เคล็ดลับในการสร้างเด็กเก่ง (เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์)


เคล็ดลับในการสร้างเด็กเก่ง

คำใบ้ : อย่าบอกเด็กว่าเขาเป็นคนเก่ง จากผลวิจัยกว่าสามทศวรรษแสดงให้เห็นว่า การเน้นไปที่ความพยายาม -ไม่ใช่ที่อัจฉริยะภาพหรือความสามารถพิเศษ- เป็นกุญแจไขสู่ความสำเร็จในการศึกษาและในชีวิต

โดย ศาสตราจารย์ แครอล เอส ดเว็ก ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) 

โจนาธานเป็นนักเรียนที่ยอดเยี่ยมมาตลอดช่วงที่ศึกษาในโรงเรียนประถม เขาสามารถทำการบ้านเสร็จอย่างง่ายดายและส่งงานสม่ำเสมอ โจนาธานมักจะสงสัยว่าทำไมเพื่อนของเขาถึงทำไม่ได้อย่างเขา ขณะที่ผู้ปกครองของเขาชอบบอกว่าเขามีพรสวรรค์พิเศษ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงชั้น ม.1 โจนาธานได้สูญเสียความสนใจในโรงเรียน เขาไม่ยอมทำการบ้านหรืออ่านหนังสือสอบ ส่งผลให้เกรดของเขาตกต่ำลงอย่างกระทันหัน ผู้ปกครองของเขาพยายามที่จะกระตุ้นความเชื่อมั่นของลูกชายโดยการยืนยันว่าเขาเป็นเด็กพิเศษ แต่ความพยายามของพวกเขาก็ไม่เป็นผลที่จะกระตุ้นโจนาธานผู้ซึ่งถูกแยกออกจากเด็กคนอื่น ลูกชายของยังคงยืนกรานว่าการบ้านเป็นเรื่องน่าเบื่อและไร้สาระสังคมของเรานิยมชมชอบการบูชาผู้ที่มีความสามารถพิเศษ และหลายคนสรุปเองว่าการที่มีสติปัญญาหรือความสามารถสูงส่งเหนือกว่าผู้อื่น รวมทั้งมีความเชื่อมั่นในความสามารถพิเศษเหล่านั้น จะเป็นสูตรจำเพาะของการประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ความจริงแล้ว จากผลการศึกษาติดตามทางวิทยาศาสตร์กว่า 30 ปีได้แสดงให้เห็นว่า การที่ไปเน้นเรื่องความเฉลียวฉลาดหรือความสามารถมากเกินไปได้ทำให้คนพิเศษเหล่านี้เปราะบางต่อความล้มเหลว มีความหวาดกลัวต่อสิ่งท้าทายต่างๆ และไม่อยากที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของพวกเขาผลการศึกษานี้เห็นได้ชัดเจนในกรณีของเด็กอย่างโจนาธาน ผู้ซึ่งผ่านช่วงประถมวัยมากับการปลูกฝังผิดๆ ว่า การที่พวกเขาประสบความสำเร็จทางการศึกษาได้โดยไม่ต้องอาศัยความอุตสาหะพยายาม เป็นตัวบ่งบอกว่าเขาเป็นเด็กเก่งหรือเป็นเด็กมีพรสวรรค์ เด็กพวกนี้จะจำฝังใจว่าอัจฉริยะภาพเป็นสิ่งที่มีอยู่เฉพาะในตนเองและจะคงอยู่ไม่มีเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ความพยายามขวนขวายเล่าเรียนดูจะมีความสำคัญน้อยกว่าการเป็นคนฉลาด (หรือดูเป็นคนฉลาด) ความเชื่อนี้ยังทำให้พวกเขามองเห็นว่า ความท้าทาย หรือความผิดพลาด และแม้แต่ความจำเป็นที่จะต้องลงทุนลงแรงทำงานเป็นสิ่งที่คุกคามต่ออัตตาของพวกเขา มากกว่าจะเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตนเอง และสิ่งนี้เองที่จะทำให้เขาสูญเสียความเชื่อมั่นและแรงจูงใจในการทำงานเมื่อพบว่างานที่ได้รับมอบหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเขาอีกต่อไปการยกย่องในความสามารถฝังลึกที่เด็กพวกนี้มีเหมือนอย่างที่พ่อแม่ของโจนาธานได้ทำไป จะกลายเป็นตัวตอกย้ำความฝังใจดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่แค่กับเด็กพิเศษที่ยังจะเป็นอุปสรรคต่อคนอื่นๆ เช่น นักกีฬารุ่นเยาว์ กำลังคนในหน่วยงาน หรือแม้แต่ชีวิตสมรสไม่ให้ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้าม ผลการศึกษาของเรากลับแสดงให้เห็นว่าการสั่งสอนผู้คนให้มีแนวคิดเป็นผู้ใหญ่ที่โตแล้ว โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนไปที่ความอุตสาหะพยายาม มากกว่าเน้นความเฉลียวฉลาดหรือความสามารถพิเศษต่างหาก ที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จสูงในการศึกษาเล่าเรียนและในชีวิตจริง

โอกาสดีที่จะรู้จักล้มดิฉันได้เริ่มต้นศึกษาวิจัยหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้แรงจูงใจของมนุษย์ ดังเช่นว่า คนเราจะเกิดความพยายามขึ้นได้อย่างไรภายหลังจากที่ประสบความล้มเหลวแล้ว มาตั้งแต่สมัยที่ดิฉันยังเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตวิทยาลัยในด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยลระหว่างช่วงทศวรรษที่ 1960 ผลงานวิจัยหนึ่งที่ทำในสัตว์ทดลองโดยมาร์ติน เซลิกแมน สตีเวน ไมเออร์ และริชาร์ด โซโลมอน กลุ่มนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนซีลเวเนีย ได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อทำให้สัตว์ทดลองประสบความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก จนพวกมันส่วนใหญ่เรียนรู้ว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวังและอยู่เหนือการควบคุมของพวกมันแล้ว หลังจากที่ทำการทดลองซ้ำอีกหลายครั้ง นักวิจัยพบว่าสัตว์ทดลองแต่ละตัวจะนิ่งเฉยไม่เคลื่อนไหว แม้ว่าจะยังพอตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงรอบตัวได้ ระยะนี้เป็นระยะที่นักวิจัยเรียกกันว่า การหมดหนทางหลังจากการเรียนรู้มนุษย์สามารถที่จะเรียนรู้การหมดหนทางได้เช่นกัน แต่ไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะตอบสนองต่อความล้มเหลวในแบบนี้ ดิฉันเคยสงสัยว่าทำไมนักศึกษาบางคนถึงได้ยอมแพ้เมื่อพวกเขาได้ประสบกับความยากลำบาก ในขณะที่คนอื่นซึ่งไม่ได้เก่งกว่าแต่อย่างไร กลับยังคงพยายามต่อสู้ศึกษาเล่าเรียนต่อไป? คำตอบหนึ่งที่ดิฉันค้นพบหลังจากนั้นไม่นานกลับกลายเป็นความเชื่อส่วนตัวของคนคนนั้นเองต่างหากที่ทำให้เขาประสบความล้มเหลวถ้าจะพูดให้ชัดเจนลงไปแล้ว เราควรตำหนิความเชื่อซึ่งบั่นทอนแรงจูงใจที่ว่า การที่นักเรียนแสดงความสามารถได้ต่ำนั้นมาจากการขาดความสามารถพิเศษ แทนที่จะเป็นการขาดความพยายาม ในปี ค.ศ. 1972 เมื่อดิฉันได้สอนนักเรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีอาการหมดหนทางขณะเรียนหนังสือ ว่าการขาดความอุตสาหะพยายาม (ซึ่งสำคัญกว่าการขาดความสามารถพิเศษ) จะทำให้พวกเขาผิดพลาดในการแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์ได้ นักเรียนเหล่านี้ได้รับการปลูกฝังให้พยายามทำโจทย์ต่อไปเมื่อโจทย์เริ่มมีความยากมากขึ้น พวกเขายังประสบความสำเร็จในการแก้โจทย์ได้อีกหลายข้อแม้ว่าจะเป็นข้อที่ยากมากก็ตาม ขณะที่เด็กหมดหนทางอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งจะได้รับรางวัลทันทีเมื่อทำโจทย์ข้อที่ง่ายได้สำเร็จ กลับไม่อาจพัฒนาความสามารถของพวกเขาเพิ่มขึ้นได้เมื่อต้องแก้โจทย์เลขข้อที่ยาก ผลการทดลองนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ขั้นต้นว่าการเน้นไปที่ความอุตสาหะพยายามสามารถช่วยให้แก้ปัญหาอาการหมดหนทางได้และทำให้ชีวิตพวกเขาประสบความสำเร็จจากผลการศึกษาต่อมาได้แสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่ยังคงเดินหน้าต่อสู้ต่อไป ในท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาจะไม่รำพึงรำพันกับความล้มเหลวของตนเองมากนัก แต่มักจะคิดว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนโจทย์ที่รอคอยการแก้ไข ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ขณะที่ดิฉันและแครอล ไดเนอร์ ลูกศิษย์ระดับบัณฑิตศึกษา ยังทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เราได้ขอให้นักเรียนชั้น ป. 5 จำนวน 60 คนให้พูดความคิดของพวกเขาออกมาดังๆ ระหว่างที่กำลังแก้โจทย์การจดจำรูปแบบของวัตถุซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากมาก นักเรียนบางคนได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการตอบสนองต่อความผิดพลาดโดยการปกป้องตนเองและความสามารถของพวกเขาด้วยการออกความเห็น เช่น ฉันไม่ใช่พวกจำแม่นนะขณะที่เทคนิคในการแก้โจทย์ปัญหาของพวกเขากลับแย่ลงเรื่อยๆแต่ในเวลาเดียวกัน นักเรียนคนอื่นกลับมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขข้อผิดพลาดและพยายามลับฝีมือของพวกเขา เด็กคนหนึ่งได้ให้คำแนะนำแก่ตัวเขาเองว่า ฉันน่าจะค่อยๆ ทำช้าๆ และจะพยายามแก้ปัญหานี้ให้ได้ นักเรียนอีกสองคนได้แสดงอาการที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง เด็กคนหนึ่งได้ดึงเก้าอี้เข้าชิดตัวในขณะที่ยังติดอยู่กับโจทย์ข้อที่ยาก ถูมือทั้งสองของเขาเข้าด้วยกัน ดูดริมฝีปากและพูดว่า ฉันรักความท้าทาย!” เด็กอีกคนซึ่งยังคงเผชิญโจทย์ข้อยากอยู่เช่นกันได้เงยหน้าขึ้นมองผู้ทดสอบและประกาศว่า ฉันหวังไว้แล้วว่ามันจะมีสาระอย่างนี้!” เราทำนายผลการศึกษานี้ได้เลยว่า นักเรียนที่มีทัศนคติดีเช่นนี้จะแสดงความสามารถได้เหนือกว่าเพื่อนคนอื่น

สองมุมมองกับสติปัญญาหลังจากนั้นอีกสองสามปี ดิฉันได้ขยายกรอบความคิดของทฤษฎีนี้ออกไปว่า สิ่งใดกันที่เป็นตัวแบ่งแยกนักเรียนเองเป็นสองกลุ่ม คือ พวกหมดหนทางและ พวกมีแนวโน้มจะงอกงาม ดิฉันได้ตระหนักว่าไม่ใช่แค่เพียงการกระทำที่แตกต่างกันของนักเรียนทั้งสองกลุ่มนี้เท่านั้นที่บอกได้ถึงระดับความล้มเหลว แต่พวกเขากลับมีความคิดเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องสติปัญญาอีกด้วย พวกเด็กที่หมดหนทางจะเชื่อมั่นว่าความเฉลียวฉลาดเป็นสิ่งที่มีอยู่ตายตัว คนเราจะมีปัญญาแค่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นและจะมีอยู่แค่นั้นตลอดไป ดิฉันเรียกทฤษฎีนี้ว่า แนวคิดที่ตายตัวเด็กพวกนี้จะสูญเสียความมั่นใจในตนเองเมื่อได้ทำผิดพลาด เนื่องจากพวกเขาจะบอกว่าที่เขาทำพลาดนั้นมาจากการที่เขาไม่เก่งพอมาตั้งแต่เกิด ไม่มีอะไรจะช่วยเขาเพิ่มเติมสติปัญญาได้ พวกเขาจะหลีกเลี่ยงจากเรื่องยากๆ ที่ท้าทายเพราะมันอาจจะทำให้เขาทำพลาดได้แล้วจะดูไม่ฉลาด เด็กพวกนี้เหมือนกับโจนาธานที่หลีกเลี่ยงการใช้ความพยายามเนื่องจากเชื่อมั่นว่าการที่ต้องทำงานหนักนั้นแสดงว่าพวกเขาโง่ในทางตรงกันข้าม พวกเด็กที่มีแนวโน้มจะงอกงามกลับคิดว่าสติปัญญาเป็นสิ่งที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เพิ่มขึ้นได้ด้วยการศึกษาเล่าเรียนและการทำงานหนัก พวกเขาอยากจะเรียนรู้มากกว่าทำอย่างอื่น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วถ้าคุณเชื่อว่าคุณสามารถเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญในด้านสติปัญญาได้ล่ะก็ คุณถึงจะอยากพัฒนาตนเองขึ้น เด็กพวกนี้เชื่อว่าความล้มเหลวเกิดขึ้นจากการขาดความอุตสาหะพยายาม ไม่ใช่จากการขาดความสามารถพิเศษ พวกเขาจึงสามารถจะแก้ไขตนเองได้โดยการพยายามให้มากขึ้น ส่วนเรื่องท้าทายต่างๆ นั้นกลับจะเป็นแรงผลักดันให้เขารู้สึกว่ากำลังได้รับโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน มากกว่าจะเป็นการขู่ เราสามารถทำนายได้เลยว่า นักเรียนที่มีแนวคิดแบบจะงอกงามเช่นนี้จะประสบความสำเร็จในด้านการศึกษาและแสดงศักยภาพได้เหนือกว่าคู่แข่งของพวกเขาพวกเราได้ทำการทดสอบความถูกต้องของสมมติฐานเหล่านี้ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2007 โดยดิฉันร่วมกับนักจิตวิทยาชื่อ ลิซา แบล็กเวลล์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ คาลิ เอช เธร็สนิวสกี แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ทำการเฝ้าติดตามนักเรียนกว่า 373 คนเป็นเวลา 2 ปีระหว่างที่เด็กเหล่านี้เลื่อนชั้นขึ้นไปเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นช่วงที่การบ้านจะยากขึ้นมากและการตัดเกรดจะเข้มงวดขึ้น โดยเน้นพิจารณาว่าแนวคิดส่วนตัวของพวกเขาจะส่งผลกระทบต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์อย่างไร ในช่วงแรกของการเรียน ม. 1 เราได้ทำการประเมินแนวคิดของนักเรียน โดยการถามคำถามพวกเขาว่าเห็นด้วยหรือไม่กับประโยคที่ว่า ความเฉลียวฉลาดของคุณเป็นสิ่งที่เป็นเบื้องลึกในตัวคุณเอง ซึ่งคุณไม่สามารถจะไปเปลี่ยนแปลงมันได้ จากนั้นเราได้ประเมินความเชื่อของพวกเขาเกี่ยวกับมุมมองอื่นๆ เกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน และคอยเฝ้าดูว่าระดับผลการเรียนของพวกเขาจะออกมาเป็นเช่นไรผลที่ได้เป็นไปตามที่พวกเราคาดเอาไว้ นักเรียนที่มีแนวคิดจะงอกงามรู้สึกว่าการศึกษาเล่าเรียนเป็นเป้าหมายที่สำคัญยิ่งกว่าการได้รับผลเกรดที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังให้ความเคารพต่อการทำงานหนัก โดยเชื่อว่ายิ่งเราทำงานหนักในสิ่งใด เราจะยิ่งได้รับผลดีตามมามากขึ้นเท่านั้น เด็กพวกนี้เข้าใจว่าแม้แต่อัจฉริยะยังต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ และเมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับความล้มเหลว ดังเช่น ความผิดหวังจากผลการเรียน นักเรียนที่มีแนวคิดจะงอกงามพวกนี้จะบอกตนเองว่าเขาน่าจะตั้งใจเรียนให้มากขึ้นหรือพยายามลองเทคนิคใหม่ที่แตกต่างออกไปเพื่อเอาชนะกับเนื้อหาให้ได้ในทางตรงกันข้าม นักเรียนที่มีแนวคิดตายตัวกลับจะกังวลใจกับการสร้างภาพพจน์ให้ดูเป็นเด็กฉลาด โดยไม่ค่อยให้ความใส่ใจกับการศึกษาเล่าเรียน พวกเขาจะมีมุมมองที่เป็นลบต่อความอุตสาหะพยายาม และเชื่อมั่นว่าการที่ต้องทำงานหนักในสิ่งใดจะเป็นสัญญาณบอกถึงการมีความสามารถต่ำ พวกเขาคิดว่าคนที่มีความสามารถพิเศษหรือมีอัจฉริยะภาพไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้ผลงานที่ดี แต่จะอ้างว่าการที่เขามีผลคะแนนแย่นั้นเป็นเพราะตัวเขาขาดความสามารถพิเศษ เด็กที่มีแนวคิดที่ตายตัวเช่นนี้จะบอกว่าพวกเขาอยากจะเรียนน้อยๆ ในอนาคต จะหลีกเลี่ยงไม่ลงเรียนวิชานั้นอีก และกำลังคิดอยู่ว่าจะโกงข้อสอบดีหรือไม่ในอนาคตมุมมองที่แตกแยกเป็นสองทางนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำงานของนักเรียน โดยที่เราพบว่า เมื่อตอนเริ่มเรียนชั้นมัธยมต้น ผลการทดสอบความสำเร็จทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่มีแนวคิดจะงอกงามนี้จะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับของนักเรียนที่เป็นพวกแนวคิดแบบตายตัว แต่หลังจากเรียนเนื้อหาที่ยากขึ้น นักเรียนซึ่งมีแนวโน้มจะงอกงามจะแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความพยายามมากกว่า เป็นผลให้เกรดวิชาคณิตศาสตร์ของพวกเขาเหนือกว่าเด็กอีกกลุ่มหนึ่งเพียงแค่ในช่วงปลายเทอมแรกเท่านั้น และช่องว่างระหว่างทั้งสองกลุ่มนี้ได้ขยายกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างช่วง 2 ปีที่เราเฝ้าติดตามดูพวกเขาจากที่ได้ร่วมศึกษากับ ไฮดี แกรนต์ นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในปี ค.ศ. 2003 ดิฉันได้พบผลการศึกษาที่คล้ายคลึงกันว่าแนวความคิดนั้นมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จจากการศึกษา โดยจากการสำรวจนักศึกษาเตรียมแพทย์ชั้นปี ที่ 1 กว่า 128 คนของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่ได้ลงทะเบียนในวิชาเคมีทั่วไปซึ่งค่อนข้างยาก เราพบว่าถึงแม้นักศึกษาทั้งหมดจะให้ความสำคัญกับผลคะแนนของวิชานี้ นักศึกษาที่ได้รับเกรดดีที่สุดคือพวกที่ให้ความสำคัญสูงกับการศึกษาเล่าเรียน  มากกว่าการแสดงให้คนอื่นเห็นว่าพวกเขาเก่งในวิชาเคมี นักเรียนกลุ่มนี้จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่มุ่งเน้นไปที่เทคนิคในการเรียน มีความพยายาม และไม่แสดงความท้อถอย

เผชิญหน้ากับความไม่พร้อมความเชื่อเรื่องการมีสติปัญญาอยู่ตายตัวยังทำให้คนเราไม่ค่อยเต็มใจจะยอมรับในข้อผิดพลาดหรือในการเผชิญและไม่ยอมแก้ไขความบกพร่องของพวกเขาทั้งในโรงเรียน ที่ทำงาน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคม จากผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1999 เกี่ยวกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งมีการเรียนการสอนทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ดิฉันและเพื่อนร่วมงานชาวฮ่องกงอีก 3 คนได้พบว่า นักเรียนที่มีแนวคิดแบบงอกงามที่เคยทำคะแนนได้ต่ำในการทดสอบความถนัดทางภาษาอังกฤษกลับมีแนวโน้มที่จะลงเรียนเพิ่มเติมวิชาภาษาอังกฤษ มากกว่านักเรียนซึ่งทำคะแนนต่ำเช่นกันแต่เป็นพวกแนวคิดตายตัว จะเห็นได้ว่านักเรียนที่มีมุมมองที่นิ่งเฉยกับสติปัญญาเช่นนี้จะไม่เต็มใจยอมรับความบกพร่องของตัวเขาเอง และดังนั้นจึงกลายเป็นการละทิ้งโอกาสที่จะแก้ไขข้อบกพร่องของตนแนวคิดแบบตายตัวยังสามารถจะเป็นอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารและความเจริญก้าวหน้าภายในองค์กร โดยอาจเหนี่ยวนำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างรู้สึกท้อใจหรือเพิกเฉยต่อคำแนะนำแลคำวิพากษ์ที่เกิดขึ้น งานวิจัยโดย ปีเตอร์ เฮสลิน และดอน แวนเดอวาลล์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาร์เทิร์นเมเทอร์ดิสต์ และแกรี่ ลาแธม แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ได้แสดงให้เห็นว่าเจ้านายที่มีแนวคิดแบบตายตัวไม่ค่อยจะสนใจหรือยินดีต้อนรับคำวิจารณ์กลับจากลูกจ้างของเขาเท่ากับนายจ้างที่เป็นพวกแนวคิดแบบงอกงาม หรืออาจจะพูดได้ว่าพวกเจ้านายที่มีแนวคิดแบบงอกงามกลับจะมองตัวเองว่าเป็นชิ้นงานที่ต้องทำให้ก้าวหน้าต่อไป และเข้าใจว่าพวกเขาต้องการคำวิจารณ์กลับเพื่อการพัฒนาตนเอง ในขณะที่เจ้านายซึ่งมีแนวคิดแบบตายตัวกลับจะเห็นคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นตัวสะท้อนระดับของความไม่พร้อมที่ซ่อนเอาไว้ และถ้าผู้บริหารที่มีแนวคิดแบบตายตัวนี้เชื่อว่าคนอื่นๆ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ พวกเขายิ่งจะไม่ค่อยให้คำแนะนำกับลูกน้องอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เฮสลิน แวนเดอวาลล์ และลาแธมได้ให้แบบฝึกหัดแก่พวกเขาเกี่ยวกับคุณค่าและหลักการของแนวคิดแบบงอกงาม พวกผู้บังคับบัญชาเหล่านี้ได้กลับเปลี่ยนเป็นเต็มใจที่จะแนะนำลูกจ้างของตนมากขึ้น และได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์มากแนวความคิดยังมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลว่าจะดีไม่ดีแค่ไหน หรือจะยาวนานเท่าไหร่ เนื่องจากทำให้บุคคลนั้นมีความเต็มใจหรือไม่ต่อการแก้ไขปัญหาร่วมกัน กล่าวคือ พวกที่มีแนวคิดแบบตายตัวมักจะไม่ค่อยมองเห็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของพวกเขาและไม่พยายามที่จะแก้ไขมันเท่ากับพวกที่มีแนวคิดแบบงอกงาม เห็นได้จากผลการศึกษาในปี ค.ศ. 2006 ที่ดิฉันได้ดำเนินการร่วมกับ ลาร่า คามม์รัธ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิลฟริด ลอเรีย ในเมืองออนตาริโอ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ถ้าคุณคิดว่าลักษณะบุคลิกภาพของคนแต่ละคนเป็นสิ่งที่ตายตัวไม่มากก็น้อย คุณก็จะไม่เห็นคุณค่าของการพยายามปรับปรุงแก้ไขปัญหามนุษยสัมพันธ์ ในขณะที่คนที่เชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นได้ จะมีความมั่นใจมากกว่าในการเผชิญหน้ากับข้อกังวลใดๆ เรื่องความสัมพันธ์ของพวกเขาและนำไปสู่การแก้ไขได้

ยกย่องอย่างเหมาะสมแล้วเราจะปลูกฝังแนวคิดแบบงอกงามนี้ไปสู่เด็กนักเรียนของพวกเราได้อย่างไร? แนวทางหนึ่งคือการหาวิธีเล่าเรื่องความสำเร็จที่มาจากการทำงานหนัก เช่น ถ้าไปเล่าเรื่องนักคณิตศาสตร์ที่เป็นอัจฉริยะมาตั้งแต่เกิดก็จะกลายเป็นการปลูกฝังให้ลูกศิษย์มีแนวคิดแบบตายตัว ขณะที่การเล่าเรื่องนักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ตกหลุมรักกับคณิตศาสตร์และได้พัฒนาความสามารถของตนขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจจะเป็นการปลูกฝังแนวคิดแบบงอกงาม ซึ่งจากผลการศึกษาของพวกเรายังพบด้วยว่าการยกย่องชมเชยมีผลต่อการถ่ายทอดแนวคิดเหล่านี้ได้อีกด้วย เห็นได้จากผลการทดลองของเราที่บ่งชี้ว่า การที่ผู้ปกครองหลายคนเชื่อว่าพวกเขาสามารถสร้างลูกหลานให้เป็นเด็กเก่งโดยการยกย่องว่าเด็กคนนั้นโดดเด่นและมีความสามารถพิเศษกว่าคนอื่นขนาดไหน กลับกลายเป็นการชักนำเด็กไปในทางที่ผิดจากการศึกษาของดิฉันและ คลอเดีย เอ็ม มูลเลอร์ นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1998 กับนักเรียนชั้น ป. 5 กว่าสองสามร้อยคน ดิฉันได้ให้พวกเด็กๆ ทำโจทย์คำถามทดสอบไอคิว หลังจากทำไป 10 คำถามแรกเราได้เริ่มยกย่องชมเชยพวกเขาซึ่งเด็กส่วนใหญ่มักจะทำแบบทดสอบได้ค่อนข้างดี เราได้ลองชมเชยเด็กบางคนโดยเน้นแต่ความเฉลียวฉลาดของพวกเขา เช่น ว้าว หนูทำคะแนนได้ดีจริงๆ หนูต้องฉลาดมากแน่ๆ เลยขณะเดียวกันเราได้ลองวิจารณ์เด็กคนอื่นถึงความพยายามของพวกเขา เช่น ว้าว หนูทำคะแนนได้ดีจริงๆ หนูต้องได้ฝึกฝนมาหนักมากแน่ๆ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่พบว่า การที่เราไปเน้นยกย่องความเฉลียวฉลาดจะเป็นการสนับสนุนเด็กให้เกิดแนวคิดแบบตายตัวได้มากกว่าการลูบหลังชมเชยเขาที่มีความพยายาม จะเห็นได้ว่า เด็กที่ได้รับการแสดงความยินดีจากความเฉลียวฉลาดของเขาจะวิ่งหนีงานยากๆ ที่ได้รับมอบหมาย พวกเขาอยากได้งานง่ายๆ แค่สักงานหนึ่งมากกว่า ซึ่งแตกต่างกันมากกับเด็กที่ได้รับการปรบมือเนื่องมาจากความพยายามของพวกเขา เด็กกลุ่มนี้ที่ได้รับการยกย่องจากการทำงานหนักส่วนใหญ่แล้วจะอยากได้โจทย์ชุดที่ยากเพื่อที่พวกเขาจะได้เรียนรู้เพิ่ม ด้วยเหตุนี้ เมื่อพวกเราได้ทดลองให้เด็กทุกคนทำโจทย์ที่ยากขึ้น พวกเด็กที่เคยได้รับการยกย่องจากความเฉลียวฉลาดจะเริ่มแสดงอาการท้อใจ และมีผลคะแนนถดถอยลงเมื่อไปเปรียบเทียบกับก่อนหน้านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม นักเรียนที่ได้รับการยกย่องเนื่องจากความอุตสาหะพยายามของพวกเขากลับไม่สูญเสียความมั่นใจแต่อย่างไรเมื่อต้องเผชิญหน้ากับโจทย์ปัญหาที่ยากกว่า และเราจะเห็นศักยภาพของพวกเขาว่าได้พัฒนาขึ้นอย่างเด่นชัดเมื่อกลับไปเจอโจทย์ข้อที่ง่าย 

สร้างแนวคิดของคุณเองขึ้นมาเพื่อที่จะเสริมสร้างแนวคิดแบบงอกงามให้กับเด็กผ่านการยกย่องชมเชย ผู้ปกครองและครูสามารถจะช่วยได้ด้วยการสั่งงานที่มีกระบวนการทำงานชัดเจน โดยพยายามทำให้เด็กมีจิตใจเหมือนกับเป็นกลไกการเรียนรู้ เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันและ แบล็กเวลล์ เธร็สนิวสกี ได้ช่วยกันออกแบบปฏิบัติการ 8 ตอน ให้กับเด็กนักเรียน 91 คนที่ได้คะแนนคณิตศาสตร์ตกต่ำลงในช่วงปีแรกของชั้นมัธยมต้น นักเรียน 48 คนได้รับงานที่มีการฝึกทักษะด้านการเรียนเพียงอย่างเดียว ขณะที่เด็กคนอื่นได้รับทั้งงานที่ฝึกทักษะด้านการเรียนร่วมกับการเข้าชั้นเรียนที่จะสอนพวกเขาให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดแบบงอกงาม และการนำไปใช้ประกอบการเรียนหนังสือในชั้นเรียนเกี่ยวกับแนวคิดแบบงอกงาม นักเรียนกลุ่มนี้จะได้อ่านบทความเรื่อง คุณสามารถปลูกสมองของคุณได้ และอภิปรายเนื้อหาร่วมกัน พวกเขาได้รับการสอนว่าสมองเป็นเหมือนกับกล้ามเนื้อซึ่งจะแข็งแรงขึ้นถ้าได้ถูกใช้งาน  และจะถูกสอนว่าการเรียนรู้จะช่วยกระตุ้นให้เซลล์ประสาทในสมองสามารถงอกเส้นประสาทเชื่อมต่อกันได้ จากคำสอนดังกล่าวนี้ นักเรียนหลายคนได้เริ่มที่จะมองตัวของพวกเขาเองว่าสามารถผู้ที่จะพัฒนาสมองของพวกเขาเองได้ นักเรียนหลายคนที่เคยยุกยิกหรือแสดงท่าทางเบื่อหน่ายกลับเริ่มนั่งนิ่งและลงมือจดบันทึก ที่น่าสนใจมากคือเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่รู้กันดีว่าเป็นเด็กดื้อมากกลับเงยหน้าขึ้นระหว่างที่มีการอภิปรายและพูดว่า คุณครูหมายความว่า ผมไม่จำเป็นต้องทึ่มหรอกเหรอ?  ระหว่างที่การเรียนเทอมนั้นดำเนินไป คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ของเด็กที่ได้ฝึกแต่ทักษะด้านการเรียนกลับมีคะแนนลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่นักเรียนกลุ่มที่ได้ฝึกแนวคิดแบบงอกงามกลับมีเริ่มมีคะแนนคงที่ และเพิ่มสูงขึ้นจนกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนหน้านี้ ยิ่งไปกว่านั้น พวกคุณครูซึ่งไม่ได้ทราบมาก่อนว่ากำลังมีการเรียนการสอนอยู่ 2 แบบได้รายงานว่า พวกเขาสังเกตเห็นชัดถึงการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นของแรงจูงใจในการเรียนอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเด็กในชั้นเรียนปฏิบัติการแนวคิดแบบงอกงามถึง 27% ที่มีแรงจูงใจเพิ่มขึ้น เทียบกับเพียงแค่ 9% ของเด็กในกลุ่มควบคุม คุณครูคนหนึ่งเขียนรายงานว่า ผมว่าปฏิบัติการของพวกคุณใช้ได้ผล แอล (เด็กผู้ชายดื้อของเรา) ซึ่งผมไม่เคยเห็นว่าจะทุ่มเทกับการเรียนมาก่อนและมักจะไม่ค่อยส่งการบ้านทันเวลา กลับกลายเป็นชอบอยู่เย็นเพื่อทำการบ้านให้เสร็จก่อนเวลา จนผมสามารถจะตรวจการบ้านนั้นได้ก่อน และให้โอกาสเขากลับไปแก้ไขมาใหม่ ตอนนี้เขาได้เกรดบีบวกแล้ว (จากที่เคยได้แค่เกรดซีหรือต่ำกว่านั้น)ผลการทดลองของเราสอดคล้องกับงานวิจัยของคนอื่น แคเธอรีน กู้ด นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ โจชัว อารอนสัน และ ไมเคิล อินซลิกต์ แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้รายงานในปี ค.ศ. 2003 ว่าการทำปฏิบัติการแนวคิดแบบงอกงามได้ช่วยให้เด็กชั้น ม. 1 ประสบความสำเร็จในการทดสอบวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ

หมายเลขบันทึก: 156113เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2007 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สอนได้ผลจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท