GotoKnow

การสัมมนาสหสาขา ม.มหิดล (Interdisciplinary Conference) นักวิจัยและปฏิบัติการสร้างสุขภาพชุมชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2549 15:54 น. ()
แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2555 05:01 น. ()

               การพัฒนาสุขภาพในอดีต มุ่งเน้นบริการสุขภาพที่มีความเจ็บป่วยเป็นศูนย์กลาง (Illness-Based Health) การเอาชนะโรค ตลอดจนการลงทุนสร้างผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาล วิทยาการและเทคโนโลยีการ รักษาโรค ได้รับความสำคัญเป็นอย่างสูง ซึ่งเมื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆมีความซับซ้อน ความจำเป็นต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ก็พบว่าแนวทางดังกล่าวหาใช่คำตอบเดียว ในระยะต่อมา กระบวนทัศน์ทางสุขภาพจึงได้ขยายขอบเขตจากการเอาเชื้อโรคและความเจ็บป่วยเป็นตัวตั้ง สู่การถือเอาคน ชุมชน และคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง สุขภาพในความหมายที่กว้าง จึงหมายถึงโอกาสที่จะมีความสุขและพัฒนาชีวิตไปสู่จุดหมายอื่นๆ อีกหลายด้าน ไม่จำกัดอยู่ที่การลงทุนเพื่อเอาชนะความเจ็บป่วยแต่เพียงมิติเดียวเท่านั้น

         ในระยะ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การวางแผนพัฒนาของประเทศต่างๆ จึงมักครอบคลุมนโยบายและ แผนปฏิบัติการที่มุ่งดำเนินการด้านต่างๆไปด้วยกัน เช่น ด้านประชากร สุขภาพ อาหาร สิ่งแวดล้อม และสังคมเศรษฐกิจ องค์ความรู้และวิธีวิทยาการพัฒนาในปัจจุบัน จึงสะท้อนความจำเป็นในลักษณะดังกล่าวไปด้วย เช่น สร้างความร่วมมือกันหลายฝ่าย ปฏิบัติการหลายด้าน ครอบคลุมหลายวัตถุประสงค์ บูรณาการความรู้และความเชี่ยวชาญหลายสาขา เหล่านี้เป็นต้น จึงนับได้ว่า การดำเนินโครงการที่ใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง มากกว่าใช้ความรู้แบบแยกส่วนเป็นตัวตั้ง เป็นความคืบหน้าอย่างหนึ่งของการจัดการความเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับความจำเป็น ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งประเทศไทยเป็นที่ยอมรับว่าได้ริเริ่มและพัฒนาในแนวทางนี้มากพอสมควร

           มหาวิทยาลัยมหิดล มีนักวิจัยและนักวิชาการที่ทำวิจัยและทำโครงการทั้งทางด้านการสร้างเสริมสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตในแนวทางดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย มีความเคลื่อนไหวเพื่อเรียนรู้และพัฒนาวิธีวิทยาเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับความจำเป็นอยู่ตลอดเวลา เช่น การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR) การวิจัยบูรณาการทางสุขภาพกับปฏิบัติการสังคม (Health-Social Research and Social Action Integration) การสร้างองค์กรและพัฒนาศักยภาพชุมชนโดยกลุ่มปฏิบัติการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมหรือประชาคมวิจัย (CO-PAR) การวิจัยและปฏิบัติการเชิงพื้นที่ (Are-Based Participatory Action Research) เป็นต้น การดำเนินการ ดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นกระบวนการเป็นตัวตั้ง จึงเหมาะสมต่อการบูรณาการสุขภาพเข้าสู่โครงการด้านอื่น และบูรณาการความจำเป็นด้านอื่นให้เข้ามาในโครงการสุขภาพ การพัฒนาทุกด้านซึ่ง   ริเริ่มด้วยเงื่อนไขแตกต่างกัน กับการสร้างสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงชน (All for Health and Health for All) ก็จะเกื้อหนุนกันอย่างกลมกลืน สอดคล้องกับแนวคิดของการสาธารณสุขมูลฐานและการสร้างเสริมสุขภาพเป็นอย่างดียิ่ง

            อย่างไรก็ตาม การวิจัยและดำเนินโครงการในแนวทางดังกล่าวนี้ มักมีองค์ประกอบการปฏิบัติที่ยุ่งยากหลายด้าน อีกทั้งกลุ่มซึ่งมีฉันทะที่จะทำ ก็มักเป็นคนกลุ่มเล็กน้อยที่กระจายอยู่ตามคณะและสถาบันต่างๆของมหาวิทยาลัยมหิดล ต้องเรียนรู้จากการแก้ปัญหาในเงื่อนไขแวดล้อมที่หลากหลาย จนอาจเป็นเรื่องเฉพาะตนหรือเป็นบทเรียนนอกตำราที่อยู่กับการปฏิบัติ ซึ่งถ้าหากมีวิธีร่วมกันพัฒนาตามบริบทของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ก็จะเกิดความงอกงามทางวิชาการ อีกทั้งเป็นความมั่งคั่งทางปัญญา ที่จะมีบทบาทต่อการพัฒนาต่างๆมากยิ่งขึ้นๆ

              ด้วยความสนใจเป็นอย่างนี้  ผมกับหมู่มิตรที่ทำงานในแนวทางดังกล่าวนี้ด้วยกัน ก็เลยขออาสาจัดสัมมนานักวิจัยสหสาขา (Interdisciplinary Conference) ขึ้นที่สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน  17  มีนาคม  2549 เป็นเวทีที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ทว่า แต่เดิมนั้น  จัดจำเพาะกลุ่มนักวิจัยที่ทำวิจัยข้ามคณะในโครงการเดียวกัน แต่ครั้งที่สองนี้ ขับเคลื่อนจากหลายคณะทั่วมหาวิทยาลัยมหิดล ขาดอยู่ก็แต่บางคณะที่คิดว่าไปไกลแล้วซึ่งจะเชื่อมต่อในอนาคต  จึงเชื่อว่าจะระดมประสบการณ์ของนักปฏิบัติ  เสริมพลังปัญญาในหมู่นักวิจัยและนักปฏิบัติด้วยกัน และเป็นฐานการจัดการทางสติปัญญาสำหรับการพัฒนาไปข้างหน้า ขึ้นมาได้อีกทางหนึ่ง สิ่งที่ได้จากการสัมมนา จะนำมาเรียบเรียงและเขียนเป็นองค์ความรู้ของนักปฏิบัติ  ทำเป็นสื่อและตีพิมพ์  สะท้อนกลับไปให้แวดวงคนทำงานต่อไปอีก  ก็เลยวางกรอบเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเวทีดังนี้ครับ (1) สิ่งที่กำลังทำอยู่และการดำเนินการในอนาคต (2) การเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมที่สะท้อนอยู่ในความเป็นจริงของชุมชน (3) การพัฒนาทางระเบียบวิธี (4) กลวิธีการสร้างคนและการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ (5) กลวิธีการพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น (6) การพัฒนาทางด้านการสื่อสารและการเรียนรู้ทางสังคม  และ(7) ประเด็นการวิจัยและพัฒนาในอนาคต และข้อเสนอแนะทั่วไป 



ความเห็น

ชายขอบ
เขียนเมื่อ

     ผมอ่านไปแล้วครั้งหนึ่ง วันนี้กลับมาอ่านอีกครั้งเพื่อ ลปรร.ครับ ด้วยเหตุที่จะบอกว่าตรง “จริต” มาก และได้ปรึกษากับ นพ.ยอร์น จิระนคร (นพ.สสจ.พัทลุง) ในฐานะนักวิจัยร่วมกับผม ในโครงการ “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน“ และคุณนิภาพร ลครวงศ์ (Dr.Ka-poom) หนึ่งในทีม”น้ำ (H2O)” ซึ่งเป็นทีมวิจัยย่อยในโครงการนี้ ถึงประเด็น concept ที่ได้นำเสนอไว้ในบันทึกนี้ จึงอยากเชื่อมต่อถึงกัน เพื่อได้ ลปรร.กัน และเพื่อขอความร่วมมือจากทีมงานของท่าน ได้ช่วยเติมเต็มให้แก่ทีมงานไตรภาคีฯ ด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย