ฟื้นฟูเมืองไทย...จากพืชสมุนไพรไทย...ต้นไม้ไทย...ฟื้นที่รากเหง้าไทย


สวัสดีครับทุกท่าน

        สบายดีกันนะครับ ปีใหม่แล้ว ก็มีเรื่องใหม่ๆ มาให้คิดกันมากมายนะครับ วันนี้ผมไม่มีอะไรมาก เพียงแค่เอาแผนที่โลกมาให้ดูกันเล่นๆ ครับ

 

ภาพจาก http://www.nationsonline.org/maps/continents_map_sm.jpg 

       ประเทศไทย เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์มากทีเดียวครับ หากเทียบกับหลายๆ ประเทศที่ต้องสู้รบกับฤดูกาลที่แตกต่าง จนต้องพัฒนาเทคโนโลยีมาต่อสู้กับความแตกต่างและเพื่อการอยู่รอด แต่บ้านเราประเทศไทย แทบไ่ม่ต้องต่อสู้อะไรมาก อาหารการกินไม่ต้องวางแผนมากมาย ออกไปปากซอยก็กินได้อุดมสมบูรณ์ ผลไม้ก็มีให้กินทุกฤดูกาล แถมความเก่งของนักวิชาการเกษตรไทย ก็สามารถทำให้ผลไม้หลายๆ อย่างมีกินได้ทุกฤดูกาลได้ด้วย

        นี่คือความไม่ธรรมดาของประเทศไทย  เพียงแต่ว่าคนไทยจะมองเห็นคุณค่า หรือมองเห็นเป็นมูลค่า (ย้ำครับ คุณค่า หรือ มูลค่า) ผมเองยอมรับว่ามาเรียนรู้ในต่างประเทศ แต่หัวใจผมไม่เคยทิ้งห่างประเทศไทยเลย การมามองกลับไปยังบ้านเกิดในดินแดนชาติอื่นนั้นมันทำให้เราเห็นค่าของเราได้ชัดเจนเลยทีเดียว ดังนั้นผมเลยสรุปเอาเล่นๆ ตามแบบผมว่า ตำแหน่งพื้นที่บริเวณนี้ล่ะอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแล้ว มีน้ำมีปลา มีนา มีข้าว มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว อู่ข้าวอู่น้ำ แม้ว่าจะมีการใช้พื้นที่ผิดๆ หลงไปตามวิกฤตทุนนิยมไปบ้างก็ตาม ยังฟื้นกลับมาได้ก่อนจะวิ่งไปสุดจะกู่กลับ

        คุณอาจจะมองต่างจากที่ผมมองครับ ว่าประเทศเราต้องพัฒนาไปในแนวทางอื่น เช่น เทคโนโลยีแบบที่บ้านอื่นเมืองอื่นทำกัน ผมว่าไม่จำเป็นมากนัก แต่เรา้ต้องหันมาดูรากเหง้าของเราว่าเราอยู่บนแนวทางไหน วันนี้ผมจะยกตัวอย่างเล่นๆ เรื่อง ต้นไม้ไทย และสมุนไพรไทย ที่น่าทึ่งคือ พืชทุกชนิดในแผ่นดินไทยนั้น คือสมุนไพรทั้งสิ้น ทุกอย่างเข้ายาทั้งสิ้น (ผมสรุปแบบเหมารวมแบบนี้เลยครับ) ในตัวความเป็นสมุนไพรนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีคุณกับคนอย่างเดียวนะครับ จะมีคุณและโทษก็ได้ และอยู่กับสรรพคุณด้วยครับ เพราะทุกๆ ต้นนั้นมีคุณและโทษผสมกันเหมือนกับคนเรามีดีชั่วในตัวตนนั่นล่ะ ไม่ขาวทั้งหมดและไม่ดำทั้งหมดแต่เป็นเทาๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือ การใช้สรรพคุณให้เหมาะสมกับสิ่งที่ควรจะใช้ เสมือนการบริหารคนให้ทำงานตามสรรพคุณของคน

        ผมจึงอยากจะชวนทุกท่านมาร่วมเล่นเกมส์ค้นหา พืชสมุนไพร หรือแหล่งข้อมูลสมุนไพรไทยที่มีอยู่ในเว็บอยู่แล้วมารวมเป็นตะกอนเว็บสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ครับ เพราะผมเชื่อว่าต้นไม้เหล่านี้ ที่เกิดในเมืองไทยนั้นหลายๆ พันธุ์กำลังจะสูญหาย หลายๆ พันธุ์กำลังโดนยาสารเคมี หลายๆ พันธุ์โดนไฟป่า หรือเกิดจากการเผาป่า หลายๆ พันธุ์เกิดจากการบุกรุกของพืชต่างชาติ หรือเมล็ดพันธุ์ไฮเทค และอื่นๆ

        หวนกลับมาสู่การฟื้นฟูแผ่นดินไทย อ้อนวอนพระแม่ธรณีด้วยการเติมธรรมชาติ เติมอาหารให้กับดิน ให้ดินเลี้ยงสมุนไพรไทยกันเถิดครับ เราอาจจะสร้างเครือข่ายสมุนไพรไทยขึ้นมาเพื่อแบ่งปันพันธุ์สมุนไพรต่อกัน แล้วนำไปสู่การขยายพันธุ์และทำเป็นยารักษาโรค ผมว่าเราไม่ควรจะเสียเงินซื้อยาต่างๆ ให้เงินไหลออกไปต่างประเทศก็คงดีครับ แล้วหันมาค้นคว้าวิจัยกับรากเหง้าของสมุนไพรไทย พืชพื้นบ้านของไทยก็คงดีไม่น้อยครับ

        วัชพืชที่คุณกำลังถอนทิ้งอยู่นั้น มันคือสมุนไพรทั้งสิ้น แต่เราถอนทิ้งด้วยความไม่รู้ ด้วยความที่คิดว่ามันจะแย่งสารอาหารพืชต้นหลักที่เราปลูกอยู่ แต่มันอาจจะเป็นการทำลายแหล่งอาหารของศัตรูพืชของพืชที่เราปลูกก็ได้ หากเป็นเช่นนั้นเราก็หาทางกำจัดศัตรูพืช จนต้องใช้ยาฆ่าแมลงจนในที่สุดเราก็ทำลายพระแม่ธรณีอีกอยู่ดีด้วยการฉีดสารเคมี แบบนี้คืออดีตที่เราหลงกลมาแล้ว ต่อไปเราควรจะวิ่งในเส้นทางที่ฉลาดและเอาบทเรียนมาใช้กันต่อนะครับ

        คุณอาจจะเริ่มง่ายๆ จากพื้นที่ที่คุณมี อาจจะปลูกพวกพืชพื้นบ้านกันก่อน คิดถึงอดีตว่าเคยมีต้นไม้อะไรบ้างรอบบ้าน จะฟื้นกลับมาได้ไหม นี่คือเป็นแนวทางการกู้คืนพืชในพื้นที่ เพราะสิ่งที่เคยเห็นว่ามีต้นอะไรอยู่ตามธรรมชาตินั่นคือคำตอบที่ธรรมชาติสร้างมาให้ครับ คำตอบนี้คือคำตอบที่ถูกต้องแน่นอน ซึ่งเป็นผลมาจากที่ว่า ความรู้อยู่ในธรรมชาติ ทำลายธรรมชาติขาดความรู้ และความรู้ที่ว่าคือคำตอบ คำตอบที่่ว่านี้ก็คือ ธรรมชาติลิขิตไว้แล้วว่าพื้นที่ตรงนี้เหมาะกับพืชชนิดใดถึงให้สิ่งนั้นงอกในพื้นที่นั้นๆครับ โดยที่ไม่มีใครไปฝืนให้เค้างอกอย่างที่เราพยายามจะปลูกยางพาราในทุ่งนา อันนี้ฝืนธรรมชาติแน่นอนครับ ดังนั้น พืชอะไรงอกที่ไหนตามธรรมชาตินั่นคือคำตอบที่ถูกต้อง

        หากเป็นไปได้ร่วมกันรื้อฟื้นตรงนี้ก่อนครับ เพื่อทำการกู้คืนพืชถิ่นไทย สมุนไพรไทย ในพื้นที่ตนเอง จากนั้นก็ศึกษาคุณสมบัติไปด้วยครับ ว่าแต่ละตัวนั้นมีสรรพคุณอย่างไร จากคนเฒ่าคนมีค่าในสังคมไทย ฟื้นฟูแนวทางนี้ขึ้นมาครับ แล้วพอเรามีแผนที่ชัดเจนในเรื่องมีพืชพรรณสมบูรณ์กลับมา ก็เชื่อมโยงให้ดีระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และอื่นๆ พร้อมกับนักวิจัยไทย ในการศึกษาค้นคว้าตัวยา ในปัจจุบันก็มีการทำไปแล้วเยอะครับ แต่ยังไ่ม่เยอะมากเท่าที่พืชพรรณไม้ไทยจะมีครับ

        คุณคงไม่แปลกใจว่าทำไมพื้นที่ประเทศนี้แถบนี้ถึงปลูกพืชได้เยอะมากๆ นะครับ แค่คุณมองพื้นที่ด้านบน มองเห็นฝนฟ้า มองเห็นแสงแดดและอื่นๆ แล้วเราไม่ใช่ธรรมดาครับ

        หากเราสร้างคนไทยให้เหมาะสมกับพื้นที่นี้ และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อสนองต่อรากเหง้าของเราแล้ว เราจะพบกับแนวทางพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนได้ เราจะพึ่งพาตัวเราเองได้ โดยการเริ่มจากครอบครัวของเราเอง ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้อย่างสบาย เพียงแต่เราควรมีการค้นหาคำตอบว่าเราควรจะปลูกอะไรในพื้นที่ไหน ตามคำตอบของธรรมชาติที่เคยมีมาในอดีตนั่นหล่ะครับ แล้วค้นหาคำตอบให้เจอ พื้นที่นาก็ปลูกข้าวนี่หล่ะครับ หากมีน้ำเพียงพอ หากไม่มีน้ำก็ต้องปรับกันครับว่าคำตอบน่าจะเป็นอะไร อันนี้ต้องร่วมวิจัยภาคชุมชน ปราชญ์ชุมชนร่วมกัน

        เราให้ชีิวิตกับต้นไม้ กับพืชไทย เค้าก็ให้ชีิวิตกับเรากลับคืนมาแ่น่นอนครับ 

        เมื่อก่อนผมโดนมีดบาดที่บ้านแบบว่าง่ายๆ เลยคือ เอาใบสาบเสือมาบดรวมกันกับปูน(กินหมาก) แล้วทาปิดปากบาดแผลไ้ว้ ไม่นานก็หาย เป็นแผลในปาก ก็เคี้ยวดอกและผลมังเร ก็ไม่นานก็หายครับ และอื่นๆ อีกมากมาย  ถามว่าทุกวันนี้ต้นไ้ม้เหล่านั้นหายไปหมดแล้ว โดนมีดพร้าถางราบจนขาดพันธุ์ แทนที่ด้วยพันธุ์ใหม่ เกิดบาดแผลผมต้องพึ่งพายาแผนปัจจุบัน หรือไม่หนักๆ ต้องไปโรงพยาบาลอย่างเดียวครับ แต่ไปโรงพยาบาลก็ไม่ใช่ว่าจะรักษาได้ทุกโรคนะครับ หลายรายต้องมาหายกับยาสมุนไพรอีกครับ  ดังนั้นคงต้องร่วมศึกษาร่วมกันทั้งแผนปัจจุบันและโบราณ ในการหาจุดที่เหมาะสมร่วมกัน บางทีเราก็ต้องเล่นกับเชื้อโรคบ้างครับ เพื่อให้ร่างกายต่อสู้เชื้อโรคบางตัวได้ ไม่งั้นโดนเชื้อหนักๆ ครั้งหนึ่ง หลายๆ ตัวรุมเร้าอาจจะตายได้ก็ได้

        ท้ายที่สุดพล่ามมานานแล้วครับ เลยอยากชวนท่านๆ ร่วมค้นเว็บสมุนไพรไทย หรือว่านำภาพ หรือสรรพคุณ ชื่อ แหล่งที่พบ และอื่นๆ มาฝากกันไว้เป็นแนวทางก็ดีครับ วันหนึ่งผมอยากจะให้มีแนวทางนี้เกิดเป็นระบบฐานข้อมูลสมุนไพรไทยที่มีชีิิวิตและนำไปสู่การบริหารจัดการความรู้ในระดับชุมชนด้วย

        ขอบคุณทุกท่านมากๆ นะครับ  อื่นๆ เสริมเชิญท่านบรรเลงไว้ได้นะครับ

พระธรรมชาติคุ้มครองครับ

เม้ง 

หมายเลขบันทึก: 158208เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2008 07:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (37)

สวัสดีค่ะคุณเม้ง

ว่าด้วยสรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิดที่สำนักอนามัยฯ ได้นำหนังสือดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้ประโยชน์ในงานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ค่ะ

เดี๋ยวแวะมาเล่นใหม่นะคะ  ^ ^..

ต่อค่ะ

สมุนไพรไทยทรงคุณค่านักค่ะ และเราโชคดีที่ประเทศเราปลูกอะไรก็ได้เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเราเลี้ยงตัวเองได้ทำไมเราจะเลี้ยงโลกไม่ได้ ?..เพราะเราปิดประเทศเราก็ยังอยู่ได้นะคะ อาหารเรามีพอ

ว่างๆจะมาเล่นด้วยอีกทีนะคะ

 

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

  • ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่มาร่วมเล่นด้วยครับ
  • เกิดประโยชน์และเก็บข้อมูลกันไว้ครับ หากไทยไม่เห็นค่าของไทยด้วยกันเองแล้วไซร้ ใครจะหันมาดูแลไทยอย่างใจจริง
  • เราก็จะโดนกฏหมายฉกชิงจากผู้ที่มีกลลวงในระบบคิดที่เราอาจจะตามไม่ทันหรือมองข้ามอยู่ร่ำไปครับ
  • แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไ่ม่ใช่จะแบ่งแยกครับ แต่ทำไปเถิดให้สมบูรณ์แล้วจะเกิดคุณค่าในบ้านเกิดเราเอง
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ 

สวัสดีครับทุกท่าน

        เื่มื่อเช้าลองค้นๆ ดู เกี่ยวกับโรคไมเกรน และการปวดหัวข้างเดียว เลยได้ข้อมูลจากญาติมิตร บอกว่า คนไทยเรามีผู้ป่วยเป็นไมเกรนประมาณ 17% ของประชากร

นั่นคือ คนไทยมีประมาณ 60 ล้านคน ปวดหัวข้างเดียวประมาณ 10 ล้านคน โอ้ พระธรรมชาติ...อะไรจะมากมายขนาดนี้ครับ

        แล้วต่อไปมีโอกาสจะหนักหรือเพิ่มปริมาณมากขึ้นด้วยซิครับ แถมผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงจากการเป็นโรคปวดหัวข้างเดียวนี่มากกว่าชาย ประกอบกับการมีฮอร์โมนของผู้หญิงด้วย ซึ่งมีโอกาสทำให้ปวดมากกว่าชาย

        โอ้โห... คนเรามีกันเพียงสมองเดียวเท่านั้น ริปวดหัวเสียอย่างนี้แล้วจะเอาสมองไหนมาคิดสิ่งดีๆ เพื่อประเทศชาติละครับเนี่ย...

        แถมการปวดไมเกรน หรือปวดหัวข้างเดียวนี่ก็เหมือนกับว่าไม่มียาใดรักษาได้หายขาดด้วย และมีสิ่งเร้าในการปวดกันต่างๆ นาๆ ครับ

ที่ผมพบเจอที่เพื่อนๆ เป็นกัน มีสิ่งเร้าดังต่อไปนี้ เช่น

  • กินกล้วยหอมดิบ
  • ก่อนมีประจำเดือน
  • อากาศเปลี่ยน
  • ............มีอะไรอีกบ้างครับ

ขอบพระคุณมากๆ นะครับ สงสัยว่าโรคปวดหัวข้างเดียวนี่ควรจะต้องพิจารณากันด่วนนะครับ ก่อนที่คนไทยจะปวดหัวกันทั้งประเทศ

เพราะว่าตอนนี้มีเรื่องให้คนไทยต้องปวดหัวกันอีกมาก ตามแต่อายุและปัจจัยภายใน ภายนอก

ขอบพระคุณมากๆ นะครับ สำหรับข้อมูล 

สมุนไพรรักษาไมเกรน

 

           การดื่มเหล้าเบียร์ เมื่อมีอาการมึนเมาขึ้นมาแล้ว อาการ " ไมเกรน "                   ก็อาจจะเกิดมีขึ้นมาได้เช่น เดียวกัน

            บางทีคนเราหิวมาก เพราะยังไม่ได้รับประทานอะไรเลยในอาหารมื้อเช้า       หรือกลางวันเวลาผ่านพ้นไปนาน ๆ เข้าอาการ " ไมเกรน "                                           ก็จะเกิดมีขึ้นได้เหมือนกัน

            บางทีคนเราก็ยุ่งอยู่กับงานมากมาย สมองมึนซึมไปเลย เกิดอาการ " ไมเกรน "       ขึ้นก็ได้อีกเช่นเดียวกัน

            บางทีเมื่อคนเราอดนอนมาก นอนดึก อาการ " ไมเกรน " ก็เกิดมีขึ้นอีก                   ปวดศีรษะข้างเดียวได้ด้วย ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่ควรอดนอนดึก ๆ

            ผู้ที่ป่วยเป็น "ไมเกรน" นี้ มักจะเป็นคนที่มีประสาทไวกว่าปกติ                               เกิดความรู้สึกสัมผัสรวดเร็วเกิดอารมณ์ได้ง่าย ๆ                                                             เรื่องราวอะไรแตะนิดแตะหน่อยเดียวก็เกิดอารมณ์ทันทียับยั้งไม่ได้

           เรื่องเช่นนี้แต่ละคนจึงแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน

            "ไมเกรน" นี้ แพทย์มีรายงานว่าพบมากในปัจจุบัน                                                       เพศหญิงป่วยมากกว่าเพศชาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ย่อมป่วยเป็น"        ไมเกรน" ได้ทั้งนั้น

           จำเป็นจะต้องให้แพทย์ตรวจและให้คำแนะนำเสมอ

           สมุนไพรต่าง ๆ ก็สามารถช่วยผู้ป่วยได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

            มีพืชสมุนไพรหลายชนิดที่รักษา " ไมเกรน " ได้ดี                                                       ดังที่จะนำเอามาแนะนำต่อไปดังนี้ คือ

                      - กระเทียม

                      - ใบบัวบก

                      - ดอกแค

            พืชสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดนี้ สามารถนำเอามาแก้อาการ " ไมเกรน " ได้ดีมาก             ซึ่งได้ผลอย่างน่าพิศวงอย่างยิ่ง

 

กระเทียม

            เอา "หัวกระเทียม" มาใช้เป็นยาแก้ อาการปวดศีรษะข้างเดียว หรือ " ไมเกรน" ได้อย่างชะงัดนัก

            "หัวกระเทียม" ที่ใช้ในการปรุงอาหารต่าง ๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้แหละ เอามาแก้ "ไมเกรน" ได้เลย

            วิธีการก็ได้แก่ เอา หัวกระเทียม มาแกะออกเป็นกลีบ ๆ เอามารับประทานกันน้ำพริกก็ได้ เอามาผัดกับผักก็ได้ รับประทานสด ๆ ก็ดี โดยรับประทานครั้งละ 10 กลีบทุก ๆ วัน

            หรือจะเอา "กระเทียมแคปซูล" ก็ได้ เป็นกระเทียมที่บดละเอียดแล้ว เอามาบรรจุในแคปซูลกลืนกับน้ำสะอาดสะดวกสบาย

            อาการปวดศรีษะข้างเดียวหรือ "ไมเกรน" ก็จะหายไปได้ในที่สุด

            แต่จะต้องรับประทานทุกวันต่อเนื่องกันไป

 

ใบบัวบก

            เอา " ใบบัวบก" มาเป็นยาสมุนไพรแก้ "ไมเกรน " ก็ได้อีกอย่างหนึ่ง

            วิธีการก็คือเอามาทั้งเถา ใบและก้านใบรวมกันมาเลยเอามาล้างให้สะอาดเสียก่อน วิธีการทำเป็นยา เอาต้น เถา ใบบัวบกมาสัก 1    กิโลกรัม    ตัดเป็นท่อนสั้น ๆ เอามาโขลกละเอียดหรือเอามาปั่นด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้ากับน้ำสะอาด

            ต่อจากนั้นเอกมาต้ม เติมน้ำลงไปพอสมควรให้ท่วมต้มไปสัก 5 นาที เมื่อเดือดแล้วก็ยกลงเอามารองบีบเอากากทิ้งไป

            เอามาต้มอีกครั้งหนึ่ง ใส่เกลือป่นลงไปสัก 1 ช้อนชา เย็นแล้วดื่มเป็นยาได้ทันที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน และเย็น

            จะเติมน้ำตาลทรายลงไปด้วยเล็กน้อยพอหวานนิด ๆ ก็ได้

            อาการ " ไมเกรน" ก็จะหายไปได้ในที่สุดเมื่อดื่มเป็นประจำแล้วประมาณ 1 สัปดาห์

            "บัวบก " เป็นพืชสมุนไพรที่ดีมาก แก้ร้อนในกระหายน้ำก็ได้แก้ความดันโลหิตสูงก็ได้

            อีกทั้งยังเอามาแก้ "ไมเกรน" หรืออาการปวดศีรษะข้างเดียวก็ยังได้อีกเลย

 

ดอกแค

 

            เอา "ดอกแค" ที่ปลูกกันโดยทั่วไปตามบริเวณบ้านเรือน มาเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะข้างเดียวหรือ "ไมเกรน" ได้ดีอีกอย่างหนึ่ง

            เอา "ดอกแค" ทั้งดอกมาล้างน้ำให้สะอาด เอามาลวกจิ้มน้ำพริกกะปิก็ได้ เป็นอาหารไปเลย

            เอา "ดอกแค " มาต้มกับซี่โครงหมู เป็น แกงจืด ก็ได้อร่อยดีด้วยแล้วก็เป็นยาสมุนไพรที่ดีแก้ "ไมเกรน" ได้อีก

            เอา "ดอกแค" มาผัดกุ้งสดรับประทานเป็นอาหารเป็นกับข้าวก็ได้ มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี    แถมยังเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะข้างเดียวหรือ "ไมเกรน" ก็ได้ เอา "ดอกแค " มาปรุงเป็นแกงส้ม ก็ได้ หรือ แกงเหลืองก็ได้

            อาการ " ไมเกรน" จะหายไปได้ในไม่กี่วันหลังจากรับประทาน ดอกแค ไปแล้ว อาหารที่เป็นสมุนไพรด้วยนั้นนับว่าเป็นประโยชน์ดีจริง ๆ

            พืชสมุนไพรมากมายเอามาปรุงเป็นอาหาร เป็นกับข้าว เป็นอาหารที่ดีมีประโยชน์มากหลายยิ่งนัก เมื่อรู้จักเอามาใช้ประโยชน์ก็เป็นประโยชน์อย่างที่สุด

            คุ้มค่าและมากด้วยของดี ๆ ไม่ใช่น้อยเลย

ที่มา... http://202.143.141.162/web_offline/srp/index2.htm

ขอบคุณน้อง..  นางสาวพรรัตน์       ศรีวัชรกาญจน์       ม . 5 / 11       เลขที่ 5  (ผู้จัดทำ)

โอ้..โห... พระธรรมชาติ...ยอดมากเลย สมุนไพรไทยครับ

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน

ร่วมการจดบันทึกอาการของโรคไมเกรนดังนี้

  •      วันและเวลาทีปวด
  •      ระยะเวลาที่ปวด
  •      อาการอื่นที่พบร่วม เช่น คลื่นไส้อาเจียน สิ่งกระตุ้นเช่น แสง เสียง กลิ่น
  •      ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ ผู้หญิงอย่าลืมบันทึกเกี่ยวกับรอบเดือนด้วยนะครับ
  •      อื่นๆ ประกอบครับ (ถ้ามี)

แ้ล้วทดลองกับสมุนไพรเหล่านี้ร่วมด้วยนะครับ

  • ปลูกต้นแคหน้าบ้านไว้เลยครับ
  • กระเทียมอย่าให้ขาดบ้านนะครับ
  • บัวบกปลูกไว้ซักหนึ่งตารางวาครับ หรือใครมีนาก็ให้ขึ้นตามคันนาก็ได้ครับ ธรรมชาติดีครับ
  • แล้วลองทำดูนะครับ 

สังเกตนอกรอบ....

  • ต่อไปฝรั่งอาจจะปวดหัวหนักก็ได้ครับ อิๆๆ เพราะฝรั่งบางคนไม่กินกระเทียม ฮ่าๆๆๆ
  • ต้นแคและบัวบกนี่ไม่มีแน่ๆ ครับ
  • แต่คนไทยที่นิยมของนอก กินอาหารหรั่งอย่างเดียว นี่ก็อาจจะปวดหนักขึ้นก็ได้ครับ
  • กระเทียมนี่แก้โรคหนอนกินฟัน (แมงกินฟัน) หรือฟันผุได้ด้วยนะครับ ดังนั้นใครอยากให้ลูกมีฟันครบสามสิบสอง หนอนไม่กินฟัน ทดลองดูนะครับ
  • เพราะผมก็เป็นหนูตัวนั้นมาก่อนจากการทดลองของคุณแม่และคุณพ่อครับ
  • ขอบคุณมากครับ 

สวัสดีค่ะ

  • อาการไมเกรน..เกิดจากหลายสาเหตุนอกจากเรื่องอาหาร สาเหตุหลักๆ เกิดจากความเครียด (ทั้งนอนดึก..พักผ่อนไม่พอ..) และยังเกิดได้จากการแพ้ เช่น แพ้แสงแดดจ้า หรือแพ้ละอองต่างๆ (คนที่บ้านแพ้แสง ..เป็นเอามากค่ะ ...ออกนอกบ้านต้องใช้แว่นตากันแดดตลอด)
  • เวบไซด์สมุนไพรอีกที่ ที่เคยใช้สืบค้นบ่อยๆ คือ ศูนย์สมุนไพรทักษิณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ค่ะ...แยกสมุนไพรตามรสยา ฝาด หวาน มัน เค็ม ฯลฯ

สวัสดีครับพี่กั๊ต Gutjang

  • ขอบคุณมากๆ เลยครับผม
  • ได้เว็บเพิ่มเติมครับ มีประโยชน์มากๆ เลยครับ
  • ค้นๆ นำสรรพคุณสมุนไพรมาบอกวันละตัวยา นี่ก็ไ่ม่ธรรมดาเลยนะครับ มาดูว่าคนไทยเป็นโรคอะไรกันบ้างก็คงดีครับผม
  • ขอบคุณมากๆนะครับ 

เว็บเพิ่มเติมครับ

ยังอยู่ค่ะ...^ - ^

  • เล่าเรื่องไมเกรนต่อนะคะ
  • มีอยู่หนหนึ่งค่ะ...นั่งรถช่วงเย็นมากแล้ว (อาทิตย์ตกดินไปแล้ว) คุณเธอคิดว่าไม่เป็นไร...ไม่มีแสงตะวันแล้วนี่ ก็เลยถอดแว่นตาออก .... ขับรถต่อไปซักพัก...
  • เป็นเรื่องเลยค่ะ..เริ่มนั่งบ่น....ปวดหนึบๆ ที่ต้นคอแล้ว...
  • ขับรถต่อไปอีกซัก 10 นาที บ่นว่า "ไม่ไหวแล้ว" ...แล้วเลี้ยวรถจอดข้างทางทันที (อาเจียนค่ะ)
  • ต่อจากนั้น....ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ต้องจอดรถ (..อาเจียน)...ถึงบ้าน..หมดแรงพอดี..เฮ้อ!!!
  • แต่ถ้าได้พักผ่อน (นอนหลับสนิท)  ซักชั่วโมงก็หายค่ะ
  • ....
  • เวบสมุนไพรอีกแห่งที่แนะนำนักเรียนเข้าไปศึกษาค่ะ สมุนไพรแยกตามการรักษา/ตามอาการ เช่น สมุนไพรเพื่อถอนพิษ พืชหอม ยาขับน้ำนม ยาบำรุงหัวใจ ยาบำรุงเลือด เจริญอาหาร ฯลฯ (piXiart.com)
  • ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีครับพี่กั๊ต

  • เจอหนูทดลองแล้วครับ อิๆๆๆ
  • ขอบคุณมากครับ ที่เล่าให้ฟังนะครับ
  • แล้วตอนนี้ยังเป็นอยู่หรือเปล่าครับ ได้ทดลองยาสมุนไพรเหล่านี้บ้างยังครับ หากไ้ด้ผลก็บอกกันต่อเป็นวิทยาทานครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ หากยังปวดก็ขอให้หายไวๆ นะครับ และเจอตัวยาสมุนไพรที่ใช่เลยนะครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ

ขอมอบ link นี้เป็นของขวัญปีใหม่ครับ

http://www.rspg.thaigov.net/plants_data/pdata_03.htm

สมุนไพรที่ผมรู้จัก

  • ว่านเพชรสังฆาต (แก้ริดสีดวง)
  • ว่านมหาปราบ (แก้ฝีฯ)
  • ต้นลูกใต้ใบ
  • คำฝอย
  • ราชพฤกษ์ (ฝักคูณ)

สวัสดีครับคุณข้ามสีทันดร

  • ขอบคุณมากๆ นะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ
  • ข้อมูลที่ส่งมาครับ สุดยอดเลยนะครับ ผมเข้าไปค้นหาเจอพืชพรรณไม้และสมุนไพรตรึมเลยครับ
  • จริงๆ แล้วข้อมูลเราสมุนไพรเราก็มีอยู่เยอะนะครับ อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นครับ
  • อีกอย่างหากได้พูดคุยสอบถามปู่ย่าตายายก็ดีครับผม
  • ขอบคุณมากครับ 

สวัสดีค่ะคุณเม้ง มีความคิดดีๆมาชวนกันสร้างสรรค์อีกแล้ว ดีค่ะ เพราะความรู้เรื่องสมุนไพรไทยนั้นกระจัดกระจายมาก แถมยังมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามถิ่น

คิดว่านอกจากรวบรวมความรู้ แหล่งความรู้แล้ว การส่งเสริมให้นำมาใช้ในชีวิตได้จริงยังต้องการการพัฒนากระบวนการอีกมาก ทั้งเรื่องความคิดหรือทัศนะและวิธีการใช้ หากเราสามารถทำได้ครบวงจร มีความรู้ มีแหล่งพืชสมุนไพร มีผู้ซึ่งมีประสบการณ์แนะนำวิธีใช้ได้ด้อย่างถูกต้องปลอดภัย เราจะประหยัดค่ายาจากต่างประเทศมหาศาลในการซื้อยาที่รักษาโรคธรรมดาๆ เช่นปวดหัว ตัวร้อนเป็นไข้ ท้องเสีย ผื่นคัน ริดสีดวง เบาหวาน ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น กระบวนการและแนวทางการสังคายนาความรู้หมอเมืองล้านนา ที่ดร.ยิ่งยง เทาประเสริฐ แห่งม.ราชภัฏเชียงรายทำไว้ น่าชื่นชมและมีคุณค่ามากเลยค่ะ

อ่านบันทึกนี้ทำให้นึกถึงปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่งที่พี่มีโอกาสได้รู้จักคือ "หมอกุ" อยู่ที่ระยอง ท่านบอกว่าพืชนั้นมีประโยชน์ทุกชนิด เป็นได้ทั้งสมุนไพรรักษาโรค และใช้ในการเกษตร เรื่องของท่านเป็นหนึ่งในเก้ากรณีศึกษาของพี่เพื่อดูกระบวนการบูรณาการความรู้ระหว่างภูมิปัญญาไทยกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ที่มุ่งการพัฒนาในแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน บันทึกนี้ของคุณเม้งเป็นแรงบันดาลใจให้พี่ต้องเขียนเล่าเรื่องนี้ซะแล้วค่ะ

สวัสดีค่ะคุณเม้ง

เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ค่ะ เพราะเบิร์ดกำลังเดินเข้ามาเพื่อบอกว่า ดร.ยิ่งยง เทาประเสริฐของ ราชภัฎเชียงรายท่านศึกษาเกี่ยวกับแพทย์พื้นบ้านและภูมิปัญญาไทย ก็เห็นพี่นุชกล่าวถึงท่านไว้ในความเห็นก่อนหน้านี้

http://www.sedb.org/db09.html  ท่านเขียนหนังสือด้วยนะคะ แล้วจะลองค้นดูอีกทีว่าอยู่ตรงไหนในชั้นหนังสือรกๆของเบิร์ด

ชื่อ ที่อยู่ท่านค่ะ ผศ.ดร.ยิ่งยง เทาประเสริฐ วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้าน มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ๘๐ หมู่ 9 ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ๕๗๐๑๐ โทร. ๐๕๓ – ๗๐๓ – ๓๘๘.

สวัสดีปีใหม่ครับ

ไม่รู้ว่าจะจำกันได้มั้ยเนี้ย

หายไปนานไปหน่อย

ก็ให้อยู่ดีมีสุขนะครับ

สวัสดีครับพี่คุณนายดอกเตอร์

  • ขอบคุณพี่มากๆ นะครับ สวัสดีปีใหม่มีความสุขและโชคดีตลอดไปนะครับ
  • ด้วยโลกแห่งความสะดวกสบายเข้ามาแทนที่ครับ ทำให้โลกแห่งสมุนไพรไทยหายไป และโดนรุกด้วยพืชต่างถิ่นและพื้นที่พืชไทยดั้งเดิมโดนทำลาย นำไปสู่การสูญพันธุ์ทางสมุนไพรเลยหล่ะครับ
  • ที่น่าสนใจคือ เมื่อความหลงในความสะดวกสบายเข้ามาครอบงำเรา เมื่อเรามีสูตรยาสมุนไพร ความคิดเราจะรู้สึกยุ่งยากในการวิ่งหาตัวยา ทั้งๆ ที่หากหาจริงๆ แล้วก็จะหาได้ ธรรมชาติจัดสรร บางที่จะยังมีร้านขายสมุนไพรไทยอยู่บ้างก็สะดวกขึ้นครับ แต่บางที่อาจจะทำให้คนรู้สึกว่ามันยุ่งยาก
  • ฦาจะสู้ไปโรงพยาบาล หรือคลีนิคซึ่งคิดว่าไปแล้วก็ได้ยามาเลย ง่ายและสะดวกกว่า นี่คือหนทางแห่งความสูญหายของยาสมุนไพรไทยครับ
  • จริงๆ แล้วสมุนไพรไทย เอามาทำเป็นอาหารได้ครับ ส่วนใหญ่ หนักสุดคือเอามาต้มแล้วดื่ม รสอาจจะขมบ้างเป็นธรรมดา ก็หวานเป็นลม ขมเป็นยานี่เนอะครับ
  • มองการรักษาโรคคือการรับประทานอาหาร ผมว่า  กินอาหารเป็นยา น่าจะดีกว่ากินยาเป็นอาหาร เยอะเลยนะครับ
  • เป็นเรื่องดีครับ หากมีการหันมาอนุรักษ์แล้วแลกเปลี่ยน นำไปสู่การปลูกและขยายพันธุ์แลกเปลี่ยนให้วนเีวียนเป็นสมุนไพรไทยครับ
  • อยู่ที่ว่าเราจะยังรู้สึกยุ่งยาก รักความสะดวกสบายกันต่อไปหรือเปล่าครับ
  • จริงๆ ทำได้ง่ายๆ หากมีพื้นที่ที่มุมบ้าน ปลูกพืชสวนครัวเข้าไปทุกอย่างก็คือสมุนไพรทั้งนั้นครับ กินเป็นอาหารร่วมด้วยครับ
  • พี่ลองเขียนในสิ่งที่พี่คิดดูนะครับ น่าจะได้แนวทางร่วมกันในการสานต่อ และนำไปสู่การให้ความสำคัญมากขึ้นครับ
  • ขอบคุณพี่มากๆ นะครับ

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

  • ขอบคุณมากนะครับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของท่าน ดร.ยิ่งยง เทาประเสริฐ
  • เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมครับ ทำให้ผมคิดถึงที่พี่บางทรายเคยคุยให้ฟังเรื่องการเผาป่าเพื่อรอพืชผักใหม่ครับ
  • กำลังคิดว่าสิ่งที่เราเสียไปในป่า เช่นสมุนไพร เพื่อแลกกับการแตกยอดใหม่ของต้นไม้บางชนิด มันคุ้มค่ากันแค่ไหนก็ไม่รู้นะครับ
  • ผมหวังว่าเราคงไ่ม่ทำเพื่อการได้มาของยอดและดอกผักหวานป่าักันอีกนะครับ หากคิดให้รอบด้านแล้วเราได้แค่นิดเดียวจริงๆครับ
  • ไฟทำลาย ผมว่าเอาไว้เป็นหนทางสุดท้ายของการแ้ก้ปัญหาก็น่าจะดีมากๆ เลยนะครับ
  • น่าจะมียาสมุนไพรที่ทำให้ดื่มแล้วคิดถึงผลประโยชน์สุขของประชาชนบ้างก็ดีนะครับ  ผมจะทำพิเศษซักสี่ร้อยกว่าซองแจกพิเศษครับ
  • ขอบคุณคุณเบิร์ดมากครับ ขออภัยที่พาออกนอกเรื่องครับ

สวัสดีครับคุณ ตาหยู

  • สวัสดีปีใหม่ครับ
  • ยินดีที่ได้รู้จักคุณตาหยูครับ อ้าาวววว...ล้อเล่นครับ รู้จักกันมาก่อนแล้วครับ ยังจำได้ดีครับผม
  • ขอบคุณมากๆ และขอให้มีความสุขเช่นกันนะครับ
  • ขอแสดงความยินดีในงานมงคลที่ผ่านมาด้วยนะครับ และให้ีมีความสุขตลอดไปเ่ช่นกันครับ
  • ขอบคุณครับ 

สวัสดีครับพี่ Lin Hui

  • ขอบพระคุณพี่มากๆ นะครับ ที่นำมาให้เป็นตัวอย่างที่ดีครับ
  • นำเสนอเป็นรายการอาหารรอบบ้านก็คงดีมากๆ เลยหล่ะครับ อันไหนปรุงอาหารได้ก็เป็นอาหาร อันไหนปรุงไม่ได้ก็ทำเป็นชาสมุนไพรแทน
  • ทุกๆ ตัวยาในแคบซูลว่าไปก็น่าจะมาจากธรรมชาติทั้งหมดครับ เพียงแต่เปลี่ยนรูปไป แต่ไม่ใช่ว่าจะได้สารอาหารครบถ้วน เพราะตัวยาที่แท้จริงในการกินต้นตำรับ กับกินเม็ดยานั้นน่าจะต่างกัน เพราะในเม็ดยาส่วนใหญ่คือสกัดเอามาเฉพาะในสิ่งที่จำเป็นและคิดว่ามีผลทางเคมีภายในร่างกาย ส่วนจะมีผลต่อกลไกการตอบสนองและเยียวยาแค่ไหนก็พิสูจน์กันที่ผลลัพธ์
  • ขอบพระคุณมากครับ 

สวัสดีครับเม้ง

ผมมาช่วยขุดครับเป็นข้อมูลที่ อ.พูล มาแสดงความคิดเห็นไว้ใน http://gotoknow.org/blog/bansuanporpeang/113086

13. ลุงพูน
​เมื่อ​ ​ศ​. 20 ​ก​.​ค​. 2550 @ 22:49

ผม​ค้น​มา​ให้​อ่าน​กัน​ครับ​

โคลงเคลง

ชื่อวิทยาศาสตร์​ :  Melastoma malabathricum L. subsp. malabathricum
วงศ์ :  Melastomataceae
ชื่อสามัญ :  Malabar melastome, melastoma, Indian-rhododendron

ชื่อ​อื่น :  ​กะดูดุ​ (มลายู​-​ปัตตานี); ​กาดู​โด๊ะ​ (มลายู​-​สตูล​, ​ปัตตานี); ​โคลงเคลง​, ​โคลงเคลงขี้นก​, ​โคลงเคลงขี้หมา​ (ตราด); ​ซิซะ​โพ๊ะ​ (กะ​เหรี่ยง​-​กาญจนบุรี); ​ตะลา​เด๊าะ​ (กะ​เหรี่ยง​-​แม่ฮ่องสอน); ​เบร์​, ​มะ​เหร​, ​มังเคร่​, ​มังเร้​, ​สา​เร​, ​สำ​เร​ (ภาค​ใต้)​; ​มายะ​ (ชอง​-​ตราด); ​อ้า​, ​อ้าหลวง​ (ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ไม้พุ่ม​  ​กิ่ง​เป็น​สี่​เหลี่ยม​ ​มักมีขน​ ​เกสรเพส​ผู้​ 10 ​เรียง​เป็น​ 2 ​วง​ ​มีระยางค์ ใบ  เป็น​ใบเดี่ยว​ ​เรียง​เป็น​คู่ตรง​กัน​ข้าม​ ​เรียงแบบสลับน้อย​ ​เส้นใบ​ 3-9 ​ออก​จาก​จุดเดียว​กัน​ตรงฐานใบ​ ​แล้ว​เบน​เข้า​หาปลายใบ​ ​เส้นใบย่อยเรียงแบบ​ ​ขั้นบันได​ ​ไม่​มีหู​ใบ ดอก​ ​ดอก​เป็น​ช่อ​ ​สมบูรณ์​เพศ​ ​มีสมมาตรตามรัศมี​ ​กลีบเลี้ยง​ 3-6 ​(​ส่วน​ใหญ่​ 5) ​กลีบดอก​ 5 ​เรียงเกยซ้อน​กัน​ใน​ดอกอ่อน​ ​เกสรเพศ​ผู้​ 10 ​เรียง​เป็น​ 2 ​วง​ (จำ​นวน​ 5 ​พบน้อย) ​มีระยางค์​ ​รังไข่​อยู่​ใต้​วงกลีบ ผล​  ​เมื่อแก่​เปลือก​จะ​แห้ง​ ​และ​แตกออก​ ​ภาย​ใน​มี​เมล็ดจำ​นวนมาก​ ​หรือ​ผลมี​เนื้อนุ่ม​ ​หลายเมล็ด​
ประ​โยชน์ :  ​เป็น​ยาพื้นบ้าน​ ​แก้คอพอก​ ​แก้อา​เจียน​เป็น​เลือด​ ​และ​ถ่าย​เป็น​เลือด​ ​ราก​ ​แก้ร้อน​ใน​กระหายน้ำ

 

สวัสดีครับโสบ้านสวนพอเพียง

    ขอบคุณมากครับเพื่อน ผมเลยเอารูปมาฝากนะครับ และกราบขอบพระคุณ อ.พูลสวัสดิ์ ด้วยนะครับ 

ต้นโคลงเคลง

    ประโยชน์มากมายครับ ที่บ้านผม ใช้เคี้ยวดอกหรือผลแก้เป็นแผลในปากครับ

ขอบคุณมากๆ เลยนะครับ 

สวัสดีครับโส

    มีประโยชน์มากๆ ครับผม ขอดึงสรรพคุณมาใส่ไว้ด้วยเลยคร่าวๆ นะครับ

สรรพคุณด้านสมุนไพร :  

ทั้งต้น  ช่วยลดไข้ทุกชนิด (ไข้หวัด ไข้ทับระดู ไข้จับสั่น) ขับระดูขาว แก้น้ำดีพิการ แก้ดีซ่าน แก้ขัดเบา แก้ไอ แก้กามโรค แก้ปวดฝี ขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ท้องเสีย
ต้น  มีสรรพคุณช่วยลดไข้ แก้บวม แก้ปัสสาวะขัด แก้นิ่ว แก้ปวดฝี แก้ฟกช้ำบวม
ใบ  ช่วยลดไข้ แก้บวม แก้ปัสสาวะขัด แก้ดีซ่าน แก้ปวดบวม แก้ฝีในคอ แก้ไอในเด็ก
ลูก (ผล)  แก้ร้อนใน แก้ไข้
ราก  ช่วยแก้ไข้หวัด แก้ท้องเสีย แก้บวม แก้ปัสสาวะขัด แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ

 เพิ่มเติมค้นได้ที่ http://clgc.rdi.ku.ac.th/resource/herb/tamalaki/phyllanthus.html

ภาพเพื่อว่าท่านๆ จะคงเคยเห็นและถอนทิ้งบริเวณหน้าบ้านบ่อยๆ ครับ

 

รูปจาก  http://gotoknow.org/blog/bansuanporpeang/104355  โดยโสทร

ขอบคุณมากครับ 

สวัสดีครับ ผมไปค้นเจอ แม้ว่าข้อมูลจะเก่าไปนิดสองปีก็ตาม แต่คิดว่ายังมีประโยชน์อยู่ครับ ลองคิดกันดูว่าโรคเหล่านี้ สมุนไพรไทย ตัวไหนควรเอาไปจับ และจะทำให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ทั้ง กายใจปัญญา
ข้อมูลจาก..เว็บนี้ครับ 
 
กลุ่มโรคที่พบมาก 10 อันดับแรก ของผู้ป่วยนอก กรมการแพทย์ ปีงบประมาณ 2548

อันดับ - กลุ่มโรค - จำนวน (ราย)
1. โรคระบบหายใจ - 329,854
2. โรคระบบไหลเวียนเลือด - 304,254
3. โรคระบบกล้ามเนื้อ รวมโครงร่าง และเนื้อยึดเสริม - 280,469
4. โรคระบบย่อยอาหาร รวมโรคในช่องปาก - 186,666
5. เนื้องอก.(รวมมะเร็ง) - 179,566
6. โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ โภชนาการ และเมตะบอลิซึม - 171,566
7. โรคผิวหนัง และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง - 139,528
8. โรคติดเชื้อและปรสิต - 139,259
9. โรคตารวมส่วนประกอบของตา - 138,225
10. โรคระบบสืบพันธุ์ร่วมปัสสาวะ - 104,779


กลุ่มโรคที่พบมาก 10 อันดับแรก ของผู้ป่วยใน กรมการแพทย์ ปีงบประมาณ 2548

อันดับ - รายโรค/กลุ่มโรค - จำนวน (ราย)
1. โรคความดันโลหิตสูง - 12,360
2. ความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ โภชนาการและเมตะบอลิซึมอื่นๆ - 12,129
3. โรคของตาและส่วนประกอบของตา - 11,268
4. โรคหัวใจและโรคของการไหลเวียนเลือดผ่านปอดอื่นๆ - 10,430
5. โรคเบาหวาน - 9,863
6. โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือดและความผิดปกติบางชนิดที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน - 9,196
7. ความผิดปกติทางจิตใจและพฤติกรรมที่มีสาเหตุจากสารออกฤทธิ์ทางจิตประสาท - 9,181
8. โรคหัวใจขาดเลือด - 7,711
9. โรคติดเชื้อและปรสิตอื่นๆ - 7,423
10. โรคอื่น ๆ ของระบบย่อยอาหาร - 7,016

ลองเข้าไปดูนะครับ ในเว็บกรมการแพทย์ (http://www.dms.moph.go.th/dmsstat/index.html) แต่ผมเจอข้อมูลสองส่วนที่ไม่ตรงกัน ไม่ทราบว่าแตกต่างกันอย่างไร ข้อมูลที่ผมแปะไว้ด้านบน เอามาจากหัวข้อ "ข้อมูลด้านการป่วย" (http://www.dms.moph.go.th/dmsstat/diseas48.htm)

อีกส่วนหนึ่งที่ผมไม่ได้เอามาแปะไว้คือหัวข้อ "ผลวิเคราะห์ข้อมูล 12 แฟ้ม" (http://www.dms.moph.go.th/statreport/index.html) ซึ่งภายในเขียนไว้ว่าเป็นข้อมูลสถิติโรค (Statistical Report) จัดกลุ่มโรคตามหนังสือบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศฉบับที่ 10 (International Statistics Classification of Disease and Related Health Problem :ICD-10) และจัดกลุ่มผ่าตัดหรือหัตถการตามหนังสือ International Classification of Diseases 9th Revision :ICD-9-CM เป็นการนำข้อมูลผู้ป่วยในจากแฟ้มข้อมูลมาตรฐาน 12 แฟ้ม ของสถานพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์มาประมวลผล และวิเคราะห์สถิติผู้ป่วยในตามกลุ่มโรค สถิติทารกเกิดมีชีพ และสถิติผ่าตัดหรือหัตถการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในด้านวิชาการ การเรียนการสอน การศึกษาวิจัย และการวางแผนในการรักษาพยาบาล

ท่านใดทราบความแตกต่างในการจำแนกสถิติทั้งสองส่วน ช่วยชี้แจงเพิ่มเติมด้วยนะครับ
  • 4 เดือน ผ่านไป

ที่มา:

สวัสดีครับพี่อุบล จ๋วงพานิช

  • ขอบคุณมากครับผม เมื่อก่อนหน้าบ้านผมก็ถากหญ้าและต้นเหล่านี้ทิ้งหมดครับ
  • ทำแปลงผักก็ถากทิ้งหมดเช่นกันครับ ผมเพิ่งมาสำนึกผิดเอาตอนหลังๆ นี่ล่ะครับ และเข้าใจว่า วัชพืชนั้น ไม่ใช้เป็นคู่แค้นของเราเสมอไป อยู่ที่ว่าบริบทใด เพราะเชื่อว่าพระธรรมชาติได้สร้างคำตอบไ้้ว้ดีและถี่ถ้วนดีแล้ว ว่าทุกสิ่งมีคุณและโทษ เพื่อสร้างให้เกิดความสมดุลบนโลกใบนี้ครับ
  • ขอบคุณพี่มากๆนะครับ

แนะนำสมุนไพรบำบัดโรค

                   ผมได้แนะนำสมุนไพร ต้นชุมเห็ดเทศ ให้กับผู้ปฏิบัติพระกรรมฐานที่ต้องการนำไปรักษาโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน  คือ

                   ให้นำต้น ใบ และดอก (ไม่มีดอกก็ได้)  ของชุมเห็ดเทศ มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วตากแดด คั่วให้เหลือง และต้มน้ำกิน จะช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวานได้  แต่การรับประทานสมุนไพรชุดเห็ดเทศนี้ จะทำให้ระบาย ผู้ที่สูงอายุมาก ๆ ควรพิจารณาก่อนใช้รักษาตนเอง

                   ผมขอคัดลอกสรรพคุณของชุมเห็ดเทศ ตามความรู้ที่ผมพอจะค้นคว้ามาเพิ่มเติมให้ผู้อ่านได้ทราบ คือ

1.      โรคความดันโลหิตสูง ต้มกินน้ำยาต่างน้ำ 7 วัน  วันละ 1 กำมือ

2.      โรคเบาหวาน  ต้มกินน้ำยาต่างน้ำ  15 20 วัน  วันละ 1 กำมือ

3.      โรคระบบหายใจ  โรคภูมิแพ้  ต้มน้ำยากิน 10 15 วัน  วันละ 1 กำมือ

4.      โรคไข้หวัด  ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่  ต้มน้ำยากิน 1 3 วัน  วันละ 1 กำมือ

5.      โรคแผลพุพอง  แผลตามตัวเป็นตุ่มเป็นหนอง  ทุกส่วนของร่างกาย  ต้มกินน้ำยา 10 - 120 วัน   วันละ 1 กำมือ

6.      โรคนอนไม่หลับ  ต้มน้ำยากินต่างน้ำ  1 4 วัน  วันละ 2 กำมือ (เคี่ยวยา นาน 5 นาที)

7.      โรคปัสสาวะไม่สะดวก  ต้มยากินต่างน้ำ 1 3 วัน  วันละ 1 กำมือ

ดอกชุมเห็ดเทศ  ถ้าตากแดดแล้วบดให้เป็นผง  ผสมน้ำผึ้ง  ปั้นเป็น

ลูกกลอน    กินวันละ 2 เม็ด  เม็ดเท่าผลพุทธรา  กินเช้า เย็น  เป็นยาแก้ระบบในท้อง จุก แน่น เสียด  คลื่นเหียน  อาเจียน  และยังเพิ่มระบบหายใจได้ดี  ตลอดจนแก้ปวดศีรษะได้อีกด้วย

                   ชุมเห็ดเทศ  เป็นไม้ปลูกง่าย  ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด  รักษาโรคได้มากมายหลายชนิด  เช่น กลาก เกลื้อน  เรื้อนกวาง

 

จาก...http://kasin.saiyaithai.org/book/udontanee.htm 

สวัสดีค่ะ คุณเม้ง

ข้อมูลรายงานโรค ที่ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนนั้น เป็นเพราะเวลาผู้ป่วยไปร.พ.จะมี 2 ลักษณะ

กลุ่มแรกมารักษาแบบไป-กลับ เรียกว่าผู้ป่วยนอกค่ะ 

กลุ่มที่ 2 มารักษาแบบค้างคืนที่ร.พ.เพราะความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นในด้านการให้การดูแลทางการแพทย์   เรียกว่า ผู้ป่วยในค่ะ

การนับจำนวนโรคของผู้มารักษาแบบไป-กลับนั้น นับจำนวนความถี่ที่เข้ามาขอรับการรักษาของวันนั้นๆสะสมเป็นรายเดือนหรือรายปี แล้วนำมาเรียงความถี่ว่าโรคใดมารักษาถี่กว่าโรคใด   ส่วนหลักการนับครั้งใช่ว่าจะนับแบบนับเลขไปเรื่อยๆ แต่มีหลักค่ะว่า ต่อให้มาไป-กลับสักกี่ครั้งในวันนั้น ถ้าเป็นโรคเดียวกันก็ให้นับครั้งเดียวเท่านั้น ต่อเมื่อข้ามวันจึงจะนับครั้งใหม่ค่ะ

ด้วยเหตุว่าร่างกายเรามีระบบอวัยวะตั้ง 11 ระบบ  การเก็บข้อมูลผู้ป่วยนอกจึงจัดกลุ่มข้อมูลขึ้นใช้รวบรวมแทนการซอยนับโรคเป็นโรคๆเพื่อให้เห็นความป่วยที่เกิดขึ้นในภาพกว้างได้

การนับจำนวนโรคของผู้มาพักค้างในร.พ.เพื่อรักษาโรคนั้น มีการขึ้นทะเบียนการเข้าพักเหมือนการเข้าพักโรงแรม  แต่ละครั้งที่ลงทะเบียนนอนร.พ.จึงจะมีการออกเลขไว้นับจำนวนครั้งที่ลงทะเบียน  การพักค้างคืนในร.พ. ที่สิ้นสุดลงเมื่อผู้ป่วยหาย ทุเลา หรือ ขอกลับ หรือ หนีกลับ 

ข้อมูลของโรคที่จัดเก็บก็เป็นได้ทั้งกลุ่มข้อมูลหรือเก็บเป็นโรคๆแล้วแต่ความประสงค์จะนำไปใช้  

ข้อต่างจากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยนอก อยู่ที่ใน 1 วันมีการเก็บซ้ำได้ เพราะนับกันที่การลงทะเบียนเข้านอนร.พ. วิธีนับแต่ละโรคจึงคล้ายๆกับการนับ การ check-in โรงแรม  ที่ว่าเหมือน การนอนโรงแรม คือ การเข้าพักสิ้นสุดเมื่อคืนห้อง เมื่อเข้าพักใหม่แม้วันเดียวกัน  ก็ถือว่า check in ใหม่  การลงทะเบียนนอนร.พ.ของผู้ป่วยในก็เป็นเยี่ยงนั้นค่ะ

ข้อมูล 2 ส่วนต่างกันได้ค่ะ เพราะทั้ง 2 กลุ่มมีความหนัก-เบาของโรค ความยากของการรักาโรคในแต่ละครั้งไม่เท่ากันค่ะ

โดยทั่วไปข้อมูลของผู้ป่วยในจะช่วยขยายความชัดของปัญหาด้านความหนัก-เบาของโรคค่ะ

ข้อมูลของกรมการแพทย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคนป่วยที่เข้ารับการรักษากับร.พ.ในสังกัดกรมการแพทย์ค่ะ  ร.พ.ทั่วประเทศมีหลายสังกัดค่ะ เช่น สังกัดกระทรวงสาธารณสุข  (กรมการแพทย์เป็นหนึ่งกรมที่มีร.พ. แต่ก็มีกรมอื่นอีกที่มีร.พ.ในสังกัด เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) สังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นต้น 

Morbidity หมายถึงการป่วย เจ็บไข้

Mortality  หมายถึง การเสียชีวิตค่ะ

ขอขยายความประโยค "ข้อต่างจากการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยนอก อยู่ที่...."   เป็น  " ข้อต่างจากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยนอก ของข้อมูลผู้ป่วยใน อยู่ที่......"  แทนข้อความเดิมค่ะ จะได้ไม่สับสน

ข้อมูลจาก ICD10  เป็นข้อมูลที่จัดเก็บเป็นโรคๆตามรายละเอียดที่มีการให้นิยามไว้ตามรายละเอียดที่แยกย่อยของแต่ละโรค ซึ่ง 1 รหัสโรคใน ICD10 จะแบ่งกลุ่มย่อยไปอีก 9 กลุ่ม 

รหัสโรคตาม ICD10 ใช้ทั้งกับผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในค่ะ

หมอยกตัวอย่างง่ายๆนะค่ะ  อย่างเช่นที่มีลงหนังสือพิมพ์เรื่องคนป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากกินหน่อไม้ปี๊บที่จังหวัดน่าน  แล้วไม่รู้ว่ากินหน่อไม้ปี๊บ ก็จะวินิจฉัยว่า อุจจาระร่วงเฉยๆ  ก็จะมีรหัสตัวหนึ่งใช้สำหรับโรคอุจจาระร่วง  แต่ถ้ารู้ว่าเกิดจากเชื้อโรคอะไรในหน่อไม้ปี๊บ  ICD10 ก็จะมีคำขยายให้รู้ว่าจริงๆแล้ว อุจจาระร่วงนี้เกิดจากเชื้อโรคอะไร รหัสที่ให้ก็จะต่างไปไม่ใช่รหัสเดิม

ว่าให้ง่ายๆก็คือ ICD10 ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นถึงรายละเอียดการป่วย เป็นภาษาที่ใช้คุยกันในวงการแพทย์ค่ะ   ส่วนข้อมูลผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยในก็ใช้กันทั้งวงการแพทย์และวงการสาธารณสุขค่ะ

ข้อมูลด้านสาธารณสุขมีความซับซ้อน และจำเพาะอย่างนี้แหละค่ะ เวลาพวกหมอๆทำอะไรกันอยู่บ้าง เราเลยอธิบายเรื่องหมอๆไม่ได้ดี  เพราะเรื่องจำเพาะเยอะไปหมดนะค่ะ   

สวัสดีครับพี่หมอเจ๊

        ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากๆ เลยครับ ขอบคุณพี่มากๆนะครับ ทำให้เข้าใจภาระและความรอบคอบ ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับการแพทย์มากขึ้นครับ

        เป็นกำลังใจให้หมอไทย ที่ทำงานเพื่อส่วนรวมทุกท่านครับ

โชคดีตลอดไปครับ 

หนูของข้อมูล ค่ะ

โคลงเคลงนี้ ข้อควรระวังมีไรบ้างค่ะ

จากข้างต้นบอกประโยนช์

บอกดีว่าต้องทำรายงานหนู่หา ข้อควรระวังไม่เจอค่ะ

หากมีข้อมูลช่วยตอบกลับด้วยน่ะค่ะ

ขอบคุนมากๆๆ ค่ะ

พิมพ์ผิดค่ะ

พอดีว่าต้องทำรายงานหนู่หา ข้อควรระวังไม่เจอค่ะ

หากมีข้อมูลช่วยตอบกลับด้วยน่ะค่ะ

ขอบคุนมากๆๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท