ผญาม่วน 8... หาบบ่หนัก ตักบ่เต็ม เค็มบ่จืด มืดบ่แจ้ง (1) แม่ผู้หาบบ่หนัก ตักบ่เต็ม


ตกมาปีสองปีนี้แม่ใหญ่(คุณยาย) ของลูก ๆ ผม  เจ็บออด ๆ แอด ๆ เกี่ยวกับกระดูก  ต้องได้ใส่เฝือกกระดูกรอบ ๆ ลำตัว  จะมานั่งเสื่อกับพื้นกินข้าวในพาข้าวกับลูก ๆ หลาน ๆ ก็ไม่ได้  ต้องนั่งเก้าอี้กินข้าวบนโต๊ะ(บางท่านนั่งทานข้าวบนโต๊ะเป็นเรื่องปกติ  แต่คนชนบทอีสานจริง ๆ ถ้านั่งบนโต๊ะท่านก็ว่ากินข้าวไม่แซบอร่อย) 

ถ้านับวัยแม่ใหญ่อายุ 80 ปี  หลายคุณตาคุณยายท่านก็คงไปมาได้สะดวก  แต่บรรดาแม่ใหญ่ชาวบ้านอีสานหลาย ๆ คน  ต้องเป็นคนหลังขดหลังงอเสียตั้งแต่วัย  70  ต้น ๆ ผมไม่มีความรู้ด้านแพทย์หมอแต่อย่างใด  ได้แต่มองย้อนหลังภาพต่าง ๆ ที่บรรดาแม่ ๆ ชาวอีสานทั้งหลายเป็นมาตลอดชีวิตของท่าน  ก็คือการหาบคอนน้ำหนักลงบ่าทั้งสองข้าง  จนระบบอวัยวะที่เกี่ยวข้องในร่างกายสึกหรอสะสมมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีความลำบากในการลุกเดินยืนนั่งในวัย 70-80 ปีในที่สุด  จะว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนปูนนี้ก็ใช่  แต่ก็สังเกตุได้ว่าคนแก่ที่ไม่ได้มีอาชีพทำนาไร่หาบคอน  จะไม่ค่อยมีโรคลักษณะอย่างนี้ในวัยเดียวกันนี้

การหาบสิ่งของเป็นกิจวัตรของฝ่ายผู้หญิงชาวอีสานมานานนม  การหาบที่สำคัญ ๆ เช่น

หาบน้ำกินน้ำใช้ทุกประเภทจากแหล่งน้ำขึ้นครัวเรือน  หาบสัมภาระข้าวปลาไปนาไปไร่  หาบมัดกล้ายามปักดำ  หาบมัดฟ่อนข้าวขึ้นลานนวดยามเก็บเกี่ยว  หาบฝุ่น(ปุ๋ยคอก)ไปนา  หาบข้าวเปลือกจากนาขึ้นเล้า(ยุ้ง)  การหาบของไปหาข้าว (หาบสิ่งที่หาได้ไปแลกข้าวยามปีแล้ง หรือน้ำท่วม  ซึ่งเป็นสุดยอดของการหาบที่แสนหนักเหนื่อยของแม่ ๆ) ฯลฯ หาบสาระพัดหาบซึ่งถือว่าเป็นบทบาทของฝ่ายหญิงของชาวนาภาคอีสาน

                 

    หญิงชาวนาอีสานหาบครุน้ำ  หาบสัมภาระ (ภาพจาก  บันทึกอีสานผ่านเลนส์  โดย  วิโรฒ  ศรีสุโร 2547  น. 18,24)

เด็กสาวชาวนาสมัยปู่ย่าตายายแต่งงานตั้งแต่อายุ 15 - 19 ปี อายุเท่านี้ก็มีลูกแล้ว 2-3 คนก็เป็นเรื่องปกติในยุคที่ไม่มีคำว่าการวางแผนครอบครัว  งานหาบคอนพวกนางก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง  ในขณะที่บทบาททางเพศแม่สืบลูกหลาน  การปรนนิบัติพัดวีสามี  ก็ไม่ให้ขาดตกบกพ่อง  เข้าตำรา นอนดึกลุกเช้า  เชื่อหรือไม่ครับสมัยก่อน ก่อนเข้านอนเห็นแม่ยังเข็นฝ้าย (ปั่นฝ้าย) เข็นไหม  เกีย/เกือม้อน (ให้ใบหม่อนตัวใหม) ทำอะไรต่ออะไรจนเราหลับไปก่อนไม่รู้ตัว  แต่รุ่งเช้า  ก็แม่อีกนั่นแหละตื่นแต่ตี 4 ตี 5 พาพี่ ๆ ตำข้าวครกมอง(ครกกระเดื่อง) ตักน้ำจากส่าง(บ่อน้ำลึก) ไกลออกไป  มาให้เราได้อาบ  ได้กิน

จากนั้นแม่จะทำกับข้าวเตรียมให้เราได้กินพร้อมแบ่งขึ้นตะกร้า  เตรียมนำไปส่งพ่อซึ่งจูงควายไปนาแล้วตั้งแต่แม่ตำข้าว  กับข้าวหลักก็คือตำแจ่วปลาร้า  ลวกผัก  ปิ้งปลา ก็ถือว่าครบสมบูรณ์เมนูอาหารแล้ว  ภาพเจนตาที่เราชาวอีสานพบก็คือภาพแม่ ๆ หาบตะกร้าข้างหนึ่งใส่อาหาร  อีกข้างใส่ลูกคนเล็กไปนา 

                                            

                                  ภาพจาก  http://www.learningthai.com/thailand/02b.jpg
พอถึงนา  หาข้าวปลาอาหารให้พ่อและผูกอู่ผ้าให้น้องหล่า(น้องสดท้อง)นอนแล้ว  แม่จึงได้ลงลุยแปลงนาเคียงข้างพ่อ  แต่เมื่องานหาบคอนมาถึงก็เป็นหน้าที่ของแม่อยู่แล้ว  เช่น  หาบกล้าจากแปลงลงกล้ามาแปลงปักดำ  ส่วนฝ่ายพ่องานหลักก็คือการไถคราดเตรียมดิน  การดูแลควายเทียมไถเทียมคราด...  พอตอนปักดำนั่นแหละจึงจะได้เคียงคู่ก้ม ๆ เงิย ๆ คู่ผัวเมียกันไป

บนบ่าของหญิงชาวนามีความเหมือนกันคือกร้านกรำไม่นิ่มนวล  เพราะแบกรับภาระน้ำหนักที่กำหนดมาตามธรรมชาติของวิถีชีวิตชาวนาชาวบ้าน  มานานนับร้อยนับพันปี.

 

หมายเลขบันทึก: 162841เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2008 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

แม่ป้าแดง ก็หาบเหมือนกันค่ะ เป็นโรคกระดูกเสื่อม แต่หลังไม่งอค่ะ

ป้าแดง ไม่ได้ หาบค่ะ แต่ตอนนี้ หมอกระดูกก็บอกว่า กระดูกเสื่อมแล้วค่ะ

 

นึกถึงภาพ ชาวนาสมัยก่อนตามอาจารย์บรรยายแล้ว มีความสุขจังค่ะ

  • สวัสดีครับ pa_daeng ครับ
  • สักครู่ก็ได้เข้าเยี่ยมชมภาพ น้ำทอนมา  เยี่ยมทั้งภาพและฝีมือโปรแกรมเมอร์ครับ
  • คุณยายของครอบครัวผมคงเป็นโรคกระดูกเสื่อมนี่เอง...ซ
  • ขอบคุณมากครับ
  • วันนี้ผมได้อ่านบันทึก สิ้นแล้ว รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร ของท่าน วรรณศักดิ์พิจิตร  
  • ผมจึงขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวท่านอาจารย์วิโรฒ  ศรีสุโร อย่างมากครับ
  • ผมรู้จักท่านจากงานบทกวี  และภาพถ่ายวิถีชีวิตอีสาน  ตามวารสารต่าง ๆ โดยเฉพาะจาก "บันทึกอีสานผ่านเลนส์" เคยมีโอกาสวิสาสะกับท่านครั้งหนึ่งเมื่อใกล้วัย 60 ของท่านที่ริมบึงหนองโคตร บ้านคำไฮ ใกล้ ม. ขอนแก่น 
  • ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 วันที่เราเสียท่าน  เป็นวันเดียวกันที่ผมบันทึกข้างบนนี้  ไม่ทราบมีอะไรมาดลใจให้ผมนำผลงานของท่านมาเป็นภาพประกอบในบันทึกนี้ 2 ภาพนี้ครับ
  •             

                                    ขอให้อาจารย์เนาสรวงสุขกะเสิม

    ในสัมปรายภพเดิม  ทิพยสถานเมืองแมน...

    นับต่อแต่นี้  เหลือความดีและผลงานที่งามแสน 

    ภาพชาวอีสานทั้งดินแดน  และภาพโบสถ์สิมใบแผ่นศิลา 

    ทั้งภาพฝาผนัง   วิถีลาว/อีสานมานานช้า 

    คือผลงานอันทรงค่า  งามตางามโพด 

    ถึงนับต่อแต่นี้  แม้นไม่มีอาจารย์วิโรฒ 

    แต่ผลงานอันอนรรฆค่าประโยชน์  จักเรืองโรจน์ชั่วกาลนาน...

เข้ามาแล้ว

เข้ามาบ้าน ครูชา เปิงบ้าน ผู้คักแน่

ฮอยแต้มแต่มูนมังสะดีหลาย

สะออนเด สะออนเจ้า ผู้เป็นซาย

หากเป็นสาวผู้ใค้ จะซ้อนนำ

ซ้อนเอาควมฮู้จากเพิ่นต่อ

หญายแม่ พ่อ อาว์ อา ได้เฮียนฮู้

หญ่ายลูกหลานผู้ใหย่ลุน เป็นบุญต่อ

สืบก่อ กกเหง้า  สะแหม่นดีหลาย

น้อพ่อลุง เอย สาธุ

 

  • สวัสดีครับท่านP 4. วรรณศักดิ์พิจิตร  /อิศรา ประชาไท ครับ
  • ขอขอบคุณที่เยี่ยมยาม  และร่วมไว้อาลัยอาจารย์รศ. วิโรฒ  ศรีสุโร ครับ

เรียน คุณครูชา

ผมพึ่งทราบข่าว ก็รู้สึกเสียดายและเสียใจ ต่อการจากไปของท่าน รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร นักบุกเบิกศิลปวัฒนธรรมอีสานผ่านผลงานของท่านหลายชิ้น ถือเป็นปราชญ์ใหญ่อีกท่านหนึ่ง ที่ผลงานของท่านจะยังคงก้องเกียรติไกลไปชั่วกาลนาน

ด้วยจิตคาราวะอาลัย ครับ  

  • ร่วมไว้อาลัยท่านรศ.ดร.วิโรฒ  ศรีสุโร ครับอาจารย์สนองครับ
  • ขอบคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท