คุณธรรมคืออะไร part2


ชำแหละคุณธรรม

คุณธรรมคืออะไร

หากดูตามรูปศัพท์ภาษาไทย ก็แปลได้ง่ายๆว่า

“ธรรมะที่ให้คุณ” ถ้าแปลอย่างนี้ หลายท่านคงรู้สึกว่า พูดแบบกําปั้นทุบดินเพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า ธรรมะก็ต้องให้คุณ อาจมีผู้ถามว่าธรรมะที่ไม่ให้คุณและธรรมะที่ให้โทษมีด้วยหรือ ตามความเข้าใจของคนไทยทั่วๆ ไปก็น่าจะไม่มี แต่ถ้าเข้าใจในความหมายกว้างๆ ว่า “ธรรมะคือกฎธรรมชาติ” เช่น ชีวิตทั้งหลายเกิดแล้วก็ต้องตาย นํ้าย่อมไหลลงสู่ที่ตํ่า ในความหมายนี้ธรรมะคือกฎตายตัว ตัวกฎเองไม่ดีไม่ชั่ว ความดีความชั่วอยู่ที่เจตนาของผู้ใช้กฎ หากเข้าใจธรรมะว่าเป็นกฎ ความประพฤติดี เช่นทำดีได้ดี จงทำดีหนีชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว เหล่านี้ถือว่าเป็นกฎดี เพราะใครปฏิบัติตามย่อมได้ดี ใครฝ่าฝืนย่อมได้ชั่ว แม้ข้อธรรมะว่า “ทำชั่วได้ชั่ว” ก็ถือว่าเป็นกฎดี เพราะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เตือนสติให้คนละทำชั่วแล้วก็จะได้ดี เรามีแนวโน้มที่จะคิดว่าคุณธรรมคืออะไรที่ดีๆให้คุณ ขจัดโทษ เป็นคุณสมบัติที่พึงยกย่อง และเนื่องจากเป็นคำนามธรรม จึงอธิบายได้ต่างๆ นานา อธิบายน้อยๆ ก็รู้สึกว่าจะพอเข้าใจได้ แต่พอขยายความต่อไปมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้งง และไม่เข้าใจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 อธิบายคุณธรรมด้วยคำพูดสั้นๆว่า “สภาพคุณงามความดี” และอธิบายคำ “จริยธรรม” ว่า “ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม” ดูตามเจตนาของคำอธิบายทั้ง 2 คำนี้พอจะสรุปได้ว่า คุณธรรมหมายถึงความดีทุกอย่างรวมๆกัน ส่วนจริยธรรมหมายถึงความดีที่กําหนดลงเป็นการปฏิบัติได้ เป็นข้อๆ เหมือน “กฎศีลธรรม” นั่นเอง ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า พจนานุกรมตั้งใจอธิบายศัพท์ ให้คนทั่วไปเข้าใจอย่างทั่วๆไป ไม่ตั้งใจให้นิยามเชิงวิชาการแบบศัพท์บัญญัติ บางครั้งให้นิยามด้วยในฐานะที่ช่วยอธิบายคำนั้นให้เข้าใจได้ง่าย นิยามแท้ๆจึงควรค้นหาดูจากสารานุกรมเฉพาะวิชา เพราะบางคำมีนิยามได้หลายอย่างตามความต้องการของแต่ละวิชา

หากอยากจะเข้าใจให้กระชับ ก็ต้องพยายามวิเคราะห์เชิงวิชาการ และเพื่อให้มีทางค้นคว้าวิจัยให้เกิดความเข้าใจอย่างกว้างขวางต่อไป ก็คงต้องลองเทียบกับศัพท์วิชาการดู เช่นเทียบกับคำว่า virtue ในภาษอังกฤษ จะมีตำราเปิดมิติหลายมิติให้เราได้ศึกษาทำความเข้าใจได้อย่างกว้างขวางทันที

อันที่จริงในวงการศึกษาปรัชญาเป็นภาษาไทยนั้นตำราภาษาไทยใช้คำ “คุณธรรม” เป็นคำแปล “virtue” มานานแล้ว เปิดดูพจนานุกรม Webster’s New Universal Unabridged Dictionary ที่คำว่า virtue จะพบคำอธิบายว่า moral excellence (ความดีเลิศทางศีลธรรม) , goodness (ความดี), righteousness (ความถูกต้องชอบธรรม), conformity of one’s life and conduct to moral and ethical principles (ความเข้ากันได้ระหว่างชีวิตและความประพฤติกับหลักการทางศีลธรรมและจริยธรรม), a particular moral excellence (ความดีเลิศทางศีลธรรมเฉพาะด้านหนึ่ง) จะเห็นว่าให้ไว้หลายนิยามหรืออธิบายไว้หลายอย่างต่างๆกัน และคงไม่ใช่ทุกความหมายเป็นความหมายวิชาการ โดยตะล่อมจากกว้างๆ ที่สุด (ความเป็นเลิศในทางดี) มาสู่แคบที่สุด (ความดีเลิศเฉพาะด้าน) ทิ้งปัญหาให้ต้องค้นหาความเข้าใจให้กระชับต่อไปว่า อย่างไรจึงเรียกว่า “ดีเลิศ” พจนานุกรมเป็นตำราอธิบายคำอย่างพื้นๆ ไม่ลงไปถึงความเข้าใจเชิงวิชาการอย่างจริงจัง ผู้นิยามคงคิดว่าพอแล้วสำหรับเข้าใจอย่างทั่วๆ ไปที่ไม่เป็นวิชาการเฉพาะด้าน หากต้องการความกระจ่างต่อไปให้ถึงที่สุดของความรู้ ก็ต้องหาคำอธิบายจากตำราวิชาเฉพาะ

ลองหาจากตำราวิชาจริยศาสตร์ดู เนื่องจากจริยศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา สารานุกรมปรัชญาน่าจะช่วยได้ เปิดดูคำ virtue ในสารานุกรมปรัชญาของสำนักพิมพ์เราท์เลดช์ (Routledge) เล่ม 9 หน้า 627 พบคำนิยามว่า “รายงานที่ทันสมัย ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับอเริสโทเทิลว่า คุณธรรมคือความพร้อมในนิสัยที่ได้มาโดยการฝึกฝน.... ทั้งยังเห็นด้วยว่าคุณธรรมไม่ใช่ความเคยชินแข็งทื่อแบบเครื่องจักร แต่จะต้องยืดหยุ่นโดยใช้เหตุผลปฏิบัติ ( = ความรอบรู้หรือรู้เพื่อปฏิบัติ)” (A modern account is likely to agree with Aristotle that virtues are dispositions of character, acquired by ethical training… It will agree too that virtues are not rigid habits, but are flexible under the application of practical reason.)
สารานุกรมปรัชญาอีกชุดหนึ่งภายใต้การนำของเอ็ดเวิร์ดส์ (Edwards) ให้นิยามแบบบรรยายของคำคำนี้ไว้ว่า “เนื่องจากนักปรัชญาศีลธรรมยอมรับกันว่า มนุษย์เมื่อทำการ ย่อมทำไปตามท่าทีที่จัดตั้งไว้แล้ว ที่เรียกว่าเป็นแนวลักษณะ ซึ่งบางอย่างก็ถือได้ว่าน่าสรรเสริญโดยเฉพาะ และบางอย่างควรถูกตำหนิติเตียน พวกเขาจึงได้บัญญัติศัพท์ “คุณธรรม” (virtue) ขึ้นใช้เรียกประเภทแรก ส่วนประเภทตรงข้ามบัญญัติศัพท์ “กิเลส” (vice) ขึ้นใช้เรียกตั้งแต่นานมาแล้ว” (Assuming that human agents possess settled dispositions or character traits, some of which are especially deemed worthy of praise while others deserve blame or reproach, moral philosophers have long treated the first sort under the category “virtue” and their opposites under the general term “vice”.) ลองดูนิยามจากหนังสือเล่มอื่นๆ ดูบ้าง เบอร์นาร์ด วืลเลอร์ (Bernard Wueller) ที่คำ Virtue ให้ไว้หลายนิยาม ที่บ่งถึงการปฏิบัติจนเคยชินได้แก่
1. “นิสัยทำดีในมนุษย์” (a good operative habit in man)
2. “นิสัยทำการตามพลังเหตุผลโดยทำตามกฎของเหตุผล” (an operative habit perfecting rational powers so that they act according to the rule of reason)
3. “ นิสัยของมนุษย์ที่ทำให้ผู้มีนิสัยนั้นดีและงานของเขาถือได้ว่าดี” (A human habit that makes its possessor good and his work good.)

นอกจากนิยามวิชาการแล้วยังยอมรับนิยามตามความเข้าใจของคนทั่วไปด้วยว่าได้แก่ “ความดีเลิศทางศีลธรรมอย่างกว้างๆ (general moral excellence) พีเทอร์ แอนจิลิส (Peter Angeles) ที่คำ Moral Virtues ให้นิยามหลักไว้ว่า “คุณธรรมทางศีลธรรม (จริยธรรม) เกิดขึ้นจากการปฏิบัติสมํ่าเสมอ จนเป็นนิสัยของการกระทำ” (Moral virtues are achieved by means of a consistent practice that creates a habit of action.)

วิลเลียม รีส (William Reese) ที่คำ Virtue ให้นิยามไว้ 17 ความหมายตามที่นักเขียนต่างๆ ใช้ ของอริสโทเทิลเจาะเฉพาะคุณธรรมทางศีลธรรมว่า “คุณธรรมทางศีลธรรม (และจริยธรรม) ต้องมีการพัฒนานิสัยจนรู้จักเลือกทางสายกลางระหว่างสุดขั้วในความประพฤติ” (Moral Virtue requires the development of habits leading to the choice of the mean between extremes in conduct.) ที่ต้องระบุว่า “คุณธรรมทางศีลธรรมก็เพราะคำว่า virtus ในภาษาละตินแปลว่าความแกร่งกล้า ในภาษาอังกฤษมีใช้ในสำนวน in virtue of ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ที่คำ Ethics (จริยศาสตร์, จริยธรรม) ให้ 40 นิยามตามความคิดของนักเขียนต่างๆ ตั้งแต่โซเครทิสถึงรอลส์ (John Rawls) แต่ก็ได้ออกความเห็นของตนเองว่า คำ Ethicos (ภาษากรีก) กับคำ Moralis (ภาษาละติน) มีความหมายเหมือนกันคือเป็นกิจกรรมทางปฏิบัติ (practical activity) ซายมัน แบลคเบิร์น (Simon Blackburn) ที่คำ Virtue นิยามอย่างกระชับว่าเป็น “นิสัยที่ปฏิบัติจนเป็นปกติและเป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้พบเห็น” (A Virtue is a trait of character that is to be admired.) จากความเข้าใจร่วมจากหลายๆ ทางเช่นนี้ พอจะสรุปอย่างรวบรัดได้ว่าคุณธรรม (virtue) เป็นเรื่องของนิสัยและกล่าวให้กระชับได้ว่านิสัยเกิดจากการฝึกฝนจนเคยชิน บางคนอาจจะมีนิสัยดีมาแต่เกิด ไม่ต้องฝึกฝน แต่ก็แน่นอนว่าจะต้องปฏิบัติเป็นอาจิณ สรุปรวบรัดได้ว่าได้แก่ “การทำดีจนเคยชิน” นั่นเอง

ส่วนคำว่าศีลธรรม (Morality) และจริยธรรม (Ethicity, Ethic ซึ่งบางคนก็เขียน Ethics) จะกล่าวเหมือนกันว่าชุดของคุณธรรมที่เป็นระบบ คือเข้าใจเป็นระบบหรือปฏิบัติเป็นระบบ ในภาษาอังกฤษใช้คำใดก็ได้ แต่ในภาษาไทยนิยมใช้คำ “ศีลธรรม” สำหรับระบบความดีของศาสนา และจริยธรรมเป็นระบบความดีอย่างกว้างๆ จะอ้างศาสนาหรือไม่ก็ได้ หากทำความเข้าใจให้ชัดเจนและตรงกันอย่างนี้เสียก่อน ก็จะขยายความให้เข้าใจต่อไปได้เรื่อยๆ ความยุ่งยากก็จะลงตัว การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้ธำรงสามัคคีก็จะสะดวก ยังมีข้อความอีกมากที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน จึงจะศึกษาและสื่อเรื่องคุณธรรมได้กระชับ ชัดเจน และนำไปปฏิบัติได้อย่างมั่นใจ คือ กฎ กฎหมาย ระเบียบการ จรรยาบรรณ ธรรมาภิบาล ความพอเพียงที่เป็นทั้งเศรษฐกิจและคุณธรรม รวมทั้งคำที่สำคัญแต่ไม่สู้มีการพูดถึง คือ มโนธรรม กระบวนทรรศน์ ปรัชญา มาตรการความดีหรือความดีมาตรฐาน พฤติกรรม เจตจำนงเสรี ความรับผิดชอบ การมีผู้รับผิด (accountability) การทำผิดที่ไม่ผิด การทำดีที่ไม่ดี ฯลฯ ซึ่งจะต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจกันให้กระจ่าง

เรื่องสำคัญที่ควรพิจารณาไว้เสียแต่ตอนนี้ก็คือ คำ phronesis ที่อริสโทเทิลกล่าวไว้ในหนังสือ Nichomachean Ethics ซึ่งนิโคมาคอส (Nichomachos) ซึ่งเป็นทั้งบุตรชายและลูกศิษย์ของอริสโทเทิล เรียบเรียงขึ้นจากคำบรรยายของบิดา คำนี้มี 2 ความหมาย คือ
1. หมายถึงปัญญาในส่วนที่รู้จักใช้ปรีชาญาณ (wisdom) มาทำการเทียบระหว่างบริบทต่างๆเพื่อตัดสินใจได้ว่าพึงตัดสินใจปฏิบัติอย่างไรในแต่ละกรณีตามบริบทของมัน ในความหมายนี้จึงได้แก่มโนธรรมที่ภาษาละติน แปลเป็น conscientia และกลายเป็น conscience ในภาษาอังกฤษ ในความหมายนี้ phronesis จึงเป็นสมรรถภาพหนึ่งของปัญญา
2. นิสัยแห่งการใช้ phronesis ในแต่ละกรณีที่เกิดขึ้น ซ้ำๆซากๆในบริบทคล้ายคลึงกัน phronesis จึงมีความหมายเป็นคุณธรรม (virtue) อย่างหนึ่งและเป็นคุณธรรมพิเศษ เพราะต้องมีแทรกอยู่ในนิสัยเคยชินทุกอย่างที่เป็นคุณธรรม อริสโทเทิลนิยามว่าเป็น Sophia praktike ซึ่งแปลเป็นภาษา ละตินว่า prudentia และกลายเป็นภาษาอังกฤษว่า prudence และตีความหมายว่าได้แก่ปรีชาญาณเชิงปฏิบัติ (practical wisdom) ยังมีนิยามอื่นๆอีกมากที่จะต้องค่อยๆทำความเข้าใจกันต่อไปตามลำดับ
ปรัชญาคติประจำสัปดาห์

คุณธรรม คือ ความประพฤติดีจนเป็นนิสัย
คำสำคัญ (Tags): #คุณธรรม
หมายเลขบันทึก: 145340เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2007 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2016 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท