เรื่องเล่าของพยาบาลที่เป็นมะเร็ง(3)


เรื่องเล่าของพยาบาลที่เป็นมะเร็ง

                                                                                                          สุวิมล       สุภามา

โรงพยาบาลวังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย

ฉันฟื้นจากการผ่าตัดพร้อมกับความเจ็บปวดที่ปวดมาก พนักงานเข็นเปลพยามเข็นด้วยความระมัดระวังแล้วแต่ฉันก็ยังคงรู้สึกว่ากระเทือนนิดเดียวก็ปวด ฉันได้รับยาแก้ปวดด้วยเครื่อง PCA เพื่อให้มอร์ฟีนแก้ปวด ซึ่งเครื่องนี้จะให้ยาแก้ปวดตลอดเวลาในอัตรา 2 มก./ชม. และฉันเองสามารถกดให้ยาตนเองได้เมื่อปวดทุกครั้งแต่ต้องห่างกันทุก 5 นาที ฉันปวดจนแทบจะฟังคำบอกเล่าที่ให้กดยาแก้ปวดไม่ได้ จำได้ว่ามีคนเอาปุ่มกดยาใส่มือพร้อมบอกกด ฉันหาที่กดไม่เจอ มีคนเอานิ้วฉันกดยา พร้อมสั่งว่ากำไว้เมื่อปวดให้กดได้เลย มีเสียงพยาบาลถามว่าเอา อ็อกซิเจนนะ ฉันพยักหน้า แล้วก็สะลึมสะลือหลับตื่นๆ บอกเพื่อนว่าปวดแผล ปวดหลังให้นวดยาให้ด้วย ฉันนอนตัวงอ เหยียดตัวตรงไม่ได้ นอนไม่หลับทั้งคืน กดยาแก้ปวดเป็นระยะ บอกน้องให้เปิดคาถาชินบัญชร ทำสมาธิได้เป็นระยะๆ แรกๆ ฉันนอนตะแคงขวาไม่ได้เลย ตะแคงซ้ายกับนอนหงายได้เท่านั้น ที่น่าตกใจก็คือ ฉันรู้สึกถึงอาการไส้ไหล  เวลาตะแคงซ้ายลำไส้มันก็จะไหลหลงด้านที่ฉันตะแคงซ้าย ตะแคงขวามันก็จะพากันไหลเทมาที่ด้านขวา ฉันก็คิดว่ามันน่าจะมีผลจากการถูกสาวไส้สารพัดขด (การผ่าตัดที่ต้องเอาลำไส้ออกมาข้างนอกช่องท้องแล้วคลำหาก้อนผิดปกติ) เวลาเรียงลำไส้คืนคงยังไม่เข้าที่กระมัง อาการนี้เป็นอยู่เกือบอาทิตย์จึงหายไป การผ่าตัดครั้งนี้ปวดมากจนทำเอาฉันมีอาการท้อ เข็ดการผ่าตัด คะแนนความปวดจากการผ่าตัดครั้งนี้ฉันให้ได้ถึง 11 (คะแนนเต็ม 10) มาทราบทีหลังว่าทำหัตถการสามอย่างคือ ปะผุหม้อน้ำที่รั่ว ,ตัดลำไส้ทิ้งไปหนึ่งคืบเฉพาะบริเวณที่มีก้อนแล้วก็ต่อลำไส้ และตัดไส้ติ่ง ดังนั้นความปวดจึงมีมาก  เครื่องประดับอันสวยงามที่ติดตัวออกมาจากห้องผ่าตัดก็มี สายน้ำเกลือ สายให้ยาแก้ปวดมอร์ฟีนติดมาทางเครื่อง PCA สายสวนกระเพาะปัสสาวะทางหน้าท้อง  สาย Jackson drain (ฉันเรียกแจ็คกี้น้อยเพราะเป็นกระเปาะสูญญากาศเล็กขนาดฝ่ามือ) Penrose drain  และสายสวนคาปัสสาวะทางท่อปัสสาวะ วันที่สองหลังการผ่าตัดความปวดยังไม่ทุเลาเพื่อนฉันบอกว่าฉันกดยาแก้ปวดมอร์ฟีนน้อยมากถามว่าไม่ปวดเหรอ ฉันก็บอกว่าปวดและคิดว่ากดมากแล้ว แพทย์ทางการระงับปวดมาดูสั่งให้ยาตัวใหม่เพิ่ม ฉันเริ่มนอนหลับได้บ้าง ยังลุกเดินไม่ไหว และวันที่สองนี่เองที่มีอาการคันตามใบหน้าและลำคอ พยาบาลต้องมาให้ยาแก้แพ้ ทำให้ฉันได้ความรู้เพิ่มว่ามอร์ฟีนก็ทำให้คันได้ วันที่สามหลังการผ่าตัดฉันเริ่มนั่ง ยืนข้างเตียง ยังมีเวียนศรีษะจากยาแก้ปวด ต้องหยุดการให้มอร์ฟีน เปลี่ยนยาใหม่ เริ่มจิบน้ำและเดินมากขึ้น ฉันซีดมาก เม็ดเลือดแดง 22 % ต้องให้เลือด  หลังได้เลือดไป 1 Unit เม็ดเลือดแดงขึ้นมาเป็น 25% อาการทั่วไปเริ่มดีขึ้น รับประทานอาหารได้ ฉันก็คาดว่าอาการน่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ

สัปดาห์ที่หนึ่งผ่านไป พร้อมกับการถอดสายแจ็คกี้น้อย ที่ยาวประมาณ 10 นิ้ว ลักษณะเหมือนพยาธิตัวแบนไม่เจ็บมากนัก  ฉันเริ่มมีอาการถ่ายบ่อยครั้ง ทั้งที่ฉันก็รับประทานอาหารตามปกติ ไม่กล้าทานมากด้วยซ้ำเพราะกลัวลำไส้อุดตัน แพทย์คาดว่าน่าจะเป็นการปรับตัวของลำไส้ ต้องให้เวลา และในสัปดาห์ที่สองต่อสัปดาห์ที่สามฉันมีอาการปวดท้องมากขึ้น ปวดเบ่ง ถ่ายบ่อย 7-14 ครั้งต่อวัน ถ่ายจนมีอาการเหมือนเป็นตะคริวในลำไส้ และที่ต้องอดทนมากๆ คือแพทย์ต้องสังเกตอาการถ้าได้ยาแก้ปวดก็จะทำให้กดอาการไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ในเมื่อปวดท้องก็ปวด ถ่ายก็บ่อย ได้แค่ยาแก้ปวดพาราครั้งละ1-2 เม็ด ฉันก็เริ่มมีอาการหงุดหงิด ไม่อยากทน ต้องโทรหาเพื่อนให้เรียนแพทย์ทางระงับปวดมาดู ฉันบ่นกับแพทย์ทางการระงับปวดว่าแค่ฉันขอยาระงับปวดกลุ่มที่ทำให้ลำไส้หดเกร็งเคลื่อนไหวน้อยลง (Antispasmotic drug) มันจะทำให้ถึงกับสังเกตอาการอื่นไม่ได้เชียวหรือ ในเมื่อฉันเป็นพยาบาลสามารถบอกได้ และรู้ว่าใช้ยาขนาดไหนจึงจะหยุด ฉันไม่ได้อยากใช้ยาพร่ำเพรื่อ แต่ต้องการแค่ให้คุณภาพชีวิตฉันดีกว่านี้เท่านั้นเอง คนไม่เคยเจ็บไม่เคยผ่าตัดคงจะคิดว่าปวดไม่มากต้องทนได้ แต่นี่ ฉันไม่ไหวแล้ว  ที่สุดเมื่อแพทย์ทางการระงับปวด ฟังฉันบ่นเสร็จท่านบอกเข้าใจเรื่องปวดว่าฉันปวดมาก เพราะเป็น CA ฉันก็ได้ยาแก้ปวดเพิ่มคือมอร์ฟีนน้ำสำหรับเบรคการปวด และได้ยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ เพิ่มจากเดิมที่มีแค่พาราเซตามอล ร่วมกับการแปะยาแก้ปวด Fentanyl 25 ไมโครกรัม ฉันใช้มอร์ฟีนน้ำ 2 dose ใช้ยาลดการหดเกร็งของลำไส้ ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลง 3 dose  หลังจากนั้นอาการปวดท้องลดลงเกือบปกติ  รับประทานอาหารได้ อาการถ่ายบ่อยลดลง และไม่มีสิ่งแปลกปลอมรั่วซึมออกทางช่องคลอด

สามสัปดาห์ที่ฉันต้องปัสสาวะทางหน้าท้องก็ผ่านไป ย่างเข้าสัปดาห์ที่สี่ฉันต้องหัดปัสสาวะเอง โดยการclamp สายสวนปัสสาวะแล้วฝึกปัสสาวะเอง ต้องจดเวลาขับถ่าย พร้อมจำนวนปัสสาวะที่ออกมาเพื่อดูการทำงานและความจุของกระเพาะปัสสาวะ ฝึกอยู่ 2-3 วัน ฉันก็ได้รับการถอดสาย วิธีการก็คือ ดึงออกทางหน้าท้องนั่นแหละ เจ็บสิ เจ็บอยู่แล้วไม่น่าถาม

และขั้นตอนจากนี้ไปฉันต้องรอเรื่องการให้เคมีบำบัด ซึ่งจากการที่ยามีราคาแพง การให้ยา สั่งยา ต้องขออนุญาตไปที่กรมบัญชีกลางเพื่ออนุมัติ ฉันเองก็มีหน้าที่ทำน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นให้ได้เพื่อที่เมื่อรับยาเคมี จะได้ทนยาได้ และร่างกายไม่อ่อนแอ ฉันกิน กิน กิน ครบสามมื้อ ตามด้วยหัวอาหารหลากหลายชนิด (อาหารทางการแพทย์ และอาหารเสริมประเภทต่างๆ  ที่ให้พลังงานและสร้างกล้ามเนื้อ วิตามินที่จะช่วยให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดให้แข็งแรง ฯลฯ) หลังจากกิน ฉันมีหน้าที่ นอน นอน และนอน เพื่อให้ร่างกายซ่อมส่วนที่มันสึกหรอให้มากที่สุด แล้วฉันก็ทำสำเร็จน้ำหนักเริ่มขึ้น พร้อมสำหรับเคมีบำบัด และพร้อมสำหรับคำวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายระหว่างนี้ฉันก็ท่องไปในโลกของกูเกิลหาการรักษาด้วยเคมีบำบัด พบว่าบางครั้งมันก็ทำให้เรากลัว บางครั้งก็ทำให้เราอยากลองดูสักตั้ง ฉันเป็นประเภทหลังซะด้วยสิ ที่ไม่ท้อ ไม่หวั่น พร้อมจะสู้ แม้แพทย์ท่านจะบอกว่า คุณต้องยอมรับว่าชีวิตคุณอยู่ได้ด้วยยา ต้องมีวินัยในการมารับยาเคมีตามกำหนด แล้วเราจะมีการประเมินคุณเป็นระยะ ข้อความแบบนี้ฉันเองก็คุ้นๆ ว่าเราเองก็บอกกับผู้ป่วย HIV อย่างนี้เหมือนกัน เอาเหอะ อะไรเกิดขึ้นแล้วดีที่สุด เราก็ถือว่าทุกสิ่งได้เกิดขึ้นแล้ว เรามีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา  เราต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจไปทั้งสิ้น  เรามีกรรมเป็นของๆ ตน มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม ใครทำกรรมอันใดไว้เป็นบุญหรือเป็นบาป เราต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป ฉันเองก็กำลังใช้กรรมอยู่เช่นกัน แต่ฉันจะอยู่อย่างมีสติอย่างมีปัญญาให้ได้

แม้ว่าฉันจะเป็นมะเร็ง ชีวิตฉันก็ยังต้องดำเนินต่อไป ดังนั้นจะแปลกอะไรถ้าฉันจะคิดถึงแต่ปัจจุบัน ไม่คิดถึง ไม่คาดหวังสิ่งที่จะมาถึงในอนาคต การไม่คิดถึงอนาคตไม่ได้หมายความว่าฉันหมดอาลัยตายอยากในชีวิต เพียงแต่ฉันพยายามควบคุมสติให้อยู่กับปัจจุบันให้รู้เท่าทันชีวิต ทำวันนี้ เหมือนกับวันสุดท้ายของชีวิต ต่างหาก ซึ่งเมื่อมาคิดใคร่ครวญแล้วบางคนอาจคิดว่าฉันโชคร้ายและน่าสงสารจังเลยที่ป่วยเป็นมะเร็ง แต่ในอีกมุมมองฉันกลับมองว่า ฉันโชคดีบนความโชคร้ายต่างหาก เพราะ1) ขณะนี้สภาพร่างกายและจิตใจของฉันยังแข็งแรงดี ถ้าฉันไม่มาผ่าตัดมดลูกในปีนี้ ฉันก็จะไม่พบก้อนที่ปอด ก็จะไม่รู้ว่าเป็นมะเร็งปอด และจะไม่รู้ว่าเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่  2)จะมีสักกี่คนที่จะได้ตรวจร่างกายทุกระบบอย่างฉัน เพราะทุกคนก็รู้ว่ากว่าจะนัดตรวจพิเศษแต่ละอย่างในโรงเรียนแพทย์นั้นต้องใช้เวลานานมากกว่าจะครบทุกระบบ แต่ฉันกลับโชคดีที่ใช้เวลาต่อเนื่องในการตรวจพิเศษต่างๆ เพียงช่วงระยะเวลาไม่นานนัก 3)เพราะป่วยฉันจึงรู้ว่ายังมีบุคคลที่รักและเป็นห่วงฉันอีกมากมายนอกจากพ่อแม่ และญาติแล้ว เพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วยที่ฉันดูแล ครู อาจารย์  พี่น้อง รวมถึงเพื่อนฝูงที่ห่างหายกันไปไม่พบหน้าตา กันมาหลายปีได้โคจรมาพบปะอย่างพร้อมหน้า เป็นระยะ และต่อเนื่องจากข่าวการเจ็บป่วยของฉัน 4) ฉันได้รู้เวลาที่เหลืออยู่ก่อนคนอื่นทำให้มีเวลาที่จะทำงานที่เหลืออยู่ไม่ให้คั่งค้าง เร่งทำความดี ปฏิบัติความเพียรอย่างเต็มกำลัง 5) และฉันได้มีโอกาสพักผ่อนอย่างเต็มที่สุขสบายในอพาร์ทเม้นท์ส่วนตัว แบบที่ไม่เคยคิดว่าจะได้พักยาวนานอย่างนี้มาก่อนตลอดอายุการทำราชการยี่สิบกว่าปี

เมื่อพยาบาลต้องมากลายสภาพเป็นคนไข้เสียเอง แถมเป็นคนไข้ที่ป่วยเป็นมะเร็งด้วยแล้ว ทำให้ฉัน อยากจะบอกพี่ น้อง เพื่อนฝูงว่า ในการทำงานเราชอบพูดว่าให้การรักษาพยาบาลแบบองค์รวม (Holistic Care) แต่ความเป็นจริงแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ยังมองการเจ็บป่วยอย่างแยกส่วนยังไปไม่ถึงองค์รวมอย่างแท้จริง การที่จะทำอย่างไรจึงจะไปถึงองค์รวม เป็นคำถามที่ท้าทาย และต้องการคำตอบเป็นอย่างยิ่ง ฉันในฐานะที่เป็นพยาบาลและเป็นผู้ป่วยด้วยอยากจะสะท้อนแง่คิดให้ทุกท่านที่อยู่ในแวดวงทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รู้ว่า

1)บุคลากรทางการแพทย์ต้องทบทวนบทบาทและ มองตนเอง เพราะบางครั้งสิ่งที่ท่านคิดว่าดีแล้ว เหมาะสมแล้ว ถูกแล้วสำหรับผู้ป่วยมันอาจจะไม่ใช่ความต้องการของผู้ป่วยเลย  2)การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลรักษาพยาบาล เพื่อป้องกันความสับสนของผู้ป่วย 3)การให้เวลาที่จะรับฟังและพูดคุยกับผู้ป่วยเป็นเรื่องจำเป็นเพราะจะทำให้เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย 4)การเรียนและฝึกเรื่องการแจ้งข่าวร้ายให้กับผู้ป่วยมีความจำเป็นรวมถึงการจัด Setting ต่างๆ ในการพูดคุยกับผู้ป่วย 5) ความรอบคอบของบุคลากรในการทำงานไม่ว่าจะเป็นการสั่งยา ให้ยาและการปฏิบัติตามคำสั่งที่ถูกต้อง

             บทเรียนในการเจ็บป่วยครั้งนี้ของฉันในวันนี้ ทำให้ฉันเห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป (ของอารมณ์ตนเอง) รู้เท่าทัน ความเป็นไปในชีวิต รู้ว่าแค่มาเล็ง(มะเร็ง) เท่านั้น ถ้าโดนยิงหลังไปเสริมความงามจึงเป็นเรื่องใหญ่ (ฮา) และทุกอย่างอยู่ที่ใจเราทั้งสิ้น มองให้เล็กก็เล็ก มองให้ใหญ่ก็ใหญ่ ถ้าถือไว้ก็หนักต้องรู้จักวางลงซะมั่ง   ขอบคุณทุกสิ่งและมะเร็งที่ยังให้โอกาสได้เรียนรู้ครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตก่อนที่จะสายเกินไป 

          หมายเหตุ;บทความนี้เป็นผลงานของเพื่อนที่ทำงานร่วมกันในชมรมพยาบาลชุมชนด้วยกัน เธอเป็นนักเรียนที่เข้ามาฝึกอบรมหลักสูตรวิจัยเชิงคุณภาพรุ่น 3/1 (2549)ของชมรมฯ พวกเราทราบภายหลังว่าเธอป่วย หากดูทั่วไปและการพูดคุยด้วยเธอไม่ได้แสดงถึงการเจ็บป่วยของเธอ พบเธอล่าสุดเมื่อประชุมวิชาการประจำปีของชมรมฯ(22-24 ม.ค.2551)  เธอดูสดใสไม่มีริ้วรอยของความเจ็บป่วยทั้งที่ทำเคมีบำบัดหลายคร้ง เธอเป็นตัวอย่างให้พวกเราที่มีร่างกายปกติ และผู้ที่เจ็บป่วยในการเรียนรู้ที่มีชีวิตอยู่กับความทุกข์เป็นอย่างดี ผมเองจึงขออนุญาตเธอนำบทความมาเผยแพร่ ขอบคุณมาก....(supat)

หมายเลขบันทึก: 163423เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2008 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ คุณsupat

ข้ามมาอ่านตอน 3

พยาบาลเราถ้าไม่อดทนอย่างมาก ก็อ่อนแอสุดๆค่ะ

ยินดีปละปลื้มกับกิจกรรมของชมรมพยาบาลชุมชนค่ะ

ป้าแดง ไม่รู้เรื่อง ความเป็นมาของ ชมรมนี้เคยเลย แต่เคยสมัครสมาชิกนะ อยากสานต่อ เหมือนกัน

ถ้าจำไม่ผิด เราน่าจะ เป็น ศิษย์ สปส. เหมือนกัน

ยินดีที่ได้เจอ ที่นี่ค่ะ จะติดตามผลงานนะ

ขอโทษที่ ข้างบน พิมพ์ผิดหลายที่

ประมาณว่า ที่โรงบาลป้าแดง ไม่มีใครแจ้งข่าวสาร เกี่ยวกับชมรมให้รู้เลย

รึว่า เราไม่ได้ติดตามเองก็ไม่รู้นะ

 

 

เรียน  คุณป้าแดง

          ข่าวของชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ติดตามที่ www.thainurseclub.net ครับ

สุพัฒน์

สวัสดีค่ะ เพิ่งเข้ามาอ่านเป็นครั้งแรก เป็นพยาบาลเหมือนกันแต่อยู่โรงพยาบาลเอกชน ไม่ได้มีโอกาสทำงานในชุมชนอย่างพวกพี่ๆ อ่านบทความแล้วมีความรู้สึกเช่นเดียวกันว่าพยาบาลอย่างเรายังไม่สามารถดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมได้ เรายังเฝ้าอยู่ที่กายมากกว่าใจ ดังเช่นที่ได้พบกับผู้ป่วยชาย อายุ 30 ปีเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มาผ่าตัดและเปิดทวารทางหน้าท้อง ให้ยาเคมีชนิด xeloda และหลังจากนั้น 6 เดือนมีการวางแผนเย็บลำไส้ปิดไปถ่ายที่ก้นตามเดิม แต่เมื่อมาตรวจร่างกายพบว่า มีการกระจายไปยังที่ตับและปอด ผู้ป่วยนั้นเศร้าลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังยิ้มให้กับพยาบาลอยู่ แต่ลึกๆในใจของเราเห็นแล้วอยากเข้าไปคุยด้วย เพื่อให้เขาระบายสิ่งที่เขารู้สึกและกังวล แต่ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปคุยด้วยเพราะผู้ป่วยต้องไปครวจร่างกายเพิ่มเติม และเมื่อกลับมาทำงานอีกวันหนึ่งผู้ป่วยได้กลับบ้านและไปรักษาต่อที่ร.พ.รัฐอีกแห่งหนึ่งแล้ว จึงทำให้เกิดความรู้สึกผิดที่ไม่ได้ช่วยเขาแก้ไขปัญหา เมื่อมาเจอบทความนี้แล้วเลยสะท้อนใจขึ้นมาอีก

การทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เป็นคำที่ใช้ได้เสมอในการดูแลผู้ป่วยหรือแม้แต่คนที่เรารัก เมื่อคิดแล้วให้ลงมือ หากคิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สดุสำหรับเขาและเธอ ให้กำลังใจสำหรับจะทำสิ่งดีๆในปัจจุบัน

"มหัศจรรย์ในปัจจุบัน"

สุพัฒน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท