คุณธรรมคืออะไร part1


ชำแหละคุณธรรม

 

ชำแหละคุณธรรม (3)

 เมื่อวันที่ 27-28 สิงหาคม 2550 ได้มีโอกาสบริการทางวิชาการแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต วันที่ 9 กันยายน ปีเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 16 เดือนเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏฉะเชิงเทรา ถกประเด็นเดียวกันว่าควรจะตราพรบ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติออกเป็นกฎหมายหรือไม่ เพราะเคยได้ยินมีผู้คัดค้านว่าไม่ควรด้วยเหตุผลว่า1. เรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องของการส่งเสริม ไม่ควรออกกฎหมายบังคับ 2. จะทำให้คนเสื่อมศรัทธาต่อศาสนา เพราะมัวแต่สนใจเรื่องคุณธรรม 3. อาจจะเป็นศาสนาใหม่ คือ ศาสนาคุณธรรมขึ้นมาแทนศาสนาที่มีอยู่แต่เดิมซึ่งดีอยู่แล้ว  

 

จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในวงกว้าง ในที่สุดสรุปได้ว่า ข้อคัดค้านเหล่านั้นน่าจะเกิดจากความบกพร่องของ พรบ.ฉบับนี้ ที่ขาดการนิยามและคำชี้แจงเชิงวิชาการอย่างรัดกุมพอ ที่นับว่าสำคัญมีอยู่ 3 ประเด็น คือ

 1. ขาดการเชื่อมโยงกับตัววิชาการของเรื่องนี้อันได้แก่วิชาจริยศาสตร์ ซึ่งจะต้องมีเนื้อหาแบ่งออกได้เป็น 5 มิติบวก 2 ฐาน อันได้แก่  1) มิติวิทยาศาสตร์ 2) มิติจิตวิทยา 3) มิติสังคมวิทยา 4) มิติปรัชญา 5) มิติศาสนารวมภูมิปัญญาท้องถิ่น 6) ฐานนิยาม 7) ฐานประวัติศาสตร์ พรบ.ฉบับนี้เล่นอยู่ครึ่งมิติ คือภูมิปัญญาชาวบ้าน และหวังจะใช้เพียงครึ่งมิตินี้แก้ปัญหาและวิกฤติของชาติซึ่งบ่อเกิดของปัญหาล้วนแต่ใช้หลักวิชาการทั้งสิ้น   

 

2. นิยามอยู่ในระดับสามัญสำนึกเกินไป ขาดความกระชับทางวิชาการ เช่น นิยาม คุณธรรม ว่า ได้แก่สิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นความดีงาม เป็นมโนธรรม เป็นเครื่องประคับประคองใจให้เกลียดความชั่ว กลัวบาป ใฝ่ความดี เป็นเครื่องกระตุ้นผลักดันให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ เกิดจิตสำนึกที่ดีมีความสงบร่มเย็นภายใน และเป็นสิ่งที่ต้องอบรมโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดขึ้น และเหมาะสมกับความต้องการของสังคมอันเป็นนิยามที่ยาวและจาระไนไว้หลายเรื่องเหลือเกินจนไม่อาจจะแน่ใจได้ว่า แต่ละเรื่องล้วนแต่เป็นคุณธรรม ซึ่งก็หมายความว่าคุณธรรมกินความกว้างเสียจนขาดความกระชับ อะไรๆก็เป็นคุณธรรมได้ และถ้าไม่กําหนดขอบข่ายไว้ พรบ.นี้ก็จะขาดความกระชับเสียจนเกือบจะไร้ความหมาย หากต้องรวมกันทุกเรื่องจึงจะเป็นคุณธรรมก็มีปัญหาว่าบางอย่างขัดแย้งกัน จะอยู่ในนิยามเดียวกันได้อย่างไร สิ่งที่มีประโยชน์กับความดีงามมักจะเข้ากันไม่ได้ เป็นต้น

 3. ขาดนโยบายส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยให้เป็นสากล เพื่อจะได้ร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับคนทั้งโลกได้ด้วยนิยามและจุดสนใจร่วมกัน อันจะช่วยให้เห็นได้ชัดเจนว่าจริยศาสตร์ส่งเสริมความประพฤติดีร่วมกับศาสนา เพราะนิยามคุณธรรมตามมาตรฐานสากลได้แก่ความประพฤติดีจนเคยชินเป็นนิสัยประจำตัวดังนั้น จริยธรรมจึงรวมศีลธรรมของทุกศาสนาไว้ด้วย โดยไม่ละเว้นคุณธรรมตามคติของนักคิดที่ไม่ตั้งใจเผยแผ่ศาสนาใดโดยเฉพาะ อย่างเช่นไอน์สไตน์ มหาตมะคานธี ที่พูดดีให้กับทุกศาสนา หากเข้าใจได้ตามนี้ก็จะสบายใจได้ว่า การส่งเสริมคุณธรรมไม่มีวันจะดึงคนออกจากศาสนา เพราะคุณธรรมส่งเสริมทุกศาสนา และศาสนาทุกศาสนาก็ย่อมส่งเสริมคุณธรรม คุณธรรมช่วยฝึกศีลธรรมให้แก่ทุกศาสนาที่ส่งเสริมคุณธรรม และช่วยให้เหตุผลเชิงปรัชญาแก่ศีลธรรมของทุกศาสนา และไม่จริงที่ว่าคุณธรรมเอาแต่คิด ไม่สนใจปฏิบัติ เพราะนิยามของคุณธรรมก็ระบุบังคับอยู่แล้วว่า ต้องได้ปฏิบัติจนเคยชินเป็นนิสัย มิฉะนั้นก็จะไม่ใช่คุณธรรม จะเป็นเพียงคุณน่ะทำ แต่ฉันไม่ทำถ้าอย่างนั้นก็หวังอะไรกันไม่ได้จริงๆ ชำแหละคุณธรรมครั้งนี้จึงน่าจะชำแหละนิยามของคุณธรรมดูเป็นตัวอย่าง เผื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาอันเกิดจากความคลุมเคลือไม่กระชับจากคำศัพท์ที่ใช้ในพรบ.ฉบับนี้ลงได้บ้าง ดังต่อไปนี้ <p> </p>

คำสำคัญ (Tags): #คุณธรรม
หมายเลขบันทึก: 145343เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2007 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท