พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ


พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ผู้ให้ข้อมูล รศ.ดร.อรัญ หาญสืบสาย และ รศ.พรทวี พึ่งรัศมี

เรียบเรียงโดย รศ.ดร.อุดมศิลป์ ปิ่นสุข 

ต้นกำเนิดการถ่ายภาพเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยกว่า 160 ปี นับตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 จึงเป็นการอันควรที่จะมีสถานที่ซึ่งเก็บรวบรวมความรู้และประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยีทางภาพในประเทศไทย จึงเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพขึ้น เมื่อยังทรงพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์และทรงเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ทั้งยังทรงเสด็จเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ ในวาระแรกสุดด้วย นับเป็นพระกรุณาเป็นล้นพ้น 

วันประวัติศาสตร์การเตรียมการเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ ใช้เวลาถึง 5 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จนถึงวันเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2534 เวลา 14:00 น. โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จแทนพระองค์ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ 

วัตถุประสงค์พิพิธภัณฑ์ฯ เป็นองค์กรซึ่งไม่แสวงหากำไร วัตถุประสงค์หลักคือการรวบรวม รักษา ศึกษา จัดหมวดหมู่ จัดแสดง และให้ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการและประวัติของกล้องถ่ายภาพ อุปกรณ์ประกอบ กระบวนการถ่ายภาพ รวมทั้งอุปกรณ์ กระบวนการพิมพ์ และเทคโนโลยีทางภาพอื่นๆ และเปิดให้ประชาชน ผู้สนใจทั่วไปเข้าชม 

สิ่งที่จัดแสดงได้แก่ กล้อง อุปกรณ์ประกอบ โดยจัดแสดงตามยุคสมัยของอุปกรณ์ ในยุคต้นๆ แบ่งหมวดหมู่โดยใช้เทคนิคในการเกิดภาพ ในยุคปลายแบ่งหมวดหมู่ตามประเทศผู้ผลิตและยี่ห้อผลิตภัณฑ์ มีการจัดแสดงสตูดิโอถ่ายภาพ ห้องมืดยุคโบราณ/สมัยใหม่ ภาพประวัติศาสตร์ ภาพร่วมสมัย ภาพสามมิติ ภาพโฮโลแกรม ภาพสไลด์อเนกทัศน์ การกำเนิดของแสงและสี วัสดุที่ใช้วาดภาพและพิมพ์ภาพ จิตรกรรมฝาผนังไทย/สากล การวาดภาพ ถ่ายภาพและการพิมพ์   

การดำเนินการพิพิธภัณฑ์ฯ อยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีคณะกรรมการอำนวยการเป็นผู้ดูแลด้านนโยบายและควบคุมการบริหาร โดยในการบริหารนั้นมีผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งสรรหาโดยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีการพิมพ์ เป็นผู้รับผิดชอบ งบประมาณในการดำเนินการมาจากมูลนิธิพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ และได้รับการสนับสนุนค่าสาธารณูปโภคจากคณะวิทยาศาสตร์ 

ผู้เข้าชมได้แก่ เด็ก นักเรียน นิสิต/นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป และเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ไปปรากฏตามสื่อต่างๆ อย่างเช่น โทรทัศน์ นิตยสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ ทำให้พิพิธภัณฑ์ฯ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีตำแหน่งของพิพิธภัณฑ์ปรากฏในแผนที่ท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ ทำให้ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสนใจเข้าชมเป็นจำนวนมาก ปริมาณผู้เข้าชมอยู่ที่ประมาณ 2-3,000 คนต่อปี 

สิ่งดึงดูดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญกล้องถ่ายภาพของรัชกาลที่ 7 จำนวนหนึ่งเพื่อจัดแสดงและทำการอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์ฯ โดยกล้องบางรุ่นเป็นกล้องหายากและมีคุณค่ามาก และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงพระราชทานกล้องส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นกล้อง Kodak รุ่น Six-20 Bull’s eye เพื่อจัดแสดง และหม่อมเจ้าหญิงมารยาตรกัญญา ดิศกุลได้ประทานกล้องยี่ห้อ Pilot เพื่อให้พิพิธภัณฑ์จัดแสดง ซึ่งกล้องตัวนี้กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานให้หม่อมเจ้าหญิงไว้            

นอกจากนี้ ยังมีกล้องที่มีอายุกว่า 130 ปีซึ่งมีค่าและหายาก ได้แก่ กล้อง Kodak รุ่นปี ค.ศ. 1889 ซึ่งเป็นของจริงและจัดแสดงพร้อมกับรูปถ่ายที่ถ่ายจากกล้องตัวนี้ด้วย และมีกล้องที่เป็นที่ต้องการของนักสะสมและมีมูลค่าสูงกว่า 4,000 USD ได้แก่กล้อง Kodak super Six-20 รุ่นปี ค.ศ. 1939  

ปัญหาในการดำเนินการอุปกรณ์ต่างๆ ที่จัดแสดง บางชิ้นเป็นของหายากและมีราคาแพง ต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องของความชื้นและการป้องกันเชื้อรา ในสมัยก่อนมีการเปิดเครื่องปรับอากาศ 24 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันได้ลดเวลาเปิดเครื่องปรับอากาศลงเพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน ดังนั้น ถ้ามีเครื่องควบคุมความชื้น ก็จะช่วยรักษาอุปกรณ์ที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้มีอายุยืนยาวต่อไป 

คุณค่าของพิพิธภัณฑ์ฯพิพิธภัณฑ์ฯ มีคุณค่ามากมายหลายด้าน ทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย การเชื่อมโยงอุตสาหกรรม การเผยแพร่งานวิจัยสู่สาธารณชน เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ฯ เป็น live museum ที่ซึ่งนักเรียน นิสิตและนักศึกษาได้ใช้ค้นคว้าหาความรู้ รวมถึงเป็นสถานที่จัดแสดงผลของงานวิจัยที่เกิดขึ้นในภาควิชาฯ ซึ่งมีการดำเนินการตลอดเวลา ทำให้องค์ความรู้ที่บรรจุในพิพิธภัณฑ์มีความทันสมัยอยู่เสมอ และพิพิธภัณฑ์ยังทำหน้าที่เป็นหน้าต่างโชว์ผลงานวิจัยของภาควิชาฯ สู่สาธารณชน และเป็นที่เชื่อมโยงกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมการถ่ายภาพและการพิมพ์ โดยนิสิตก็ได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ผ่านการฝึกงาน ทำให้เส้นทางอาชีพของนิสิตจากภาควิชาฯ มีความชัดเจน นอกจากนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ยังมีความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านการวิจัย การแลกเปลี่ยนบุคลากร จึงนับว่าพิพิธภัณฑ์ฯ นี้มีคุณค่ามาก 

ข้อคิดถึงประชาคมภาควิชาต่างๆ ล้วนมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง รวมถึงเครื่องมือจำนวนหนึ่งซึ่งมีอายุยาวนาน น่าจะมีการจัดมุมเล็กๆ ภายในภาควิชา เพื่อจัดแสดงความเป็นมาของภาควิชา เครื่องมือ พร้อมๆ กับการจัดแสดงงานวิจัย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจในต้นกำเนิดและความเป็นไปของภาควิชา ทั้งยังอาจใช้รูปแบบของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพเพื่อดึงดูดสาธารณชน ภาคเอกชน และอุตสาหกรรม ให้มาสนใจในกิจกรรมของภาควิชา ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างความร่วมมือ เครือข่าย และสร้างเส้นทางอาชีพให้กับนิสิตไปในโอกาสเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 159753เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2008 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท