ข้าวถัก:สื่อพื้นบ้านล้านนา


ข้าวถักจึงเป็นสื่อพื้นบ้านที่ยังคงอยู่ในสังคมล้านนาแม้จะมีรูปแบบ ความเชื่อ วิถีของการใช้สื่อที่แตกต่างไปบ้างจากอดีต แต่ถือว่าเป็นการปรับประยุกต์ของสื่อเพื่อให้สามารถดำรงสภาพของตนในสังคมยุคดิจิตอลได้

ข้าวถัก คือ การถักร้อยเรียงเมล็ดข้าวเปลือกขนาดเมล็ดเท่ากันจำนวนหลายเมล็ดอย่างเป็นระเบียบด้วยด้ายหลากสีแล้วนำมาล้อมรอบเหรียญเงินชนิดต่าง ๆ ประกอบกันเป็นต้นวงไหว จัดทำเพื่อนำไปถวายวัดเพื่อเป็นพุทธบูชาในโอกาสที่มีงานประเพณีเกิดขึ้นในล้านนา เช่น งานปอยหลวง งานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า เป็นต้น นอกจากนี้การถักด้วยด้ายสีเหลืองล้อมเหรียญเงินมักจะนำมาทำเป็นต้นฉัตรทอง ส่วนที่ถักด้วยด้ายสีขาวจะนำมาทำเป็นต้นฉัตรเงิน ในขนาด ๓ ชั้น, ๕ ชั้น, ๗ ชั้นและ ๙ ชั้น เป็นต้น มีความเชื่อว่าผู้ใดก็ตามที่ทำหรือถวายข้าวถักเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้า จะได้รับอานิสงส์ผลบุญ จะมีโภคทรัพย์มหาศาลและจะมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เปรียบดั่งเมล็ดข้าวเปลือกที่ตกลงบนพื้นดินแห่งใดก็ตาม มักจะเจริญงอกงาม สร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่ผืนดิน และการให้ข้าวถักเป็นของที่ชำร่วยในงานแต่งงาน ก็มีความเชื่อว่าจะทำให้คู่สมรสมีชีวิตคู่ที่ยั่งยืน ไม่พลัดพรากจากกัน

  ผู้เขียนได้อาศัยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ พูดคุยกับภูมิปัญญาชาวบ้านคือ    แม่อุ้ยแก้วเรือน ดีมงคล  ชาวบ้านชุมชนวัดช้างค้ำ  ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งเปิดร้านขายสินค้าข้าวถัก ให้นักท่องเที่ยวบริเวณวัดช้างค้ำ (เขตเวียงกุมกาม)ได้ข้อมูลดังนี้

               ด้านของผู้ส่งสาร  ในอดีตนั้นมี  ผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว  พ่อแม่  ญาติผู้ใหญ่  พี่  หรือบุคคลอื่นในครอบครัวที่มีอาวุโส เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในการทำข้าวถักให้แก่ลูกหลาน ตลอดจนใช้ช่วงเวลาในการทำข้าวถักนั้น อบรม แนะนำ สั่งสอน  สอบถามสารทุกข์สุกดิบ และเล่าเรื่องต่างๆให้ลูกหลานฟังระหว่างทำการถักข้าว และในโอกาสวันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนา ก็จำนำข้าวถักที่จัดทำเป็นพุ่ม เป็นฉัตรของครอบครัวไปถวายวัด

                ด้านเนื้อหา   ในอดีต  กระบวนการทำข้าวถักจะใช้วัสดุธรรมชาติ ได้แก่ ข้าวเปลือก  เส้นฝ้ายสีขาวหากต้องการสีสันก็นำมาย้อมสีธรรมชาติ และใช้เหรียญที่เรียกว่าสตางค์แดง(มีรูตรงกลางเหรียญ) ในการถักร้อยเรียงเมล็ดข้าวเปลือกขนาดเมล็ดเท่ากันจำนวนหลายเมล็ดอย่างเป็นระเบียบด้วยด้ายแล้วนำมาล้อมรอบเหรียญเงินชนิดต่าง ๆ ประกอบกันเป็นต้น จัดทำเพื่อนำไปถวายวัดเพื่อเป็นพุทธบูชาในโอกาสที่มีงานประเพณีเกิดขึ้นในล้านนา เช่น งานปอยหลวง งานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการถักด้วยด้ายสีเหลืองล้อมเหรียญเงินมักจะนำมาทำเป็นต้นฉัตรทอง ส่วนที่ถักด้วยด้ายสีขาวจะนำมาทำเป็นต้นฉัตรเงิน ในขนาด ๓ ชั้น, ๕ ชั้น, ๗ ชั้นและ ๙ ชั้น เป็นต้น มีความเชื่อว่าผู้ใดก็ตามที่ทำหรือถวายข้าวถักเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้า จะได้รับอานิสงส์ผลบุญ จะมีโภคทรัพย์มหาศาลและจะมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เปรียบดั่งเมล็ดข้าวเปลือกที่ตกลงบนพื้นดินแห่งใดก็ตาม มักจะเจริญงอกงาม สร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่ผืนดิน และการให้ข้าวถักเป็นของที่ชำร่วยในงานแต่งงาน ก็มีความเชื่อว่าจะทำให้คู่สมรสมีชีวิตคู่ที่ยั่งยืน ไม่พลัดพรากจากกัน             

               ด้านช่องทาง ในอดีตการทำข้าวถักจะเป็นกิจกรรมเฉพาะในครัวเรือน ทุกครอบครัวจะทำกันเอง มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง   และจะทำไว้ใช้ในกิจการพระศาสนา คือวันสำคัญต่าง เท่านั้น

                ด้านผู้รับสาร ในอดีต คือบุคคลในครอบครัว  คนในชุมชนที่เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา จะซึมซับเอาความใกล้ชิดกับพระศาสนา กับความเชื่อ รวมทั้งเป็นการฝึกลูกหลานให้เป็นคนมีสมาธิ  ความประณีต ละเอียดอ่อน ความเป็นคนช่างสังเกต  และมีความอดทนสูง ซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญที่ควรมีในตนเอง โดยใช้การทำข้าวถักเป็นสื่อหล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว และยังเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และกับคนในชุมชน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกื้อกูลและให้การช่วยเหลือกัน อยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรเป็นสุข

                 ส่วนในปัจจุบัน เมื่อสอบถามจากแม่อุ้ย ทราบว่า มีความแตกต่างกับในอดีตหลายประการดังนี้

                  ด้านของผู้ส่งสาร ปัจจุบันนั้น นอกจากบุคคลในครอบครัวแล้ว จะมีพ่อครูแม่ครู ที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ไม่ใช่ญาติเป็นผู้ถ่ายทอด  ผู้ถ่ายทอดจะเป็นผู้สูงอายุ  หรือครูที่โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาก็มีคนไปเรียน และนำมาทำขายประกอบอาชีพ กลุ่มวัยทำงานมีน้อย ส่วนกลุ่มวัยรุ่นที่โตๆแทบไม่มี  มี นักธุรกิจ นักออกแบบ ที่เข้ามากำหนดรูปแบบ  ขนาด  ปริมาณ คุณภาพ ในเชิงธุรกิจ มากขึ้น

                ด้านเนื้อหา ปัจจุบัน รูปแบบมีความหลากหลายมากขึ้น  วัสดุที่ใช้นอกจากวัสดุธรรมชาติ ก็จะมีพวกไหมพรม ที่ไม่ต้องย้อม แผ่นเงินผสมดีบุกที่แกะสลักเป็นลวดลาย รูปภาพพระ บุคคล หรือ ในหลวงหรือเทพ ต่างๆ มาใช้ประกอบเพื่อให้มีความหลากหลาย เกิดรูปแบบใหม่ที่ไม่เกี่ยวพันกับศาสนา เช่นทำเป็นพวงกุญแจ ประดับปิ่นปักผม ทำสำหรับห้อยคอคล้ายพระ หรือห้อยหน้ารถ เป็นต้น ตามจินตนาการของคนทำ ความเชื่อต่างๆยังคงมีอยู่ แต่คนรุ่นใหม่ไม่ทราบความหมาย  ทราบเพียงกรรมวิธีการทำ รูปแบบ และมีการเพิ่มความเชื่อเรื่อง แคล้วคลาดปลอดภัย มุ่งความสวยงามและประดับตกแต่งมากกว่าความเชื่อทางศาสนา   

                ด้านช่องทาง  ยังคงมีการใช้ข้าวถักในกิจกรรมทางศาสนาอยู่  แต่มีน้อย ไม่ค่อยพบเห็น จะเน้นในการจัดทำทางธุรกิจเพื่อจำหน่าย เพื่อความสวยงาม ปรับรูปแบบจากสื่อพื้นบ้าน ไปเป็นสินค้าท้องถิ่นมากกว่า                 

                  ด้านผู้รับสาร คนในครอบครัวเรียนรู้น้อยลง  เนื่องจากมีภาระด้านการเรียน ส่วนมากเรียนรู้เพื่อทำขาย  แต่มีกลุ่มคน นักเรียน จากภายนอกชุมชนมาเรียนรู้มากขึ้น แต่เป็นเรื่องของรูปแบบ กรรมวิธีการผลิตเท่านั้น ไม่เน้นเรื่องคุณค่า ความเชื่อ

                   ข้าวถักจึงเป็นสื่อพื้นบ้านที่ยังคงอยู่ในสังคมล้านนาแม้จะมีรูปแบบ ความเชื่อ วิถีของการใช้สื่อที่แตกต่างไปบ้างจากอดีต แต่ถือว่าเป็นการปรับประยุกต์ของสื่อเพื่อให้สามารถดำรงสภาพของตนในสังคมในยุคดิจิตอลได้

หมายเลขบันทึก: 158083เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2008 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

กำลังสะสมภูมิปัญญาเรื่องข้าวอยู่พอดี

ไม่เคยรู้จักข้าวถักมาก่อนเลยครับ อาจารย์วิเคราะห์ได้ละเอียดน่าสนใจมากครับ เสียดายนะครับไม่มีภาพมาประกอบ

 

ไปเรียนทำมาเมื่อวาน กับแม่ครูลัย สอนดีคุยสนุก ทำเป็นแล้ว ชอบมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท