จิตตปัญญาเวชศึกษา 48: นิยามมนุษย์ สมการมนุษย์ (???)


นิยามมนุษย์ สมการมนุษย์ (???)

ในการเขียน สร้าง หลักสูตร เพื่อการเรียน การสอน การอบรม สักหลักสูตรหนึ่ง ที่เราคุ้นเคยกันก็คือสูตร OLE (objective, learning experience, evaluation) คือมี วัตถุประสงค์การเรียน การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และการประเมินผล เป็น conceptual framework เบื้องต้น และโดยทั่วๆไป ยิ่งเราสามารถทำให้แต่ละหมวด แต่ละมิติ ชัดเจนมากเท่าไรยิ่งดี จะได้เกิดความเป็นสากลและเข้าใจตรงกัน เกิด "มาตรฐาน" เดียวกันได้

จริงเสมอไปหรือไม่?

เมื่อวันก่อน ผมสอนวิชา Principle of Palliative Care ให้แก่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 (ไม่ได้บรรยาย น่าจะเรียกว่าหล่อเลี้ยง โยนคำถาม กวนประสาท ฯลฯ) ใช้เวลาประมาณชั่วโมงสิบห้านาที สืบค้นตัวเอง ชีวิต ว่า เท่าที่ผ่านมา "เราเคยเข้าใจอะไรถ่องแท้ และชัดเจนจริงๆ ในเรื่องอะไรบ้าง?"

ผมชูแก้วกาแฟขึ้นมา "อืม.... กาแฟแก้วนี้อร่อยจัง" หันไปถามนักศึกษาแพทย์ (นศพ.) ที่นั่งรายล้อมอยู่ "เมื่อสักครู่นี้ ผมหมายความว่าอะไร?"

"กาแฟอร่อยครับ"

"กาแฟแก้วนี้อร่อยครับ"​ (คนตอบยิ้มเย้ยแก่คนตอบคนแรก นัยยะว่า "ฉันละเอียดกว่าแก")

"กาแฟแก้วนี้เข้มข้น กลมกล่อมค่ะ"

"กินแล้วกระชุ่มกระชวย"

"อาจารย์ชอบทานกาแฟค่ะ"

"อาจารย์ชอบทานกาแฟแก้วนี้ครับ"

..........

" OK ครับ นั่นเป็นความหมายที่เรารู้สึกได้ขึ้นมาทันที ที่เราได้ยินประโยคเมื่อตะกี้นี้ และโดยส่วนใหญ่ ความหมายที่เราได้มา (หรือแปลออกมา) ก็จะนำไปสู่พฤติกรรม หรือ กระบวนทัศน์ ชุดความคิดของเราใหม่ๆ แต่ละข่าวสาร แต่ละข้อมูลที่ผ่านประสาทการรับรู้ของเรา จะเกิดการแปล และตีความตลอดเวลา ทีนี้ผมจะพูดถึงคำสองคำ นั่นคือ อัตตวิสัย (subjective) และ ภววิสัย (objective) ที่เราอาจจะคุ้นเคยกันพอสมควร ในการเรียนนั้น เราคุ้นเคยกับการทำอะไร คิดอะไร ที่เป็นภววิสัย และพยายามลดอัตตวิสัยลง เพราะอัตตวิสัยนั้น เป็น "ตัวเราเอง" ที่เป็นคนแปล คนให้ความหมาย ซึ่งอาจจะบิดเบี้ยว ไม่ตรงกัน อย่าง "กาแฟแก้วอร่อย" ที่ผมพึ่งพรรณนาไปเมื่อสักครู่ ถ้าพวกเราบางคนเกิดอยากลอง ไปรินจากกระติกเดียวกันจิบดู​ เราก็จะเริ่มพบว่า "เอ...... อาจารย์พูดมาได้ยังไงว่าอร่อยเนี่ย รสชาติไม่เห็นได้เรื่องเลย" หรืออาจจะคิดเห็นด้วยว่า "อา... อร่อยจริงๆ" หรือบางคนก็อาจจะคิดว่า "อ๋อ..... อย่างนี้นี่เองที่คอกาแฟเขาเรียกว่าอร่อย" แล้วก็จำๆไปไว้ใช้ในอนาคต"

 ระบบเครือข่ายประสาท  (neuronet)

ในช่วงชีวิตของเรา เรามีเวลาไม่มากนักเมื่อคำนึงถึงปริมาณข้อมูลที่สมองของเราต้องคิดคำนวณ รับรู้ แปลความ ตัดสินใจ ดังนั้น สมองจึงจัดระบบให้เราจำเป็นต้องคิดน้อยที่สุด อะไรที่จัดเป็น autopilot ได้ ก็จะจัดแบบนั้นไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเกิด "ที่ว่าง" ที่จะคิดในเรื่องที่สำคัญๆ ที่ต้องตัดสินใจจริงๆภายหลัง ลองพิจารณาดู เช่น

แอปเปิ้ลหนึ่งลูก เราจะนึกถึงอะไรบ้าง?

"กลม แดง กรอบ ฉ่ำ อร่อย แพง โลตัส คอมพิวเตอร์ MacIntosh เขียว พาย ภัตตาคาร ฯลฯ...."

หรือ "เต่า" เรานึกถึงอะไร?

"กระต่าย (มีคนตอบอย่างนี้ทุกกลุ่มที่เคยถามมา.... น่าสนใจมากๆ) ช้า ตลก อายุยืน คลาน ตู้ปลา สี่ขา สีเขียว ดำ กระดอง หัวคอยืดได้หดได้ นีโม เหม็น รักแร้ ฯลฯ....."

set ของคำต่างๆด้านบน flash ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องคิดเสียด้วยซ้ำไป เพื่อที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจใน "แอปเปิ้ล" หรือ "เต่า" อย่างรวดเร็ว และเราจะได้สามารถตอบสนอง หรือมี reaction ต่อแอปเปิ้ล และเต่า ได้อย่างเหมาะสม เช่น เราก็จะไม่วิ่งหนีเต่าเหมือนอย่างเช่นที่เราอาจจะทำเมื่อเราเจอ "เสือ" ซึ่งจะมี set ความหมายผุดขึ้นมาอีกคนละชุดกัน

set ความหมายเหล่านี้ เปลี่ยนแปลงได้ตลอดชั่วชีวิต เพราะ "ประสบการณ์"

เมื่อเรามีประสบการณ์เพิ่มเติม บางครั้งเราก็จะไปปรับเปลี่ยนแปลงความหมายเดิมที่เคยมี เช่น อยู่มาวันหนึ่ง เราไปเจอเอา roll-on ยี่ห้อใหม่ มาใช้ดับกลิ่นเต่าของเรา ใช้แล้วรักแร้ขาวสะอาดเป็นประกาย ไร้กลิ่น หรือกลิ่นหอมยั่วยวนใจ อะไรก็แล้วแต่ คำว่า "เต่า" ที่บางคนเคยผูกสัมพันธ์กับกลิ่นเหม็น ก็เริ่มเปลี่ยน เปลี่ยนเป็นไม่เหม็นเสียแล้ว กลายเป็นของที่โชว์ได้ ไปไหนมาไหน ก็คอยจะชูแขน โชว์ความขาวสะอาดเป็นประกายของเต่า เต่าไม่เคยมีความหมายแบบเก่าอีกต่อไป!!!

ในสมองของเรามีเซลล์ประสาทอยู่ประมาณ 100 พันล้านเซลล์ หรือ ล้านล้านเซลล์ แต่ละเซลล์ประสาทมีจุดสื่อสารกับเซลล์อื่นๆ (synapse points) อยู่ประมาณ 100-1000 จุด ที่เป็นคล้ายๆสถานี จุดพ่วงโทรศัพท์ เมื่อเราเรียนรู้ และรับรู้อะไรก็ตาม แม้ว่าเซลล์ประสาทจะไม่ได้เพ่ิมหรือลดจำนวนลง แต่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของการเชื่อมโยงสอดประสาน ระหว่าง synnapse points ระหว่างเซลล์ประสาท ที่ทำให้ "set ข้อมูลที่จำเป็น" เชื่อมโยงถึงกัน และให้ชุดความหมายที่เรา "น่าจะใช้" ออกมาอย่างรวดเร็ว

(อ้างอิงจาก What the bleep do we know?) 

ชุดความหมายบางชุดถูกตอบย้ำแล้ว ย้ำอีก ก็จะยิ่งมีความเชื่อมโยงที่เข้มแข็ง มั่นคง ถาวรมากขึ้น เช่น ชื่อของเราแต่ละคน ถูกเรียกซ้ำๆมาตั้งแต่เด็ก จนในที่สุด มีเสียงแว่วๆ คล้ายๆชื่อเราปุ๊บ เราก็แทบจะหันตาม ชุดความหมาย หรือพฤติกรรมบางอย่างก็จางไปตามเวลา เช่น เราเคยสัญญาจะเขียนจดหมาย ติดต่อกับเพื่อนของเราตอนจบมัธยม ตอนแรกๆ เราก็ทำสม่ำเสมอ แต่ต่อๆมา ก็ค่อยๆห่างขึ้นๆ จนอาจจะลืมไปในที่สุด set ความหมายของชื่อเพื่อนคนนี้ ก็ค่อยๆลางเลือน จมลงไปในทะเลแห่ง information ในสมองของเรา

เวลาเราพูดถึง "ภววิสัย" หรือ objective meaning นั้น เราลดการใช้ "อัตตวิสัย" ลงไปบ้าง แต่ไม่ทั้งหมด และบางเรื่อง อาจจะเรียกว่ายากมากที่จะลดความเป็นอัตตวิสัยลง เรื่องราวแต่ละเรื่องมีศักยภาพที่จะมีความเป็นภววิสัยมากน้อยไม่เท่ากัน ในการทำเป็นภววิสัย เราใช้ "เกณฑ์" กลางที่ใครๆก็ "ดูเหมือนจะเข้าใจตรงกัน" เช่น โต๊ะตัวนี้ยาว 1 เมตร ก็อาจจะเพียงพอในการสื่อ เพราะคนเข้าใจว่า 1 เมตร น่าจะหมายความว่าอย่างไร

"จริงหรือ?"

บางคนอาจจะไม่ใช้หน่วยเมตร ใช้หน่วย คืบ วา ศอก ได้ไหมล่ะ? ใครถูก ใครผิดล่ะทีนี้? 

คุณภาพ ความหมาย ทุกอย่าง เป็น "ประสบการณ์" ดังนั้น ภววิสัยที่เราพูดๆกัน จริงๆแล้ว ก็คือ ประสบการณ์อะไรที่คนส่วนใหญ่มี "ร่วมกัน" ทำให้เราดูเหมือนว่าเรา share ความหมายเดียวกันอยู่นั้นเอง แต่ประสบการณ์จำนวนมากที่เราแต่ละคน ผ่าน เจอะ เจอ ในช่วงชีวิต และแต่ละคนได้ form สร้าง neuronet หรือ "ชุดความหมาย" ของประสบการณ์ของตัวเองขึ้นมาตลอดเวลา แม้แต่พี่น้องที่เติบโตมาในครอบครัวเดียวกัน คลานตามกันมาเลย ก็ยัง "มีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน" และจะให้ความหมายที่แตกต่างกันสำหรับของสิ่งเดียวกัน เรื่องราวเรื่องเดียวกัน 

ย้อนกลับไปที่หัวข้อเรื่องของเรา การสร้างหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยมี "วัตถุประสงค์การเรียน"  หรือเป้าหมายให้แพทย์ให้การดูแล หรือทำงานด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และในคำ "หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์" นี้ พวกเราทุกคนก็ "เกิดความรู้สึก" ลางๆเลือนๆ ว่ามันคืออะไร เกิดมี "ชุดความหมาย" หรือมี "set of memory" ที่เริ่มฉาย flash อยู่ในความทรงจำ ที่เรารำลึกได้ จำได้ ว่านี่แหละที่ฉันรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ ชีวิต humanity humility ขึ้นมา น้ำตาอาจจะเริ่มเอ่อคลอ ก้อนสะอื้นจุกอยู่ที่ลำคอ

ของใครถูก?

ของทุกคนกระมัง? เราทุกคนเมื่อได้ยินคำๆนี้ เราต่างก็มี set ความหมาย ชุดประสบการณ์ ที่เราจะ identify และเกิดกระบวนทัศน์ เกิดพฤติกรรม เนื่องเพราะอย่างน้อยที่สุด เราทุกคนก็เป็นมนุษย์ หรือเป็น "คน" กัน หรือไม่?

ในการหล่อเลี้ยง บ่มสร้าง และดึงเอา "คุณภาพที่ดีที่สุด ศักยภาพสูงสุด" ของนักศึกษาออกมา ไม่มีอะไรดีไปกว่าที่จะนำพาให้นักเรียนแต่ละคน สามารถผูกพัน มองเห็นรากเหง้าที่มาของตนเอง ความเป็นมนุษย์ของตนเอง และของงาน และทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆตัวเรา ประสบการณ์ทุกอย่างกำลังประกอบเป็นชุดความหมายของสิ่งทีเรากำลังจะเป็นในอนาคตทั้งสิ้น จาก ณ​ ปรัตยุบันกาลนี้เอง ที่เรากำลังเดินทาง ณ​ เวลานี้ ณ ที่นี้ ที่เราสามารถจะตื่นรู้ เข้าใจ และตั้งใจ ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ความเป็นมนุษย์ของเรานั้น "ชัดเจนและเข้าถึง" มากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ใคร หรือกลุ่มบุคคลใด จะหาญกล้ากำหนดนิยามของเรื่องจิตวิญญาณ เพราะนั่นจะเป็นการไม่เคารพต่อประสบการณ์ตรงที่สามารถแตกต่างหลากหลายได้ไม่มีวันจบสิ้น

แต่เราสามารถที่จะให้ความไว้วางใจ ในผลงานที่งอกเงยจากความรัก ความเข้าใจ ความปราถนาดีหล่อเลี้ยง ความเมตตากรุณาได้

ได้หรือไม่? 

 

หมายเลขบันทึก: 158205เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2008 03:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

P

Phoenix

 

ตอบคำถามของอาจารย์หมอ...

  • อาจจะได้
  • อาจจะไม่ได้
  • อาจจะได้ หรืออาจจะไม่ได้
  • อาจจะตอบไม่ได้
  • อาจจะได้ หรืออาจจะตอบไม่ได้
  • อาจจะไม่ได้ หรืออาจจะตอบไม่ได้
  • อาจจะได้ อาจจะไม่ได้ หรืออาจจะตอบไม่ได้

เลียนแบบมาจาก หลักสยาวาทของปรัชญาเชน ซึ่งบอกว่า การจะยืนยันหรือคัดค้านใดๆ ควรมีคำว่า อาจจะ ... เพราะจะได้ไม่เป็นการผูกมัดตัวเอง และเพราะสิ่งเดียวกันอาจมีหลายมุมมอง...

อาจกวนๆ สักหน่อย แต่ก็ตอบตามใจนึกขณะนี้ (.... )

เจริญพร 

นมัสการครับหลวงพี่

สมควรแล้วครับ ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์P

ขอตอบ สั้นๆว่า

ได้ค่ะ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะ ยังจะต้องมีปัจจัยอื่นๆมาร่วมด้วย นอกเหนือจากความรัก ความเข้าใจ ความปรารถนาดี ความเมตตากรุณาค่ะ

อาทิเช่น......

ช่วยต่อด้วยครับ คุณ sasinanda 

ขอบคุณค่ะอาจารย์

แต่ความคิดคนเราก็ไม่เหมือนกันนะคะ

ความคิดของดิฉันอาจจะเชยสุดๆก็ได้ ต้องขออภัยและช่วยชี้แนะด้วยค่ะ

คือ ที่บอกว่า ไม่ทั้งหมด คือ รู้สึกว่า คนเรา นอกจาก กาย ใจ แล้ว ยังต้องลึกซึ้ง ไปถึงขั้นจิตวิญญาณค่ะ

กรณีนี้ ดิฉันคิดเอาเองว่า..

1.ความรู้ มีอยู่แล้ว

2.ความจิตใจดี มีเมตตา มีอยู่แล้ว

3.คิดว่า ต้องมีความสามรถแก้ปัญหาอย่างฉลาด ปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์

 และสามารถคิดดักหน้า ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกวินาที ที่เรียกว่า อุบัติเหตุ

และจะแก้ไข อย่างไร ถ้าเกิด ความผิดพลาดขึ้น

4.ควรต้องมีการสื่อสารที่ดี ต่อคนอื่น ทั้งด้านภาษากาย และภาษาพูด

5.อาจต้องใช้เหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางตรรกะหรือทางวิทยาศาสตร์บ้าง หรือการคิดแบบ 360 องศา

แค่นี้ก่อนนะคะ เดี๋ยวจะเชย ไปมากกว่านี้ค่ะ

แปลกแต่จริงครับ บันทึกนี้มีเนื้อหาบางส่วน คล้ายกับบันทึกที่ผมเตรียมเขียนเกี่ยวกับการถอดบทเรียนตัวตนบนอินเทอร์เน็ตเหลือเกิน ทั้งๆที่ Palliative Care กับ ชีวิตออนไลน์ นั้นดูจะเดินไปคนละทาง (แม้จะนำไปสู่ความเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งคู่) ส่วนที่ hilight ป้ายสีเหลืองไว้ คือเรื่องของความไว้วางใจ ก็ยังเป็นเรื่องเดียวกันครับ 

มนุษย์เรียนรู้เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย ไม่ว่าเป้าหมายของแต่ละคนจะเป็นอะไรก็ตาม มนุษย์อาจรู้เองได้ อาจค้นพบองค์ความรู้ใหม่ได้

แต่หากข้อสรุปใหม่นั้น อิงอยู่บนพื้นฐานความรู้อื่น เราจะใช้่อื่นนั้นเป็นพื้นฐานได้อย่างไร หากเราไม่เข้าใจ ไม่เชื่อในพื้นฐานอันนั้น คำถามที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ถ้าเราไม่สามารถที่จะรู้เองได้ทุกเรื่อง เราจะเรียนรู้ได้อย่างไรถ้าไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อใจผู้อื่นเลย

ความสามารถในการเชื่อใจผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งของ self-esteem ซึ่งผมตั้งสมมุติฐานว่าสังคมไทยขาดเรื่องนี้มาก จึงไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ชักจูงได้ง่าย มีพฤติกรรมป้องกันตัวสูง กลัวไปหมด ไม่กล้ายืนหยัดอยู่บนความถูกต้อง แล้วคุณเบิร์ดเปิดประเด็นเป็นบันทึกคุณภาพ (น่าอ่านทุกความเห็นนะครับ ยาวมากแต่เป็นของดีทั้งนั้น)

คุณหมอคะ

ดิฉันย้อนกลับมาอีก ไม่ใช่อะไรค่ะ แต่จะบอกว่า ประทับใจเรื่องของ อิเมลด้า มากค่ะLetters to a Young Doctor: Imelda

เป็นเรื่องตัวอย่าง ที่สมบูรณ์แบบทีเดียว

ดิฉันจำได่ว่า แต่ก่อน นิยามของการเป็นแพทย์ มันลึกซึ้งกว่านี้มาก สำหรับชาวบ้าน หมอคือเทวดาค่ะ

แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยี่ใหม่ๆ ทำให้วงการแพทย์ มองข้ามเรื่องของจิตใจไป ดิฉันเห็นว่า ถ้าคนไข้ไปหาหมอ หมอ เอามือแตะตัวคนไข้อย่างอ่อนโยน กำลังใจมากมากกว่า 50 %แล้วนะคะ

การรักษาคนไข้ ต้องการทั้งความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และการบำบัดทางจิตใจด้วยแน่นอน หมอจึงต้องทั้งรักษาทั้งคนและทั้งโรคไปพร้อมกัน

เหมือนหมอเด็กรักษาเด็ก แต่ต้องรักษาอาการประสาท ของแม่ด้วย เพราะบางที แม่จะเป็นมากกว่าลูกเสียอีก

แต่เรื่องการสื่อสารกับคนไข้หรือญาติก้สำคัญมากๆค่ะ

ดิฉันเคยเห็นหมอกระดูกต่อนิ้วคนไข้ และให้พันผ้าไว้อย่างนั้น 3 วัน ไม่ให้เอาออก

แม่คนไข้ไปร้องเรียนว่า หมอไม่ดูแลเลย

ร้อนถึงหมอต้องกลับมาอธิบายว่า เป็นความตั้งใจของหมอเอง ที่ไม่ให้เอาผ้าออก หมอจะมาเอาผ้าออกให้เอง ไม่ได้ไม่เอาใจใส่

นี่ถ้า บอกให้เข้าใจตั้งแต่ตอนแรก ก็ไม่เสียความรู้สึกกัน

ในความเห็นส่วนตัวดิฉัน จึงมองว่า น่ามีส่วนประกอบปลีกย่อยอื่นๆประกอบกับการรักษาตามกระบวนทัศน์ใหม่

"หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์" ซึ่งก็คือ การผสมผสาน แนวการรักษาแบบดั้งเดิม ที่ให้การดูแลเอาใจใส่ ในการรักษาคนไข้อย่างอ่อนโยน ไม่ดุ ไม่ว่า

 กับแนวการรักษาแบบวิทยาการสมัยใหม่ด้วยค่ะ

แต่เราสามารถที่จะให้ความไว้วางใจ ในผลงานที่งอกเงยจากความรัก ความเข้าใจ ความปราถนาดีหล่อเลี้ยง ความเมตตากรุณาได้

ได้หรือไม่? 

  • เราหย่อนเมล็ดพันธุ์ใด เราย่อมได้ต้นพันธุ์นั้น
  • หากแต่ว่า เราไม่ควรคาดหวัง ถึงรสชาต ความสมบูรณ์ของต้น ดอก ใบ เพราะนั่น มีปัจจัยอีกมากมายที่เราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด
  • ยิ่งใน "คน" ด้วยแล้ว แต่ละคนเขาย่อมมี set of memory หรือ โลกทัศน์ การใส่ใจ ความคิดยึดติด ในแบบ หรือตามลักษณ์ (ทฤษฎีนพลักษณ์) ของตนเอง
  • หน้าที่ของเรา คือ ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ความเข้าใจ ความปรารถนาดี ความเมตตากรุณา ลงไปในแต่ละบุคคลที่เราเกี่ยวข้องด้วย ...... เท่านั้น ความคาดหวัง ต่อความไว้วางใจในผลได้ เป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องละวางลง ปล่อยให้เป็นไปตาม เหตุ และปัจจัยค่ะ

สวัสดีครับ คุณอัญชลี

ในขณะที่เราไม่พึงคาดหวัง แต่เรายังคงมีความหวังได้ ใช่ไหมครับ (do not expect; just hope)

คนเราทุกชุมชน ทุกเผ่า มี archytype ต่างๆเพื่อเป็น "ศักยภาพ" ที่จะตอบสนองต่อเหตุการณ์ สถานการณ์ ร้อยแปดพันประการ อย่างไหนที่ "ถูกจริต ถูกฝึกซ้อม และเพิ่มคุณค่าของตัวเรา" ยิ่งอยากทำ ยิ่งชำนาญ ชำชอง อย่างไหนทีไม่ถูกจริต ไม่ใคร่ได้ทำ ไม่เห็นคุณค่า ก็จะไม่ถนัด ไม่เก่ง และไม่ค่อยอยากจะทำ

แต่ตัว archetype เหล่านี้ เป็นเพียง neutral energy และเราเองที่เป็นคนให้ (ตั้งใจ/ไม่ตั้งใจ) คุณค่า หรือ label ไปว่า "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" ตัวเรา

ผมหวังว่าเราทุกคนสามารถถึงพร้อมซึ่งศักยภาพแห่งมนุษย์ โดยไม่ได้ติดอยู่ที่กรอบความคิด หรือ mind barrier ว่าเราสามารถหรือทำอะไรได้ และเราไม่สามารถหรือทำอะไรไม่ได้

อันนี้น่าจะเป็น self learning คงจะไม่เกี่ยวกับคนอื่นที่อยากจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนตัวตนของเรา และที่สุดแล้ว เราก็จะได้และเป็น อะไรที่เราถูกออกแบบมาแต่เริ่มแรก

รึเปล่า?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท