จับภาพ KM ในเครือข่ายทีมสุขภาพชุมชนอีสานตอนล่าง (ตอนที่ 1)


       เมื่อเสาร์ อาทิตย์ (25 26 ก.พ. 49) ที่ผ่านมา   ได้ร่วมเดินทางในฐานะทีมจับภาพ KM (ทีมหญิงคู่ค่ะ :  อ้อ + น้ำ_The water)  ไปดูโครงการต่างๆ ของเครือข่ายทีมสุขภาพชุมชนอีสานตอนล่าง  ซึ่งนับญาติกันแล้วก็อยู่ไม่ไกลกัน  เพราะเป็นเครือข่ายที่ทำงานอยู่ภายใต้แผนคณะ 7 ของ สสส. เหมือนกันกับ สคส.   โดยมี   ทพ. วิวัฒน์    ฉัตรวงศ์วาน (ผู้จัดการภาคเครือข่ายทีมสุขภาพอีสานล่าง) เป็นตัวหลักของงาน 2 วันนี้,  นพ. สมยศ   ศรีจารนัย  (ผู้จัดการเครือข่ายระดับพื้นที่,  ผอ. รพ. เขาวง และตำแหน่งแพทย์ดีเด่น รางวัลกองทุน นพ. กนกศักดิ์   พูนเกษร ปี 2546) พาทีมเขาวงมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และดูโครงการ,    นพ. ธนะพงศ์  จินวงษ์  (สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5  จ. นครราชสีมา)  มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพิจารณาโครงการ    โดยทั้ง 2 วันนี้  เราได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างค่ะ

วันที่ 1 (25 ก.พ. 49)

AAR  ชุมชนนักปฏิบัติ เครือข่ายเยาวชน    :   วันนี้ คุณหมอวิวัฒน์   พาเราไปดูเวที เครือข่ายเยาวชนคนวัย Health  ต. หนองบัวโคก (ชัยภูมิ)  เจอกับ เครือข่ายเยาวชนมดแดง   แกล้งสนามนาง (กาฬสินธุ์)

                - เป้าหมาย  :   วันนี้ทีมจับภาพเราอยากมาดูกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเด็กเยาวชนค่ะ

                - สิ่งที่บรรลุเกินเป้าหมาย : มีตัวแทนเยาวชนทั้ง 2 กลุ่ม มานำเสนอเรื่องราวกิจกรรมที่กลุ่มทำ ซึ่งเห็นภาพถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในแต่กลุ่มเยาวชนแล้วเกิดเป็น action สร้างสรรค์ของกลุ่ม     ตัวอย่างเช่น กลุ่มเยาวชนคนวัย Health  ของ ต. หนองบัวโคก  เริ่มตั้งแต่การรวมกลุ่มแกนนำ 35 คน แล้วในตอนหลังชวนกันเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 91 คน  กลุ่มช่วยกันระดมความคิดคิดชื่อกลุ่ม ได้เป็น เยาวชนคนวัย Health” (ผู้ใหญ่เห็นแล้วชื่นชมค่ะ)   และการสร้างกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา ได้แก่ กลุ่มดนตรี, หางเครื่อง, กีฬา, ..... (จดไม่ทันค่ะ)  โดยเด็กและเยาวชนที่มาเข้ากลุ่มก็ชักชวนกันมาจากโรงเรียนต่างๆ (ไม่ใช่โรงเรียนเดียว)  ในพื้นที่ตำบลหนองบัวโคก  การทำกิจกรรมต่างๆ จะมีการนัดกันซ้อมและพัฒนากันตลอด   เช่น กลุ่มหางเครื่อง  นั้นตอนแรกอยากได้ครูมาฝึกสอน  แต่ไม่มีงบจ้าง  ก็เลยไปดูตัวอย่างกันจากวงดนตรีลูกทุ่งที่มาแสดง, ในทีวีบ้าง  และในแผ่น VCD ที่ไปเลือกซื้อ (ใช้งบน้อย)  แล้วเอามาแลกเปลี่ยนกัน ช่วยกันปรับให้เป็นท่าเป็นจังหวะของกลุ่ม    บางกิจกรรม  เช่น ทำพิมเสน ก็มีการพาไปดูงาน ไปฝึกทำแล้วกลับมาสอนกัน       กลุ่มดนตรี, หางเครื่อง  กีฬา  จะมีการไปแสดงและแข่งขันกันตามเทศกาลซึ่งเป็นกิจกรรมร่วมกับชุมชน   แถมตอนนี้ (สิ่งที่พวกเด็กๆ ภูมิใจอีกอย่างหนึ่ง) กลุ่มเยาชนคนวัย Health มีเงินรายได้ที่หาได้จากกิจกรรมมาฝากในธนาคารด้วย    ซึ่งผู้ใหญ่ (คุณทองดี  พงษ์วิสัย  หัวหน้าสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ หนองบัวโคก, คุณสมชาย  .... เทศมนตรี)  ที่สนับสนุนก็ชื่นชม  และยังบอกอีกว่ากิจกรรมทั้งหมดนี้เด็กๆ เป็นคนคิดเองทั้งนั้น  ผู้ใหญ่เพียงแต่คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกและสนับสนุนบางอย่างที่เด็กขอมา  และตอนนี้กลุ่มนั้นมีเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วม 3 รุ่น (แบ่งตามรุ่นอายุ) แล้ว  ซึ่งวันนั้นเราได้เห็นรุ่นที่ 3 ด้วย ยังอยู่ประถมกันเลยค่ะ

                ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่มานำเสนอ  คือ กลุ่มมดแดง  จากแกล้งสนามนาง (กาฬสินธุ์)   เด็กเล่าให้ฟังว่าจริงๆ แล้วกลุ่มนี้ก่อตั้งมานานหลายปีแล้วก่อนที่จะมาอยู่ในโครงการนี้    โดยรุ่นพี่รุ่นแรกๆ  มีแต่ผู้ชาย  อายุประมาณ 28-29 ปี (เพิ่งพ้นวัยเยาวชน)  พอจะตั้งชื่อกลุ่มก็มีคนไปเห็นรังมดแดง   เห็นมดแดงรวมกันหลายตัว  เออ! มันช่วยเหลือกันดี  เลยเอามาตั้งชื่อ กลุ่มมดแดง (มีตัดเสื้อประจำกลุ่มด้วย)    รุ่นต่อๆ มาถึงจะพอมีเยาวชนผู้หญิงเข้ามาบ้าง ปัจจุบันมีสมาชิก 35 คน  กิจกรรมต่างๆ ที่ทำ  ได้แก่  การทำกระทงในวันลอยกระทง,  แข่งกีฬาในเทศกาลปีใหม่, รณรงค์เอดส์, ปลูกผักสวนครัว-สมุนไพร, รณรงค์กำจัดยุงลาย, งานวันแม่, ฯลฯ    พอเราถามว่า แล้วกิจกรรมไหนที่ทำแล้วภูมิใจที่สุด   เด็กที่นำเสนอก็ปรึกษากันแป๊ปนึงแล้วบอกว่า กิจกรรมวันแม่ค่ะ   เพราะปกติกิจกรรมนี้โรงเรียนจะเป็นคนจัดให้    แต่ปีที่ผ่านมาพวกเขาเป็นคนจัดเอง ไปหาดอกไม้มาเองแล้วมาไหว้แม่ รู้สึกยังไงบอกไม่ถูก  แต่มันสั่น (กลุ่มนั่งข้างหลังโห่ฮิ้วกันใหญ่  เพราะเพื่อนที่นำเสนอน้ำตาซึมค่ะ)    กลุ่มนี้  หมอหน่อย คนดูแลพาเด็กมาร่วมแลกเปลี่ยนบอกว่า   แรกทีเดียวรุ่นพี่ๆ ที่เป็นผู้ชายรุ่นบุกเบิกกลุ่ม ใครๆ เห็นก็คิดว่าจะทำโครงการไหวเหรอ  เพราะแต่ละคนไว้ผมยาว  แต่งตัวเซอๆ (ดูออกน่ากลัว)    แต่เมื่อเราเปิดโอกาสให้เขาได้คิดและทำ  พวกเขาก็ทำกันได้     เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่มีพลังมาก  ทำได้ทั้งด้านไม่ดี และด้านดี   แต่ถ้าดึงมาใช้พลังในด้านดี ด้านสร้างสรรค์ได้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง   

                สิ่งที่ได้เกินคาดข้อ 2 ที่เห็น  คือ   กลุ่มเยาชนคนวัย Health ของ ต. หนองบัวโคก   ได้รับการสนับสนุนจากพื้นที่ด้วย คือ อบต.  (โครงการเชื่อมต่อกับองค์กรท้องถิ่นได้)  เช่น  ให้งบสนับสนุนบางส่วน (เครื่องดนตรี, ชุดออกงาน) และเปิดเวทีพื้นที่ให้เยาวชนตามเทศกาล 

                สิ่งที่ได้เกินคาดข้อ 3 คือ  หลังการนำเสนอโดยเด็กของทั้งสองกลุ่ม   ทีมคุณหมอวิวัฒน์, หมอสมยศ, หมอธนะพงศ์, หมอหน่อย, คุณสมชาย   ก็ช่วยกันถอดบทเรียน สรุปออกมาเขียนเป็นแผนภาพ แล้วเอาโมเดลจัดการความรู้ฉบับ ปลาทู  ไปจับวาดเป็นปลาตัวเบิ้มเป็น  หัวปลา (เป้าหมาย),  กลางปลา (แลกเปลี่ยนเรียนรู้,  ดำเนินงาน, ทำกิจกรรม)  และ หางปลา (ความรู้ที่ได้, สิ่งที่ได้)       นอกจากนี้ยังแจกแบบฟอร์ม AAR (After Action Review) ให้เด็กและเยาวชนทำอีก  แม้ภาษาจะยากไปซักนิดสำหรับเด็กวัยนี้ (สังเกตจากท่าทางงงๆของเด็ก) แต่เด็กๆ ก็ทำออกมาจนได้หลังการพยายามอธิบายของคุณหมอวิวัฒน์  

                - สิ่งที่ไม่บรรลุน้อยกว่าเป้าหมาย :   ยังไม่เห็นบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามกลุ่มระหว่างกลุ่มเยาวชน หนองบัวโคก  กับ กลุ่มเยาชน  แกล้งสนามนาง   เนื่องจากเด็กทั้ง 2 กลุ่มคาดว่ายังไม่เคยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน  และเมื่อมาถึงก็จัดนั่งแบบห้องเรียนและมีการออกไปนำเสนอหน้าห้อง   ดังนั้นเด็กกับเด็กคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเองจึงยังไม่เกิด   แต่หลังจากทานข้าวกลางวัน   ทีมผู้ใหญ่อยากสร้างบรรยากาศให้เด็กคุ้นเคยกันจึงจัดให้เด็ก 2 กลุ่มมาเล่นเบตอง  เล่นดนตรีกัน   แล้วจะลองจัดให้เด็กทั้ง 2 กลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้คุยกันเองวันอื่นภายหลัง (เนื่องจากทีมคุณหมอ และทีมจับภาพ KM ต้องออกไปที่อื่นก่อน  และทีมเยาวชนแกล้งสนามนาง ต้องกลับ)    อีกเหตุผลที่อาจจะทำให้กลุ่มเด็กแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ยาก  คือ  เด็กที่มาของทั้งสองกลุ่มมีอายุต่างกัน (คนละรุ่น)       

                - สิ่งที่คิดว่าจะกลับไปทำต่อ :  1. เอามาเล่าใน สคส. และเผยแพร่ลงใน Blog            2.  เห็นช่องทางเริ่มต้นที่ดีของการทำ    KM + เด็กและเยาวชน + สร้างสุขภาวะ + อบต. + area based + โครงการใน สสส.    ถ้าสนับสนุนและขยายผลดีๆ  จุดเริ่มต้นที่ดีนี้น่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีค่ะ (และตอนนี้ทีมหมอวิวัฒน์, หมอสมยศ และหมอธนะพงศ์  ก็กำลังอินกับ KM มาก)

            ต่อไปเราจะไปดูสถานีอนามัยมะค่า ค่ะ (ตอนต่อไป)

คำสำคัญ (Tags): #จับภาพ#km#aar#เวที
หมายเลขบันทึก: 17363เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2006 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท