ขั้นตอนและวิธีการในการสกัด หรือถอดความรู้


การ "สกัด" หรือ "ถอด" ความรู้ คือการตีความโดยอิสระของสมาชิก จากข้อมูลที่ได้จากการเล่าเรื่อง

 

ขั้นตอนและวิธีการ"สกัด" ความรู้จากการปฏิบัติ

         1. กำหนด "หัวปลา" ให้ชัด  หัวปลา หมายถึงเป้าหมายของการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังตัวอย่างการประชุมในตลาดนัดความรู้ของชาวนา จ. พิจิตร เมื่อเดือนธันวาคม 2547 "หัวปลา" คือ การทำนาแบบธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี
         2. กำหนดให้กลุ่มเป็นกลุ่มเล็ก ไม่เกิน 10 คน เพื่อให้มีความรู้สึกใกล้ชิด เป็นกันเอง ไม่เป็นทางการ สร้างความรู้สึกเป็นอิสระได้ง่าย ความรู้สึกแบบนี้เอื้อต่อการเล่าเรื่องอย่างมีพลัง ทำให้ความรู้ฝังลึกและซ่อนอยู่มิดชิดจนตัวเองก็ไม่รู้ว่าตนรู้ถูกปลดปล่อยออกมาได้ง่ายขึ้น
                ¥ สมาชิกกลุ่มเป็น "ตัวจริง" ซึ่งหมายความว่า เป็นผู้ปฏิบัติงานเพื่อการบรรลุ "หัวปลา" ที่ตกลงกัน ด้วยตนเอง

                ¥  ถ้าเป็นไปได้จัดแบ่งกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มประกอบด้วยคนที่มีความแตกต่างกันเช่นคิดต่างกัน ทำงานต่างหน่วยงาน อยู่คนละอำเภอ เรียนหนังสือคนละสาขา เป็นต้น เนื่องจากในการประชุมกลุ่มนี้เราต้องการใช้พลังของความแตกต่างหลากหลาย

         3. มีการเลือกหรือแต่งตั้งประธานกลุ่มและเลขานุการกลุ่ม   ประธานกลุ่มทำหน้าที่ดำเนินการประชุม และสรุปประเด็นเป็นระยะๆ  นิยมเรียกว่า "คุณอำนวย" (Group Facilitator)  มีหน้าที่ช่วยเหลือให้การประชุมราบรื่น สร้างบรรยากาศของความชื่นชม ความคิดเชิงบวก การซักถามด้วยความชื่นชม (Appreciative Inquiry)ให้สมาชิกกลุ่มได้หมุนเวียนกันเล่าเรื่องถ้วนหน้ากัน ไม่มีคนใดคนหนึ่งผูกขาดการพูด คอยช่วยตั้งคำถาม "ทำไม่จึงทำเช่นนั้นและคอยกระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มช่วยกัน "สกัด" หรือ "ถอด" ความรู้เพื่อการบรรลุหัวปลา ออกมา และมีผู้บันทึกไว้  และเลขานุการกลุ่ม ทำหน้าที่จดประเด็น และบันทึก ขุมความรู้ (Knowledge Assets) แล้วเขียนขึ้นกระดาน flip chart ให้ได้เห็นทั่วกัน และแก้ไขตกแต่งได้ง่าย  เพื่อการบรรลุหัวปลา

         4.  สมาชิกกลุ่มเล่าเรื่องเกี่ยวกับความสำเร็จของตน ตาม "หัวปลา"  การเล่าเรื่อง ให้เล่าเพียงประเด็นเดียวต่อหนึ่งเรื่อง และเล่าสั้นๆ    เล่าตามความเป็นจริง   ไม่ตีไข่ใส่สี    เล่าให้เห็นตัวคน หรือตัวละคร เห็นพฤติกรรมหรือการกระทำ   เห็นความคิดหรือความเชื่อที่อยู่เบื้องหลัง      เล่าให้เห็นชีวิตและความสัมพันธ์ที่อยู่ในเรื่อง   เล่าให้มีชีวิตชีวา เห็นภาพพจน์     เห็นสภาพแวดล้อมหรือบริบทของเรื่อง      ในการเล่าเรื่องต้องเล่าแบบให้ข้อมูลดิบที่ไม่ผ่านการตีความของผู้เล่า คือเล่าเหตุการณ์ ไม่ใช่เล่าความเข้าใจของผู้เล่าที่ได้จากเหตุการณ์  ไม่ใช่เล่าการตีความของผู้เล่า   ถือว่าเรื่องเล่าเป็นข้อมูลดิบสำหรับให้สมาชิกกลุ่มผลัดกันตีความเพื่อดึง "ความรู้เพื่อการบรรลุหัวปลา" ออกมา

         5.  สมาชิกทุกคนช่วยกัน"สกัด" หรือ "ถอด" ความรู้เพื่อการบรรลุหัวปลาออกมา    ภายหลังจากสมาชิกคนหนึ่ง ๆ เล่าเรื่องของตนจบ  สมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ จะช่วยกัน "สกัด" หรือ "ถอด" ความรู้เพื่อการบรรลุหัวปลาออกมา   การ "สกัด" หรือ "ถอด" ความรู้  คือการตีความโดยอิสระของสมาชิก จากข้อมูลที่ได้จากการเล่าเรื่อง  เมื่อผู้เล่าแต่ละคนเล่าเรื่องเสร็จ ประธานขอให้สมาชิกกลุ่มตีความ ว่าเรื่องดังกล่าวบอกอะไรเกี่ยวกับความรู้เพื่อการบรรลุ "หัวปลา" ที่เป็นความรู้เพื่อการปฏิบัติ เมื่อผู้ตีความคนที่  1 เสนอการตีความของตน   เลขานุการเขียนขึ้นกระดาษ flip chart ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนสมาชิกกลุ่มตีความครบคน   ก็ช่วยกันสรุปขุมความรู้จากเรื่องเล่าดังกล่าว  ขุมความรู้เป็นผลของการนำการตีความนั้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่ม  ซึ่งการตีความของสมาชิกแต่ละคนจะมีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่ไม่เหมือนกันกับการตีความของคนอื่น เมื่อนำผลการตีความนั้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่มก็จะสามารถสรุปและบันทึกขุมความรู้ ที่เป็น ความรู้เพื่อการปฏิบัติ เพื่อการบรรลุ "หัวปลา"ได้   ขุมความรู้ที่ได้ผ่านการสังเคราะห์ร่วมกันของสมาชิกและถูกจัดเป็นหมวดหมู่ก็จะยกระดับขึ้นมาเป็น  แก่นความรู้ (Core Competence) เพื่อการบรรลุ   "หัวปลา"  ที่กำหนด 

 

หมายเลขบันทึก: 167215เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2008 07:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับอาจารย์paaoobtongครับ
  • งานที่สำคัญหนึ่งของ กศน.ก็คือการถอดหรือสกัดองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน  ครูชาวบ้าน  หรือจากสภาพที่เป็นจริง
  • เราต้องอบรมครู กศน.ใหม่ ๆ หลายครั้ง 
  • ขอนำบันทึกของอาจารย์เข้าแพลนเน็ตต่อไปครับ
  • ขอบคุณครับ

เรียนครูชา

         รู้สึกยินดีที่ครูชาจะเอาไปใช้  ผมปรับมาจากงานเขียนของท่านอื่นอีกที  ต้องขออภัยที่ลืมบันทึกแหล่งที่มา  แต่ขอขอบพระคุณท่านที่เป็นเจ้าของด้วย  ถ้าครูชาเอาไปทำแล้ว เก็บมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะ

                                                         รัก

                                                   Paaoobtong

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท