อิสรชนทำงานสังคมสงเคราะห์แบบนักพัฒนาสังคม


กิจกรรมทางสังคมสงเคราะห์อาจกล่าวได้ว่าเป็นกำลังส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาสังคมในปัจจุบัน Bertlett (1964) กล่าวว่า สังคมสงเคราะห์เป็นสถาบันหนึ่งของสังคม ส่วน Boehm (1958) อ้างว่า สังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเพื่อนมนุษย์ ส่วน Siporin (1975) สรุปว่า เป็นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ที่จะต้องช่วยเหลือ รับผิดชอบต่อบุคคล กลุ่มชุมชน และสังคมโดยส่วนรวม

กิจกรรมทางสังคมสงเคราะห์อาจกล่าวได้ว่าเป็นกำลังส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาสังคมในปัจจุบัน Bertlett (1964) กล่าวว่า สังคมสงเคราะห์เป็นสถาบันหนึ่งของสังคม ส่วน Boehm (1958) อ้างว่า สังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเพื่อนมนุษย์ ส่วน Siporin (1975) สรุปว่า เป็นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ที่จะต้องช่วยเหลือ รับผิดชอบต่อบุคคล กลุ่มชุมชน และสังคมโดยส่วนรวม                

Richmond (1922) ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ไว้ว่า สังคมสงเคราะห์เป็นกระบวนการที่จะพัฒนาบุคลิกภาพ โดยการปรับเข้าหากันระหว่างบุคคล และระหว่างคนต่อสิ่งแวดล้อม                

Watson (1922) ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ไว้ว่า สังคมสงเคราะห์ เป็นศิลปะในการแก้ไขและสร้างเสริมบุคลิกภาพใหม่ให้ดีขึ้น ในลักษณะที่ว่า บุคคลนั้นๆจะสามารถปรับตนให้เข้ากับสังคมที่เขาเป็นอยู่    

             สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NASW) (1976) ได้ให้ความหมายของสังคมสงเคราะห์ไว้ว่า หมายถึง กิจกรรมทางวิชาชีพที่จัดขึ้นเพื่อมุ่งให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยการส่งเสริมฟื้นฟู และพัฒนาความสามารถของบุคคล ครอบครัว กลุ่ม และชุมชนให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมทางสังคมด้วย                

นันทนีย์ ไชยสุต อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2519) ได้ให้ความหมายของการสังคมสงเคราะห์ไว้ว่า การสังคมสงเคราะห์หมายถึง การจัดให้มีมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นรายบุคคล เป็นกลุ่มหรือทั้งชุมชน โดยใช้หลักทฤษฎีของการสังคมสงเคราะห์เป็นแนวปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ หรือที่เรียกว่า นักสังคมสงเคราะห์ จะต้องปฏิบัติงานนี้โดยใช้หลักวิชาชีพหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ใช้หลักการ วิธีการ และกระบวนการของการสังคมสงเคราะห์ ไม่ใช่เพียงแต่หยิบยื่นสิ่งที่ผู้มีปัญหาต้องการก็เป็นอันใช้ได้ และนับว่าได้ให้บริการสังคมสงเคราะห์แล้ว

 ในการปฏิบัติงาน นักสังคมสงเคราะห์ต้องเข้าใจโครงสร้างใหญ่ๆคือ บุคคลในสภาวะแวดล้อม (person in his environment) เพราะจะทำให้สามารถมองสถานการณ์ต่างๆได้อย่างกว้างไกล ทำให้มีการปรับตัว ยืดหยุ่นวิธีการในการให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีปัญหาในแต่ละบุคคลและแต่ละสถานการณ์ได้ดี 

งานที่นักสังคมสงเคราะห์ทำอยู่ในปัจจุบันนับว่าเป็นงานที่ยากและต้องใช้ความพยายามอย่างมาก กล่าวได้ว่า อาจจะเป็นงานที่ยากกว่าวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเพื่อนมนุษย์ เพราะว่านักสังคมสงเคราะห์จะต้องทำงานกับคนที่ถูกเรียกว่าเป็นภาระของสังคม ซึ่งคนเหล่านี้มักถูกตีตราว่า พวกไม่เอาไหน พวกเข็นไม่ขึ้น กังวลใจ กลัวจะโดดเดี่ยว และอีกหลายๆอย่าง ซึ่งคนเหล่านี้บางทีอาจไม่ได้รับความไว้วางใจจากสังคมเลย ส่งผลให้บางครั้งผู้ให้ความช่วยเหลืออาจเกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่แน่ใจ แม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะมีทรัพยากรต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือ แต่คนเหล่านี้จะสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเองหรือไม่ ดังนั้นนักสังคมสงเคราะห์จึงต้องมีคุณสมบัติพิเศษนั่นก็คือความจริงใจในการที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง พัฒนา ปฏิบัติงานให้คล่องตัวเหมาะสมทันต่อเหตุการณ์สถานการณ์ในปัจจุบันและสามารถตอบสนองความต้องการและความจำเป็นของผู้ที่มีปัญหาได้ ดังนั้นนักสังคมสงเคราะห์ที่ดีจะต้องเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม สามารถมองเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางและไกลออกไป 

แต่ถึงอย่างไรก็ตามการทำงานสังคมสงเคราะห์หรือการทำงานเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาสังคมนั้นจำต้องอาศัยการทำงานเป็นหมู่คณะจึงจะส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมนั้นประสบผลสำเร็จได้ ดังนั้นจึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นระหว่างกลุ่มบุคคลที่ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นและเห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับสังคม โดยออกมาในรูปของกลุ่มองค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ (non-profit organizations) โดยเป็นการรวมตัวกันขึ้นเพื่อก่อตั้งองค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ขึ้นซึ่งในปัจจุบันสามารถพบเห็นได้เป็นจำนวนมาก โดยการเกิดขึ้นขององค์กรดังกล่าวเป็นการเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับความต้องการที่จะเข้าร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ความต้องการที่จะให้การบริการแก่สังคมในด้านของการให้ความช่วยเหลือ การอนุเคราะห์ผู้ประสบปัญหา ความต้องการที่จะยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในสังคม การสนับสนุนงานวิจัยค้นคว้าต่างๆเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการรวมทั้งเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐในการแก้ไขและพัฒนาสังคม

Wilcox, Ault และ Agree (1986 : 419-421) ได้แบ่งประเภทขององค์กรไม่แสวงหากำไร (non-profit organizations) หรือองค์กรสังคมสงเคราะห์เพื่อกิจการสาธารณประโยชน์ออกตามลักษณะหน้าที่ได้เป็น 7 ประเภท ดังนี้ 

1.     หน่วยงานที่ให้บริการแก่สังคม (social service agencies) คือ หน่วยงานที่ให้บริการสิ่งที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานแก่บุคคลหรือครอบครัวในรูปแบบต่างๆ เช่น สภากาชาดไทย เป็นต้น

2.     หน่วยงานทางสุขภาพอนามัย (health agencies) คือ หน่วยงานทางสุขภาพอนามัยที่ดำเนินการศึกษาวิจัยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ ตลอดจนการดำเนินการเพื่อป้องกันและให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่ชุมชนหรือสังคม

3.     โรงพยาบาล (hospital) นอกเหนือจากการทำหน้าที่ทางด้านการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยอันเป็นแนวคิดดั้งเดิมและพื้นฐานของหน่วยงานแล้ว บทบาทใหม่ที่สำคัญอีกบทบาทหนึ่งของโรงพยาบาลก็คือ การเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับคนในชุมชนหรือในสังคมนั่นเอง

4.     องค์กรศาสนา (religious organizations) ภารกิจขององค์กรทางศาสนาต่างๆในปัจจุบันมีมากไปกว่าการเป็นศูนย์รวมในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในวันสำคัญทางศาสนา องค์กรทางศาสนามีส่วนสำคัญในการชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต การอบรมสั่งสอนทางด้านศีลธรรมจรรยาและการเป็นศูนย์รวมและที่พึ่งทางด้านจิตใจของคนในสังคม ซึ่งนับว่าองค์กรทางศาสนาเหล่านี้มีบทบาทอย่างมากในการให้การสงเคราะห์ การให้ความช่วยเหลือคนที่ยากจน ไร้ที่พึ่ง โดยเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปของการให้ที่พักอาศัย การให้เสื้อผ้า เป็นต้น

5.     หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ด้านสวัสดิการ (welfare agencies) ส่วนใหญ่องค์กรเหล่านี้มักจะได้รับเงินสนับสนุนจากทางราชการ หรือจากรัฐบาลเป็นหลัก ดังนั้นหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้ก็คือการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเพื่อให้ทราบถึงรูปแบบแนวทางในการให้บริการขององค์กร

6.     องค์กรทางวัฒนธรรม (cultural organizations) คือการพัฒนาความสนใจและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในเชิงวัฒนธรรมซึ่งนับว่าเป็นภาระที่หนักยิ่งสำหรับองค์กรที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่แล้วองค์กรเหล่านี้มักจะได้รับเงินช่วยเหลือหรือเงินสนับสนุนบางส่วนในการดำเนินงานจากภาครัฐ องค์กรเอกชนที่สนใจ และบุคคลที่สนใจการดำเนินงานขององค์กร

7.     มูลนิธิต่างๆ (foundation) องค์กรเหล่านี้มักเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นภายใต้การจัดตั้งของบุคคลที่มีฐานะร่ำรวย กลุ่มบุคคล หรือกลุ่มองค์กรต่างๆ ดังนั้น รายได้หลักหรือเงินสนับสนุนหลักขององค์กรจึงมาจากเงินที่ได้จากการบริจาคของผู้ก่อตั้ง บุคคลและองค์กรเป็นสำคัญ                

เนื่องจากกิจกรรมเพื่อการสังคมสงเคราะห์หรือเพื่อการพัฒนาสังคมนี้ถือเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะพิเศษบางอย่างเฉพาะแตกต่างไปจากองค์กรประเภทอื่น เพราะองค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยไม่หวังการแสวงหาผลกำไรทางการค้า เหมือนกับหน่วยงานอื่นหรือขององค์กรภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรหรือผลประโยชน์เป็นหลัก ดังนั้น องค์กรเหล่านี้จึงไม่มีการประกอบการใดๆ ในเชิงธุรกิจการค้าเพื่อนำผลกำไรมาใช้ในการดำเนินกิจการ รายได้ส่วนใหญ่ขององค์กรสังคมสงเคราะห์และองค์กรสาธารณประโยชน์เหล่านี้จะมาจากเงินสนับสนุนจากสถาบันอื่นๆที่มีขอบข่ายการทำงานที่สอดคล้องกันหรือจากสถาบันเอกชนที่เห็นด้วยกับกิจกรรมขององค์กร หรือในกรณีของกิจกรรมที่มีความสำคัญและนำมาซึ่งประโยชน์ต่อคนในสังคมส่วนรวมเป็นอย่างมากก็อาจจะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากทางภาครัฐ แต่ทั้งนี้รายได้หลักที่มาจากการสนับสนุนดังกล่าวก็ยังเพียงพอต่อความต้องการขององค์กร เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมนั้นมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการภายในองค์กรเท่านั้น แต่องค์กรยังมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาเงินทุนหรืองบประมาณเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักขององค์กร ซึ่งก็คือการสังคมสงเคราะห์และการช่วยเหลือผู้ที่ประสบกับปัญหาเดือดร้อนโดยอาจออกมาในรูปของการจัดการกิจกรรมต่างๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงินทุนทั้งสิ้นจนอาจกล่าวได้ว่าการจัดหารายได้หรือระดมเงินทุนมาใช้ให้พอเพียงกับการดำเนินกิจกรรมขององค์กรเหล่านี้ นับเป็นปัญหาที่เรียกได้ว่าไม่มีที่สิ้นสุด                

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ ที่มา จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรสารณประโยชน์ในการเข้ามามีส่วนร่วมทำงานเพื่อพัฒนาสังคม อย่างสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน จึงถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการนำมาปรับใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจของอาสาสมัครสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชนที่มีต่อการทำงานเพื่อพัฒนาสังคมว่านักสังคมสงเคราะห์และอาสาสมัครเหล่านี้มีความคิดอย่างไรต่อการทำงานทางด้านการสังคมสงเคราะห์ และงานดังกล่าวในความคิดของเขาควรที่จะมีลักษณะอย่างไร ตลอดจนความคิดเห็นของนักสังคมสงเคราะห์ที่มีต่อการดำเนินงานขององค์กรสังคมสงเคราะห์และองค์กรสาธารณประโยชน์ในปัจจุบัน สภาพปัญหา ทิศทาง แนวโน้ม และอนาคตขององค์กรว่าสมควรที่จะปรับหรือพัฒนาไปในทิศทางใด 

                มาถึงบรรทัดนี้ อิสรชนเอง ก็ คงหลีเลี่ยงไม่ได้ ที่จะบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตั้งใจทำและ กำลังทำอยู่ และจะทำต่อไปนั้น เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันและเกี่ยวเนื่องกับงานสังคมสงเคราะห์อยู่ไม่น้อย แม้ว่าการทำงานของอิสรชน จะใช้ปรัชญาแนวคิดหลักจาการทำงานด้านการพัฒนาสังคมเป็นหลักก็ตาม แต่งานที่ทำสังคมโดยทั่วไปจะมองและ สรุปว่าเป็นงานสังคมสงเคราะห์ แต่ในมุมของอิสรชน เราไม่เคย หยิบยื่น อะไรให้กลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานด้วยอย่างให้เปล่า แต่ต้องมีส่วนร่วมในการรับและร่วมพัฒนาสิ่งนั้นร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น จึงสามรถกล่าวได้อย่างเต็มความภาคภูมิใจว่า อิสรชน ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์แบบนักพัฒนาสังคม มากกว่า การเป็นนักสังคมสงเคราะห์เพียงอย่างเดียว และที่เรายังขาดไป ก็คือ การสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากคนที่ให้กำลังใจเราทำงาน เพราะ กำลังใจเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอสำหรับการยืนหยัดต่อสู้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ตราบเท่าปัญหายังคงอยู่

หมายเลขบันทึก: 143996เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2007 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์แบบนักพัฒนาสังคม มากกว่า การเป็นนักสังคมสงเคราะห์เพียงอย่างเดียว"

...อืมม...!!!

ติดตามอยู่ครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท