ประเพณีตักบาตรกลางน้ำ ที่ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี


 

ประเพณีตักบาตรกลางน้ำ

ที่ตำบลบ้านแหลม

อำเภอบางปลาม้า

จังหวัดสุพรรณบุรี

 

     คืนวันนี้(๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐) คณะเพลงอีแซวนักเรียนโรงเรียนบางลี่วิทยา ของผม ได้รับเชิญจาก อบต.บ้านแหลม โดยท่านนายกอบต. สุรพงษ์ พนากิจกุล ให้ไปแสดงในงานประเพณีชักพระเล่นเพลงและตักบาตรกลางน้ำ ที่บริเวณวัดป่าพฤกษ์ ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี (วัดป่าพฤกษ์นี้มีอุทยานมัจฉา มีปลาน้ำจืดมากมายให้ชมด้วย)

     งานประเพณีตักบาตรกลางน้ำ เป็นประเพณีที่แสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ของชาวบ้านบ้านแหลมและชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำสุพรรณ(แม่น้ำท่าจีน) เป็นการปฏิบัติที่สืบทอดกันมากว่า ๘๐-๙๐ ปี

     ตามประวัติอันเป็นต้นเหตุให้เกิดประเพณีตักบาตรกลางน้ำเล่ากันว่า ในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนพฤศจิกายน ชาวบ้านแหลม จะต้องย้ายที่อาศัยจากบ้านเรือนปกติไปสร้างกระท่อมอยู่ชั่วคราวกลางนา ที่ภาษาถิ่นปักษ์ใต้เรียกว่า "ขนำ" เพื่อทำการเก็บเกี่ยวข้าวเป็นระยะเวลาประมาณ ๒ เดือน เมื่อเสร็จภารกิจการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจึงจะเดินทางกลับบ้าน ทำให้ในช่วงเวลานี้ ชาวนาเหล่านี้จึงไม่ได้ตักบาตรตอนเช้าที่หน้าบ้านตนเอง และพอถึงวันพระก็ไม่ได้ไปตักบาตรทำบุญที่วัด

     ชาวบ้านบ้านแหลมจึงมาคิดกันว่า จะทำอย่างไรไม่ให้พระสงฆ์ที่วัดเดือดร้อน ในที่สุดด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และมีจิตใจเปี่ยมล้นด้วยกุศล ที่จะทำนุบำรุงพระศาสนา จึงได้ร่วมกันจัดงานทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ก่อนที่จะเดินทางไปเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อถวายเป็นภัตตาหาร ให้พระสงฆ์เก็บไว้ฉันในช่วงเวลาที่ชาวบ้านไม่อยู่

    วิถีชีวิตของชาวบ้านแหลม ส่วนใหญ่จะอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณ ใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม พระ เณรจะพายเรือมาบิณฑบาต ในวันก่อนเดินทางไปอยู่โรงนา จึงมีชาวบ้านจำนวนมากมาพร้อมกัน สองฟากฝั่งแม่น้ำสุพรรณ เตรียมข้าวสารอาหารแห้ง อาหารสด มาตักบาตรกันเรียงรายไปตลอดลำน้ำ ไม่เพียงตำบลบ้านแหลมเท่านั้น หากแต่เริ่มต้นบริเวณหน้าวัดป่าพฤกษ์ หมู่ ๔ ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางบางม้า ไปสิ้นสุดที่วัดรางบัวทอง(วัดบ้านกลุ่ม) อำเภอสองพี่น้อง รวมระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จึงเกิดเป็นประเพณีตักบาตรกลางน้ำสืบต่อมา

    แต่จากการอ่านจากเอกสารเผยแพร่ของอบต.บ้านแหลม กล่าวทำนองว่า เมื่อชาวบ้านไปทำนาเสร็จกลับจากโรงนา(ขนำ)แล้วจึงจะกลับมาบ้านแล้วนิมนต์พระมารับบิณฑบาตพร้อมกัน ในเวลาอรุณรุ่งประมาณตี ๕ พระสงฆ์จากวัดต่างๆที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน จำนวนนับร้อยรูปจะนั่งเรือออกรับบิณฑบาต

    เมื่อพิจารณาจึงเห็นที่มาของประเพณีนี้เป็น ๓ แนว คือ

    ๑. การตักบาตรเกิดขึ้นก่อนชาวนาเดินทางไปอยู่โรงนา

    ๒. การตักบาตรเกิดขึ้นหลังจากชาวนากลับจากโรงนามาอยู่บ้าน

    ๓. การตักบาตรอาจทำ ๒ ครั้ง คือก่อนไปและเมื่อกลับบ้านมาก็ดีใจจึงขอทำบุญให้สมกับที่ไม่ได้ตักบาตรมานานเป็นเดือน

     จะอย่างไรก็ตาม ก็ล้วนแสดงถึงความใจบุญ ใจกุศลของชาวบ้านสองฟากฝั่งแม่น้ำสุพรรณ โดยเฉพาะชาวตำบลบ้านแหลม

    ในปัจจุบัน ได้เพิ่มกิจกรรม ชักพระ ทอดผ้าป่า เล่นเพลงเรือ เพลงพื้นบ้าน และร่วมปิดทองไหว้พระหลวงพ่อสีแสง พร้อมชมระฆังโบราณอายุกว่า ๓๐๐ ปี

    สนใจข้อมูลเพิ่มเติมชมได้ที่ www.banleamburi.org

หมายเลขบันทึก: 147040เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2007 07:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • นายกฯ สุรพงษ์  พนากิจกุล ฝากขอบคุณ
  • ให้ครูพิสูจน์ และทีมงานทุกคน
  • พร้อมกับฝากคำชื่นชมจากชาวบ้านแหลมฝากให้ด้วย
  • สุดท้ายขอจองไว้ล่วงหน้าเผื่อใน ปี 2551ด้วยเลยนะครับ
มีกิจกรรมประเพณี ดี ดี ดี แบบนี้น่าจะประชาสัมพันธ์มากๆๆ  ดูภาพกิจกรรมจากเว็บไซต์ของ อบต.บ้านแหลมแล้ว  น่าสนใจมาก 
  • ขอบคุณ ผอ.ประจักษ์
  • ขอบคุณ นายกสุรพงษ์ พนากิจกุล
  • วันนั้น คณะของเราไปแสดง
  • มีคนดูมาก และบอกว่าประทับใจ
  • ตอนนั้นเราเป็นแชมป์ ๑ สมัย
  • แสดงวันที่ ๑๗ แล้วไปป้องกันแชมป์ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
  • ประสบความสำเร็จ เพราะเราได้เวที วัดป่าพฤกษ์ เป็นเวทีตรวจสอบความพร้อม
  • ที่สำคัญ ผมบนหลวงพ่อสีแสง ในโบสถ์ว่า
  • ถ้าได้แชมป์จะไปแสดงแก้บน หน้า โบสถ์ อย่างน้อย ๑๐ นาที
  • คงต้องไป เร็วๆนี้
  • แฮะๆเล่น....ไสยศาสตร์กะเขาเหมือนกัน
  • ขอบคุณ คุณคนสุพรรณ ที่แวะมาชม
  • ผมก็มีส่วนช่วย ท่านนายกสุรพงษ์ ประชาสัมพันธ์ แล้วนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท