สังคม/เศรษฐกิจความรู้


         อ. อนุช  อาภาภิรม   เขียนไว้ในรายงานฉบับที่ 22   ประมวล  วิเคราะห์  สังเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มประเทศไทย (กรกฎาคม - ธันวาคม 2548)  ประเทศไทย 2548 : บ่ายหน้าสู่ทางใด   เสนอต่อ สกว. (ดูฉบับสมบูรณ์ได้ในเว็บไซต์ สกว.)  โดยในหน้า 18 - 19 มีข้อความดังนี้

9. บทลงท้าย : บ่ายหน้าสู่เศรษฐกิจ - สังคมความรู้
การสร้างสรรค์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


         กระบวนโลกาภิวัฒน์ที่นำโดยบรรษัทข้ามชาติได้ทวีความเข้มแข็งขึ้น   ด้วยแรงหนุนสำคัญจากกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่  อย่างเช่น จีน  อินเดีย  ได้ร่วมขบวนอย่างแข็งขันในการเปิดการค้าและการลงทุนเสรีทั่วโลก การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) หรือสภาดาวอส   ล่าสุดในปลายเดือนมกราคม 2549  ดำเนินไปอย่างองอาจ  ปราศจากกลุ่มประท้วง  มีแก่นเรื่องปีนี้ว่า "การสร้างสรรค์ที่ไม่อาจเลี่ยงได้" (The Creative Imperative) ชี้ให้เห็นความจำเป็นในการต้องใช้ความรู้เพื่อการสร้างสรรค์   ในอันที่จะปรับตัวเองใหม่ในภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป   และการเปลี่ยนแปลงทางศูนย์อำนาจและความขัดแย้งในโลก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการสร้างเศรษฐกิจ/สังคมความรู้อย่างจริงจัง

         ในอีกด้านหนึ่ง   การประชุมคู่ขนานได้แก่ สมัชชาสังคมโลก (World Social Forum) ในช่วงเวลาเดียวกัน   ซึ่งได้ดำเนินการเป็นปีที่ 6 เป็นข่าวน้อยลงกว่าเดิมมาก   เป็นสัญญาณบ่งชี้การอ่อนแอลงของกระบวนต่อต้านโลกาภิวัฒน์ในเฉพาะหน้านี้ด้วย

         คาดหมายได้ว่าประเทศไทยจะบ่ายหน้าสู่เศรษฐกิจ/สังคมความรู้ไปด้วย   บ้างโดยเต็มใจ  บ้างโดยจำใจและบางครั้งเร็ว  บางครั้งช้า  แต่เศรษฐกิจ/สังคมความรู้นั้น   ก็มิได้ราบรื่นสดใหม่อย่างที่คาด  หากเป็นไปด้วยความเร็วและความแรงจากการแข่งขัน   มากด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน   ผู้คนจำต้องเปลี่ยนกรอบความคิดและความเคยชินแบบเก่าสู่แบบใหม่   การเข้าใจสภาวะแวดล้อมตามความเป็นจริง   การกล้าเสี่ยงเพื่อไปบรรลุสู่จุดมุ่งหมาย   นี่คือมิติหนึ่งของเศรษฐกิจ/สังคมความรู้   มันเป็นสังคมที่ทำให้คนต้องตื่นตัวอยู่ตลอด   ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงและแปลกใหม่   การสำแดงตัวตน  การทำงานเป็นทีม  เพราะว่าความรู้ที่เป็นประโยชน์ต้องเป็นความรู้ขององค์กร

         ในเศรษฐกิจ/สังคมความรู้นั้น   การออกแบบตั้งแต่การออกแบบทางวัตถุจนถึงการออกแบบสังคม   และการแสดงในการแข่งขันคือทุกสิ่ง   ถ้าหากไม่ปรับให้เป็นรัฐทันสมัย   ก็จะกลายเป็นรัฐที่อยู่ชายขอบได้ในเวลาไม่นาน   มันเป็นด่านทดสอบประชาติต่าง ๆ มากกว่าเป็นสังคมในฝัน

         สรุปว่า  ประเทศไทยกำลังบ่ายหน้าสู่ สังคม/เศรษฐกิจความรู้

         แต่ผมตีความคำนี้ไม่เหมือน อ. อนุช เสียทั้งหมด   เพราะ อ. อนุชค่อนข้างจะเอาเศรษฐกิจ - สังคมความรู้ไทย   ไปแขวนไว้กับโลกาภิวัฒน์   ซึ่งผมว่าอันตราย

         เราควรต้องพัฒนา สังคม-เศรษฐกิจความรู้ ฉบับไทยขึ้นมาเอง   เราต้องไม่ยืมเอา สังคม/เศรษฐกิจความรู้ แบบตะวันตกหรือฉบับโลก เอามาใช้แบบใช้ทั้งดุ้น  ไม่ปรับให้เป็นของเราเอง   ซึ่งถ้าเราพัฒนาฉบับไทยขึ้นมาก็เท่ากับเราพัฒนาชุมชนภิวัฒน์หรือ Localizationขึ้นมาสร้างสมดุลกับ Globalization  เปลี่ยน Globalization แบบรุกกลืน   ให้เป็นแบบที่เชื่องลงหน่อยให้เป็นมิตรกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของเราหน่อย

         ไทยเรามีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม   ควรจะสามารถทำให้กระแสโลกาภิวัฒน์เชื่องลง   และเป็นมิตรกับวัฒนธรรมไทยได้

         เครื่องมือคือ KM ในทุกอณูของสังคมไทย

วิจารณ์  พานิช
 2 มี.ค.49

หมายเลขบันทึก: 17366เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2006 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท