เสียงกระซิบจากครูไม่ใหญ่ ตอนที่ 3 : การเดินทางกับโรงเรียนของชุมชน


นี่เป็นส่วนหนึ่งในบันทึกประสบการณ์ชีวิตของผม ในเส้นทางและ "การเดินทางกับโรงเรียนชุมชน" ครับ
          ผมได้เคยเขียนเล่าประสบการณ์ - ประวัติในช่วงของการไปทำงานเป็นครูอาสาสมัครศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา ที่จังหวัดเชียงใหม่ไว้ตั้งแต่ต้นปี 2549 แล้ว 2 ตอน  และได้เขียนยกร่างไว้อีก 2 ตอน จนเวลาผ่านล่วงเลยไปร่วมปีกว่าแล้วนึกขึ้นได้ว่ายังเขียนไว้ไม่จบ  วันนี้เลยนำมาบันทึกต่อ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับชาว G2K ทุกๆ ท่านที่ได้มีโอกาสผ่านแวะมา
          ก่อนที่จะอ่านตอนที่ 3 นี้ น่าจะย้อนไปอ่านตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2  ก่อนนะครับ  เผื่อจะได้ทราบความเป็นมาของรายละเอียดบางส่วนของชีวิต และการทำงานของผม อย่างน้อยก็จะเพิ่มเติมในส่วนคำถามที่ว่า  "ไผเป็นไผ"  ครับ 
          เชิญอ่านได้เลยครับ
         

          ในชีวิตประจำวันของครูอาสาสมัครของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขานั้น  การจัดการเรียนการสอน หรือการจัดการเรียนรู้ของชุมชน จะมีเพียงครูเพียงศูนย์ละ 1คน ทำหน้าที่ทุกอย่าง  และ 1 กลุ่มของศูนย์การศึกษา ก็จะมีครูนิเทศก์ 1 คนทำหน้าที่นิเทศงาน

          ผมในฐานะของครูนิเทศก์ ซึ่งมี 6 ศูนย์ที่จะต้องดูแลและสนับสนุนการปฏิบัติงานในทุกๆ เรื่อง  โดยภายใน 1 เดือน จะหมุนเวียนไปเยี่ยมเยียนให้ครบทุกศูนย์ฯ  และพร้อมกับไปพักในทุกๆ ศูนย์ ระยะเวลาหรือความห่างก็แล้วแต่โอกาสและความเหมาะสม  ในช่วงแรกๆ ก็ต้องอาศัยการเดินเป็นหลักครับ ระยะหลังจึงจะพอมีรถมาสนับสนุนบ้าง และรถส่วนตัว   ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังต้องเดินอยู่เป็นประจำ เพราะมีบางศูนย์ฯ ไม่มีทางรถเข้าถึง ก็ต้องอาศัยสองเท้าก้าวเดินไปยังศูนย์ ฯ หรือโรงเรียนเล็กๆ ในหุบเขา หลังดอยอินทนนท์ เทือกเขาถนนธงชัย

          อุปกรณ์ที่ผมจะใช้และเตรียมอยู่อย่างสม่ำเสมอ  สำหรับการเดินทางในทุกๆ ครับ ก็คือ

  • เป้ประจำตัว  ที่จะมีช่องสำหรับใส่ของแยกกันหลายๆ ช่อง เหมือนเป้เดินทางของทหราร
  • ถุงนอนประจำตัว  ต้องติดไปทุกครั้ง แต่งานนี้ไม่มีมุ้งเพราะในป่าก็จริงไม่มียุงครับ
  • กล้องถ่ายรูป
  • อุปกรณ์และอะไหล่สำหรับซ่อมตะเกียงเจ้าพายุ (ผมมีความสามารถในการซ่อมตะเกียงเจ้าพายุเพราะถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก)
  • อุปกณ์สำหรับการทาสีและการเขียนบอร์ด
  • ไฟฉาย ไม้ขีด เทียนไข
  • ยาแก้ปวดลดไข้
  • มีดยาว สำหรับถางป่า
  • เชือกไนลอนยาวๆ
  • เสื้อผ้าเท่าที่จำเป็น และเครื่องใช้ส่วนตัวอื่นๆ  เช่น สบู่ลายใช้ได้ทุกอย่างทั้งซักบางครั้งจำเป็นก็ต้องใช้อาบครับ
  • ที่สำคัญครับ อาหารหลักและอาหารสำรอง (อาหารหลักคือปลาทูเค็ม/อาหารสำรองคือปลากระป๋องและมาม่าครับ)
  • สมุดบันทึก
  • พิเศษสำหรับหน้าฝน คือผ้ากันฝนและโซ่สำหรับผูกล้อรถมอเตอร์ไซค์ เพราะถนนลื่น

          ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็นกิจวัตรและของใช้จริงๆ ในชีวิตการทำหน้าที่ครูนิเทศก์ของผมนะครับ  ลองมาดูภาพการทำงานจริงๆ ในบางส่วน และในบางเส้นทางนะครับว่าเป็นอย่างไรบ้าง

          ภาพนี้เป็นบางศูนย์ที่จะต้องเดินเท้าเท่านั้น  ต้องข้ามลำห้วยหลายๆ จุด ช่วงหน้าฝนจะลำบากหน่อยเพราะน้ำมาก บางแห่งก็ลึกและเชี่ยว (เหตุที่ต้องเตรียมเชือกไนลอนยาวๆครับ)

                                     

 

         ศูนย์ฯ ไหนที่มีถนนเข้าถึงก็จะสบายหน่อย  อาศัยรถวิบากในการเดินทาง

                                      

   

           ศศช.บ้านสันปูเลย ตอนนี้น่าจะเป็นตำบลบางหินฝน  ศูนย์นี้เปลี่ยนครูบ่อยมากผมต้องอยู่สอนเองที่ศูนย์นี้หลายครั้ง (ตอนนี้เด็ก ในภาพน่าจะเป็นผู้ใหญ่และมีครบครัวกันหมดแล้ว)

                                      

 

           กับเด็กๆ ณ ศศช.บ้านกองบอด จุดนี้ต้องจอดรถไว้กลางป่า  แล้วจึงเดินเท้าจากบ้านแม่ศึกเลาะตามลำห้วยขึ้นไป ( บางครั้งจะเจอช้างบ้าน ที่ชาวบ้านปล่อยไว้ให้หากินเอง ทำให้ต้องได้วิ่งออกกำลังกันบ้าง)

                                      

 

           ศศช.บ้านถวน ตอนนั้นเด็กและผู้ใหญ่ที่มาเรียนเยอะมาก  ภาพถัดไปถ่ายภาพก่อนเตรียมเดินทางไปบ้านกองกาย

 

         นี่เป็นส่วนหนึ่งในบันทึกประสบการณ์ชีวิตของผม ในเส้นทางและ "การเดินทางกับโรงเรียนชุมชน" ครับ

(ภาพเหล่านี้ผมได้ใช้กล้องดิจิตอลถ่ายจากภาพเก่าๆ เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว แล้วนำมาบอกเล่าผ่านบันทึกนี้อีกครั้งหนึ่งครับ)

วีรยุทธ  สมป่าสัก   8 พ.ย.2550

หมายเลขบันทึก: 145034เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2007 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

ประสบการณ์ โหด มันส์ ฮา จริงๆ

ถ้าไม่เก็บมาเล่าเสียดายแย่ อิอิ

 

หวัดดีครับ

  • อดีตที่ชื่นมื่น จนลืมไม่ลง และคงไม่ลืม ซินะ
  • ครู ที่เป็นครู
  • ครู ที่มากกว่าครู
  • ครู  ที่ให้มากกว่าใคร
  • ครู  ที่เป็นด้วยใจ
  • ครู  ที่อยู่แสนไกล
  • ครู  สอนครู

สวัสดีค่ะ

  • ยิ่งกว่าพระเอกในหนังเรื่อง "ครูบ้านอก" ซะอีกค่ะ
  • บอกได้เลยว่า....สุดยอดครู  ค่ะ
เห็นอักษร ย้อนดูภาพแล้วนึกถึงตัวเองเหมือนกันสมัยทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่เมื่อปี 2518-2523 มันส์จริงๆ พระเดชพระคุณท่าน

สวัสดีครับ

  • ประสบการณ์หาซื้อตามท้องตลาดไม่ได้
  • ทุกชีวิตต้องดิ้นรน หามันเอาเอง
  • จึงจะมีวันนี้มาเล่าเพื่อนๆ
  • ขอบคุณมาก

ครูวีรยุทธ สมป่าสัก ครู กศน.ดีเด่น ที่ผมประทับใจ ลอง click เข้าไปอ่านดูครับ

เสียดายที่ ครู กศน.ในพื้นที่ที่มีประสบการณ์ทำนองนี้ ไม่ได้นำประสบการณ์มาเล่าใน G2K

อย่างที่ท่านครูบาท่านว่าเสียดายแย่ถ้าไม่นำมาเล่า

คิดถึงครับ

P

  • สวัสดีครับพ่อครูบา
  • เป็นประสบการณ์ที่ โหด มันส์ ฮา จริงๆ เลยครับ
  • ที่หาซื้อไม่ได้ด้วยเงินตรา ต้องลงลุยจึงจะได้เรียนรู้
  • ขอบพระคุณมากครับ

P

  • สวัสดีครับพี่ชัยพร
  • เริ่มมีอายุแล้วครับ ก็เลยคิดถึงอดีต...อิอิ
  • เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจมากครับ
  • ขอบคุณครับ

P

  • สวัสดีครับพี่องุ่นคนสวย
  • ในชุมชนได้มีโอกาสทำงานในบทบาทที่มากกว่าครู(ที่สอนหนังสือ) เพราะว่าทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับการพัฒนาครับ
  • ขอบคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน 

P

  • สวัสดีครับ อ.หญ้าบัว
  • ตอนนั้นพวกเราเรียกกันเองว่า "ครูวิบาก" ครับ...อิอิ
  • โรงเรียนก็ต้องสร้างเอง
  • หาโรงเรียน-นักเรียนเอง
  • แต่ก็ทำงานสนุกมากครับ
  • ผ่านมาเกือบ 20 ปี ไม่รู้ว่าตอนนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง
  • ขอบคุณมากครับ

P

  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • ประสบการณ์ที่ดีๆ ที่เป็นบทเรียน และเป็นฐานให้แก่ตัวผมเองจนถึงทุกวันนี้นะครับ
  • ช่วง 2518-2523 แถบสะเมิงคงเป็นเขตอันตรายนะครับ ที่แม่แจ่มเขาเล่ากันว่าน่าดูเหมือนกัน
  • ถนนหนทางก็คงโหดน่าดูนะครับ
  • ตอนปี 2531 ผมเคยขับมอเตอร์ไซค์สำรวจมาจากแม่แจ่ม  ผ่านปางอุ๋ง ห้วยขี้เปอะ ต.บ้านจันทร์ มาตามถนนและทางขุดของชาวบ้านทะลุออกที่สะเมิงใช้  เวลาเกือบ 2 วันครับ กลับทางเดิมไม่ไหวต้องอ้อมกลับ อ.แม่แจ่มทาง อ.จอมทอง
  • ขอบพระคุณมากครับ

P

  • สวัสดีครับพี่ไมตรี
  • ถูกต้องแล้วครับ..."ประสบการณ์หาซื้อตามท้องตลาดไม่ได้"
  • และหากไม่มี G2K ก็คงหมดโอกาสที่จะบันทึกมาแลกเปลี่ยนกันนะครับ

 

P

  • สวัสดีครับครูนงเมืองคอน
  • ช่วงนี้ไม่ค่อยเข้าไปทักทาย ต้องขออภัยด้วยนะครับ
  • ต้องยุให้ครูอาสาเขียนบันทึกเพื่อการ ลปรร.
  • เอ...หรือว่าจะกำหนดให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการรายงานผลการทำงานก็น่าจะเกิดประโยชน์นะครับ...อิอิ
  • ขอบพระคุณมากครับ

* หวัดดีครับ

* จากภาพและเนื้อหาดูแล้วมีบรรยายกาศที่ชอบมากครับ น่าจะทำงานสนุกใบแบบพอเพียงนะครับ

ประทับใจแทนสิงห์ป่าสัก  นิยมชมชอบที่คุณเป็นคนใฝ่เรียนรู้ สมกับมาดที่นิ่ง เงียบ แต่เฉียบคมดี เป็นกำลังใจให้น้องชายนะจ๊ะ เป็นครูบนดอยป่านฉะนี้คงขาวเหมือนชาวเขาชาวดอยไปแล้ว!!  ตอนไปเรียนทางเหนือก็ชอบตอนไปฝึกงานที่แม่ฮ่องสอนมาก(หนาวเย็นดี ขนาดช่วงเดือน   เม.ย อุณหภูมิ 10 องศา(c)

จาก เกษตรพญาชาละวัน

P

  • สวัสดีครับพี่เธียรไชยา
  • ตอนนั้นทำงานสนุก ได้เรียนรู้ และเป็นตัวของตัวเองมากครับ
  • ขอบคุณครับ

P

  • สวัสดีครับเจ๊บัวแทนขวัญ
  • ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน
  • อย่าลืมเขียนเล่าประสบการณ์การทำงานที่พิจิตรมาแบ่งปันกันบ้างนะครับ

เห็นภาพแล้วอยากมาจังเลย

ดิฉันครูศศช.บ้านถวน(คนปัจจุบัน)ค่ะ ทำงานครูดอยมา จะย่างเข้า12ปีแล้ว ทำงานมา 2 ศศช.แล้ว

ยอมรับว่าถอยไม่ได้สงสารเด็กและชุมชนค่ะ ใครสนใจชีวิตครูดอยติดต่อทางe-mail ได้นะคะ

ศศช. บ้านถวน ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 50270

ยินดีเจ้า

กระดังงา

  • สวัสดีครับคุณกระดังงา
  • ผมไปช่วยสร้าง ศศช.บ้านถวน ตั้งแต่เริ่มสำรวจหมู่บ้าน
  • ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ  มีภาพปัจจุบันช่วยกรุณานำมาแบ่งปันให้ดูบ้างนะครับ
  • ขอที่อยู่อีเมลด้วยครับ
  • ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน

สวัสดีครับ ผมอยู่บ้านถวนครับ อาจารย์ ผมเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ยังจำได้สมัยแรกได้ครับ ในเด็กในรูปแต่งงานหมดแล้วครับ ยังจำบรรยากาศเก่าได้ พูดไทยไม่เป็น ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยบุกเบิกโรงเรียนที่บ้านครับ ไม่ได้กลับบ้านนานแล้ว อยากเจออาจารย์อีก ถ้าว่างๆอาจารย์มาเยี่ยมนะครับ รับรองชาวบ้านและลูกศิษย์ต้องดีใจมากๆแน่นนอนครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท