"บล็อกร้าง สมาชิกลวง" จะมีแนวทางจัดการอย่างไรได้บ้าง ?


ตั้งคำถามเอาไว้ระดมสรรพสมองจากสมาชิก Gotoknow ครับว่า เราจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรบ้าง ?

"บล็อกร้าง" หมายถึง สมุดบันทึกที่ถูกทอดทิ้งโดยสมาชิก Gotoknow.org โดยเงื่อนไขของเวลานั้น ยังไม่ได้กำหนดเอาไว้ (ผมว่า สัก 4 เดือน ก็ถือว่า ร้าง แล้วล่ะ)

"สมาชิกลวง" หมายถึง คนที่มาสมัครเป็นสมาชิก Gotoknow.org โดยไม่คาดฝัน จากหลายกรณี เช่น

  • ถูกบังคับให้เข้ารับการอบรม
  • ลองสมัครดู แต่ไม่มีใจในการสร้างสรรค์บันทึก เลยไม่ดูแล
  • ลืมไปว่าเคยสมัครสมาชิกเอาไว้ (เหมือน e-mail)
  • ถูกเจ้านายบังคับเพื่อทำประกันคุณภาพ หรือ KM แต่ไม่เต็มใจ
  • โอ๊ย ... สารพัดข้ออ้าง

แน่นอน ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ

  • ชื่อเฉพาะถูกจองโดยสมาชิกที่ไม่ได้ใช้งาน
  • เสียพื้นที่ของการเก็บข้อมูลไปบ้าง ถือไม่มาก แต่ถือว่า เสีย ไม่ใช่ ได้
  • บล็อก กลายเป็น บล็อกร้าง ไร้ซึ่งมูลค่าและคุณค่าทางการศึกษา
  • ยอดสมาชิกที่ใช้งานต่อเนื่อง มียอดไม่แน่นอน ... เป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ คุยกับใครเค้าก็ไม่เชื่อ หาว่า โม้ ไป
  • ทีมงานผู้ดูแลเกิดปัญหาสำหรับการคัดกรองผู้ที่ใช้ประโยชน์กับไม่ใช้ประโยชน์
  • คิดไม่ออกแล้วล่ะครับ :(

ตั้งคำถามเอาไว้ระดมสรรพสมองจากสมาชิก Gotoknow ครับว่า เราจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรบ้าง ?

และอยากฟังจากทีมงานผู้ดูแลครับว่า ปัญหานี้มันหนักหนาสาหัสแค่ไหน หรือ ไม่มีปัญหาอะไร

ปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งหมด 4101 หน้า ๆ ละ 10 คน รวมเป็น 41,010 คน ... (ใช้งานอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดเท่าไหร่ครับ ?)

อย่าลืม นิยามของคำว่า "การใช้งานอย่างต่อเนื่อง" หมายถึง อะไรครับ ทีมงาน.... ? เพื่อความเข้าใจร่วมกันครับ

ขออภัยที่ชอบหาปัญหามาให้ตอบ :)_

ขอบคุณมากครับ :)

บุญรักษาทุกท่านครับ

หมายเลขบันทึก: 148468เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2007 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

สวัสดีค่ะน้องชาย

  • สมาชิกลวง...เขาอาจจะไม่มีเวลา
  • สมาชิกลวง...เขาอาจจะถูกบังคับให้สมัคร
  • สมาชิกลวง...เขาอาจจะไม่รู้ว่าเปลืองเนื้อที่

วาย..ชื่อน่ากลัวจังค่ะน้อง..สมาชิกลวง

สวัสดีค่ะ อาจารย์ Wasawat

ชอบใจประเด็นที่อาจารย์ตั้งเป็นบันทึกนี้จังค่ะ :)

สำหรับประเด็นทีอาจารย์เขียนไว้ ในฐานะที่ดิฉ้นเป็นคนดูแลชุมชนแห่งนี้ร่วมกับทีมงาน สิ่งที่ดิฉันเห็นมาตลอดการดูแลประมาณเกือบ 1 ปี คือ

  • สมาชิกใหม่ๆ ที่เข้ามา เป็นตามกระแสที่มีการจัดอบรมบล็อกคะ เพราะหน่วยงานราชการเห็นว่าเป็นเครื่องมือสำหรับจัดการความรู้ แต่หลงทางตรงที่ใช้ไม่ต่อเนื่อง

    สำหรับประเด็นนี้ บันทึก หัวอกคนบ้าBlog (1)  ของพ่อครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์  มีประโยคหนึ่งที่ตรงประเด็นคือ

    " เพราะว่าG2Kมีเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดในตัวบางประการ ตรงผู้ที่เข้ามาจะต้องมีเวลาศึกษาความเป็นพิเศษในระบบนี้พอสมควร จึงจะเห็น จะเข้าใจ และได้รู้ถึงอานุภาพของกระบวนการนี้

    ที่สำคัญ:

    • อ่านอย่างเดียวไม่พอ
    • เขียนอย่างเดียวก็ยังไม่พอ
    • ต้องเจาะแจ๊ะในกระบวนการเชิงรุกKMธรรมชาติ จึงจะเข้าถึงG2K "
  • สมาชิกใหม่ที่เข้ามา ด้วยการสมัครด้วยตนเอง บางท่านสามารถปรับตัวกับรูปแบบของชุมชนของ GotoKnow.org ได้ก็สามารถเขียนบล็อกและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อยากต่อเนื่อง แต่บางท่านไม่สามารถปรับตัวได้ ก็จำเป็นจะต้องห่างหายไปบ้าง
  • สมาชิกบางท่าน ภาระหน้าที่การงานยุ่ง ก็ทำให้ไม่ได้เข้ามาเขียนบ่อยนัก แต่ยังตามอ่านอย่างต่อเนื่อง
  • สมาชิกบางท่าน สมัครแล้วไม่กล้าเขียนคะ

และถามว่ามีปริมาณบล็อกร้างเยอะไหม ดิฉันตอบได้ว่าไม่น้อย จะดีกว่านะค่ะ ตอนนี้ทีมงานก็พยายามกระตุ้น Blogger เก่าๆ ที่ห่างหายไปกลับมาบ้าง ด้วยการนำบันทึกที่เขียนแล้วน่าสนใจ มาแนะนำกันในหน้าแรก เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีผู้อ่าน หากมีสมาชิกฝากความคิดเห็นไว้ และอีเมล์ของเจ้าของบล็อกถูกต้อง ระบบจะส่งอีเมล์ไปแจ้งว่ามี comment ส่วนนี้ดิฉันคิดว่าจะช่วยได้ส่วนหนึ่งคะ

สำหรับการกระตุ้นการเขียนนั้น หากสมาชิกที่ได้แวะเข้ามาอ่านบันทึก มีเพื่อน Blogger ท่านที่ห่างหายไปนาน ลองไปฝาก comment หรือติดต่ออีเมล์ผ่านระบบก็จะเป็นการช่วยกันกระตุ้นให้ Blogger กลับมาเขียนอีกครั้งได้คะ

ที่สำคัญ สำหรับการดูแลรักษาบล็อกนั้น ขึ้นอยู่กับเจ้าของบล็อกด้วยคะ

และส่วนหนึ่งของการก่อให้เกิดเครือข่ายและรักษาบล็อกไว้นั้น บันทึก ดูแลบล็อกอย่างไร ให้มีชีวิตชีวา  น่าจะช่วยได้บ้างคะ :)

คุณมะปรางเปรี้ยวตอบได้ดีครับ มองโลกในแง่บวก ส่งเสริมและให้โอกาส วิสัยทัศน์เหมาะสำหรับการเป็นผู้ดูแลชุมชนเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าเป็นคนโหดร้ายอย่างผมนะครับ ...

  • account ไหน ไม่ active ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน .. ลบทิ้ง ลบอย่างเดียว

วิธีของผมเป็นวิธีโบราณ Yahoo! , Hotmail ต่างก็ใช้มาก่อน ใครไม่เข้าระบบภายใน 1 เดือน account จะถูกลบทันที ... ต่อมายุค Gmail พี่ท่านนี้นอกจากจะให้เนื้อที่มโหฬารแล้ว แกยังไม่เคยสนใจว่าใครจะปล่อยเมลให้ร้างหรือเปล่า ระบบจะลบ account ทิ้งก็ต่อเมื่อผู้ใช้ไปยกเลิกเองเท่านั้น ... ณ ปัจจุบันนี้สังเกตว่าทั้ง Yahoo! และ Hotmail ก็หันมาเอาอย่าง Gmail คือปล่อยบัญชีผู้ใช้ทิ้งไว้ตลอดกาล

ความเห็นส่วนตัวของผม ... ถ้าผู้ใช้ไม่มีการเคลื่อนไหวภายใน 3-4 เดือน ผมว่าควรลบทิ้งครับ ... แต่ในโลกที่ต้องเอาตัวเลขไปทำรายงานส่งเบื้องบน ตัวเลขเยอะๆ ย่อมปลอดภัยกว่าตัวเลขน้อยๆ ... หรือเปล่าครับ?

ขอบคุณครับ ... ครูอ้อย ... ที่แวะมาให้ความคิดเห็น

ขอบคุณครับ .. พี่ จันทรรัตน์ ที่จะแอบมาประมูล อิ อิ

บุญรักษา ครับ

สวัสดีครับ ถ้าร้างนาน ก็ควรลบครับ 3 เดือนก็น่าจะโอเค

ตัวเลขก็คือตัวเลข อย่าไปสนใจมากครับ ;)

สวัสดีครับ ... คุณ มะปรางเปรี้ยว

  • ประเด็นคำถามนี้ต่อเนื่องความคิดมาจาก ท่านคิดอย่างไรกับการให้นักเรียน นักศึกษา เป็นสมาชิกของ Gotoknow ? นั่นแหละครับ ...
  • นอกจากนักเรียนนักศึกษาที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนแห่งนี้ได้ อาจจะเนื่องจากความเข้มในเนื้อหาการพูดคุยต่าง ๆ อาจจะเกิดการไม่สนใจเรื่องราวที่นักเรียน นักศึกษาเหล่านั้น พูดคุยมา เพราะอาจจะสาระไม่เป็นที่ยอมรับ เช่น เรื่องสิว เรื่องความรัก เรื่องหนุ่มสาว เป็นต้น
  • ก็ทำให้เกิด "บล็อกร้าง" อย่างไม่ต้องสงสัย เกิดการอพยพครั้งใหญ่ ประมาณนั้น
  • บางทีก็ไปเห็น "การเร่งการอบรมของครูตาม สพท.จังหวัดต่าง ๆ" แวะมาตอนอบรม แล้วก็หายไป
  • เกิดอาการเสียดายทรัพยากรของ Gotoknow เกิดขึ้นครับ
  • การให้สิทธิ์ในการดูแลบล็อกของตนเองนั้น ... ถือเป็นความใจกว้างอย่างถึงที่สุด ครับ
  • เป็นการฝึกความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่ง ใครรับผิดชอบหน่อย ก็จะดูแลและเขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอ
  • ใครงานเยอะ ความรับผิดชอบน้อยหน่อย ก็จะไม่ค่อยได้เขียนครับ ...
  • ผมว่า เราแบ่งประเภทของสมาชิกได้หลายเป็นประเภทนะครับ ลองคิด ๆ ดู ก็น่าจะมี
  • 1..... สมาชิกที่เขียนสม่ำเสมอ
  • 2..... สมาชิกที่ต้องการเป็นสมาชิกต่อ แต่ขอหยุดพักชั่วคราว (งานเยอะ หาเวลาเขียนไม่ได้ แต่อยากขอสิทธิ์ใช้งานต่อไป)
  • 3..... สมาชิกที่ต้องการหยุดความเป็นสมาชิก เพราะเกรงใจและมีสปิริต รับผิดชอบต่อสังคม (เอาไว้โอกาสหน้าจะมาสมัครใหม่ยังไงล่ะครับ กับ ขออนุญาติหายไปเลย)

ทั้งหมดนี้ แค่แนวคิดนะครับ ... คิดไปเรื่อย ๆ จนฟุ้งซ่านหรือเปล่าครับเนี่ย 555

ขอบคุณครับ คุณมะปรางเปรี้ยว (รูปใหม่สดใสกว่าเดิมนะครับ) ;)

 สวัสดีค่ะ อาจารย์Wasawat

จริงๆ แล้ว หน้าที่ของผู้ที่ดูแลเว็บไซต์ ก็อยากจะส่งเสริมและกระตุ้นให้สมาชิกในชุมชนเขียนบล็อกอย่างสม่ำเสมอและเขียนอย่างต่อเนื่องค่ะ แต่ด้วยความที่บางทีกำลังพลน้อยไปหน่อย อาจจะกระตุ้นไม่หมด และบางทีก็เชียร์ไม่ขึ้นคะ :)

สำหรับประเภทของสมาชิกจริงๆ สามารถแบ่งออกได้หลายประเภทคะ ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาเกณฑ์อะไรมาเป็นตัวแบ่งคะ เกณฑ์หนึ่งคือ ระดับความถี่ของการเขียน คะ ที่อาจารย์ได้แบ่งไว้ก็เป็นเกณฑ์หนึ่งคะ

ขอบคุณมากค่ะ ที่ได้ร่วมสะท้อนความเป็น GotoKnow.org ออกมา ได้ประโยชน์มากคะ :)

 

สวัสดีค่ะ อ.วสวัตดีมาร

เบิร์ดเข้ามาหลายครั้งยอมรับว่ากระทู้เรื่องนักเรียนนักศึกษา ฯ ก็โดนใจ กระทู้เรื่องนี้ก็โดนอีกเพราะสงสัยมานานเช่นเดียวน่ะค่ะ

การจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมกับการใช้งานก็น่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรใส่ใจ น้องมะปรางเปรี้ยวตอบได้ดีในแง่บวก น้องต้นกล้าก็ตอบได้ชัดในแง่ของความเป็นจริงและการเป็นสมาชิกก็มีหลายประเภทแบบที่อาจารย์กล่าวมา

อย่างตัวเบิร์ดเองโดนบังคับ ( กลายๆจากน้องรักและเกือบๆจะเป็นที่เคารพอย่างสูง ) ร่วมกับต้องการพื้นที่ในการสื่อสารความคิดระหว่างเบิร์ดกับน้องๆและเพื่อนๆที่ร่วมงานกันมาเมื่อย้ายกลับบ้าน..ร่วมกับ สารภาพว่ารู้น้อยมากเกี่ยวกับโกทูโน อย่างนี้จะจัดอยู่ในประเภทไหนคะ ? ^ ^

การเข้ามาคงมีหลายแบบน่ะค่ะตามกระแส KM ในองค์การ ความบังเอิญที่ค้นเจอในกูเกิ้ล ถูกบังคับ อยากลอง  มาเพื่อให้ มาเพื่อรับ หรือมาเพื่อแลกเปลี่ยนกับบล็อกเกอร์ที่ชอบใจ ฯลฯ

และการเคลื่อนไหวของบล็อกเกอร์จำเป็นมั้ยคะที่จะต้องเป็นการเขียนเท่านั้น ถ้าเค้าเป็นสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนล่ะคะอาจารย์ บล็อกจะถือว่าร้างหรือเปล่า..และถ้าเค้าเป็นสมาชิกเพื่ออ่านล่ะคะ..บล็อกนั้นจะเรียกอย่างไร

เข้ามากวนน้ำให้ขุ่นค่ะ ^ ^

ขอบคุณครับ น้อง ต้นกล้า ... ได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากตัวอย่างที่ยกมานะครับ ชัดเจนมาก

ขอบคุณที่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ครับ

ส่วนตัวเลขขึ้นกับการนำไปใช้และการเชื่อถือในตัวเลขครับ

เหมือนเรานั่งดู American Football จะเห็นว่า อเมริกาเป็นเจ้าแห่งสถิติครับ วิ่งได้กี่หลา ขว้างเท่าไหร่ ประมาณนี้ครับ

ขึ้นอยู่กับนำไปใช้ครับ :) 

ขอบคุณครับ คุณ ธ วั ช ชั ย ที่มาแวะเยี่ยมเยียนและแสดงความคิดเห็นครับ

:) 

สวัสดีอีกครั้งครับ คุณ มะปรางเปรี้ยว

  • กำลังพลน้อย แต่หัวใจใหญ่นะครับ
  • สำหรับเรื่องการแบ่งกลุ่มของสมาชิก คิดว่า น่าจะมีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ Gotoknow  พอสมควร นะครับ
  • เหมือนกับนักวิชาการที่เลือกเชื่อในทฤษฏีของใคร ก็มักจะมีแนวปฏิบัติออกมาในแนวทางนั้น เช่นกัน
  • ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ
ขอบคุณมากนะครับ :)

สวัสดีครับ ... คุณเบิร์ด

นาน ๆ จะเจอคุณเบิร์ดในบันทึกที่ผมเขียน อิ อิ

"กระแส KM ในองค์การ" ... สถาบันที่ผมอยู่ไม่มีกระแสนี้เลยครับ ... แต่มีคณะหนึ่งกำลังสร้างอยู่เหมือนกันครับ แต่ไม่ใช่หน่วยงานหลักของสถาบัน

อนึ่ง ผมไม่ค่อยเข้าใจใน KM มากเท่าไหร่นักน่ะครับ การถ่ายทอดและสื่อสารที่นี่ ไม่ดีครับ 

เดี๋ยวจะออกก่อน เพื่อตอบคำถามคุณเบิร์ดในกรอบต่อไปครับ :) 

สวัสดีอีกครั้งครับ ... คุณเบิร์ด

ก่อนอื่นต้องขอบคุณคุณเบิร์ดเข้ามากวนน้ำเพื่อให้ใส เพราะ คุณเบิร์ดกำลังถือ "สารส้ม" อยู่ครับ อิ อิ ส่วนผมน่ะ ถือขัน

จากประเด็นที่แอบถามมานะครับว่า

  • การเคลื่อนไหวของบล็อกเกอร์จำเป็นมั้ยคะที่จะต้องเป็นการเขียนเท่านั้น
  • ถ้าเค้าเป็นสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนล่ะคะอาจารย์ บล็อกจะถือว่าร้างหรือเปล่า
  • ถ้าเค้าเป็นสมาชิกเพื่ออ่านล่ะคะ..บล็อกนั้นจะเรียกอย่างไร..."

หูยยย โดนไป 3 คำถามเท่านั้นเอง คุณเบิร์ด

  • ดังที่คุณเบิร์ดหยอดคำถามมานั้น ทำให้แบ่งการเคลื่อนไหวตามพลวัตของบล็อกเกอร์ออกได้เป็น ... สมาชิกเพื่อการอ่าน, สมาชิกเพื่อการเขียน และสมาชิกเพื่อการอ่านและเขียน ... หุ หุ
  • แบ่งได้ครับ แบ่งได้ ... แต่ในทางปฏิบัติคงงงน่าดู สงสารทีมงานขึ้นมาจับใจในทันที
  • ใครจะอ่านอย่างเดียว ใครจะเขียนอย่างเดียว
  • ส่วนกลุ่มสุดท้าย ... เป็นวัตถุประสงค์หลักของการเป็นสมาชิกแห่งนี้ไงครับ
  • สุ จิ ปุ ลิ (หาคำแปลให้ด้วยนะครับ) ... อ่านด้วย เขียนด้วย ก็ต้องย่อม คิดด้วย ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองและสังคม

ดังนั้น การแลกเปลี่ยน ... คงต้องหาคำนิยามให้ชัดเจนว่า แลกเปลี่ยนคือแลกเปลี่ยนอย่างไร อ่านอย่างเดียว (ตัวเลขคนอ่านขึ้นพรวด ๆ) ถือว่าแลกเปลี่ยนใช่ไหม น้ำหนักความเชื่อถือเท่าไหร่

หรือ เขียนอย่างเดียว (ก้มหน้าก้มตาเขียน ไม่ไปอ่านของคนอื่นเลย) แบบนี้ แลกเปลี่ยนไหม น้ำหนักความเชื่อถือเท่าไหร่

ผมคิดว่า "บล็อกร้าง" ในที่นี้น่าจะหมายถึง บล็อกที่ขาดการดูแลเอาใจใส่มากกว่า ... โดยเฉพาะเน้นเรื่องกระบวนการเขียน เพราะกระบวนการเขียนมันทำให้ผู้เขียนปลดปล่อยความรุ้ ภูมิรู้ ที่อยู่ภายในออกมา อันนำมาซึ่งกระบวนการของการพัฒนาคน คนที่มีคุณภาพ คิดเป็น อ่านเป็น เขียนเป็น

กระบวนการดังกล่าว ทำให้การพัฒนาตนเป็นไปอย่างง่ายดายเมื่อเปรียบเทียบกับการที่อ่านอย่างเดียว แต่ไม่เคยได้เขียนบันทึกความในใจให้ใครได้อ่านเลย แบบนี้เรียกว่า "ให้ความรู้ตายไปกับตัวคนเลยดีกว่า" ก็เห็นจะไม่ผิด แล้วความรู้จะต่อยอดได้อย่างไรครับ

ผมคิดแบบนี้ครับ คุณเบิร์ด ไม่ทราบว่า ได้เรื่อง ตรงใจคุณเบิร์ดหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะครับ

เอากันจริง ๆ ผมทราบว่า เรื่องของ KM เป็นเรื่องรอบ ๆ ตัวของคนเรานี่แหละ

แต่ผม .. ไม่ค่อยรู้เรื่อง และไม่ค่อยจะพยายามทำให้รู้เรื่องเท่าไหร่

คงต้องรบกวนคุณมะปรางเปรี้ยว กับผู้รู้ต่าง ๆ เล่าให้คุณเบิร์ดฟังต่อไปนะครับ

บุญรักษา .. คนกวนน้ำด้วยสารส้ม ครับ

:)

สวัสดีค่ะ คุณเบิร์ด  และ อาจารย์ Wasawat

จากที่อ่านความคิดเห็นล่าสุดของอาจารย์ สิ่งที่เราต้องหาคำนิยามร่วมกันคือ บล็อกร้าง เป็นเช่นไร

คำว่าร้างในความหมายที่ดิฉันมองคือ ไม่มีการเคลื่อนไหว ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ถ้าเป็นบ้าน ก็คงเก่าแล้วเก่าอีก ไม่มีใครมาปัดฝุ่น ดูแล ประมาณนั้นคะ

แต่ บล็อกร้าง ก็เหมือนกับบล็อกที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ทั้งบันทึก ทั้งความคิดเห็น แต่บางครั้งมีความคิดเห็น แต่บล็อกร้างเพราะเจ้าของไม่อยู่ เลยไม่มีใครมาตอนรับู้มาเยือน ....อธิบายไปมาก็มาเข้าข่ายที่อาจารย์Wasawat เขียนไว้ข้างต้นคะ

สำหรับพฤติกรรมคนที่สมัครบล็อก ดิฉันขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกนิด เพิ่มเติมจากความคิดเห็นแรกที่เคยฝากไว้นะคะ

  • สมาชิกบางคนมีบล็อกที่อื่นแล้ว แต่เมื่อเข้ามาเจอบล็อกใน GotoKnow.org ก็อยากจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย แต่มีหลายบ้าน (บล็อก) ก็ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ก็มีที่ย้ายมาเขียนที่ GotoKnow.org แต่ก็มีที่ย้ายมาไม่ถาวร อันนี้แล้วแต่ความสะดวก ดิฉันเองก็เข้าใจ
  • สมาชิกใหม่ๆ เข้ามาเห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เลยเกิดอารมณ์อยากสมัคร อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้บ้าง แต่อาจจะแค่อารมณ์ชั่ววูบ จากนั้นก็ไม่ได้กลับมาเขียนต่อ
  • สมาชิกบางท่านเขียนบล็อกบ้าง แต่ก็นิยมเป็นผู้อ่านมากกว่าเช่นกันค่ะ
  • และสมาชิกบางท่านปรับตัวให้เข้ากับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน GotoKnow.org ไม่ได้ ก็อาจจะทำให้หยุดเขียนไป

สำหรับเรื่อง KM กับบล็อก ดิฉันคิดว่าคุณเบิร์ด น่าจะทราบแล้ว เลยขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมาชิกดีกว่าคะ

 

สวัสดีค่ะอ.วสวัตดีมารและน้องมะปรางเปรี้ยว

อิ อิ อิิ หัวเราะแบบการ์ตูนเจ้าเล่ห์อีกค่ะ ...ขอบคุณสำหรับการอธิบายอย่างกระจ่างนะคะเพราะเบิร์ดจะยกกรณีศึกษามาประกอบค่ะ

  1. P  สวัสดิ์ ท่านโอดิสซี่ สวัสดิ์ ซานติอาโกท่านนี้ท่านเขียนบันทึกล่าสุดเมื่อ 8 สค.50 แล้วท่านก็ห่างหายออกไปจากการบันทึกเนื่องเพราะภารกิจคุณอำนวยของมหาวิทยาลัยชีวิต..ท่านเพิ่งเข้ามาทักเบิร์ดเมื่อวันที่ 21 พย.นี่เองค่ะ..อย่างนี้จะเรียกว่าร้างมั้ยคะ เพราะท่านก็ไม่ได้เขียนอะไรเพิ่มเติมในบันทึกของท่านเลย.. แต่่เราก็บอกไม่ได้เช่นกันนะคะ้ว่าท่านไม่ได้กลับไปปัดกวาด หยากไย่ในบ้านของท่านในความหมายที่เข้าไปดูว่ามีคนเข้ามาทักทายหรือเปล่า..หรือว่าต้องมีการตอบความเห็นด้วยคะถึงจะถือว่ามีการปัดกวาดหยากไย่น่ะค่ะอาจารย์ เพราะในบันทึกของท่านมีความเห็นค้างอยู่.. รวมทั้งคำถามที่เบิร์ดไปเคาะประตูทักทายไว้
  2. P  มันแกวท่านมันแกวสามแผ่นดินนี้ท่านเป็นสมาชิกตั้งแต่ 12 กย.50 ท่านไม่ได้เขียนบันทึก แต่ท่านเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเบิร์ดอยู่บ่อยๆล่าสุดเข้ามาเมื่อ 2 พย.50 แบบนี้บล็อกท่านถือว่าร้างมั้ยคะ ?

อีกกรณีหนึ่งนะคะ ถ้าสมัครสมาชิกแล้วไม่อัพเดตบล็อก 4 เดือนขึ้นไปถือว่าร้าง ..คนนี้สมัครสมาชิกเมื่อ ธค.48 เขียน 5 บันทึกและหายไป 2 เดือนกลับมาเขียนใหม่อีก 5 บันทึก แล้วหายไป 1 ปี  กลับมาเขียนใหม่

จนเป็นที่รู้จัก      P  เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

...4 เดือน น้อยไปนิดมั้ยคะอาจารย์ ?

กระโดดกลับมาเล่นน้ำในขันใหม่ค่ะอาจารย์ ^ ^

 

ผมไม่คิดว่าบล๊อกร้างเป็นปัญหาสำหรับระบบหรอกครับ พวกที่สมัครแล้วไม่ใช้ จะมีตัวตนอยู่หรือไม่มีก็คงจะไม่ทำให้ GotoKnow ดีขึ้นหรือเลวลง

ในการหาจำนวนผู้ใช้เพื่อคำนวณทรัพยากรของระบบที่จะต้องใช้รองรับการใช้งานของสมาชิก ผมดูที่จำนวนสมาชิกที่เข้าระบบ (ล๊อกอิน) มาเมื่อเร็วๆนี้ พร้อมกับจำนวน pageview ที่วัดโดย truehits มากกว่า (pageview เป็นดัชนีที่ดีที่สุดสำหรับการหาปริมาณงานที่ GotoKnow ต้องทำเพื่อบริการสมาชิก)

เวลา จำนวนสมาชิกที่ล๊อกอินเข้าระบบ
ภายใน 1 เดือน ~ 5900 <-- # of active users
ภายใน 2 เดือน ~ 10300
ภายใน 3 เดือน ~ 14600
ภายใน 4 เดือน ~ 17600
ภายใน 5 เดือน ~ 19900
ภายใน 6 เดือน ~ 21200
ตั้งแต่เริ่มเปิดบริการ ~ 41100

สำหรับการเข้ามาอ่านบันทึกและความคิดเห็นนั้น มาจากภายใน GotoKnow เองประมาณครึ่งหนึ่ง และผ่านมาจาก Google อีกร้อยละ 40 ครับ

แม้สมาชิกจะไม่ได้ใช้ GotoKnow อีกต่อไป แต่สิ่งที่ทิ้งเอาไว้ ก็ยังอาจจะมีค่าต่อผู้อื่นในภายหลังนะครับ แต่ผมเห็นว่าควรจะลบพวกโฆษณาแอบแฝงออกไป 

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์

สบายดีไหมครับ 

แหม โดนคุณเบิร์ดเอามาประจารย์ซะแล้ว ฮ่าๆๆๆๆ

คือว่ามายืนยันว่าเป็นแบบนั้นจริงๆครับ ช่วงแรกนั้น บล็อกคืออะไรหว่า... แล้วมาเีขียนโดยไม่รู้ว่าจะให้ใครมาอ่าน มาบ่นเรื่องชีวิต การเมือง

แล้วมาเขียนเอาช่วงหลังนี่หล่ะครับ เพราะได้มาเจอคน เพิ่งรู้ครับ ว่ามีคนอื่นด้วย ห้าๆๆๆ

ผมว่า ร้างไม่ร้าง ไม่น่าจะสำคัญเท่ากับความเป็นประโยชน์ของบทความ ที่จะเอาไปต่อยอดได้ หากบทความนั้น มีประโยชน์คนจะเข้ามาเสพ และเอาไปใช้เองครับ เพียงแต่หากเรามีเวลามาตอบได้ตามที่ว่างๆ ก็ยอดแล้วหล่ะครับ

เพราะเป็นรูปแบบอิสระ  ผมก็หายไปเป็นปีเลยครับ บทความบางบทความนั้น อัพเดตทันสมัยตลอดเวลา ไม่ว่าจะเข้าเมื่อไหร่ก็ทันสมัยและใช้การได้ บางบทความก็เขียนแล้วก็เก่าทันที บางบทความล้าสมัยตั้งแต่ยังไม่เขียน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ประโยชน์และประสบการณ์ ก็อยู่ในบทความนั้น จะมากหรือน้อย หรือโดนใจคนอ่านที่พลัดหลงเข้ามาจากช่องทางต่างๆ ครับ

ผมอยากจะยกตัวอย่างบล็อกหนึ่งนะครับ เขียนไว้นานแล้ว บทความล่าสุดก็นานแล้วครับ แต่ลองไปดูคนที่เข้าไปใช้ประโยชน์นะครับ คนอ่านเป็นหมื่นๆ ครับ นี่คือตัวอย่างบล็อกที่มีประโยชน์ในระดับที่คนเข้ามาเจอ ผ่านช่องทางต่างๆครับ

เป็นบล็อกของช่างป่าน

http://gotoknow.org/blog/phand/toc 

แม้ว่าตัวช่างป่าน จะเข้ามาไม่ถี่ก็ตาม แต่ผมว่าบทความของช่างป่านมีประโยชน์ จากการดูจำนวนคนเข้าและจำนวน การแลกเปลี่ยนในหลายบันทึกครับ

ดังนั้น ร้างเพราะไม่ได้มาแลกเปลี่ยน ร้างเพราะไม่มีคนคลิ๊ก ร้างเพราะอะไร.... ไม่สำคัญเท่าความมีสาระของเนื้อหาที่เกิดประโยชน์ภายในบล็อก....ผมสรุปแบบนี้อาจจะผิดครับ อิๆๆ แลกเปลี่ยนกันสนุกๆ นะครับ

อากาศทางเหนือเป็นไงบ้างครับ มีหิมะยังครับ  

 

เห็นด้วยกับคุณ Conductor ในเรื่องโฆษณาแฝงที่ผิดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน ส่วนเรื่องการเขียนบันทึกนี่เป็นสิทธิของแต่ละคนนะคะ รวมถึงการล็อกอินเข้าระบบด้วย ประมาณเดือนเศษที่ผ่านมางานยุ่งมาก ก็ใช้วิธีเปิดแค่มอนิเตอร์ดูประเด็นที่น่าสนใจ อ่านเสร็จแล้วก็ปิด ไม่มีเวลาแม้กระทั่งคอมเม้นท์ด้วยซ้ำ อย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ถามว่าคนที่ทำแบบนี้มีมั้ย ก็คงมีไม่น้อยเช่นกัน

ฝากถึงน้องต้นกล้าโดยเฉพาะ... (พอดีพี่เห็นตอบคำถามแนวโหดประมาณนี้มาหลายครั้งแล้ว เลยขอพูดสักหน่อยเถอะนะ)
พี่ว่าน้องต้นกล้าอาจจะพูดแรงไปหน่อย และมีวิธีการที่เหี้ยมและด่วนตัดสินคนแต่ปัจจัยที่คิดเองฝ่ายเดียวไปสักนิด เหตุนี้อาจเพราะยังเด็กอยู่ เมื่อเจออะไรมากๆ ในชีวิตเข้ามาผ่านจากนี้ไปสักสี่ห้าปี ได้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้นในการทำงาน ได้เจอปัญหาและได้หาทางออกในการแก้ปัญหาแบบผู้ใหญ่ที่คิดรอบด้านถึงข้อดีข้อเสีย คุ้มไม่คุ้ม วิธีการคิดที่ด่วนตัดสินคนแบบนี้อาจจะเปลี่ยนไป

น้องอยู่ในฐานะผู้ดูแลระบบ ต้องระวังการแสดงอารมณ์และวิธีในการตอบสักนิด แนะนำว่าดูพี่มะปรางเป็นกรณีศึกษา พี่เขาเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่มีวุฒิภาวะแบบผู้ใหญ่ในการตอบคำถามค่ะ ควบคุมอารมณ์และใช้เหตุผลในการจัดการคำถามได้ดี (อย่าโกรธกันนะ พี่พูดความจริงจากที่เห็น อ้อมค้อมไม่เป็น)

สวัสดีค่ะ

ตามน้องเม้งมาค่ะ

เรื่องประเด็นบล็อกร้างเคนเห็นหลายท่านพูดถึง แต่เมื่อคุณ conductor บอกว่าไม่มีผลต่อระบบก็ทำให้ยิ่งเห็นด้วยกับคุณเบิร์ด น้องเม้ง และน้องซูซานค่ะว่าบางบันทึกที่เจ้าของร้างไปด้วยเหตุอันใดก็ตาม แต่บันทึกนั้นอาจยังคงมีประโยชน์อยู่เสมอ ยิ่งมีข้อมูลว่า 40% ของผู้ที่เข้ามามาจาก google ด้วยแล้วการลบบล็อกร้างเห็นว่าไม่จำเป็น

แต่ละคนอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน การกำหนดว่าต้องมาดูแลบล็อกอย่างสม่ำเสมออาจก่อให้เกิดความเครียด เหมือนถูกบังคับกลายๆ ... อยากให้ทุกคนเข้ามาที่นี่ด้วยใจ และเต็มใจค่ะ

ตอบพี่ Little Jazz ครับ

ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่าคอมเม้นต์ในบันทึกนี้ ผมเขียนในขณะที่กำลังอารมณ์ดี จิตไม่เกิด อารมณ์เกรี้ยวกราดไม่เกิด ... บรรทัดแรกๆ ที่ชมมะปราง ผมชมจากใจจริง ไม่ได้ประชดหรือแดกดัน .. ต่อมาผมชี้แจงว่าถ้าเป็นวิธีผมคือลบทิ้ง .. จากนั้นผมก็อธิบายต่อว่าวิธีลบทิ้งนี้มันเก่าแล้ว Google, Yahoo!, Hotmail เขาก็เลิกใช้กันหมดแล้ว 

ผมไม่ได้โกรธพี่ Little Jazz เลยครับ เพราะสิ่งที่ใจผมสื่อออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่พี่เข้าใจครับ ... ต้องขออภัยที่ตัวหนังสือของผมมันดูห้าว ดุดัน ถ้าอ่านผ่านๆ มันอาจชวนให้เกิดอารมณ์ แต่ถ้าดูดีๆ จะแฝงอารมณ์ขัน แบบตลกขำขื่นครับ เจอทักแบบนี้ ผมต้องงดการแสดงความคิดเห็นในบันทึกที่เสี่ยงต่อการเข้าใจผิดแล้วล่ะครับ เพราะสไตล์เขียนแบบโหด มัน ฮา ของผมนี้สร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ที่อ่านผ่านๆ มาเยอะพอสมควร ... ผมยอมรับครับว่า ego ผมสูง แต่ผมไม่เคยปล่อยมันออกมาเพ่นพ่านในพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น

สุดท้าย ผมยังยืนยันครับ ว่าไม่เคยใช้อารมณ์โกรธ อารมณ์หงุดหงิด ตอบคอมเม้นต์ในบันทึก GotoKnow เลยแม้แต่บันทึกเดียว .. ภายใต้การ login ชื่อต้นกล้า ผมระมัดระวังคำพูดอยู่เสมอครับ และผมก็ลูกผู้ชายพอที่จะด่าใครโดยไม่กลัวการ login แสดงตัวตน ...

ผมใช้สติดูอารมณ์อยู่ตลอดครับ เจอคำท้วงติงขอพี่เข้าไป ผมสะอึกเล็กน้อย  เป็นเพราะว่าเพิ่งเจอการเจาะจงตัวเป็นครั้งแรก  แต่ไม่ได้โกรธหรือเสียความรู้สึกแต่อย่างใดนะครับ ขอบคุณครับ

ผมก็เห็นว่ากล้าตอบในโทนที่อธิบายมาครับ ไม่มีอะไรหรอก ศิลปิน (Little Jazz) กับศิลปิน (กล้า) ก็อาจจะไวต่อความรู้สึกบ้าง

ดังนั้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จึงเป็นสิ่งจำเป็นยังไงครับ

ขอบคุณ .. คุณ มะปรางเปรี้ยว ที่แวะมาตอบเพิ่มเติมและได้แสดงความคิดเห็นเรื่องของบล็อกร้าง และพฤติกรรมของผู้ใช้งานใน Gotoknow นะครับ

ขอบคุณ ... คุณ เบิร์ด นักจิตวิทยาที่ยั่วยุผมให้ตอบคำถามที่ผมถามเอง ... ได้ยกกรณีศึกษามาเพิ่มให้ พร้อมบอกเป็นนัย ๆ ว่า ความร้างของบล็อก ไม่ได้วัดกันที่การแว่บ

ขอบคุณ ... คุณ Conductor ... ผู้เชี่ยวชาญระบบ ได้มาแจ้งให้ทราบว่า บล็อกร้างไม่ได้ทำให้ทรัพยากรของระบบลดประสิทธิภาพลง และคำกล่าวที่ว่า ...

"...แม้สมาชิกจะไม่ได้ใช้ GotoKnow อีกต่อไป แต่สิ่งที่ทิ้งเอาไว้ ก็ยังอาจจะมีค่าต่อผู้อื่นในภายหลัง..."

นี่คือ วลีสำคัญที่เป็นมุมมองว่า ให้มองคุณค่าของบันทึกที่เขียนทิ้งไว้มากกว่าการประเมินค่าที่ระยะเวลาการเข้าใช้อ่านหรือเขียนบันทึก

ขอบคุณ ... คุณ  เม้ง  ผู้อารี ที่แวะมาเสริมและสนับสนุนแนวทางความคิดของคุณ Conductor ที่ว่า บล็อกร้างที่ไม่ได้ใช้ ไม่สำคัญเท่ากับ บันทึกที่เขียนไว้แต่ทรงคุณค่า ครับ พร้อมกับยกตัวอย่าง บล็อกของช่างป่าน >> http://gotoknow.org/blog/phand/toc :)

ตอนนี้ภาคเหนือ ... อุณหภูมิลดลงเรื่อย แต่หิมะไม่ตกแน่ ๆ ครับ ... :)

ขอบคุณ ... คุณ Little Jazz \(^o^)/ ที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนคุณ Conductor ให้จัดการกับบล็อกที่มีโฆษณาแฝง

ขอบคุณ ... ท่านอาจารย์ paew ที่ตามคุณเม้ง ผู้อารี มา เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ... การเขียนบันทึกต้องใช้หัวใจและความเต็มใจในการเขียน ไม่ควรบังคับ

ขอบคุณ ... น้อง ต้นกล้า หนึ่งในทีมงานผู้ดูแลระบบ ผมเชื่อว่า ประสบการณ์จะทำให้น้องกล้าแข็งขึ้น :) ดอกบัวในใจยังคงบานอยู่ ไม่มีวันโรยรา (แม่เฒ่าตุ้ม)

ขอบคุณทุกท่านจากใจจริงครับ :)

ประมวลความคิด ... ครับ

การให้ความสนใจต่อ "บล็อกร้าง" เป็นไปได้ 2 ทาง ครับ คือ

  • 1. ให้ความสนใจกับ "บล็อกร้าง"
  • 2. ไม่ให้ความสนใจกับ "บล็อกร้าง"

กรณีที่ 1 .. ให้ความสนใจกับ "บล็อกร้าง

บล็อกที่มีประโยชน์ ... ไม่ควรถูกลบออกจากสารบบ (นำเสนอจากความคิดเห็นของสมาชิก)

  • บล็อกที่มีการเขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอ
  • บล็อกที่มีการเขียนบันทึกที่มีคุณค่าต่อมวลมนุษย์
  • บล็อกที่มีการเขียนบันทึกที่มีคุณค่าต่อมวลมนุษย์ แต่...ได้ขาดการติดต่อเป็นระยะ ๆ
  • บล็อกที่มีการเขียนบันทึกที่มีคุณค่าต่อมวลมนุษย์ แต่...ได้ขาดการติดต่อเกินระยะเวลาที่กำหนด (ไม่ทราบค่ามาตรฐานจำนวนปี)

บล็อกที่ไม่มีประโยชน์ ... สมควรถูกลบออกจากสารบบ (นำเสนอจากความคิดเห็นของสมาชิกและความคิดส่วนตัว)

  • บล็อกที่มีการสมัครครั้งแรกแล้ว ... ไม่เคยเขียนบันทึกไว้เลย ทิ้งระยะเวลาเกินกว่าที่กำหนด (ไม่ทราบมาตรฐานจำนวนปี) ... [ อาจจะเกิดตามข้อสันนิษฐานของคุณมะปรางเปรี้ยว]
  • บล็อกที่มีการสมัครครั้งแรกแล้ว ... ได้เขียนแล้ว อย่างน้อย 1 บันทึก แต่กรรมการตรวจสอบใช้วิจารณญาณว่า ไม่มีประโยชน์ หรือ ไม่ทรงคุณค่าใด ๆ และไม่เคยเขียนอีกเลยตามระยะเวลาที่กำหนด
  • บล็อกที่มีการลงโฆษณาแฝง
  • บล็อกที่มีลงเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี

กรณีที่ 2 .. ไม่ให้ความสนใจกับ "บล็อกร้าง" (นำเสนอจากความคิดเห็นของสมาชิกและความคิดเห็นส่วนตัว)

  • "บล็อกร้าง" ไม่มีผลกระทบต่อทรัพยากรระบบ
  • "บล็อกร้าง" ไม่ควรนำมาคิดมากกว่าคุณค่าของบันทึก
  • "บล็อกร้าง" ถือเป็นสิทธิส่วนตัวของสมาชิก ผู้ตัดสินใจที่จะมาสมัคร .. สามารถจะอ่านอย่างเดียวก็ได้ หรือ เขียนอย่างเดียวก็ได้ หรือ ทั้งอ่านและเขียนก็ได้ ตามสบาย
  • "บล็อกร้าง" ก็เหมือนบ้านร้าง ไม่มีคนอยู่ ก็ไม่มีคนเข้าไป ไม่มีคนเข้าไป ก็ไม่เกิดปัญหาใด ๆ

 

สิ่งที่ฝากคิด ...

  • "บล็อกร้าง" เป็นดัชนีชี้วัดสิ่งใดได้บ้าง (พฤติกรรมของสมาชิก, ความรับผิดชอบของสมาชิกและองค์กรที่เข้าร่วมใช้, ความเปลี่ยนไปของพฤติกรรมของคนในสังคมตามกระแสโลกที่หมุนเปลี่ยน ฯลฯ)
  • "บล็อกร้าง" มีการจองชื่อไว้จนกว่าจะถูกลบออกจากสารบบ ถ้าสมาชิกใหม่อยากได้ชื่อดังกล่าว ทีมงานจะทำอย่างไร หรือคิดว่า Gotoknow จะยังคงมีความเจริญเติบโตเท่านี้ และทรัพยากรยังคงรองรับได้อยู่
  • "บล็อกร้าง" มีคุณค่ากับการที่คนสนใจตัวเลขสถิติ (นักวิจัย) เท่านั้น ... เช่น มีคนสมัครสมาชิกเท่านี้ สมัครแล้วเขียนต่อเท่านี้ สมัครแล้วไม่เขียนต่อเท่านี้ สมัครแล้วหายไป 1 ปีกี่คน หายไป 2 ปีกี่คน ผลุบ ๆ โผล่ ๆ กี่คน ฯลฯ
  • ฯลฯ

สุดท้าย ... ทุกอย่างต้องมีเกิด แล้วก็มีดับ เป็นไปสัจธรรมของพระพุทธเจ้า

และคนที่ไม่มีเคยคิดสิ่งใดเลย ไม่คิดจะพัฒนาตัวเองเลย คือ คนที่ "ตาย" ไปแล้ว

สาธุ !

ขอบคุณน้องต้นกล้าที่มาตอบแบบแมนๆ พี่ก็เขียนจากการอ่านอย่างละเอียด ไม่ได้อ่านผ่านๆ ภาษาที่น้องเขียนออกมามันชวนให้รู้สึกถึงอารมณ์จริงๆ โดยเฉพาะประโยคที่บอกว่า "account ไหน ไม่ active ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน .. ลบทิ้ง ลบอย่างเดียว" "ความเห็นส่วนตัวของผม ... ถ้าผู้ใช้ไม่มีการเคลื่อนไหวภายใน 3-4 เดือน ผมว่าควรลบทิ้งครับ ... แต่ในโลกที่ต้องเอาตัวเลขไปทำรายงานส่งเบื้องบน ตัวเลขเยอะๆ ย่อมปลอดภัยกว่าตัวเลขน้อยๆ ... หรือเปล่าครับ?" สำเนียงมันดูเป็นผู้ดูแลระบบที่มีวุฒิภาวะหรือเปล่า หรือออกแนวฮา พี่อ่านแล้วก็ไม่เห็นขำ โหดน่ะก็เกือบใช่ มันส์ก็ไม่เชิง พี่คงรู้สึกมากไปเอง คือ ไม่ได้อยากชวนทะเลาะ พี่มันแก่แล้ว คงไม่ห้าวเหมือนเด็ก เลยตกใจภาษาไปหน่อย

ถ้าน้องเป็น user คงไม่มีใครสนใจ เพราะเป็นสิทธิของ user ที่จะออกความเห็น แต่พี่ถึงบอกว่าน้องนอกจากเป็น user แล้วยังเป็นคนหนึ่งในทีมดูแลระบบ ซึ่งมันอ่อนไหวต่อผู้ใช้คนอื่น พี่ถึงเห็นว่าคำพูดแบบนี้มันไม่ค่อยดี ตลกมันมีหลายแบบ แต่ตลกแบบกัดหรือเหน็บแนมมันพาลให้คนเข้าใจผิดเอาง่ายๆ

ไม่ว่ากัน ตามสบายอยู่แล้ว พี่แค่เตือนเพราะเห็นเขียนแบบนี้หลายครั้ง ถ้าน้องคิดว่าดีเหมาะสมอยู่แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของน้องเอง พี่คงไม่ไปก้าวก่ายอะไรมากกว่านี้หรอก ชิลด์ๆ

สวัสดีค่ะ

มาอ่านสรุปของอาจารย์Wasawat  ทำให้หลายๆ ท่านเห็นภาพรวมได้มากขึ้นคะ สำหรับโฆษณาแฝงและไม่แฝง (โฆษณากันเห็นๆ) อันนี้ต้องขอลบค่ะ

สำหรับสิ่งที่อาจารย์ได้เขียนไว้ให้ฝากคิด น่าสนใจ ทางทีมงานจะนำข้อมูลไปพิจารณาเพื่อการจัดการชุมชนแห่งนี้ต่อไปค่ะ

ขอบคุณมากคะ

งานใหม่"ยาม g2k" หรือ "หน่วยเฝ้าระวัง g2k" คงจะเกิดแล้วครับ 

 อาจารย์ Wasawat   ครับวันที่ 30 นี้ถ้าอาจารย์มากรุงเทพมาร่วมคิดกันหน่อยก็ดีครับ

 http://gotoknow.org/blog/sutthinun/149142

http://gotoknow.org/blog/yahoo/148428

ยินดีครับ คุณ มะปรางเปรี้ยว :) หวังว่า จะมีสาระบ้างเนาะครับ 

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ เอก ..

  • งานใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่ สงสัยจะอยู่ที่การวางแผนของทีมงานผู้ดูแลระบบครับว่า สำคัญ หรือไม่ สำคัญ ...
  • 30 พ.ย.นี้ ผมมีภาระการสอนหนังสือครับ อาจารย์
  • ผมขอรอฟังข่าวจากเว็บแล้วกันนะครับ
  • ขอบคุณอาจารณ์มาก ๆ ครับ ที่ให้เกียรติ
  • ขอบคุณครับ :)

 

  • สวัสดีครับ
  • ปกติผมไม่ค่อยชอบเข้ามาบันทึกที่ชวนปวดหัวนักครับ ชอบแบบสบายๆสนุกๆ
  • ผมนำประสบการณ์ของผมเองมาเล่าแล้วกันนะครับ
  • อย่างที่พี่มะปรางบอกเรื่องการส่งmail เวลาที่มีการแสดงความคิดเห็นในกระทู้ อันนี้ยืนยันครับว่าช่วยได้มาก ผมเองก็หนึ่งในนั้นที่มีแรงกระตุ้นจากกำลังใจของพี่ๆสมาชิกโดยเฉพาะในชุมชนนักส่งเสริมการเกษตร หรืออย่างท่านอาจารย์ขจิตที่ได้รับฉายาว่าหนุ่มเชียร์Blog มีผลต่อแรงใจมากครับ ผมเองอบรมเสร็จBlog ล้างไป 2-3 เดือน แต่พอมีแรงกระตุ้นเข้ามาผมก็เริ่มเขียนอีก
  • หากมีหนุ่มเชียร์ Blog เยอะๆช่วยได้เยอะครับ แต่ก็ติดว่าทุกท่านก็มีหน้าที่และภารกิจกัน
  • การจะไม่ให้ Blog ล้างขึ้นอยู่กับตัว Blogger ครับ
  • การลบ ก้เป้นอีกทางหนึ่งที่เห็นด้วยครับ แต่ควรแจ้งทาง mail ให้เจ้าของบันทึกรับทราบก่อน หากเขาไม่ตอบกลับจึงค่อยลบและระยะเวลาก็น่าจะประมาณสัก 6 เดือน อันนี้นานครับ
  • ส่วนการแก้ระยะยาวก็มีข้อตกลงว่าจะลบตอนที่ผู้สมัครใหม่เข้ามา ให้เขาเข้าใจกติกากันก่อน
  • ขอบคุณครับ

ดิฉัน มีความรู้สึกว่า มีบล็อกที่ไม่มีการเขียน จำนวนไม่น้อย น่าจะมีการตั้งระเบียบนะคะ จะได้สะท้อนความเป็นจริง

ไปลอยกระทงมามีพลุมาฝากค่ะ

สวัสดีครับ ... คุณ สุดทางบูรพา

  • ขอบพระคุณมากครับ สำหรับคำแนะนำดี ๆ นะครับ มีหลาย ๆ ประการเลยที่น่าสนใจมาก
  • เรื่องนี้ ขอส่งต่อไปยังคุณ มะปรางเปรี้ยว และทีมงานนะครับ
  • อย่าคิดว่า บันทึกนี้ปวดหัวเลยนะครับ ... เพราะสังคมไทยด้านนอก เรื่องการเมือง ก็ปวดหัวกันมากแล้ว ผมว่า สมาชิกเรามีกันนับคนได้ครับ ช่วยกันดูแล ผมว่าดีที่สุดเลยครับ

ขอบคุณมากครับ :)

สวัสดีครับ พี่ sasinanda

  • ที่ได้ลงความเห็น และ
  • ยังเอาภาพมาฝากให้ ... สวยดีนะครับ
  • ภาพพลุนี่ ถ่ายยากน่าดูทีเดียวนะครับ

ขอบคุณนะครับ :)

สวัสดีค่ะ คุณพี่อาจารย์ Wasawat Deemarn


หายไปหลายวันเลยค่ะ อ๋อเขียนบันทึกไปตั้งหลายเรื่องแล้วค่ะ ช่วงนี้มีเพื่อนๆใหม่ๆเข้ามาตอบมากหน้าหลายตาขึ้นค่ะ ก็สนุกๆดี

อ๋อรู้แล้วหล่ะ อ๋อเลือกที่จะไม่ตอบถ้า พิจารณาดูแล้วว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้มาเป็นผู้เขียนบันทึกอย่างจริงจัง จริงใจ คือมีสิ่งใดสิ่งอื่นแอบแฝงนั่นเอง

ผู้เขียนบันทึกประจำและมีบันทึกส่วนตัว ย่อมมีกิจกรรมต่างๆมากมายในบันทึกของตนเอง และไปเยี่ยมชมบันทึกอื่นๆด้วย นั่นถือเป็นธรรมชาตินะคะ เพราะใจเราใจเขาค่ะ เราก็ชอบให้ผู้อ่านมาเยี่ยม กัลยาณมิตรมาคุย เขาก็น่าจะพอใจเช่นกัน เป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมปกติๆไงคะ

แต่หากมาเพื่อถามอย่างเดียว  ตั้งใจถามมากๆ นี่ต้องพิจารณาเป็นทีละคำถามๆ ที่ละประโยค เป็นรายๆไปค่ะ เหตุใดอ๋อจึงต้อง เรื่องมากขนาดนี้ เพราะการหยุดก่อนจะมีเรื่อง น่าจะดีกว่ามีเรื่องแล้วค่อยหยุดค่ะ

หยุดปัญหาก่อนเกิดปัญหา เหมือนตบมือข้างเดียวย่อมไม่ดังฉันนั้นค่ะ

ก็  นี่บันทึกส่วนตัวของเดี๊ยน นะจ๊ะ ขอบอกๆๆๆๆ  ....ว๊ะ ฮ่ะ ฮ่ะ ฮ่า....

Pic27446

สวัสดีครับ น้องหมออ๋อ

  • เป็นความคิดเห็นที่เยี่ยมมากเลยนะจะบอกให้
  • เป็นสิ่งที่พี่ทำเหมือนกันน้องเปี๊ยบเลยล่ะ
  • เขียนได้เหมือนใจคิดเลยครับ

ขอบคุณมากครับ สำหรับสิ่งดี ๆ นะ

สวัสดีค่ะ อ.Wasawat

เปิดมาเจอบันทึกของ

ขอโทษค่ะ ไปกดผิด อิอิ ...เปิดมาเจอบันทึกของ อาจารย์ คิดถึงก็เลยแวะมาทักทาย ช่วงนี้เพิ่งมีเวลาค่ะ หลังจากนำนักเรียนไปเข้าค่ายลูกเสือ เมื่อ2-3 วันที่แล้ว เหนื่อยมาก ๆ ก็เลยหายไป ไม่ได้ตั้งใจ...ทำบล๊อกเป็นหม้ายนะค่ะ....  อิอิ

สวัสดีครับ ครูเอ

  • แฮะ ๆ บล็อกยังไม่เป็นหม้ายแน่นอนครับ ก็ครูเอมาให้เห็นเป็นประจำแน่นอน
  • อีกประการ ผมก็ไม่ได้เข้ามาหลายวันเหมือนกันครับ
  • ออกไปทำใจมา เอ้ย ไปราชการน่ะครับ

ขอบคุณนะครับ :)

สวัสดีค่ะ อ.wasawat

*.ใครหนอใจ..ร้ายจัง.. ทำร้ายคนแก่ได้ลงคอ อิอิ  พูดเล่นค่ะ

ขอบคุณครับ ครูเอ ...

ขอยืนยันว่า ไม่แก่นะ จะบอกให้ (อิ อิ) :)

สวัสดีค่ะอาจารย์ Wasawat

ตามมาจากอนุทินค่ะ เป็นประเด็นที่อาจารย์เขียนไว้นานพอควร

แต่ยังเป็นประเด็นที่น่าสนใจนะคะ

ขอบคุณครับ พี่แจ๋ว jaewjingjing ... แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้นะครับ ... :)

บล็อกร้างบางทีก็มีประโยชน์แต่เจ้าของอาจจะติดภาระกิจใหญ่ค่ะ เช่น เดินทางไปเรียนต่างประเทศ อาจจะไม่สะดวกค่ะที่จะเขียนบล็อก อาจทำงานหนักมากค่ะจนไม่มีเวลาค่ะ

นั่นก็ถือว่า เป็นเหตุผลหนึ่งครับ น้อง berger0123 ;)

ขอบคุณครับที่แวะมาพรวนบันทึกให้ร่วน ๆ ;)

งานยุ่งเหยิงไปพักนึง พอกลับมาก็จำรหัสไม้ได้ ก็เข้าของตนเองไม่ได้ ไม่ได้ตั้งใจทิ้งรกร้างว่างเปล่าเลย ขออภัยจริงๆ ก็เลยได้แต่เปิดอ่านเฉยๆ ไม่ได้เขียนลง

คุณ jai จำรหัสไม่ได้ ลองเมล์สอบถามวิธีแก้ไขจากน้องมะปรางเปรี้ยวดูนะครับ ;)

เป็นประเด็นที่น่าสนใจนะครับ...

โดยเฉพาะประเด็น "สมาชิกลวง" นะครับ เพราะมีหลากหลายรูปแบบ...

แนวทางคงต้องฝากทางทีมงานผู้ดูแลระบบพิจารณานะครับ...

ขอบคุณครับผม...

สวัสดีครับ คุณ Mr.Direct ;)

แหม วันนี้มาเยือนได้อย่างไรกันครับ ไม่ค่อยได้คุยกันเลย

"สมาชิกลวง" เมื่อปี พ.ศ.2550 นั้น ต่างกับ "สมาชิกลวง" ณ ปี พ.ศ.2552 ครับ

เป็นคนละแง่มุมและพฤติกรรมกันเลย เรื่องนี้คุยกันยาวแน่ ๆ ครับ

มัน "ลวง" กันคนละแบบ อิ อิ ไม่รู้ว่า คน "ลวง" เขารู้ตัวเองบ้างไหมหนอว่า มีคนอื่นรู้ว่า "ลวง"

น่าสนใจทีเดียวครับ

ขอบคุณมากครับ ;)

สมาชิกลวง ก็น่าจัดการอยู่น่าค่ะ

เหมือนกับว่ามาแบบฝืนใจ มาเพื่อผลประโยชน์อะไรบางอย่าง มาเพราะ..สั่งให้มาสมัคร

ก็เลยเป็นเหตุให้ไม่ค่อยอยากเขียน เพราะไม่มีใจที่จะมาตั้งแต่แรกค่ะ

ใช่เลย น้อง berger0123 ;)

นั่นเป็น "ลวง" พ.ศ.2550 ครับ ...

แต่ "ลวง" พ.ศ.2552 นั้น ลึกล้ำกว่านั้นครับ ...

อิ อิ ... เรื่องมันยาวจริง ๆ

ขอบคุณครับ

เอาไว้จะรอ คุณwasawatเขียนต่อยอดเรื่องนี้ต่อค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

เคยมาอ่านบันทึกนี้แล้ว แต่ไม่มีข้อมูลพอจะต่อยอด จึงได้แต่อ่านเฉย ๆ

ระยะหลัง ๆ ได้พบเห็น ได้รู้ความเป็นมาบ้าง ได้รับผลกระทบเองบ้าง และเป็นจริงที่ว่า ลวง ในปี 2552 ต่างจาก ลวง ในปีอื่น ๆ

ตอนรู้เห็นเรื่องของคนอื่นก็เฉย ๆ ค่ะ ได้แต่ เห็นใจ เข้าไปให้กำลังใจบ้างหากมีโอกาส ...

พอตัวเองโดนบ้าง ก็ได้เห็นน้ำใจของคนที่ไม่ค่อยได้คุ้นเคย ได้พูดคุยกัน...ที่เตือนด้วยความปรารถนาดี...ซึ้งใจ และ เข้าใจว่า แม้จะไม่ค่อยได้เข้าไปคุย เจ๊าะแจ๊ะ ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ได้อ่านบันทึกของคนเหล่านั้น เพียงบางครั้งไม่สบโอกาสและอัธยาศัยในการจะไปคอมเม้นท์ (ไม่กล้า...ดุ จริงจัง ...เกินไป...ทำนองนั้น)

สำหรับ กลุ่มลวง นี้ จะว่าไปแล้ว คนไม่มีราก "เห็นใจ" เพราะคงต้องมีเหตุผลสำคัญมากมาย จนทำให้เขาไม่กล้า "ระบุอัตลักษณ์ ความเป็นตัวเป็นตน" ของเขา

ธรรมชาติคนย่อมต้องการการ "ยอมรับในตัวตนของตน" แต่คนที่ไม่ระบุตัวตนนี่ ก็น่าจะมีเหตุผลของเขา ดังนั้นแม้จะรู้ว่า คนที่มาคอมเม้นท์เรา เป็น "พวกลวง" ก็ยอมรับและพยายามให้เกียรติเขาในฐานะที่เขาต้องการให้รับรู้...และได้แต่หวังว่า สักวันที่เขาพร้อม ก็คงจะ แสดงตัวตน อันแท้จริง โดยไม่ต้องปกปิดอีกต่อไปค่ะ

สำหรับเรื่อง "พื้นที่" ที่ต้องเสียไปกับคนเหล่านี้ ... คงต้องสุดแล้วแต่ผู้ดูแลระบบ และนโยบายของเจ้าของพื้นที่ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

อา คุณ คนไม่มีราก กล่าวได้เป็นจริงแล้วครับ สำหรับ "สมาชิกลวง" ใน พ.ศ.2552

คุณ คนไม่มีราก เข้ามาคุยด้วยบ่อย ๆ แสดงว่า ผมไม่ดุ ใช่ไหมครับ อิ อิ

แหม ชอบมีกัลยาณมิตรเรียกผมว่า ครูเสือ ๆ ... ทำให้ภาพลักษณ์ผมเสีย 555

สำหรับ "สมาชิกลวง" เขาอาจจะทำไปด้วยการรู้สึกตัวเอง หรือไม่รู้สึกตัวเอง โดยไม่มีความรับผิดชอบอะไรต่อสังคมรอบ ๆ ตัวของเขา

สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ การปล่อยวาง และไม่ต้องสนใจกับคำพูด พฤติกรรมของเขามากนัก แต่นั่งดูด้วยการให้อภัย จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นครับ

ถ้าคิดว่า เราทำทุก ๆ วันนี้ ดีแล้ว ชอบแล้ว ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็ทำต่อไปครับ หากคิดว่า เรายังมีสิ่งที่ไม่ดี ๆ ทำอยู่ ก็อาจจะลองพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

อย่าลืมว่า ความดี ความเป็นคนดี อยู่ที่ตัวเราเอง หัวโขนใด ๆ ไม่ได้ทำให้เราเป็นคนดีได้โดยแท้จริง ครับ

อยากให้กำลังใจ ครับ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท