ครั้งแรกที่เจอคำว่า อนุทิน ใน GoToKnow ผู้เขียนก็สำคัญว่าเป็น บันทึกประจำวัน ที่เพิ่มเข้ามา ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก... ต่อมาก็พบว่าคำนี้แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Journal ซึ่งผู้เขียนก็เพิ่งรู้เช่นเดียวกัน ลองเปิดพจนานุกรมดู เค้าก็แปลศัพท์นี้ว่า บันทึก ได้อีกความหมายหนึ่ง...
อนุทิน คำนี้ไม่ค่อยจะเห็นใช้โดยตรงในบาลี และไม่เคยเจอด้วยว่าในบาลีจะแปลว่า บันทึก หรือ Journal ได้ ... จึงคาดเดาเอาว่า น่าจะเป็นภูมิปัญญาของโบราณาจารย์ไทยที่เลือกบัญญัติคำว่า อนุทินใช้แทน Journal ในความหมายว่า บันทึก
เมื่อแยกศัพท์ อนุ + ทิน = อนุทิน ... โดย อนุ เป็นอุปสัคแปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม ... ส่วน ทิน เป็นคำนามแปลว่า วัน ... ดังนั้น อนุทิน น่าจะแปลว่า ตามวัน หรือ ประจำวัน
ถ้าจะวิเคราะห์ศัพท์ทำนองบาลีก็อาจจัดให้เป็นศัพท์สมาส โดยเป็นอัพยายีภาวสมาสได้ และตั้งวิเคราะห์ได้ดังนี้
- ทินสฺส ปฏิปาฏิ อนุทินํ
- ลำดับแห่งวัน ชื่อว่า อนุทิน
โดยคำว่า อนุ อุปสัค ใช้แทนคำว่า ปฏิปาฺฏิ ในบทสรุป
-
หมายเหตุ ประเด็นนี้ เดิมทีนั้น ผู้เขียนได้อ้างชื่อวิเคราะห์ผิดพลาด ไัดัรับการแนะนำจากกัลยาณมิตร จึงได้แก้ไขใหม่ถูกต้อง (ขออนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้ด้วย)
......
เฉพาะ ทิน ซึ่งแปลว่า วัน นี้ อาจตั้งวิเคราะห์ตามรากศัพท์ได้หลายนัย เช่น
- ททาติ วายามนฺติ ทินํ
- ธรรมชาติใด ย่อมให้ซึ่งความพยายาม ดังนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า ทิน (เป็นที่ให้ซึ่งความพยายาม)
นัยนี้ ท่านว่ามาจาก ทา รากศัพท์ แปลว่า ให้ ... ลง อินะ ปัจจัย (ทา +อินะ = ทินะ) แปลว่า เป็นที่ให้ซึ่งความพยายาม... อาจอธิบายได้ว่า กลางคืนนั้น คนง่วงเหงาหาวนอน อยากพักผ่อน จึงถดถอยด้อยความพยายาม แต่เมื่อถึงกลางวัน คนจึงรู้สึกตัว กระปี้กระเปร่า เกิดความพยายามขึ้นมา....
- ทิพฺพติ เอตฺถาติ ทินํ
- ประชาชน ย่อมร่าเริง ในธรรมชาตินี้ เหตุนั้น ธรรมชาตินี้ ชื่อว่า ทิน (เป็นที่ร่าเริงแห่งประชาชน)
นัยนี้ ท่านว่ามาจาก ทิว รากศัพท์ แปลว่า ร่าเริง ... ลง อะ ปัจจัย แล้วแปลง ว.แหวน เป็น น.หนู (ทิว +อะ = ทิวะ - ทินะ) แปลว่า เป็นที่ให้ซึ่งความร่าเริงแห่งประชาชน... อาจอธิบายได้ว่า กลางคืนนั้น คนง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งต่างกับกลางวัน ที่คนร่าเริงแจ่มใส...
- สตฺตานํ อายุ ทียติ ขียติ เอเตนาติ ทินํ
- อายุแห่งสัตว์ทั้งหลาย ย่อมสิ้นไป คือย่อมหมดไป เพราะธรรมชาตินี้ ดังนั้น ธรรมชาตินี้ ชื่อว่า ทิน (เป็นเหตุสิ้นไปแห่งอายุของสัตว์)
นัยนี้ ท่านว่ามาจาก ที รากศัพท์ แปลว่า สิ้นไป ... ลง อินะ ปัจจัย (ที + อินะ = ทินะ) แปลว่า เป็นเหตุสิ้นไปแห่งอายุของสัตว์... อาจอธิบายได้ว่า วันๆ หนึ่งที่ผ่านไปนั้น หมายถึงอายุของสัตว์ก็ย่อมสิ้นไปหรือหมดไปด้วย...
............
อีกคำหนึ่งที่คล้ายกันซึ่งมีใช้ในภาษาไทย คือ ปฏิทิน (ปฏิ + ทิน = ปฏิทิน)... โดย ปฏิ เป็นอุปสัค แปลว่า เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ. ... ดังนั้น ปฏิทิน จึงน่าแปลว่า เฉพาะวัน หรือ กำหนดวัน ...
อนึ่ง ในภาษาบาลีมีคำศัพท์ที่ใช้กำหนดวันคืนหลายสิบศัพท์ และมีอยู่นับสิบศัพท์เช่นเีดียวกันที่มีใช้อยู่ในภาษาไทย เช่น กาล เวลา ขณะ ยาม สายันห์ ราตรี อัสดง อรุณ สมัย ...