On Education: child-centered อีกที กับ OLPC อีกหน


ตลอดระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมาผมติดตามข่าวโครงการ OLPC โดยตลอด ส่วนใหญ่แล้วข่าวที่ผมติดตามไม่ใช่เรื่องทางธุรกิจ ว่าทางโครงการได้ไปตกลงกับประเทศอะไร อย่างไรบ้าง และก็ไม่ได้สนใจด้านเทคโนโลยีมากนัก คือรู้คร่าวๆ ว่าหลักการของเครื่องนี้เป็นอย่างไร จะมีเครือข่ายแบบไหนใช้งาน ข่าวที่ผมสนใจมากๆ คือเมื่อโครงการลงไปถึงพื้นที่แล้ว ได้ผลเป็นอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยมาตลอดเกี่ยวกับโครงการนี้คือการยกเอา constructivism เป็นธงชัย

สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้คือความเข้าใจของผมเกี่ยวกับทฤษฎีการเรียนรู้และจะสรุปว่าทำไมการดึงเอา constructivism มาผูกกับเครื่อง XO ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะตื่นเต้นมากนัก

ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจนะครับว่า constructivism นี้ไม่ใช่ทฤษฎีการสอน แต่เป็นทฤษฎีการเรียนรู้ (epistemology) ที่มุ่งอธิบายการมีอยู่และเคลื่อนตัวของความรู้ เป็นทฤษฎีที่มุ่งอธิบายว่าสิ่งมีชีวิตหรือมนุษย์เรียนรู้อย่างไรเมื่อมีการตีกรอบอย่างนี้แล้ว constructivism ก็ไม่ต่างจาก behaviorism, social cognitive, และ cognitive theories ผมจะขออธิบายทั้งสี่กลุ่มทฤษฎีนี้คร่าวๆ ตามความเข้าใจของผม รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวทางการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเหล่านี้ในชั้นเรียนนะครับ

BEHAVIORISM

ทฤษฎีแรกเริ่มนั้นคือ Behaviorism นั้นมองว่าสิ่งมีชีวิตทั้งปวงเรียนรู้จากการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม และมีการแบ่งการตอบสนองอยู่สองแบบ คือแบบเกิดเองตามธรรมชาติและแบบสร้างขึ้นมาภายหลัง ดังเช่นการทดลองของ Ivan Pavlov ปกติแล้วสุนัขจะน้ำลายสอเมื่อเห็นอาหาร (เกิดเองตามธรรมชาติ) ทีนี้คุณ Pavlov แกทดลองสั่นกระดิ่ง (เงื่อนไขแบบสร้างขึ้นมาภายหลัง) ไปพร้อมๆ กับเอาอาหารให้สุนัขเพื่อให้มันเข้าใจว่าทุกครั้งที่ได้ยินกระดิ่งจะมีอาหาร ทำซ้ำไปเรื่อยๆ สุนัขที่ควรจะน้ำลายสอเวลาเห็นอาหารก็กลับน้ำลายสอเพียงแค่ได้ยินเสียงกระดิ่ง

อะไรคือการเรียนรู้: นักทฤษฎีกลุ่มนี้ฟันธงได้ว่าสิ่งมีชีวิตเรียนรู้ก็คือการเอาสิ่งเร้าไปผูกกับการตอบสนอง (กระดิ่ง กับน้ำลาย)

ประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน: หลักการของ Behaviorism นั้น ยังมีใช้กันอยู่ในห้องเรียนและใช้กันกว้างขวางเกี่ยวกับเรื่องการให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวชม การให้รางวัล การดุด่า (เป็นการกระตุ้นทางลบ) เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมทั้งแบบจากภายในและภายนอก (intrinsic and extrinsic motivation) ซึ่งการกระตุ้นพฤติกรรมจากภายในนั้นใช้ได้ดีในกลุ่มเด็กที่โตหน่อยส่วนแบบภายนอกจะใช้ได้ดีในกลุ่มเด็กเล็ก เช่นการให้ขนมหรือของเล่น ส่วนการกล่าวชมนั้น ผมว่าหลักการเหล่านี้ใช้ได้ตลอดชีวิตละครับ แต่ต้องจริงใจ อย่าให้มันพร่ำเพรื่อ 

SOCIAL COGNITIVE
(http://tip.psychology.org/bandura.html และ http://en.wikipedia.org/wiki/Social_cognitive_theory)

อธิบายการเรียนรู้ของคนว่าเกิดจากการสังเกตและทำตามคนอื่น เช่นเด็กเรียนรู้จากผู้ใหญ่ ทฤษฎีนี้แยกคนออกมาจากสิ่งมีชีวิตอื่น ให้ความสำคัญว่าสมองของคนนั้นซับซ้อนกว่าสมองของสัตว์อื่นๆ ทั้งยังโต้แย้งแนวทางของ behaviorism ซึ่งเห็นสิ่งมีชีวิต (รวมทั้งมนุษย์) เป็นเพียงก้อนเนื้อไร้ความคิดที่รอรับการเรียนรู้จากภายนอกเท่านั้น ทฤษฎีนี้บอกว่ามนุษย์ สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมนั้นส่งผลซึ่งกันและกันและให้ความสำคัญกับตัวบุคคลด้วย นั้นหมายความว่ามนุษย์มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ว่าจะทำอะไร แล้วหวังผลอะไรจากการกระทำนั้น

อะไรคือการเรียนรู้: การจะฟันธงว่าคนเราได้เรียนรู้อะไรไปแล้ว ก็ต้องดูว่าคนๆ นั้นสามารถเลียนแบบพฤติกรรมของต้นแบบได้หรือไม่ เช่นว่ายน้ำได้เหมือนครูฝึกหรือไม่ หรือการจะบอกว่าผมเรียนรู้การเต้นบัลเล่ย์หรือไม่นั้น ต้องแสดงให้ได้ว่าสามารถเต้นเหมือนกับนักเต้นทั่วไป แต่เนื่องจากผมไม่เคยเต้นมาก่อน ถึงแม้จะไปเรียนสักวันละแปดชั่วโมง (ในวัยสามสิบต้นๆ) มันก็คงเต้นไม่ได้ หรือเต้นได้คงน่าเกลียดน่าดู แบบนี้เขาไม่ถือว่าได้เรียนรู้ครับ 

ประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน: ทฤษฎี social cognitive นี้ไม่เก่าเลยนะครับ เริ่มจะกลับมาฮิตกันมากด้วยซ้ำด้วยเรื่อง self-efficacy และ self-regulation ซึ่งเป็นหลักการที่มุ่งสนับสนุนให้เด็กมีทักษะในการเรียนด้วยตนเองได้ดี (รู้สึกว่าการเรียนแบบ kumon จะเด่นมากในเรื่องนี้นะครับ) อีกหลักการที่เด่นมากของกลุ่มทฤษฎีนี้คือ modeling ครับ ซึ่งเป็นการอธิบายว่าการมีต้นแบบที่ดีนั้นช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดี และอธิบายได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กจะเรียนรู้พฤติกรรมจากคนในบ้านและเพื่อนๆ อยู่ตลอดเวลา 

COGNITIVE THEORY

cognitive theory หรือ cognitivism นั้น อธิบายว่าการเรียนรู้ของคนเกิดขึ้นภายใน โดยมีการแบ่งความจำเป็นสองส่วนคือแบบสั้นและแบบยาว การจำอะไรสั้นๆ ก็เช่นการท่องหนังสือหนึ่งคืนก่อนสอบนั่นละครับ ส่วนการจำระยะยาวคือจำได้ขึ้นใจ การจะจำอะไรได้นานๆ นั้นต้องมีกระบวนการนำเข้าที่ดี วิธีการหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับกันมากคือ meaningful learning คำนี้กินความหมายลึกและกว้าง โดยหมายถึงเทคนิควิธีการที่จะช่วยให้มีการนำความรู้ใหม่มารวมกับความรู้เดิมได้ดี เทคนิคเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้เองในตัวผู้เรียนหรือผ่านการช่วยเหลือของผู้สอนก็ได้เหมือนกัน (ไม่ได้มีนัยของ teach- หรือ child-centered เลยแม้แต่น้อย)

ขอยกตัวอย่างนะครับ งานวิจัยหลายๆ งานเกี่ยวกับการทดลองให้เด็กจำกลุ่มคำศัพท์พบว่า สมมติว่ากลุ่มละห้าคำ มีห้ากลุ่ม พบว่าถ้าจัดศัพท์เป็นกลุ่มที่มีความหมายใกล้เคียงกัน (เอาศัพท์เกี่ยวกับสัตว์ไว้กลุ่มหนึ่ง เกี่ยวกับเครื่องยนต์ไว้อีกกลุ่มหนึ่ง) เด็กจะจำได้ดีกว่าและจำได้มากกว่า การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าการสอนศัพท์นั้น ถ้ามีการจัดกลุ่มคำดีๆ ก็จะช่วยให้เด็กจำได้ดีขึ้น ความจำมันจะเชื่อมโยงกันไปเป็นทอดๆ ครับ ถ้าจะนำมาประยุกต์ในห้องเรียนครูสามารถวางแผนการสอนที่ต่อเนื่องและเชื่อมโยงความรู้ของคาบที่แล้วมาคาบต่อไป ถามไถ่นักเรียนและพยายามกระตุ้นให้นึกกลับไปกลับมา จะดีกว่านั้นถ้าครูวาดแผนภูมิเชื่อมโยงหัวข้อต่างๆ (หรือแม้แต่ให้เด็กลองวาดดูเอง) ก็ช่วยให้เด็กเห็นความต่อเนื่องของเนื้อหาวิชา การนำความรู้ที่กระจัดกระจายมารวมเป็นกลุ่มก้อนนี่ล่ะครับคือหลักการสำคัญของ meaningful learning ซึ่งความรู้ที่กระจายอยู่อาจเป็นความรู้จากในห้อง จากนอกห้อง ทั้งใหม่และเก่า เอามาจัดระบบเชื่อมโยงกัน ก็ทำให้มันเกาะเกลียว เหนียวแน่น ถ้าจำอย่างหนึ่งได้ ก็จะเชื่อมโยงไปอีกอย่างได้ง่าย

นักวิชาการสาย cognitive theory ให้ความสำคัญกับกระบวนการจำตั้งแต่ต้นจนจบ คือตั้งแต่การนำเข้า (encode) ไปสู่ความจำชั้นต้น (working memory) และการเชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่มีอยู่ในความจำถาวร (long-term memory) โดยเสนอว่าถ้าทั้งกระบวนการนั้นเหมาะสมก็จะสามารถนำความรู้มาใช้ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกครับถ้าเราอ่านหนังสือก่อนสอบคืนเดียวแล้วพบว่าอีกอาทิตย์หนึ่งจำอะไรไม่ได้อีกแล้ว เพราะเราไม่ได้ encode มันดีพอ เพียงแต่อัดๆ เข้าไปในความจำชั้นต้น (ซึ่งบางครั้งเรียกว่า short-term memory) มันไม่ได้ไปผูกจับเชื่อมโยงกับความรู้เดิม สักพักมันก็หลุดลอยหายไป

อะไรคือการเรียนรู้: เมื่อเราเชื่อว่าการเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นภายในแล้ว การจะพิสูจน์ก็เป็นเรื่องที่ลำบากขึ้น เพราะจะมาน้ำลายไหลเหมือนการทดลองของ Pavlov นั้นลำบาก แต่นักวิจัยก็ต้องหาหลักฐานมาแสดงครับ การทดลองการจำศัพท์ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ถ้าการทดลองซ้ำๆ ได้ผลอย่างเดิมแล้ว ในทางสถิติก็ถือว่าน่าเชื่อถือ นักวิชาการสาย cognitive theory ก็มีการทดลองและหาหลักฐานมายืนยันเทคนิควิธีต่างๆ ได้เสมอ และถือได้ว่าเป็นกลุ่มทฤษฎีที่มีงานวิจัยออกมามากมายเลยทีเดียว 

ประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน: ทฤษฎีและแนวคิดเด่นๆ ของ cognitive theory นั้นมีมากมายเลยครับ ที่เกิดประโยชน์มากในชั้นเรียนก็เป็นพวกเทคนิคง่ายๆ ในการช่วยจำ เหมือนอย่างการทดลองศัพท์ข้างต้น หรือเทคนิคช่วยจำ (mnemonic) ก็เห็นกันบ่อย เช่นการจำอักษรตัวหน้าของชุดศัพท์ที่เกี่ยวข้อง หรือการเอาศัพท์ไปผูกไว้กับสิ่งของ เครื่องใช้ที่ช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่เทคนิค mind mapping ที่มีชื่อเสียงก็อยู่ในกลุ่มทฤษฎีนี้ครับ

เขียนมาซะยาวแบบนี้เพราะผมอยากจะทำความเข้าใจ (กับตัวเองและคนอื่นๆ) ว่าทำไมผมถึงไม่ชอบที่โครงการ OLPC ยกยอว่า constructivism จะเป็นแนวทาง (เดียว?) ที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และไม่สบายใจที่หลายคนผูกขาดแนวทาง constructivism ไว้กับ student-directed หรือ student-centered เท่านั้น

ผมรู้ครับว่าบล็อกนี้ยาวและยังไม่ได้พูดถึง constructivism เสียที (ถ้าพูดรวมไปมันจะยาวกว่านี้) แต่เหตุผลที่มันยาวเพราะมันเป็นเรื่องต่อเนื่อง เขียนแยกกันมันก็ไม่ได้อารมณ์ ถ้าทนอ่านมาจนจบก็ขอขอบพระคุณ

ยินดีรับทุกความคิดเห็นเช่นเคยครับ

หมายเลขบันทึก: 165907เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท