เครือข่าย : ฐานคิด


เครือข่าย สายใยที่มีชีวิต

 

  • ผมคิดใคร่ครวญอยู่นานว่าความเข้าใจในเรื่อง “เครือข่าย” การเกาะเกี่ยวกันทางสังคมของคนนั้น  เหมือนหรือต่างกันหรือไม่อย่างไร  จึงพยายามสืบค้น  รวบรวม  มานำเสนอดู  เผื่อมีความเห็นจากเพื่อนพ้องมากยิ่งขึ้น  ก็เชิญบรรเลงได้เลยนะครับ   ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชาวเรา   ผมเสนอดังนี้ว่า

  • “เครือข่าย” เป็นรูปแบบหนึ่งของความร่วมมือ มีทั้งในภาคธุรกิจ และในงานพัฒนา แต่ในที่นี้จะศึกษาเฉพาะเรื่องเครือข่ายในงานพัฒนา เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจและนำไปใช้อย่างเหมาะสมงานพัฒนาชุมชน

  • เครือข่าย  คือ  การรวมตัวของบุคคล กลุ่ม/องค์กร ที่มีแนวความคิด  เป้าหมาย  วิธีการทำงานกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน  และความสัมพันธ์ต่อกันทั้งส่วนตัวและการทำงาน  โดยมีการเคลื่อนไหวกิจกรรมทางสังคมหรือสาธารณะร่วมกัน  รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและกัน  เป็นการพัฒนาความรู้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น  หรือร่วมกันให้เกิดพลัง  มีอำนาจต่อรองนำไปสู่ความยุติธรรมของสังคมและร่วมกันให้บรรลุตามเป้าหมายของเครือข่าย

  •         เครือข่ายทางสังคม  หมายถึง  กลุ่มบุคคล หรือกลุ่มองค์กร  ซึ่งสมัครใจสัมพันธ์กันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร  ดำเนินกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน  โดยแต่ละคนแต่ละองค์กรยังคงเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน   เครือข่ายทางสังคมก่อให้เกิดขบวนการทางสังคมสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อนเป็นพหุสังคม และประชาสังคมในรูปแบบที่หลากหลาย  เช่น  ชุมชนเสมือนจริง (virtual community) ซึ่งเป็นการสัมพันธ์กันทางเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่  คือ  เครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต(online community, mediated community)  หรือ การร่วมงานกันขององค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐบาล คือ องค์กรพัฒนาเอกชน (Non-government Organizations, NGOs)   ได้แสวงหาความร่วมมือกันโดยการประสานสัมพันธ์ บางกลุ่มตามประเภทกิจกรรม บางกลุ่มตามประเด็นปัญหา และบางกลุ่มตามพื้นที่ดำเนินงาน  โดยเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย  เครือข่ายองค์กรชุมชนต่างๆ  เป็นการรวมตัวกันทั้งแบบหลวมๆ และแบบที่มีการจัดการเหมือนเป็นองค์กรเดียวกัน  แต่อยู่ต่างถิ่นต่างที่  เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร  จัดกิจกรรมการเรียนรู้หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  และวัฒนธรรมร่วมกัน

  • ฐานคิด

  • ฐานคิดของเครือข่าย ต้องมีความเชื่อพื้นฐานว่า  หลายหัวดีกว่าหัวเดียว หรือตาข่ายหลายๆคู่มาร้อยเรียงเกาะเกี่ยวกันจึงจับปลาได้ หรือใยแมงมุมหลายๆใยที่ร้อยรัดยึดเหนี่ยวกันจึงจับแมลงกินได้  ความเป็นเครือข่ายนั้น  มีอยู่แล้วในธรรมชาติของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง เกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตของสรรพสิ่ง ความคิดโดยสังเขปต่อไปนี้ เป็นรากฐานความคิดเรื่องเครือข่าย

  • เครือข่ายมีอยู่ในธรรมชาติ

  • เมื่อได้ใคร่ครวญอย่างสงบและลึกซึ้ง เราจะพบความเป็นเครือข่ายมีอยู่ในธรรมชาติของสรรพสิ่ง ดังเช่นที่กล่าวไว้ในหนังสือ เครือข่าย: ธรรมชาติ ความรู้ และการจัดการ

  • ...สรรพสิ่งต่างก็ มีการพึ่งพาอาศัย  มีการดำรงอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน  เป็นข่ายใยแห่งความสัมพันธ์  มีความเป็นอิสระต่อกัน  และไม่มีตัวตนที่แท้จริง  กล่าวคือ  สิ่งต่างๆเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยง  มีการขยายผลและเติบโตอย่างต่อเนื่อง  สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่าง  รูปทรง  และเปลี่ยนพลังงาน  เพื่อการเข้าสู่สภาวะที่เหมาะสม  เหมือนสายน้ำที่มีการปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามซอกหินในลำธาร  เพราะสายน้ำต้องการจะเคลื่อนที่ไปตอบสนองต่อธรรมชาติของแรงโน้มถ่วงโลก  จากห้วย  ลำธาร  แม่น้ำใหญ่  และสู่มหาสมุทรในที่สุด 

  • เครือข่ายโดยธรรมชาติมีลักษณะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้ระเบียบและมีการจัดการตนเอง 

  • ความไร้ระเบียบของเครือข่ายได้ผลักดันให้เกิดความเป็นไปได้แห่งการเรียนรู้ในความเป็นองค์กรจัดการตัวเอง ดังเช่น การเชื่อมโยงสัมพันธ์ของผู้คนที่ประสบปัญหา หรือมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน เมื่อได้สัมพันธ์กันต่อเนื่องและขยายออกไป นานเข้าก็เกิดความจำเป็นที่จะจัดระบบจัดองค์กรเพื่อรองรับความซับซ้อนหลากหลายอันอาจยังให้เกิดความสับสนขึ้นได้

  • เครือข่ายมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์

  • การเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวการพึ่งพาอาศัยกัน ทำให้การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งดำเนินไปอย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดพลังและกระบวนการที่ต่อเนื่องรวมทั้งเป็นเครือข่ายที่สามารถสร้างและจัดการตนเองได้อย่างเป็นองค์รวม (Holistic)

  • ขอบคุณสำหรับแหล่งข้อมูลทั้งหลายที่ผมไปค้น และคว้าเอามาโดยที่มิได้อ้างอิงตามหลักวิชาการ  ผมไปค้นตามสติปัญญาอันน้อยนิดของผมซึ่งมีเท่านี้จริงๆครับ   โปรดอภัยและขอขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 159227เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2008 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท