ความเดิม: ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 0) -- สิทธิพื้นฐานและทางเลือกของคนใช้เน็ต
คำเตือน กรุณาใช้วิจารณญาณในการอ่านบันทึกนี้
ผมเขียนบันทึกนี้ ทั้งที่ตระหนักดีว่าเป็นไปได้มากว่าท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่าผมพูดถึงใครบางคนหรือหลายคนที่ท่านรู้จัก แต่เรื่องนี้เป็นความเห็นกลางๆ เกี่ยวกับ "ตัวตน" ซึ่งไม่ว่าจะถูกหรือผิด ก็ไม่ได้เจาะจงไปที่ผู้ใดทั้งสิ้น
กรุณาอ่านคำแนะนำข้อ 2 ท้ายบันทึกที่แล้ว -- บันทึกนี้เป็นตัวอย่างของการเขียนในสไตล์ generalization (เหมารวม) แต่เป็น non-assertive (ไม่ยัดเยียดให้เชื่อ ไม่มีรายการให้ปฏิบัติ ไม่ใช้คำว่าต้อง ไม่ถือว่าผู้เขียนถูกเสมอ) เพื่อเสนอการวิเคราะห์ ด้วยความหวังว่าจะนำไปสู่ความเข้าใจในตัวตน ตลอดจนแรงผลักดันต่างๆ ที่ทำให้ผู้ใช้เน็ตเป็นอย่างที่เป็นอยู่
นอกจากนั้น ก็ยังเป็นตัวอย่างของ Troll (วางเหยื่อล่อปลา) ในคำแนะนำข้อ 10 อีกด้วย
หากท่านรู้สึกว่ารับไม่ได้ เพ้อเจ้อ ไร้สาระ แนะนำให้ข้ามบันทึกนี้ไปเลยครับ ไม่ต้องอ่านให้จบ
ตัวตนของคนใช้เน็ต
ผมไม่ได้เป็นนักจิตวิทยา แต่คิดว่าไม่ว่าจะอธิบายตามแนวของ Sigmund Freud หรือตามแนวคิดของ Carl Gustav Jung ก็ตาม ตัวตนคนใช้เน็ต น่าจะเป็นส่วนของ Ego ที่อยู่ในระดับของ Conscious (จิตสำนึก) คือเป็นสิ่งที่สมองเลือกสรรและปรุงแต่ง เพื่อแสดงออกให้ผู้อื่น(ชื่น)ชม
Ego ในบริบทของจิตวิทยา ไม่เหมือนกับอีโก้ที่ใช้เป็นคำทับศัพท์ในภาษาไทยซึ่งมักจะออกมาในความหมายเชิงลบ
แต่ Ego ในความหมายของบันทึกนี้ เป็นจิตสำนึก ที่พบปะ-ติดต่อกับโลก เป็นส่วนหนึ่งที่ควบคุมโดยความคิด การรับรู้ ตามประสบการณ์ ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ด้วยการกระทำ และปฏิกริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นครับ
ในเมื่อตัวตนเป็นจิตสำนึก จึงถูกปรุงแต่ง ได้โดยความรู้สึกนึกคิด; ในสถานการณ์บนเน็ตซึ่ง "โดยปกติ" ไม่ค่อยมีการพบปะกัน ตัวตนจึงถูกจิตสำนึก ปรุงแต่งให้มีลักษณะเข้าใกล้อุดมคติของผู้ใช้เน็ตแต่ละคน รวมทั้งการหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด อันเป็นประสบการณ์ที่ผู้ใช้เน็ตเคยประสบหรือเรียนรู้มา หากไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของการล่อลวง/หลอกลวง
ผู้ใช้เน็ต จึงต้องประเมินพิจารณาข้อมูลต่างๆ ให้ดี สิ่งใดที่ดีหรือร้ายจนผิดปกติ-แม้ว่าจะดูมีเหตุผลมากหรือน่าเชื่อถือก็ตาม ยังมี "ความจริง" ที่อยู่เหนือ "เหตุผล" อีก
จริงใจหรือไม่ ใครจะไปรู้

ก็นั่นน่ะซิครับ ใครจะไปรู้
ผู้ใช้เน็ตแสดงตัวตนผ่าน Conscious Ego ซึ่งถูกความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งได้ และตัวตนบนเน็ตอาจจะไม่เหมือนกับตัวตนที่แท้จริง เช่นตัวตนที่แสดงบนเน็ตเป็นกักขฬะคนหยาบช้าลามก ในขณะที่ในชีวิตจริงเป็นคนเรียบร้อย เงียบๆ "เป็นเด็กเรียน" หรือมีสถานะทางสังคมที่มีผู้ยกย่องจนรู้สึกว่าต้องรักษา "ฟอร์ม" (ตัวตนอีกอันหนึ่ง) ไว้ -- ตัวอย่างนี้ อาจจะเห็นได้ชัดว่าเป็นการใช้เน็ตปลดปล่อยแรงกดดันภายในจิตใจ
จากคำอธิบายเรื่อง Self-concept ที่เหมือนกับมี self (ตน) อยู่สามอย่างคือ (คำอธิบายของคุณเบิร์ด ซึ่งบันทึกนั้นน่าอ่านทั้งบันทึกและความคิดเห็นทุกอัน) ขออนุญาตเปลี่ยนคำเรียกขาน แม้ไม่ตรงกับตำรานะครับ
- ตนที่มองเห็น (Perceived self) เรานึกว่าเราเป็นอย่างนั้น แต่อาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ คนอื่นเห็นเราว่าเป็นอย่างนั้น ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้
- ตนที่เป็น (Real self) บางที และส่วนใหญ่ กลับหาตัวเองไม่เจอ
- ตนที่อยากเป็น (Ideal self) <-- นี่ไง นี่ไง ตัวตนในเน็ตสร้างมาจากตนอันนี้
บางคนอยู่กับครอบครัวเป็นอย่างหนึ่ง เวลาทำงานเป็นอีกอย่างหนึ่ง กับเพื่อนที่รู้ไส้กันก็อีกแบบหนึ่ง แล้วเวลาใช้เน็ตก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
ผู้ที่มีลักษณะ self-esteem / self-actualization สูง มีโอกาสมากกว่าที่ตัวตนเสมือนบนเน็ตอาจจะไม่ได้ถูกปรุงแต่ง (แต่ก็เป็นไปได้ที่จะโม มาเช่นกัน) เพราะเขาทราบดีว่าตัวมีค่า และความเห็นของผู้อื่น ไม่ได้ทำให้ค่าของเขาเพิ่มขึ้น (โดยการยกย่องชื่นชม) หรือลดลง (ถูกตำหนิ) คุณค่าของคนเหล่านี้ เพิ่มขึ้นด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เข้าใจจนพลิกแพลงปรับประยกต์ใช้ในชีวิตของเขาได้ จนกระทั่งนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น และได้ "คุณค่า" ตอบแทนกลับมา
หากมีใครสักคน มาบอกท่านว่าเขาเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น ท่านคิดว่าเขาพยายามจะแสดงตัวตนแบบใด
เฉลย: อาจเป็นได้ทั้ง Real self และ Ideal self แต่ส่วนใหญ่แล้วคงจะเป็น Ideal self; ส่วนถ้าเป็น Real self ก็มีวิธีช่วยตรวจสอบ ดังจะกล่าวต่อไป
เพราะคุณค่า เกิดจากการกระทำ...
...และการกระทำในเน็ตนั้น เพียงแต่ส่งข้อความที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้รับปฏิกริยาในเชิงบวกกลับมาเป็นรางวัล ดังนั้นจึงเป็นคำอธิบายในแง่หนึ่งว่า
- ทำไมจึงมีการสร้างบุคลิกภาพใหม่ ซึ่งทั้งสะดวก และ(เกือบ)ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นใคร; หากตัวตนเสมือนที่สร้างขึ้นนี้ ไม่เป็นไปตามที่คิด ก็เปลี่ยนแปลงวิธีการ แล้วเริ่มใหม่ เหมือนเล่นวิดีโอเกม "แพ้" แล้วเริ่มใหม่ -- บุคลิกภาพในเน็ตที่สร้างขึ้นนี้ เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของ "ตน" ให้ได้รับความพึงพอใจ ซึ่งอาจหาได้ยากกว่าในชีวิตจริง
- ทำไมผู้ใช้เน็ตจึงชอบอ่านเรื่องเชิงบวกที่ไม่มีข้อสรุป ซึ่งไม่ต้องเลือกข้างใดเรื่องที่ขัดแย้งกัน -- ความขัดแย้งเป็นเรื่องในเชิงลบ ไม่ยุ่งได้ก็ดี ยุ่งแล้วไม่ได้อะไร เป็นกองเชียร์ดีกว่า
- ทำไมเวลาเรียกระดมความร่วมมือบนเน็ต กลับยากกว่าในชีวิตจริง -- เพราะเน็ตเป็นโลกเสมือน เข้าออกเลือกสรรได้ตามใจ ไม่มีใครมาบังคับได้ และมีข้ออ้างอยู่มากเช่นกัน เช่น ไม่เห็น ไม่ว่าง ไม่รู้ ไม่เกี่ยว ผู้ใช้เน็ตอยู่กันเป็นอิสระ อยู่กันคนละที่ ไม่มีแรงกดดันทางสังคมจากการพบหน้ากันบ่อยๆ
อาการติดเน็ต
เนื่องจากตัวตนเสมือนที่แสดงบนเน็ต สามารถรับความพอใจหรือไม่พอใจได้ แต่เป็นตัวตนที่ควบคุมได้ ละทิ้งได้ ไม่เหมือนชีวิตจริง
- เด็กเล่นเกมส์ออนไลน์ จ่ายเงินจ่ายทอง โดดเรียน ไม่นอน เพียงเพื่อให้ได้รับรางวัลเป็นคะแนน (หรือ items) ซึ่งเป็นสิ่งเสมือนทั้งนั้น [แต่ผู้ให้บริการรับเงินจริง แม้พล่ามว่ารักชาติ แต่ทำอย่างนี้กับลูกหลานไทย]
- ตัวอย่าง คนเล่นกอล์ฟ
- เพิ่งเริ่มเล่น ตี 100 สโตรค พอใจ 18% ตอนลูกลงหลุม ใช้เวลา 5 ชั่วโมง Endorphin หลั่งทุก 17 นาที ซึ่งมากกว่าที่พบในชีวิตประจำวันโดยทั่วไป
- ฝีมือดีขึ้นมาจนเข้าสู่ไฟลต์เอ แฮนดิแค็ป 10 ตี 82 สโตรค (8 พาร์ 10 โบกี้) ใช้เวลา 4 ชั่วโมง; เวลาได้พาร์ ต้องตีดีทุกลูก ส่วนเวลาได้โบกี้ อาจไม่ได้ดั่งใจไปลูกหนึ่ง ดังนั้นใน 82 สโตรค พอใจถึง 72 ครั้ง ทำให้ Endorphin หลั่งครั้งหนึ่งทุก 3-4 นาที แทบจะทุกครั้งที่ตีลูก
- การที่ Endorphin หลั่งด้วยอัตราที่มากกว่าในชีวิตปกติมาก เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนติดกอล์ฟ (Endorphin แรงกว่า Morphine สองร้อยเท่า)
- แล้วคนเล่นเน็ต จะไปเอา Endorphin มาจากไหน: ก็มาจากการใช้ตัวตนเสมือนครับ [อธิบายละเอียดนักก็อาจจะแรงไป]
ปรากฏการณ์ GotoKnow
ไม่ว่าจะเป็นด้วยอัจฉริยภาพหรือเป็นไปตามธรรมชาติ มีสิ่งที่ทำให้ GotoKnow แตกต่างจากชุมชนออนไลน์อื่นๆ ในหลายด้าน; มีคำแนะนำซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในโครงสร้างสำคัญทางสังคม อันช่วยให้ GotoKnow แตกต่างจากชุมชนออนไลน์อื่นๆ ในแง่ที่
- สมาชิกเป็นจำนวนมาก ผ่านการอบรมการใช้งานเรื่องการจัดการความรู้ตามรูปแบบ และรู้ว่าใช้ GotoKnow เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับ KM ได้ -- การเข้ามาเป็นกลุ่มก้อนด้วยเป้าหมายเดียวกันนั้น ช่วยสืบสานวัฒนธรรมของสังคม GotoKnow ไว้ได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดและแนะนำจากผู้ที่ใช้แล้วเห็นผลดี
- Positioning ของ GotoKnow นั้น ชัดเจน เป็นชุมชนออนไลน์ของคนทำงาน -- โดยปกติก็จะมี maturity สูง (แต่สรุปเหมารวมว่าทั้งหมดเป็นอย่างนี้ไม่ได้)
- มีคำแนะนำให้ใส่หน้าประวัติด้วย credentials จริง แม้ไม่ได้บังคับ แต่สมาชิกส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตามคำแนะนำ -- คำแนะนำนี้ ช่วยให้เหล่าสมาชิก คบหากันด้วยความสนิทใจมากขึ้น แต่ก็มีด้านลบบ้างเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้ตรวจสอบประวัติว่าตรงกับความจริงหรือไม่
- มีการพบปะสังสรรค์กันตามอัธยาศัย และมีงานกาารจัดการความรู้แห่งชาติ (NKM) เป็นประจำ เกิดลักษณะ Face-to-face นอกเหนือไปจากการแลกเปลี่ยนผ่านบล็อก (Blog-to-blog)
- มีเฮฮาศาสตร์ (Heart-to-heart) นอกเหนือไปจากการมีปฏิสันถารตามปกติ
สิ่งใดในตัวตนที่ปรุงแต่งได้ยาก (สิ่งบ่งชี้ถึง Real self)
- ความเร็วในการตอบ -- คำตอบที่มาเร็ว มีแนวโน้มที่จะปรุงแต่งน้อยกว่าคำตอบที่ไปคิดตรึกตรองอยู่หลายวัน
- ความมั่นคงทางอารมณ์ -- เป็นปฏิกริยาที่แสดงออกต่อความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก คนเราที่ยังไม่หลุดพ้น เบื่อได้ ท้อแท้ได้ โกรธได้ หงุดหงิดได้ ผิดหวังได้ ดีใจได้ แสดงอารมณ์ต่างๆ เป็นธรรมชาติ แต่ถ้านิ่งและยืนหยัดได้ละก็ หาได้ยากจริงๆ
- คุณค่าที่ให้กับผู้อื่น -- เป็นการให้โดยบริสุทธิ์ใจ ให้แล้วให้เลย ไม่ต้องการการยกยอ/ขอบคุณตอบแทน
- จุดยืนบนการกระทำ (Persistence) -- ไม่ใช่แค่จุดยืนทางความคิดซึ่งปรุงแต่งผ่านตัวหนังสือที่เขียนได้
- ความไม่สมบูรณ์แบบ -- เป็นอาการหลุด อาจสังเกตได้ด้วยเวลาที่คบกันยาวนาน ส่วนใครดีสมบูรณ์แบบ ควรเชิญเข้าพิพิธภัณฑ์
ควรค้นหาตัวตนของผู้อื่นหรือไม่ ท่านกำลังหาอะไรกันแน่
ไม่มีใครตอบแทนผู้อื่นได้ว่าควรจะทำหรือไม่ทำอะไร ถ้าท่านคิดจะค้นหา อย่างน้อยก็ขอให้ชัดเจนก่อนว่าจะหาอะไร
- Perceived self -- หาได้โดยไม่ต้องสอบทาน คิดว่าอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น และอาจผิดไปจากตัวตนจริงได้มาก
- Real self -- อันนี้ ถึงเข้าใจก็ไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่ นอกจากว่าจะคบกันไปนานๆ
- Ideal self ซึ่งเขาจะพยายามแสดงออกมาให้ดูอยู่ดี ไม่ต้องขวนขวายอะไรมาก
แต่ถ้าท่านคิดว่าหน้าประวัติคือตัวตนที่ท่านค้นพบแล้วละก็ ท่านคงยังไม่ได้มองหาอะไรเลย แต่หยุดค้นไปแล้วครับ
ตัวตนของผู้อื่นสำคัญต่อท่าน หรือสิ่งที่เขานำมาให้แล้วท่านสามารถไตร่ตรองกลั่นกรอง เลือกเชื่อ เลือกรับได้นั้น เป็นประโยชน์ต่อท่านมากกว่ากันครับ
ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 2) -- ชุมชนออนไลน์