เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน(ค.อสช.) ; นวัตรกรรมกระบวนการสื่อสารชุมชนท้องถิ่น


กระบวนการสื่อสารชุมชนท้องถิ่น

ที่มาและพัฒนาการของเครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน(ค.อสช.)ในสถานะที่เป็นนวัตรกรรมหนึ่งของกระบวนการสื่อสารชุมชนท้องถิ่น ดังนี้

ที่มาและพัฒนาการ

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปลายปี พ.ศ.๒๕๔๗ ที่หลายชุมชนในเขตจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้ประสบภัยพิบัติสึนามิ  โดยตลอดช่วงของการเกิดวิกฤติการณ์ดังกล่าว ได้เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มพลังนอกระบบราชการ ซึ่งประกอบด้วยทั้งผู้คนในและนอกพื้นที่ ได้ระดมพลังกันเข้าไปช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา ในสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง  แม้ท้ายที่สุดพลังจากระบบราชการก็จะได้เข้าไปดำเนินการ เพื่อก่อให้เกิดการฟื้นฟูชุมชนและกลุ่มผู้ประสบภัยในพื้นที่ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินการอย่างหลากหลายก็ตาม

ทว่า พลังของคนนอกระบบราชการ ที่เรียกตนเองว่า อาสาสมัคร ที่ร่วมกันด้วยพื้นฐานของการมีจิตสาธารณะเป็นเบื้องต้น ในการอุทิศตน ระดมพลังของกลุ่มตนเข้าจัดการสนับสนุนการแก้ไขปัญหา และรองรับผลกระทบอันเกิดจากมหันตภัยภัยสึนามิ อย่างเป็นขบวนการ อย่างมีพลัง และเกิดประสิทธิผลในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสพภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ด้วยดี

          อย่างไรก็ตาม พลังของชุมชนซึ่งมีอยู่ในพื้นที่ประสบภัยสึนามิเองนั้น นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นแกนกลางของการเผชิญปัญหาโดยตรง  ทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลจากการแก้ไขปัญหา และ การฟื้นฟูที่ทุกฝ่ายรีบเร่งดำเนินการอยู่    อีกทั้งพลังการสื่อสารสาธารณะที่ดำเนินการโดยสื่อมวลชนจากส่วนกลางก็เป็นกระบวนการสำคัญในการกำหนดทิศทาง และแนวทางปฏิบัติในการกำหนดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนตามแต่จะร้องขอผ่านสื่อสาธารณะอย่างทันท่วงที นับเป็นการเสริมพลังและสร้างอำนาจการต่อรองของชุมชนและผู้ประสพภัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ยากไร้ ที่เคยไร้โอกาสในทางสังคมให้สามารถเข้าถึงและใช้สื่อเพื่อสนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤติเฉพาะหน้าของกลุ่มตนได้อย่างเป็นรูปธรรม

แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านเลยไปช่วงระยะหนึ่ง การนำเสนอข่าวสารโดยสื่อมวลชนส่วนกลาง เริ่มให้น้ำหนักการเสนอข่าวสารลดน้อยลง ด้วยเหตุผลด้านการตลาดของสื่อสารมวลชนในทางธุรกิจ  จนทำให้สังคม สาธารณะ และผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายคิดว่า มีการแก้ปัญหาจากเหตุการณ์สึนามิ ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่โดยข้อเท็จจริงแล้วยังมีประเด็นปัญหา หลายเรื่อง หลายประเด็น ยังจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาอยู่อีกมาก

ดังนั้น กลุ่มคนที่เป็นแกนนำชุมชน และอาสาสมัครที่เข้าไปทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย  สึนามิและพิจารณาเห็นพลังของการสื่อสารสาธารณะ ว่าจักเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างพลังของชุมชนท้องถิ่นในการชี้เป้า โน้มน้าว และกำหนดแนวทางการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ย้อนกลับมาช่วยเหลือ ฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นอย่างตรงเป้า และต่อเนื่อง กลุ่มแกนนำชุมชนแรกที่ริเริ่มคือแกนนำชุมชนในพื้นที่จังหวัดระนอง จึงร้องขอความสนับสนุนจากภาคประชาสังคมในการฝึกอบรมและจัดตั้งตนเองขึ้นเป็นกลุ่มอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน(อสช.) ขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อทำการสื่อสารความต้องการของชุมชนท้องถิ่น ผ่านกระบวนการสื่อสารชุมชนท้องถิ่นที่เชื่อมต่อสู่กระบวนการสื่อสารสาธารณะเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของชุมชนท้องถิ่นต่อไป

จากการริเริ่มก่อการและจัดตั้งตนเองของแกนนำชุมชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่และส่วนกลาง ในการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชนจังหวัดระนอง ได้ขยายแนวคิดและการฝึกอบรมเพื่อจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชนไปยังพื้นที่จังหวัดกระบี่  พังงา  ภูเก็ต  สตูล  ก่อนจะข้ามมาทำความร่วมมือกับภาควิชาการ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จัดการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น และขยายการจัดตั้ง อาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน (อสช.) ข้ามพ้นจากประเด็นปัญหาเดิมของพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช  และข้ามภาคมายังพื้นที่ ภาคเหนือ โดยร่วมกับภาคประชาสังคมและภาควิชาการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ จัดการอบรมและจัดตั้ง อสช.จังหวัดเพชรบูรณ์  และร่วมกับภาคประชาสังคมและ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จัดการฝึกอบรมแกนนำสื่อชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือตอนบนที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีแกนนำสื่อชุมชนท้องถิ่นจากหลายจังหวัดเข้าร่วม ได้แก่ แกนนำจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และขยายการฝึกอบรมและจัดตั้ง อสช. ไปยังพื้นที่ภาคอีสาน ในจังหวัด ขอนแก่น อุดรธานี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร สุรินทร์  บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด โดย กระบวนการขยายการจัดตั้ง อสช.ช่วงระยะบุกเบิกนี้ดำเนินการภายใต้การสนับสนุนของ โครงการสื่อสาธารณะเพื่อชุมชนอยู่ดีมีสุข และสังคมเข้มแข็ง ที่มีสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(LDI) เป็นแกนกลางดำเนินการและสนับสนุนโครงการโดย สสส.  รวมทั้ง การสนับสนุนโดยโครงการปรับเจตคติสังคมเพื่อเอาชนะยาเสพติดฯ (สสส.) ที่ขยายการจัดตั้ง อสช. ยัง พื้นที่กรุงเทพมหานคร และ จังหวัดฉะเชิงเทรา

รวมทั้งสิ้น มีการฝึกอบรมและขยายการจัดตั้ง กลุ่มอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน(อสช.) รวมแล้วมากกว่า ๓๐ จังหวัด โดยมีระดับความเข้มข้นในการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งในพื้นที่         ๖ จังหวัด ได้แก่  ระนอง  กระบี่   นครศรีธรรมราช  เพชรบูรณ์  อุดรธานี  ฉะเชิงเทรา  และมีการรวมตัวกันเป็น อสช. ในความเข้มแข็งระดับปานกลางในพื้นที่ ๕  จังหวัด ได้แก่ พังงา  สตูล   กรุงเทพมหานคร  ขอนแก่น  ศรีสะเกษ  และ มีแกนนำ อสช.ที่ทำงานร่วมกัน ในพื้นที่ ๑๘ จังหวัด  ได้แก่  เชียงใหม่  ลำพูน  ลำปาง  เชียงราย น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก  อุบลราชธานี อำนาจเจริญ  ยโสธร   สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ มหาสารคราม  และ ร้อยเอ็ด

ในช่วงระยะต่อมา อสช. ได้มีการรวมตัวเป็น สมาคมเครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน (ค.อสช.) มีสถานะเป็น นิติบุคคล

 

หมายเลขบันทึก: 176386เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2008 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท