คุณภาพการศึกษา


อ.วรากรณ์ยังเห็นว่าสิ่งที่จะทำให้การศึกษาของไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืนนั้น คือ "ครู" ต้องให้กำลังใจครู ถ้าครูดี คุณภาพการศึกษาจะดีขึ้นด้วย

กำลังฟัง อ.วรากรณ์ สามโกเศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์สดในรายการข่าวมื้อเช้า ช่อง ๑๑ เรื่องโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและงานสมัชชาพัฒนาคุณภาพการศึกษา

นัยว่ากำลังจะมีการจัดงานสัมมนาสมัชชาข้างต้น ท่านจึงมาประชาสัมพันธ์ พร้อมกับตอบคำถามต่างๆ ไปด้วย 

สรุปเรื่องหลักๆ ที่อยากจะเล่าให้ฟัง และสรุปไว้เป็นข้อมูลสำหรับในอนาคตคือ

อ.วรากรณ์กล่าวในทำนองว่า ระบบการศึกษาที่ผ่านมา ที่ผ่านมามีรัฐมนตรีหลายคนในระยะเวลาอันสั้น แต่ละช่วงมีความคิดดีๆ มากมาย แต่การเปลี่ยนผู้บริหารบ่อยทำให้การดำเินินการไม่ต่อเนื่อง สิ่งที่อ.วรากรณ์พยายามทำคือวางการดำเนินการให้คนต่อไปที่จะทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีสามารถทำต่อได้ โดยการวาง Road Map ไว้

รัฐบาลและนักการเมืองในยุคต่อไปจะต้องมองกระทรวงศึกษาเป็นกระทรวง A ไม่ใช่กระทรวงเกรด C  คือมองกระทรวงศึกษาไม่เหมือนพวกกระทรวงที่เงินเยอะ อำนาจเยอะ (ถ้าไม่มองการศึกษาเป็นสำคัญ เป็นวาระแห่งชาต ก็ยากที่จะพัฒนาคนในประเทศได้)

อ.วรากรณ์ยังเห็นว่าสิ่งที่จะทำให้การศึกษาของไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืนนั้นคือ "ครู" ต้องให้กำลังใจครู ถ้าครูดี คุณภาพการศึกษาจะดีขึ้นด้วย 

สำหรับปัญหาในระดับอุดมศึกษาอย่างหนึ่งคือ ผลิตจำนวนมาก แ่ต่ผลิตไม่ตรงประเภทหรือความต้องการ ยังเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ และยังมีปัญหาความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนและนักศึกษา ต้องพัฒนาศักยภาพทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาให้ยกระดับให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ...

ตอนเขียนบันทึกตอนท้ายนี้ การสัมภาษณ์เพิ่งจบไป..

สิ่งที่ท่านให้สัมภาษณ์ไว้เป็นสิ่งที่ดิฉันเห็นและสรุปไว้นานแล้ว ดิฉันว่าหลายๆ ท่านที่อยู่ในแวดวงการศึกษาก็คงรู้สึกและเคยสรุปไว้ไม่ต่างกันมากนัก

เรารู้กันอยู่แล้วว่าการเปลี่ยนนโยบายการศึกษาบ่อยๆ ตามผู้บริหารคงไม่ใช่เรื่องดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านโยบายนั้นมาจากนักการเมืองที่พลาดหวังมาจากกระทรวงเกรด A เลยต้องมานั่งที่กระทรวงศึกษาฯ จะได้มีตำแหน่งกับเขาด้วย 

ดิฉันมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่านักการเมืองบางกลุ่มไม่ต้องการให้การศึกษาประชาชนอย่างแท้จริง เพราะถ้าให้การศึกษาแล้วอาจจะหลอกซื้อเสียง ซื้อใจไม่ได้ง่ายๆ อีกแล้ว การศึกษาจึงไม่เคยเป็นวาระของชาติที่ถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่องเสียที 

การลงทุนเกี่ยวกับการศึกษามักเป็นการลงทุนกับการสร้างโรงเรียน ครุภัณฑ์และทรัพย์สิน แต่ขาดการลงทุนกับครูผู้สอน ให้ครูผู้สอนสามารถยังชีพได้ หาคนที่มีใจรักและมีความสามารถมาเป็นครู  จริงๆ แล้วงบที่ลงกับการศึกษานั้นน้อยไป เพราะการลงทุนทางด้านอสังหา ครุภัณฑ์ ก็ัยังจำเป็น 

สำหรับเรื่องที่อุุดมศึกษาผลิตปริมาณไม่เน้นคุณภาพนั้น ดิฉันเคยเขียนให้ความเห็นไว้ในหลายบันทึกที่ผ่านมาแล้วว่าจริง ทุกวันนี้เราผลิตกันอย่างเดียว แต่ไม่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ทั้งจำนวน และคุณภาพ โดยมี feedback กลับมาว่าเด็กทำงานไม่ได้ ต้องเอาไปฝึกใหม่

สาเหตุที่อุดมศึกษาล้มเหลวนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะมหาวิทยาลัยไม่มีศักยภาพเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเพราะเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการขาดการสนับสนุนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น ปัญหานักศึกษาขาดความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งพอมาเรียนอุดมศึกษาก็จะพบว่าปีแรกที่ต้องเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน แต่มีนักศึกษาที่สอบตกเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมากในการผลิตนักศึกษา เพราะนักศึกษาที่ไม่มีศักยภาพจะต้องวนเรียนหลายรอบ เสียเวลาและโอกาสในการไปประกอบวิชาชีพในอนาคต

การที่นักศึกษาไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษานั้นในปัจจุบันนี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากทัศนคติของตัวนักศึกษาเองด้วย บางคนไม่อยากเข้าเรียน แต่อยากได้เกรด อยากจบ อยากได้งานดีๆ

ดังนั้น...เราต้องช่วยกัน...

ถ้าเราเป็นครู.. ก็ต้องช่วยกันสอน ให้ความรู้อย่างเต็มความสามารถ  สร้างเสริมทัศนคติที่ดีให้กับนักศึกษา ให้สู้ ให้ทน ให้เข้าใจว่า ถ้าต้องการอะไร จะต้อง earn มาอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการใช้ชีวิตของเขาเองในอนาคต

ถ้าเราเป็นผู้บริหาร.. ก็ต้องกำหนดนโยบายสนับสนุนให้ครู อาจารย์สามารถทำสิ่งข้างต้นได้ โดยไม่ไปทำตัวอย่างไม่ดีให้นักเรียนเห็นเสียเอง

ถ้าเราเป็นนักเรียน นักศึกษา... ก็ต้องทำหน้าที่นักเรียน นักศึกษา เรียนเพื่อรู้ เพื่อทำให้กับครอบครัวและสังคม ไม่ใช่เพื่อตัวเอง(เพียงถ่ายเดียว) ไม่ใช่เรียนเพื่อเกรด เพื่อจบ

เขียนไปก็เหมือนบ่น(อีกแล้ว) ^ ^  แต่อย่างไรต้องช่วยๆ กันต่อไปค่ะ 

หมายเลขบันทึก: 147044เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2007 07:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)

สวัสดีค่ะ อ.กมลวัลย์

อ่านแล้วขอร่วมด้วยช่วยกันบ่นหน่อยนะคะ เพราะคันมือขึ้นมาเลยล่ะค่ะ ( ร่วมกับคันเขี้ยว ^ ^ )

เบิร์ดเพิ่งอ่านรายงานเรื่องประเด็นค่าเฉลี่ยการศึกษาของคนไทยที่ ดร.อำรุง จันทวานิช เลขาธิการสกศ.ท่านนำมาเปิดเผยจบ เมื่อกี๊เลยอยากเอามาแชร์กันค่ะ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ( 2544 - 2549 ) จำนวนปีที่ได้รับการศึกษาของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น ประมาณปีละ 0.11 ปี โดยในปี 2549 จำนวนปีที่ได้รับการศึกษาเฉลี่ยคือ 7.8 ปี

ม.1 โดยประมาณ ! เท่านั้นเองนะคะ

สำหรับคุณภาพของเด็กไทยระดับป.6 และ ม.3 จากการทดสอบระดับชาติ ปีการศึกษา 2544 - 2546 พบว่ามี นร.ที่สอบได้ ระดับดีเฉลี่ยร้อยละ 14.9  ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์ปกติที่ควรจะมีคือร้อยละ 16 !

และผลการทดสอบระดับชาติชั้น ม.6 ในปี 2549 มีนร.สอบได้คะแนนระดับดีน้อยมาก คือมีเพียงร้อยละ 5.9 เท่านั้นเองค่ะ 

รายละเอียดยังอีกยาวเลยค่ะ แต่นี่ก็คือความเป็นจริงที่เจ็บปวด ! ไม่ว่าโลกจะก้าวไกลแค่ไหนการเข้าถึงการศึกษาของคนไทยก็ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลความเป็นจริง

แม้เมื่อปีการศึกษา 2542 ในครั้งนั้นรัฐบาลวาดฝันไว้ว่าหลังประเทศไทยมีกฎหมายการศึกษาหรือ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ แล้ว 5 - 10 ปข้างหน้าคนไทยควรมีค่าเฉลี่่ยการศึกษาอยู่ที่ 9 ปีี่หรือ ม.3..แต่เวลาผ่านมา 8 ปี เรายังมาได้แค่ ม.1 ( หรือตีความได้ว่ามีวุฒิเฉลี่ยที่ ป.6 นั่นเองนะคะอาจารย์ )

สาเหตุหนึ่งที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เข้าบริหารประเทศ มองการศึกษาเป็นแค่เครื่องมือหาเสียง ไม่เึคยเห็นคุณค่าของการสร้างคนด้วยการศึกษาอย่างแท้จริงเลย ไม่นับการเออร์ลี่ แล้วไม่ได้อัตราคืนนะคะ ซึ่งถ้านับรวมปีที่จะถึงที่จะมีการเออร์ลี่อีกครั้ง แล้วมีคุณครูออกตามความคาดหมายเราจะมีคุณครูขาดแคลนสะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่การเออร์ลี่รุ่นแรกทั้งสิ้นเกือบแสนคนแน่ะค่ะ !...แถมขาดในสาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์อีกเต็มพิกัดเลยล่ะค่ะ ..และไม่มีรัฐบาลไหนแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้เลยซักรัฐบาลเดียว

ถือเป็นเรื่องเศร้าใจส่งท้ายปี 2550 เลยนะคะอาจารย์

 

 

 

  • ผมมองว่ารัฐบาลแก้ปัญหาผิดมากๆๆ
  • การลดอัตราบุคคลากรข้าราชการไม่ควรมาใช้กับการศึกษา
  • เพราะทุกวันเด็กนักเรียนเพิ่มขึ้น
  • เราขาดครูอาจารย์ที่เกษียณหรือ เออรี่ไปมาก
  • แล้วคนเก่งๆๆก็ไปหมด
  • รัฐบาลไม่ได้จริงใจในการแก้ปัญหาครู
  • น่าจะให้เงินเดือนเขาสูงในระดับที่พออยู่ได้
  • ใครทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย บนดอย หรือพื้นที่กันดารน่าจะให้เพิ่ม
  • ผมไปดูคุณครูที่ปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าสงสารมากๆๆ
  • ถามว่ารัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่ของพื้นที่เขตหรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงช่วยอะไรได้ไหม
  • เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ
  • แบบที่ผมบอกว่าผมอกหักกับระบบการศึกษาไทย
  • ไม่ได้โทษคุณครู ครูดีๆๆที่เสียสละมีมากมาย
  • แต่ระบบการจัดการเราแย่มากๆๆ
  • ถ้าผู้ใหญ่ในกระทรวงทำแต่นโยบายรับรองว่า
  • การศึกษาเรามีแต่ทรงกับทรุด
  • เพราะไม่มีการปฎิบัติหรือช่วยเหลือคุณครูอย่างแท้จริง
  • ขอบคุณมากครับอาจารย์

สวัสดีค่ะคุณ   เบิร์ด

อ่านที่คุณเบิร์ดนำมาเล่าให้ฟังแล้วก็ต้องถอนหายใจค่ะ สิ่งที่เรารู้สึกถูกยืนยันจากตัวเลขเหล่านี้อย่างเต็มที่เลย ไม่แปลกใจเลยที่มีนักเรียน ม.6 แค่ร้อยละ 5.9 ที่มีคะแนนในระดับดี ดิฉันเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้ที่มีผลการเรียนในระดับดี ส่วนใหญ่เรียนในกรุงเทพ และเรียนดีเพราะการสนับสนุนเต็มที่มากๆ ของครอบครัว (ไม่ได้เรียนเ่ก่งจากเนื้อหาโรงเรียน แต่มีเรียนเสริมหลายอย่างนอกห้องเรียนมาก)

เห็นด้วยเลยว่าเรามีปัญหาขาดแคลนครู ดูเหมือนจะเป็นการพูดอย่างทำอย่างของรัฐบาล ตัวเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเขาไม่เข้าใจเรื่องการลงทุนทางการศึกษา...ว่ามันเหมือนปลูกต้นไม้  ถ้าเมล็ดพันธ์ไม่ดี เร่งปลูก ไม่ให้สารอาหารพอเพียง และตัดไปใช้งานเร็ว มันจะได้ไม้ดีหรือยังไงกัน การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และการทุ่มเท เพื่อสร้างความยั่งยืนของประเทศชาติ

ตอนนี้คงต้องดูกันต่อไปว่า ถ้าเราเกษียณกันแล้ว นักเรียนจะมีวุฒิการศึกษาเฉลี่ยถึง ม.๓ ไหม T_T 

สวัสดีครับอาจารย์

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ว่าต้องพัฒนาครูให้มีค่าตอบแทนที่ดีกว่านี้ เห็นด้วยที่ว่าเรายังพัฒนาไม่ตรงจุด เห็นด้วยกับ อ.ขจิตในทุกประเด็น และที่หนักหนาสาหัสในแวดวงครูและบุคลากรทางการศึกษาก็คือการเล่นพรรคเล่นพวกในการประชุมแต่งตั้งโยกย้าย การพิจารณาความดีความชอบ ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง หากครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะผู้บริหารยังอิงการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง แล้วเราจะคาดหวังอะไรกับการศึกษา ผมเป็นคนนอกแต่ทะลึ่งเข้าไปมีส่วนกับเขาในจังหวัดก็รู้สึกน่าเบื่อเหมือนกันครับ

สวัสดีค่ะอ.ขจิต

พี่เห็นด้วยค่ะว่ามันน่าอกหักจากระบบการศึกษาไทยจริงๆ สำหรับคนที่อยากเห็นอะไรอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นกว่านี้

คุณครูที่ทำงานหนักมีอยู่มากจริงๆ 

อย่าเพิ่งอกหักมากนะคะ ต้องช่วยกันต่อไปค่ะ  ^ ^

สวัสดีค่ะคุณ อัยการชาวเกาะ

ไม่น่าเชื่อนะคะ การเมืองแทรกซึมไปทุกที่ ทุกระดับจริงๆ เรื่องอำนาจนี้เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ  คนแสวงหาจนกระทั่งลืมว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร เป็นเรื่องที่น่าเศร้าของสังคมไทยค่ะ เพราะแม้กระทั่งการแสวงหาแบบนี้ก็ยังอยู่ในสังคมของครูและอาจารย์  

แต่ต้องคิดในแง่ดีค่ะ อย่างน้อยก็ยังมีคนดีๆ ที่ห่วงใยสังคม และทำเพื่อสังคมอยู่เยอะ มีเด็กดีๆ ที่จะมาเป็นกำลังให้กับประเทศอยู่อีกเยอะค่ะ เพียงแต่คนเหล่านี้อาจจะไม่ค่อยมีอำนาจเท่านั้นเอง ^ ^

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร ค่ะ 

 

สวัสดีครับ

  1. เห็นด้วยอย่างยิ่งในหลายประเด็นครับผม
  2. แต่อยากจะเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้ครับ
  • "ครู" มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาการศึกษา ควรหาวิธีการส่งเสริม พัฒนา "ครู"
  • ความเป็นจริงของวันนี้ และในอนาคต "องค์ความรู้" มีความเป็นพลวัตรสูงขึ้น เราสามารถเรียนรู้จาก Prof.Google ได้มาก และมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้ง BLog ที่เราสามารถสวมบทที่เป็นได้ทั้ง "ครู" และ "ผู้เรียน" สามารถเรียนรู้ในสภาพที่เราเป็นศูนย์กลาง เลือกเรียนรู้วิชาที่เราต้องการ ดังนั้นจากเดิมที่ "เน้นการสอน" ต้องเปลี่ยนเป็น "เน้นการเรียนรู้"
  • ถ้าเราเชื่อว่า "การศึกษา" สามารถพัฒนาคน "คน" สามารถพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้ทุกคนมีการศึกษาสูงสุดเต็มศักยภาพของแต่ละคน (ให้เรียนฟรี! ไม่เน้นที่ปริญญา)

 

ขออนุญาตใช้ความคิดก่อนครับ ... ตาลาย ... คิดไม่ทันครับ ...

บนถนนคนเดินช้า ... :)

สวัสดีค่ะคุณ  นิโรธ

จริงค่ะที่ว่าปัจจุบันเราสามารถมี google, blog หรือ internet เป็นแหล่งข้อมูลเสริมได้ค่ะ เหมือนกับการเรียนบางวิชาที่สนใจโดยการอ่านด้วยตนเอง แต่สำหรับตัวเอง การเรียนโดยการเรียนกับครู/กับคนจริงๆ จะได้พื้นฐานความรู้ ได้เกร็ดดีๆ เร็วกว่าการอ่าน และที่สำคัญคือการเรียนนั้นจะต้องมีการฝึกปฏิบัติด้วยถึงจะสมบูรณ์ได้ความรู้จริงๆ (ปริยัติ ปฎิบัติ ปฎิเวธ)

เห็นด้วยนะคะว่าการเรียนรู้ไม่ควรจะเป็นเรื่องที่จำกัด คนเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และไม่จำเป็นต้องเรียนจากโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น  ดังนั้นการเรียนรู้จึงไม่จำเป็นที่ต้องจบที่การได้วุฒิบัิตรหรือปริญญาเสมอไปค่ะ

แต่การเรียนรู้ในบางเรื่อง จำเป็นที่ผู้เรียนรู้ต้องมีความรู้พื้นฐานพอสมควร  ดังนั้นการศึกษาพื้นฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคนไทย เพราะถ้าขาดการศึกษาพื้นฐาน การที่จะเรียนรู้เท่าทันให้สามารถดำรงอยู่ในสังคมแบบไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้นั้นคงเป็นเรื่องยากค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ 

สวัสดีค่ะอ. Wasawat Deemarn

ขอบคุณที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนค่ะ 

  • ตามมาขอบคุณอาจารย์
  • ถึงอกหักกับระบบการศึกษาของเรา
  • แต่จะพยายามช่วยระบบการศึกษาให้ดีที่สุด
  • ถึงจะเป็นเฟืองจักรตัวน้อยๆก็เถอะ
  • ขอบพระคุณมากครับ

พี่ก็คงเป็นฟันเฟืองอันหนึ่งในระบบการศึกษานี้เหมือนกันค่ะ อ.ขจิต 

ตอนนี้เวลาเฟืองหมุนไป ก็อาจจะหมุนติดขัดบ้าง ติดระบบโน่น ระบบนี่ไปตามเรื่อง เฟืองก็สึกบ้างไปตามเรื่อง แต่ก็ยังหมุนค่ะ  ^ ^

สวัสดีครับ ...

  • ถ้าอาจารย์ขจิต กับ อาจารย์กมลวัลย์ เป็นฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ
  • ผมขอเป็น ... สนิมที่ทำปฏิกิริยากับฟันเฟืองตัวน้อยที่เป็นเหล็กกล้าอย่างอาจารย์ทั้งสองท่านครับ อิ อิ

:) ป.ล.เมื่อคืนอุตส่าห์คิดออก แต่... Wireless ที่โรงแรมกลับไม่เป็นใจครับ ขอติดไว้ก่อนนะครับ อาจารย์กมลวัลย์

ไม่เป็นไรค่ะ ค่ะอ. Wasawat Deemarn
ไว้นึกออกแล้วค่อยมาเขียนต่อก็ได้ค่ะ ^ ^ 

สวัสดีครับ ... อ.กมลวัลย์

กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงเกรด A ... โดยมีค่านิยมในการวัดจากงบประมาณและจำนวนบุคลากรที่มีจำนวนมากหลายล้านคนทั่วประเทศครับ ... หากแต่พรรคที่เป็นรัฐบาลมักใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเครื่องตอบแทนนักการเมืองที่มีผลงานในระดับรอง ๆ ลงมา ... ทำให้เราได้หัวกระทรวงเป็นพวกเกรด B เกรด C มาบริหาร ... หรือไม่ก็ใช้ตำแหน่งนี้สำหรับการขัดตาทัพในการเมืองซะมากกว่า ... ถ้าเป็นคนนอกมาดูแล ก็จะทนแรงเสียดทานไม่ไหว ลาออกไป การศึกษาบ้านเราก็ไม่ต่อเนื่อง

นักการเมืองชอบใช้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง ...

พวกผู้บริหารระดับบิ๊ก ๆ ในกระทรวงฯ ก็พัดตามแรงลม ท่าน รมต. ว่ายังไง ก็ว่ายังงั้น เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด หัวเป็นแบบนี้ ไม่ต้องห่วงว่า จะไม่ลามมาจนถึงครูน้อยหรอก คล้าย ๆ กัน

"การศึกษา" เป็นแค่ขี้ปากของนักการเมืองเอาไว้หาเสียงเล่น ๆ ให้ชาวบ้านเค้าเชื่อ แต่ไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

นักบริหารซีสูง ๆ ของกระทรวงนี้ ... ก็หักแข้งหักขา เลื่อยขาเก้าอี้ อิงคนนั้นที คนนี้ที ... เจริญล่ะ กระทรวงนี้

คุณภาพการศึกษา มันอยู่ที่ "คน" ซึ่งคนในที่นี้ก็คือ "ครูและบุคลาการทางการศึกษา" ที่เป็นเฟืองคอยขับเคลื่อนระบบการศึกษาได้มันเดินได้

รัฐบาลที่แล้วมีแนวคิดเรื่องของเงินประจำตำแหน่งครูชำนาญการทั้งหลาย คศ.2 คศ.3

เงินประจำตำแหน่ง ... ข้อดีก็ดีตามวัตถุประสงค์ คือ อยากให้ครูพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น ก้าวหน้าขึ้น แล้วจะให้เงินประจำตำแหน่งเป็น Bonus

ข้อเสียนะหรือ .... วิ่งกันหัวหกก้นขวิด ใช้เล่ห์ทุกอย่างทำให้ตัวเองผ่านไปถึงให้ได้ตามที่รัฐประกาศ อยากได้เงินมาใช้นั่นแหละ จ้างทำผลงานบ้างล่ะ ประจบสอพลอเจ้านายบ้างล่ะ ... นักเรียนจะทำกันยังไงต่อล่ะที่นี้ ... นั่ง "ฉลาดน้อย" อยู่ในห้องเรียนนั่นไง เพราะครูไม่ว่าง ... เตรียมทำผลงานกันอยู่

รัฐบาลชุดที่แล้ว เลือกที่ใช้ "เงิน" เป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ยอมให้ครูใช้ "หัวใจ" เป็นตัวขับเคลื่อน ผลก็ตกอยู่อย่างที่เห็นในปัจจุบันนั่นแหละครับ

ครูหนี Early เป็นแสนคน ในรุ่นที่ 1 ... ไม่มีครู ก็ใช้ ครูอัตราจ้างมาสอน ซึ่งน่าสงสารมาก เพราะครูพวกนี้ทำงานหนักมาก ในขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม (ตอนนี้มีนโยบายเลิกครูอัตราจ้างนะครับ แต่จะให้บรรจุเป็นข้าราชการเลย ยินดีด้วยครับ)

สรุป.... เงินประจำตำแหน่งนี่ดีครับ ... แต่ระบบการคัดเลือกให้ตำแหน่งยุติธรรมจริง ๆ หรือครับ ... อย่าให้ครูที่ไร้ความสามารถ แต่ลิ้นยาว ได้เงินพวกนี้ครับ ... คุณภาพการศึกษาจะตกอย่างไม่มีวันกลับ

ขอให้กำลังใจ "ครูดี ๆ" นะครับ ... ท่านทำกรรมดี ท่านย่อมได้ดีครับ

ครูคงต้องเหนื่อยกันหน่อยครับ ... เพราะต้องสู้กับโลกยุคใหม่ที่มีอะไรแปลก ๆ ทำให้นักเรียนไม่ค่อยตั้งใจเรียน วอกแวก ... วิ่งหาอบายมุข ไม่ค่อยรู้จักตัวเอง ... โง่ตอนแรก แต่กว่าฉลาดก็อีกนานครับ

เรื่องมันยาวจริง ๆ ครับ อ.กมลวัลย์ ....

บุญรักษานะครับ :)

สวัสดีค่ะอ. Wasawat Deemarn

ตอนนี้คงหวังอะไรแน่นอนจากภาครัฐยังไม่ค่อยได้ค่ะ ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะครู/อาจารย์ที่เหลือก็ได้แต่ทำไปวันๆ ทำเต็มที่ แต่อาจไม่ได้ผลเต็มที่ เพราะหางขยับมากไม่ได้ ถ้าหัวอยู่เฉยๆ เผลอๆ อาจโดนลากกลับมาที่เดิมอีก...

แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่เลิกจ้างครู แบบครูอัตราจ้างเสียที แต่คิดว่าการคัดเลือกและอัตราที่ให้ก็คงยังไม่พอเพียงอยู่ดี

เมื่อวานฟังพวกอยากเป็นรัฐบาลหน้าใจจะขาดมาให้สัมภาษณ์เรื่องการศึกษา ฟังแล้วอยากจะ......(เดินหนี) เพราะเห็นบอกว่าจะติด Hi-Speed Internet ไปยังโรงเรียนห่างไกล เด็กจะได้มีโอกาส..ประมาณนั้น ราวกับว่า Hi-Speed Internet เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน

นโยบายอะไรก็ไม่รู้  ไม่รู้จักลงทุนกับครู คิดแต่จะลงทุนระบบหรือสิ่งของที่ตกรุ่นง่าย เสียเร็ว ดูแลยาก สงสัยคนพูดจะมีบริษัทที่ขายระบบคอมพ์เหล่านี้เสียเอง.. ปากพูดว่าทำให้การศึกษา แต่ที่จริงน่ะขายของเอาเงินหัวคิวเข้ากระเป๋า... เรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วหลายยุคหลายสมัย ... ถ้ากลุ่มเดิมเข้ามาบริหารประเทศแล้วทำแบบเดิมอีก ก็ขอให้กรรมติดจรวดทีเถอะ

อย่างที่อาจารย์ว่าไว้นะคะ อบายมุขในยุคนี้มันเยอะเหลือเกิน แล้วก็มีคน(ไม่ดี)มาส่งเสิรมยุยงให้คนหลงผิดกันง่ายเหลือเกิน 

แต่ก็ยังต้องช่วยกันต่อไปค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามา ปลรร นะคะ ถึงแม้เราจะแก้ภาพรวมไม่ได้ แต่ก็ทำให้รู้ว่ายังมีครูดีๆ อยู่ทุกหัวระแหงของประเทศไทย 

ชอบส่วนนี้มากเลยครับ

"ถ้าเราเป็นครู.. ก็ต้องช่วยกันสอน ให้ความรู้อย่างเต็มความสามารถ  สร้างเสริมทัศนคติที่ดีให้กับนักศึกษา ให้สู้ ให้ทน ให้เข้าใจว่า ถ้าต้องการอะไร จะต้อง earn มาอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการใช้ชีวิตของเขาเองในอนาคต"

ชอบ แล้วก็ตั้งใจทำทุกๆวันด้วยครับ ผมสอนนักศึกษาทั้งสองระดับ โดยเฉพาะเป็นคนสอนช่วงรอยต่อ คือ ช่วงชั้นสุดท้ายของ ป.วช.เตรียมวิศวะ และชั้นปีแรกของปริญญาตรี(หรือนักศึกษาตกค้างที่ไม่ผ่าน) นักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่ก็พยายามเรียนเพื่อเอาเกรด เรียนน้อยๆ เข้าใจพอทำข้อสอบได้ แต่ก็มีส่วนน้อยที่ตั้งใจฟังอย่างตั้งใจ จับประเด็นการสรุปของอาจารย์ แล้วเมื่อถามก็ประมวลความรู้ออกมาเป็นคำตอบโดยที่ไม่ต้องคำนวณก่อน จากนั้นจึงยืนยันด้วยตัวเลข ผมมีลูกศิษย์แบบนี้น้อยมากเลยครับ พูดแล้วก็เหมือนผมร่วมบ่นอีกคนครับ

สวัสดีค่ะ อ. innoPhys

ดีใจที่ได้พบครู/อาจารย์ดีๆ หลายๆ คนใน gotoknow และที่สถาบันค่ะ ^ ^

แต่อย่างที่อาจารย์บอกไว้นะคะ เด็กกลุ่มที่ตั้งใจนั้นมีน้อย  ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย (สำหรับประเทศไทย)  แต่คิดในแง่ดีก็คือ ก็ยังมีคนที่จะเป็นเชื้อพันธุ์ดีๆ ต่อไป แล้วก็เป็นกำลังใจให้กับครู/อาจารย์ทั้งหลายด้วยค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ 

สวัสดีครับ

          อ่านแล้วทำให้นึกถึงการศึกษาในระดับพื้นฐาน เพราะมีปัญหาการขาดแคลนครูเฉพาะแขนง ครูคนหนึ่งจบสาขาหนึ่งแต่เพื่อทดแทนครูสาขาอื่นก็ต้องสอนวิชาที่ไม่ใช่วิชาเอกตั้งแต่ 2-5 วิชา  แล้วจะถามหาคุณภาพได้อย่างไร  นักเรียนแต่ละโรงเรียนลดลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเอกชนก็ต้องลดครู หรือไม่เพิ่มครู แม้โรงเรียนรัฐก็ทำนองเดียวกัน  กระทรวงศึกษาธิการต้องทำงาน ทำการบ้านหนักกว่านี้ และดูแลให้เขาได้มีทางออก  ส่วนมหาวิทยาลัยนั้น ก็หนักหนาสาหัสไม่ต่างไปจากโรงเรียนระดับพื้นฐานเช่นกัน เพราะมีปัญหานักศึกษาลด ขาดแคลนอาจารย์ ทำให้อาจารย์แบกรับภาระการสอนหนัก และต้องทำงานอย่างอื่นเป็นภาระงานอีกด้วย ความจริงมีปัญหาซับซ้อนอีกมากที่ต้องถกกันในภาพรวม ขอบคุณครับที่มีบันทึกดีๆ ให้อ่านครับ

สวัสดีค่ะ P อ. กรเพชร

ดูเหมือนว่าปัญหาขาดแคลนครูเป็นปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจนในทุกท้องที่นะคะ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นปัญหาที่ใหญ่จริงๆ เพราะการศึกษาพื้นฐานขึ้นอยู่กับครูเป็นหลักส่วนหนึ่ง..

ส่วนอุดมศึกษาก็เป็นปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง..ส่วนหนึ่งมีปัญหามาจากคุณภาพของนักเรียนนักศึกษาที่มีศักยภาพไม่ถึง อีกส่วนก็มาจากแนวทางการบริหาร หลักสูตร และก็แน่นอน..ตัวอาจารย์เอง...  

ก็ต้องสู้กันต่อไปเพื่ออนาคตของประเทศไทยค่ะ ตอนนี้ก็พยายามทำในส่วนที่ทำได้ และเด็กที่ดีๆ ก็มีบ้าง ถึงแม้จะเป็นส่วนน้อยค่ะ ^ ^

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ 

ทุกวันนี้ที่มันน่าเสียใจคือ เด็กที่คิดว่าเรียนอะไรไม่ได้แล้วก็ไปเรียนครูดีกว่า แต่ที่เศร้าใจคือคนที่จบสายอื่นแล้วหางานทำตรงสายไม่ได้เพราะไม่มีความสามารถก็ดันไปสมัครเป็นครูที่สอนชั้นเด็กเล็กเพราะมันง่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่มาก ไม่มีทั้งประสบการณ์ในการสอน ไม่มีจิตวิทยา และไม่มีจิตวิญญาณความเป็นครู ขอแค่มีงานทำ มีเงินเดือน พอมีทางอื่นก็ค่อยขยับขยายไป งง...ไม่รู้ว่าเมืองไทยไม่มีกฏระเบียบทางการศึกษาเลยเหรอ เด็กก็ซวยที่ต้องเรียนกับครูแบบนั้น ต้องโตมากับการศึกษาที่ขาดคุณภาพ โตขึ้นก็กลายเป็นนักศึกษาที่ด้อยคุณภาพ จบมาก็เป็นผู้ใหญ่ที่ไร้คุณภาพ แล้วก็วนไปอยู่อย่างนี้ : (

เรื่องนี้ มีปัญหาอยู่หลายประเด็นค่ะ เช่น ระบบประเมินผล กับระบบค่าตอบแทนของครู อาจารย์

แต่ประเด็นที่น้องซูซานพูด ก็ตรงอีกประเด็นหนึ่ง เพิ่งคุยกับดร.วิจิตรฯไปเมื่อวานเอง.....

เฮ้อ ....แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว

ท่านที่ให้ความเห็นมา ก็ถูกใจหมดค่ะ  วันนี้ ขอไม่ออกความเห็นมากนะคะอาจารย์ เดี๋ยว ยาว.....

ปัญหา มันหมักอยู่นานมากค่ะ

สวัสดีจ้าน้องซูซาน P Little Jazz \(^o^)/

พี่เองก็คิดคล้ายๆ กันแบบนี้แหละ เพราะก็เห็นมาบ้างเหมือนกันที่คนเรียนอะไรไม่ได้ สุดท้ายไปเรียนเป็นครู...

จริงๆ แล้วคำว่า "ครุ"นี้ ถ้าจำไม่ผิด มาจากคำว่า guru เชียวนะ แสดงว่าคนที่เป็นครูนี้เป็นผู้รู้จริงๆ

พี่ว่าวัฒนธรรมไทยที่ยกย่องครู ให้เกียรติครูนั้นกำลังหายลงไปเรื่อยๆ  พี่ก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเงินเดือนครูนั้นน้อย แล้วต้องทำงานหนัก และทำโดยไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างแท้จริงนั้น ทำให้คนไม่อยากเป็นครูักันหรือเปล่า  .... 

แต่เท่าที่จำได้..ตั้งแต่เรียนหนังสือมา ไม่เคยได้รับการปลูกฝังจากใครเลยว่า เป็นครูสิดี... (เพิ่งมารู้เองตอนหลังว่า การเป็นครูนี้...เป็นวิชาชีพที่ดีและจำเป็นมากๆ เองตอนทำงานแล้ว) 

พอไม่มีค่านิยมหรือปลูกฝังความเคารพในวิชาชีพนี้ ถ้าคณะครุศาสตร์ตั้งเกณฑ์โหดๆ สูงๆ.. พี่ว่าก็ไม่มีคนเรียนอีกนั่นแหละ..  เห็นใจครูเก่งๆ ดีๆ ในคณะครุศาสตร์เหมือนกัน เพราะยังไงก็ปั้นดินให้เป็นดาวไม่ได้..

การเปลี่ยนต้องเปลี่ยนในระดับมหภาค นโยบายต้องชัด ต้องมีการดำเนินการต่อเนื่อง ให้การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นวาระแห่งชาติ สัก ๒๐ ปี..คงจะเห็นผลบ้างแหละ... T_T 

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์ P  sasinanda

ปัญหานั้นหมักมานานจริงๆ ค่ะ ตอนนี้มันเหมือนตัดต้นไม้โตๆ ไปใช้หมดแล้วโดยแทบไม่ได้ปลูกทดแทนเลย... ถ้าอยากได้ไม้ใหญ่มาใช้อีกในอนาคตโดยไม่ปลูกเลยในวันนี้ก็คงไม่มีให้ใช้ แต่้ถ้าเิริ่มปลูกวันนี้ ก็คงได้ผลในอีกสัก ๒๐ ปีข้างหน้าเป็นอย่างต่ำแหละค่ะ

เรื่องมันยาวจริงๆ....

ขอบคุณคุณพี่ที่แวะเข้ามาให้ความคิดเห็นนะคะ 

สวัสดีอีกครั้งครับ ท่านอาจารย์กมลวัลย์

เป็นเรื่องจริงที่ภาพพจน์ของครูได้รับการมองจากคนอาชีพอื่นว่า ไร้คุณภาพ เอาคนไม่เก่งมาเรียนครู

ระบบการสอบคัดเลือกคนเข้ามาเป็นครู ล้มเหลวมามากกว่า 20 ปี แล้ว

แต่เชื่อไหมครับว่า สมัยก่อนมีโรงเรียนฝึกหัดครู ก่อนที่จะมีวิทยาลัยครู สมัยนั้น คนที่จะเป็นครูได้ ต้องสอบได้อันดับ  1 ของจังหวัดนะครับ

ดังนั้น คนที่สอบได้โรงเรียนฝึกหัดครู คือ หัวกะทิของประเทศ ขึ้นอยู่สอบได้แล้วจะเลือกเรียนสาขาใด รัฐให้ทางเลือก

พอยกระดับเป็นวิทยาลัยครู ก็ยังพอถู ๆ ไถ ๆ คือ ยังมีคนเก่งเป็นครูอยู่

แต่พอยกระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเป็นมหาวิทยาลัย โลกเปลี่ยนแปลงไป ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

"ครู" คือ ทางเลือกสุดท้ายของเด็กที่ไม่รู้จะเรียนอะไร

ผม คือ ครูของครู พวกนี้ ยังหนักใจไม่หาย ... ที่ระบบการคัดเลือกครูมันล้มเหลวสิ้นดี ผู้บริหารสนใจแต่สาขาวิชาที่ตลาดต้องการ

เราเป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่น ป้ายขึ้นอยู่ใต้ชื่อมหาวิทยาลัย น่าอายมากที่ระบบภายในไม่ส่งเสริมคณะครู แต่ส่งเสริมคณะที่เป็นตลาด ๆ อื่น ๆ

วัวลืมเท้า ... ลืมกำพืดตัวเอง ไปเรียบร้อยแล้ว

อาจารย์ทราบไหมครับว่า เครือข่ายครูของเรา ไปที่โรงเรียนไหน มีแต่ลูกศิษย์ของเราทั้งนั้น แข็งแกร่ง แต่ผู้บริหารไม่เคยใช้ ทั้ง ๆ ที่จบสายครูมาเหมือนกัน

ขอบ่นให้อาจารย์ฟังครับ ภาพสะท้อนต่าง ๆ มันทิ่มแทงใจดีจัง

ขอบคุณครับอาจารย์ :)

สวัสดีค่ะ P อ. Wasawat Deemarn

 

น่าเสียดายแนวความคิดที่ว่าคนที่จะมาเป็นครูได้นั้นต้องเป็นที่ ๑ ของจังหวัดนะคะ  

เรื่องค่านิยมเป็นสิ่งสำคัญจริงๆ ตราบใดที่ค่านิยมยังไม่เปลี่ยน ยังหลงไปทางวัตถุกันเป็นส่วนใหญ่ ก็คงหาคนหรือเด็กๆ ที่ตั้งใจ เต็มใจอยากเป็นครูกันได้ยากขึ้นทุกทีค่ะ

อ่านเรื่องที่อาจารย์เล่าแล้วก็หนักใจเหมือนกันค่ะ คนลืมตัว ไม่รู้จักตัวเองนั้นมีเยอะ...เยอะ จนไม่รู้จะทำอย่างไร.. ได้แต่พูดหรือทำในสิ่งที่เราทำได้ในขอบเขตหน้าที่ของเราเท่านั้น.. แต่ก็ยังดีที่มีคนเห็นและพยายามแก้ปัญหาอยู่บ้าง แม้จะเป็นระดับเล็กๆ เต็มทีก็ตาม 

สวัสดีปีหนูทอง ๒๕๕๑

สวัสดีครับ  ผมมาสวัสดีปีใหม่อาจารย์ล่วงหน้าครับ ผมขออวยพรให้อาจารย์มีแต่ความสุข เจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ปัญญา พลานามัย พรั่งพร้อมสรรพมงคลสมบูรณ์ทุกประการ ตลอดไปนะครับ

ขอบพระคุณอาจารย์กรเพชรมากค่ะ  ที่กรุณาคิดถึงและมาอวยพรถึงที่บันทึกเลย ^ ^

ดิฉันไม่ค่อยเคยอวยพรใครเท่าไหร่เลยค่ะ ^ ^  

อาจจะเขียนอะไรเชยๆ สักนิด

ตัวเองจะเน้นอวยพรเรื่องสุขภาพมากที่สุด เพราะสุขภาพดี เป็นลาภอันประเสริฐอย่างยิ่งแล้ว

ดังนั้น ก็ขอให้อาจารย์และครอบครัวมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ และพรใดที่อาจารย์ให้ดิฉัน..ขอให้อาจารย์ไ้ด้รับพรนั้นๆ ด้วยนะคะ ^ ^

สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าค่ะ 

สวัสดีครับพี่กมลวัลย์

  • ประเด็นนี้น่าสนใจเสมอครับ แม้ว่าเราจะผ่านการพูดคุยแล้วพูดคุยอีก ก็เหมือนวนๆ อยู่ในอ่างเลยครับ
  • ท้ายที่สุดแล้วมาจบที่ว่าเราเริ่มทำในส่วนที่เราร่วมกันได้ในวงเล็กๆ แล้วค่อยๆ ทำกระเพื่อมออกไปเรื่อยๆ หากเข้าตากรรมการหรือเข้าตาคนรอบข้างก็มีคนสนใจก็ร่วมเพิ่มพลังร่วมกัน ก็่อาจจะเป็นผลครับ
  • สำหรับนักการเืมืองเองผมเองไม่กล้าคาดหวังมากแล้วนะครับในเรื่องเหล่านี้
  • เราอาจจะต้องไปถามปู่ย่าตาทวดแล้วก็ได้ครับว่าสมัยท่านสอนคนกันมาอย่างไร คนถึงเป็นคนดีได้ มีคุณธรรมได้
  • หากเราสอนหรือแนะคนให้เป็นคนดี มีคุณธรรมได้ ก็คงไม่น่าจะยากที่เราจะสอนให้เด็กเก่ง ให้ความดีคุณธรรมคุมความเก่ง
  • จริงๆ ความเป็นครูนั้น คงไม่จำเป็นต้องเก่งเสมอไปก็ได้ สิ่งที่ผมเองอยากได้คือเป็นคนดีและมีหัวใจพร้อมที่จะศึกษาเีรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเด็ก หรือศึกษาเรื่องใหม่ๆ โดยเก่งในเรื่องของการนำและถ่ายทอด  บางครั้งเก่งมากก็ถ่ายทอดไม่ได้ดีเท่าคนที่เคยล้มเหลวมาครับ
  • ท้ายที่สุดผมเจอว่าทางที่สบายที่สุดคือทำให้ดีที่สุดที่เราสัมผัสกับเด็กๆ ให้ทุกๆดวงใจเกิดพลังในการเรียนรู้ มีแรงจูงใจที่จะช่วยดึงให้เค้าร่วมเดินไปกับบทเรียนของชีิวิต
  • อีกอย่างที่อยากจะบอกคือ ความรู้อยู่ในธรรมชาติ ทำลายธรรมชาติขาดความรู้
  • แปลตื้นๆ ธรรมชาติคือความสมบูรณ์ในสิ่งที่เป็นทรัพยากรต่างๆ รอบตัว
  • แปลลึกๆ ธรรมชาติคือ ธรรมชาติของผู้เรียนรู้ ความรู้อยู่ในตัวของผู้เรียนและอยูภายนอก แต่หากทำลายธรรมชาติภายในตัวผู้เรียนเสียแล้ว ทุกอย่างก็อาจจะจบได้เช่นกันครับ
  • จริงๆ แล้วทุกๆ คนเป็นได้ทั้งครูและนักเรียนครับ
  • และการเป็นครูก็เป็นครูเพื่อสอนตัวเอง สอนคนอื่น
  • การเป็นนักเรียนก็คือการเป็นนักศึกษาหาความรู้ โดยไม่ยึดติดกับกรอบว่าเรียนจบแล้วไม่ใช่นักเรียนแล้ว จบ.ปริญญาแล้วยังเป็นนักเรียนอยู่หรือไม่?
  • ผมว่าควรจะสร้างสังคมให้อยู่รูปแบบการเป็นครูและเป็นนักเรียนในตัวเองและเน้นการให้มากกว่ารับ ให้อย่างบริสุทธิ์ใจ แล้วจะดี
  • ส่วนรัฐบาลนั้น ต้อง(ย้ำ่ว่าต้อง) ให้การศึกษากับคนทุกคนในประเทศ ให้โอกาสทางการศึกษาเพราะเกรดสมอง เกรดปัญญาไม่แปลผันตรงกับความร่ำรวย ดังนั้นต้องให้โอกาสทุกคนได้มีสิทธิ์เรียนและสร้างโอกาสให้กับเค้า ไม่ว่าจะพิการหรือปกติก็ตาม
  • รัฐบาลต้องให้การศึกษาแบบฟรี หากต้องการจะให้คนจบมาเพื่อทำให้กับสังคมแบบฟรีๆ ได้ อยากให้มีคนกล้าสะพานเป้วิ่งเข้าป่า ขึ้นดอย ได้ ก็ต้องให้การศึกษากับเค้าแบบฟรี ให้คุณภาพมากกว่าปริมาณ แล้วจะมีคนแบบนี้เกิดในสังคมไทย คนจะมีอุดมการณ์มากขึ้น
  • แต่หากเราเอาทุนนิยมไปผูกกับการศึกษาระัดับล่างแล้ว ไม่มีหวังหรอกครับที่จะสร้างคนให้ทำงานเพื่อสังคม ฟรีๆ ได้เต็มประเทศ เพราะเค้าติดกับดักแห่งการลงทุนตั้งแต่ก้าวแรกๆ แล้ว
  • หากนักการศึกษาไทย ลองทบทวนให้ดี ผมว่าเราน่าจะพัฒนาได้ นักการศึกษาเก่งๆ ทั้งนั้นในประเทศไทย ครับ เรามีคนดีครับ เรามีคนเก่งครับ แต่เราจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร ให้เกิดพลังที่จะทำงานร่วมกันได้ หากเราสร้างคนทั้งดีและเก่งให้อยู่ในคนๆเดียวกันได้ด้วยแล้วสังคมจะเป็นบวกมากขึ้น
  • เราจะไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดการบางอย่างที่ไม่จำเป็นอีกเยอะเลยครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ จำนวนนักเรียนที่สอบได้เหรียญทองโอลิมปิกนั้นก็น่าประทับใจครับ แต่จำนวนนักเรียนที่เรียนไม่จบประถมนั้นก็เยอะมากๆ นะครับ
  • ขอบคุณพี่มากๆ นะครับ

สวัสดีค่ะน้องเม้ง

พี่เห็นด้วยมากๆ ค่ะกับที่น้องเม้งกล่าวมาทั้งหมด แต่ที่ชอบมากคือ "ทุกๆ คนเป็นได้ทั้งครูและนักเรียน" ทุกวันนี้ตัวเองก็ยังเป็นนักเรียนอยู่เหมือนเดิม เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต ซึ่งพี่คิดว่ามีคุณค่ามากๆ บางครั้งมากกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนด้วยซ้ำไป แต่การเรียนรู้ในห้องเรียนก็ยังจำเป็นเพราะการเรียนรู้ในห้องเรียนเป็นการเรียนลัด เรียนจากบทสรุปที่มีคนสรุปหรือผ่านเรื่องนั้นๆ มาแล้วมาเล่าให้ฟัง

สำหรับที่สมัยก่อนทำไมปู่ย่าตายายของเราจึงสอนกันได้ดีกว่าเราในปัจจุบัน พี่คิดว่าสาเหตุหนึ่งคือเรื่องจำนวนค่ะ ปัจจุบันจำนวนคนมีมากขึ้น ดังนั้นความต้องการมากขึ้น พัฒนาอะไรๆ เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้มากขึ้น (เหมือนพัฒนากิเลสไปด้วยในตัว) ของกิน(สังเคราะห์) ของ(สังเคราะห์) หลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้น 

จากที่เคยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ และเดินทางไม่สะดวกเท่าทุกวันนี้ ดังนั้นครอบครัวจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากกว่าปัจจุบัน ทำอะไรกันเป็นครอบครัว ความใกล้ชิดสนิทสนมในครอบครัวมีมากกว่า (ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เด็กสนิทกับมือถือมากกว่าคนในครอบครัว) ดังนั้น การดูแล การปลูกฝัง ทำให้คนพัฒนาทางจิตใจ มากกว่าปัจจุบัน 

ถ้ามองแบบธรรมะ พี่ก็เห็นแล้วว่ามนุษยชาติได้ผ่านเลยจุดสมดุลของการพัฒนาไปแล้ว เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาลง     สักพัก(หรือตอนนี้)ธรรมชาิติก็กำลังเอาคืนอยู่.. เช่น โลกร้อน ไข้หวัดนก ฯลฯ   จากเดิมที่จำนวนคนที่น้อย กลายเป็นประชากรล้นโลก สุดท้ายธรรมชาติเอาคืน..แล้วแต่ว่าจะเหลือแค่ไหนและรวดเร็วขนาดไหนค่ะ

จากเรื่องการศึกษาไหงมาจบเรื่องมนุษยชาติได้ไงหนอ ^ ^  ขอบคุณน้องเม้งที่แวะมาให้ข้อคิดเห็นนะคะ สู้ต่อไปค่ะ ^ ^ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท