เรื่องสำคัญที่โรงเรียนไม่สอน แถมพ่อแม่ก็ไม่บอกอีก


จะว่ากันไป ประสบการณ์ชีวิต เป็นเรื่องสำคัญที่โรงเรียนไม่สอน แถมพ่อแม่ก็ไม่บอกด้วย คือเล่าได้แต่ไม่ค่อยเข้าใจหรอกครับ ถ้าไม่เกิดกับตัวเอง บางทีก็ไม่ค่อยรู้สึก กว่าจะเข้าใจก็ต้องเจอเรื่องที่ไม่อยากเจอเข้าแล้ว ถ้าเรียนรู้ได้ก็จะไม่ผิดซ้ำสอง

กฏ 80/20

หลักการของพาเรโต้ (Pareto Principle) ซึ่งกล่าวไว้ในทำนองที่ว่า 80% ของงานที่มีคุณค่า เกิดขึ้นจากกิจกรรมที่ใช้เวลาเพียง 20% เท่านั้น (ในทำนองกลับกัน เวลาที่เราใช้ 80% กลับก่อให้เกิดคุณค่าที่แท้จริงเพียง 20%)

หลักการนี้ เอาไว้ใช้พิจารณาสิ่งที่ทำว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมรอบตัวหรือไม่ ทำแล้วเบียดเบียนตัวเองโดยคุ้มค่าหรือไม่ จำเป็นหรือไม่

งานเครียด งานล้นมือ อาจเป็นผลของการทุ่มเทให้กับสิ่งที่ไม่เกิดคุณค่า เช่น การบ่น เพ้อเจ้อ ชี้นิ้ว วิจารณ์ชาวบ้าน แต่ไม่ลงมือแก้ไข หรือแก้ไม่ตรงสาเหตุ ไม่ลงมือปฏิบัติเสียที

กฏของพาร์กินสัน

ท่านสามารถทำงานให้เสร็จได้เร็วกว่าที่ท่านคิด กฏของพาร์กินสันกล่าวไว้ในทำนองที่ว่า งานที่ท่านทำใช้เวลาและเพิ่มความซับซ้อนขึ้นตามเวลาที่ท่านกำหนดไว้

เช่นถ้าท่านกำหนดไว้ว่าจะหาทางออกให้กับปัญหาอะไรสักอย่างให้ได้ในหนึ่งอาทิตย์ ท่านก็จะมีเวลาว่างมาก ที่จะคิดถึงทางเลือกต่างๆ อยากได้คำตอบที่สมบูรณ์แบบ หมดจด ทำครั้งเดียว มีคนสรรเสริญไปชั่วลูกชั่วหลาน และในที่สุดก็จะเห็นข้อยกเว้น ข้อจำกัด ข้อบกพร่องต่างๆ เต็มไปหมด จนที่สุดก็จะท้อแท้ แล้วไม่ทำอะไรเลย ฉลาดเกินไป ฟุ้งซ่านเกินไป

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของกฏของพาร์กินสัน เราอาจกำหนดเวลาเพื่อหาทางออกในเวลาสั้นๆ (แต่ไม่ใช่หาคำตอบแบบชุ่ยๆ) แล้วลงมือทำ แม้จะมีข้อบกพร่องบ้าง แม้จะแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมดแบบหมดจด แต่ก็ยังสามารถทำอะไรบางอย่าง -- คำตอบที่สมบูรณ์แบบที่ไม่ได้นำไปปฏิบัติ ไม่ต่างไปจากการค้นหาทางออกไม่ได้หรอกครับ ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ทำอะไรเลยเหมือนกัน

ถ้าท่านใช้เวลา 20% เพื่อแก้ไขปัญหา 80% ยังดีกว่าท่านใช้เวลา 100% เพื่อแก้ปัญหา 0% นะครับ

ทำทีละอย่าง ช่วยได้

งานประจำ งานซ้ำซาก ช่างน่าเบื่อจำเจ ในชีวิตจริง ท่านจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบนี้ได้ตลอดหรือครับ จึงต้องหาวิธีจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นก็คือคำแนะนำให้ทำทีละอย่าง

ท่านไม่สามารถทำทุกอย่างในเวลาเดียวกันได้หรอก คนเรามีแค่หนึ่งสมองสองมือ จะโบ้ยงานของเราไปให้คนอื่น ก็เป็นการเบียดเบียนคนอื่น งานของเรา เราก็ทำ

การทำทีละอย่าง เป็นการช่วยให้ "ลดเวลาในการเริ่มต้น" (start-up time) ช่วยให้มีสติอยู่กับสิ่งที่ทำ

ให้ก่อนรับ ไม่มีทางอื่นอีกแล้ว

บางทีมันก็ฝืนกับ "สามัญสำนึก" เราชอบไปคิดว่าต้องให้คนอื่นหยิบยื่นบางอย่างให้เราก่อน เราจึงจะยื่นบางอย่างตอบแทนไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะถ้าเราให้ก่อน แล้วผู้อื่นไม่ให้อะไรตอบแทน เราจะ "ขาดทุน"

ขาดทุนอะไรครับ เวลาเราให้สิ่งที่เราไม่ได้ "เสีย" เช่น น้ำใจ ความช่วยเหลือ สิ่งที่มีมากไป ประสบการณ์ ข้อคิด ฯลฯ เรามีอะไรลดลงหรือขาดอะไรไปหรือครับ ที่จริงนั้น เราไม่ได้เสียอะไรไปเลย แม้ผู้รับไม่ได้ให้อะไรตอบแทนกลับมา เราก็ไม่ได้เดือดร้อนไม่ใช่หรือครับ [นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้ว การให้มีความสุขกว่าการรับ]

เน้นป้องกัน ไม่ใช่เน้นแก้ไข หรือตั้งรับรอความพินาศ

ป้องกัน (proactive) เหนื่อย ยาก แต่การป้องกันเป็นการประเมินล่วงหน้า ต้องใช้ความรู้ ใช้สติ

การแก้ไข (reactive) เกิดจากบางสิ่งมากระทบอารมณ์ ทำให้รู้สึกว่าไม่ทำไม่ได้แล้ว

ผมคิดว่าสังคมไทยให้คุณค่ากับการแก้ไขปัญหามากกว่าการป้องกันปัญหา (ซึ่งผมไม่ชอบความคิดแบบนี้เลย) มันเป็นแนวคิดแบบซูเปอร์ฮีโร่ เหมือนการ์ตูน เหมือนหนังฮอลลีวู๊ด เป็นมายาครับ แน่นอนว่าแก้ปัญหาได้ ดีกว่าแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ถ้าป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาได้นั้น กลับดีกว่าเพราะไม่เกิดปัญหา ไม่มีใครต้องทุกข์ [ช้าก่อน บริษัทดาวรุ่ง....]

ความผิดพลาด ความล้มเหลว และความเพียร

ยามเราเป็นเด็กเล็ก เราทดลองและเรียนรู้ หยิบของเข้าปากมั่วไปหมด เอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ (ผมเคยนะ) พอโตขึ้นมา เราเรียนจาก "ผู้รู้" ยัดเยียดให้รู้ แต่เราไม่ได้เรียนรู้หรอก เรารับรู้เฉยๆ ยิ่งความรู้มากขึ้น เราก็ยิ่งห่างออกไปจากกระบวนการเรียนรู้ เปลี่ยนเป็นรับรู้เฉยๆมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นถามว่ารู้วิธีสร้างจรวดไหม ก็ตอบว่ารู้ ตำราก็มี สารเคมีหาได้ ถามว่าเคยสร้างไหม ไม่เคยแน่นอน (จะบ้าเหรอ) สร้างแล้วได้อะไรขึ้นมา

สิ่งที่เรารู้ เป็นความรู้แห้งๆ เป็นความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตเสียมาก ความรู้แบบนี้ จะมีหรือไม่มีแทบไม่ต่างกันเลย (ยกเว้นเอาไปถ่ายทอดแบบแห้งๆให้กับคนอื่น โดยหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อเขาจริง)

เพราะความรู้และภาพลักษณ์มันค้ำคอ เรายิ่งห่างจากกระบวนการเรียนรู้ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติออกไปทุกที ในสังคมของเรา พูดจากันไม่รู้เรื่อง ต่างคนต่างเป็นเอกทัคคะในทางใดทางหนึ่ง ต่างยึดว่าตัวเองถูก เถียงกันหน้าดำคร่ำเครียด ไม่รู้ว่าใครจริงใครแห้ง [KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๕๐๙. KM คืออะไร (๑๐๓) เครื่องมือไล่ผี]

ผู้ที่ถีบจักรยานเป็น คงเคยล้มฟกช้ำดำเขียวกันมาบ้าง เมื่อท่านล้มแล้ว ท่านยังทำต่อใช่หรือไม่ -- ความล้มเหลว การไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่กลับจะมีค่ามากหากท่านสามารถจะเรียนรู้ที่จะไม่ผิดพลาดซ้ำสองได้

และความเพียรก็ไม่ใช่การดันทุรังเช่นกันครับ

(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผิดพลาด) อย่ามัวแต่หมกมุ่น โทษตัวเองจนเกินงาม

ไม่มีใครหรอกครับที่ตั้งใจให้งานผิดพลาด (ยกเว้นพวกบ่อนทำลาย เจตนาทำลายเพื่อนร่วมงาน ทำลายองค์กร) แต่คนเราทำผิดกันได้ คำว่า "ยางหัวไม่ตก ไม่เคยสำนึก" ใช้กับคางคกครับ ไม่ได้ใช้กับคนทำงาน และไม่ได้ใช้กับเพื่อนร่วมงานของเรา [ความจริงแบบไหน ที่เป็นจริง]

การสำนึกผิด จะมีความหมายหรือไม่นั้น อยู่ที่ผู้ที่พลาดพลั้งไปสามารถเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดนั้น และไม่ทำผิดซ้ำสอง; หากอาการสำนึกผิดคือการตีอกชกหัว โทษตัวเอง ตีโพยตีพาย กล่าวโทษต่างๆนาๆ กล่าวคำขอโทษหมื่นครั้ง แต่กลับไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย -- มีเหตการณ์อย่างนี้อีก ก็ทำผิดแบบเดิมอีก -- อาการแบบนี้น่ารำคาญครับ เป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ สำนึกหรือไม่สำนึกมีค่าเท่ากันเลย

คนแบบที่เรียนรู้ไม่ได้ คงไม่เหมาะกับองค์กรที่ต้องก้าวหน้าต่อไปนะครับ

สามัคคี

คำว่า สามัคคี ใช้ได้ทั้งที่เป็นคำคำนาม และคำวิเศษณ์ หมายถึงความพร้อมเพรียงกัน ความปรองดองกัน หรือ ที่พร้อมเพรียงกัน ที่ร่วมมือร่วมใจกันทำ

ความสามัคคี ไม่ได้แปลว่าทุกคนทำเหมือนกันหมดนะครับ อันนั้นเรียกว่าความไม่เป็นตัวของตัวเอง

กลุ่มคนจะสามัคคีได้ ก็ต้องมีเป้าหมายร่วมกันเสียก่อน เช่นอยู่กันในห้องยี่สิบคน ถ้าเป้าหมายร่วมกันคือประตูซึ่งมีอยู่บานเดียว และทุกคนจะต้องออกไปเพื่อกินข้าว

...คำว่า"ทานข้าว" ฟังดูสุภาพและเข้าใจกันโดยทั่วไป แต่ไม่มีในภาษาไทยนะครับ ย่อมาจากรับประทานข้าว คำว่าทานที่เป็นกริยา มีอยู่สองความหมาย คือ (ต้าน)ทาน กับ (สอบ)ทาน เท่านั้น...

การที่คนทั้งยี่สิบคนกำหนดทิศทาง (เวคเตอร์) ที่จะเดินตรงไปที่ประตูนั้น เราก็จะมียี่สิบทิศทาง แต่เมื่อปฏิบัติแล้ว ทุกคนเดินผ่านประตูไปกินข้าวได้เหมือนกัน แม้จะผ่านออกไปไม่พร้อมกัน

หมายเลขบันทึก: 175501เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2008 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

เป็นข้อสรุปสั้นๆ  แต่มีความหมายมากเลยครับ

ได้แนวคิดที่ให้คติและน่าสนใจ มากค่ะ ขออนุญาตนำไปสอดแทรกในการสอนให้กับลูกศิษย์และใช้เป็นข้อคิดสำหรับตนเองบ้างค่ะ

หวัดดี ค่ะ

เขียนได้ใจดีค่ะ จะมาหาเรื่อยๆ นะคะ

กระชับ ตรงเป้า ได้ใจมากเลยครับ...

ขอขอบคุณอย่างสูงเลยค่ะ บันทึกนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อตัวเอง เพราะว่ามีปัญหาเรื่องการจัดการเวลาในชีวิตบ่อย ๆ อ่านบันทึกนี้แล้วนำไปปรับปรุงตัว ชีวิตคงจะดีขึ้น เยี่ยมจริง ๆ ค่ะ

ขอบคุณทุกท่านนะครับ คืนนี้มีเรื่องแปลกใจหลายอย่าง

ผมไม่คิดว่าเนื้อหาเข้มข้นน้อยลงจากที่เคยเขียนในบล็อกคนเป็นนายนี้ แต่สไตล์การเขียนเข้าใกล้ลักษณะหนังสือ how-to ซึ่งชอบแสดงรายการมาเป็นข้อๆ มากกว่าเก่า

เรียนตรงๆคือผมไม่ค่อยชอบสไตล์นี้แม้ว่ามักจะอ่านง่าย แต่บล็อกคนเป็นนายนั้นเขียนให้คิด ไม่ได้ต้องการให้เชื่อนะครับ การแสดงแง่คิดน่าจะไปทางลึก (อ่านยาก) มากกว่ากว้าง เผอิญบันทึกนี้ มีทั้งกว้างและ(สรุป)ลึก

นี่อาจจะเป็นเพราะเมื่อเย็นนี้ผมไปวิ่งมาครับ เกี่ยวกันหรือเปล่าเนี่ย

^^ ชอบอ่านงานในบล็อกนี้ค่ะ

เพราะว่าได้อ่านหลายรอบกว่าจะเข้าใจและเกิดปิ๊งความคิดบางอย่าง ที่บางทีไม่เกี่ยวกับบันทึกแต่ปุ๊บปับไปเชื่อมโยงได้ไงก็ไม่ทราบ...

เช้านี้ก็เช่นกันค่ะ อ่านแล้วสองรอบ

และตอนนี้ก็คิดว่าได้ความคิดสำหรับการตัดสินใจบางอย่างของตัวเอง

ขอบคุณนะคะ

 

  • มายืนยันว่า..อ่านแล้วต้องคิด และ ได้คิด ค่ะ
  • แต่บางประเด็น  ก็เชื่อ..เช่น เชือว่า ต้องให้ก่อนรับ, เราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดได้..
  • ได้ประโยชน์จากประสบการณ์ที่แบ่งปัน ไม่ว่าจะด้วยคิด หรือเชื่อ  เพราะจะช่วยให้ไป ลงมือทำ ไปสังเกตเรียนรู้จากการลงมือทำนั้นต่อ
  • ปกติไม่ค่อยอ่านแบบลงชื่อ  แต่วันนี้อยากให้ทราบว่า..ขอบคุณในทุกสิ่งที่แบ่งปันค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • เข้ามาอ่านค่ะ อ่านแล้วรู้สึกว่านี่เป็น Blog ดีมีสาระ
  • จะได้พยายามเขียนให้มีสาระบ้าง
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณ Conductor

  • ชื่นชมเจ้าของบันทึกที่มีความสามารถ(หรือกลยุทธ์..น้อ) ที่สามารถเขียนให้ผู้อ่าน....ต้องอ่านหลายๆรอบเพื่อสร้างความเข้าใจ ด้วยวิธี...คิดเอง...
  • ...นี่ 3-4 รอบแล้วมั้ง...แต่ละรอบก็ได้แนวคิดแต่ละอย่าง  เพิ่มมากขึ้น....
  • สงสัยถ้าอ่านมากรอบ...คงgetได้อีกเยอะ....
  • ขอบคุณสำหรับข้อคิด  ที่ช่วยให้คนชอบคิด(ไปเรื่อยเปื่อยอย่างดิฉัน)..ชะลอความคิด(อยากทำ)หลายๆอย่างลง   กลับมาคิดและทำทีละอย่าง..ให้สำเร็จซะที
  • ขอบคุณค่ะ

สงสัยเรื่องการป้องกัน ถ้าเราสร้างกฏเกณฑ์ขึ้นในองค์กรเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาจากประสบการณ์ที่เราเคยพบ สารพัดกฎ แต่ปัญหาก็ยังเกิดเพราะ factor ภายนอกที่คาดเดาไม่ได้ เช่น human error, การมองข้ามกฎที่ตั้งไว้เพราะคิดว่ากฎมีไว้แหก หรือความขี้เกียจต้องการลัดขั้นตอนซึ่งคิดว่าให้ผลลัพธ์เท่ากัน ซึ่งบางครั้งก็สร้างปัญหาใหญ่เพราะออกมาดูสวยงามแต่มีปัญหาที่กลบไว้ข้างใต้ กว่าจะไปเจอก็สุกจนใกล้จะระเบิด แบบนี้ต้องทำอย่างไร ก็คงไม่พ้นการต้องแก้ปัญหา ทั้งๆ ที่วางมาตรการป้องกันเผื่อไว้ก่อนแล้ว คือเคยคิดว่าถ้าทุกคนยอมทำตามหมดโดยคิดถึงสาเหตุว่าทำไมเราถึงต้องตั้งกฎขึ้น หรือคิดเยอะๆ ก่อนทำ ปัญหาย่อมเกิดน้อยลง

อย่างอื่น no comments เพราะทำอยู่บ้าง แต่อีกอันที่สะดุดใจก็คือการยอมรับผิดหรือการสำนึกผิด ตัวนี้นี่ก้ำกึ่งและเจอบ่อยในการทำงาน คือถ้าไม่จับได้คาที่มักจะเกิดอาการไม่ยอมรับ ทั้งๆ ที่ไม่มีมาตรการลงโทษแต่อย่างใด คือถ้าผิดพลาดแล้วเดินมาบอก ณ เวลานั้น ก็สามารถทำให้เราแก้ปัญหาได้ทัน แต่มักจะเก็บดองไว้พยายามแก้เองจนในที่สุดมันไปไม่รอดก็สายแล้ว เพราะบางครั้งมันเกินจุดที่เราจะสามารถช่วยได้เหมือนกัน กว่าเราจะเรียกมาคุยให้เห็นว่าปัญหามันเกิดเพราะอะไรก็เสียเวลาทั้งสองฝ่าย และทำอะไรไม่ได้แล้ว ส่วนใหญ่เด็กมักจะคิดว่าทางออกสุดท้ายในการรับผิดคือลาออก ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่เป็นการหนี และเราก็ไม่ได้คาดหวังแบบนั้น นี่ก็เป็นอีกปัญหาที่ปวดหัวในการบริหารองค์กรที่เจอมาค่ะ (สงสัยเพราะวันนี้ตัวร้อนเลยลุกขึ้นมาเขียนซีเรียสบ้าง)

ขอบคุณทุกท่านอีกรอบหนึ่งครับ ทั้งแฟนประจำ ขาจร ทั้งที่แสดงตัว และไม่แสดงตัว จากใน GotoKnow และนอก GotoKnow (มีประมาณครึ่งหนึ่งของผู้อ่านทั้งหมด)

มีคำแนะนำให้พิจารณาดังนี้ครับ

  • เขียนบันทึกแบบที่เป็นตัวเองที่สุด ถ้ามีคนชอบเขามาเอง เมื่อเขาไม่ชอบก็ไปเอง มาแล้วก็ไปได้ -- คนเลือกบล็อก บล็อกเลือกคน
  • เรื่องที่เราคิดว่าดี ไม่แน่ว่าจะมีคนเข้าใจ ทุกคนสามารถเลือกมีส่วนร่วมกับบล็อกแบบที่เหมาะกับจริต พื้นฐาน และความสนใจของตน
  • เราไม่สามารถสร้างกฏเกณฑ์ขึ้นเพื่อป้องกันได้หรอกครับ การป้องกันแบบ proactive คือการกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องไม่ดีเกิดขึ้น ไม่ใช่การห้ามไม่ ให้กระทำ -- ดูกฏหมายไทยซิครับ ห้ามไปหมดทุกอย่าง จะทำอะไรต้องขออนุญาตหมด (อีกหน่อยคงออกใบอนุญาตหายใจเข้า กับใบอนุญาตหายใจออกด้วยละมัง) แล้วห้ามได้ไหม
  • การลาออกเพื่อหนีปัญหา แสดงว่า AQ ต่ำครับ [เมื่อไหร่จึงควรจะลาออก?]
  • วันนี้ไปวิ่งมาอีกแล้ว แต่ทำไมตอบก๊วน กวน

P

Conductor

 

พออ่านถึง การป้องกันดีกว่าการแก้ไข ก็นึกถึงคำสอนของเล่าจื้อในเต๋าเต๊กเก๋งทำนองว่า

  • นักปราชญ์เต๋า เขาทำแต่เรื่องเล็กๆ เขาไม่เคยทำเรื่องใหญ่ๆ เพราะทำแต่เรื่องเล็กๆ เขาจึงยิ่งใหญ่

จำได้ว่าตอนเรียนปรัชญาใหม่ๆ เคยนำมาโม้ให้รุ่นน้องซึ่งเป็นพระใหม่ฟัง... 

เขาบอกว่าต่างจากวงราชการของไทย มักจะปล่อยให้เรื่องใหญ่แล้วค่อยแก้ปัญหาครั้งเดียวเลย ถ้าป้องกันและแก้ไขเรื่องเล็กๆ ก็จะไม่มีผลงานหรือความสามารถก็จะไม่ปรากฎ... ประมาณนั้น

ก็เล่าไว้เล่น...

เจริญพร

ขอยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ชอบหนังสือแนว How to.. แต่ได้ข้อคิดจากบันทึกนี้จริง ๆ ขอสนับสนุนให้คุณ conductor เขียนตามแนวที่คุณชอบในบล็อคคนเป็นนายนี้ต่อไป คนเป็นลูกจ้างแบบ Freelance อย่างดิฉันจะตามอ่านต่อไปค่ะ

สาธุ ! ครับ ... มารับสาร ไม่ว่า คุณ Conductor จะเลือกถ่ายทอดอย่างไร ผมก็แวะมาอ่านอยู่แล้วครับ ... ขอบคุณครับ :)

  • ช่วยขยายความตรงนี่หน่อยค่ะ  "..สามารถเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดนั้น และไม่ทำผิดซ้ำสอง.."   การเรียนรู้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแต่ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดการทำผิดซ้ำสอง  หรืออาจทำผิดในรูปแบบใหม่อีกได้   
  • การเรียนรู้ในองค์กร  ที่สำคัญน่าจะขึ้นอยู่กับตัวแบบ (Modelling) ที่บุคคลอาจซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว
  • ขอบคุณค่ะ

คุณผืนน้ำ: เป็นเรื่องของทัศนคติครับ ถ้าสมัยหนึ่งมีคำขวัญว่า เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย ตอนนี้พ้นไหมครับ โลกมีศาสดาที่ยิ่งใหญ่หลายท่าน ถ้าสาวกปฏิบัติตามแบบอย่างโดยเคร่งครัดได้ ทำไมโลกจึงไม่มีความสุขครับ (เพราะคนไม่เหมือนกัน และเราก็ไม่ใช่ copycat)

สวัสดีค่ะ

สำหรับเรื่องการ การสำนึกผิด เวลาพนักงานทำผิด บางที ก็ไม่ง่ายเหมือนกันที่เขาจะยอมรับ เพราะเขาไม่รู้ว่า เขาผิดอะไร ในเมื่อก็ทำงานเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานด้านช่าง หรืองานการผลิตที่มีอุปกรณ์มาก บางทีรับผิดง่ายๆ ก็เสี่ยงสำหรับเขาด้วย

เช่น มีอยู่ครั้งหนึ่ง หัวหน้างานประชุมลูกน้องมือใหม่ 3 คน ให้เรียนรู้วิธีการควบคุม Retort หรือหม้อไอน้ำ ความดันสูง แล้วตัวเองไปกินข้าว ปรากฏว่า หม้อน้ำระเบิด ทำให้ไอน้ำร้อนลวกพนักงานทั้ง 3 คน มีอยู่ 1 คน สาหัส แต่ไม่เสียชีวิต ต้องลางานไป 2 เดือน อยู่ร.พ.

เมื่อสอบสวนแล้ว เป็นความผิดร่วมกัน แต่คนที่ผิดมากที่สุด คือหัวหน้า ที่ผิดตรง การด้อยประสิทธิภาพ ในการสื่อสาร คือสอนลูกน้อง ไม่เข้าใจดีพอ และไม่ย้ำว่า ถ้าไม่ทำตามขั้นตอนแล้วอะไร จะเกิดขึ้น พูดด้วยปากเฉยๆ ซึ่งเป็นเรื่อง ที่เป็นไปไม่ได้

แต่หัวหน้า ก็ไม่ยอมรับ เพราะเขาบอกเขาสอนดีแล้ว เด็ก ดื้อเอง

ในที่สุด เรื่องนี้ ต้องมีการจัดอบรมกันเป็นการใหญ่ เรื่องการควบคุมหม้อไอน้ำ เพราะเริ่มไม่แน่ใจแล้ว ว่าอุบัติเหตุแบบนี้ จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร  เพราะเรื่องนี้ ต้องใช้รายละเอียดมาก ในการทำความเข้าใจ

ซึ่งต่อมา พี่ได้มีการนำระบบ การวัดค่าและความรับผิดชอบเข้ามาใช้ โดยใช้ตารางง่ายๆค่ะ เช่น การวัดค่าเชิงคุณภาพ ปริมาณ เวลา ต้นทุน ด้านการเกิดอุบัติเหตุ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องค่ะ

Point ก็คือ บางครั้ง คนเราทำผิดก็จริง แต่ถ้าเป็นงานที่ค่อนข้างซับซ้อน และมีคนเกี่ยวข้องหลายคน ก็ไม่ง่ายที่จะให้ใครรับผิดได้ง่ายๆ เพราะมันจะเป็นเรื่องยาว เช่นกรณีที่เล่า ถ้าเกิดมีคนตาย หัวหน้างาน คือจำเลยที่หนึ่งแน่นอนค่ะ ตามกฏหมาย

แต่โชคดี เมื่อมีมาตรการควบคุมเข้มงวดขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องแบบนี้ ก็ดีขึ้น แต่ไม่รับประกันว่า จะไม่เกิดขึ้นอีกค่ะ

พี่ศศินันท์: ผมเห็นว่าคนเป็นหัวหน้างาน จะปล่อยให้ทุกคนทำตามใจหมดคงไม่ได้หรอกครับ ระบบการวัดค่าและความรับผิดชอบที่พี่นำมาใช้ น่าจะดีกว่าระบบเถ้าแก่ ที่สั่งการจากศูนย์อำนาจ ไล่ไปเรื่อยๆ เป็นทอดๆ คนอยู่ล่างสุด ซวยทุกทีนะครับ

ระบบเถ้าแก่น่าจะดีสำหรับองค์กรขนาดเล็ก แต่เชื่อว่าจะเละเทะเมื่อนำไปใช้ในองค์กรขนาดใหญ่ (อย่างระบบราชการ)

ตรวจทาน วิธีเรียน

ความผิดพลาด ความล้มเหลว และความเพียร

ยามเราเป็นเด็กเล็ก เราทดลองและเรียนรู้ หยิบของเข้าปากมั่วไปหมด เอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ (ผมเคยนะ) พอโตขึ้นมา เราเรียนจาก "ผู้รู้" ยัดเยียดให้รู้ แต่เราไม่ได้เรียนรู้หรอก เรารับรู้เฉยๆ ยิ่งความรู้มากขึ้น เราก็ยิ่งห่างออกไปจากกระบวนการเรียนรู้ เปลี่ยนเป็นรับรู้เฉยๆมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นถามว่ารู้วิธีสร้างจรวดไหม ก็ตอบว่ารู้ ตำราก็มี สารเคมีหาได้ ถามว่าเคยสร้างไหม ไม่เคยแน่นอน (จะบ้าเหรอ) สร้างแล้วได้อะไรขึ้นมา

สิ่งที่เรารู้ เป็นความรู้แห้งๆ เป็นความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตเสียมาก ความรู้แบบนี้ จะมีหรือไม่มีแทบไม่ต่างกันเลย (ยกเว้นเอาไปถ่ายทอดแบบแห้งๆให้กับคนอื่น โดยหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อเขาจริง)

  • จากประเด็นที่ว่า สามารถเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดนั้น และไม่ทำผิดซ้ำสอง  เคยเห็นผู้นำท่านหนี่งก็ยึดถือคตินี้เป็นคติประจำใจเหมือนกันครับ 
  • อ่านมาจากหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับท่าน เขียนตั้งแต่ท่านยังไม่ได้เป็นนายก 
  • ถ้าพิจารณาในยุคที่เรียนจบ ดร.มาจากเมืองนอกใหม่ท่านก็มาสร้างเนื้อสร้างตัว ทำร้านขายผ้าไหม ฉายหนังเร่ ทำคอนโด ทำอสังหาริมทรัพย์ แต่จะสังเกตุเห็นว่า ทำจากเล็กไปใหญ่ และเกือบทุกโครงการล้มและเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จาก 5 ล้าน เป็น 20, 50, 200 แต่ทุกอย่างที่ล้มแต่ท่านก็ได้เรียนรู้จากความล้มเหลวและแต่ละอย่างที่ล้มจะให้ล้มเพียงครั้งเดียว จะไม่ล้มในเรื่องเดิมเป็นครั้งที่ 2 นั่นหมายความว่าได้เรียนรู้ที่จะจัดการได้แล้ว จึงต้องไปทำโครงการที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเอาความรุ้มาจากโครงการที่ล้มนั่นเอง
  • ประมาณนั้นครับ อิ อิ    

เพิ่งเขียนบทความนี้ไปเหมือนกันค่ะ

เป็นกฏที่น่าสนใจมากนะคะ ^_^

เขียนได้ดีมากครับอาจารย์ ขอบพระคุณครับ แค่ได้อ่านสิ่งที่มีคุณค่าอย่างนี้ ก็มีความสุขแล้วครับ

สวัสดีค่ะคุณConductor

  • แวะมาเก็บเกี่ยวความรู้ และค้นหาแรงบันดาลใจ
  • เพราะกำลังตกเป็นเหยื่อของกฎพาร์กินสัน
  • กำลังหาทางแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ..อิ อิ
  • ขอบคุณค่ะสำหรับบทความดี ดี ที่มีคุณค่าอย่างนี้
  • จะแวะมาเยี่ยมบ่อย ๆ ค่ะ

ให้ก่อนรับ ไม่มีทางอื่นอีกแล้ว

---------------------------

ชอบประโยคนี้ ค่ะ

ขอบคุณค่ะ วิ่งทุกวันนะคะ จะได้ข้อเขียนดี ๆ อ่านทุกวัน...

  • ประทับใจ และกระตุกความคิดอยู่หลายตอนครับ
  • เชื่อว่าตัวเองจะโง่น้อยลง
  • ขอบคุณมากครับ

อ่านได้ใจจริงๆครับจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน  และเผยแพร่แก่ผู้ร่วมงานซึ่งจะมีประโยชน์มากครับ  ขอบคุณจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท