ชมผ้าสุรินทร์ ถึงถิ่นช้างหลาย


เจ้าของบ้านก็ดีใจหาย บอกว่าเอาปลั๊กมา แล้วพี่ประธานแม่บ้านก็ดึงปลั๊กขึ้นไปบนบ้าน บอกคนในบ้านว่า "เสียบเพลิง "

บ้านนาตัง กิ่งอ.เขวาสินรินทร์

   ตระเวนไปหลายที่แล้วครับ แต่ยังไม่จบภาคอีสานเลย การทอผ้าในภาคอีสานเป็นกิจกรรมที่พบเห็นได้ทั่วไป หาไม่ยากเลย หรือการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว การเดินทางเที่ยวนี้จึงกำหนดเอาไว้ถึง 8 วัน วันนี้จะไปที่สุรินทร์ครับ ออกจากอุทุมพรพิสัยด้วยความประทับใจ (ยังไม่ได้เล่า) มุ่งหน้าสู่เขวาสินรินทร์ (คนไม่เคยมา ก็ต้องเรียก เข-วาฯ ทั้งนั้น อันที่จริงเขาชื่อว่า เขวา ควบ  "ขว" ครับ, ตอนนั้นยังเป็นกิ่งอำเภอ)

หาไม่ยากครับ ไปแวะที่ว่าการอำเภอ เจ้าหน้าที่ขับรถนำหน้า ไปที่บ้านนาตัง แต่พอไปถึงก็มึนไปครู่ใหญ่ เพราะชาวบ้านพูดภาษาเขมรเป็นพื้น แต่เขาก็พูดกลางได้ชัด ไม่เหมือนหลายๆ คนที่พบเจอที่กรุงเทพฯ พูดภาษาไทยแต่ไม่ใส่วรรณยุกต์ คนที่นี่พูดไทยชัด เสียแต่ว่าใส่ ร เรือมากไปหน่อย เช่น โทรรรรรทัศน์ อย่างนี้แหละ

ในจดหมายนั้น ติดต่อขอดูการผลิตผ้าอันพรม (ในตำราเขียนอันปรม แต่ชาวบ้านที่นี่ออกเสียงอันพรม) และผ้าโฮล แต่ความจริงผ้าของสุรินทร์ยังมีอีกมาก ผมงัดตำราออกมา บอกเขาขอดูผ้าโน่นผ้านี่ สุดท้ายก็ได้ผ้าสุรินทร์ที่ต้องการเกือบทั้งหมด อันนี้เพราะว่าทำการบ้านมาระดับหนึ่งแล้ว สัมภาษณ์ท่านอาจารย์ธวัช ปุณโณทก ท่านสะสมผ้าไทยไว้เยอะ และมีความรู้เรื่องนี้ดี เคยถามอาจารย์ว่าขออนุญาตไปดูผ้าสะสมของอาจารย์ อาจารย์จะสะดวกไหมครับ ท่านว่า ไม่สะดวกอย่างยิ่งครับ ก็เลยอด (คือว่า ท่านเก็บไว้มาก ไม่มีเวลาได้จัดวางให้สะดวก โดยมากจะม้วนเอาไว้ เผื่อประหยัดพื้นที่ และป้องกันผ้ายับ เส้นไหมหัก ทำให้ขาดง่าย)

กี่ทอที่นี่เป็นกี่มือ (บางตำราว่า กี่กระทบ) แต่บางหลังใช้คานเหยียบที่ทอดไปตามแนวตั้งฉากกับคานเหยียบแบบทั่วไป ที่เห็นเป็นผ้าสามตะกอ มีคานเหยียบ 3 อัน ส่วนเชือกรั้งตะกอก็ต่างไป บ้างก็ทำแบบง่ายๆ บ้างก็ใช้รอกสอดเชือกลดหลั่นลงมา ดูเป็นระเบียบดี

คนที่ช่วยดูแลเรื่องนี้เป็นประธานกลุ่มสตรีของที่นี่ มีชาวบ้านมาช่วยอีกสี่ห้าคน เขาพูดเขมรกันตลอด (คนที่นี่ชอบให้เรียกว่า ภาษาสุรินทร์ มากกว่าภาษาเขมร)

ได้ดูผ้าทอ การทอผ้าสักครู่ ก็เตรียมอุปกรณ์ถ่ายทำ บ้านเรือนหลายหลังเป็นบ้านไม้ มีใต้ถุน จัดไฟแล้วหาที่เสียบปลั๊กไฟไม่เจอ เจ้าของบ้านก็ดีใจหาย บอกว่าเอาปลั๊กมา แล้วพี่ประธานแม่บ้านก็ดึงปลั๊กขึ้นไปบนบ้าน บอกคนในบ้านว่า "เสียบเพลิง "

ผ้าทอเอกลักษณ์

ผ้าทอพื้นเมืองของที่นี่มีเอกลักษณ์ แตกต่างไปจากถิ่นอื่นๆ ซึ่งเป็นศิลปะที่สืบทอดกันมายาวนาน แม้จะไม่ได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไปมากนัก พวกเขาก็ยังคงทอผ้าตามแบบแผนที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์สืบต่อช้านานมานี้

ผ้าทอเอกลักษณ์ที่ว่านี้ เป็นยังไง มาดูกันเลยครับ

ผ้าอันปรม เป็นผ้านุ่งของผู้หญิง ลักษณะเป็นผ้ามัดหมี่ แต่ไม่เป็นลายรูปร่าง เป็นลายขีดๆ ผ้านี้พิเศษ เพราะมัดทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ภาษาอังกฤษเรียนว่า double ikat ในอินโดนีเซีย หรือบาหลีก็มีผ้ามัดสองทางแบบนี้ แต่รู้สึกว่าของเขานั้น มัดเป็นรูปเป็นภาพ ผ้าอันปรม นี้เน้นสีน้ำหมาก ประสีขาว แต่มีสีอื่นด้วย เห็นว่าพักหลังนิยมเอาไปตัดเสื้อ ยากทั้งมัด ยากทั้งทอ และการสืบหูก (ร้อยฟืม) ก็ยาก

ผ้าโฮล เป็นผ้าไหมมัดหมี่แบบหนึ่ง คล้ายหมี่คั่น คือวางลายเป็นแถบๆ ริ้ว บางคนว่า คล้ายน้ำไหล บ้างก็ว่าคล้ายใบไผ่ มีสองแบบ ครับ โฮลสไร สำหรับผู้หญิง แล้วก็โฮลเปราะห์ สำหรับผู้ชาย มีลายเชิงผ้า เวลานุ่งโจงกระเบนจะเห็นลายตามขอบ แต่เที่ยวนี้เราได้เห็นแต่โฮลสไร ทอสามตะกอ เนื้อแน่น ด้านหน้าด้านหลังสีเข้มอ่อนต่างกัน)

ผ้าสะมอ หรือสระมอ เป็นผ้าลายตารางเล็กๆ สีเขียวอมเหลือง คล้ายสีไพล ใช้ด้ายสีเหลือง เขียว ดำ เป็นผ้าสองตะกอธรรมดา สองหน้าเหมือนกัน

ผ้าสาคู ตำราบอกว่า คู แปลว่าสอง คงจะหมายถึง คู่ นั่นแหละ ก็เป็นผ้าคล้ายลายตาราง แต่เส้นตีคู่ สวยงามมาก แต่มีรายละเอียดในการร้อยด้าย อาจเทียบเคียงได้กับผ้าขาวม้า แต่ตารางเล็ก สองตะกอ

ผ้าระเบิก เป็นผ้าลายตารางเหมืนกัน แต่เป็นตารางแบบสองชั้น เส้นตารางไม่ทับกัน เหมือนมีช่องสี่เหลี่ยมเป็นช่วงๆ ออกแบบได้ยอดเยี่ยมมาก นอกจากการสลับเส้นไหมที่สลับสีแล้ว ยังเป็นการทอแบบหลายตะกอด้วย ดูเผินๆ จะเห็นสายตาราง ดูใกล้ๆ จะเห็นลายในเนื้อผ้า เพราะยก 6 ตะกอ

ผ้าชนูดเลิก คำนี้แปลว่าผ้าสไบ เป็นผ้าลายลูกแก้ว หรือลายคล้ายๆ กัน สีนวล หรือสีเส้นไหมฟอกแล้ว ทอแบบหลายตะกอ ไม่มัด

ผ้ากะนีว (หรือ กะแนว) ไม่ได้เอามาให้ดู ก็คือผ้าไหมหางกะรอกนั่นเอง เส้นพุ่งให้ด้ายควบ ทำให้ดูเหลือบสีสวยงามมาก

นอกจากนี้ยังมีผ้าอีกสองสามชนิด ที่เป็นลักษณะเฉพาะของชาวสุรินทร์ จำพวกโสร่ง ขาวม้า และผ้าอื่นๆ เป็นผ้าไหมทั้งหมด

เท่าที่พูดคุย พวกเขาทำผ้ากันเป็นอาชีพหลัก แต่ก็ทำอาชีพอื่นด้วย ทั้งสาวทั้งแก่ เล่าเรื่องผ้าได้คล่องแคล่วกว่าที่อื่นๆ นอกจากนี้ยังบอกว่า ที่นี่นิยมย้อมด้วยสีธรรมชาติ และมีความเชื่อเรื่องการย้อมผ้า ว่าถ้ามีคนตาย หรือคนย้อมมีประจำเดือน จะย้อมผ้าไม่ติด นี่เป็นเรื่องแปลก

จากนั้นขึ้นรถไปอีกบ้าน ที่ย้อมผ้า เขาบอกว่าต้องใช้แสงแดด ตอนที่เราไปนี่แสงหมดแล้ว จึงไม่ได้เห็นขั้นตอนการย้อม แต่ก็ไม่มีปัญหา ที่เขาย้อมนั้นมีคราม แต่ใช้เป็นก้อนสำเร็จรูป นอกจากนี้มีการย้อมสีแดงด้วยครั่ง ซึ่งต้องต้ม ใส่ใบไม้อีกสองสามอย่าง คือใบหมืด ใบชงโค และใบมะขาม ถามว่าถ้าต้องการให้สีเข้มทำอย่างไร เขาบอกว่า ใส่ใบชงโคเพิ่ม และมีการใช้สารเพิ่มความเปรี้ยว อย่าง รังมดแดง ด้วย 

ผ้าที่ย้อมด้วยวัสดุธรรมชาติ มีกลิ่นคล้ายยาหม้อ (คงจะเหมือนกับที่ป้าแสงดาเรียกว่า ผ้าย้อมสมุนไพรนั่นเอง) ผ้ามัดหมี่ชุดหนึ่งที่ย้อม เรียกว่าหัวหนึ่ง ได้ยินเขาเรียก มวย กบาล (มวย คือ 1, กบาล ก็คือ หัว) นั่นเอง

ร่ำลาแล้วออกจากบ้านนี้ ผ่านทุ่งนา ไปบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน ถ่ายภาพผู้คน เด็กๆ แล้วร่ำลาอีกครั้ง ขอเบอร์โทรศัพท์เรียบร้อย คุณนงเยาว์ ประธานกลุ่มสตรีให้กล้วยฉาบมากินเล่นสองสามห่อ

ออกจากบ้านนาตัง เริ่มพูดไทยไม่ชัด เพราะลิ้นพันกัน พูดอะไรก็ใส่ ร เรือ เสียหลายตัว พวกนี้ดัดจริตพูดเขมรกันทุกคน ก่อนมาถามเขาว่าถ้าจะชมสาวพูดอย่างไร เขาบอกว่า เนียงละออ อะไรทำนองนี้ เข้าตัวเมืองสุรินทร์ กินข้าวริมคลอง มีช้างมาป้วนเปี้ยนอยู่เชือกหนึ่ง จึงเอากล้วยให้ช้างกินไปบ้าง เพราะมันเริ่มคล้ำแล้ว ยังกินไม่หมด (ที่แม่ฑีตาให้มาวันก่อน)

กินข้าวแล้วจะไปแวะหาซื้อของกัน ผมกับบอลและเอ็มเดินไปทางตลาด เข้าไปได้ครู่หนึ่ง เอ็มบอกว่าแมลงเข้าตา ให้ล่วงหน้าไปก่อน ผมกับบอลเดินไปตลาด บอลว่าจะแวะปั๊ม ปวดฉี่ เห็นปั๊มก็ลัดเลาะเข้าไป มีห้องน้ำอยู่ห้องเดียว รอหน้าห้องน้ำครู่หนึ่ง ไม่มีวี่แววว่าคนในนั้นจะออกมา บอลถามว่า อยากเห็นวี่แววไหม ผมพยักหน้า บอลบอกว่า "พี่เดินแอบไปก่อนนะ เดี๋ยวผมตามไป" ก็เลยเดินไปที่รถตู้ หันกลับไปเห็นบอลแอบปิดสวิตช์ไฟหน้าห้องน้ำ แล้วรีบวิ่งตามมา

ไปถึงรถ คอยคนขับแป๊บหนึ่ง ก็ขึ้นรถเดินทางต่อ เอ็มบอกว่า "เจอปั๊มสะอาดๆ แวะหน่อย ตะกี้ล้างหน้าอยู่ในห้องน้ำไม่รู้หมาที่ไหนมาปิดไฟ" ผมหันหน้าไปมองบอล แล้วหัวเราะจนน้ำตาเล็ด 

ป.ล. ไม่ได้ซื้อผ้าสักผืน เพราะเงินเริ่มร่อยหรอหลังจากตระเวนมาเกือบครบ 8 วัน

หมายเลขบันทึก: 142514เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2007 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ท่าอาจารย์ธวัชชัยที่เคารพ

  • อ่านแล้วอยากไปชมครับ จะหาโอกาส
  • แต่วันนี้เอาผ้าของกลุ่มเขมรมาให้ชมครับ เป็นพี่น้องที่เดินทางมาเยี่ยมที่สวนป่้า เลยขอถ่ายรูปไว้เพื่อการศึกษา

สวัสดีครับ อ.ธวัชชัย

ขอบคุณสำหรับความรู้เรื่องผ้า ผมก็ชอบผ้าไทยครับแต่ไม่มีความรู้ก็ได้แต่ติดตามอ่านจากของอาจารย์นี่แหละครับ ขอบคุณอีกครั้งสำหรับเรื่องราวความรู้ดีๆ

อ้อ ลืมที่เสียบเพลิง อิอิ ที่บ้านมีหลายอัน

สวัสดีค่ะ...น้องชาย

  • ครูอ้อยมาบอกว่า...ครูอ้อยชอบผ้าไทย และหลงเสน่ห์ผ้าไทยมากค่ะ
  • ครูอ้อยอยากนุ่งทุกวันเลย...แต่ไม่มีเวลามากในการดูแลค่ะ
  • เรียนจบเมื่อไร...จะใส่ทุกวันที่ไปทำงานเลยค่ะ

ร่ำรวยความสุขจากการได้อ่านเรื่องราวที่นำมาถ่ายทอดจริงๆค่ะ ของอย่างนี้ไม่มีวันที่การเดินทางอย่างนักท่องเที่ยวจะได้เห็น หรือรู้สึกลงไปถึงใจของผู้ทอ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณออตP ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่เอาภาพมาใส่ไว้ เป็นครั้งแรกนะเนี่ย ที่มีภาพเรื่องผ้าให้ดูกัน คุณออตมีอะไรจะเพิ่มเติมก็ว่ามาได้เลยนะครับ ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ ท่าน P อัยการชาวเกาะ

เรื่องผ้านี่ ตอนแรกผมก็เฉยๆ ดูไปดูมาเริ่มชอบ มีความน่าสนใจในเรื่องการประดิษฐ์ การสืบทอดภูมิปัญหา และอะไรหลายๆ อย่าง ผ้าผืนหนึ่ง เอามาดูเส้น ดูสี ดูลาย ก็บอกอะไรได้มากมาย พอๆ กับที่เขาส่องพระเครื่องเลยครับ

สวัสดีครับ P คุณครูพี่อ้อย มาแวะอ่านด้วย อิๆ

ดีจังที่พี่ชอบผ้าไทย ลองนุ่มห่มหลายๆ สไตล์ครับ สนุกดี ;)

แล้วจะนำเรื่องผ้ามาเล่าให้ฟังอีกนะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณพี่ P 
ค่อนข้างยากเหมือนกันครับ ที่จะเล่าเรื่องให้ละเอียด เพราะตอนที่เดินทางไป ก็ไม่ได้มีเวลาจดมากนัก บางครั้งก็ต้องค้นตามเอกสารเหมือนกันครับ
ดีใจที่ได้แลกเปลี่ยนครับ ขอบคุณครับ 

ชอบผ้าไหมสุรินทร์มากค่ะ

ใส่สบาย ดูแลง่าย รีดง่ายค่ะ

เพิ่งไปที่แหล่ง ทอผ้าสุรินทร์ มาเมื่อวันที่ 18 ตค ครับมีรูปถ่ายที่ เส้นไหม เครื่องย้อม  และ โรงทอผ้าด้วยครับ ขอหานิดนึงครับ

P 

  • สวัสดีครับ  P พี่อุบล จ๋วงพานิช
  • ช่วงหลังได้ยินข่าวผ้าสุรินทร์ในงานใหญ่ๆ หลายครั้ง
  • น่าดีใจครับ อนุรักษ์ศิลปะการทอผ้า และยังสร้างรายได้อย่างดีด้วย
  • ขอบคุณมากครับ

 

P

  • สวัสดีครับ P  คุณเกษม ปิ่นทอง
  • ขอบคุณมากครับ
  • ถ้ามีภาพประกอบ ทำให้บทความสมบูรณ์มากขึ้น
  • ผมก็พยายามทยอยนำภาพมาใส่ทีหลัง
  • แล้วจะแวะไปที่บันทึกของคุณเกษมนะครับ

 

 

ผ้าพื้นเมืองของแต่ละพื้นถิ่นมีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์

ที่หมู่บ้านจันรมเป็นอีกแหล่งที่ทอผ้าไหมกันแทบทุกบ้าน

วันนี้ว่างจากการทอผ้า เพื่อมา....

39

สุขสวัสดีปีใหม่ 2551 ค่ะ

ใครที่มีความรู้ด้านลายผ้าไหมของสุรินทร์และที่มาประวัติของลายผ้าต่างๆ ช่วยส่งมาให้หนูหน่อยนะคะเพราะว่าอาจารย์สอนเกี่ยวกับเรื่องผ้าของสุรินทร์ แล้วให้หาประวัติที่มา ที่ไหนผลิตเยอะมีข้อมูลอะไรช่วยส่งมาที่เมล์หนูหน่อยนะคะ ขอบพระคุณล่วงหน้าคะ

ด้วยความนับถือ

น้องกอล์ฟ

โอกาสหน้าอย่าลืมแวะมาเที่ยว ณ ดินแดนผ้าไหม งามอร่ามเครื่องเงินอีกนะครับท่านอาจารย์ ยินดีต้อนรับครับ

แม่ผมก็ทอผ้า เหมือนกัน

แต่ไม่มีชื่อเสียงเหมือน ผ้าใหม่ท่าสว่าง จ้า

ปัจจุบัน วัฒนธรรมการทอผ้า เริ่มจะหาดูได้ยากแล้ว

ตอนเด็ก แถวบ้าน มีเครื่องทอแทบทุกหลังคา

แต่ตอนนี้ หาดูได้ยากแล้วครับ

ช่วยกัน อนุรักษ์ให้อนชนคนรุ่นหลังได้เก็บรักษาไว้น่ะครับ

เด็ก หนองกระบือ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท