ถอดเทป....กรมส่งเสริมการเกษตร คุยกันเรื่อง KM (บทเรียน 7 เดือน !)


         พอดีได้เห็นกรมส่งเสริมการเกษตร เขาถอดเทปวงเสวนาในงาน "สรุปบทเรียนการจัดการความรู้ 1 ปีและแนวทางการดำเนินงานในอนาคต"   เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 48  ซึ่งมี อ.ประพนธ์   ผาสุขยืด,  อ. ทรงพล   เจตนาวณิชย์, ตัวแทนกรมส่งเสริมการเกษตร จ. นำร่อง และทีมผลักดัน KM กรม  ร่วมวงเสวนากัน   อ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์มากสำหรับคนทำ KM  ทั้งในองค์กร, หน่วยงาน หรือกับชาวบ้าน/ ชุมชน   เลยขอเอามาเผยแพร่ลงใน Blog ค่ะ 

วันที่ 26 ต.ค. 48

ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด   :
กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นกรมแรก ๆ ที่จับ KM ความภูมิใจของผมเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ได้นำเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ KM ภาคราชการมาคุยกันที่ ร.ร.เอเชีย นั้นคุณทวีที่นครพนม พูดอะไรที่ประทับใจและมีหน่วยงานมาร่วมเยอแยะ มีทั้งโรงพยาบาลและหลาย ๆ หน่วยงาน  แต่มีตัวแทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร คือ คุณทวี วันนั้นเขาไปเล่าอะไรต่าง ๆ ประทับใจนะ ตรงนี้ผมว่าอยากเห็นท่านเป็นต้นแบบ คำว่าต้นแบบอย่าไปคิดว่าต้องเหมือนกับที่ผมยกตัวอย่างไม่ใช่ ๆ วันนั้นที่ผมยกตัวอย่างเป็นเพียงผมเล่าให้ฟัง ที่ ร.ร.มารวย รู้สึกเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว เดือนมีนาคม ทำหน้าที่เหมือนกับว่าอธิบายคร่าว ๆ แล้วพยายามยุให้ท่านขึ้นจักรยาน แล้วผมก็ขึ้น แล้วเราก็หวังว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งท่านก็ขี่ได้เอง ถ้าท่านขึ้นอานแล้วขี่นะ  7 เดือนนี้บางจังหวัดอาจทำได้ อันนี้ไม่รู้จริง ๆ ว่าท่านทำไปแล้วแค่ไหน ผมยังไม่ได้ดูเอกสารที่ท่านทำมา
อ. ทรงพล  เจตนาวณิชย์ :
ผมอยากเสริมว่า KM ส่วนแรกต้องรู้เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ว่าทำไปเพื่ออะไร ว่าจะใช้ประโยชน์ของปลาว่าจะใช้ว่ายไปทางไหน คู่มือจะต้องชี้ทางได้ ส่วนที่สองพอเรารู้เป้าหมาย รู้ทิศทาง เรารู้ที่จะทำเพื่อให้ได้แล้ว ซึ่งส่วนนี้บทบาทส่วนใหญ่เราก็บอกว่าต้องเป็นส่วนของ CKO เพราะ CKO เปรียบเสมือนคนที่เหมือนเหยี่ยว เป็นคนมองกว้าง มองไกล เหมือนเรดาร์คอยมองทิศทางว่าตัวเองจะไปทางไหนดี เป็นคนกำหนดหัวปลา เพราะฉะนั้น CKO ในจังหวัดมีสถานการณ์ต้องเปลี่ยนแปลงมากเลย ต้องแสกนเรดาร์แล้วดูว่าตัวเองจะเดินไปในทิศทางไหน ส่วนกลางก็จะเป็นส่วนในเรื่องของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด  :
ถ้ามอง KM เป็นขั้นตอนนะ  ต้องพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็นคุณอำนวย แล้วก็เอาคุณกิจที่เป็นเกษตรกรหรือกลุ่มแม่บ้านมาทำ KA หรืออะไรต่าง ๆ และทำให้เห็นว่าจุดสูงสุดหรือประโยชน์ที่ได้ ในปีแรกเราอาจจะติดยึดกับเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้แนวคิดและหลักการจัดการความรู้ให้ชัดเจน แต่ในปีถัด ๆ ไป เราอาจจะไร้กระบวนท่ามากขึ้น วิธีที่รู้ว่าไร้กระบวนท่าไหม หมายว่า ความว่าในภาวะวิกฤติ ผมไม่ได้มาบอกว่าผมอยู่ในขั้นไร้กระบวนท่าแล้วนะ แต่ภาวะวิกฤติอย่างที่บอกคือ เจอคนลองของ เจอคนที่บอกว่าไม่เอาแล้ว  ประเมินอย่ามาพูดอะไรกับผม ภาวะนั้นแหละครับเจอะแล้ว   แล้วจบแบบแฮปปี้ ตอนเริ่ม ๆ อย่างตึงเครียดแต่จบได้ Happy แสดงว่าเราไม่ยึดติดกับเครื่องมือ มันเป็นสภาวะนะสำหรับผมนะใครจะไร้กระบวนท่าจะต้องวิกฤติแบบเกือบจะเอาตัวไม่รอด ผมอาจจะเหมือนท่านผมชอบอ่านกำลังภายใน พระเอกฝึกกำลังภายในมาเยอะ ฝึกลมปราณ ฝึกกำลังภายใน แต่มันยังอยู่ในกระบวนท่าถูกไหม จนกระทั่งมังกรคู่สู่สิบทิศสหาย ผมจำรายละเอียดไม่ค่อยได้แล้ว สองสหายมัน     จับเข้าไปท้ายท้องเรือแล้วติดหายใจไม่ได้ มันเลยฮึดเหมือนปลาหายใจได้ในน้ำ หลังที่ฝึกไว้เหมือนปลาเลย  ถ้าไม่เจียนตายไม่ได้ครับ สภาพนั้น ๆ เหมือนสภาพเฉียดตาย แต่เราคงไม่หนักหนาขนาดนั้น เพราะฉะนั้นมันเป็นจุดวิกฤตระหว่างตายหรือจะรอด อันนี้เป็นมุมมองของผมอยากจะฟังของ  อ.ทรงพลด้วย
อ. ทรงพล  เจตนาวณิชย์   :
ของผมผมดูจากผู้เข้าร่วมนะ ตัววัดผลของผมผมบอกพวกเราเมื่อเช้าว่า หน้าที่ของพวกเราคืออารมณ์ความรู้สึกของผู้เข้าร่วม เพราะฉะนั้นต้องสังเกตว่าผู้เข้าร่วม เพราะฉะนั้นต้องสังเกตว่าผู้เข้าร่วมเขามีสายตาดูแล้วมีความสุขกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือเกิดการปิ้งกับสิ่งที่อาจารย์ได้พูดเมื่อกี้นี้ ที่ผมบอกเมื่อกี้ว่าคุณอำนวยกับคุณลิขิตมีภารกิจหลักที่จะต้องบริหารการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บริหารเนื้อหาเวลา หรืออะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นต้องสังเกต บ่อยครั้งที่เรายึดติดเครื่องมือแล้วเราฝืด แต่ถ้าเราบอกว่าเครื่องมือนี้มันชักฝืดแล้ว เปลี่ยนเครื่องมือใหม่ สถานการณ์จะเป็นตัวบอกเรา อย่างที่อ.ประพนธ์บอกเมื่อเจอวิกฤติ สถานการณ์มันฝืด มันไปต่อไม่ได้ คำถามก็คือว่าเรามีเครื่องมืออย่างอื่นไหม มีลูกเล่นอื่นสำรองไหม แต่เราเปลี่ยนปรับใช้มันจะไหลไปได้ สถานการณ์จะดีขึ้น ตัวนั้นจะบอกเราแล้ว ว่าเราคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้หรือเปล่า เพราะว่าตัวเราจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เอาบทเรียนเป็นตัวตั้งไม่เอากิจกรรมหรือเครื่องมือเป็นตัวตั้ง เราจะต้องเฝ้าสังเกตผู้เรียน เฝ้าสังเกตอาการของผู้เรียนอยู่ตลอดเวลานะครับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เนื่องจากผู้เรียนมีความรู้และประสบการณ์ที่ต่างกัน เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งเราพบว่าไม่ตอบสนองกับผู้เรียนได้ครบทุกคน อันหนึ่งคือการเล่นเล่นได้กับทุกคน แต่ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการเล่นอีกนะ กิจกรรมบางอย่างคนสูงอายุไม่เอาเล่นไปมันฝืน แต่บางอย่างใช้กับทุกคนได้ ผมคิดว่าคุณอำนวยเองหรือคนจัดกระบวนการจะต้องฝึกฝนวิทยายุทธ์เหล่านั้น ในการมีเครื่องมือที่หลากหลายและพร้อมที่จะนำมาใช้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเรียนรู้จากการประเมินอยู่ตลอดเวลา ว่าใช้ตรงนี้ได้ผล บางครั้งเครื่องมือใช้ในวันนี้กับกลุ่มนี้ได้ผลแต่เอาไปใช้กับอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะไม่ได้ผลนะครับ    เพราะฉะนั้นสถานการณ์จะเป็นตัวบอกเราเอาว่าเราจะลื่นไหลได้หรือเปล่า ตัวที่จะบอกเราได้ก็คือความพึงพอใจจากผู้เข้าร่วมนั่นแหละ
นายสุทธิชัย ยุทธเกษมสันต์   :
กระบวนการเบื้องต้นของ KM ตามที่จังหวัดไปอบรมมาจาก ก.พ.ร. เหมือนว่าจะให้รวบรวมข้อมูลจากหลาย ๆ ที่เอาไว้ในแหล่งเดียวกัน และให้มีกระบวนการให้การบริการความรู้ไปสู่ผู้ที่ต้องการอยากทราบความรู้ต่าง ๆ ระบบการจัดการความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้จากอาจารย์บรรยายว่าไม่ใช่ KM ผมก็เลยสับสนว่าใช่ KM หรือเปล่า แล้วคล้าย ๆ ว่าจังหวัดจะต้องเดินหน้าตรงนี้ด้วยนะครับ อาจารย์ลองวิจารณ์ตรงนี้ดู ถ้าจะให้จังหวัดไปดำเนินการต่อเนื่องควรจะเป็นอย่างไร จึงจะดีที่สุดครับ
ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด   :
การที่จังหวัดจะต้องรวบรวมความรู้ไว้ในที่ที่เดียวกัน คือ ให้คอนเซ็บของโนเลจเซ็นเตอร์เป็น KM หรือไม่ เป็นครับแต่เป็นครึ่งเดียว ท่านน่าจะรู้แล้วว่าเราเป็นครึ่งไหน ไม่ว่าจังหวัดบริษัทก็เหมือนกับที่ สคส. พยายามที่จะเน้นทางขวา เพราะเรารู้ว่าวงทางซ้ายอย่างไรมันก็ต้องทำอยู่แล้ว บางครั้งทำจนไม่ได้ดูจนความรู้ล้น เป็นความรู้ที่ไม่ทันสมัยเป็นการเอาเอกสารมาแสกน เป็นความรู้ที่ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ก็เลยไม่เน้นเพราะถือว่าทำอยู่แล้ว แต่ถ้าทำ KM ให้ครบเราจะต้องทำทั้ง 2 วงแต่ของเราเรารู้แล้วแหละว่าเราจะต้องเน้นวงทางขวา แล้วเราก็พยายามฝึกให้คนเป็นคุณลิขิตและพยายามถอดประเด็น มันก็จะมาเป็นความรู้วงทางซ้าย ความรู้ในกระดาษ (Explicit Knowledge) และเป็นความรู้ที่ทันสมัยด้วย และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลากุศโลบายเราก็ใช้คนเป็น center ที่จะหมุนเวียนข้อมูล แต่เราไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ให้ความสำคัญนำความรู้ที่มีอยู่แล้วนะ แต่เรากลัวนิด ๆ ว่าจะนำความรู้พวกนี้ไปใส่ลงไปใน Computer เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นคำตอบก็คือเป็นแต่เป็นครึ่งเดียวครับผม  และในการจัดการความรู้ต้องเน้น Action เป็นตัวหลัก ตัวเขามี Action เป็นตัวหลัก เขาก็จะไม่ถามว่าได้ความรู้แล้วเอาไปทำอะไร  แล้ว จะไปทำโน่นทำนี่  ทำอะไรต่อเปลี่ยนหัวเรื่องเป็นเรื่องโน้นเรื่องนี้กันดีกว่า เราก็เข้าใจนะโดยเฉพาะ สคส. ในช่วงแรกก็เหมือนกันเป็นเพราะเราเน้น Action น้อยเกินไป เราไปเน้นตัวองค์ความรู้มากเกินไป เดี๋ยวผมจะต้องไปนั่งคิดกุศโลบายใหม่ ๆ แล้วว่าจะขยายซึ่งตอนหลัง ๆ ผมพยายามใช้คำพูดว่าหลังจากแลกเปลี่ยนกันแล้วถ้าไม่มี Action แสดงว่า KM ไม่ได้ผลแล้วนะ เพราะเป้าหมายไม่ได้ต้องการองค์ความรู้ เพราะนั่นเป็นเพียงผลพลอยได้ เพราะเป้าหมายทำให้เกิด Action มากกว่า คิดในแนวเดียวกันว่าจะทำอย่างไรให้เกิด Action แล้วมีความสุข ความรู้ทั้งได้เป็นผลพลอยได้ ถ้าแลกเปลี่ยนกันยังไม่พอก็สามารถแลกเปลี่ยนในเรื่องเดิมต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหัวข้อก็ได้ แต่ถ้าทุกคนอิ่มแล้วพอแล้วก็เปลี่ยนหัวข้อก็จะได้องค์ความรู้มากขึ้น
นายทวี  มาสขาว  :
สวัสดีครับ ผมทวี จากจังหวัดนครพนม อยากจะเรียนเป็นข้อสังเกตสัก 2-3 ประเด็น ก็คือ ประเด็นแรก ขณะนี้ถ้าเห็นในบางสิ่งบางอย่าง เดิมที่เรามีระบบที่เอาเจ้าหน้าที่พบกันทุกเดือนในระดับอำเภอ  และทุกสองเดือนในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นระบบเป็นวัฒนธรรมขององค์กรที่เข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ว่าในเนื้อหาที่แชร์ริ่งกันนั้น เราจะให้นักวิชาการเป็นผู้นำเสนออยู่คนเดียว ก็จะเห็นได้ว่าเวลาที่เราไปทำ KM นักวิชาการระดับพื้นที่ (อำเภอ) มีความชำนาญมากกว่า นักวิชาการคนที่นำเสนออีก เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ก็ทำให้เราเห็นศักยภาพของคนขององค์กร เพราะฉะนั้นถ้าในสำนักงานเกษตรอำเภอทำหน้าที่คุณอำนวยด้วยก็จะดี ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นผู้สั่งการอย่างเดียว ในการพัฒนากระบวนการทำงาน ผมคิดว่ากรมส่งเสริมเองก็น่าจะมองเห็นว่า ในงานเอาคนมาพบกันมาแชร์ริ่งกัน เพื่อแลกเปลี่ยนตรงนี้ น่าจะได้ปรับกระบวนการ เดิมทีเอาปัญหาเป็นตัวตั้งว่าในเดือนที่ผ่านมาสองเดือนที่ผ่านมามีปัญหา อุปสรรคอะไรบ้างนั้นคือเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง  เพราะฉะนั้นไม่ได้เน้นในศักยภาพที่เกิดขึ้น จุดดี จุดเด่น หรือกระบวนการที่พัฒนาได้อย่างดี เราไม่ได้ให้โอกาสเอาตัวนี้มาปรับ จึงคิดว่าระบบส่งเสริมการเกษตรจะต้องปรับ โดยอาศัยกระบวนการของ KM เข้าไปด้วย อีกประการหนึ่งคือบันทึกเรื่องเล่า อันนี้ก็เป็นปัญหาค่อนข้างมาก เขาทำได้ไปดูไปสังเกตเขาทำได้ในบางเรื่อง เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลในพื้นที่ในบางเรื่องเขามีความเก่ง  ความชำนาญค่อนข้างมาก แต่อยากได้เรื่องเล่า ให้เขียนเรื่องเรื่องเล่าบันทึกปัญหาที่พบคือเขาไม่สามารถบันทึกได้ตรงกับสิ่งที่ทำ ทั้งประเด็นที่ได้มาก็ไม่สอดคล้องเท่าไหร่ ฉะนั้นปัญหาที่ว่าเราอยากได้คลังความรู้หรือ KA เพื่อให้รุ่นหลังหรือผู้ที่ใฝ่รู้จะได้เอาไว้เป็นบทเรียนก็ยังทำได้ยาก  เรียนถามอาจารย์แค่นี้ครับ
อ. ทรงพล  เจตนาวณิชย์    :
เรื่องบันทึกนะมันคงบันทึกได้หลายรูปแบบ ส่วนตัวผมเองที่มาทำ KM ผมก็ไม่ค่อยได้เขียนสักเท่าไหร่ แต่ผมจะเก็บไว้เป็น power point ส่วนใหญ่ผมเก็บเป็นรูปภาพ เพราะผมมีวีคิดแบบรูปภาพ เพราะการคิดแบบรูปภาพจะเป็นการคิดเชิงระบบ จะเห็นความเชื่อมโยง เห็นรายละเอียดได้ง่าย แล้วไปเขียนบรรยาย รูปภาพรูปภาพหนึ่งผมสามารถเขียนบทความได้เป็นส่วน ๆ      เนื่องจากว่าผมต้องจัดการแล้วผมต้องเคลื่อนด้วย    ผมเลยต้องจัดเก็บบันทึกแบบนั้นแต่ถ้าเขียนได้มันก็จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่จะไปทำงานในลักษณะอย่างนั้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็พยายามอยู่นะแต่ขณะเดียวกัน  ตอนนั้นที่ผมไปทำโครงการเอาบัณฑิตคืนถิ่นมาเป็นนักจัดการความรู้ที่ภาคกลาง เป็นเงื่อนไขเลยที่เราบอกว่าพวกเขาจะต้องทำบันทึกและถอดออกมาเป็นความรู้ การบันทึกของเขาฝึกบันทึก ไดอารี่ คือบันทึกประจำวัน ว่าวันนี้เห็นอะไร เกิดอะไรขึ้นในขณะเดียวกันก็ให้เขียนอารมณ์ ความรู้สึกของเขาไปด้วย ข้อคิดเห็นเข้าไปตัวเขาจะฝึกตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ แล้วเราก็ถามว่าที่เราบังคับให้เขาเขียนบันทึกเขารู้สึกอย่างไรบ้าง พบอะไรบ้าง คำตอบเขาตอบว่าการเขียนบันทึกทำให้จัดระบบความคิด ทำให้วัน ๆ หนึ่งเขาไปทำอะไรได้เยอะแยะเลย เมื่อก่อนเขาไม่ค่อยจดบันทึก เขาไม่เคยนั่งสรุป เขาไม่เคยมาจัดลำดับความคิด แต่พอได้มาจดบันทึกทำให้เขาได้มีการจัดระบบ ข้อมูลข่าวสารที่เข้ามาในแต่ละวัน  ถ้าไม่จัดระบบทำให้คิดไม่ได้ ทำให้จัดระบบเขียนหรืออะไรไม่ได้ ถ้าทำแบบนี้บ่อย ๆ จะทำให้เวลาเขามาเล่ามาพูดในที่สาธารณะ ความคิดของเขาก็สามารถถ่ายทอดได้มากขึ้น ปีสองปีที่ผ่านไปเราเห็นศักยภาพในการนำเสนอของเขาเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เพราะวัตถุประสงค์โครงการคือการพัฒนาคนว่าเขาจะเป็นนักจัดการความรู้จะต้องเป็นคนช่างสังเกต ช่างถาม ช่างคิด คิดแบบละเอียด คิดแบบเชื่อมโยง และในขณะเดียวกันก็ต้องบันทึกด้วย เพราะจริง ๆ แล้วเราพบว่าการบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ในบทบาทของคุณลิขิตที่ทำหน้าที่ตรงนี้ต้องวางวัตถุประสงค์ให้ชัดว่า    วัตถุประสงค์นั้นทำไปเพื่ออะไร  แล้วจะเกิดคุณค่าตรงไหน อย่างไร ตรงนี้แหล่ะผมคิดว่าทั้ง CKO และผู้จัดการความรู้ของจังหวัด  ต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการเคลื่อนของ KM ด้วย ถ้าหากทีมเข้าใจว่าความรู้ทั้งหลายที่ท่านเจอในพื้นที่จะมาเชื่อมโยงกับเมื่อกี้ที่ท่านถาม ในฐานะที่เราจัดการความรู้หรือส่งเสริมคุณอำนวยที่เป็นเจ้าของเราต้องรู้ข้อมูลว่าใครเก่งเรื่องอะไรที่ไหน แหล่งเรียนรู้อยู่ที่ไหน ถ้าเราไม่มีตรงนี้เราก็จะเอื้ออำนวยไม่ได้ เราจำเป็นต้องรู้ แต่เมื่อรู้แล้วเราจะมาทำอย่างไรจัดเก็บอย่างไร จัดระบบอย่างไร ขณะเดียวกันคุณอำนวยทำหน้าที่จัดตลาด   หรือจะเชิญใครเข้ามาร่วมด้วยก็ต้องมีฐานข้อมูล แต่เมื่อคุยกันแล้วทั้งคุณลิขิตและคุณอำนวยจะต้องร่วมกัน ถึงแม้จะเป็น Byproduct แต่ก็ขึ้นอยู่กับจังหวัดนั้นว่าตัวเองจัดและได้คิดสรรคนมา และได้ความรู้เป็นความรู้ How to ที่สำคัญแล้วมีการบันทึกแล้วมี How to แล้วคนเข้าถึงนำใช้ประโยชน์ แล้วเรารู้ว่าเราจะใช้ประโยชน์ในตัวบันทึกความรู้อย่างไร มันจะเป็นตัวกำหนด หรือสร้างแรงบันดาลใจว่าเราจะทำมันแค่ไหนอย่างไร แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำไปแล้วโดยเฉพาะคุณลิขิตไม่รู้ว่านำไปแล้วเอาไปทำอะไร ถ้าไม่รู้วัตถุประสงค์ ไม่รู้ประโยชน์ ก็ทำให้ไม่มีแรงจูงใจหรือแรงบันดาลใจ ในการทำตรงนี้ ฉะนั้นผมคิดว่าจะต้องเห็นประโยชน์ ประโยชน์ก็ต้องขึ้นอยู่กับการจัดการความรู้ของแต่ละจังหวัด  แต่ละพื้นที่ว่าได้วางยุทธศาสตร์แต่ละก้าวอย่างอย่างไร ไม่ใช่การจัดการครั้งเดียวแต่เป็นการวางภาพระยะสั้นระยะยาวต่อเนื่องกัน ว่าตัวเองได้วางเป้าวางภารกิจไว้อย่างไร ซึ่งผมไปทำกับหลาย ๆ อย่างผมไปทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. เวลาผมจัดผมก็ไปจัดกับนายก ปลัด อบต. เลขา แล้วผมก็ใช้เครื่องมือ  KM  ในการถอด  How to  ในการทำงาน     นายกดี ๆ เขาทำงานกันอย่างไร ปลัดดี ๆ ทำงานอย่างไร เลขาดี ๆ ทำงานอย่างไร เพราะผมคิดว่าถ้าเราได้มีโอกาสนั่งคุยกัน ถ้าเราถอดออกมาได้ เขียนออกมาได้ มันก็จะเป็นคู่มือภาคปฏิบัติการจริง แล้วก็ประโยชน์ในการขยายผลอย่างที่อาจารย์ประพนธ์ว่า เพราะว่าขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เราได้สมาชิกฝ่ายบริหาร อบต. แต่เราไม่มีกลไกที่จะไปเสริมศักยภาพเมื่อให้เขารองรับการถ่ายโอนภารกิจ หรือให้เขามีความรู้ในภาคปฏิบัติได้มากเท่าที่ควร แล้วการอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นลักษณะเล็กเชอร์และให้ตอบตัวบทกฎหมายเท่านั้นเอง แต่ความรู้ภาคปฏิบัติจะนำเสนออย่างในสภา จะไปสร้างการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านในการจัดทำแผนเพื่อเสนอฝ่ายบริหารต่อไป         ตัวประธานสภาดำเนินการประชุม  อย่างในที่ประชุมเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกออกความคิดเห็นอย่างนี้ ตรงนี้เป็นความรู้ ปฏิบัติ ใช่ไหมครับ ตรงนี้แหล่ะ เราคิดว่าถ้าเราทำตรงนี้บันทึกแล้วออกมาเป็นเอกสารเพื่อเป็นคู่มือก็จะเป็นประโยชน์ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของ CKO ด้วยว่า CKO มองตรงนี้อย่างไร

     วันนี้ขอตัดตอนเอาแค่นี้ก่อนนะคะ (ยาวค่ะ)    โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 16998เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2006 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท