กินกลางดิน : ค่าย KM แบบ งู ๆ ปลา ๆ ......


หลายคนวิพากษ์กันอย่างน่าทึ่ง ..ฟังดูเป็นเหตุเป็นผล ..แต่บางคนกลับดูเหมือนจะร่ายมนต์ยกเมฆและดำน้ำมาอย่างเห็นได้ชัด

ผมคุยกับเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่อึดใจก็เปรยออกมาอย่างหนักแน่นว่า  เรามาเปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรกันดีกว่า !”  ซึ่งนั่นคือที่มาของโครงการ การจัดการความรู้ด้านกิจกรรมสู่ผู้นำนิสิต ครั้งที่ 3 : ภาคค่ายฤดูร้อน ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่  23 -24  กุมภาพันธ์  2551   บ้านเม็กดำ  ต.เม็กดำ  อ.พยัคฆภูมิพิสัย  จ.มหาสารคาม

  

 

โดยปกติเรามักจะจัดอบรมในมหาวิทยาลัย   ภายใต้ห้องหับที่มีเครื่องปรับอากาศคำรามอยู่อย่างสุภาพ  มีจอฉายโปรเจคเตอร์  มีกาแฟและอาหารที่ดูดีให้บริการอย่างเป็นระบบ  และที่สำคัญคือ   มีการกล่าวเปิดอย่างเป็นทางการ  จากนั้นก็นั่งฟังบรรยายจากวิทยากรที่คุ้นบ้าง  ไม่คุ้นบ้าง ... รวมไปถึงการแยกกลุ่มไปคุยกันในห้องเล็ก ๆ  ที่เราจัดเตรียมไว้ให้ตามอัตภาพ  เสร็จแล้วก็กลับมานำเสนอผลพวงแห่งการพูดคุยตาม  ขนบนิยม  ที่ปฏิบัติสืบมาอย่างคุ้นชิน ! 

  

 

และทุกครั้ง  เราก็มีวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องการออกค่ายให้แก่นิสิต โดยเน้นให้นิสิตและละชมรมต่าง ๆ  ได้ทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตามกรอบแนวคิดทำนองว่า  เปิดใจไขความรู้ สู่ประตูแห่งปัญญา  อันได้แก่  ใคร (เปิดใจ)  มีอะไรดีก็สกัด (ไขความรู้)  ออกมาแบ่งปันอย่างไม่บิดเบือน  โดยมีจุดหมายร่วมกันคือการนำไปสู่เทคนิคที่ดีของการสร้างค่ายให้สัมฤทธิ์ผล  (ประตูแห่งปัญญา)  และกระบวนการเช่นนี้อาจช่วยให้ค่ายแต่ละค่ายได้เรียนรู้ชีวิตในมิติของชุมชนได้ครบถ้วน หรือหลากหลายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่  ...  มิใช่พุ่งไปด้านใดด้านหนึ่งจนแห้งผากเสียทั้งหมด

  

 

นั่นคือ ... กระบวนการที่เราสร้างเวทีขึ้นมาโดยอาศัย KM  เป็นเครื่องมือแห่งการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิต  และสร้างเวทีให้นิสิตกับนิสิตได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันตามสไตล์ของพวกเขาเอง  

 

 

 

  

 

 

อย่างไรก็ดีเวทีอย่างเป็นทางการเหล่านั้น   ผมและทีมงานขับเคลื่อนต่อเนื่องมาถึงสองครั้งสองคราแล้วก็ว่าได้  แต่จากการประเมินก็ยังพบว่า   เรายังไม่สามารถกระตุ้น  หรือจุดประกายความคิดอันหลากหลายให้เกิดขึ้นกับนิสิตได้   เพราะเท่าที่พบ  ค่ายหลายค่ายยังคงมุ่งไปสู่การ สร้าง  และเราเองก็ยอมรับโดยดุษฎีว่า  ค่ายสร้างคือจุดแข็งที่แตะต้องและสัมผัสได้ง่าย  แต่เราก็อดที่จะตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า   ในมิติการเรียนรู้ชุมชน  ซึ่งหมายถึงวิถีการเรียนรู้ในทางวัฒนธรรมชุมชนกับกลายเป็นจุดที่หลายค่ายมองข้าม  และที่สำคัญคือ  ค่ายหลายค่ายเริ่มจะให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้น้อยลงอย่างน่าใจหาย  ...

 

 

ด้วยเหตุนี้   ผมและทีมงานจึงตัดสินใจที่จะนำเขาไปเรียนรู้และสัมผัสจริงกับ ความจริง  ที่แตะต้องและสัมผัสได้   และความจริงที่ว่านั้นก็คือ  ห้องเรียนอันมีชีวิต   ที่อยู่ใน บ้านเม็กดำ  นั่นเอง

  

 

  


ลำพังชู  คือห้องเรียนอันมีชีวิตห้องเรียนแรกที่ผมนำมาให้บรรดาผู้นำค่ายได้สัมผัสเรียนรู้   โดยแบ่งกลุ่มให้เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนและสายน้ำแห่งนี้ว่าเกี่ยวข้องและเกี่ยวพันกันอย่างไรบ้าง ? 

 

 

ผมและทีมงานร้องขอให้ชาวบ้านช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์จับปลาไว้ส่วนหนึ่   รวมถึงเครื่องครัวอื่น ๆ  เท่าที่จำเป็น  ตลอดจนรบกวนให้ชาวบ้านได้นึ่งข้าวเหนียวและจับปลาจำนวนหนึ่งมารอไว้... ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นการกันไว้ดีกว่าแก้   เพราะหากนิสิตจับปลาไม่ได้ซักตัว  ก็คงหนีไม่พ้นการหิวข้าวจนตาลาย,  และในที่สุดก็คงต้องเรียงแถวเป็นลมล้มพับกันไปตามระเบียบเป็นแน่    ซึ่งจากการพยากรณ์ของชาวบ้านก็ยืนยันชัดเจนว่า ...   ภูมิอากาศเช่นนี้  คงยากยิ่งต่อการที่จะจับปลาขึ้นมาได้  !

 

 

 

 

ผมและทีมงานกำหนดให้นิสิต  3  กลุ่มออกศึกษาเรื่องราวของห้วยลำพังชู   โดยมีชาวบ้านเป็นวิทยากรนำไปสู่การเรียนรู้   บางกลุ่มตะลอนทัวร์ไปดูการเพาะปลูกพืชผลที่อยู่สองฝั่งห้วย  บางกลุ่ม  หรือบางคนก็เที่ยวตะเวนงมหอย  หรือไม่ก็ลงเรือไปจับปลาโดยมีชาวบ้านผู้ชำนาญการคอยเป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด  ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งนั้นให้ปักหลักเป็นพ่อครัวและแม่ครัวคอยจัดเตรียมข้าวปลาอาหาร  ทั้งตำส้มตำ  ปิ้งปลา  ย่างปลา  ..  

 

  

 


อาหารมื้อเที่ยงถูกจัดวางอย่างเรียบง่าย  .. ทุกคนดูจะมีความสุขกับการได้กินข้าวในบรรยากาศเช่นนี้   ส้มตำถูกลำเลียงจากครัวบนเถียงนาหลังน้อยอย่างต่อเนื่อง   ปลาปิ้ง จากเตาร้อน ๆ  อวดกลิ่นหอมเรียกน้ำย่อยได้อย่างมหาศาล   นิสิตและชาวบ้านนั่งกินข้าวร่วมวงอย่างเป็นกันเอง  หลายเรื่องถูกยกมาสนทนาในวงข้าวอย่างออกรสออกชาติ   ...

 

 

ทันทีที่มื้อเที่ยงสิ้นสุดลง   แต่ละกลุ่มสัญจรไปหามุมสงบพูดคุยและสรุปบทเรียนกันตามอัธยาศัย  บ้างเลือกเถียงนา  หรือไม่ก็ร่มไม้กลางทุ่งโล่งเป็น วงเล่า   มีเพียงกลุ่มพ่อครัวและแม่ครัวเท่านั้นที่ยังปักหลักยึดที่อาณาบริเวณใกล้ ๆ  เถียงนาอันเป็นโรงครัวของตัวเองเป็นฐานที่มั่นเพื่อตั้ง วงเล่า ในแบบสบาย ๆ  ..  จากนั้นก็กลับมานำเสนอเรื่องเล่าอันเกิดจากการศึกษาร่วมกันอย่างสนุกสนาน   หลายคนวิพากษ์กันอย่างน่าทึ่ง ..ฟังดูเป็นเหตุเป็นผล ..แต่บางคนกลับดูเหมือนจะร่ายมนต์ยกเมฆและดำน้ำมาอย่างเห็นได้ชัด   จนปราชญ์ผู้ช่ำชองพื้นที่อย่าง พ่อใหญ่ดา  อดรนทนไม่ไหว   เลยต้องลุกขึ้นมาบอกกล่าวเล่าแจ้งในเรื่องต่าง ๆ  ทำเอานิสิตตกอยู่ในอาการ  งึด (ทึ่งในภูมิรู้)   ไปตาม ๆ กัน 

 

นั่นคือบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากสภาพจริงอันเป็นหนึ่งในวิถีวัฒนธรรมของผู้คนที่พึ่งพิงอย่างสมถะกับธรรมชาติ   ซึ่งผมก็เชื่อเหลือเกินว่า   นิสิตเกือบทั้งหมดนี้  ส่วนใหญ่น่าจะยังไม่คุ้นเคยกับการได้สัมผัสในวิถีการกินอยู่แบบนี้เท่าใดนัก  !

 

 

ภายหลังการนำเสนอผลแห่งการตั้ง วงเล่า  ยุติลง   ผมและทีมงานก็ร่วมกันสรุปภาพรวมคนละนิดคนละน้อย   ซึ่งผมได้ทิ้งประเด็นถึงเรื่องราวแห่งการเรียนรู้ ณ  ลำพังชูนี้ไว้  3  ประการ คือ

 

1.  มุ่งให้นิสิตได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม  ฝึกทักษะการรับรู้และรับฟังเพื่อนร่วมงานอย่างมีเหตุและผล   (เปิดใจ) 

 

2.  มุ่งให้นิสิตได้เกิดกระบวนการเรียนรู้วิธีในการหาข้อมูล  ทั้งในแง่ของการสัมภาษณ์  พูดคุยกับคนรอบข้าง   โดยเฉพาะการเรียนรู้จากชาวบ้านที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญา  หรือแม้แต่การทดลองที่จะปฏิบัติจริงด้วยตัวเอง  (ไขความรู้)   ไม่ใช่นอนเอามือก่ายหน้าผากรอให้ความรู้หล่นลงมาจากท้องฟ้า ..

 

3.  มุ่งให้นิสิตตระหนักว่าในทุกพื้นที่ย่อมมีขุมทรัพย์ความรู้อยู่อย่างหลากหลาย  ทั้งในภูมิศาสตร์  ตัวบุคคล  (ประตูแห่งปัญญา)  และเมื่อออกค่ายในแต่ละครั้ง  ก็ควรต้องไม่ละเลยที่จะเรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้นบ้าง  อันเป็นแนวคิดและความเชื่อที่ว่า ทุก ๆ ที่มีเรื่องตำนานของมันเอง 

 

 

 

และนั่นคือ   การจัดค่าย KM  ในแบบ "กินกลางดิน"  และเป็นไปตามสไลต์ งู ๆ  ปลา ๆ  ของผมและทีมงาน   ที่เปลี่ยนภาพจากการบรรยายและเน้นพูดคุยกันในห้องประชุมออกมาสู่การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง  ซึ่งเน้นให้เขาได้ "ปฏิบัติ"  ด้วยตัวเอง  แต่ก็แทบไม่น่าเชื่อว่านิสิตหลายองค์กรชื่นชอบ, ประทับใจ  และยืนยันว่า  จะนำกระบวนการและวิธีคิดเหล่านี้ไปใช้ที่ค่ายของตนเองอย่างแน่นอน

 

 

ที่เหลือก็คงต้องตามติดประเมินกันต่อไปว่า ...  จะเป็นจริงตามที่เขาพูดกับเรา กี่มากน้อย,  กันแน่

หมายเลขบันทึก: 168930เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2008 01:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

สวัสดีคะอาจารย์ มักหลาย ๆ

ได้ความรู้จริงของชีวิต ฝั่งเข้าเนื้อในตัวตน

เป็นความซาบซึ้งใจ นึกถึงเมื่อไรก็มีความสุขอย่างภาคภูมิใจเสมอ

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน

เป็นการสะท้อนชีวิต เรื่องราวการออกไปสัมผัสโลกของภายนอก และชุมชนทำให้นิสิตเกิดความตระหนัก การเป็นผู้ให้ และการช่วยเหลือซี่งกันและกัน  ความมีน้ำใจ อีกทั้งอยู่ร่วมกันได้อย่างดี

สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน

  • ยินดีด้วยนะคะ ที่เด็กๆชอบ
  • ป้าแดงว่า การเตรียมเด็กให้เห็นวิถีชีวิตผู้คนแบบนี้เป็นสิ่งดีมากค่ะ เขาจะสามารถอยู่ในสังคมได้
  • ป้าแดงเคยดูแล นักเรียนพยาบาล เคยพาเด็กไปแบบนี้ แล้วป้าแดง ก็โดนปลด บอกว่าป้าแดง พาลูกๆเขาไปลำบากอ่ะค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

             ด้วยใจที่เปิดกว้าง          ก็พบทางแห่งปัญญา

             ด้วยใจที่ไร้จิต               ความคิดก็พัฒนา

             ด้วยใจที่ไม่เต็ม             เคเอ็มก็ออกมา  

             ด้วยใจของแผ่นดิน        ก็สูญสิ้นซึ่งอัตตา            

  • เวลาพูดถึงผู้นำนิสิตนักศึกษาแบบพาทำกิจกรรมสร้างสรรค์นั้น ต้องนึกถึงคุณแผ่นดินทุกทีค่ะ
  • ยกนิ้ว และขอปรบมือดังๆให้เลยค่ะ
  • ตามมาแทบไม่ทัน
  • มาบอกว่าการเริ่มต้นที่ดีเหมือนเสร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง
  • เสียดายเราคลาดกัน
  • พี่ไปบ้านพ่อกับพี่หมู พี่จุ๋มในวันที่ 25 แต่เด็กๆๆที่เม็กดำเล่าให้ฟังแล้ว
  • แค่เห็นพ่อใหญ่ดา ก็มีความสุขแล้วครับ
  • อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้บ่อยๆๆ
  • ดีกว่าการสัมมนาในห้องแอร์ครับผม นิสิตเราได้เรียนรู้ ชุมชน สังคม ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
  • ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ ..ป้าหมู ของเด็ก ๆ 

  • ค่ายครั้งนี้เป็นการปฐมนิเทศการออกค่ายของผู้นำค่าย
  • ผมเลือกที่จะให้เขาได้สัมผัสจริงกับวิถีชีวิตชนบท   และสร้างโจทย์ให้เขาได้ค้นหาวิธีแสวงหาความรู้ผ่านมิติต่าง ๆ  โดยมีผู้รู้, ปราชญ์ชาวบ้านพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้  ขึ้นอยู่กับว่านิสิต  จะเข้าใจและเข้าถึงสักแค่ไหน
  • และที่สำคัญคือ ...
  • อยากให้เขาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องราวอันเป็นวัฒนธรรมชีวิตของคนในชุมชน  ไม่ใช่ไปค่ายแล้วกักตัวทำงานกันหามรุ่งหามค่ำอยู่แต่ในโรงเรียน
  • งานสร้างอาจสำเร็จ ... แต่ในมิติความเป็นจริงในทางวัฒนธรรมชีวิตของผู้คนกลับจะหล่นหายไปอย่างน่าเสียดาย
  • ....
  • ค่ายนี้,  จึงเน้นเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจจากการสัมผัสจริงเป็นที่ตั้ง ครับ -

สวัสดีครับ พี่อนงค์ MSU-KM :panatung

ค่ายนี้,  เน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับนิสิต ,  และนิสิตกับชาวบ้าน  ในขณะที่ผมและทีมงานถอยออกมาสังเกตการณ์ และทำหน้าที่สรุปบทเรียนร่วมกับพวกเขาเป็นระยะ ๆ ..

และทุกครั้งที่มีการสรปุบทเรียน  เราก็จะโยงมาที่ค่ายที่พวกเขากำลังจะทำในเดือนมีนาคมเสมอ .. เพื่อย้ำให้เขาเห็นทิศทาง  หรือช่องทางที่สามารถนำความรู้ที่ได้จากค่ายนี้ไปใช้กับค่ายของตนเอง   เช่น   การจัดสรรคนส่วนหนึ่งในการ "เลาะบ้าน" ... ไปเรียนรู้วิถีชุมชนแล้วนำกลับมาบอกเล่าให้เพื่อน ๆ ที่อยู่ค่ายในโรงเรียนได้ร่วมเรียนรู้  และนำไปสู่การบันทึกเป็นลายลักษณ์  แล้วให้มีการหมุนเวียนกันออกไปเรียนรู้เรื่องต่างๆ  อย่างทั่วถึง  ไม่ใช่ผูก หรือจำกัดใครแต่ละคนไว้เพียงงานในด้านเดียวเท่านั้น

...

ขอบคุณครับ

  • ทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตามกรอบแนวคิดทำนองว่า  เปิดใจไขความรู้ สู่ประตูแห่งปัญญา 
  • ชอบมากครับกับแนวคิดและคำที่นำมาใช้ข้างบน
  • นับว่านิสิตกลุ่มนี้โชคดีมากที่ได้ออกค่าย ที่มีผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่สามารถนำเอากระบวนการจัดการความรู้มาใช้ปฏิบัติได้อย่างดี
  • ร่วมส่งแรงใจมาช่วยครับ

หลายๆค่ายมุ่งไปที่การสร้าง...เพราะมองเห็นผลชัด

แต่คุณพนัส พยายามริเริ่ม ให้มีวิถีการเรียนรู้ในทางวัฒนธรรมชุมชน  ที่ค่ายหลายค่ายเริ่มจะให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้น้อยลงอย่างน่าใจหาย  ...

พี่ดีใจที่คุณพนัสคิดอะไร ที่ลึกซึ้ง มองการณ์ไกล แตกต่างจากผู้อื่นค่ะ แต่ก็เหนื่อยกว่ามากๆด้วยนะคะ

เห็นแบบนี้แล้ว ครูเออยากกลับไปเป็นนักศึกษาอีกครั้ง  ทำไมตอนเราเรียน ไม่มีแบบนี้มั่ง คงได้อะไรเยอะ นอกเหนือจากบทเรียนในกระดาษ

คิดว่าน่าจะเป็นภาพที่นักศึกษาต้องจดจนไปอีกนาน

คงต้องกลับไปคิด และไปปรับใช้กับน้องๆประถมบ้างนะค่ะ

การออกค่ายเป็นประโยชน์มาก ๆ เลยครับ ได้เรียนรู้วิถีธรรมชาติ การดำเนินชีวิตแบบไทย ๆ  การอยู่ร่วมกัน  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้  ได้ละลายพฤติกรรม  ได้ศึกษาเกี่ยวกับระบบการพึ่งพา  และได้แฟน

ขอเป็นกำลังใจให้ทำต่อไปครับ และฝากบอกนักศึกษาด้วยว่า เรียนจบแล้วกลับไปพัฒนาบ้านตัวเองเด้อ! สิบอกไห่!

P

  อ้อยควั้น

สวัสดีค่ะ...อ.แผ่นดิน

  • แวะมาชื่นชมกับความสำเร็จ
  • เป็นอะไรที่ดีมาก ๆ ให้ประโยชน์ต่อชุมชน
  • และฝึกความอดทน เกิดมิตรภาพ และความสามัคคีในหมู่คณะด้วยค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ

บรรยากาศน่าตั้งวง

เสวนาในพื้นที่ ทำให้ซึมซับบรรยากาศได้มากกว่า

ไอเดียเยี่ยมครับ 

 

สวัสดีครับ ป้าแดง ..pa_daeng

  • ป้าแดงว่า การเตรียมเด็กให้เห็นวิถีชีวิตผู้คนแบบนี้เป็นสิ่งดีมากค่ะ เขาจะสามารถอยู่ในสังคมได้
  • กิจกรรมครั้งนี้   อันที่จริงยังไม่หวังผลระยะยาวให้เขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตในภายภาคหน้าเท่าไหร่นัก   แต่มุ่งเน้นลงที่การสะกิดเตือนให้นิสิตได้นำแนวคิดที่เขาสามารถขบคิดและสังเคราะห์ได้ด้วยตัวเองไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับกิจกรรม หรือโครงการ "ค่าย"  ที่ตนเองกำลังที่มีขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้านั้นเป็นที่ตั้ง

    ป้าแดงเคยดูแล นักเรียนพยาบาล เคยพาเด็กไปแบบนี้ แล้วป้าแดง ก็โดนปลด บอกว่าป้าแดง พาลูกๆเขาไปลำบาก

    ฟังแล้วอดสะท้อนใจไม่ได้เลยครับ   และเสียดายแนวทางอันสร้างสรรค์ที่นักศึกษาพยาบาลควรได้พบเจอ   เพราะลำพังการศึกษาในห้องและปฏิบัติจริงตามเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลก็คงยังไม่มากพอ ... วิถีเช่นนี้จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นทีมกันมากขึ้น  ได้พบเห็นวิถีวัฒนธรรมอันเป็นชะตากรรมจริง ๆ ที่มีค่ายิ่งต่อการปรับทัศนคติของเขาเอง

    ผมเองเป็นคนผลักดันให้เกิดชมรมเพื่อสุขภาพขึ้นในมหาวิทยาลัย  เป็นชมรมสังกัดสโมสรนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์  อย่างน้อยชมรมนี้ก็พานิสิตคณะพยาบาลได้ออกไปทำกิจกรรมกับสังคมบ้าง  บางครั้งก็ถูกจีบจากค่ายต่าง ๆ  ให้ไปช่วยเติมเต็มค่ายของพวกเขา  ซึ่งก็ยังคงยั่งยืนสืบมาจนบัดนี้ก็ครบ 10  ปีพอดี ..

    ....

    เสียดายครับ ...
    แต่ก็เชื่อว่าป้าแดงได้ทำดีที่สุดแล้ว ..

    ...

    ขอบพระคุณครับ

    สวัสดีครับ ท่าน ผอ.วิชชา  (small man)

    ผมคิดอยู่หลายตลบมากว่าจะทำยังไงถึงจะแต่งโคลงกลอนตอบอาจารย์ได้  แต่สุดท้ายก็ยอมแพ้  เพราะไม่สันทัดนัก ...

    ด้วยใจที่เปิดกว้าง         ก็พบทางแห่งปัญญา
    ด้วยใจที่ไร้จิต               ความคิดก็พัฒนา
    ด้วยใจที่ไม่เต็ม             เคเอ็มก็ออกมา  
    ด้วยใจของแผ่นดิน        ก็สูญสิ้นซึ่งอัตตา     

    และจากกลอนข้างต้น  สิ่งที่เด่นชัดซึ่งช่วยเติมเต็มบันทึกนี้อย่างน่ายกย่องก็คือ  การพุ่งประเด็นไปสู่กุญแจแห่งความสำเร็จในทุก ๆ เรื่อง  นั่นก็คือ "ใจ"  หรือ "หัวใจ"  ของเรานั่นเอง  และผมเองก็ย้ำกับนิสิตที่ไปร่วมกิจกรรมนี้อยู่บ่อยครั้งว่า ..

    "สำคัญที่ใจ ...ว่าเธอต้องการอะไรจากค่ายนี้"

    ดังนั้น,  กิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นจึงมีชื่อว่า "มีความหมายใดในค่าย.."  โดยให้แต่ละคนเขียนออกมาว่า  ทำไมถึงชอบทำกิจกรรมที่เป็นค่ายนักหนาและมาค่ายนี้เพื่ออะไรกันแน่ ... ซึ่งส่วนหนึ่งผมได้นำไปลงในบันทึกที่เกี่ยวกับวันขอบคุณนักกิจกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ...

    ขอบพระคุณครับ

    สวัสดีครับ  คุณน้อง  พิชชา

    • เวลาพูดถึงผู้นำนิสิตนักศึกษาแบบพาทำกิจกรรมสร้างสรรค์นั้น ต้องนึกถึงคุณแผ่นดินทุกทีค่ะ
    • ยกนิ้ว และขอปรบมือดังๆให้เลยค่ะ

    ผมยังไม่ถึงขั้นนั้นหรอกครับ  หลายอย่างที่ทำนั้นคือการ "โยนหินถามทาง"  เท่านั้นเอง  เพียงแต่ว่า  การโยนหินแต่ละครั้งนั้น  ไม่ว่าจะโยนโดยผม  หรือลูกน้อง หรือแม้แต่นิสิต  ผมก็มักจะให้ความสำคัญทั้งในฐานะผู้โยน, หรือพี่เลี้ยง, หรือผู้สังเกตการณ์ด้วยอย่างสม่ำเสมอเท่านั้นเอง

    แต่หากการโยนหินไปนั้นจะก่อเกิดสิ่งอันดีและมีประโยชน์ต่อใคร ๆ ขึ้นมาบ้าง  ขอยกความชอบนั้นให้กับทีมงานและนิสิตเลยแล้วกัน  เพราะพวกเขาคือส่วนหนึ่งอันแท้จริงของเนื้องานนั้น ๆ .. สิ่งเหล่านี้เราคิด เราสร้างและร่วมคิดร่วมทำกับพวกเขาก็จริง  แต่ความยั่งยืนมันอยู่ที่พวกเขาจะนำไปปฏิบัติ หรือต่อยอดและชำระให้ร่วมสมัยได้แค่ไหนเป็นสำคัญ ...

    การทำงานในระบบบริหารอย่างผม, วันหนึ่งก็ผ่านพ้นไป ...ทีนี้แหละคือการพิสูจน์ว่าสิ่งเหล่านั้นหลงเหลือต้นทุน  และดอกเบี้ยอันดีกี่มากน้อย ..

    ...

    ขอบคุณครับ

    หวัดดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

    ผมมีความสุขกับกิจกรรมนี้มาก ... ไม่เครียด ไม่ติดยึดกับระบบและพิธีการที่จำเจ, ซ้ำซาก  ท่านผอ.ที่ลงพื้นที่ไปด้วยก็ลุยกับเราแบบไม่มีชนชั้น

    ที่เม็กดำ, ก็ได้พ่อใหญ่ดานี่แหละครับดูแล, นำพา, และความรู้มาแลกเปลี่ยนกับนิสิต ...

    ผมมีความสุขกับกิจกรรมนี้มาก   เพราะเมื่ออ่านแบบประเมินแล้ว  เกือบร้อยทั้งร้อยมีความสุขกับกิจกรรมนี้  ชื่นชอบและชื่นชมในรูปแบบ  หลายคนอยากให้เพิ่มจำนวนวันและลงลึกในทางด้านเนื้อหามากกว่านี้ และหลายคนก็ค้นพบการเติมเต็มค่ายของตนเองจากกิจกรรมในครั้งนี้

    แต่ก็อย่างว่า,  ก็คงต้องติดตามประเมินกันอีกครั้งว่า  แท้จริงนั้นได้เกิดกระบวนการนำไปปฏิบัติจริงได้กี่มากน้อย ..ผมคงไม่หวังมากมาย  ขอให้เขาคิดที่จะทำและลงมือทำบ้างก็ชื่นใจแล้วครับ

    ....

     

     

    สวัสดีครับ อ.แพนด้า Panda

    สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยก็คือ  นิสิตกลุ่มนี้โชคดีที่มีพื้นที่คุณภาพในทางสังคมให้เรียนรู้  และโชคดีที่ได้รับความเมตตาจากชุมชนในการนำพาไปสู่กระบวนการต่าง ๆ  อย่างเป็นกันเอง และเต็มที่   โดยเฉพาะพ่อใหญ่ดานั้นต้องถือได้ว่าท่านได้ทุ่มเท, ใส่ใจ,  ทั้งในด้านการดูแลและในด้านความรู้ที่เต็มอัตราศึกอย่างไม่เกี่ยงงอน

    กระบวนการเหล่านี้,  จะช่วยนิสิตได้ค้นหาเครื่องมือในการทำงานกับชุมชน   เพราะเวลาไปออกค่ายแล้ว  เขาต้องมีทักษะ หรือเทคนิคต่าง ๆ  ที่จะพาตัวเองเข้าสู่ชุมชนอย่างกลมกลืน ,  สามารถที่จะเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านได้อย่างมีกระบวนทัศน์  และมีทัศนคติที่ดีต่อการที่จะเปิดใจเพื่อให้เกียรติต่อชุมชนในฐานะของการเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา ...

    ...  นั่นก็เป็นอีกความหมายหนึ่งที่ผมอยากให้นิสิตได้เกิดการเรียนรูจากค่ายที่ว่านี้ ...

    ขอบคุณครับ

     

    สวัสดีครับพี่ศศินันท์  Sasinanda

    หลายๆค่ายมุ่งไปที่การสร้าง...เพราะมองเห็นผลชัด

    แต่คุณพนัส พยายามริเริ่ม ให้มีวิถีการเรียนรู้ในทางวัฒนธรรมชุมชน  ที่ค่ายหลายค่ายเริ่มจะให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้น้อยลงอย่างน่าใจหาย  ...

    พี่ดีใจที่คุณพนัสคิดอะไร ที่ลึกซึ้ง มองการณ์ไกล แตกต่างจากผู้อื่นค่ะ แต่ก็เหนื่อยกว่ามากๆด้วยนะคะ

    ....

     

    ครับ, ผมเหนื่อยอย่างต่อเนื่อง  แต่เมื่อชั่งวัดกับมิติแห่งความสุขที่ได้รับนั้น ..คุ้มค่าอย่างมหาศาลเลยทีเดียว

    จากนี้ไปก็เป็นอีกก้าวของการพิสูจน์ว่า .. ทีมงานที่เหลือจะทำงานกันอย่างไร  ระบบที่เคยมีนั้นเป็นความเข้มแข็งเฉพาะบุคคล  หรือเป็นระบบของทีมเวิร์ค ..

    เมื่อพ้นก้าวพ้นออกมา   หากพวกเขาสานงานไม่ได้  หรือขับเคลื่อนงานไม่ได้  ก็คงสะท้อนให้เห็นว่า 1 ปีที่ผ่านมาผมก็ล้มเหลวในการสร้างคนอยู่เหมือนกัน

    ขอบพระคุณครับ

    สวัสดีครับ ครูเอ

    ผมเองก็เพิ่งค้นพบรูปแบบเหล่านี้ได้ไม่นานนัก  ส่วนหนึ่งก็เพราะใจของเรากล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ  โดยมองผ่าน "ใจ" ของนิสิต หรือผู้รับเป็นที่ตั้ง ..

    เป็นความโชคดีที่ผมได้รับไฟเขียวจากผู้บริหารให้เดินตามวิถีนี้  ซึ่งนั่นก็เท่ากลับว่าผมต้องใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย  ไม่ใช่เป็นประโยชน์แค่ทดลองแนวคิดของตนเองไปวัน ๆ

    โล่งอกครับที่งานนี้ผ่านไปได้ด้วยดี  ความเป็นเครือข่ายก่อรูปรอยขึ้นอย่างน่าประทับใจ  และที่สำคัญคือ ...พวกเขามีเพลงทีเขียนขึ้นจากเวทีนี้อย่างไพเราะ ...

     

     

    เปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนอริยาบถบ้างดีกว่าจำเจอยูกับสิ่งเดิมๆ เป็นค่ายที่ชื่นมื่น น่าตื่นเต้นค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

    ครูมิม

    สวัสดีครับ..คุณหมอเล็ก

    ค่ายนี้จากแบบประเมิน "มีความหมายใดในค่าย"  ซึ่งมุ่งถามเจตนารมณ์ว่านิสิตแต่ละคนไปทำกิจกรรมค่ายในแต่ละครั้งเพื่ออะไร   แทบไม่น่าเชื่อว่ามีท่านหนึ่งเขียนในทำนองว่า ..มาหาความรัก  และมารำลึกความรักอันเป็นครั้งหนึ่งที่พบเจอในค่าย..

    ผมและทีมงานอ่านแล้วรู้สึกขำ ๆ ...แต่ไม่ปฏิเสธว่าในแต่ละค่ายก็ย่อมมีปรากฏการณ์เช่นนี้บ้าง  ไม่มากก็น้อย แต่ก็เชื่อว่าจะน้อยมากกว่ามากเลยด้วยซ้ำไป

    ...

    ไม่ว่าจะไปค่ายเพื่ออะไร   ผมก็หวังแต่เพียงว่าที่สุดแล้ว  คนค่ายจะเข้าใจตนเองมากขึ้น, และเข้าใจสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่  รวมถึงรักที่จะกลับไปมองบ้านเกิด หรือท้องถิ่นของตนเองบ้างว่า .."บัดนี้...เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดแล้ว."

    ...

    ขอบคุณครับ

    สวัสดีครับ อ.อ้อยควั้น

     

  • เป็นอะไรที่ดีมาก ๆ ให้ประโยชน์ต่อชุมชน
  • และฝึกความอดทน เกิดมิตรภาพ และความสามัคคีในหมู่คณะ
  • ....

    สารภาพแบบตรง ๆ เลยนะครับว่า  ผมเองก็อยากให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นกับนิสิตอยู่เหมือนกัน  และถ้าไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป  นิสิตก็ได้เรียนรู้ในวิถีเหล่านั้นด้วยตัวของเขาเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

    ขอบคุณครับ

     

    สวัสดีครับ  คุณธ.วั ช ชั ย

     

    ผมเชื่อมั่นเสมอมาว่า  การจัดกิจกรรมนอกสถานที่  จะช่วยให้นิสิตได้หลีกหลบไปจากกล่องทางความคิดได้บ้างเหมือนกัน  และนั่นคือสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้นิสิตได้เกิดจินตนาการต่าง ๆ  มากกว่าการถูกกักอยู่ในห้องแคบ ๆ และบรรยากาศเช่นนี้ก็จะช่วยร้อยรัดให้คนเราขยับเข้าหากันได้โดยปริยาย

    ผมให้ความสำคัญกับเรื่องจินตนาการมาก   เพราะนักกิจกรรมที่ดีควรมีจินตนาการ  และจินตนาการนั่นเองที่จะช่วยให้กิจกรรมในแต่ละครั้งดูมีชีวิตชีวาและไม่แห้งผาก...

     

    สวัสดีครับ ครูมิม

    เปลี่ยนสถานที่ ...ถือเป็นกลไกหนึ่ง หรือเครื่องมือหนึ่งในการช่วยกระตุ้นให้ผู้คนคิดที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดได้เหมือนกัน

    ขอบคุณครับ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท