สภาพปัจจุบันและทิศทางการพัฒนา ICT ของ กศน.


มีคำถามสำหรับผู้พัฒนาและผู้นำเอา ICT มาเป็นเครื่องมือการพัฒนางานเสมอว่า ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ตรงไหน และกำลังจะเดินไปทางไหน จึงลองนำเนาประสบการณ์ และแนวคิดส่วนตัวมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ณ ที่นี้

สภาพปัจจุบัน ปัญหา และแนวทางการพัฒนา ICTของหน่วยงาน กศน. ในภาคอีสาน


     ข้อคิดเห็นต่อไปนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัว จากประสบการณ์ที่ได้เกี่ยวข้องกับงาน ICT ในช่วงเวลาประมาณ 3 ที่ผ่านมา อาจจะมีบางมุมมองที่ไม่ถูกต้อง ได้โปรดท้วงติงด้วย

สภาพปัญหา และ ความต้องการในการพัฒนา ICT

  • ด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครือข่าย (Hardware) ปัจจุบันหน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในระดับภาคและจังหวัด มีความพร้อมด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครือข่าย แต่หน่วยงานของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัด ศูนย์ฝึกอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน และ สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร จำนวน 6 หน่วยงาน ยังขาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แม่ข่าย และหมายเลข IP เพื่อการเชื่อมต่อจากภายนอกเข้ามาภายในหน่วยงาน ทำให้ ทั้ง 6 หน่วยงาน ไม่สามารถเป็นหน่วยที่เผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศได้โดยตรง ต้องอาศัยจากหน่วยงานอื่น
         ในด้านการใช้งาน Hardware พบว่า ส่วนมากมีการใช้งานตามศักยภาพที่มีอยู่คือ ใช้เครื่อง Server ทุกเครื่องในการปฏิบัติงานในหน้าที่ต่างๆ (แต่ละหน่วยงานมีประมาณ 2-4 เครื่อง) เช่น ทำหน้าที่ให้บริการเครือข่ายในรูปแบบต่างๆ ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยเครือข่าย ให้บริการข้อมูลสารสนเทศทาง website เป็นต้น
         สภาพในปัจจุบันพบว่าความเร็วในการรับ ส่ง ข้อมูล อยู่ที่ 512 kbps ซึ่งค่อนข้างช้า สำหรับการรับส่งข้อมูลสารสนเทศประเภท Video และขณะเดียวกัน บางหน่วยงานมีปัญหาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อกับเครือข่ายภายนอก เช่น สถานที่ตั้งหน่วยงานอยู่ไกล เป็นต้น นอกจากนั้นระบบความปลอดภัย เมื่อเทียบกับในระยะแรกของการติดตั้ง มีความปลอดภัยสูงขึ้นมาก แต่ยังมีบางหน่วยงานที่ยังมีปัญหาเรื่องระบบความปลอดภัยซึ่งส่วนมากมีปัญหาเนื่องจากความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน
  • ด้านSoftware พิจารณาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Software ของระบบปฏิบัติการ เพื่อการทำงานบนเครือข่าย (Web Application) พบว่า ทุกหน่วยงานสามาถติดตั้งระบบการให้บริการ website (web service) ได้ โดยมี Domain Name เกือบทุกหน่วยงาน (ยกเว้นศูนย์ฝึกอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน 2 หน่วยงาน)
         แต่เมื่อพิจารณาการให้บริการข้อมูลสารสนเทศของแต่ละ Website พบว่า ยังมีไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อการนำมาใช้ด้านการบริหารจัดการและการเรียนการสอน ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่มีระบบปฏิบัติการที่สามารถตอบสนองต่อการจัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศที่เพียงพอและตรงตามความต้องการ หรือไม่มีการใช้งานระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีค่อนข้างมาก ดังนั้นในส่วนนี้ จึงมีความต้องการค่อนข้างสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจเชิงนโยบาย
  • ด้าน ข้อมูลสารสนเทศ (Data and Information) มีสภาพและปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากด้าน software ซึ่งพบว่า ปัจจุบันข้อมูลสารสนเทศยังไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ทั้งในลักษณะที่ไม่มีข้อมูลสารสนเทศที่ต้องการหรือมีน้อยเกินไป หรือข้อมูลสารสนเทศที่มี ไม่ตรงตามความต้องการหรือ ไม่เป็นปัจจุบัน โดยมีสาเหตของปัญหาที่สำคัญ 2 ประการคือ ความชัดเจนในเอกภาพการใช้และบังคับใช้ระบบสารสนเทศที่มีอยู่ และการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ง่ายและตอบสนองความต้องการเฉพาะเรื่องของแต่ละหน่วยงาน
  • ด้านบุคลากร (People ware) พบว่า ยังขาดบุคลากรที่จะใช้งานระบบสารสนเทศในบางกลุ่ม เช่นผู้ดูแลระบบ ผู้พัฒนาระบบ และความรู้ความสามารถในการนำระบบสารสนเทศไปใช้สำหรับบุคลากรในกลุ่มผู้ใช้งาน (User) รวมทั้งการผลักดันในเชิงนโยบายอย่างเป็นระบบในการนำเอาระบบสารสนเทศไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ทำให้ไม่มีผลในทางปฏิบัติเพื่อให้บุคลากรพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในการใช้งานระบบสารสนเทศ

ความต้องการในการใช้ระบบสารสนเทศ

1 การใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ แยกเป็นการบริหารจัดการในระดับมหภาค หรือระดับประเทศ และการบริหารจัดการในระดับภูมิภาค คือระดับภาคและจังหวัด
     สารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการในระดับประเทศ  มีความต้องการใช้สารสนเทศ ในภาพรวมของประเทศ เพื่อใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งระบบที่ใช้ต้องเป็นระบบฐานข้อมูลที่ใช้ทั้งประเทศและมีศูนย์รวมอยู่ที่เดียว ซึ่งเป็นฐานข้อมูลระดับใหญ่ ซึ่งรองรับข้อมูลจากทุกหน่วยทั่วประเทศ การพัฒนาระบบดังกล่าวต้องใช้เวลาและทรัพยากรค่อนข้างมาก และต้องมีเอกภาพในการดำเนินการที่ทุกหน่วยงานต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำข้อมูล และมีหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการระบบอย่างชัดเจนและได้ผลในทางปฏิบัติ
     สารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการในระดับภูมิภาค มีความต้องการใช้สารสนเทศเพื่อใช้ในการตัดสินใจเพื่อสร้างประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตามนโยบาย ซึ่งอาจจะเหมือนกันทุกหน่วยงาน หรือแตกต่ากันไปตามสภาพของแต่ละหน่วยงาน จึงเน้นไปที่ระบบสารสนเทศเพื่อทำให้กระบวนการปฏิบัติงาน (Process) ทำได้รวดเร็ว และลดปัจจัยป้อน (Input) ด้านต่างๆ

 2 การใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอนและการเรียนรู้ เป็นระบบที่เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้สำหรับกลุ่มป้าหมาย กศน. และประชาชนทั่วไปดังนั้น ความต้องการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอนและการเรียนรู้ จึงมีจุดเน้น 3 ประการ คือ
     การสร้างองค์ความรู้ หน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนมากกว่าหนึ่งพันหน่วยงานทั่วประเทศ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายอีกจำนวนมาก เป็นแหล่งขององค์ความรู้ขนาดใหญ่ของประเทศ แต่องค์ความรู้เหล่านี้จัดเก็บอยู่ในรูปแบบต่างๆ ถ้าสามารถนำมาจัดเก็บโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าไปช่วย ก็จะเป็นการสร้างองค์ความรู้ และแหล่งความรู้ขนาดใหญ่ที่มีประโยชน์ สำหรับประชาชน
     การเชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้ เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากข้อที่กล่าวมา ในการสร้างระบบที่จะเชื่อมโยงแหล่งความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษาและประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น ในรูปแบบ Portal web
     การเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ง่าย และสะดวก ทั้งการใช้เทโนโลยีการสื่อสาร และการพัฒนาหน่วยงาน กศน. ให้เป็นแหล่งที่ประชาชนเข้ามาใช้เพื่อเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้

 

หมายเลขบันทึก: 162031เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2008 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แล้วจะมีวิธีไหนที่ทางสถาบันฯสิรินธรจะมีคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและหมายเลข IP คะ

ได้ข่าวว่าเข้าจัดให้แล้วนะครับ แต่ไม่แน่ใจเหมือนกัน

อาจารย์ ครับ

ผมและทางทีมอาจารย์ วิศวะ จุฬาฯ กำลังศึกษาและพัฒนาจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้คู่ชุมชน กับ กทช คงมีโอกาสได้รบกวนอาจารย์แลกเปลี่ยนเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท