ประสบการณ์ตรง ตอนที่ 1 "ค้านสายตา"


การตัดสินคุณภาพให้ผู้ที่เป็นจริง ๆ ได้รับผล ตอบแทนแบบ “ค้านสายตาคนดู” ทำได้โดยที่ไม่มีรู้ความรู้สึกแต่อย่างใด “เพียงแค่ได้หันหลังกลับมาประเมินคุณภาพตนเองสักนิด ผลที่ออกมาก็จะตรงตามสายตา”

 

ประสบการณ์

ที่ได้รับมาโดยตรง

ตอนที่ 1 ค้านสายตา

ชำเลือง  มณีวงษ์ 

          การตัดสินใจ ที่ผ่านการประเมินด้วยสายตา โดยใช้การสังเกตเป็นวิธีการวัดและประเมินผล  ถึงแม้ว่าจะมีแบบสังเกตอยู่ในมือ อยู่บนโต๊ะ  อยู่ในใจ หรืออยู่ที่ไหน ๆ ก็ตาม  แต่มนุษย์เรามีชีวิต จิตใจ และสิ่งสำคัญ คือ มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่ออารมณ์เข้ามา ความรู้สึกก็จะตามมา และลงเอยด้วยความคิดเห็นส่วนตัว เป็นสำคัญ  จึงเป็นที่มาของ คำว่า ค้านสายตา

           ในบทความนี้ ผมขอนำเอาประสบการณ์ตรงที่ได้พบมากับตนเองสัก 3 ครั้ง เพื่อชี้ประเด็นให้เห็นว่า ความน่าเชื่อถือของคนเรา มันอยู่ที่การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ความชัดเจน ตรงมาตรงไป มิใช่พลิกไปมาได้อย่างฝ่ามือ (ดูเป็นคนไม่มีความน่าเชื่อถือ) แต่ก็น่าคิดว่า ทำไมคนเราจึงไม่มีการประเมินคุณภาพตนเองกันบ้าง โดยเฉพาะคนกลุ่มหนึ่ง ที่จะต้องไปทำหน้าที่ชี้เป็นชี้ตาย ให้คุณให้โทษแก่ผู้อื่น เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ผลเสียหายก็จะตกอยู่กับผู้นั้น และเป็นรอยด่าง เป็นจุดดำสนิทติดสมอง ติดกาย ติดหัวใจไปตลอดชีวิต 

          ผมเคยได้รับเชิญให้ไปทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดร้องเพลงอีแซว เพลงวงหนึ่งจะมีผู้แสดง จำนวนประมาณ 10-15 คน วงไหนมาเกินผมว่าดีนะ แต่กรรมการบางท่านบอกว่าผิดกติกา (ปัญญาเขาคิดได้แค่นั้น) ก็วงที่มีคนมามาก เสียเปรียบในการนำเสนออยู่เต็ม ๆ เลย ยังจะไปหาที่ตัดสิทธิ์เขาอีก ส่วนตัวของผม ผมคิดว่าน่าที่จะให้การยกย่อง เพราะเขาสามารถนำผู้แสดงเพลงพื้นบ้านมาได้มาก นั่นคือคุณค่าของ ศิลปะท้องถิ่น เกิดขึ้นแล้ว น่าจะร่วมกันยินดี  เมื่อการประกวดเสร็จสิ้นคณะสุดท้าย  มีผู้ชมหรือผู้ควบคุมวง อยากจะทราบว่า กรรมการให้คะแนนกันอย่างไร ผมมีโอกาสได้เป็นตัวแทนกรรมการขึ้นไปชี้แจง  ผมอธิบายว่า ผมให้คะแนนผู้ที่แสดงทุกคณะ เต็ม 10 คะแนน ในทุกหัวข้อที่พิจารณา แต่เมื่อเริ่มการแสดง ข้อที่ 1 เสียงร้องไพเราะ น้ำเสียงสดใส มีกระแสเสียงไหวพลิ้ว บังคับเสียงได้ไพเราะ (การพิจารณาเรื่องเสียง) ในตัวบ่งชี้ทั้งหมด ผมตัดคะแนน 1คะแนน หากไม่มีแสดง หรือไม่สามารถทำได้ตามตัวบ่งชี้ หากวงใดเรื่องของเสียง ขาดความสดใส ไม่มีกระแสเสียง ผมเขียนลบ 2 (ขาดอะไรผมเขียนบอกไปด้วย) ผมลงคะแนนไว้ที่ช่องคะแนน 8 คะแนน ในหัวข้อพิจารณาอื่น ๆ ก็ทำอย่างนี้จนถึงข้อสุดท้าย แล้วรวมคะแนน ออกมาเป็นคุณภาพของวงนั้น (กรรมการท่านอื่น ๆ บางท่านก็ทำคล้าย ๆ กับผม บางท่านก็ใส่คะแนนไปเลย เป็นสิทธิ์ของแต่ละท่าน) วิธีการได้มาซึ่งคะแนนที่เที่ยงตรงจึงจะได้มาซึ่งคุณภาพที่เที่ยงแท้

           อีกครั้งหนึ่งที่ผมได้รับเชิญให้ไปเป็นประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ผมไม่ใช่นักดนตรี  ผมเป็นนักร้อง ผมเคยขึ้นประกวดร้องเพลงมานับร้อยเวที ตั้งแต่ผมอยู่ชั้น ป.4 ทั้งเวทีงานวัด รายการโทรทัศน์ งานใหญ่ๆ ผมเคยขึ้นไปประกวด  ผมเป็นนักร้องเชียร์รำวง ร้องเพลงได้ทั้งคืน จนสว่างคาตายังเคย  ผมหันไปดูคณะกรรมการท่านอื่น ๆ มีเป็นนักดนตรี 2 ท่าน เป็นนักแสดง 2 ท่าน สรุปว่า เวทีของการประกวดเพื่อหานักร้องที่มีคุณภาพในครั้งนั้น ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น มาตัดสินชี้เป็นชี้ตาย ในการประกวดร้องเพลงกรรมการก็น่าจะมาจากผู้เชี่ยว ชาญด้านร้องเพลง ทำนอง เดียวกันยังมีการประกวดวงดนตรีแต่คณะกรรมการเป็นนักร้องระดับที่มีชื่อเสียง มาตัดสิน จากประสบ การณ์ที่ผมเล่ามาเมื่อการประกวดจบลง คณะกรรมการออกคะแนนมาให้นักร้อง 2 คนมีคะแนนเท่ากัน กรรมการ 5 คน มีผมคนเดียวที่มองนักร้อง 2 คนแตกต่างกันมาก ๆ ทั้งนี้เพราะผมให้คะแนน หักคะแนนตามตัวบ่งชี้เป็นรายข้อโดยละเอียด  แต่กรรมการท่านอื่น ๆ ให้คะแนนโดยใส่ผลรวมออกมาเลย ไม่ต้องเล่าต่อก็ได้ว่า ผลที่มันออกมาอย่างนี้เกิดจาก ความสามารถของผู้เข้าประกวด หรือ ความไม่รู้เท่าทันของกรรมการ และที่น่าคิดมากคือ นักร้องที่พลาดรางวัลในครั้งนั้น เป็นนักร้องที่ผ่านการประกวดชนะเลิศ  ในระดับประเทศมาแล้วหลายครั้งด้วย

           การประกวดเพลงพื้นบ้าน ณ เวทีแห่งหนึ่งที่กรุงเทพมหานคร งานนี้จัดว่า เป็นงานใหญ่มาก ผมได้รับการติดต่อให้นำคณะเพลงพื้นบ้านไปร่วมประกวดด้วย  สิ่งแรกที่ผมสังเกตดู คือโต๊ะคณะกรรมการ  เมื่อพวกเขาเข้ามานั่งประจำโต๊ะ ผมไม่รู้จักบุคคลเหล่านั้นเลย พวกเขามาจากไหน มาทำหน้าที่อย่างนี้ได้อย่างไร  พอได้เวลาพิธีกรประกาศรายชื่อ และตำแหน่งคณะกรรมการ ปรากฏว่า เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเพลงพื้นบ้านทั้งหมดทุกคนเลย (น่าเก็บเอาไปคิด เพื่อเตือนผู้จัดประกวด) การแข่งขันมีอยู่ 3 วง  

                 วงที่ 1 เล่นเพลงตรงตามที่คณะกรรมการจัดประกวด คือเพลงพวงมาลัย และตามด้วยเพลงอีแซว เพลงฉ่อย ผสมผสานกัน มีการร้องด้นกลอนสดตรงกับเป้าหมายของงานเป๊ะ

          วงที่ 2 เล่นเพลงสงฟาง เพลงสงคอลำพวน และปิดท้ายด้วยเพลงพวงมาลัย (ยังเล่นไม่ค่อยเป็นนักเพลงเอาเสียเลย)

          วงที่ 3 เล่นเพลงพวงมาลัย การแสดงของเขาดูจะเพิ่งฝึกหัดมาเฉพาะงานนี้เท่านั้น ความเป็นเพลงยังน้อยมาก แต่แต่งตัวสวยงาม พูดจาฉะฉานสนุกสนาน 

                 คณะกรรมการพิจารณาแล้วประกาศให้วงที่ 2 ได้รับรางวัลชนะเลิศ  จุดที่ผมอยากที่จะชี้ให้เห็นคือ ที่หน้าเวทีด้านล่าง มีผู้หญิงนุ่งผ้าถุงลาย ใส่เสื้อสีเขียว และเสื้อผ้าลูกไม้เหลือง 4-5 คน วิ่งตะโกนอยู่ที่หน้าเวที แล้วชี้หน้าคนประกาศ พร้อมกับตะโกนด้วยเลียงดัง ๆ ว่า วงที่......ต้องชนะ เล่นดี เล่นเป็น ร้องเพราะ ด้นสด ๆ ทั้งนั้น กรรมการไม่เป็น ตัดสินผิดแล้ว ดูเพลงเป็นหรือเปล่า อะไร ของแค่นี้ ตัดสินผิดได้อย่างไร 

                 แต่คณะกรรมการก็ดี มีน้ำใจ ตรงเข้ามาปลอบใจวงที่ 1 แล้วพูดผ่านไมโครโฟนว่า ไม่ต้องเสียใจ การแสดงนะดี ครับ แต่ว่าวงที่ชนะ เขาเป็นพรมครู ต้องยกให้ จะได้มีกำลังใจไปฝึกฝนลูกศิษย์ต่อไปอีก ส่วนวงที่ 1 ยังเป็นเด็ก ๆ วัยรุ่น มีโอกาสที่จะได้พัฒนาต่อไปได้อีกมาก  คนที่เป็นผู้นำวงเพลงคณะที่ 1  เดินเข้าไปถามกรรมการว่า คุณเคยเล่นเพลงบ้างไหม คุณแสดงเพลงพื้นบ้านเป็นไหม คุณเคยดูนักแสดงเพลงพื้นบ้านมากี่ครั้ง คำตอบก็คือ พวกผมเป็นนักวิชาการ ทำงานในสถาบันระดับสูง ที่ผมต้องถามก็คือ ผมเห็นความจริงแท้ที่ชัดแจ้งว่า กรรมการอ่อนแอมาก ทั้งนี้เพราะวงที่ 2 เขาเพิ่งจะหัดเพลงมาประกวด เขามิใช่บรมครูอะไรเลย และพวกเขาก็ไม่มี ไม่เคย ไม่ได้ทำการฝึกหัดใครต่อไปอีก  หลังจากที่เขาได้รับรางวัลแล้ว ก็แสดงความชื่นชมกับความสามารถอยู่กับบ้านตลอดไป โดยที่ไม่เวทีให้แสดงอีกเลย (รางวัลช่วยยกระดับหรือกดให้ต่ำลง) 

                 ใครกันแน่ เป็นคนที่มีส่วนทำให้เกิดข้อผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ  หรือจะด้วยเจตนาก็ไม่มีใครรู้ เพราะเขาอาจเข้าใจว่าตนเองคือ ผู้เชี่ยวชาญทางเพลง ทั้งที่ตนเองไม่เคยแม้แต่จะไปยืนดูคณะเพลงเขาเล่นกัน อย่างดีก็แค่อ่านจากตำรา แล้วนำเอาความรู้ที่จำได้ (คงเหลือเป็นตะกอนเพียง 20 %) มาเป็นตัวกำหนดฐานะตนเองแล้วขยายผลไปยังผู้เรียน การตัดสินคุณภาพให้ผู้ที่เป็นจริง ๆ ได้รับผล ตอบแทนแบบ  ค้านสายตาคนดู  เขาทำได้โดยที่ไม่มีความรู้สึกแต่อย่างใด  เพียงแค่ได้หันหลังกลับมาประเมินคุณภาพตนเองสักนิด ผลที่ออกมาก็จะตรงตามสายตาคนดูได้         

(ชำเลือง มณีวงษ์ : โล่รางวัลชนะเลิศ การประกวดเพลงอีแซวจังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2525)

 

หมายเลขบันทึก: 145339เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2007 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท