ครูพนัส หันนาคินทร์


วันที่ 23 มีนาคม 2551 จะเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พนัส หันนาคินทร์

วันที่ 23 มีนาคม 2551  จะเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พนัส  หันนาคินทร์  ณ  วัดธรรมจักร  จังหวัดพิษณุโลก  ผมจึงขอบันทึกบางสิ่งที่เกี่ยวกับท่านที่ผมได้สัมผัส  ดังนี้

ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานกับ ศ.ดร.พนัส  หันนาคินทร์  ครูคนแรกของ วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก  ซึ่งเปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  พิษณุโลก  และปัจจุบันยกฐานะเป็น  มหาวิทยาลัยนเรศวร

เชื่อว่าคงมีคนเขียนถึงท่านอาจารย์พนัส  จำนวนมาก  และหลายแง่มุม  ผมจึงขอบันทึกส่วนที่ผมเกี่ยวข้องและดำเนินการ  แม้จะน้อยนิด  แต่ก็เป็นการระลึกถึงพระคุณท่าน  เมื่อผมมาเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์  เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547  ได้ริเริ่มจัดทำห้องประวัติคณะศึกษาศาสตร์  ซึ่งเป็นคณะแรก  และคณะเดียวของ วศ.พิษณุโลก  ที่เริ่มก่อตั้งเมื่อ 18 มกราคม 2510  โดยรวบรวมภาพและประวัติเกี่ยวกับศึกษาศาสตร์ทั้งหมด  ผมพบสิ่งที่ท่านได้ดำเนินการตลอดชีวิตการเป็นผู้บริหาร  และเป็นครูมากมาย  น่าเสียดายที่บางช่วงเอกสารข้อมูลขาดหายไป  อาจจะเป็นเพราะระบบการจัดเก็บในอดีต  อย่างไรก็ตามหากท่านไปเยี่ยมคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  ท่านจะพบอย่างน้อย 4 สิ่งต่อไปนี้  ที่เป็นที่ระลึกถึงท่านคือ

      1.  ภาพขนาดใหญ่ของท่าน  ในโอกาสที่ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช  ในโอกาสที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตของ วศ.พิษณุโลก  ประดับอยู่ด้านหน้า  และด้านในห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พนัส  หันนาคินทร์

      2.  ภาพทำเนียบผู้บริหารคณบดีคณะศึกษาศาสตร์  ที่รวบรวมไว้เป็นประวัติของคณะฯ ตั้งแต่คณบดีคนแรก  จนถึงคนปัจจุบัน  ภาพของท่านอาจารย์พนัส  ที่เป็นผู้บริหาร วศ.พิษณุโลก  คนแรก  ครูคนแรก (ที่บรรจุเป็นอาจารย์ของ วศ.) และทำหน้าที่คณบดีคณะศึกษาศาสตร์คนแรก  เพราะในครั้งนั้นไม่มีการเรียกตำแหน่งคณบดีเป็นทางการ  แต่ท่านได้สร้างบัณฑิต  ศิษย์ศึกษาศาสตร์ให้ประเทศชาติ  และสังคมไทยเป็นจำนวนมาก

      3.  รูปหล่อครึ่งตัวของท่าน  ที่คณะศิษย์เก่า  นำโดย  คุณสุเทพ  ตรีวิชา  และคณะ  ได้ดำเนินการสร้างและมอบให้  คณะศึกษาศาสตร์จึงได้นำรูปหล่อของท่านดังกล่าวประดับไว้  ณ  ห้องศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พนัส  หันนาคินทร์

      4.  ชื่อห้องประชุม  “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พนัส  หันนาคินทร์”  ที่คณะกรรมการบริหารคณะศึกษาศาสตร์ได้เสนอมหาวิทยาลัย  ขออนุญาตใช้ชื่อของท่านเป็นชื่อห้องประชุม  แทนชื่อห้องประวัติศึกษาศาสตร์  เพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นเกียรติประวัติของคณะศึกษาศาสตร์  ภายหลังจากท่านถึงแก่กรรม  เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2549

           ผมขอขยายความตำแหน่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ  เนื่องจากได้รับการถามไถ่มากว่าต่างจากศาสตราจารย์อย่างไร  ต้องขอเรียนว่าผู้ที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณคือ  ผู้ที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในขณะที่รับราชการ  และเมื่อเกษียณอายุแล้ว  มหาวิทยาลัยพิจารณาเห็นว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง  ก็จะดำเนินการกราบบังคมทูลขอพระราชทานตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ  เพื่อเป็นเกียรติอีกตำแหน่งหนึ่ง

ผมมีโอกาสสังเกตและสัมผัสกับท่านอีกสิ่งหนึ่งคือ  ความเป็นคนรักครอบครัวของท่านที่สัมพันธ์กับการดำรงตน  และส่งผลต่อการทำงานของท่าน  ดังนี้

      1.  ทุกครั้งที่ผมไปร่วมงานแต่งงานที่มีท่านเป็นผู้กล่าวอวยพร  ไม่ว่าท่านจะพลิกแพลงการอวยพรคู่บ่าวสาวด้วยวาทศิลป์ที่มีอยู่มากมายของท่านอย่างไร  แต่สิ่งเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ  การสอนให้เจ้าบ่าวเชื่อฟังเจ้าสาว  และท่านมักจะสรุปว่า “ไม่มีใครรักและหวังดีต่อเราเท่าภรรยาของเรา”

      2.  ในช่วงที่ผมเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย 8 ปี  ผมได้กราบเรียนเชิญท่านไปช่วยสอนตามศูนย์วิทยบริการต่างๆ  ท่านได้กรุณาไปช่วยสอนเป็นอย่างดี  แต่สิ่งหนึ่งซึ่งท่านบอกกับผมคือ  ถ้าไม่จำเป็นผมขอไม่ไปสอนที่ศูนย์ฯ จ.แพร่  และจ.เพชรบูรณ์  เพราะระยะทางไกล  และเส้นทางต้องผ่านภูเขา  ท่านไม่ได้พูดถึงสุขภาพตัวเองเลย  แต่ท่านจะพูดถึงความปลอดภัย  และความเป็นห่วงครอบครัว โดยเฉพาะลูกๆ เสมอ

      3.  มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมจัดให้ท่านไปสอนจังหวัดเดียวกันกับอาจารย์วิลาศ (ผศ.วิลาศ  หันนาคินทร์)  ที่กรุณาร่วมสอนภาษาอังกฤษ  เดินทางไปสอนวันเดียวกัน  โดยเจตนาให้ท่านเดินทางไปด้วยกันเพื่อความสะดวกและเป็นเพื่อนพูดคุยกัน  แต่พอตารางสอนออกท่านก็โทร.มาหาผม  ขอเปลี่ยนตารางสอนว่าถ้าเป็นไปได้ขอไม่เดินทางไปพร้อมอาจารย์วิลาศ  เหตุผลของท่านคือ  “หากเกิดอะไรขึ้นระหว่างเดินทาง  ถ้าผมเป็นอะไรไป  คุณวิลาศก็จะอยู่ดูแลลูกได้” นี่คือท่านอาจารย์พนัส  ครับ

      4.  ท่านรักทั้งครอบครัวและงาน  โดยเฉพาะการสอน  การเป็นครูคือชีวิตของท่าน  ท่านขอบคุณผมหลายครั้งที่ผมเชิญท่านไปสอนตามศูนย์ต่างจังหวัด  แต่สำหรับผมนับเป็นความกรุณาของท่าน แต่ท่านกลับบอกผมว่า  ชีวิตท่านมีความสุขที่ได้ไปสอนวันเสาร์-อาทิตย์  เพราะรู้สึกว่าเป็นประโยชน์แก่ลูกศิษย์  และท่านไม่เหงา  ท่านเล่าให้ฟังว่า  “เคยมีลูกศิษย์คนหนึ่งถามท่านว่า  บำนาญของอาจารย์ไม่พอหรือ  จึงต้องมาสอน”  เพราะในสายตาของลูกศิษย์คงเห็นว่าท่านน่าจะพักผ่อน  โดยหารู้ไม่ว่าการได้สอนคือการพักผ่อนและความสุขของท่าน

      5.  หลังเกษียณ  นอกจากการสอนที่มหาวิทยาลัยนเรศวรแล้ว  ท่านก็ยังรับที่จะช่วยสอนในสถาบันหลายแห่ง  เป็นกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์  และ I.S  ที่ค่อนข้างจ้ำจี้จ้ำไชกับลูกศิษย์มาก  เพราะท่านอยากให้งานวิชาการออกมาดี  รวมทั้งท่านยังรับเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง  ซึ่งบางครั้งเมื่อผมมีโอกาสนั่งรถกับท่าน  จึงเห็นท่านเตรียมตัวกับภารกิจต่างๆ ตลอดเวลา  สิ่งที่ผมประทับใจคือ  บ่อยครั้งที่ท่านเปิดกระเป๋าเอกสารคู่ชีพของท่าน  ภายในกระเป๋านอกจากเอกสารแล้วจะมีเสื้อแจกเกต  หมวก  รวมทั้งอาหารกลางวันคือ  แซนด์วิช  ที่ท่านบอกว่าคุณวิลาสเตรียมให้  อร่อยมาก  ท่านรอบคอบแม้แต่การเตรียมถุงพลาสติกเพื่อรองรับเศษอาหาร  ไม่ยอมให้มีอะไรตกหล่นในรถ  เพราะเกรงจะสกปรก

นี่คือท่านอาจารย์พนัส  ที่ผมรู้จัก

หมายเลขบันทึก: 165914เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ขอบพระคุณ ท่านอาจารย์มากนะคะ กับกำหนดการ ของท่านอาจารย์  นะคะ
  •   ทางทีมงาน เรา สำนักหอสมุด ได้ มีโอกาส สัมภาษณ์ท่าน เป็นข้อมูลไว้ที่ หอประวัติ  มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งทีมงานเราซาบซึ้ง ในกรุณาจากท่านมาก ท่านมีคำสอนให้แก่เราไว้มากถึงในด้านการเป็นครอบครัว ให้มีความเคารพต่อกัน
  •  ขออนุญาต นำ ลิงค์บันทึกที่เป็นเรื่องของประวัติมหาวิทยาลัย ใน gotoknow ไว้ที่บันทึกอาจารย์ด้วยนะคะ เพื่อเราชาวมน. ระลึกถึงพระคุณของท่านค่ะ

 

  • ชื่นชมครับ แม้ไม่เคยเจอท่านอาจารย์พนัส แต่ได้อ่านเรื่องราวแล้วก็ชื่มชมมากมาย รู้สึกมีความสุขและภูมิใจในความเป็นศึกษาศาสตร์
  • ขอบคุณอาจารย์สมบัติมากครับ ที่นำมาลงให้อ่าน น่าจะนำไปลงจุลสารของคณะด้วย หรือให้เว็บของคณะทำลิงค์มาที่นี่ด้วย เผื่อลูกศิษย์ลูกหาเข้าไปจะได้มาอ่าน เพราะอ่านแล้วมีกำลังใจในการทำความดี
  • ที่สุดแล้วอยากให้น้องๆ ป.ตรี ที่คณะได้อ่าน ทุกวันนี้กิเลสมันเยอะ เอาความดีมากระตุ้นหน่ออ่อนบ้าง เผื่อน้องๆ หลายคนจะหันกลับมาในทางที่เหมาะ
  • ให้อาจารย์ในคณะอ่านด้วยก็น่าจะดีครับอาจารย์ เพราะต่อไปเรื่องราวเหล่านี้จะได้มีคนนำไปเล่าต่อ
  • ขอบคุณครับ

ท่านคือปูชนียบุคคลที่ควรยกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่งค่ะ  ขอบพระคุณท่านรศ.ดร.สมบัติ  นพรัก ที่บันทึกความทรงจำดี ๆ นี้ให้ระลึกถึงท่านได้เสมอ ๆ

             ผมเป็นลูกศิษย์ มศว.ได้ยินเรื่องราวเกี่วกับ ท่าน ศาสตราจารย์ พนัส หันนาคินทร์ มากมาย

            แต่ที่ผมเป็นเป็นประจำคือ คู่มือ หรือ ตำราเกี่ยวกับการเรียนการสอน ที่มีชื่อท่านปรากฏอยู่

           เมื่อผมมาทำงานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทำให้ได้มีโอกาส รู้จักกับ ท่านอาจารย์พนัส และ อาจารย์วิลาศ รู้สึกได้เลย ว่านี่แหละที่เค้าเรียกว่า "ครู" อย่างแท้จริง

          เวลาที่อยู่ใกล้ๆ ท่าน ผมจะชอบฟังเรื่องเล่า ของท่านที่ รู้สึกว่าฟังกี่ทีก็ไม่มีเบื่อ โดยเฉพาะ โอวาท เรื่องการครองเรือนของท่าน

 

อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นที่น่ายกย่องสรรเสริญมากเลยที่เดียว ที่คณะศึกษาศาสตร์ของเราเคยมีครูที่เปี่ยมด้วยความเป็นครูอย่างแท้จริง

เคยแต่ฟังเรื่องราวของ ศ.ดร.พนัส หันนาคินทร์ จาก อ.จรูญ ตลอดระยะเวลา 1 ภาคเรียน เกี่ยวกับความดีและหลักในการการทำงาน คำพูด คำสอนดีๆ ความเมตตาที่มีต่อลูกศิษย์ ไม่คิดว่าวันนี้จะมีอีกหลายๆ คน ที่พูดถึงท่านในทำนองเดียวกัน

นี่ใช่ไหมคะที่เค้าบอกว่าเป็นคนดี เป็นคนที่มีคุณค่า ไม่ต้องบอกใครหลอก เดี๋ยวคนอื่นก็บอกเอง

ถ้ามีครูอย่างท่าน ศ.ดร.พนัส หันนาคินทร์ อีกสักแค่ 10 คน ในประเทศไทยเราคงได้พัฒนาการศึกษาได้อีกมากมายเลยทีเดียว

เรียน อ.สมบัติ ที่เคารพรักยิ่ง

ขวัญเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ทั้งสองท่าน ทั้ง ท่านอ.สมบัติ และ อ.พรรณยุพา

และได้เป็นลูกศิษย์ มศว.พิษณุโลก นิสิตทุนมูลนิธิศาสตราจารย์พนัส หันนาคินทร์ ซึ่ง

จะมีพิธีมอบทุนการศึกษา ในวันเกิดของท่าน ที่บ้านพักติดกับพิพิธภัณฑ์จ่าทวี ได้พบกับ

ท่าน ศ.ดร.พนัส หันนาคินทร์ หลังจากที่ท่านเกษียณอายุราชการแล้ว ทำให้ได้มี

โอกาสเป็นลูกศิษย์ของท่าน และจำคำสอนสั่งของท่าน ที่ให้ไว้ในวันรับทุน ว่า "ความจน

เป็นพรสวรรค์ นะลูก" คำสอนของท่านทำให้เราขยันขันแข็ง ขวนขวายในการใช้ชีวิต

และเล่าเรื่องราวสมัยเด็กๆ ของท่าน ว่าเรียนอย่างลำบาก เพราะครอบครัวยากจน ต้องขี่

จักรยานตามคันนาไปโรงเรียน แล้วพากเพียรสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศได้ ซึ่ง

เป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในชีวิต เมื่อเรียนสำเร็จในระดับปริญญาตรี และไปสอบ

บรรจุทำงานในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ก็ทำให้ดิฉันเข้าใจชีวิตใน

หลายๆ ด้าน รวมถึงคำสอนที่ อ.พนัสท่านให้ไว้ในใจเสมอ เมื่อมีโอกาสได้กลับมาทำงาน

ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ก็ได้พบท่านอยู่เนืองๆ เคยพบท่านมาติดต่องานไปรษณีย์ ขอ

อาสาถือสิ่งของให้ ท่านก็บอกว่า ถือเองได้ ยังไม่แก่สักหน่อย ก็ได้แต่เดินตามท่าน ได้

พูดคุยกับท่านบ้าง ซึ่งท่านก็จะมีความห่วงใย เมตตาให้อย่างสม่ำ เสมอ รวมทั้งได้รู้จัก

คลุกคลีกับลูกปลา (ลูกสาวคนเล็กของท่าน) ก็ได้เห็นความรัก ความเอาใจใส่ในครอบ

ครัวผ่านจากตัวลูกปลาด้วย ในวันที่ท่านเข้ารับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ก็มีส่วนร่วมแสดง

ความยินดีเล็กๆ กับท่าน (ท่านมาแต่งตัวที่ห้องทำงาน ศูนย์แนะแนวและให้คำปรึกษา ที่

ใช้เป็นห้องรับรองกรรรมการสภามหาวิทยาลัย ดุษฎีบัณฑิต)จนกระทั่งท่านจากพวกเรา

ไป ก็ยังอุทิศร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ ให้นิสิตแพทย์ได้ร่ำเรียน ถึงงานพระราชทาน

เพลิง ศาสตราจารย์ ดร.พนัส หันนาคินทร์ นั้น ทุกคนที่หลั่งไหลไปร่วมงานล้วนเป็น

บุคคลที่เคารพรักในความเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ของท่านด้วยกันทั้งสิ้น ท่านเป็นบุคคลสำคัญที่

สุดของมหาวิทยาลัยที่เคยเล็ก แต่ยิ่งใหญ่ ในน้ำใจของเราเสมอมา และหวังเล็กๆว่า

อธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร จะเป็นลูกศิษย์ของท่าน คือ ท่าน อ.สมบัติ

ก็คิดว่า มหาวิทยาลัยของเราจะต้องเติบโตในหลักธรรมาภิบาลอย่างแน่นอน

ด้วยใจเคารพรักทั้งสองท่าน อ.พนัส อ.สมบัติ

ลูกศิษย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร

ขวัญทิวา โฉมแดง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท