รู้มาก แบกโลกมาก


ผมเป็นคนแบกโลกครับ แบกทุกวัน วันละเรื่องสองเรื่อง สะสมไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้ผมมีโลกให้แบกใหญ่เหลือเกิน

ถามว่าทำไมผมถึงแบกโลก ผมแบกโลกเพราะผมรู้มากครับ

แต่ "รู้มาก" ไม่ได้แปลว่า "รู้ถูกต้อง" นะครับ ความ "รู้มาก" ไม่ได้รับประกันความถูกต้องของสิ่งที่รู้

เรื่องที่รู้มากของผมทำให้ผมเห็นชีวิตของผู้คนที่ผมได้ผ่านไปมาตัดสินใจในชีวิตในทิศทางที่ถ้าเขารู้อย่างผมเขาจะไม่ทำ

แต่ผมก็ไม่มีทางไปบอกเขาได้ว่า "อย่าทำเลย" .... ก็มันชีวิตเขา ไม่ใช่ชีวิตผม ได้แต่เก็บกลับมาแบกไว้ต่อไป

เรื่องราวส่วนใหญ่ที่ผมแบกมาเป็นเรื่องการตัดสินใจผิดพลาดด้านการเงิน ด้านสุขภาพ ด้านชีวิต ด้านสังคม และด้านครอบครัว ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ผมรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม โดยปริมาณการแบกจะมีขนาดแตกต่างกันไป ถ้ารู้จักมากก็ยิ่งแบกมาก

แบกเยอะๆ นี่หนักครับ แต่ไม่รู้ทำอย่างไรเหมือนกัน

ถ้าจะวางลงไปก็ใจดำ ยังทำใจไม่ได้ ถ้าไม่วางก็หนัก หนักขึ้นเรื่อยๆ

............

สาเหตุที่เขาเหล่านั้นตัดสินใจในชีวิตผิดพลาดเพราะเขาขาดสารสนเทศที่ดีที่จะช่วยเหลือให้เขาตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยความ "ดี" ของสารสนเทศนั้น ต้องมากพร้อมทั้งปริมาณและคุณภาพ

ตัวผมเองมีชีวิตมาถึงวันนี้ก็ตัดสินใจผิดพลาดเพราะการขาดสารสนเทศที่ดีมาไม่น้อย โชคดีที่ไม่ได้เลวร้ายนักยังพอกลับตัวแก้ไขไหว ชีวิตผมเลยยังมีอยู่อย่างนี้ได้ และทำให้ผมเห็นความสำคัญของสารสนเทศเป็นอย่างยิ่ง

ผมจึงเชื่อว่าสารสนเทศเป็นปัจจัยที่สำคัญมากของชีวิต เพราะปัญหาโดยส่วนใหญ่ของผู้คนที่ผมเห็นมานั้นเป็นเพราะการขาดสารสนเทศที่ดีทั้งสิ้น

ที่น่าเศร้าใจคือผู้คนเหล่านั้น "ไม่รู้" ว่าเขาไม่ได้รับสารสนเทศ ดังนั้นการนำเสนอสารสนเทศให้เขาสามารถตัดสินใจในชีวิตที่ถูกต้องได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

Decision Support System (DSS) สำหรับองค์กรนั้นไม่ยาก เพราะองค์กรรู้ว่าต้องใช้สารสนเทศในการตัดสินใจ

แต่ DSS สำหรับ "คน" ในฐานะปัจเจกนั้น ยากยิ่ง เพราะมีปัจจัยทางจิตวิทยา ทางสังคม ทางวัฒนธรรม ฯลฯ เข้ามาเกี่ยวข้องมาก

ทำยังไงให้สารสนเทศเข้าถึงผู้คนที่ต้องการได้จริง

โจทย์นี้ยากเหลือเกิน ผมเชื่อว่าเป็น area ใหม่ในงานวิจัยด้าน information systems ได้ด้วยซ้ำ และประเทศไทยก็เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมากในการศึกษาเรื่องนี้

Life Decision Support System (LDSS) ดูเป็นคำที่น่าสนใจทีเดียวครับ ฟังดูแปลกประหลาดดี น่าจะลองตีความหมายดู หากศึกษาดีๆ เราอาจพบว่าเป็นมุมที่เหลื่อมล้ำอยู่กับ KM ก็ได้ครับ

............

หลายวันนี้ผมแบกโลกมาใบใหญ่ และเป็นเรื่องของการขาดสารสนเทศของผู้คนที่ผมรู้จักดี โดยผมไม่รู้ว่าผมจะช่วยเหลือได้อย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรานี้ที่จริงแล้วเป็นแรงบันดาลใจที่ดีในการทำวิจัยครับ ผมเชื่อว่าหากใครจะหาหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ต้องเริ่มต้นด้วย emotion ของเราที่มีต่อเรื่องนั้นๆ ซึ่งจะทำให้เรามี passion ที่จะตอบคำถามนั้นให้ได้

แต่ผมมีคำถามที่รอให้ตอบมีมากมายเหลือเกิน

หรือผมกำลังหลงทางอยู่?

คำสำคัญ (Tags): #dss#ชีวิต#สารสนเทศ
หมายเลขบันทึก: 167223เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2008 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

information มีให้รู้มากไปกว่าเดิมเรื่อยๆไม่จบไม่สิ้น? แต่คนจำเป็นต้องตัดสินอะไรบางอย่าง.

อาจจะคล้ายการใช้ machine learning เหมือนกัน. พยายามจะ train มันด้วย feature ยากๆ ก็ใช้เวลาแรงงานมาก. ใช้วิธีคิดซับซ้อนโปรแกรมก็ทำงานช้า. แต่ใช้น้อยผลออกมาไม่ดี T_T.

สวัสดีค่ะ

เห็นคนทำงานบางส่วน  มีคอมพิวเตอร์ใช้  ใช้เป็นกันทั้งนั้น

แต่ไม่เห็น จะมีความก้าวหน้ากันสักเท่าใดในงานค่ะ

ความเห็นส่วนตัวคิดว่า....ความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีใดๆ ไปใช้ประโยชน์นั้น กว่า 75% มาจากการที่ผู้คนในองค์กรนั้นมีวัฒนธรรมการทำงานที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่นำมาใช้มากน้อยเพียงไร

 มีข้อมูลอยู่ในมือก็เหมือนไม่มี เพราะไม่มีวัฒนธรรมในการทำงานที่เอื้ออำนวยให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นได้มังคะ

คงต้องพัฒนาต่อไปนะคะ

อ่านแล้วเกิดคำถามต่อครับว่า ตกลงที่อาจารย์กำลังแบบเป็น DATA หรือ INFORMATION ฮิฮิ เพราะน้ำหนักของทั้งสองน่าจะไม่เท่ากันครับ

หนูไม่แน่ใจว่า data กับ information แตกต่างกันอย่างไร แต่ัทั้งสองก็คือ สิ่งที่ไขไปสู่คำตอบของเรื่องที่เราต้องการรู้ ถ้าการขาด สารสนเทศ คือ การที่ยังไม่มีเครื่องมือ นำไปสู่คำตอบ เราก็น่าจะ สร้างกรอบของ เครื่องมือ ว่ามีอะไรบ้างที่สามารถ นำพาเราไปสุ่ คำตอบนั้นได้ แล้วเค้าก็คงจะเรียนรู้ได้เอง ว่า ในขณะนี้เค้าขาดอะไร เพื่อนำไปสู่จุดหมายปลายทาง

ชอบ ประโยคนี้ จังค่ะ

หากใครจะหาหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ต้องเริ่มต้นด้วย emotion ของเราที่มีต่อเรื่องนั้นๆ ซึ่งจะทำให้เรามี passion ที่จะตอบคำถามนั้นให้ได้


อ่านแล้วทำให้ตีโจทย์ที่ กำลังค้นหาออกเลยค่ะ

  • ความซับซ้อนของข้อมูลข่าวสารคงไม่มีทางลดลง มีแต่จะอีนุงตุงนังมากขึ้น   ผมคิดว่าเราไม่ต้องปฏิเสธมันก็ได้  เพราะยังไงแล้ว มันก็ยากที่จะหลุดออกไปจากโลกของเครือข่ายข้อมูลข่าวสาร เพียงแต่เราอาจจะต้องถอดหมวกของนักวิทยาศาสตร์ออกมาวาดลวดลายเป็นศิลปินกันมากขึ้น หรือใส่หมวกสลับใบกันบ้าง

 

  •  ศิลปของความซับซ้อน คือการรู้จักเลือกที่จะซึมซับแล้วสื่อสารออกมาอย่างเรียบง่ายและเคารพต่อโลก ผมว่าอย่างนี้นะครับ

ผมเชื่อว่าเรื่องการทดลองใส่หมวกสลับใบนี่เป็นหัวใจของการทำวิจัยในยุคปัจจุบันนี้ครับ

ส่วนการมีเครื่องมือ (คอมพิวเตอร์) และมีสารสนเทศพร้อมแล้วแต่ไม่ได้ใช้นั้นก็เป็นอีกโจทย์สำคัญที่ต้องศึกษาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท