซ้อนคือต้องไปอีกเรื่องหนึ่งที่กรุงเทพ..ซึ่งเป็นงานหลักในความรับผิดชอบค่ะ..ใจจริงแล้วอยากไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องนี้มากค่ะ..จึงเป็นคนอื่นที่ไปแทน..

เอาไว้ครั้งต่อไปนะคะ..ศน.อ้วนจะพยายามไปเมืองกาญจน์ให้ได้..อยากไปเที่ยวหมู่บ้านเด็กค่ะ..ถ้าอย่างไรแล้วจะส่งเสียงให้อาจารย์ขจิตได้รับทราบล่วงหน้าก่อนนะคะ

ขอบคุณในน้ำใจของอาจารย์ขจิตมากค่ะ..

มีความสุขกับการทำงานในวันนี้นะคะ..

สวัสดีค่ะ..

ผมเพิ่งได้ทราบจากผอ.เขต ๒ เมื่อวานนี้(๒๔ เมษายน ๒๕๕๑)ว่ามีผลงานวิจัยออกมาว่า...ปัจจัยที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กนั้น ร้อยละ ๖๐ อยู่ที่ครอบครัว ร้อยละ ๒๐ อยู่ที่โรงเรียนและห้องเรียน ร้อยละ ๒๐ อยู่ที่ชุมชน ครับท่านศน.

เข้ามา ด้วยคิดคิดถึงค่ะ

..ครูตุ๊กขา..ทุกทีเลย..แปะไว้ก่อนนะคะ..เพราะอยากคุยด้วยอย่างย้าวยาว..ค่ะ

ตามมาอ่าน และลากกระบุงมาเก็บกำลังใจ

ที่นี่  มีต้นไม้แห่งกำลังใจ  ที่ให้ครูอ้อย และเพื่อน ๆได้เก็บ ได้สอย ไปตามอำเภอใจ

แล้วจะมาอีกนะคะ  อย่าเพ่อรำคาญนะคะ

..สวัสดีค่ะ..คุณครูพิสูจน์..หนูจะเข้ามาคุยด้วยคืนนี้นะคะ..

..ครูเอจ๋า..ขอโทษด้วยนะคะ..ร้อยครั้งพันครั้ง..ที่ไม่ได้ไปเยี่ยม..ตั้งใจจะถามเบอร์โทรที่ท่าน ผอ.รร.ค่ะ..แต่ยุ่งเหลือเกิน..อยู่ไหนคะตอนนี้..เป็นอย่างไรบ้าง..เข้ามาบอกอีกครั้งนะคะ..ศน.อ้วนจะไปเยี่ยมค่ะ..ตอนนี้ไปก่อนนะคะ วันนี้สพท.เชียงใหม่ เขต ๑ เป็นจุดสอบ การแข่งขันคณิตศาสตร์ ระดับประเทศ ค่ะ..น้องก้านตองก็เข้าสอบด้วย..

..ครูเอ..อย่าลืมบอกนะคะ..ไปก่อนค่ะ

ครูเอ ผ่าวันนี้ค่ะ

คงไม่เป็นอะไรมาก ไม่ได้นอนค่ะ 

 ขอบคุณค่ะสำหรับความห่วงใย

แล้วจะกลับมาเล่าให้ฟังนะค่ะ

แล้วแข่งขันคณิตศาสตร์ ที่ไหนค่ะ ไม่ทราบเลยค่ะ

ฝากเป็นกำลังใจให้ น้องก้านตองด้วยนะค่ะ

สวัสดีค่ะพี่อ้วนที่รัก

  • เป็นบทความที่ดีมาก ๆ เลยค่ะ
  • บอกภาพของ Home School ที่ชัดเจนที่สุดค่ะ
  • บ้านก้านตองโชคดีมาก ๆ ค่ะ ที่ได้พี่อ้วนช่วยดูแล...เชื่อได้ว่าต่อไป...การศึกษาในเมืองไทยคงดีขึ้นมาก ๆ
  • ส่งกำลังใจให้ครอบครัวน้องก้านตอง
  • ..และที่สำคัญ...ส่งใจมาช่วยพี่อ้วน...ให้มีสุขภาพแข็งแรงเพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษาชาติค่ะ.^_^ ยิ้ม ๆ ๆ ๆ ..
  • อีกนิดค่ะ...ลืมบอกไปว่า
  • ...ชอบเพลงนี้มาก ๆ ค่ะ
  • สักขีแม่ปิง...:)
  • ครอบครัว สถาบันที่สำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์สังคม กลับทำหน้าที่ของตนได้ไม่สมบูรณ์ สภาพสังคมไทยจึงเป็นดังที่เห็น
  • เด็กไทย ป. 4 สมัยนี้ เทียบกับ ป. 4 สมัยก่อน ความรู้เทียบกันไม่ติด ป. 4 สมัยก่อนชนะขาด การศึกษาไทยยิ่งปฏิรูป ก็ยิ่งอ่อน
  • เด็กไทย วัยรุ่นไทย ใช่แค่ที่กล่าวมา ยังชอบ  show แถม show ไม่เลือกอวัยวะ ความสามารถ และกาลเทศะ

สวัสดียามค่ำค่ะ...กัลยาณมิตรที่รักทุกท่าน

กลับมาแล้วค่ะตามสัญญาของหัวใจ..อยากคุยกับทุกท่านค่ะ

สวัสดีครับ

หายแล้วครับ

วันนี้ออกไปข้างนอกได้ สบายบรื๋อ..

แล้วจะแวะมาอีกครับ ;)

อย่าลืมไปฟังเพลงนะครับ...

ขอบคุณคุณครูพี่อ้อยด้วยครับ

แวะไปเติมความในบันทึกโน้นแล้วล่ะ

สวัสดียามค่ำอีกครั้งค่ะ...กัลยาณมิตรที่รักทุกท่าน

กลับมาแล้วค่ะตามสัญญาของหัวใจ..อยากคุยกับทุกท่านค่ะ

เครื่องคงเห็นใจคนเหนื่อย(แต่ขยันค่ะ..อิอิ)พิมพ์หาย ๆ..กดไม่ลงบ้าง..คลิ๊กนิ๊ดเดียวไปซะแล้ว..เอาใหม่นะคะ.. คุณครูมาอยู่ใกล้ ๆ คุยพร้อมกับกับครูตุ๊ก..เลยนะคะ..ครูพี่อ้อยด้วยค่ะ..

สวัสดีค่ะ..คุณครู , ครูตุ๊กแกคนดำสวยใจดี(ฮิๆๆ) ,ครูพี่อ้อยคนสวย

ขอบคุณมากค่ะ..ที่เข้ามาเยี่ยมบ้านเรียนก้านตอง

พยายามนำเสนอเรื่องราวของครอบครัว..เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ครอบครัวที่พร้อมในการจัดการศึกษารูปแบบนี้ต่อไปค่ะ

เพราะจากที่เราๆท่านๆเห็นอยู่..เดี๋ยวนี้ปัญหาของสังคมส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวเป็นสาเหตุ..

บางครั้งก็ท้อค่ะ..เรื่องราวที่นำพาซึ่งความภาคภูมิใจเมื่อคิดเป็นสัดส่วนแล้วมีน้อยกว่า

อย่างไรก็ตามแรงเล็ก ๆ ของพวกเรานี่แหละนะคะ..ที่น่าจะช่วยได้อยู่..

ครูตุ๊กจ๋า..ไม่ต้องท้อค่ะ..กับ ๖ ข้อข้างบน ..ฝากเป็นข้อมูลไว้ในก้นบึ้งของหัวใจครูไทยหนึ่งคนที่ขยันสร้างสรรค์คุณภาพสังคมนะคะ..(เอ๋..วันนี้คิดไม่ค่อยออกค่ะ..)

ครูพี่อ้อยขา..คุณครูธวัชชัยฝากขอบคุณกำลังใจที่ส่งไปเยี่ยมไข้นะคะ

และก็ดีใจกับคุณครูด้วยค่ะ..ที่หายไข้แล้ว..ลุยงานต่อได้นะคะ

สวัสดีค่ะ..คิดถึงทุกท่านค่ะ..

สวัสดีครับมาอ่านๆ..ครับ

สวัสดีค่ะ..คุณครูพิสูจน์

ขอบพระคุณมากค่ะ..ที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมบ้านเรียนก้านตอง

เรื่องราวของครอบครัว..สำคัญจริง ๆนะคะ..ดังข้อมูลที่ท่านได้มา

ผมเพิ่งได้ทราบจากผอ.เขต ๒ เมื่อวานนี้(๒๔ เมษายน ๒๕๕๑)ว่ามีผลงานวิจัยออกมาว่า...ปัจจัยที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กนั้น ร้อยละ ๖๐ อยู่ที่ครอบครัว ร้อยละ ๒๐ อยู่ที่โรงเรียนและห้องเรียน ร้อยละ ๒๐ อยู่ที่ชุมชน ครับท่านศน..

ในความคิดของตัวเองนะคะ..เห็นด้วยกับตัวเลขนี้ ..แต่ค่อนข้างสวนทางกับโลกแห่งความเป็นจริง..ตัวเลขใช่..แต่การปฏิบัติจริงไม่น่าจะใช่ค่ะ

มักจะพูดกับคุณครูทุกครั้งเมื่อมีโอกาสค่ะ..ว่าหนึ่งวันมี ๒๔ ชัวโมง เด็กอยู่กับคุณครู ๘ ชั่วโมง(เศษหนึ่งส่วนสาม) อยู่กับครอบครัว ๑๖ ชัวโมงคิดเป็นสองส่วน แล้วหากจะตามดูจริง ๆ ..จะพบว่าจริงหรือไม่ที่เด็กอยู่กับครอบครัวจริง ๆ ครบ ๑๖ ชั่วโมง..บางครอบครัวเด็กอาจได้คุยกับพ่อแม่ ไม่เกิน ๓ ชั่วโมง ช่วงระหว่างเวลา ๖ โมงเย็นถึง ๓ ทุ่ม และหากว่าเด็กใช้เวลานี้ดูทีวีแล้วเข้านอน..ก็จะไม่ได้คุยกันหรอกนะคะ...ตอนเช้าได้คุยกันแป็บหนึ่ง..บางครอบครัวอาจไม่ได้เห็นหน้ากันในตอนเช้า..ต่างคนต่างไป...หลังเลิกเรียน..เด็กจากบางครอบครัวต้องเรียนพิเศษต่อ..เด็กบางครอบครัวอาจได้เที่ยวเล่นตามสถานที่ต่างๆ รอพ่อแม่ที่ยังไม่เลิกงาน..เด็กบางครอบครัวต้องรีบไปทำงานช่วยหาเลี้ยงครอบครัว ...เคยเห็นและถามเด็กเล็กๆที่ขายพวงมาลัยในร้านอาหาร..กลับกี่ทุ่มคะ..สี่ทุ่มค่ะ..บางคืนหากขายไม่ดีก็อยู่ถึงห้าทุ่มค่ะ..อ้าว แล้วเอาเวลาไหนทำการบ้านล่ะคะ..ทำที่โรงเรียนตอนเช้าค่ะ..สารพัน..มากมายกว่านี้นะคะ

ดังนั้นปัจจัยร้อยละ ๒๐ ที่อยู่โรงเรียน..น่าจะเป็นตัวเลขที่มากกว่านี้..นั่นคือ..ครอบครัวส่วนใหญ่ก็จะผลักภาระว่า เรื่องการเรียนของลูก..มอบเป็นหน้าที่ของครูนะคะ/นะครับ..เพราะครูมีหน้าที่สอนอยู่แล้ว..เป็นหน้าที่โดยตรง..กินเงินเดือนหลวงด้วย..ลูกผม/ดิฉันจะเก่งหรืออ่อนขอคุณครูช่วยดูแลด้วย..ผมต้องทำมาหาเลี้ยงครอบครัว..ไม่ค่อยมีเวลาได้ดูแล..เรื่องการบ้านก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง..สารพันปัญหาเช่นกัน..เด็กได้คะแนนน้อย..เรียนไม่ผ่าน..เป็นเพราะครู..ครูถึงได้เหนื่อยมากมาย..โดยเฉพาะคุณครูในยุคนี้

และอีก ๒๐ % ที่เป็นปัจจัยด้านชุมชนนั้น..เห็นด้วยค่ะ..ทั้งการมีส่วนร่วมในการเข้ามาจัดการศึกษาของสถานศึกษาแต่ละแห่ง รูปแบบต่าง ๆ..ทั้งการเป็นแหล่งเรียนรู้..และการคอยสอดส่องดูแลลูกหลานของตนเองในชุมชนนั้นๆ..ยิ่งปัจจุบันในเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับรากหญ้า..หมู่บ้านไหนเข้มแข็งก็จะสามารถเป็นตัวช่วยครอบครัวในการดูแลเด็กๆและเยาวชนได้..โดยเฉพาะในชนบทจะเป็นมรรคเป็นผลมากกว่าในตัวเมือง..ยิ่งไกลยิ่งดี..ยิ่งใกล้ยิ่งมีปัญหา..มองไปในโรงเรียน..ลึกเข้าไปในห้องเรียน..ครูคร่ำเคร่งกับการสอน..ลองย้อนเดินไปในห้าง..มุมเกม..มุมคาราโอเกะ..เด็กๆ สนุกสนานอย่างสุดเหวี่ยง..เฮ้อ "

ดังนั้น..หนูจึงค่อนข้างมีใจให้ในเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัวค่ะ..เพราะหากครอบครัวใดพร้อม..น่าจะช่วยชาติบ้านเมืองแก้ปัญหาได้..

วานนี้..ได้มีโอกาสคุยกับคุณพ่อวิคมของน้องก้านตอง..ท่านก็บอกว่ามีหลายครอบครัวที่สนใจ..คุณพ่อและคุณแม่กำลังรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานค่ะ..เพื่อเป็นแนวทางแก่ครอบครัวที่สนใจต่อไป..จะพยายามนำมาเสนอต่อค่ะ

คุยกับคุณครูพิสูจน์เสียยาวเลย..ตัวหนังสือยิบ ๆ หรือเปล่าคะ..

ขอบพระคุณคุณครูพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งค่ะ..สวัสดีค่ะ..แล้วแวะมาอีกนะคะ

  • สวัสดีค่ะพี่อ้วน
  • มายิ้ม ๆ แย้ม ๆ สบายดีหรือเปล่าคะ
  • ทำงานมากมายขนาดนี้..มิน่าตัวนิดเดียว
  • รักและระลึกพี่อ้วนนะคะ
  • รักษาสุขภาพด้วยค่ะ 

ครูเอจ๋า...

คิดถึงมากค่ะ..เป็นอย่างไรบ้างคะตอนนี้..ก็เบาใจที่ครูเอบอกว่าไม่ได้นอนโรงพยาบาล..แสดงว่าไม่มีอะไรร้ายแรง..อาการเป็นอย่างไรหลังจากคุณหมอเอาเจ้าก้อนเล็ก ๆ ออกแล้ว..

ส่งกำลังใจไปเยี่ยมนะคะ..ขอให้หายไว ๆ ค่ะ..

เรื่องการแข่งขันทางวิชาการ ระดับประเทศ วานนี้ ..เป็นการแข่งขันระดับประเทศค่ะ..มีทั้งหมด ๑๙ ศูนย์สอบ..เชียงใหม่ เป็นศูนย์สอบที่ ๑ มี ๔จังหวัดที่เข้าร่วมค่ะ..เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และ แม่ฮ่องสอน

เป็นการคัดเลือกนักเรียนเข้าแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๑ ค่ะ..วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ ๒ และ ๓ ค่ะ

นักเรียนที่ได้คะแนน ๔๐-๕๙ จะได้รางวัลเหรียญทองแดง ๖๐-๖๙ จะได้เหรียญเงินและ ๗๐ คะแนนขึ้นไปจะได้รางวัลเหรียญทอง โดยผู้ที่ได้เหรียญเงินและทองจะได้เข้าค่ายและเป็นตัวแทนของประเทศเข้าแข่งขัน ระดับนานาชาติ

วิทยาศาสตร์ ฮ่องกงเป็นเจ้าภาพ การออกแบบสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์วิทยาศาตร์ ไต้หวันเป็นเจ้าภาพ และที่โก้จัง..คือประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ คณิตศาสตร์ค่ะ..ที่เชียงใหม่..จัดระหว่างวันที่ ๒๕ - ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ ค่ะ..

งานนี้เหนื่อยมากถึงมากที่สุดอีกตามเคย..ศน.อ้วนได้ร่วมเป็นคณะกองเลขา ฯ งาน ได้ไปนำเสนอกรอบงานที่ สพฐ.แล้วค่ะ เพื่อของบประมาณ ต่อไปคงมีเรื่องเล่าให้เพื่อน ๆ ได้ฟังอยู่ค่ะ..เพราะเป็นชื่อเสียงของประเทศ..เป็นมุมบวกของการจัดการศึกษา..นะคะ

สำหรับน้องก้านตอง..วานนี้ ศน.อ้วนก็แอบย่องไปให้กำลังใจ..ส่งยิ้มให้นิดหนึ่ง..ในห้องสอบ..ได้บอกให้น้องก้านตองแล้วว่า..ทำให้ดีที่สุดตามความสามารถ..ไม่ให้เครียด..ผลที่เกิดจะเป็นอย่างไรไม่ต้องกังวลใจ..หากเราทำดีแล้ว..เพราะเป็นการวัดความสามารถด้านหนึ่งเท่านั้น..

เป้าหมายหลัก..คือการเป็นคนดีของพ่อแม่..ของสังคมต่างหาก(ศน.อ้วนคิดเช่นนี้)

(ดูข้อสอบแล้วค่อนข้างยากมากๆๆๆ..ผลการสอบ สพฐ.จะประกาศทางเว็บไซต์ทั่วประเทศ ในวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑)

ครูเอจ๋า..พักเยอะ ๆ นะคะ..เป็นห่วงและคิดถึงค่ะ..

สวัสดียามดึกค่ะ..น้องคนไม่มีราก

คิดถึงกันนี่เป็นสิ่งดีนะคะ..ดีจริงๆ

ทำให้ได้คุยกันน้อง ๑๒ คนน่ารักได้บ่อย ๆ

เราตัวเล็ก ๆ เหมือนกันแสดงว่าทำงานมากเหมือนกันใช่ไหมคะ..อิๆๆๆ

น้อง ๑๒ คะ..พี่ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุดค่ะ..ในทุกเรื่อง..ได้ผลมากบ้าง..น้อยบ้าง..แต่ก็มีความสุขค่ะ..โดยเฉพาะเรื่องนี้หากสำเร็จและมีการขยายในวงกว้างขึ้น..หรือหากไม่เป็นการจัดการศึกษาโดยครอบครัวเต็มรูปแบบ..เป็นการร่วมมือระหว่างครอบครัวกับโรงเรียนเพิ่มมากขี้น..ใกล้ชิดกันมากขึ้น..อะไร ๆ คงดีขึ้นนะคะ..

ขอบคุณมากค่ะ..รักษาสุขภาพเช่นกันนะคะ

ราตรีสวัสดิ์ค่ะ..

สวัสดียามดึกค่ะ..คุณ morisawa

ขอบคุณมากค่ะ..ที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมบ้านเรียนก้านตอง

เห็นด้วยค่ะ กับอาจารย์...

เด็กไทย ป. 4 สมัยนี้ เทียบกับ ป. 4 สมัยก่อน ความรู้เทียบกันไม่ติด ป. 4 สมัยก่อนชนะขาด การศึกษาไทยยิ่งปฏิรูป ก็ยิ่งอ่อน เด็กไทย วัยรุ่นไทย ใช่แค่ที่กล่าวมา ยังชอบ show แถม show ไม่เลือกอวัยวะ ความสามารถ และกาลเทศะ

จริงๆแล้วการปฏิรูป..สิ่งที่เกิดภายหลังน่าจะดีนะคะ..การศึกษาไทยเริ่มมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งแรกครั้งใหญ่ด้วย ..ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๔ โดยพระองค์โปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวัง คือ โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก ซึ่งก็คือโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ก็โปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรทั่วไปขึ้น ซึ่งแห่งแรกอยู่ที่ วัดมหรรณพาราม มีชื่อว่า โรงเรียนวัดมหรรณพ์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หลวงสารประเสริฐ (น้อย อาจาริยางกูร)เขียนตำราขึ้นมาเรียกว่า แบบเรียนหลวงหกเล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ,วาหิติ์นิกร, อักษรประโยค,สังโยคพิธาน,ไวพจน์พิจารณ์ และ พิศาลการันต์..ข้อมูลจากคอลัมน์ UPdate Kids..นิตยสาร Up-DATE (ได้รับความกรุณาจากคุณครูธวัชชัย)

ถัดมาก็มีการปฏิรูปการศึกษามาเรื่อย ๆ เท่าที่จำได้ ..ตั้งแต่หลักสูตร ๒๕๐๓..มาเป็นหลักสูตร ๒๕๒๑..และเป็นหลักสูตร ๒๕๔๔ ในปัจจุบัน..

คนรุ่นเก่ายังจำได้ค่ะ

..ป้ากะปู่..ป้ากะปู่ดูตาอู๋ตีกะบี่กะตาอี่..ป้าจ๋า ตาอี่ตีกะบี่ดี ..ตาอี่จะตีบ่าตาอู๋ ..ตาอู๋ดูตาตาอี่ ..ป้าปะปู่กู้อีจู้ ..ป้าดูปู่กู้อีจู้..(ความจำจาก ชั้นป.๑)

สองพี่น้อง เรียกวิหค นกที่รัก

"วันนี้ไย ไม่ร้องทัก ทีเหงาหงอย"

นกร้อง "โธ่! โอ้อกข้า พี่มาคอย

นึกว่าสาย อีกหน่อย ถึงจะมา

ไยวันนี้ พี่ตื่น ก่อนเช้าตรู่

รีบไปดู งานอะไร อีกเล่าขา"

...ฯลฯ (ค้างอีก ๙๔ บรรทัด)...

(ความจำจากนิทานร้อยบรรทัด ชั้น ป.๓)

นะโมข้าจะไหว้ วระไตรระตะนา

ใส่ไว้ในเกศา วระบาทะมุนี

คุณะวระไตร ข้าใส่ไว้ในเกศี

เดชะพระมุนี ขออย่ามีที่โทษา

ข้าขอยอชุลี ใส่เกศีไหว้บาทา

พระเจ้าผู้กรุณา อยู่เกศาอย่ามีภัย

.......................

โทโสแลโมโห อย่าโลเลโจ้เจ้ใจ

กุมาระกุมารี ตะรุณีที่เยาว์วัย

จะล่อพอเข้าใจ ให้รู้จำคำวาที

ว่าไว้ใน ก กา ก ข ขา อา อิ อี

ว่าไว้ในเท่านี้ ที่พอได้ใน ก กา

.......................

(ความจำจาก บทท่อง ปฐม ก กา หัดอ่าน)

ดีจังค่ะ..ทวนความจำในอดีตชาติ..เอ๋ย..ไม่ใช่อดีตกาลน้านนานมาแล้ว

ทำให้คิดได้ว่า ..เอ..แบบเรียนภาษาไทยที่กำหนดตามหลักสูตรฉบับปัจจุบัน ทั้งภาษาพาที และ วรรณคดีลำนำ มีบทใดบ้านที่เด็กได้ท่องจนจำขึ้นใจข้ามกาลเวลา(อิๆๆ)ได้นานเช่นนี้..ต้องตามไปดูแล้วค่ะ...

ปฏิรูปแต่ละครั้งก็กำหนดปรัชญาไว้สวยหรู..แต่น่าจะยังไปไม่ถึงดวงดาว..คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น (๒๕๒๑)..เก่ง ดี มีสุข (๒๕๔๔)

ขอวางไว้ก่อนก็แล้วกันนะคะ..ดึกเอยดึกแล้ว..ราตรีสวัสดิ์ค่ะ

สวัสดียามค่อนสว่างค่ะ..อาจารย์กวินทรากร

ขอบคุณมากค่ะที่เข้ามาอ่าน ๆ ..อ่านตัวหนังสือจาก G2K หรือจากหนังสือคะ..

ไม่หลับเฝ้าหนังสือนะคะ..ใกล้สว่างแล้ว(คิๆ)

อรุณสวัสดิ์ค่ะ..

สวัสดีครับอาจารย์วัชราภรณ์

  • หนังสือคู่สร้างคู่สม มีสาระดีนะครับ ถูกดี แต่ชื่อหนังสือและหัวข้อดูแล้ว ดูเหมือนเราซื้อเพราะอยากมีครอบครัวและ เรื่อง ... นั้นไปเสียนี่
  • บางครั้งครูสุก็เห็นว่าการที่เด็กยุคนี้เป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่ ที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ (แต่ว่าเทคโนฯ วัตถุ ตอนนั้น มันยังมาไม่ถึง)
  • อย่างเช่น เด็กบางคน พ่อแม่ มาดูแลถึงโรงเรียน ไม่อยากให้ลูกดำ  เด็กผู้ชายบางคนปิดเทอม พ่อแม่พาไปย้อมผมก็มี บางคนก็เลี้ยงลูกด้วยเงินจริง ๆ 
  • อาจารย์ครับ ที่โรงเรียนครูสุ ซึ่งเป็นโรงเรียนบ้านนอก เด็กจะนำเงินมาวันละ 3-5 บาท สูงสุดคือ 10 บาท (รวยสุดแล้ว)  แต่เด็กบางคนนำเงินมาโรงเรียนถึงวันละ 40 บาทครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วัชราภรณ์ วัตรสุข

พอดีได้เข้ามาอ่าน บันทึกของอาจารย์ เป็นบันทึกที่ดีมากเลยค่ะ คิดว่าคงต้องช่วยกัน ทั้ง พ่อแม่ของเด็ก และ ครูด้วยค่ะ และหน่วยงานทุกหน่วยแหละค่ะ พ่อแม่ในปัจจุบัน ก็ฝากฝังลูกของตน ไว้กับครูอย่างเดียว เมื่อไปส่งลูกถึงโรงเรียนแล้ว ก็ถือว่าตัวเองหมดหน้าที่ ตอนเย็น เมื่อได้อยู่พร้อมหน้ากัน ก็ไม่ได้อบรมสั่งสอนเด็ก ครูในปัจจุบัน ก็ดูแลเด็ก ได้ไม่เต็มที่ บางโรงเรียน ครู 1 คน ทำหน้าสอนหลายวิชา ซึ่งบางทีคิดว่าก็เกินกำลังของครูเหมือนกัน (ข้อมูลนี้ เคยได้รับฟัง จากครูในพื้นที่ที่อยู่นะค่ะ )

P    

 สวัสดีค่ะ...ครูสุ

 

  • ขอโทษครูสุด้วยนะคะ..มัวไปเพลิดเพลินกับบันทึกอื่น ๆ
  • แอบทิ้งครูสุ..ไปหลายวันเชียว
  • ครูสุตามไปเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่น้องก้านตองด้วยนะคะ..ที่บันทึกถัดไปนี้
  • มีหลายคำตอบที่ครูสุ..สงสัย..เฉลยแล้วนะคะ..โดยคุณพ่อคุณแม่ที่น่ารักทั้งสองท่าน
  • สำหรับมุมลบของ..ครอบครัวต่างๆ ที่เราพบเห็นคงต้องได้ออกแรงช่วยกันต่อไปนะคะ
  • ขอบคุณครูสุ..มากค่ะ

P              

สวัสดีค่ะ...อ.สุวิมล

 

  • ขอบคุณมากค่ะ..ที่อาจารย์สนใจเรื่องของ Home School
  • และเข้ามาอ่าน..ได้คุยกับอาจารย์แล้วค่ะ..ในบันทึกถัดไปนี้
  • ครอบครัวก้านตอง..น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ครอบครัวอื่นๆ ได้
  • โดยไม่ต้องจัดการศึกษาเองก็ได้..แต่ให้การดูแลบุตรหลาน..ไม่ผลักให้เป็นภาระของโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่
  • หากร่วมด้วยช่วยกัน..อะไร ๆ คงดีขึ้นอีกเยอะมากค่ะ
  • อ.สุวิมล  ตามดูทุก ๆ บันทึกนะคะ..จะมีคำตอบ..อยู่พอควรค่ะ
  • และหากอยากจะคุยกับคุณพ่อคุณแม่หรือน้องก้านตอง  ก็คุยได้นะคะ
  • ดีใจจังค่ะ..ที่ได้เพื่อนใหม่เพิ่มอีกหนึ่งท่าน
  • เข้ามาอีกนะคะ..
  • สวัสดีค่ะ

 

 

ค่ะ แล้วจะติดตามบันทึก ของ อาจารย์ วัชราภรณ์ วัตรสุข ต่อไปค่ะ

สตางค์ สรณัง คัจฉามิ...คิดได้ยังไง..เจ๋งจริงๆครับ ทานข้าวครับ

สวัสดียามเช้าค่ะ..คุณคนโรงงาน

ดีใจและขอบคุณมากค่ะ..สำหรับมิตรภาพที่กรุณา

...มิตรภาพ ซาบซึ้ง ตราตรึงจิต...

...ชุบชีวิต เติมชีวา ฟ้าสดใส...

...ต่อแต่นี้ เราเป็นเพื่อนที่เข้าใจ...

...เชื่อมสายใย ผูกพัน ฉันและเธอ...

ข้าว..ทานเช้านี้ได้นะคะ (กำลังหิวพอดีค่ะ..)ต้องอร่อยแน่เลย..แถมกาแฟด้วยสักแก้วสิคะ (อิๆ)

โดนใจที่สุดเช่นกันค่ะ "สตางค์ สรณัง คัจฉามิ" เป็นภาพที่ชัดมากของเด็กไทยเดี๋ยวนี้

ซึ่งน่าเป็นห่วงจังนะคะ..แต่ก็ยังอุ่นใจค่ะ..ที่ทุกฝ่ายขณะนี้รณรงค์นำกระแสพระราชดำรัสของในหลวงเรื่อง การเป็นอยู่อย่างพอเพียง..เข้าสู่ทุกช่องทางอย่างเร่งด่วน

รวมทั้งในสถานศึกษาด้วยค่ะ..ยิ่งบวกกับยุคข้าวยาก น้ำตาลแพง น้ำมันสุดยอดหฤโหด..น่าจะได้ผลอยู่บ้างนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ..ที่กรุณาแวะมาเยี่ยม..แล้วแวะมาอีกนะคะ

มีความสุขกับการทำงานนะคะ

..สวัสดีค่ะ..

ครับ คุณ ครูอ้วน เอามาเสริฟ จากมือ ร้อนๆ เลยครับ...

อรุณสวัสดิ์ค่ะ..คุณคนโรงงาน

ขอบคุณมากค่ะ..สำหรับกาแฟน้ำใจ (เดี๋ยวย่องไปเอาขนมเค็กจากบ้านโน้นมาค่ะ)

ดูหน้าตาแล้ว..กลิ่นต้องหอมด้วยแน่ ๆ เลย

ขอบคุณอีกครั้งหนึ่งค่ะ..

สวัสดีค่ะ

* บทสรุปจากหนังสือคู่สร้างคู่สม....เป็นเรื่องจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

* ปัญหา (หรือเปล่า) คนมีรายได้น้อย..ความรู้น้อยมีลูกมาก....คนมีรายได้มาก...มีลูกน้อย...เหล่านี้คือเวลาที่ควรเกื้อกูลครอบครัว

สวัสดีคุณครูพรรณาค่ะ..

เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆค่ะ..

กับเบ้าหลอมชีวิตที่กำลังเป็นปัญหา ด้วยประสบปัญหาดังครูพรรณาคิดและบอกกล่าว

เราในฐานะ "ไม้สอง" ของครอบครัว ก็น่าจะได้มีส่วนในการเกื้อกูล ทั้งนี้เพื่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของชาติต่อไปนะคะ

สู้ๆๆๆ..ค่ะ

      เป็นบทความเรื่องครอบครัวที่ดีมาก และ ตรงกับความสนใจของผมอยู่พอดีครับ

     โดยเฉพาะเรื่องโฮมสคูล   เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจมาก  แต่ยังอยู่ในวงแคบอยู่

            ขอขอบคุณสำหรับสาระดีๆครับ

สวัสดีครับ ศน อ้วน

ผมพึ่งอ่านตอนที่สี่จบก็ได้รับคำตอบที่ได้ถามไปแล้วหลังจากอ่านตอนที่สาม ขอบคุณมากครับ เป็นครอบครัวที่น่าทึ่งมาก เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ขอให้รักษาคุณงามความดีนี้ต่อไป สุขภาพแข็งแรง สุขกายสบายใจครับ

คุณพ่อน้องน้ำว้า

รบกวนขอเบอร์ติดต่อ คุณพ่อวิคม..คุณแม่กรรณิการ์ ได้มั้ยคะ หรือ E mail ก็ได้ค่ะ ดิฉันอยากขอสัมภาษณ์คุณพ่อวิคม ในเรื่องของ Home School ที่เชียงใหม่ค่ะ เราทำหนังสือแจกฟรี เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวค่ะ ขอบคุณมากค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท