โลกต้องการคุณธรรม part2


ชำแหละคุณธรรม

 

นกหลายชนิดอยู่กันเป็นฝูง ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เอื้อประโยชน์และความปลอดภัยแก่กันและกัน มีบ้างที่มีการเอาเปรียบกันในฝูง แต่ที่แสดงความเสียสละประโยชน์ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อส่วนรวมก็มีไม่น้อย เช่น เมื่อเห็นภัยต่อฝูงมันจะร้องเสียงดังเป็นพิเศษเพื่อเตือนเพื่อนร่วมฝูงให้รู้ตัว โดยตัวเองยอมเป็นเป้าให้ผู้ล่าเป็นพิเศษ อาจจะอธิบายได้ว่ามันร้องเพราะความตกใจตามสัญชาตญาณก็ได้ เหมือนคนร้องเสียงหลงเมื่อภัยใกล้ตัว แต่ก็ต้องนับว่าเป็นสัญชาติญาณที่ให้คุณแก่ผู้อื่นโดยตัวเองต้องเสี่ยงภัย เป็นคุณธรรมระดับสัญชาตญาณที่แสดงให้เห็นว่าคุณธรรมของมนุษ์มีตัวอย่างให้ดูได้เป็นแม่แบบในสัญชาติญาณของสัตว์ฝูง แต่ก็มีผู้ให้ข้อสังเกตด้วยว่า เสียงที่สัตว์ฝูงร้องด้วยความตกใจกับเสียงร้องเตือนภัยฝูงเป็นเสียงไม่เหมือนกัน เป็นเสียงคนละโทนจนสังเกตได้ เป็นความตั้งใจบอกเตือนโดยเฉพาะ ไม่ใช่ออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ในมนุษย์หากความตั้งใจแบบเดียวกันนั้นผ่านความสำนึกดีชั่วหรือมโนธรรม จะเป็นความประพฤติดีทันที หากทำด้วยความเคยชินจนเป็นนิสัยเมื่อใดก็เป็นคุณธรรมข้อหนึ่งอย่างสมบูรณ์แบบ

ชาวแอฟริกันรู้จักฝึกเสือชีตา (Cheetah) เอาไว้ใช้ล่าสัตว์และป้องกันตัวจากหมาป่าได้ แต่เวลาหมาป่ามีลูก มันยอมสู้ตาย นกบางชนิดยอมเสี่ยงชีวิตเรียกศัตรูออกไปให้ไกลจากรังเพื่อรักษาชีวิตลูกน้อย มันคงคิดไม่ไกลถึงว่าเมื่อมันถูกกินลูกมันก็ไปไม่รอด แต่มันก็ช่วยชีวิตลูกตามเหตุการณ์เฉพาะหน้าไปก่อน  

ลิงบาบูนแสดงชัดๆถึงสัญชาตญาณคุณธรรมแห่งความเสียสละและสามัคคี ลิงชนิดนี้ชอบอยู่ตามพื้นดิน เพราะปีนป่ายไม่เก่ง วิ่งพอได้แต่ก็ไม่เร็วเท่าเสือ ดังนั้นหากอยู่ลำพังตัวเดียวเจอเสือทีไรเป็นหนีไม่พ้นทีนั้น มันจึงระวังตัวโดยไม่ไปไกลจากฝูง หากมีวี่แววว่าเสือกลํ้ากรายเข้ามาในระยะอันตรายมันจะรวมตัวกันอย่างมียุทธวิธีทันที คือให้ตัวเมียและลูกเล็กๆอยู่กลางฝูง ล้อมรอบด้วยบาบูนชายฉกรรจ์ เสืออยู่ด้านไหนก็มีบาบูนหนุ่มๆจับกลุ่มกันมากเป็นพิเศษ หากเสือไม่เจียมตัวกล้าผลีผลามเข้ามาระยะกระชั้นชิด บาบูนหนุ่มๆจะพุ่งกระโจนเข้ารุมทันที ทั้งหน้าหลัง สีข้างและบนหลัง เสือก็เสือเถอะ หากสำนึกตัวกลัวตายไม่ทันก็จะตายเอาง่ายๆ

นี่คือตัวอย่างอันดีของความเสียสละอย่างรู้รักสามัคคีในระดับสัตว์ชั้นสูงระดับบาบูน ซึ่งฝูงช้างเองก็ยังต้องอายและควรดูเป็นตัวอย่าง

พีเทอร์ ซิงเกอร์ (Peter Singer) ผู้มองโลกในแง่ดีชี้ให้สังเกตว่าหมาป่า แม้ว่าจะร้ายในขณะหิวออกหาเหยื่อ แต่ครั้นได้เหยื่อกินอิ่มแล้วก็ยังรู้จักคิดถึงเพื่อนในฝูง มีผู้เห็นหมาป่าที่อิ่มแล้วคาบเนื้อที่เหลือกลับไปให้เพื่อนที่หลงฝูง มีผู้เห็นลิงโกริลลาและลิงชิมเปนซีโยนอาหารให้เพื่อนร่วมฝูงเพื่อแสดงมิตรภาพ บางทีก็นำเพื่อนไปสู่ต้นไม้ที่มีผลสุกที่ตนได้กินจนอิ่มแล้ว และเมื่อทั้งฝูงกินอิ่มแล้วมันก็ช่วยกันส่งเสียงส่งสัญญาณให้ฝูงอื่นมากินโดยพวกมันยอมถอยห่างออกไปก็มี สัตว์บางชนิดรู้จักช่วยเพื่อนบาดเจ็บ อย่างเช่น ปลาโลมาเป็นปลามีปอดต้องขึ้นหายใจเหนือนํ้าเป็นจังหวะ หากมีตัวบาดเจ็บในฝูงไม่สามารถว่ายนํ้าขึ้นมาหายใจได้ พรรคพวกจะช่วยกันหนุนขึ้นมาหายใจเป็นระยๆจนกว่าจะตายหรือหาย ฝูงช้างก็เช่นกัน มีนายพรานที่ได้รู้เห็นกับตานำมาเล่าว่า หากตัวหนึ่งบาดเจ็บล้มลงแต่ยังไม่ตาย ตัวอื่นๆจะช่วยกันพยุงให้ลุกขึ้นและประคองกันเดินหนีภัย

 จะว่าอย่างไรกับหลักการทุกชีวิตต่อสู้เพื่อการอยู่รอดเป็นการสังเกตที่ถูกต้องก็จริง แต่นั่นไม่ใช่ชีวิตทั้งหมดของชีวิตหนึ่งๆ เพราะชีวิตคือความสามัคคีเสียสละก็มีความจริงด้วยชีวิตคือการต่อสู้จึงมีความหมายเชิงปฏิพัฒนาการ (dialectic) ชีวิตคือการต่อสู้จึงมิได้หมายความว่าชีวิตหนึ่งๆต้องต่อสู้กับทุกชีวิตที่อยู่รอบข้าง เพื่อให้สิ่งอื่นทั้งหมดตายโดยตัวเองอยู่รอด อย่างที่ชาร์ล ดาร์วินว่า

แต่ในแต่ละชีวิตมี 2 ธาตุที่ต่อสู้กัน จะเรียกว่าหยิน-หยาง จะเรียกว่าร้อน-เย็น จะเรียกว่าแข็ง-เหลว จะเรียกว่าสูง-ตํ่า จะเรียกว่าขวา-ซ้าย จะเรียกว่าคู่ อย่างไรก็ตาม ต่อสู้กันในตัวเอง คือ ต่อสู้กับพลังใฝ่ตํ่าในตัวเพื่อปลดปล่อยอำนาจฝ่ายสูง นี่คือชัยชนะของความดี เป็นชัยชนะของคุณธรรมจริยธรรม เรื่องนี้ต้องการจะบอกว่าคำสอนของชาร์ล ดาร์วินมีความจริงของชีวิตภายนอก แต่ก็ไม่จริงเสมอไป เพราะในความเป็นจริงภายนอกนั้น ไม่แน่เสมอไปว่าคนแข็งแรงกว่าจะอยู่ยืนยงกว่าคนอ่อนแอ คนได้เปรียบไม่แน่เสมอไปว่าจะก้าวสูงในสังคมมากกว่าคนเสียเปรียบ

อีกความหมายหนึ่งมีความจริงมากกว่า คือ มีการต่อสู้ภายในของแต่ละชีวิต และเราก็ศึกษาจนรู้ได้ว่าการต่อสู้ทั้งภายนอกและภายในมีตั้งแต่ในสัตว์ที่ดำรงชีพด้วยสัญชาตญาณอย่างเข้มข้นหรือสัตว์ชั้นสูงแล้ว ทำให้เราดึงบทเรียนได้อย่างมากมายจากสัตว์ชนิดต่างๆ ผู้สังเกตสัญชาตญาณคุณธรรมในสัตว์ได้คมชัดที่สุดคนหนึ่งตั้งแต่ในอดีตนานมาแล้ว คือ อีสป ทาสชาวกรีกที่นายต้องเคารพในความเฉลียวฉลาด ดังนั้นในมิติประวัติศาสตร์ของจริยศาสตร์ 7 แท่งของกีรติ บุญเจือ พิมพ์เผยแพร่มาตั้ง พ..2519

ความว่า  มนุษย์เราเริ่มมีแววแห่งความสำนึกทางจริยะตั้งแต่เมื่อใดเป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะค้นคว้าหาหลักฐานมายืนยันให้แน่นอนลงไปได้ในขณะนี้

จากการสังเกตดูความเป็นอยู่ของสัตว์ชั้นสูง เราพบว่ามันดูเหมือนจะรู้จักปฏิบัติจริยธรรมบ้างแล้ว เช่น เราสังเกตเห็นว่า มดและผึ้งมีความเสียสละและความสามัคคี อูฐมีความรอบคอบ นกรู้จักคิดถึงอนาคต ลิงรู้จักอยู่กันเป็นสังคม ช้างรู้จักเชื่อฟังผู้นำ ฯลฯ แต่ทว่าการปฏิบัติเหล่านี้เป็นไปตามสัญชาตญาณ ยังไม่มีอะไรส่อให้เห็นเลยว่ากระทำไปโดยมีการตรึกตรองล่วงหน้า

เราจึงยังไม่ถือว่าสัตว์เหล่านี้มีจริยธรรมและคุณธรรมอย่างแท้จริง เพราะได้กล่าวไว้แล้วว่า จริยธรรมและคุณธรรมเป็นมาตรการของความประพฤติ และความประพฤติจะต้องสมมติว่ามีมโนธรรม อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตดังกล่าวเราสรุปได้ว่า การปฏิบัติที่สอดคล้องกับจริยธรรมนั้นมีมาก่อนความสำนึกเสียอีก

ดังนั้น ถ้ามนุษย์เราวิวัฒน์มาจากสัตว์จริง มนุษย์เราก็คงได้ปฏิบัติสอดคล้องกับหลักจริยธรรมมาก่อนโดยสัญชาตญาณ แล้วจึงค่อยๆสำนึกขึ้นมาทีละน้อยว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็นไปตามหลักจริยธรรม ถ้าปฏิบัติตรงกันข้ามก็เป็นการละเมิดจริยธรรม  จึงเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องการเริ่มสำนึกทางจริยธรรม เป็นปัญหาที่ตัดสินได้ยากพอๆกับปัญหาว่ามนุษย์เริ่มเป็นมนุษย์ตั้งแต่เมื่อใด เราอาจจะกล่าวได้กว้างๆว่า มนุษย์เริ่มเป็นมนุษย์เมื่อใด ก็เมื่อนั้นแหละเขาอยู่ภายใต้กรอบของประเพณีบางอย่างอยู่แล้ว ซึ่งสัญชาติญาณได้กระตุ้นให้ปฏิบัติจนเคยชินสะสมไว้และถ่ายทอดต่อๆกันมานานแสนนานก่อนจะเป็นมนุษย์ จึงอาจจกล่าวได้ว่าแววแห่งมโนธรรมเริ่มมีในสัตว์ชั้นสูงแล้ว

มีผู้ยืนยันว่าแม่นกเพลลิเคิน (Pellican) มีนิสัยเสียสละยอดเยี่ยม เมื่อลูกยังเล็กอยู่ในรังมันจะขยันหาอาหารมาป้อนลูก และหากวันไหนหาอาหารไม่พอให้ลูกอิ่มท้อง มันจะจิกอกของมันให้เลือดออกและแอ่นอกให้ลูกได้ดูดกินเลือดจากอกพอประทังความหิว  AHAR Authentic Happiness According to Reality ความสุขแท้ตามความเป็นจริง

 

 

คำสำคัญ (Tags): #คุณธรรม
หมายเลขบันทึก: 145349เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2007 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท