นัยสำคัญของขบวนสวัสดิการชุมชน


นัยสำคัญของเรื่องนี้ มิได้อยู่ที่ตัวสวัสดิการที่ชาวบ้านแต่ละคนได้รับ แต่อยู่ที่การรวมพลัง

งานด้านเกษตรกับทรัพยากรเป็นสวัสดิการพื้นฐานสำคัญของชาวชนบท  มีปัญหาสาหัสสั่งสมมากมาย   ส่วนงานสวัสดิการสังคมนั้นเป็น  safety net ที่เป็นเหมือนตาข่ายรองรับดูแลคนที่อาจเจอปัญหาจากสถานการณ์ทั่วไปอีกทีหนึ่ง   อาจมองว่าเป็นการบรรเทาปัญหาเพื่อให้ชีวิตมั่นคงขึ้นมีภูมิต้านทานมากขึ้น (เป็นเชิงตั้งรับกับปัญหา)   ปัจจุบัน ทรัพยากรต่างๆของภาครัฐก็ทุ่มมาด้านสวัสดิการสังคมมากขึ้น  คนดูแลก็หลากหลาย   ขบวนชาวบ้านก็เข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่ขบวนชาวบ้านเองยังมีข้อจำกัดในการแก้ปัญหาหลัก  คือด้านเกษตรกับทรัพยากรธรรมชาติ  เพราะต้องไปสู้กับ วิธีคิด  ตลาด และการแย่งชิงทรัพยากรกับรัฐและนายทุน    ดูคล้ายๆกับว่ารัฐ(นักการเมือง) เลี่ยงปัญหาที่จะเผชิญหน้าด้านเกษตรกับทรัพยากร ด้วยการอ้อมมาทำงานด้านสังคมซึ่งมีการเผชิญหน้าน้อยกว่าและรัฐ(นักการเมือง)ทำงานได้ง่ายกว่า

 

อย่างไรก็ดี   งานสวัสดิการชุมชนมีความสำคัญมาก     นัยสำคัญของเรื่องนี้ มิได้อยู่ที่ตัวสวัสดิการที่ชาวบ้านแต่ละคนได้รับ      แต่อยู่ที่การรวมพลัง    นั่นคือ สวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือหรือยุทธศาสตร์ของการสร้างชุมชนเข้มแข็ง   ถ้าชุมชนเข้มแข็งได้ ต่อไปค่อยขยับไปสู่การรวมกันแก้ปัญหาและมีอำนาจต่อรองด้านเกษตรและทรัพยากร  หรือแม้แต่การคานอำนาจกับการเมืองระดับท้องถิ่น และการเมืองระดับประเทศ

ชาวบ้านและนักขับเคลื่อนจึงให้ความสำคัญกับ การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด(สู่ฐานวัฒนธรรม) และการรวมพลัง

ในขณะที่นักวิชาการ (นักเทคนิค) ให้ความสำคัญกับ ประสิทธิภาพ วิธีการบริหารจัดการ และความยั่งยืนของเครื่องมือ เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชน (ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน)

ช่วยกันมองสองด้านนั้นดีแล้ว    เพราะหากเกิดขัดข้องทางเทคนิคขึ้นมา  ความเชื่อมั่นของชาวบ้านหายไป  ก็ย่อมสั่นคลอนโอกาสในการร่วมมือและรวมพลัง...

ความยั่งยืนของเครื่องมือจึงเป็น "เงื่อนไขจำเป็น"  ที่มองข้ามเสียมิได้เช่นกัน

คำสำคัญ (Tags): #สวัสดิการชุมชน
หมายเลขบันทึก: 169645เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2008 01:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • เชื่อว่าถ้าชุมชนมีการรวมพลัง
  • ในการทำสิ่งดีๆๆแก่ชุมชนเอง
  • จะเกิดความเข้มแข็ง
  • การรวมพลัง    นั่นคือ สวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือหรือยุทธศาสตร์ของการสร้างชุมชนเข้มแข็ง   ถ้าชุมชนเข้มแข็งได้ ต่อไปค่อยขยับไปสู่การรวมกันแก้ปัญหาและมีอำนาจต่อรองด้านเกษตรและทรัพยากร 
  • ขอบคุณครับผม

ชาวบ้าน นักขับเคลื่อน และนักวิชาการ นักเทคนิค นักคิดเครื่องมือ ไปพร้อมๆกันได้ประเสริฐยิ่งนัก

ขอบคุณบันทึกนี้ครับ

  • ผมเองยังใหม่มากต่อเรื่องการจัดสวัสดิการสังคม แต่มาปีนี้ผมได้รับงบจาก พ.ร.บ ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมมาทำในเรื่อง "ศูนย์ข่าวและข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน" ก็เลยต้องหาความรู้เพิ่มเติมอีกมาก ขอบคุณอาจารย์ปัทมวดีที่ช่วยให้ผมกระจ่างขึ้น
  • ที่แม่ฮ่องสอน ในส่วนของเอ็นจีโอ และองค์กรรากหญ้าก็ตื่นตัวเรื่องนี้นะครับ แต่เจ้าภาพคือหน่วยงานระดับจังหวัดนี่ขยับตามไม่ค่อยทัน อันนี้อาจจะเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐที่ไม่คล่องตัว มีขีดจำกัดมากมาย ยิ่งในพื้นที่ห่างไกลการติดต่อประสานงานลำบาก ทำให้ขบวนการสวัสดิการชุมชนเป็นไปได้ช้า
  • ส่วนในเรื่องของการเรียนรู้หรือการสร้างความพร้อมแก่ชุมชน อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากครับ  ถ้าชาวบ้านเข้าใจถูกต้อง แม้เครื่องมือจะทื่อๆโบราณ แต่ก็จะสามารถพลิกแพลงดัดแปลงได้ตรงตามเป้าประสงค์
  • ชาวบ้านเองก็ยังต้องการการเรียนรู้เรื่องนี้ (อย่างมีประสิทธิภาพ) นะครับ ขนาดผมเรียนมาจนหัวหงอก กว่าจะเข้าถึงวิธีคิดเรื่องนี้ได้ก็ต้องมานั่งศึกษา มาฝึกคิดฝึกทำดู แต่ผมยังไม่เห็นมีสื่อ หรือมีใครไปให้ความรู้เรื่องนี้ในท้องถิ่นที่ผมอยู่เลย
  • มิพักแต่ชาวบ้านนะครับ กลไกของรัฐ รวมถึงนักศึกษาที่จะไปทำงานด้านนี้ ก็ต้องมีความพร้อม มีความรู้เรื่องสวัสดิการสังคมเป็นทุนอยู่บ้าง พอให้สามารถขับเคลื่อนไปด้วยกัน แต่ผมไม่รู้ว่า ภาคส่วนเหล่านี้มีการรับรู้และปฏิบัติการในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
  • สะท้อนจาก "มือใหม่หัดขับ" อาจจะผิดก็ได้นะครับ

บันทึก(เพิ่มเติม)

ข้อความในบันทึกได้เขียนว่า การจัดสวัสดิการสังคมส่วนใหญ่เป็นการตั้งรับกับปัญหา

อันที่จริง ถ้ามองสวัสดิการที่ชุมชนจัดขึ้น  ตัวเองมองว่า สวัสดิการที่ให้เป็นตัวเงินส่วนใหญ่เข้าข่ายเป็นการตั้งรับ  เพราะชาวบ้านต้องเอาเงินนั้นไปซื้อบริการจากตลาดหรือจากรัฐอีกทีหนึ่ง  การให้เป็นเงินจึงเป็นการบรรเทาปัญหาที่ "เข้าไม่ถึง" สวัสดิการ (เช่น ทุนการศึกษา เงินค่านอนโรงพยาบาล) เพราะขาดแคลนเงินทุน

แต่กิจกรรมที่ชาวบ้านจัดหลายกิจกรรม (ไม่ใช่ให้เป็นเงิน) กลับเป็นสวัสดิการเชิงรุก  เช่น  ศูนย์เรียนรู้  การเรียนรู้ผ่านการทำแผนแม่บทชุมชน  การจัดกิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์  วิทยุชุมชน

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต  ขอบคุณที่แวะมาอ่าน  อาจารย์สบายดีนะคะ

สวัสดีค่ะครูนง

องค์กรชุมชนและท้องถิ่นคงจะมีบทบาทสำคัญในการขยับขบวนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมากขึ้นเรื่อยๆ  พรบ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมมีมิติเรื่องการศึกษา  คงจะทำงานร่วมกับ พรบ.การศึกษานอกระบบของครูนงได้ดีนะคะ 

ครูนงไปญี่ปุ่น ไปโออิตะหรือเปล่าคะ  ใครๆคิดถึงโออิตะแต่เรื่อง OTOP   แต่ที่ตัวเองเห็นในหลายๆจุด  กลับคิดว่า  ที่นั่นเป็นตัวอย่างที่ดีของท้องถิ่นที่จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยค่ะ   ...OVOP ของโออิตะมีปรัชญาข้อสามเรื่องการพัฒนาคน ....ใช่เลยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณยอดดอย

ขอบคุณที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากพื้นที่จริงค่ะ  ต้วเองก็เป็น "มือค่อนข้างใหม่" และประสบการณ์ในพื้นที่ไม่มากนักเทียบกับอีกหลายๆท่าน   อาศัย "ใจรัก"และขยันเขียนเท่านั้นค่ะ

ขบวนชาวบ้านไปเร็วมาก  นักวิชาการถ้าไม่ลงไปคลุกคลีจริงๆก็ตามพื้นที่ไม่ค่อยทัน  และยิ่งหากเป็นนักวิชาการ"ตามตำราฝรั่ง" ด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่  ตัวเองเป็นนักวิชาการแบบ "ขี่ม้าชมเมือง"มากกว่า เพราะไม่สามารถอยู่ติดพื้นที่ได้

เรื่องสื่อ...  ที่ พอช.น่าจะมีวีดิทัศน์เผยแพร่นะคะ  หนังสือเผยแพร่ก็มีหลายเล่ม แต่ก็ให้ภาพการทำงานเชิงพื้นที่ของกลุ่มต่างๆแบบหลวมๆ  ไม่ใช่หนังสือแบบ How to 

การไปศึกษาดูงานจากพื้นที่ที่ก้าวหน้าในเรื่องนี้น่าจะดีที่สุด  แต่อย่ายึด "รูปแบบ" แบบพิมพ์เขียว  ได้ "แนวคิดและกระบวนการ" จะดีกว่า   เพื่อนบอกว่า "จินตนาการ" เป็นเรื่องสำคัญค่ะ

"ศูนย์ข่าวและข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน" น่าสนใจค่ะ...  คงต้องเป็นศูนย์ข่าวและข้อมูลท้องถิ่นที่มีชีวิตชีวา... ใช้หลักของอาจารย์ชัยอนันต์ คือ play and learn แปลว่า เพลิน ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท