ความจริงแบบไหน ที่เป็นจริง


เพิ่งดูหนังเรื่อง the Vantage Point มาสดๆ ครับ

หนังเรื่องนี้ได้รับคำวิจารณ์ทั้งบวกและลบ เนื้อเรื่องนำเสนอมุมมอง 8 มุมสำหรับเหตุการณ์ความพยายามในการลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐในสเปน ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นใน 23 นาที ย้อนไปย้อนมาให้เห็นมุมมองของคน 8 คนที่มีบทบาท หน้าที่ และวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน

ในแต่ละมุมมอง ผู้ที่มองอยู่นั้น รู้สึกว่าเหตุการณ์ช่างจริงและมีเหตุผลในตัวของมันเองเสียเหลือเกิน แต่เมื่อนำข้อมูลอื่นๆมาประมวลด้วยแล้ว กลับเป็นความโง่งมที่หลงใน "ความจริง" และ "ความน่าเชื่อถือ" แบบนั้น (คิดไปเองว่าใช่)

คำว่า Vantage Point เป็นคำนาม หมายถึงที่มั่น หรือมุมมองที่ได้เปรียบ บ่อยมากที่จะเป็นภาพมุมสูงที่มองเห็นเรื่องราวทั้งหมดได้พร้อมกัน เปรียบเสมือนกับมุมมองของการบริหารจัดการเช่นกัน

คนทำงานหาข้อมูลสร้างสรรค์งานแทบตาย กว่าจะได้งานออกมา เขารู้สึกว่ามันจริงจังที่สุดแล้วเพราะกลั่นออกมาจากสมอง+ทำมากับมือ ถ้ามีการปฏิเสธหรือเลือกข้อเสนออื่นโดยไม่มีการชี้แจงจนเข้าใจ บ่อยๆเข้า องค์กรก็จะไม่มีความคิดใหม่ๆ เพราะว่าเสนอมากี่ครั้งก็ไม่ผ่าน แถมไม่รู้ด้วยว่าทำไมจึงไม่ผ่าน จึงไม่สามารถปรับปรุงได้ ไม่มีการเรียนรู้

ในทำนองกลับกัน ภาพมหภาคแม้เห็นในมุมกว้าง แต่ก็มักจะขาดรายละเอียด การตัดสินใจไปโดยความรู้สึกและอารมณ์ ไม่แสวงหาความจริง หรือไม่ตรวจสอบ จึงเป็นเรื่องที่อาจจะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อองค์กรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ไม่ควรจะมีการมอบหมายให้ใครทำอะไรโดยไม่ให้อำนาจไปด้วย แต่ในกระบวนการจัดการที่ดี จะต้องมีการตรวจสอบ ไม่มีใครสามารถอยู่หรือทำงานได้ด้วยตัวคนเดียว ไม่มีใครอีกเช่นกันที่จะอยู่อย่างมีความสุขโดยที่เป็นศัตรูกับคนทั้งโลก แต่ว่าความไว้วางใจนั้น กลับไม่ใช่การเชื่อถือโดยไม่มีเงื่อนไข (ซึ่งเรียกว่าอคติ) อะไรใช่ อะไรไม่ใช่ ต้องตัดสินหลังจากที่ได้พิจารณาแล้ว -- ไม่ใช่ตัดสินไว้ก่อน

มีกับดักอีกอันหนึ่งซึ่งผู้บริหารที่มีประสบการณ์สูงจะหลงกันมาก คือการหลงในความสำเร็จที่ผ่านมา มักจะตัดสินใจทำตามวิธีซึ่งเคยใช้ได้มาแล้วในอดีต ข้อเท็จจริงก็คือเหตุการณ์ในอดีตกับเรื่องที่ท่านกำลังจะตัดสินใจ เป็นคนละเหตุการณ์กัน มีบริบทที่ต่างกัน มีองค์ประกอบที่ต่างกัน -- การทำแบบที่เคยทำสำเร็จมาในอดีต ไม่ได้รับประกันว่าเรื่องที่ท่านกำลังจะตัดสินใจจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

ยิ่งกว่านั้น การตัดสินใจไม่จำเป็นต้องเป็นการเลือก ท่านผู้บริหารควรตระหนักว่าท่านไม่ได้กำลังทำข้อสอบปรนัย และไม่จำเป็นต้องมีคำตอบที่ดีอยู่ในบรรดาทางเลือกที่เห็นอยู่ข้างหน้า คำตอบที่ดี อาจจะต้องคิดขึ้นมาใหม่ หรือเอาทางเลือกต่างๆ มาปรับปรุง/ผสมปนเปกัน

คำถามต่อมาก็คือคนที่ท่านคิดว่าดีนั้น ดีจริงหรือไม่ ส่วนคนที่ท่านคิดว่าไม่ดีนั้น เป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่าครับ

หมายเลขบันทึก: 174219เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2008 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

คำถามต่อมาก็คือคนที่ท่านคิดว่าดีนั้น ดีจริงหรือไม่ ส่วนคนที่ท่านคิดว่าไม่ดีนั้น เป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่าครับ

ในประสบการณ์ของตัวเองนะคะ

เป็นคนที่ไม่ตั้งความหวังอะไรกับใครมากนัก นอกจากกับตัวเองค่ะ

ดังนั้น คนบางคนที่เราคิดว่าเขาดีมาก แต่ตอนหลังอาจไม่ดีเท่าที่เราหวัง ก็ไม่กระทบใจนัก อาจมีเสียความรู้สึกบ้างแน่นอน แต่ไม่มากนัก

พยายามคิดว่า ไม่มีใครเลยสักคนที่ไม่เคยทำความดี และไม่มีใครที่ไม่มีความดี แต่ความดีที่เขามี อาจไม่ถูกใจเรา หรือเราไม่อยากได้ความดีที่เขามี อยากได้ที่เขาไม่มี เขาก็เลยกลาย เป็นไม่ดี ในสายตาเรา 

คือ พยายามไม่คิดโดย การเอาตนเองเป็นที่ตั้ง

และสำหรับตัวเอง  เชื่อว่าความดีนั้นมีคุณค่าด้วยตัวของมันเอง การทำความดีก็คือ การให้สิ่งที่ดีกับคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน 

แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่า บางครั้งก็ เลือกทำเฉพาะความดีที่มีผลตอบแทนเหมือนกัน เพราะอีกนัยหนึ่ง การทำดีถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนกันค่ะ

 และการทำดี  ถ้าคิดว่าทำแล้วได้ไม่คุ้มเสีย  ก็อยู่เฉยๆดีกว่า มีตัวอย่างมากมายค่ะในชีวิต

และการทำความดียังเป็นการลงทุนให้กับสังคมด้วยนะคะ อย่างเช่น เราเสียภาษีอย่างถูกต้องทุกปี  และชักชวนให้คนอื่นทำตัวเป็นคนดีด้วยมากๆ

 สังคมที่มีทุนทางสังคมสูงเป็นสังคมที่มีภูมิต้านทานเชื้อโรคทางสังคมที่เข้มแข็ง แม้เกิดเหตุการณ์อะไร สังคม มีคนดีมากๆ สังคมก้ยังอยู่ได้

ส่วนคำถามว่า คนที่เราคิดว่าไม่ดี นั้นเป็นอย่างนั้นจริงหรือ

ตามประสบการณ์ส่วนตัวจริงๆ  อีกนั่นแหละ คนที่เราเห็นและคิดว่า ไม่ดี ในระยะเวลา ที่รู้จักกัน ถ้า เราคบหรือรู้จักเขาพอควร เช่น เป็นเวลา เป็น ปีขึ้นไป ก็มักจะเป็นอย่างที่คิด เสีย 80% อีก 20 %เป็นความผิดพลาดของเราเอง ที่ดูเขาผิดไป

มีวิธีส่วนตัว คือการ sampling หรือสุ่มตัวอย่างค่ะ บางทีก็จำลองเหตุการณ์ขึ้นมาเฉยๆ เพื่อทดสอบ ถ้าอยากทำ แต่ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยไปยุ่งวุ่นวายจะทดสอบใครค่ะ

  • ดี ไม่ดี ใครตัดสิน
  • คนดีจริง ทำดีไป ไม่อายใจ
  • ดีอย่างไร ดีที่ใจ ใยต้องกลัว
  • คนเราน่าจะมีทั้งด้านขาวและดำอยู่ในตัวนะคะหรือบางทีก็อาจจะเทาๆ :)
  • หากเป็นแณณ คงจะดูจากการกระทำที่เค้าปฏิบัติกับเราค่ะ หากเค้าดีกับเราก็ดีตอบ
  • คนที่ฟังข้อมูลจากคนอื่นแล้วเอามาตัดสินคน ดูออกจะหูเบาไปหน่อยน่ะค่ะ คงไม่น่าจะเป็นผู้บริหารที่ดีได้นะคะ
  • ส่วนผู้บริหาร น่าจะเป็นคนที่มีใจกว้าง เป็นธรรม ไม่หูเบา ที่สำคัญ คือ มีใจเมตตา
  • ผู้บริหารบางที่จับคนที่ทำงานไม่ได้ ไปรวมไว้ในที่เดียวกัน เหมือนนำน้ำเน่ามารวมกัน ให้ยิ่งเน่า เหม็น คลุ้งไปอีก แทนที่จะเอาน้ำดีมาไล่น้ำเสีย หรือ ทำของที่ไม่มีประโยชน์ให้กลายเป็นสิ่งมีค่าขึ้นมาได้
  • อย่างเช่น หญ้าแฝก ที่ใครๆ มองว่าเป็นวัชพืช แต่ ในหลวง นำมาห่มดิน คลุมดิน ทั้งรากของหญ้าแฝก หยั่งรากลึกลงไปเป็นการช่วยพรวนดินไปในตัว ทำให้ดินที่เคยเสีย กลับดี หญ้าแฝก ทุกวันนี้ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นวัชพืชอีกต่อไป กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากมาย ต่อภาคการเกษตร
  • หากผู้บริหารทั้งภาคราชการ เอกชน นำหลักปรัชญาของในหลวงมาปรับใช้กับการบริหารคนได้น่าจะดีนะคะ 
  • เคยเห็นผู้บริหารเก่งๆ บางท่านสามารถทำคนที่ได้ชื่อว่า เป็นกาฝากของที่ทำงานบางที่ ให้กลายเป็นคนที่มีคุณค่าอย่างมหาศาลต่อองค์กร ผู้บริหารท่านนั้น คงจะเป็นทั้งคนที่มีความเมตตา และเข้าใจหลักปรัชญาของในหลวง จึงนำมาปรับใช้ได้อย่างถูกต้องค่ะ

 

สวัสดีครับ                                                                    ขออนุญาตครับ "คนทำงานหาข้อมูลสร้างสรรค์งานแทบตาย กว่าจะได้งานออกมา เขารู้สึกว่ามันจริงจังที่สุดแล้วเพราะกลั่นออกมาจากสมอง+ทำมากับมือ ถ้ามีการปฏิเสธหรือเลือกข้อเสนออื่นโดยไม่มีการชี้แจงจนเข้าใจ บ่อยๆเข้า องค์กรก็จะไม่มีความคิดใหม่ๆ เพราะว่าเสนอมากี่ครั้งก็ไม่ผ่าน แถมไม่รู้ด้วยว่าทำไมจึงไม่ผ่าน จึงไม่สามารถปรับปรุงได้ ไม่มีการเรียนรู้" ประโยคนี้เกิดขึ้นกับผมอย่างยาวนานกว่า 5 ปี ณ ปัจจุบัน ผมจึงเป็นผู้ที่ทำหน้าที่"ให้โอกาส"คนคิด คนทำงาน ที่อยากคิด อยากทำด้วยใจจริง ๆเสมอครับ ไม่เก่ง ไม่สมบูรณ์แบบก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้มี"ชีวิต&ใจ"ก็พอครับ อยากให้ในโลกนี้ไม่มี "เพชรฆาตความฝัน"หรือ "เพชรฆาตความคิด"ในทุก ๆองค์กรครับ

ขอบคุณทุกท่านครับ

บันทึกนี้ เขียนขึ้นเพื่อเตือนคนเป็นนาย ตามประเด็นที่ผมเห็น ซึ่งประเด็นหลักยังเป็นเรื่องอคติครับ อคติทำให้การตัดสินใจผิดเพี้ยนด้วยเรื่องราวในอดีต ไม่เป็นการตัดสินใจที่ใช้สติและอยู่กับ (บริบทของ) ปัจจุบัน

คงจะไม่มีประโยชน์ที่จะมาเขียน wishlist ว่า "คนอื่น" จะต้องทำอย่างนี้อย่างนั้นตามที่เราเห็นว่าควร ข้อเท็จจริงก็คือเราไม่สามารถบังคับใจใครได้ ในเมื่อบังคับใจเขาไม่ได้ เวลาเขาไม่อยู่ต่อหน้าเรา เขาก็อาจไม่เป็นเหมือนที่เราอยากให้เขาเป็นอยู่ดี ใครจะไปนั่งเฝ้าคนอื่นให้เป็นไปอย่างที่เราอยากให้เป็นได้ตลอด (ถ้าใครทำได้ ช่วยบอกนักการเมือง กับสื่อมวลชนหน่อยซิครับ จะเป็นกุศลกับคนทั้งประเทศ)

ข้อสังเกตโดยรวม: ลูกที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆ เวลาบอกให้เขาทำอะไร เขาทำไหมครับ -- ใจเดียวที่เรามีสิทธิ์ที่จะควบคุมได้คือใจของเราเอง แม้กระนั้นก็ยังคุมไม่ค่อยได้เลยนะครับ

ในบันทึกพูดถึงหนังเรื่อง the Vantage Point ซึ่งก็เป็นบทเรียนเช่นกัน ว่าแม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะดูสมจริงและสมเหตุผลเป็นอย่างมาก ข้อเท็จจริงกลับอาจเป็นอีกอย่างหนึ่ง หากผู้บริหารไม่มีสติที่จะแยกแยะ ไม่พิจารณาสิ่งต่างๆอย่างรอบคอบ ก็อาจจะหลุดได้ครับ เมื่อหลุดแล้ว คงจะเสียหายร้ายแรงกว่าความผิดพลาดในระดับที่ต่ำกว่า

ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารก็ไม่สามารถที่จะ "ละเอียดรอบคอบ" จนไม่ทำอะไรเลยได้เช่นกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ตัวผู้บริหารเองกลับเป็นคอขวดขององค์กร ซึ่งมีผู้บริหารหรือไม่มี ก็มีผลเท่ากัน คือองค์กรไม่เดินไปข้างหน้าอยู่ดี

กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 -- ที่สำคัญไม่ใช่ข้อปฏิบัติ 10 ข้อครับ แต่เป็นความตอนท้ายที่ให้พิจารณาก่อน [บันทึกของอาจารย์คนไร้กรอบเรื่องนี้]; ธรรมะคือการปฏิบัติ ไม่ใช่คิดเฉยๆ ครับ

โดยรวมก็ไม่ได้เห็นขัดแย้งกับทุกท่านหรอกนะครับ

ความจริงของแต่ละคนไม่เหมือนกันจริงๆ เคยประสบกับตัวเองมาแล้ว และเรื่องนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่ในสังคมอยู่มากทีเดียวนะคะ อ่านข่าวการเมืองของไทยทีไร เห็นเวอร์ชั่นของความจริงของแต่ละฝ่ายเยอะแยะไปหมดค่ะ ^ ^

หนังเรื่องนี้ยังไม่ได้ดู แต่ได้เห็นโฆษณามาบ้างเหมือนกัน ไว้อีกปีสองปีเข้าเคเบิลเมืองไทย คงจะได้ดูค่ะ ^ ^ ไม่ได้รีบร้อนอะไร ตอนอ่านใบปลิวโฆษณาในหนังสือพิมพ์ก็คิดทำนองเดียวกับที่คุณ Conductor คิดนี่แหละค่ะ เพียงแต่ไม่ได้มองในมุมของคนเป็นนายค่ะ ^ ^

สวัสดีค่ะ ...เข้ามาอ่านแล้วสองรอบ อ่านแล้วก็คิดอะไรต่อมิอะไรไปหลายอย่าง คิดไปถึงที่มาของความจริง อะไรจึงเรียกว่าข้อเท็จจริง ความน่าเชื่อถือในความจริง ความมั่นใจว่าน่าจะเชื่อถือตามข้อมูลที่โน้มน้าวว่าจริง ฯลฯ อีกอย่างหนึ่งคือ อยากทราบว่าคุณ conductor เคยเขียนเรื่องอคติไว้ตรงไหนหรือยังคะ.....อยากฟังความคิด เรื่องอคติในมุมคิดของคนเป็นนาย...(เรียกว่าเข้ามาขอร้อง ขออ่านเอาดื้อๆค่ะ..ขอบคุณนะคะ)

เรื่องอคติเขียนไว้หลายครั้งครับ (ใช้ "ค้นหา" ด้วย monitor แล้วใส่คำว่า "อคติ conductor") ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ นะครับอาจารย์

สวัสดีค่ะคุณConductor

เข้ามาเยี่ยมทักทายค่ะ 

ฟันธงได้เลยค่ะ ว่าจะต้องมี คนเป็นนายแบบนี้ ไปอีกนานเท่านานคู่สังคมไทย  ตราบฟ้าดินสลาย ...

เห็นด้วยกับคุณ Conductor คนบางคนก็ถนัดที่จะใช้ ไม้บรรทัดของตัวเองวัดผู้อื่น...และอย่างไม่เป็นธรรมด้วยสิ.

ขอบคุณค่ะ คลิกไปดูมีหลายบันทึกและหลายลิงค์ .....ดูเหมือนว่าคุณ conductor ย้ำในหลายบันทึกว่าการตัดสินใจไม่ใช่การเลือกคำตอบปรนัย  เกิดความสงสัยว่า ในทางปฏิบัติ การเลือกกระทำหรือไม่กระทำอะไร ต้องอธิบายเหตุผลประกอบทุกๆครั้งเสมอไหมคะ ..มันมีจุดที่ใครก็ไม่ฟังใครไหม...คือไม่ว่าจะอธิบายเหตุผลอะไรก็ไม่คิดว่าจะมาจากความจริงหรอก  .อย่างนี้น่ะค่ะ

ขอโทษค่ะกดส่งบันทึกโดยยังพิมพ์ไม่หมด...คำถามสุดท้าย(ต่อท้ายข้างบน)คือ แล้วแก้ไขอย่างไรถ้าหากถึงจุดๆนั้น

ขอบคุณค่ะ

ถ้ามองจากเรื่องของอำนาจแล้ว ไม่มีความจำเป็นครับ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเรียนรู้ ผมว่าน่าจะยอมเหนื่อยอธิบายหน่อยนะครับ

ไม่น่าจะมีคำตอบสำเร็จรูปที่ใช้ได้ในทุกบริบทหรอกครับ; ยังมีเรื่องของ discipline อีก

ในท้ายที่สุด หัวหน้าเป็นคนตัดสิน แต่ถ้าเป็นกรณี upward delegation คือทุกอย่างโยนขึ้นข้างบนหมด แบบนี้มีลูกน้องหรือไม่มี ก็ไม่ต่างกันนะครับอาจารย์

องค์กรเป็นสังคมเล็กๆ มีกติกา มีวัฒนธรรมของตัวเอง หากองค์กรไม่มีอะไรร่วมกันเลย ต่างคนต่างทำตามใจตน ก็ไม่ต่างกับสังคมที่ไม่มีกติกา-ที่ใครจะทำอะไรก็ได้ครับ


ผมเอาคำตอบมา edit ใหม่เพิ่มเติมครับ รู้สึกว่าคำตอบข้างบนเหมือนเลี่ยงๆไม่ยอมตอบ จึงนำคำตอบใหม่มาให้อาจารย์พิจารณา โดยไม่ตอบครับ

ขอบคุณค่ะ เข้าไปอ่านแล้ว...บทความที่คุณ conductor ตอบแบบไม่ตอบนี้ทำให้กลับมาคิดทบทวนอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง..อีกแล้ว...

ความเป็นไปคือส่วนมากไม่ค่อยเจอคนที่จะบอกความจริงให้กับผู้ร่วมงานแบบนี้ มักจะเจอว่า มีเสียงนินทาเข้าหู อะไรอย่างนั้นมากกว่า...ทำให้คนในองค์กรก็ระแวงกันไปมา แล้วก็ไม่กล้ากระดิกตัวทำอะไรมาก

ขอบคุณนะคะที่ให้ได้อ่านเรื่องที่พาให้คิดต่อไปอีกหลายอย่าง

มีท่านผู้รู้ พูดว่า "การเป็นผู้บริหารที่ดี อย่านำความสำเร็จในอดีต มาใช้ในการทำงานปัจจุบัน เพราะสถานการณ์ย่อมต่างกัน"

ขอบคุณครับ :) สนับสนุนประเด็นดีครับ

สวัสดีครับ

อยากไปดูหนังเรื่อง The vantage point เหมือนกันครับ

ดูแล้วมีสาระดีนะครับ น่าจะให้มุมมองอะไรใหม่ๆมากครับ

ขอบคุณครับสำหรับคำกล่าวที่ว่า เราไม่ควรยึดติดกับความสำเร็จในอดีต

เพราะผมก็ค่อนข้างจะเอนเอียงไปทางนั้นครับ ต้องพยายามครับ

ความจริงแบบที่รอรายงานอยู่บนหอคอยงาช้าง และความจริงที่รับฟังโดยคนที่ถือตัวว่าถูกต้องเสมอและไม่เคยฟังใคร เป็นความจริงแบบไหนครับ

แต่ครั้นจะต้องได้ความจริงแบบที่ประสบมาเอง พิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนแล้ว พอดีไม่ต้องทำอะไรเหมือนกัน!

ดังนั้น ถ้าเข้าถึงความจริงไม่ได้ทุกอย่าง ก็ต้องหัดไว้ใจ/เชื่อใจคนอื่นบ้าง ความไว้ใจนี้ จะต้องระมัดระวังเพราะโดยเนื้อแท้คืออคติซึ่งทำให้การตัดสินใจผิดเพี้ยนไป จะมานั่งเสียใจทีหลังก็ไม่มีประโยชน์แล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท