ครูยุ่งการเมือง ฉุดคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ


ผมขอเริ่มเรื่องราวการศึกษาไทยด้วยประเด็น ครูยุ่งการเมือง ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ

ผมขอเริ่มเรื่องราวการศึกษาไทยด้วยประเด็น ครูยุ่งการเมือง ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ   โดยนำคำสัมภาษณ์ของ รมช.ศึกษาธิการ ที่กำลังจะหมดภาระนี้ไปแล้วคือ รศ.ดร.วรากรณ์  สามโกเศศ มาอภิปราย    เนื่องจากค่อนข้างเห็นด้วย และเห็นตรงกันในหลายประเด็น   โดยเฉพาะการที่ครูเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง  ขณะที่บทบาทหน้าที่ของครูคือยุ่งเกี่ยวกับความเจริญงอกงามของเด็ก   ศรัทธาต่อวิชาชีพครูจึงเสื่อม  คุณภาพของครูไทยจึงตกต่ำสำหรับคนที่ไม่พัฒนาตนเองเพื่อเด็ก  แต่กลับพัฒนาตนเองเพื่อมุ่งไปในทางเสื่อม

การเมืองไม่ได้เลวร้าย  แต่ครูควรรู้บทบาทหน้าที่ของตนและทำงานในหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด 

 

ลองอ่านบทวิพากย์

 

วิพากษ์"ครู"ยุ่งการเมือง ฉุด!คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ

คมชัดลึก  วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2551

เหลือเวลาอีกไม่นาน"ครม.ขิงแก่"จะต้องลาเวทีไป เมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ได้จากการเลือกตั้ง แต่ก่อนจะลุกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ "รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ" เปิดประเด็น"การเมืองในการศึกษา" หนำซ้ำฟันธงว่า ปฏิรูปการศึกษาไทยยังฝันเฟื่อง! ห่างไกลข้อเท็จจริง!

หัวใจของการจัดการศึกษาคือ คุณภาพการศึกษาที่ให้แก่เด็ก ซึ่งกุญแจสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ครู แต่ก็มีปัญหาคุณภาพและความทุ่มเทของครู เพราะในจำนวนครูกว่า 6.5 แสนคนนั้น บางคนไม่อยากเป็นครู แต่ไม่รู้จะทำอาชีพอื่นจึงต้องเป็นครู ซึ่งมันก็ไปแสดงอยู่ในพฤติกรรมการสอนของครู มีอีกปัญหาที่เกิดในวงการศึกษาไทยที่เกี่ยวพันกับครู คือ การเมืองเข้าไปอยู่ในการศึกษา จนกระทั่งมีผลกระทบต่อเด็ก รศ.ดร.วรากรณ์ เริ่มต้นประเด็น

พร้อมขยายความต่อว่าเพราะความตั้งใจดีทำให้กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาหลายฉบับ กำหนดให้มีการเลือกตัวแทนครูไปอยู่ในกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลาทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) คณะกรรมการคุรุสภากรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครู อีกทั้งยังมีการรวมตัวของครู เป็นองค์กรต่างๆ มีเครือข่ายอยู่ในระดับภาค มันมีการเลือกตั้งเต็มไปหมด ครูต้องเข้าสู่กระบวนการหาเสียงอย่างเป็นระบบเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง เพื่อเข้าไปนั่งในกรรมการชุดต่างๆ ทำให้การเลือกตั้งผู้แทนครูโยงไปสู่การเมืองระดับชาติ 

 เพื่อให้ชนะการเลือกตั้งเป็นตัวแทนครูไปนั่งอยู่ในกรรมการชุดต่างๆครูจึงต้องเข้าหาการเมือง เพื่อหวังเงินและอิทธิพลช่วยให้ชนะการเลือกตั้ง ครูหลายคนยังเห็นหนทางก้าวไปสู่การเป็นนักการเมือง รัฐมนตรี หรือคนมีชื่อเสียง ด้วยการก้าวเข้ามาเป็นตัวแทนครู นักการเมืองหลายคนก็มาจากตัวแทนครู ครูจึงยอมเป็นเครือข่ายการเมือง ช่วยหาเสียงให้แก่นักการเมือง เป็นหัวคะแนน หาเสียงกับนักเรียน

 การโอนย้ายครูจะมีการเมืองมาแทรกตลอด ขอให้ย้ายครูในพื้นที่นั้นไปพื้นที่นี้ เมื่อการเมืองมาอยู่ในการศึกษา ครูคิดแต่เรื่องการเมือง ตรงนี้ส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อคุณภาพการศึกษา การศึกษาจะดีเมื่อครูคิดแต่เพียงว่า จะสอนอะไร จะให้อะไรที่ดีที่สุดแก่เด็ก 

ครูที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีหลักพันคนแต่ครูที่เป็นหัวคะแนนให้นักการเมืองมากกว่านั้น เพราะเครือข่ายองค์กรครูมีอยู่แล้ว เมื่อนักการเมืองเข้ามาสวม ก็กลายเป็นเครือข่ายการเมือง ยิ่งมีผลประโยชน์สมาชิกยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะการเมืองอำนวยประโยชน์ต่อการโอนย้าย เลื่อนตำแหน่งของครูได้" 

จริงๆแล้ว มีครูบางส่วนที่ไม่สนใจการเมืองเลย ตั้งใจสอนอย่างเดียว แต่เมื่อจะมาถึงระดับผู้อำนวยการโรงเรียน หรือระดับที่จะขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษานั้นอิทธิพลการเมืองจะเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งระดับนี้ มีหลักฐานชัดเจนว่า การเมืองแทรกแซงการเลือกตั้ง อ.ก.ค.ศ.บางเขตรอง ผอ.เขตเป็นประธานอ.ก.ค.ศ. ผอ.เขตเป็นเลขานุการ เพราะเข้ามาเป็นกรรมการ อ.ก.ค.ศ. ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิโดยที่เจ้าตัวในเวลานั้นยังไม่มีตำแหน่งอะไรใหญ่โตแต่เมื่อมาเป็นประธาน อ.ก.ค.ศ.ก็ได้เป็นรองผอ.เขตพื้นที่การศึกษาตรงนี้เข้าใจว่า มีผลเกี่ยวโยงการเมือง ถึงแม้มีความเป็นไปได้ว่าจะบริสุทธิ์ใจ แต่ในความจริงไม่น่าตั้งคนที่ยังเป็นจูเนียร์มาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการตัดสินใจครูไม่อยู่ที่ผลประโยชน์ของเด็ก แต่จะอยู่ที่ผลประโยชน์ของตัวครู ครูจะคิดแต่ว่า จะก้าวหน้าอย่างไรด้วยการอิงแอบเครือข่ายของเรา และเมื่อเป็นกรรมการก็จะต้องมาประชุม จนแทบไม่ได้อยู่ที่โรงเรียน น้อยคนที่อยู่โรงเรียน ส่วนใหญ่อยู่ที่กระทรวงตรงนี้เป็นจุดที่คนไม่ค่อยเป็นพูดกัน เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการศึกษาไทย

 ในประเทศเยอรมนี เกิดปัญหาแบบเดียวกันที่การเมืองเข้าไปอยู่ในการศึกษา ครูเป็นหัวคะแนนให้นักการเมือง ทำให้คุณภาพการศึกษาเยอรมนีอ่อนแอลง ส่วนประเทศฟินแลนด์ประเทศที่จัดการศึกษาอันดับหนึ่งนั้น ปลอดการเมืองในการศึกษา อาชีพครูเป็นอาชีพอันดับหนึ่งที่คนอยากเข้ามาทำงาน ครูจึงได้รับการคัดสรรมาอย่างดี ได้เงินเดือนสูง ทำงาน 9 เดือนอีก 3 เดือนพักโดยยังได้เงินเดือนครูจึงทุ่มเทเพื่อเด็กอย่างเดียว คิดว่าจะสอนอย่างไรให้เด็กดีที่สุด 

กระนั้นองค์การค้าที่บอบช้ำทุกวันนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ ฟันธงว่าเป็นผลมาจากการเมือง ด้วยตำแหน่ง ผอ.องค์การค้าและกรรมการที่ดูแลองค์การค้า ส่วนหนึ่งมาจากผู้แทนครู เมื่อการเมืองเข้ามาหากินก็ก่อหนี้สินเอาไว้ให้องค์การค้ามากมาย

รศ.ดร.วรากรณ์ยังแสดงความห่วงใย ต่อแนวทางปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยเหมือนฝันเฟื่อง โลกแห่งความเป็นจริงแตกต่างจากโลกในความฝัน บางอย่างขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาไปเหลามากลายเป็นบ้องกัญชา เหมือนอย่างกองทุนให้กู้ยืมที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ตามหลักการจริงๆต้องการให้ทุกคนได้กู้เงินเรียนระดับอุดมศึกษา เพราะจริงๆ แล้ว เขาต้องการให้มหาวิทยาลัยขึ้นค่าเทอมให้ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายจริง เพื่อให้คนรวย คนที่สามารถจ่ายได้จ่ายค่าเทอมตามจริง แล้วเก็บงบประมาณไปช่วยเด็กยากจน และทุ่มให้แก่การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการ และอื่นๆ 

"ทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ มีแต่ลูกคนรวยเรียนเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าทำหลักการของ กรอ.จริงๆมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ค่าเทอมจะต้องสูงขึ้นประมาณ 1-2 เท่าแต่ในที่สุดเมื่อมีการต่อต้าน ก็ไม่สามารถขึ้นค่าเทอมได้ สุดท้ายแล้ว คนรวยได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก 1 ต่อจากเดิมได้เรียนในมหาวิทยาลัยรัฐที่ค่าเทอมถูกแล้ว แถมยังได้กู้เงินเรียนอีก ไม่ต้องออกเงินสักบาท" รศ.ดร.วรากรณ์กล่าวทิ้งท้าย

 

หมายเลขบันทึก: 161065เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2008 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าครูรู้หน้าที่และบทบาทของตนเองก็คงจะไม่ยุ่งยากมากนัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท