หลังจากที่แต่ละคนเล่าเรื่องจนครบหมดทุกคน คุณไพบูลย์ ก็ได้ให้ประธานกลุ่มแต่ละกลุ่มประเมินกลุ่มว่า สมาชิกแต่ละคนของกลุ่มตนเองมีความสามารถในการปลดหนี้หรือบริหารจัดการหนี้อยู่ในระดับใด ตั้งแต่ ๑-๕ คือ ระดับ ๑ คือ ไม่ดี, ระดับ ๒ คือ ไม่ค่อยดี, ระดับ ๓ คือ ปานกลาง, ระดับ ๔ คือ ดี และระดับ ๕ คือ ดีมาก ซึ่งผลของการประเมินกลุ่มพบว่า ทั้ง ๑๐ กลุ่มย่อยของเครือข่ายพัฒนาชีวิตครูกลุ่มที่ ๑ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนใหญ่สมาชิกจะมีวิธีการในการบริหารจัดการหนี้ได้ในระดับดี แต่ผลเหล่านี้ อาจจะไม่ค่อยแม่นยำ เที่ยงตรงมากนัก เพราะเป็นการประเมินโดยประธานกลุ่ม ซึ่งจะให้ดีจะต้องให้เจ้าตัวเป็นผู้ประเมินเอง แต่เนื่องจากการประชุมครั้งนี้ คุณไพบูลย์ ต้องการให้ผู้เข้าร่วมประชุมพอจะได้เห็นหรือรู้จักกับเครื่องมือการจัดการความรู้ก่อนเท่านั้น
ต่อมามีการดึงแก่นความรู้จากเรื่องเล่าต่างๆ ออกมา แล้วนำมาทำเป็นขีดความสามารถหลักในการที่ช่วยทำให้ครูปลดหนี้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยขีดความสามารถหลักที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ คือ
๑. รู้จักตนเองและปรับวิถีชีวิต
๒. ความขยัน พากเพียร
๓. วินัยและการวางแผนทางการเงิน
๔. การมีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น
๕. การใช้พลังกลุ่มอย่างสร้างสรรค์
เมื่อได้ตารางขีดความสามารถหลักแล้ว คุณไพบูลย์ ได้สมมติตัวอย่างการประเมินเป็นรายบุคคล เพื่อให้เห็นว่า แต่ละบุคคลอยู่ในระดับใดของแต่ละขีดความสามารถหลักแต่ละตัว พร้อมทั้งอธิบายว่า จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติมกันอีกได้อย่างไร รวมทั้งมีการหารือร่วมกันว่า จะดำเนินการหรือพัฒนาโครงการดังกล่าวนี้อย่างไรต่อไปด้วย
คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และ ผอ.พงษ์ศักดิ์ ธีระวรรณสาร
โดยคุณไพบูลย์ ได้กล่าวสรุปย้ำกับที่ประชุมอีกครั้งว่า การจัดการความรู้ คือ การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นวิธีที่นำหรือดึงความรู้ที่มีอยู่แล้วในแต่ละคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ( เพราะความรู้ คือ ความสามารถที่จะทำอะไรดีๆ ได้) และเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่จะมาช่วยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่ม เพื่อให้แต่ละคนประสบความสำเร็จในการปลดหนี้ได้อย่างยั่งยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้การเรียนการสอนดีขึ้นไปด้วย โดยที่ความสำคัญของการจัดการความรู้ คือ การปฏิบัติที่มีความต่อเนื่อง ต้องมีการค้นหา ติดต่อพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับปรุงความรู้ พร้อมทั้งจดบันทึกเป็นหมวดหมู่ และนำไปใช้จริงๆ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ จะนำไปสู่ความสำเร็จของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม พร้อมทั้งต้องมีการขยับขยายกระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น จนในที่สุดก็จะเกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคตได้
สำหรับตัวผู้เขียน มีความเห็นว่า วิธีการที่คุณไพบูลย์ นำมาใช้ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการแนะนำให้ผู้เข้าร่วมได้รู้จักการจัดการความรู้อย่างแนบเนียนและกลมกลืน ไม่ต้องมีการอธิบายModel ไม่ต้องใช้เครื่องมือมากมาย แต่ทำให้เป็นธรรมชาติกับการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันในครั้งนี้ และได้สาระที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้จริงๆ ทำให้อาจารย์บางคนได้เข้าใจและมองเห็นแนวทางในการนำไปปรับใช้กับกลุ่มของตนเองได้ เห็นประโยชน์ของการจัดการความรู้ที่จะไปเติมเต็มการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มที่ดำเนินการเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว และยังสามารถประยุกต์ใช้กับกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มครูอาจารย์ในโรงเรียน, กลุ่มผู้ปกครอง, กลุ่มผู้นำ ชุมชนรอบโรงเรียน และกลุ่มอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
ผู้เขียนเองก็ได้ประโยชน์มาก เพราะการประชุมครั้งนี้ได้กลายเป็นความรู้ขุมใหญ่อีกแหล่งหนึ่งของผู้เขียน ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนรู้การเป็นวิทยาการนำกระบวนการจัดการความรู้จากคุณไพบูลย์ ซึ่งนับว่า เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่น่าเคารพยกย่องของสังคมไทย ได้นิยามของการจัดการความรู้ในภาษาที่เข้าใจง่ายๆ ได้มุมมองเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการความรู้ ได้มุมมองในการพัฒนาตนเอง การพัฒนากลุ่ม ชุมชน ตลอดจนสังคม ประเทศชาติ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการทำหน้าที่และชีวิตของตนเองได้อย่างมหาศาลต่อไป
บรรยากาศการประชุม