Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๔๐)


บทสังเคราะห์
ห้องเรียน KM กระบวนการจัดการความรู้ในห้องเรียน
ห้อง แกรนด์ A โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ


เกริ่นนำ
         ห้องเรียน KM เป็นเวทีกิจกรรมจัดการความรู้จากการปฏิบัติ ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรมคือ 1) ห้องเรียน KM กระบวนการจัดการความรู้ในห้องเรียน และ 2) Wikipedia: ขุมความรู้บนอินเทอร์เน็ต

ห้องเรียน KM กระบวนการจัดการความรู้ในห้องเรียน
          ประกอบด้วย 2 session ใหญ่ใน 2 วัน (กำหนดการในภาคผนวก)
          วันแรก ( 1 ธันวาคม 2548) เป็นการจำลอง (Role Play) ตลาดนัดความรู้เรื่อง “กลยุทธ์และกระบวนการสร้างการเรียนรู้: บทบาทใหม่ของครูจัดการความรู้มืออาชีพ” ซึ่งมีคุณกิจ (ครู/อาจารย์) จากโรงเรียนต่างๆ ที่มีกลยุทธ์และเทคนิคที่น่าสนใจในการจัดการความรู้เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียนของตนเอง ในลักษณะ “เรื่องเล่าประสบการณ์ความสำเร็จ” พร้อมทั้งมีการบันทึกเรื่องเล่า สกัดขุมความรู้เพื่อทำเป็นคลังความรู้เรื่องกลยุทธ์และกระบวนการสร้างการเรียนรู้
         วันที่สอง (2 ธันวาคม 2548)  เป็นการเสวนาเรื่อง “บทบาทของ CKO ต่อการจัดการความรู้ในโรงเรียน” เน้นถึงประสบการณ์และบทบาทของ CKO หรือผู้บริหารโรงเรียน 4 แห่ง ใน  4 บริบท


Wikipedia: ขุมความรู้บนอินเทอร์เน็ต
          วิกิพีเดีย (Wikipedia) คือ สารานุกรมเสรีบนอินเทอร์เน็ต ที่ทุกคนสามารถอ่านและปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ ซึ่งทำให้วิกิพีเดียกลายเป็นสารานุกรมที่ได้รับการแก้ไขรวบรวมและดูแลรักษาจากผู้ใช้จำนวนหลายหมื่นคนทั่วโลก ปัจจุบันวิกิพีเดียกลายเป็นสารานุกรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
         งานมหกรรมการจัดการความรู้ในครั้งนี้ (2 ธันวาคม 2548)  มีวิทยากรมาแนะนำให้เข้าใจถึงกลไกที่ใช้ในการดูแลคุณภาพและความน่าเชื่อถือของบทความ แนวคิดของการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมแบ่งปันความรู้ในสาขาที่ตนสนใจหรือเชี่ยวชาญ รวมถึงการประยุกต์ใช้ซอฟแวร์เพื่อการจัดการความรู้ในองค์กร  
 
          การสังเคราะห์ขุมความรู้ห้องเรียน KM   คณะผู้ดำเนินงาน ได้สรุปบทสังเคราะห์จากเรื่องเล่าของคุณกิจ (กลยุทธ์และกระบวนการสร้างการเรียนรู้: บทบาทใหม่ของครูจัดการความรู้มืออาชีพ) และ CKO (บทบาทของ CKO ต่อการจัดการความรู้ในโรงเรียน) ยกเว้น Wikipedia: ขุมความรู้บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และมีความสมบูรณ์ในรายละเอียด

          จากการถอดคำบรรยายแล้ว โดยนำเสนอบทสังเคราะห์ไว้ในส่วนต้น จากนั้น เป็นการนำเสนอรายละเอียดกิจกรรมในเวทีในลักษณะการถอดคำจากเทปบันทึกเสียงชนิดคำต่อคำ และทำการบรรณาธิกร (edit) ให้คงสาระตามต้นฉบับการถอดเทปมากที่สุด เรียงลำดับเนื้อหาตามกำหนดการ 


บทสังเคราะห์ขุมความรู้
ห้องเรียน KM กระบวนการจัดการความรู้ในห้องเรียน
      

การออกแบบกิจกรรมของห้องเรียน KM  เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “พลังสาม” ของ สคส. ได้แก่ พลังการสร้างผลงานของผู้ปฏิบัติจัดการความรู้  พลังการสร้างคน หรือผู้มีบทบาทด้านการจัดการความรู้ ได้แก่ คุณเอื้อ คุณอำนวย และคุณกิจ ฯลฯ และพลังการสร้างศาสตร์ (synergy) อันเป็นผลพวงจากการปฏิบัติการจัดการความรู้ของผู้เกี่ยวข้อง
         จากโมเดลปลาทู กิจกรรมห้องเรียน KM ในครั้งนี้ ส่วนหัวปลา ได้แก่ การกำหนดประเด็นเรื่องกิจกรรม ซึ่งได้แก่ “กลยุทธ์สร้างการเรียนรู้: บทบาทใหม่ของครูผู้จัดการมืออาชีพ” และการเสวนา “บทบาทของ CKO ต่อการจัดการความรู้ในโรงเรียน”
         ส่วนตัวปลา ได้แก่ กระบวนการและผลงานที่เกิดขึ้นจากการจำลองบทบาท (Role play) จากตลาดนัดความรู้ กลยุทธ์สร้างการเรียนรู้: บทบาทใหม่ของครูผู้จัดการมืออาชีพ และจากเวทีเสวนาบทบาทของ CKO ต่อการจัดการความรู้ในโรงเรียน

         ส่วนหางปลา คือ การสกัดขุมความรู้ (knowledge assets) จากตลาดนัดความรู้และเวทีเสวนา
         จุดมุ่งหมายของกิจกรรมห้องเรียน KM   คือ ต้องการแลกเปลี่ยน เรียนรู้  กระบวนการจัดการความรู้ (การทำ KM) โดยมีกรณีศึกษาของการจัดกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน
กระบวนการในเวที   มีลักษณะเป็นการเล่าเรื่อง (storytelling) รวมถึงการสกัดขุมความรู้ และ AAR  เพื่อส่งเสริมการสร้างพลัง (synergy)

กลยุทธ์สร้างการเรียนรู้: บทบาทใหม่ของครูผู้จัดการมืออาชีพ

กระบวนการ ทำ  KM  ของคุณกิจ  มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้

         ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการ KM เนื่องจากตัวอย่างการจัดการความรู้ในเวทีนี้ได้แก่โรงเรียน ดังนั้น กลุ่ม เป้าหมายหลักที่เข้าร่วมกระบวนการทำ KM จึงได้แก่ ครู และนักเรียน  นอกจากนี้ยังพบว่าบางโรงเรียนสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายไปถึงผู้ปกครองและชุมชน เช่น
         - ครู นักเรียน - โรงเรียนเพลินพัฒนา  โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์  โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา และโรงเรียนวัดศรัทธาธรรม
         -ครู นักเรียน  ผู้ปกครอง  -  โรงเรียนสัตยาสัย 
         -ครู นักเรียน  ผู้ปกครอง ชุมชน  -  โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง

ขั้นตอน การทำ KM
         ทุกโรงเรียนมีกระบวนการจัดการความรู้ที่ไม่แตกต่างกันโดยหลักการ ได้แก่ เริ่มจากแรงบันดาลใจจากครู (คุณกิจ)  จากนั้นจึงออกแบบกระบวนการ โดยกระตุ้นกลุ่มเป้าหมาย  สร้างบรรยากาศ  จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เน้นการวิเคราะห์  การจดบันทึก และการตกผลึกความรู้ แต่มีรายละเอียดแตกต่างกันในรายละเอียด ดังนี้

จุดมุ่งหมาย/แรงบันดาลใจ ในการทำ KM  ของคุณกิจ  เกิดจากปัจจัย 3 ประการ คือ
         พรบ.ปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2542  ตัวอย่างได้แก่  โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม  โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย
         ปฏิบัติตามปรัชญาของโรงเรียน  ได้แก่  โรงเรียนเพลินพัฒนา  โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
         ความตระหนักและจิตสำนึกอันเป็นเป้าหมายและปรัชญาส่วนตัวของครูผู้สอนเองที่ต้องการเห็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก ได้แก่ โรงเรียนสัตยาสัย, โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง, โรงเรียนบ้านกระทุ่ม,  โรงเรียนแม่จันวิทยาคม และโรงเรียนกุดสะเทียนวิทยาคาร


การออกแบบการทำ KM  มี entry point ที่แตกต่างกัน ได้แก่
         การทดลองปฏิบัติจริง เป็นแก่นของทุกโรงเรียน ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ โรงเรียนเพลินพัฒนา (ลองลิ้มชิมรส...ส้ม) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (โครงงานวิทยาศาสตร์) โรงเรียนบ้านกระทุ่ม (ความรู้จาก...ขี้ควาย) โรงเรียนแม่จันวิทยาคม (พ่อคือครู…สู่...นักเรียนนักวิทย์)
         เรื่องใกล้ตัวภายใต้บริบทแวดล้อมที่เป็นจุดเด่น เช่น จิระศาสตร์วิทยา (ฐานเรียนรู้...มรดกโลก)โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง (หลากหลายกิจกรรม....อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม)      
          หลักพุทธศาสนา ได้แก่ โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม (วิถีพุทธแก้ปัญหา...นำพาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม)
         การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย (วิจัยการจัดการบูรณาการ)
         การแบ่งปัน ได้แก่ โรงเรียน กุดสะเทียนวิทยาคาร (การแบ่งปัน…ด้วย...ธารปัญญา)
สร้างบรรยากาศ  การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ของคุณกิจ มี 2 ลักษณะ คือเรียนรู้ในโรงเรียน และการศึกษานอกสถานที่เป็นการเรียนรู้จากสถานที่จริงตามประเด็นและโอกาสที่เอื้ออำนวย
         กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ส่วนใหญ่ใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มในรูปของการประชุม การระดมความคิด (brainstorming) การนำเสนอผลงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากการปฏิบัติจริง (ลองผิดลองถูก, ใช้ tacit knowledge) ภายใต้กระบวนการนี้ กลุ่มเป้าหมาย (นักเรียน) ได้ฝึกทักษะการวิเคราะห์  การบันทึก จนตกผลึกเป็นความรู้

การให้ความสำคัญกับ  เทคนิค  การจัดการกับประเด็น ต่าง ๆ ดังนี้
         กระบวนการสำรวจและมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอก  พบที่โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง โรงเรียนเพลินพัฒนา  โรงเรียนสัตยาสัย  โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม และโรงเรียนแม่จันวิทยาคม 
         กระบวนการสื่อสารกับคนในองค์กร ในการแลกเปลี่ยน  Tacit  knowledge,  Technical skill  พบที่ โรงเรียนจิระศาสตร์
         กระบวนการในการสังเคราะห์ความรู้ จาก Tacit  knowledge  สู่  Explicit  knowledge พบที่โรงเรียนเพลินพัฒนา  โรงเรียนกุดสะเทียนวิทยาคาร โรงเรียนบ้านกระทุ่ม โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา
         ปฏิสัมพันธ์ภายในทีมที่เน้นการทำงานเป็นทีมและโครงสร้างอื่นที่ช่วยเกื้อ  พบที่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา   โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม
         การเผยแพร่ความรู้ และลักษณะการเผยแพร่ทั้งแนวระนาบและแนวดิ่ง  พบที่โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง โรงเรียนเพลินพัฒนา  โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา   โรงเรียนกุดสะเทียนวิทยาคาร  และโรงเรียนแม่จันวิทยาคม 

ผลกระทบของ KM
         ในแง่ของทีม /องค์กรที่ทำ KM  ได้ทำให้การทำ KM   ยกระดับจากการจัดการระดับปัจเจกสู่การจัดการในระดับสถาบัน  ได้แก่ โรงเรียนเพลินพัฒนา  โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง 
         มีการผลิตซ้ำ  โดยนำตัวแบบจากขององค์กรต้นแบบการจัดการความรู้ เช่น โรงเรียนกุดสะเทียนวิทยาคารที่ได้นำ เครื่องมือชื่อ ธารปัญญา และวิธีการของ สคส.มาประยุกต์ใช้
         คุณกิจจากทุกโรงเรียนแสดงให้เห็นถึงความริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำ KM
         ศักยภาพผู้เข้าร่วมกระบวนการ KM  ทุกโรงเรียน  ครูหรือคุณเอื้อจะมีศักยภาพ กระตุ้นและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก  ส่วนเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมกระบวนการนั้นส่วนใหญ่จะแสดงศักยภาพ มีพัฒนาการต่างไปจากเดิมในทางที่ดีขึ้นหลังจากที่ครูหรือคุณเอื้อจัดการกระตุ้นและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้  แม้จะมีความแตกต่างในรายละเอียดของกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นแจงจูงใจ การออกแบบ การจัดกระบวนการ ฯลฯ  แต่คุณกิจของโรงเรียนทุกแห่งล้วนมีเป้าหมายที่ชัดเจน และใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
 ความสำเร็จของการจัดการความรู้ของคุณกิจทั้ง 10  โรงเรียน เกิดจากปัจจัยภายในตัวเอง(คุณสมบัติ) ของคุณกิจเองซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันนำมาซึ่งความสำเร็จในการทำงาน คุณสมบัติดังกล่าว ได้แก่
 -  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าลองผิดลองถูก แสวงหาโอกาส
-  ไม่ท้อถอยง่ายๆ ต่อปัญหาและอุปสรรค
 -  มีความใฝ่รู้อยู่ แสวงหาความรู้ ทดลองใช้เครื่องมือใหม่ๆ เรียนรู้จากการปฏิบัติ ทดลอง แก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ
 - มุ่งกระบวนการที่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ รวมถึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง
 นอกจากปัจจัยที่ตัวคุณกิจเองแล้ว แรงสนับสนุนจากภายนอกนับว่ามีความ ซึ่งได้แก่
            -  การสนับสนุนจากผู้บริหาร และ
            -  การมีเครือข่าย (ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่เห็นภาพชัดเจน) เช่น คุณกิจจากโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง และโรงเรียนเพลินพัฒนา

บทบาทของ CKO ต่อการจัดการความรู้ในโรงเรียน
         วัฒนธรรมของสถานศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการความรู้ หากผู้บริหารให้ความสำคัญต่อคุณภาพ ให้ความสำคัญต่อตัวกิจกรรมการเรียนรู้ และเป็นผู้บริหารพันธุ์ใหม่ มีความคิด ความกระตือรือร้น ชอบที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างสิ่งใหม่ผ่านการวิเคราะห์ กิจกรรมการจัดการความรู้ จะส่งผลต่อองค์กรเป็นอย่างมาก
บทบาทของ CKO จากกรณีศึกษา 4 โรงเรียนจากเรื่องเล่าประสบการณ์ความสำเร็จในการสนับสนุนการจัดการความรู้ในองค์กร  พบว่า มีบทบาทต่อการจัดการความรู้ในโรงเรียน หลายประการด้วยกัน คือ
-  บทบาทนำในฐานะผู้สร้างนวัตกรรมใหม่  เห็นได้ว่า CKO ทุกคน มีภาวะผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง นำวิธีการ กระบวนการใหม่ๆ มาปรับใช้ รวมถึงการสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของคุณกิจ ต่อตัวกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนการให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติ  เป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการบรรลุผลของการทำ KM
 -  ศึกษาวิจัย/อบรมให้ความรู้   CKO ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัย  การทดลองเรียนรู้ และพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนให้บุคลากรมีโอกาสเรียนรู้ข้ามสายงาน สร้างความสัมพันธ์แนวระนาบผสมผสานแนวดิ่งอย่างชาญฉลาดเป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ นับเป็นการสร้างคนที่มีคุณภาพ คนที่    “คิดเป็น” และ “ทำเป็น”
 - CKO มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและปรับปรุงคุณภาพการทำงาน อย่างต่อเนื่อง  บทบาทของ CKO ต่อการจัดการความรู้ จากกรณีตัวอย่างทั้ง 4 แห่ง ความสำเร็จจากการทำ KMนำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งคุณภาพ กล่าวคือ  เป็นองค์กรที่มีระบบการทำงานที่ชัดเจน   บุคลากรทำงานเป็นทีม ทำงานทดแทนกันได้ แม้ผู้รับผิดชอบโดยตรงจะไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่  มีการปรับปรุงคุณภาพงานอย่างต่อเนื่อง  มีกระบวนการอย่างบูรณาการ สนับสนุนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้
           
บทสรุป
         ปัจจุบันกระแสการจัดการความรู้ในภาคราชการเป็นกระแสที่แรงมาก เนื่องจากถูกกำหนดให้ต้องปฏิรูปการทำงานแนวใหม่ที่จำเป็นต้องทำเรื่องการจัดการความรู้โดยนำเข้าไปสู่เนื้องาน ในวงการศึกษาก็เช่นกัน พรบ.ปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2542 เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติงานต้องยึดเป็นแนวทาง หลายองค์กร หลายหน่วยงานจากทุกภาคส่วนตื่นตัวแสวงหาความรู้ในเรื่องดังกล่าว  ความสำคัญอยู่ที่ว่าหากมีความรู้ในเรื่องการจัดการความรู้แล้ว  มีการนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติต่อหรือไม่ หากรู้แล้วแต่ไม่ทำก็ไม่เกิดประโยชน์
         การจัดการความรู้ไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา แต่เป็นเครื่องมือที่จะนำไปใช้ตามเนื้องานทำให้เห็นช่องทางและคาดหวังผลที่ดีขึ้น ด้วยการปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง 
         ตัวอย่างการจัดการความรู้ของโรงเรียนที่เป็นกรณีศึกษาครั้งนี้ หลายแห่งได้ดำเนินกระบวนการจัดการความรู้มาแต่เดิมอยู่บ้างแล้ว โดยอาจไม่ทราบว่านั้นคือกระบวนการจัดการความรู้  แต่โรงเรียนเหล่านี้ได้ลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  ทำให้ได้ประสบการณ์ที่เกิดจากการปฏิบัติ สามารถตอกย้ำความรู้ที่มีอยู่และได้รับความรู้เพิ่มจากกระบวนการทำงาน อันเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ว่า “ร้อยรู้หรือจะสู้ลงมือทำ”
         ตัวอย่างดีๆ ของการบูรณาการจัดการความรู้ให้เข้าไปอยู่ในเนื้องานของวงการภาคการศึกษาจากกรณีตัวอย่างที่นำเสนอในเวที น่าจะเป็นตัวอย่างที่จุดประกายให้เกิดขบวนการปฏิบัติอย่างคึกคักยิ่งขึ้นในอนาคต  

 

 


 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17458เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2006 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท