ผีเสื้อมากินเลี้ยงน้ำหวานกับหญ้า(ผัก)งวงช้างที่ริมตลิ่ง


จากข้อมูลที่กล่าวมา จะมองว่าหญ้างวงช้างเป็นสมุนไพรก็ได้ จะว่าเป็นวัชพืชก็ได้

หลายสัปดาห์มานี้มีผีเสื้อที่บ้านมากมาย ทั้งชนิดและจำนวน จับภาพได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง ก็พยายามจ้องจนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จได้ภาพผีเสื้อชัดๆ แบบภูมิใจในฝีมือตัวเองพอประมาณทีเดียว(รู้ตัวดีว่ายังห่างไกลมืออาชีพมาก และกล้องก็ช่วยได้เพียงแค่นี้)

 

นอกจากดอกโมกหลากชนิดที่ทยอยกันบาน ดอกต้นแดง ดอกพู่นายพล และดอกมะลิ ซึ่งเชิญชวนผีเสื้อมากินเลี้ยงแล้ว ได้พบว่ามีพืชที่โตอยู่เรี่ยดินชนิดหนึ่งใกล้ชายน้ำก็มีผีเสื้อมากันให้ขวักไขว่ โดยเฉพาะผีเสื้อสองชนิดนี้

 

ผีเสื้อหนอนใบรักฟ้า (Blue Glassy Tiger) ซึ่งมีลายเสือประกายน้ำเงิน มาชุมนุมกันมากที่สุด

 

 

รองลงมาคือ ผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ (Common Indian Crow)

 

 

พืชชนิดนี้ไปค้นคว้ามาได้คำตอบว่า คือ หญ้างวงช้าง หรือ ผักงวงช้าง Indian Heliotrope ชื่อวงศ์ว่า Heliotropium indicum L. 

หญ้างวงช้าง มีลักษณะใบกว้าง หนา ผิวใบย่น มีขน ดอกสีขาวเป็นงวง  ช่อยาวเรียว และโค้งม้วนงอที่ปลาย ต้นเตี้ย เป็นพืชล้มลุก อายุแค่ปีเดียว ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มักพบตามที่รกร้างริมทาง หรือริมคูคลองทั่วไป และยังอาจจัดว่าเป็นวัชพืชระบาดในนิเวศนาข้าวประเภท นาหว่านแห้งด้วย

 

ที่บ้านมีกอเบ้อเริ่มเลย หนังสือ คู่มือคนรักต้นไม้ ชุดดอกหญ้า เล่ม ๒ โดย ปัทมา แซ่ลี้ (สำนักพิมพ์บ้านและสวน) ให้ข้อมูลไว้ว่า หญ้างวงช้างเป็นสมุนไพร ทั้งต้นแก้ไข้ เจ็บคอ กระหายน้ำ ไอ หืด ลักปิด ลักเปิด ดับพิษร้อน

 

ใบ รสเฝื่อนเย็น ต้มน้ำดื่มลดน้ำตาลในเลือด หรือน้ำคั้นใช้หยอดหู แก้ฝีในหู หยอดตาแก้ตาฟาง และใช้ทาแก้สิว

 

ดูๆคุณสมบัติหญ้างวงช้างวิเศษเหลือเกิน แต่ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งไปทดลองเองนะคะ เพราะผู้เขียนก็ยังไม่เคยทดลอง  ขอให้สืบเสาะหาผู้รู้ที่เคยใช้ ซึ่งนี่ดูจะเป็นปัญหากับความรู้ด้านสมุนไพรไทย ที่คนรุ่นหลังๆที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะไม่แน่ใจในเรื่องความปลอดภัย วิธีใช้ และสรรพคุณว่าจริงแท้เพียงใด ยกตัวอย่างแค่นำมาทาแก้สิว หากผู้เขียนแนะนำให้หลานสาวใช้ หากหน้าเธอสิวยิ่งปะทุ แทนที่จะประหยัดเงิน ผู้เขียนอาจต้องจ่ายเงินให้เธอไปรักษาหนักเข้าไปอีก

จากข้อมูลที่กล่าวมา จะมองว่าหญ้างวงช้างเป็นสมุนไพรก็ได้ จะว่าเป็นวัชพืชก็ได้

 

ผู้เขียนเคยพบปราชญ์ชาวบ้านผู้เป็นทั้งหมอยาสมุนไพรและเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า หญ้าและวัชพืชทุกชนิดมีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ได้ทั้งนั้น ไม่มีพืชอะไรเกิดขึ้นมาอย่างไร้ความหมาย ไร้ประโยชน์ อยู่แต่ว่าเรามีความรู้หรือเปล่า ยังจำได้หรือเปล่า ที่จะนำมันมาใช้ประโยชน์ให้ได้

 

ตอนนี้ผู้เขียนกำลังสนใจทำความรู้จัก ผัก หญ้า และวัชพืช มากมายที่ขึ้นเองที่ในบริเวณบ้านตัวเอง และกำลังคิดหาวิธีการที่จะใช้ประโยชน์ให้ได้ ต้องไปตระเวณหาผู้รู้ ที่เคยใช้จริง  แล้วจะทยอยนำมาเล่าให้อ่านกันค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 170695เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2008 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)
  • ผีเสื้อสวยมากๆๆ
  • เคยเห็นหญ้างวงช้าง
  • ที่ไร่พนมทวน มีเต็มเลยครับ
  • แต่ไม่ค่อยรู้จักสรพพคุณทางยา
  • คงต้องไปศึกษาเพิ่มเหมือนกัน
  • ตอนเด็กๆๆเอาหญ้าหนวดแมว มาเล่น
  • พอโตขึ้นมาเพิ่งทราบว่า โห ไอ้ที่เราเล่นนี้มีสรรพคุณทางยาตั้งหลายอย่าง
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะพี่นุช

เหมือนเคยเห็นผีเสื้อหนอนใบรักฟ้า ชื่อน่ารักจัง ที่วังน้ำเขียวค่ะ สีสวยจัง หญ้างวงช้างนี่เพิ่งเคยเห็นค่ะ ดอกสีขาวมีกลิ่นไม๊คะ สวยด้วยแถมสรรพคุณเยอะดีจังนะคะ ไม่ทราบว่าเอามาใช้แบบแห้งหรือสดนะคะ บางครั้งเราก็ไม่แน่ใจว่ามีฤทธิ์ข้างเคียงหรือเปล่า แต่คงไม่มากมายเท่าสารเคมีแน่นอนค่ะ

ขอบคุณค่ะที่ถ่ายรูปสวยๆมาให้ชม แถมได้ความรู้อีกด้วยค่ะ

แถวนั้น ผีเสื้อเยอะต้องมี หนอนบุ้งเยอะแน่ๆ นะครับ เพราะผีเสื้อมาจากหนอนบุ้ง ..จำได้ตอนเด็ก ชอบเอาไม้เขี่ยๆ หนอนบุ้ง สีสันฉูดฉาด .เล่น... สนุก...แบบรังแกสัตว์ ตามประสาเด็กผู้ชาย

สวัสดีค่ะ ที่บ้านก็ผีเสื้อมากเป็นช่วงๆค่ะ ชอบมาดูดน้ำหวานดอกไม้ แตภาพนี้ เป็นดอกไม้ที่ผีเสื้อมาเกาะมากที่สุดที่บ้านค่ะ ดอกประไหมสุหรีค่ะ

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%ab%e0%b8%a3%e0%b8%b5

ค่ะอาจารย์ขจิตP ต้นหญ้า วัชพืชมากมายที่เราเก็บมาเล่นตอนเป็นเด็กๆ ทุกชนิดมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรได้หมด บางชนิดก็นำมาเป็นยาให้คนและสัตว์ใช้กัน บางชนิดก็นำไปผสมเป็นยาไล่ กำจัดแมลงที่มารบกวนพืชได้

พี่ว่าที่ไร่พนมทวนนั้นต้องมีพืชสมุนไพรมากมาย แต่เรามองข้าม ไปนึกว่าเป็นแค่วัชพืช ขนาดที่ท่าน้ำบ้านพี่ ไม่ได้กว้างใหญ่มีพืชนับสิบๆชนิด ที่พี่เก็บภาพไว้ และทยอยหาข้อมูล หลายอย่างป้านวลรู้จักคุ้นเคยดีค่ะ แต่หลายชนิดก็ไม่มีใครในบ้านรู้จัก พี่รวบรวมหนังสือพืชสมุนไพรไทยหลายเล่มเพื่อจะศึกษาอ้างอิงค่ะ

สวัสดีค่ะคุณอุ๊ Pผีเสื้อหนอนใบรักฟ้านี่เป็นผีเสื้อที่พบได้ชุกชุมทั่วไปค่ะ พี่ยังมีผีเสื้อค่อนข้างไม่ค่อยได้พบกันทั่วไปนัก (ไม่ถึงกับหายาก) ถ่ายภาพไว้ได้แจ่มๆคือ ผีเสื้อหางติ่งนางละเวง เอาไว้จะนำมาโชว์ตัว

ต้นหญ้างวงช้างมีกลิ่นหรือเปล่า ยังไม่ได้พิสูจน์ ลงไปทีไรทั้งเช้าทั้งเย็นมีผีเสื้อบินว่อน ไม่อยากกวนเขา เดี๋ยวจะไปทดสอบให้ค่ะ แล้วมันขึ้นเตี้ยๆ จะก้มไปดมก็จะหน้าทิ่มได้นะคะ คนแก่หน้ามืด:)

ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่ถ่ายภาพเก็บไว้ มีรูปร่างดอกแปลกๆหลายชนิดเลยค่ะ จะทยอยให้ชมกัน เผื่อใครรู้จักจะได้เข้ามาช่วยกันต่อเติมเป็นความรู้ด้วยค่ะ

ใช่ค่ะคุณกวินทรากรP แถวบ้านพี่ต้นไม้เยอะมาก แต่เราไม่ค่อยเห็นหนอนบุ้งมากนัก สงสัยเขาต้องไปซ่อนตัวเพราะนกแถวบ้านก็เยอะ มีนกหลากชนิดมาแวะเวียนทั้งวัน

แต่มีผีเสื้อชนิดหนึ่งสีดำมีแถบลายขาวจำชื่อไม่ได้แล้ว และยังไม่มีภาพชัดๆ เขาจะมีหนอนบุ้งอยู่บนต้นมะขามเทศ และต้นอะไรไม่ทราบทางลงท่าน้ำ เยอะมาก จนร่วงอยู่บนพื้นดิน หนอนบุ้งชนิดนี้ชาวบ้านเรียกว่า "บุ้งร่าน" หรือ "หนอนร่าน" ตัวเขียวๆ เล็กๆ แต่โดนเข้านิดเดียวเป็นแสบร้อนและเจ็บมากค่ะโชคดีที่หนอนร่านนี้ มีแค่เป็นช่วงสั้นๆ ปีละครั้งมั๊งคะ

 

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์P โอ้โห หากจับภาพผีเสื้อเกาะบนดอกประไหมสุหรีสีแดงแจ่มนี้ได้คงจะงามมากเลยนะคะ

คุณพี่มีดอกไม้สวยๆและแปลกตาหลายชนิดนะคะ ชนิดนี้นุชเพิ่งเคยเห็นค่ะ ตอนอยู่เชียงใหม่มีดอกชื่อเดียวกันนี้แต่เป็นสีม่วงค่ะ

ดอกไม้สวยจริงๆ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ

  • มาแวะบันทึกนี้ทีไรก็ชื่นใจทุกที
  • ถ่ายภาพนก แมลง นี่ยากมากครับ
  • เพราะมันไม่เกาะนิ่งๆ ให้ถ่าย
  • ในภาพเสียดาย คอนทราสต์น้อยไป สีเลยไม่จัด
  • หนอนร่านเคยเจอนานแล้วครับ ปวดแสบปวดร้อนจริงๆ

สวัสดีครับอาจารย์

  • ภาพผีเสื้อสวยมากครับ
  • ธรรมชาติเมืองไทยยังไงก็สวยที่สุด
  • เภสัชพฤกศาสตร์นั้นเป็นเรื่องที่เมืองไทยได้เปรียบประเทศอื่น แต่กลับได้รับการสนับสนุนน้อย (เกินไป) อาจารย์เล่าเนื้อหาได้น่าติดตามดีครับ
  • สวัสดีค่ะ   เข้ามาชมผีเสื้อสวยๆด้วยค่ะ
  • ที่บ้านก็มีวัชชพืชเยอะ คงจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับผีเสื้อแสนสวยค่ะ

พี่นุชขา ถ่ายได้อย่างนี้ก็เก่งแล้ว  อ่านเพลินเลยค่ะ

 

สวัสดีค่ะ

P อาจารย์นารีรัตน์ ขอบคุณค่ะที่แวะมาชมผีเสื้อและบอกข่าวให้ไปอ่านเรื่องราวดีมากๆ ยินดีค่ะที่ให้เกียรตินำไปเชื่อมโยงกับบันทึกดีๆของอาจารย์ พอดีกับที่พี่เขียนเรื่องมึนกับนักศึกษาปริญญาเอกที่อีกบล็อก เป็นปัญหาของประเทศจริงๆนะคะ 

P คุณธวัชชัย ขอบคุณค่ะในคำชม เขียนเรื่องธรรมชาติๆก็อย่างนี้แหละค่ะ เย็นใจ สบายตา

P วีระพงษ์ ประสงค์จีน ได้ตามไปที่หน้าข้อมูลของอาจารย์แล้ว น่าทึ่งมากค่ะ คงได้มโอกาสขอความรู้บ้างนะคะ ก็สนใจเภสัชพฤกษศาสตร์ตามประสาคนธรรมดาที่สนใจประโยชน์ของต้นไม้ใบหญ้าและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเราค่ะ ความรู้วิทยาศาสตร์จะเป็นสิ่งที่มาช่วยให้เรามีความรู้ที่ชัดเจน ใช้การได้จริงมากขึ้น จะนำไปสู่การพึ่งตนเองได้ในการดูแลสุขภาพ การเจ็บป่วยเล็กๆน้อยของเรานะคะ

เอื้องแซะ  ยินดีมากค่ะที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ยังมีผีเสื้ออีกหลายชนิด จะทยอยนำมาลงให้ชมกันนะคะ แล้วมาเยี่ยมกันเรื่อยๆนะคะ

วัรังรอง   น้องกุ้งนั่นเอง ขอบคุณค่ะที่มาอ่านและให้กำลังใจในฝีมือถ่ายภาพ หากภาพดี บอกว่าเราเก่ง หากไม่ดี โทษกล้องว่าก็มันอัตโนมัติ ปรับอะไรก็ไม่ได้ อิ อิ

เมื่อไหร่จะมานั่งทานเมี่ยงก๋วยเตี๋ยว ชมเหล่าผีเสื้อกันดีล่ะคะ

P คุณอุ๊คะ จะรายงานว่าดอกหญ้างวงช้างหอมไหม เมื่อเช้าไปเก็บดอกมาดม และขยี้แล้วดมด้วย ไม่รู้สึกว่ามันหอมแบบดอกไม้หอม แต่มีกลิ่นแบบฉุนนิดๆออกจะเหม็นเขียว แต่ผีเสื้อคงชอบค่ะ

     เวลานำตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติแบบนี้ ชีวิตดูจะมีคุณค่าและมีความสุขเย็นสบายดีนะครับ ได้รับทั้งความรู้และความรู้สึกที่ดี ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆนะครับ

สวัสดีคะคุณนุช

หมุเคยเห็นต้นพืชคล้ายหญ้างวงช้างที่บ้านมุกดาหาร หรืออาจจะเป็นประเภทเดียวกัน จำได้ว่าสมัยก่อนนั้นเป็นเด็ก ๆ มีเยอะมากและคิดว่าเป็นต้นหญ้าธรรมดาที่ขึ้นทั่วไปอาจจะเป็นชนิดพันธุ์แปลก ชอบเก็บช่องวงขาว ๆ ของเขามาเล่นขายของขายผักตามประสาเด็ก ๆ 

โตขึ้นก็รู้สึกเสียดายที่เราไม่รู้จักเขา คงต้องศึกษาเพิ่มเติมกว่านี้

..........

บ้านริมน้ำป่าสักมีเรื่องราวของธรรมชาติ วัฒนธรรมของวิถีชีวิตอันแสนงาม ขอบคุณนะค่ะคุณนุช

สวัสดีค่ะคุณหมอP นิพัธ กิตติมานนท์ ชีวิตที่เป็นเช่นที่คุณหมอกล่าวนั้นมีความสุข สงบเย็น สบายดีจริงๆค่ะ ทุกวันสิ่งที่พบเห็นล้วนมีชีวิตชีวา สุขบ้าง มีปัญหาบ้าง จนแทบอยากจะนำมาเล่าทุกเรื่อง บางเรื่องพอตัวเองมาคิดๆดูว่าเป็นเรื่องธรรมด๊า ธรรมดา หากนำมาเล่าทุกเรื่อง คงมีคนสงสัยว่าติงต๊องหรือไม่ก็หลงบ้าน หลงปลื้มกับชีวิตตัวเองจนเกินไป

อย่างวันนี้นะคะป้านวลห่อข้าวต้มมัดมาแบ่งให้ ดูฝีมือห่อของแกแล้วชื่นชมมาก หรือลุงหลบ ชาวบ้านอายุหกสิบกว่าปีแต่ยังแข็งแรง ฝีมือขุดแต่งดินและล้อมต้นไม้เพื่อเตรียมย้ายก็ทำได้ยอดเยี่ยม ช่วงอาทิตย์นี้แกมาทำการขุดล้อมต้นไม้ให้หลายต้น รอบบ้าน จนบ้านเป็นหลุมๆไปทั่ว หรือแค่น้องหมาวิ่งมาประจบ ก็เป็นความสุขไปซะทุกเรื่องค่ะ

ขอบคุณค่ะที่มาแวะเยี่ยม หวังว่าคงมีโอกาสได้ต้อนรับคุณหมอและทีมงานที่บ้านบ้างนะคะ

สวัสดีค่ะคุณหมูP อ.หมู  ที่คุณหมูเคยเห็นก็คงเป็นหญ้างวงช้างมั๊งคะ เพราะเขาขึ้นทั่วไป วันหลังคุณหมูลองถามคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เฒ่าผู้แก่ให้บ้างซีคะว่าท่านเคยใช้ไหม แล้วใช้อย่างไร ที่บ้านที่อยุธยาที่อยู่นี้ นุชเป็นคนต่างถิ่นไม่รู้จักผู้คนมาก และเท่าที่สอบถามแถวนี้ก็ไม่มีใครที่มีความรู้มากนักเรื่องพืชสมุนไพร กำลังว่าจะนำภาพที่ถ่ายมาอัดเป็นภาพสี ทำแฟ้ม จะได้เอาไปถามใครๆได้ และคงต้องหาหนังสือพืชผัก สมุนไพรไทยมาไว้ค้นคว้าให้มากขึ้นด้วยค่ะ รู้สึกสนุกที่จะทำ สักวันหนึ่งอาจเป็นประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาก็ได้นะคะ

สวัสดีค่ะ อ.พี่นุช

  • ถ่ายรูปผีเสื้อได้สวยมาก
  • ป้าแดงกำลังสนใจ เรื่องสมุนไพรค่ะ คิดไว้ว่าจะไปเรียนทางด้านนี้
  • ขอเก็บความรู้จากที่นี่ด้วยนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณมณีแดง คนสวย แซ่เฮ คุณแดงสดใสส่องประกายดีจริงๆค่ะ ดีจังที่จะไปเรียนเรื่องสมุนไพร เขามีสอนกันที่ไหน อย่างไรคะ น่าสนใจมาก

เอาไว้ให้คุณแดงรีบๆไปเรียนจะได้มาสอนพี่บ้าง เราจะได้มีคนให้ถามเนอะ

สวัสดีค่ะคุณพี่"คุณนายดอกเตอร์"ที่เคารพรัก

ชอบจังเลยค่ะ น่ารักจัง ชอบธรรมชาติเหมือนกันค่ะ..

ด้วยความเคารพรัก

หนูหมูอ้วนเองค่ะ

 

สวัสดีค่ะน้องอาจารย์หมูอ้วน J. Maglin เรียกพี่ว่าพี่นุช ก็ได้นะคะ สั้นๆดีค่ะ

มาชมธรรมชาติกันบ่อยๆที่นี่ก็ดีค่ะ จะได้คิดถึงเมืองไทยมากๆ^__^

เดี๋ยวบ่ายนี้กำลังจะมาลงให้อ่านอีกเรื่อง ขอตัวไปทานข้าวกลางวันก่อนค่ะ มัวไปตอบความคิดเห็นในอีกบล็อกของพี่นะค่ะ หิวข้าวจัง

สวัสดีค่ะพี่นุช เพิ่งตามมาดูผีเสื้อกับหญ้างวงช้างค่ะ ธรรมชาติรอบๆ ตัวนั้นสวยงามจริงๆ นะคะ เมื่อเช้าเดินผ่านห่านหรือเป็ดไม่ทราบคู่หนึ่งอยู่ริมทางน้ำที่ต้องเดินผ่านตอนไปโรงเรียนทุกวัน เห็นแล้วชื่นใจ ฟังเสียงน้ำไหลกับฟังวิทยุ classical music จากมือถือไปด้วย นับเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ดีจริงๆ ค่ะ

ไปค้นใน net หารูปที่หน้าตาเหมือนก็ได้มาตามนี้แล้วค่ะ เขาเรียกเป็น geese ก็น่าจะเป็นห่านนะคะ

Photograph by Gabrielle Domanski

source: http://www.tamworth.gov.uk/

สวัสดีค่ะอาจารย์กมลวัลย์ หลงตาไม่ได้เข้ามาตอบอาจารย์ที่นี่ซะหลายวัน ขอโทษค่ะ

นึกภาพตามไปกับบรรยากาศที่อาจารย์เล่านะคะ เวลาอยู่ต่างประเทศนั้นเราจะได้อยู่กับตัวเอง เห็นความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นชัดเจนมาก และธรรมชาติรอบตัวก็หาไม่ยาก ด้วยทุกเมือง ทุกชุมชนเขาจะมีพื้นที่ธรรมชาติสำหรับเหล่าสัตว์และผู้คนเสมอ น่าแปลกนะคะ ที่สิ่งเหล่านี้บ้านเราหาได้น้อยมาก เวลาจะมีสวนสาธารณะก็มักเป็นแบบแข็งๆ จัดแต่ง เหลือความเป็นธรรมชาติน้อยมาก และบางครั้งก็เป็นที่ที่คนธรรมดาไม่กล้าจะไปใช้เพราะเป็นที่ยึดครองของคู่รักบ้าง ไม่ปลอดภัยจากการถูกจี้หรือทำร้ายบ้าง

อ่านบันทึกของอาจารย์ด้วยความสุขค่ะ ได้เห็นกิจกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน และได้เห็นภาพสะท้อนของการที่อาจารย์นำการปฏิบัติธรรมไปใช้ในแต่ละวันด้วย เป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมค่ะ

สวัสดีค่ะ

ปิ๊กเพิ่งทราบว่ามันคือหญ้างวงช้างอ่ะ  นอกจากได้รู้ชื่อแล้ว ยังได้รู้คุณประโยชน์ของหญ้างวงช้างอีก  ขอบคุณนะคะ ^_^

มีใครรู้บ้างว่า น้ำหวานในดอกไม้ชนิดไหนกินได้ และจะหาได้มากจากไหน และวิธีอะไร

ช่วยหาคำตอบให้ที

แล้วน้ำหวานในดอกไม้มีกี่สี กี่กลิ่น แล้วมีปริมาณเท่าไรในหนึ่งดอก

ตายล่ะ ตกตอบน้องปิ๊กP  จินตนา อิ่มรักษา ไปเป็นเดือนๆเลยนะเนี่ย หากไม่มีำถามจากคุณไพฑูรย์ส่งมาให้ต้องเข้ามาบันทึกนี้ น้องปิ๊กคงคิดว่าพี่ช่างเฉยเมยต่อการมาเยี่ยมของน้องจริงๆ ใครจะไปทำเช่นนั้นได้ ขอโทษนะคะ

หญ้างวงช้างหมดรุ่นไปแล้ว และตอนนี้น้ำท่วมท่าน้ำ โคลนทับต้นหญ้า วัชพืชต่างๆหมดเลย หลังน้ำท่วมต้องได้ลุ้นว่าจะมีอะไรขึ้นให้ชื่นชมบ้างค่ะ

ไม่ทราบคุณไพฑูรย์ ต้องการข้อมูลที่ถามนี้ไปใช้งานอะไรคะ เป็นคำถามที่ใหญ่มาก น่าจะต้องเป็นการค้นคว้า เสาะหา มากกว่าจะได้ความรู้สำเร็จรูปนะคะ

ดูแล้วสบายใจจริงๆ เลยค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณP เพ็ญรุ่ง ที่มาแวะเยี่ยมชมเรื่องราวธรรมชาติจากชนบทกรุงเก่าค่ะ เรื่องราวจากธรรมชาตินั้นดูเมื่อไหร่ก็ให้ความสบายใจ ไม่รู้เบื่อนะคะ

สวัสดีค่ะ

วันนี้ได้เข้ามาอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับต้นงวงช้าง เหตุผลก็เพราะว่าอยากเห็นผีเสื้อเยอะๆแล้วก็คิดไปว่าจะทำอย่างไรดีให้มีผีเสื้อมาอยู่ใกล้ๆเราเยอะๆ ก็เลยคิดจะปลูกต้นงวงช้างค่ะ เมื่อก่อนตอนเด็กๆ เห็นเยอะเลยค่ะแต่ว่าตอนนี้หายากมากค่ะ ถ้าในอนาคตทำได้นะคะจะลงรูปให้ดูค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท