ฟัง พูด กับเขียนอย่างไหนสำคัญกว่ากัน


ทุกวันนี้ ดิฉันใช้เวลาพูดมากกว่าเขียน  เนื่องด้วยงานที่ทำเป็นประจำในปัจจุบัน เป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลในที่ทำงานเป็นจำนวนมากและหลากหลาย  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขปัญหา  สร้างความเข้าใจ  จึงต้องฟังอย่างตั้งใจ เย้ายวนให้พูด ให้คุย ให้เสนอแนะ  และตอบข้อปัญหาหรือแนะแนวทางแก้ไข เรื่อยไปถึงปลอบใจ

เวลาเพื่อการฟัง กับ พูด ก็พอใกล้เคียงกัน แต่เวลาเขียน (เช่นเขียน Blog แต่ละวัน) จะน้อยลง เพราะฟังและพูดมาทั้งวันซะเหนื่อยแล้ว กลับถึงบ้านก็หมดแรง นอนดีกว่า ทั้งที่ดิฉันก็ชอบเขียนเหมือนกัน

โชคดีที่ดิฉันมีเลขาฯ ที่สมบูรณ์แบบ (คุณอนุวัทย์   เรืองจันทร์) เป็นผู้มีความสามารถในการสรุปความได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องเล่าใน Blog อย่างสม่ำเสมอและรวดเร็วทันใจ ดังนั้น ชีวิตการทำงานของดิฉันจึงอยู่ใน Blog ของสำนักงานเลขานุการคณะสหเวชฯ ไม่น้อยทีเดียว

การพูด นอกจากจะสามารถสื่อความด้วยถ้อยคำ และสำเนียงเสียงสูง ต่ำ ตลอดจนเสียงอุทาน ยังสามารถแสดงภาษากายประกอบ อัตราเร็วในการสื่อก็สูงกว่าการเขียน (โดยเฉพาะแบบจิ้มดีด) อีกหลายเท่า

เพราะฉะนั้น Blog อย่าน้อยใจนะค่ะ เพราะดิฉันเลือกที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ฟังและพูดมากกว่าเขียน  ดิฉันสามารถจัดการความรู้ในตัวคน จัดการความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  จัดการปัญหาและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า  เมื่อใช้วิธีพูดแทนที่จะสั่งหรือสื่อด้วยลายลักษณ์อักษรในหลายๆ เรื่อง

ข้อดีของการเขียน คือ มีเวลาได้ตรึกตรอง  วิเคราะห์  ทบทวน ให้รอบคอบ ก่อนที่จะคิดทำอะไรต่อไป เช่นเรื่อง AAR หลังทำกิจกรรม ให้พูด AAR สดๆ ไปแล้ว และกลับมาเขียน AAR อีกที จะเขียนได้แจ่มแจ้งขึ้น สละสลวยขึ้น  อ้อ! และกันลืมได้

อย่างเช่น การเขียนคราวนี้ ดิฉันจั่วหัวเรื่องไว้ว่า ฟัง  พูด  กับเขียนอย่างไหนสำคัญกว่ากัน กะว่า จะเปิดประเด็นอภิปรายกับตนเองและผู้สนใจ แต่พอเขียนมาถึงบรรทัดนี้ ดิฉันก็เหมือนคิดไปเขียนไปจนได้คำตอบบางส่วนว่า ฟัง  พูด  กับเขียน สำคัญพอๆกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ

  1. ตำแหน่งหน้าที่การงาน : ถ้าเป็นผู้บริหารก็ควรฟังและพูดให้มาก  ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติก็น่าจะหัดเขียนให้มาก
  2. กาละ  เทศะ : ถ้าเป็นเรื่องรีบด่วนต้องแก้ไขทันที ก็ควรสื่อด้วยการพูด ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณา ก็ควรสื่อด้วยการเขียน  
  3. คนที่รับข้อมูลจากการสื่อ : ถ้าเป็นคนที่เข้าใจได้ง่าย ก็ทุ่นเวลาด้วยการเขียนบอกเพียงไม่กี่คำก็เข้าใจ  แต่ถ้าคนที่เข้าใจอะไรได้ยาก ต้องอธิบายอย่างละเอียดจึงจะเข้าใจ ควรใช้วิธีฟังและพูด
  4. ความสัมพันธ์ :  ถ้าแบบห่างๆหรือยังไม่แน่ใจก็เขียน ถ้าแบบสนิทสนมก็คุยได้เลย

 

จะว่าไปแล้ว เหมือนดิฉันกำลังจะหาข้อแก้ตัวให้กับตนเองว่า

ทำไมดิฉันถึงเขียน Blog น้อยลง

น่าจะใช่จริงๆ  เลวร้ายมาก

ดิฉันไม่ควรใช้วิธีการเขียนเป็นเครื่องบังหน้า

ดิฉันยังต้องหมั่นเพียรหัดเขียนให้มากกว่านี้

ใช่....ยังดีที่รู้สำนึก ตอนจบ

 

 

หมายเลขบันทึก: 15633เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อาจารย์คะ ทุกวันหนูจะเปิด blog ก่อนทำงาน และอ่านแบบผ่าน ๆ มีข้อเขียนไหนที่สนใจก็จะ ตัดแปะไว้ในที่ที่เปิดอ่านได้สะดวก ๆ เพราะบางครั้ง gotoknow ก็เข้ายาก วันนี้เปิดมา เจอชื่อเรื่องที่อาจารย์ตั้ง  สนใจในทันที แอบๆ เดาว่าน่าจะอาจารย์มาลินีเขียนแน่ ๆ เลย จึงเปิดอ่านดู ไอหย่า  จริง ๆ ด้วยทำไมเราเดาถูก  เกิดคำถาม six sense มีจริงหรือไม่  สำหรับฟัง พูด อ่านเขียน การเขียนจะใช้ทักษะการสื่อสารที่สูงส่ง เพราะการเขียนจะแพร่หลายไปสู่สาธารณชน โดยเราควบคุมไม่ได้ เราควบคุมคนอ่าน คนตีความก็ไม่ได้  ในขณะที่การพูด เราสามารถคอนโทรลบรรยากาศ รู้กลุ่มคนฟัง เผยแพร่เฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง ๆ  การเขียนจึงยากสุด เพราะเขียนแล้วก็หมายความเช่นนั้น ทันที ค่ะ 

ได้กำลังใจจากผู้บริหาร ทำให้ตัวเองต้องตั้งใจทำงานให้มากขึ้น ความจริงไม่อาจรับคำพูดที่ว่าเลขาฯ สมบูรณ์แบบจากอาจารย์ได้ เพราะตัวเองยังมีอะไรต้องปรับปรุงอีกเยอะ วันพรุ่งนี้ความจริงทางสภาข้าราชการและลูกจ้างมน. ได้ขออนุมัติให้คณะกรรมการสภาข้าราชการฯ เดินทางไปราชการ เพื่อศึกษาดูงาน ณ มหาวิทยาลัยบูรพา แต่ผมได้ปฏิเสธไป เพราะเกรงใจท่านคณบดีจริง ๆ เนื่องจากตัวเองยังมีภาระงานที่คณะอยู่เยอะ ยังค้างงานท่านคณบดีหลายอย่าง สิ่งสำคัญที่ผมได้ฟังคำพูดจากท่านคณบดีแล้วรู้สึกอบอุ่น คือ ท่านบอกตอนเย็นไม่ต้องอยู่เย็นหรอก ให้กลับบ้านไปเถอะ อยู่กับครอบครัวบ้าง

คุณเมตตาคะ

ดิฉันมีความเชื่อเรื่องสัมผัสที่ 6 เหมือนกันค่ะ  อย่างเช่นเรื่องถูกชะตาเนี่ยก็เป็นเรื่องแปลก เพียงแค่สบตา  หรือได้ยินเสียงพูด (ที่ไม่ได้พูดกับเราโดยตรง) หรือเพียงได้อ่านข้อความที่ส่งมาให้  ก็รู้สึกในใจได้ว่ามีคลื่นที่มองไม่เห็นแผ่สร่านออกมาสัมผัสที่ใจของเรา สื่อสารให้รู้ว่า คนคนนี้นะ ช่างถูกชะตาเราชะมัด  ดิฉันรู้สึกเช่นนี้จริงๆ กับคุณเมตตาตั้งแต่แรกพบที่ มอ.แล้วหล่ะค่ะ

กับคุณบอย หรือทุกคนในหน่วยงาน สิ่งที่ดิฉันให้ความสำคัญที่สุดขณะนี้คือการสื่อสาร และการเฟ้นหาส่วนดีๆ หรือจุดเด่นของบุคลากรในหน่วยงานแต่ละท่านออกมา  แล้วส่งเสริมให้เจริญงอกงามยิ่งๆขึ้น เพราะดิฉันมีความเชื่อว่า ทุกคนเป็นคนดี และมีศักยภาพซ่อนเร้นอยู่ในตัวมากมาย โดยที่บางครั้งตนเองก็ยังมองไม่เห็น เชื่อเถอะค่ะว่า คุณบอย เป็นเลขาที่ดี ที่หาตัวจับยาก

ธนพร (สำนักหอสมุด ม.นเรศวร)
อาจารย์คือ แบบของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ดิฉันชื่นชม  พอมาได้อ่านตรงนี้ยิ่งทำให้เกิดความตระหนักว่า ฟัง พูด และเขียน ในฐานะผู้ปฏิบัติอะไรสำคัญ ทั้งๆ ที่ ฟัง พูด และเขียน เป็นกิจวัตรประจำวันที่ทุกคนต้องเจอค่ะ ได้แนวคิดดีๆ จากอาจารย์อีกแล้วค่ะ  ดิฉันเห็นด้วยที่ผู้ปฏิบัติต้องหัดเขียนให้มากโดยเฉพาะการเขียน AAR ดิฉันจะพยายาม

หนูได้ยินชื่ออาจารย์มาหลายครั้งแล้วค่ะ  ว่าเป็น กูรู ทางด้าน KM  หนูพยายามอ่าน blog ของอาจารย์บ่อยๆ เพราะหนูกำลังสนใจเรื่อง KM และอยากศึกษาให้ลึกซึ้งกว่านี้  ตอนนี้กำลังหาหนังสืออ่านอยู่ค่ะ  แต่หายากจังเลย  หากอาจารย์มีหนังสือดีๆที่จะแนะนำ หนูก็ยินดีนะคะ   หนูเพิ่งเริ่มเขียน blog ได้ 2 วันเองค่ะ  ใช้ชื่อว่า bangpun อยากแลกเปลี่ยน และ แบ่งปัน เรื่องราวดีๆ ให้เพื่อนๆ blog ให้อ่านกัน  นี่ก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งในเรื่องของการเขียน  จริงๆแล้วหนูถนัดเขียนมากกว่าพูด  เพราะหนูเป็นคนไม่ค่อยกล้าแสดงออกเท่าไร  มีอะไรก็จะเขียนซะมากกว่า  แต่หนูเริ่มจะชอบการพูดขึ้นมา ก็ตอนไปสัมมนา CKO รุ่น 3 ที่ทรัพย์ไพรวัลย์  เพราะตลอดการสัมมนา อ.วิบูลย์ให้พูด ให้แสดงความรู้สึก  ให้เล่าเรื่องราวแลกเปลี่ยนกันตลอด  ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญของ KM ใช่ไม๊คะ  แต่สิ่งที่หนูรักและถนัดที่สุดคือการอ่านค่ะ  หนูชอบอ่านหนังสือมาก  หนูว่ามันทำให้หนูฉลาด แล้วก็คิดอะไรที่ซับซ้อน และเป็นระบบมากขึ้น  หนูอ่านหนังสือทุกประเภท  เพราะทุกเรื่องมันมีอะไรแฝงอยู่ในนั้น ให้เราเอามาขบคิดได้เสมอ  เขียนเยอะเกินไปแล้ว  อาจารย์ขี้เกียจอ่านหรือยังคะ พอแค่นี้ก่อนดีกว่าค่ะ  ไม่รบกวนแล้วนะคะ  อ๋อ อีกเรื่องคือการฟัง  หนูพยายามจะเป็นผู้ฟังที่ดีอยู่ค่ะ เพราะเป็นคนสมาธิสั้น ฟังอะไรได้ไม่ค่อยนาน แต่ฝึกอยู่ค่ะ  ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้ว

โอ้โฮ ยกย่องเกินไปแล้วละค่ะ  อีกอย่าง คำว่า กูรู นี้ สามารถเพี้ยนเป็น กูรู้  ได้โดยง่าย ซึ่งดิฉันไม่อยากเป็นเช่นนี้

คุณชาลิสา เล่าเรื่องได้สื่อดีมากนะค่ะ  เป็นธรรมชาติ เป็นตัวของตัวเอง อ่านแล้วให้ความรู้สึกคุ้นเคย สนิทสนมเป็นกันเอง  และสามารถผูกกับเรื่อง เขียน  พูด  อ่าน  ฟัง ได้ครบถ้วนกระบวนความ

อย่างงี้ หากเขียน Blog บ่อยๆ คงมีคนติดงอมแงม เขียนต่อไปอีกนะค่ะ ดิฉันคนหนึ่งหละที่จะติดตามเสมอ

สำหรับหนังสือเกี่ยวกับ KM ดิฉันพอมีข้อมูลอยู่บ้าง เป็นโอกาสดีเลยค่ะ เหมือนคุณชลลิสาช่วยจุดประกายความคิดให้ดิฉัน  ดิฉันจะพยายามรวบรวม นำเสนอใน Blog ของดิฉันเท่าที่จะทำได้ ติดตามนะค่ะ  อ้อ! บางเล่ม ไม่ต้องซื้อหาก็ได้ คณะสหเวชฯ ไม่ไกลกัน หรือหน่วยประกันฯ มน. ก็เป็นแหล่งให้หยิบยืมกันได้ค่ะ (ขอถือวิสาสะ ทำตัวเป็นคนหน่วยประกันฯ เฉยเลย)    

ขอบคุณอาจารย์ มาลินี นะคะ ที่ช่วยแสดงความคิดเห็น  และชมซะเขินเลย  หนูจะพยายามเขียน blog  บ่อยๆ ที่เท่าจะทำได้  เรื่องราวดีๆ เราต้องมีไว้แบ่งปัน จริงไม๊คะ   

อ.มาลินี คะ

การมีทีมงานที่ได้ดั่งใจเป็นลาภอันประเสริฐของผู้บริหาร เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะผู้บริหารจะได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ กับการมองไปข้างหน้า การวางกลยุทธ์ขององค์กร ไม่ต้องมากังวลกับเรื่องอื่นๆ  แต่ที่ประเสริฐกว่าคือการมีหัวหน้าที่สามารถเห็น จุดเด่น ดึงจุดเด่น เลือกใช้ความเด่นของทุกคนเพื่อรวมพลังให้งานสำเร็จ ทุกคนจะมีความสุข สำเร็จไปด้วยกัน สู่จุดมุ่งหมายเดียวกันพร้อม ๆ กัน  ทุกคนจะรู้สึกมีคุณค่า ไปพร้อมกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท